ปัจจุบัน คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ยังไม่ประกาศวันเลือกตั้งที่ชัดเจน เนื่องจากยังต้องรอ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ครบวาระการเป็นรัฐบาล หรือจนกว่าจะเกิดการยุบสภาขึ้น ทว่าการหาเสียงของหลายพรรคการเมืองได้เริ่มเปิดฉากเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
ย้อนกลับไปที่การเลือกตั้งทั่วไปครั้งล่าสุดในปี 2562 ได้สร้างบาดแผลฉกรรจ์ให้กับการเมืองไทยเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายที่เสียเปรียบจากรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ฝ่ายองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรที่พยายามชี้ชัดว่า การเลือกตั้ง 2562 มีความ ‘ตุกติก’ ไปจนถึงฝ่ายที่เคยได้ประโยชน์ในการเลือกตั้งครั้งนั้น ก็ต้องพยายามหาทางแก้ไขกติกากันใหม่ในการเลือกตั้งครั้งนี้ด้วยเช่นกัน
กล่าวได้ว่าทุกฝ่ายในการเมืองไทยรับรู้ถึงความ ‘ไม่ชอบมาพากล’ ในการเลือกตั้งครั้งก่อน จนนำมาสู่ความหวาดระแวงการเลือกตั้ง 2566 ครั้งนี้เป็นอย่างมาก
ด้วยเหตุนี้ WAY จึงนำข้อมูลบางส่วนของหนังสือ Voting for Ethics: A How-to Guide for U.S. Voters ของ ฮานา คาลลาแกน (Hana Callaghan) อดีตผู้อำนวยการแผนกจริยธรรมรัฐบาล (Government Ethics) ของ Markkula Center for Applied Ethics แห่งมหาวิทยาลัยซานตาคลารา (Santa Clara) มาชวนดูอีกครั้ง ภายใต้คำถามสำคัญ “อะไรคือ 5 วิธีสกปรกที่สุดของการเมือง” เพื่อเตรียมความพร้อมคนไทยสำหรับการรับมือการเลือกตั้งที่กำลังมาถึง
หมายเหตุ: หนังสือเล่มนี้อธิบายความสกปรกที่เกิดขึ้นในการเมืองสหรัฐเป็นหลัก ทว่ากลับใช้อธิบายสภาพการเมืองของหลายประเทศได้เช่นกัน ดังนั้นรูปแบบของนักการเมืองไร้จริยธรรมกับการเลือกตั้งห่วยๆ อาจจะเหมือนกันในหลายที่ทั่วโลก
แคมเปญข่าวลือและข่าวปลอม
ธเนศ วงศ์ยานนาวา อ้างว่า “ในบางสังคม ยิ่งมีการปกปิดข้อมูลมากเท่าไร ก็จะยิ่งมีข่าวลือมากเท่านั้น” จึงดูเหมือนว่า ข่าวลือเป็นอาวุธที่ดีสำหรับประชาชน ทว่าผู้มีอำนาจก็สามารถใช้ข่าวลือเป็นเครื่องมืออย่างจงใจได้เช่นกัน และบ่อยครั้งก็สร้างผลผลเสียแก่คนหมู่มาก
คาลลาแกนระบุว่า การใช้ข่าวลือเป็นวิธีสกปรกในการทำลายภาพลักษณ์ของศัตรูทางการเมืองรูปแบบหนึ่ง โดยเฉพาะเพื่อลดฐานเสียงสนับสนุนของอีกฝ่าย หัวใจของมันคือการปล่อยข่าวลืออย่างเป็นระบบ โดยที่ฝ่ายตรงข้ามไม่รู้ตัว เมื่อข่าวลือแพร่กระจายไปแล้ว ก็ยากที่จะหยุดยั้งความเสียหาย
