ศาสตราจารย์ นพ.ประสิทธิ์ ผลิตผลการพิมพ์: จากพี่ถึงน้อง ฝันถึงความเท่าเทียมในโลกที่เหลื่อมล้ำ

“พี่ชายของผมเป็นคนเก่งมาก” หมอประเสริฐกล่าวถึงหมอประสิทธิ์เช่นนี้

ส่วนหมอประสิทธิ์กล่าวเพียงว่า “น้องชายของผมเป็นคนเข้มงวดเรื่องจริยธรรม” 

ในย่านสะพานสว่าง สี่พระยา ยุคนั้น เต็มไปด้วยบ้านเรือนเรียงรายตามตรอกซอกซอยน้อยใหญ่ ซึ่งล้วนเป็นครอบครัวคนจีนเสียมาก สถานที่แห่งนี้บรรจุความทรงจำในวัยเยาว์ไว้ค่อนข้างหลากหลาย หากเทียบเคียงกับบ้านหลังก่อนๆ ที่เคยอยู่อาศัย การต้องโยกย้ายบ้านบ่อยๆ โดยมีสาเหตุจากความยากจน ทำให้ทั้งคู่และครอบครัวต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนในชีวิต จนกระทั่งวันหนึ่ง ร้านค้าขายของพวกเขาได้ปักหลักลงยังชุมชนแห่งนี้ ชีวิตจึงอาจนับว่าเริ่มมั่นคงพอควร 

ศาสตราจารย์นายแพทย์ประสิทธิ์ ผลิตผลการพิมพ์ รักษาการรองผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) นั่งอยู่ข้างหน้า มองย้อนหาอดีตในวันนั้น วันที่น้องชายของเขายังเยาว์วัย รักการอ่าน รักการ์ตูน รักการดูละคร และชอบตั้งคำถาม เขาเติบโตเรื่อยมากระทั่งได้อยู่ในสภาวะที่แวดล้อมไปด้วยนักคิดมากมาย ท่ามกลางสถานการณ์การเมืองที่คุกรุ่น หลายปัจจัยเหล่านี้ได้ก่อร่างวิธีคิดทางสังคม และหล่อหลอมเป็น นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ จิตแพทย์ ผู้เป็นทั้งนักคิดและนักเขียนในวันนี้

บทสัมภาษณ์ชิ้นนี้มีขึ้นก่อนงานปาฐกถาพิเศษ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ครั้งที่ 18 ซึ่งมี นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ เป็นปาฐกในหัวข้อ ‘เลี้ยงลูกในโลกใหม่: พัฒนาการเด็ก ประชาธิปไตย และอนาคตใหม่ของทุกคน’ 

สำหรับนายแพทย์ประสิทธิ์ ผู้เป็นพี่ชาย ‘โลกใหม่’ ในความหมายดังกล่าว หมายถึงโลกที่สังคมมีความเป็นธรรมโดยมีประชาธิปไตยเป็นฐาน มีความเคารพความคิดเห็นของกันและกันเป็นธง และมีรัฐที่ยึดถือความเป็นมนุษย์ ตลอดจนการกินดีอยู่ดีของประชาชนเป็นเป็นสรณะ

สำหรับปาฐกถาในหัวข้อ ‘เลี้ยงลูกในโลกใหม่: พัฒนาการเด็ก ประชาธิปไตย และอนาคตใหม่ของทุกคน’ คุณหมอประสิทธิ์ฟังแล้วคิดเห็นอย่างไร

ผมคิดว่า ความเข้าใจในเรื่องสังคมที่เป็นธรรมจะต้องถูกสอน คนเราไม่ได้เกิดมาแล้วรู้เอง แต่เรียนรู้จากพ่อแม่ว่าพวกเขาปฏิบัติต่อคนอย่างไร เราก็จะรู้สึกว่านั่นคือเรื่องปกติ ผมยกตัวอย่างตอนผมเรียนแพทย์ เมื่อครั้งไปเรียนใหม่ๆ อาจารย์ของผมเดินเข้าไปหาคนไข้ในห้องผู้ป่วย อาจารย์จับหัวคนไข้ ถอดเสื้อคนไข้โดยไม่ต้องขออนุญาต แล้วไม่พูดกับคนไข้ด้วยนะ แต่หันมาพูดกับผมที่เป็นนักศึกษา ผมตกใจมากเหมือนกันนะ โอ้ เราทำอย่างนี้ได้ด้วยเหรอ แล้วผมก็เห็นว่าหมอทั้งหลายเขาทำกันอย่างนี้ ส่วนผมไม่เคยทำ ผมขออนุญาตเสมอ ซึ่งเรื่องนี้ไม่ได้แปลว่าเขาเป็นคนไม่ดีนะ แต่เขาถูกสอนมาอย่างนี้

เมื่อพูดถึงสังคมที่เป็นธรรม พื้นฐานคงเริ่มจากคำว่าประชาธิปไตยนั่นแหละ เพราะไม่อย่างนั้นก็ไม่รู้ว่าต้องใช้พื้นฐานตรงไหนมาสอนว่า เวลาคนเราอยู่ในสังคมประชาธิปไตย จะต้องมีความสัมพันธ์ระหว่างคนกับคนอย่างไร ประชาธิปไตยไม่ใช่การเลือกตั้งอย่างเดียว แต่คือการเคารพความคิดเห็น เคารพความเป็นคนของเขาด้วย 