หากคู่แข่งออกมาปฏิเสธข่าวลือที่เกิดขึ้น ก็จะยิ่งทำให้สังคมสนใจประเด็นดังกล่าว ไม่ว่าเรื่องนั้นจะมีมูลความจริงหรือไม่ ขณะที่การไม่ทำอะไรเลย ก็อาจจะยิ่งสร้างความเสียหายมากขึ้น คาลลาแกนจึงเสนอว่า การใช้ข่าวลืออย่างเป็นระบบเป็นยุทธวิธีที่ไม่แฟร์ที่สุดวิธีหนึ่ง
มีการใช้ข่าวลือเพื่อโจมตีศัตรูในแวดวงการเมืองไทยมาโดยตลอด ย้อนกลับไปในอดีต ตั้งแต่การตะโกนในโรงหนังช่วงที่ ปรีดี พนมยงค์ เป็นนายกรัฐมนตรี จนถึงการโยนข้อกล่าวหาว่า ล้มเจ้า ซื้อเสียง หรือจะยกเลิกเงินบำนาญราชการ ในปัจจุบัน
เพียงแค่ยุทธวิธีสกปรกข้อแรก การเมืองไทยก็ปราศจากความใสสะอาดแล้ว
โพลสกปรก ให้ร้ายคู่แข่ง ยกยอฝ่ายเดียวกัน
โดยปกติแล้ว การทำโพลควรช่วยเผยให้เห็นทัศนคติของประชาชนต่อเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่งผ่านคำถามบางชุด แม้การหยั่งเสียงทิศทางสังคมด้วยวิธีนี้จะฟังดูดี ทว่าความศักดิ์สิทธิ์ของโพลอาจถูกอำนาจการเมืองจับบิดไปมาได้ตามใจชอบเช่นกัน
เมื่อพูดถึงโพลสกปรก คาลลาแกนกำลังหมายถึงโพลที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อเป็นเครื่องมือส่งต่อสาสน์ด้านลบ โพลประเภทนี้มีลักษณะสำคัญคือ ต้องทำให้ ‘ดูเหมือน’ กับว่าถูกสร้างขึ้นอย่างชอบธรรม แต่แท้จริงแล้วมักเสนอความจริงเพียงบางส่วน (half-truth) และใช้ข้อมูลบิดเบือนมาประกอบ
โพลสกปรกมักให้ข้อมูลที่ผิดพลาดหรือไม่จริงของผู้สมัครและพรรคการเมืองหนึ่งแก่ผู้ตอบแบบสอบถาม ยกยอคุณสมบัติของผู้สมัครหรือพรรคการเมืองขั้วเดียวกัน และสร้างชุดคำถามที่มีอคติแอบแฝง ซึ่งเป็นการทำโพลที่ไม่ถูกต้องตามหลักจริยธรรม หากแต่ทำขึ้นเพียงเพื่อจูงใจประชาชน หรือให้ร้ายผู้สมัครและพรรคการเมืองฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเท่านั้น
ด้วยเหตุนี้ สมาคมที่ปรึกษาด้านการเมืองสหรัฐอเมริกา (American Association of Political Consultants: AAPC) จึงประณามและออกกฎห้ามการทำโพลประเภทนี้อย่างเด็ดขาด เนื่องจากเป็นการฉ้อฉลรูปแบบหนึ่ง และยังเป็นการทำลายธรรมเนียมปฏิบัติของการรณรงค์ทางการเมือง
สำหรับประเทศไทย ข้อครหาเรื่องการทำโพลแบบ ‘ตุกติก’ ย้อนกลับไปในอดีตอันใกล้ ช่วงเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ก็จะเห็นได้ไม่ยากว่า มีข้อถกเถียงอย่างเผ็ดร้อนว่า โพลแต่ละสำนัก สื่อมวลชนแต่ละสำนัก เล่นไม่ซื่อ มีอคติ ชี้นำ และเข้าข้างผู้สมัครเพียงบางกลุ่มเท่านั้น
หาเสียงแบบไม่เป็นธรรม สกัดกั้นและทำลายเสรีภาพของคู่แข่ง
หัวใจของการเลือกตั้งในระบบประชาธิปไตยคือ ความโปร่งใสและการแข่งขันอย่างเป็นธรรม แต่ในการเลือกตั้งหลายๆ ครั้ง มักมีผู้เลือกใช้วิธีการที่ไม่เป็นธรรมในการแข่งขัน ใช้ทั้งอำนาจเงินและอำนาจเถื่อนในการกำจัดและกีดขวางคู่แข่ง
คาลลาเแกนยกตัวอย่างความไม่แฟร์ว่า ผู้สมัครบางส่วนอาศัยความเหลื่อมล้ำด้านต้นทุนเพื่อให้ได้เปรียบคู่แข่ง เช่น พรรคที่ทุนหนา มีท่อน้ำเลี้ยงหนุนหลัง ก็จะ ‘กว้านซื้อ’ ที่ปรึกษานโยบาย ที่ปรึกษาแคมเปญหาเสียง ตลอดจนบุคคลสำคัญต่างๆ จำนวนมาก แต่การซื้อตัวประเภทนี้ไม่ใช่การจ้างมาใช้งาน แต่คือจ่ายเงินจ้างเพื่อไม่ให้คนเหล่านั้นไปทำงานให้พรรคการเมืองคู่แข่ง
คาลลาแกนยังนับการพยายามเอาผิดข้อความบนป้ายหาเสียง หรือพยายามยับยั้งสาสน์ของผู้ลงสมัครพรรคอื่น ว่าเป็นการกระทำที่ไม่มีจริยธรรมในสนามการเลือกตั้ง
ดังนั้นการเลือกตั้งที่เป็นธรรมจึงควรมีความพยายามในการหาหนทางสกัดการสื่อสารของคู่แข่งให้น้อยที่สุด การทำลายเสรีภาพในการนำเสนอแนวคิดทางการเมืองถือเป็นความไม่เป็นธรรม และเป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้
หากเทียบกับอีกหลายประเทศ ประเทศที่พรรคการเมืองแต่ละพรรคมีโอกาสถูกฟ้องร้องจนนำไปสู่การยุบพรรคได้โดยง่ายอย่างไทย ก็น่าจะมีเสรีภาพทางการเมืองไทยตกต่ำจนถึงขั้นดิ่งลงเหว
ป่วนระบบเลือกตั้ง ทำลายหลักการ Free และ Fair
คาลลาแกนมองว่า กลยุทธ์ใดก็ตามที่สร้างอุปสรรคในการลงคะแนนเสียงของประชาชนล้วนเป็นวิธีที่สกปรกทั้งสิ้น และบ่อยครั้งกลยุทธ์เหล่านี้ไม่เพียงแต่จะผิดจริยธรรม แต่ยังผิดกฎหมายอีกด้วย
ตัวอย่างมีให้เห็นหลากหลาย เช่น การจงใจปิดถนนหรือทำให้การจราจรติดขัดในวันเลือกตั้ง การพยายามซื้อเสียง การให้สิทธิพิเศษหรือรางวัลเพื่อจูงใจให้ลงคะแนน ไปจนถึงการสร้างสถานการณ์กดดันและข่มขู่บริเวณใกล้คูหาเลือกตั้ง ทั้งหมดนี้ทำให้หลักการเลือกตั้งที่อิสระและยุติธรรมถูกทำลาย
ในบริบทประเทศไทย วาทกรรมซื้อสิทธิขายเสียงยังคงพร่าเลือนและเป็นที่ถกเถียงของหลายฝ่าย บางฝ่ายเชื่อว่า ประชาชนยัง ‘โง่ จน เจ็บ’ จึงต้องขายเสียง แต่บางฝ่ายก็พยายามโต้กลับความเชื่อดังกล่าวว่า ชาวไม่ได้โง่ เช่น วลี “รับเงินหมา กาพรรค xxx” กระนั้นก็ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า วาทกรรมเหล่านี้ทำลายความเชื่อมั่นของกระบวนการประชาธิปไตยในภาพรวม
อย่างไรก็ตาม อุปสรรคสำคัญในวันเลือกตั้งยังมีมากกว่าวาทกรรมดังกล่าว ตั้งแต่การข่มขู่คุกคามประชาชน ทั้งทางกายและทางจิตใจ การใช้กฎหมายกลั่นแกล้ง ไปจนถึงการออกแบบเขตเลือกตั้งให้เอื้อพรรคการเมืองฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นพิเศษ
สังคมไทยควรจับตามองพฤติกรรมเหล่านี้มากขึ้น โดยเฉพาะการปั่นป่วนระบบเลือกตั้งจากฝั่งผู้มีอำนาจ ไม่ใช่แค่จากบรรดาผู้สมัครหรือพรรคการเมืองด้วยกันเท่านั้น
‘เซอร์ไพรส์เดือนตุลา’ ปฏิบัติการจู่โจมก่อนวันเลือกตั้ง
‘เซอร์ไพรส์เดือนตุลาคม’ อาจเป็นคำเฉพาะที่ไม่คุ้นหูคนไทยนัก เพราะเป็นคำยอดนิยมในบริบทการเมืองของสหรัฐมากกว่า ทว่าคนไทยอาจจะคุ้นเคยความหมายของคำนี้มากกว่าที่คิด
คำดังกล่าวมีที่มาจากกำหนดการเลือกตั้งของสหรัฐ โดยเฉพาะตำแหน่งประธานาธิบดี มักตรงกับช่วงต้นเดือนพฤศจิกายน ดังนั้นข่าวที่ทำลายภาพลักษณ์ หรือข่าวลือที่ไม่จริงที่เกิดขึ้นในเดือนตุลาคม โค้งสุดท้ายของฤดูหาเสียง (ไม่ว่าจะตั้งใจหรือบังเอิญ) จึงถือเป็นการโจมตีในช่วงที่อีกฝ่ายตั้งตัวไม่ทัน และไม่มีเวลาในการอธิบายความจริง
อาทิ กรณีจอร์จ บุช ซีเนียร์ ถูกกล่าวหาว่าค้าขายอาวุธกับอิหร่านในปี 1992 หรือกรณีขอให้สืบสวน ฮิลลารี คลินตัน ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดี ฐานละเมิดกฎระเบียบด้านความปลอดภัยขณะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศ เพราะใช้อีเมลส่วนตัวแทนที่จะใช้อีเมลที่ถูกจัดทำขึ้นสำหรับเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาล
คาลลาแกนเห็นว่า กลยุทธ์นี้จะสร้างปัญหา ทำให้ประชาชนได้รับสาสน์เพียงด้านเดียว และเป็นการปิดปากอีกฝ่ายไม่ให้มีเวลาในการปฏิเสธข้อกล่าวหา โดยเฉพาะหากเป็นเรื่องที่จำเป็นต้องเกิดการสืบสวนสอบสวน ซึ่งกินระยะเวลาหาหลักฐานและต่อสู้ทางกฎหมายยาวนาน จนอาจเลยระยะเวลาเลือกตั้ง
ดังนั้น หากพรรคการเมืองใดถูกโจมตีในช่วงก่อนการเลือกตั้งไม่นาน หรือในช่วงระยะเวลาก่อนจะยุติการหาเสียง ก็เป็นไปได้ว่า เกิดการ ‘เล่นสกปรก’ จากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นที่เรียบร้อย และประชาชนควรจับตาการเลือกตั้งที่กำลังมาถึงอย่างใกล้ชิด
ที่มา
- Hana Callaghan. 2020. Voting for Ethics: A How-to Guide for U.S. Voters. Markkula Center for Applied Ethics.
- https://www.scu.edu/voting-for-ethics/