การมองอนาคตของเด็ก ผ่านพัฒนาการ ผ่านสังคมประชาธิปไตย เกี่ยวเนื่องกันอย่างไร

ผมเข้าใจว่าสิ่งที่เราฝัน หรืออย่างน้อยสิ่งที่คุณหมอประเสริฐฝัน คือสังคมที่ทุกคนมีความเท่าเทียม มีสิทธิเสรีภาพพอสมควร และมีความรับผิดชอบร่วมกัน เรื่องเหล่านี้ ต้องถูกสอนตั้งแต่เล็กๆ ด้วยวิธีที่พ่อแม่ดูแลเด็ก ถ้าสังคมเป็นประชาธิปไตย พ่อแม่ก็ต้องเคารพความคิดเห็นเด็ก จะไปโรงเรียน จะใส่เสื้อผ้าอะไร จะตัดผมหรือไม่ ซึ่งเห็นได้ชัดว่าในสังคมเรายังมีไม่พอ ครูบังคับเด็กตัดผมสั้น ซึ่งมันไม่ได้เป็นปัญหาเรื่องตัดผมสั้น แต่เป็นปัญหาที่คุณไม่ได้เคารพความคิดเห็นของเด็กเลย นั่นไม่ใช่สังคมประชาธิปไตย และเด็กต้องเรียนรู้ว่ามันไม่ใช่ ครูก็ต้องเรียนรู้ว่ามันไม่ใช่ ถ้าคุณอยู่ในสังคมประชาธิปไตยคุณทำอย่างนี้ไม่ได้ 

คุณหมอประเสริฐมักบอกว่า “พี่ชายผมเก่งมาก” จึงอยากชวนคุยว่า ความผูกพันในวัยเยาว์ของทั้งสองท่านเป็นอย่างไร

เราโตมาด้วยกัน เนื่องจากห่างกัน 2 ปี แล้วก็เป็นลูกคนแรกๆ ของตระกูล อยู่ด้วยกัน ใช้ชีวิตด้วยกันเยอะ ผมก็รังแกเขานิดหน่อย (หัวเราะ) แล้วก็ขึ้นรถเมล์ไปโรงเรียนด้วยกัน ผจญภัยกันทุกวัน ตอนนั้นยังไม่ถึง 10 ขวบดี เพราะฉะนั้นเราจึงมีโอกาสสนิทสนม จนกระทั่งผมเข้าโรงเรียนสวนกุหลาบจึงเริ่มห่างกัน เพราะเราเป็นวัยรุ่นแล้ว

หมอประเสริฐวัยเด็กชอบดูหนังแล้วเลียนแบบฮีโร่ ช่องทีวีในช่วงที่เราเป็นเด็กๆ จะมีหนังเกี่ยวกับฮีโร่อยู่หลายเรื่อง ส่วนมากเป็นหนังญี่ปุ่น และเป็นหนังที่สอดแทรกเรื่องความตั้งใจ ความมุมานะ การต่อสู้ การบากบั่น ความซื่อสัตย์ ผมคิดว่าเด็กจำนวนมากก็ต้องได้รับอิทธิพลจากการ์ตูน ถามว่าคุณหมอประเสริฐซึมซับเรื่องแบบนี้มากผิดปกติไหม ผมก็คิดว่านิดหน่อยนะ แต่ผมก็ไม่ได้รู้สึกว่าแปลกกว่าเด็กคนอื่นมากนัก

คุณหมอทั้งสองเติบโตผ่านการเลี้ยงดูแบบไหน

ผมคิดว่าคุณพ่อคุณแม่ดูแลครอบครัวเต็มที่ เสียสละเต็มที่ สิ่งที่ผมจำได้คือพ่อแม่เสียสละทุกอย่างให้เรา เราเป็น priority ของทุกอย่าง พ่อแม่ผมเป็นคนจีนจากแผ่นดินใหญ่ พูดไทยได้ไม่เยอะ แม่พูดไทยได้ดีกว่านิดหน่อย ส่วนผมและหมอประเสริฐโตในสังคมไทย พูดจีนได้ไม่เยอะ นั่นทำให้ผมกับพ่อแม่คุยเรื่องลึกๆ ไม่ค่อยได้ ผมไม่รู้จะคุยด้วยภาษาอะไร เพราะฉะนั้นสิ่งที่เรียนจากพ่อแม่จึงมีอยู่สองเรื่องหลักๆ หนึ่ง คือเรียนจากพฤติกรรมที่ท่านทำ สอง คือเรียนจากสิ่งแวดล้อม ครอบครัวคนจีนต่างด้าวสมัยก่อนเป็นครอบครัวที่ลำบาก มีการกดขี่ทางสังคม มีความเหลื่อมล้ำ มีอะไรต่อมิอะไรที่เรารู้สึกได้ว่า ‘ทำไมมันเป็นอย่างนี้’ แล้วพอเข้าโรงเรียนเราก็เริ่มเข้าใจมากขึ้น การเปรียบเทียบนี้ผมคิดว่ามันหล่อหลอมความคิดของหมอประเสริฐให้เป็นอย่างที่เป็นในปัจจุบัน

สิ่งที่หล่อหลอมเขามากอีกเรื่องหนึ่งก็คือว่า เขาชอบดูหนัง ดูหนังเยอะมาก เพราะฉะนั้นเขาจะเรียนรู้หลักการอะไรต่อมิอะไรมาจากหนังมากกว่าผมเยอะ

โดยปกติครอบครัวคนจีนมักอยากให้ลูกมีการศึกษาที่ดี แต่กรณีนี้ หมอประเสริฐเล่าให้ฟังว่า ต้องเรียนเพื่อเป็นหมอเท่านั้น หากมองย้อนกลับไป คุณหมอประสิทธิ์วิเคราะห์ว่าอย่างไร

ผมพอเข้าใจว่าอย่างนี้ คือในประเทศไทยยุคนั้น หรือแม้แต่ยุคนี้ก็ตาม ถ้าคุณอยากถีบตัวจากคนที่ค่อนข้างลำบาก กลายเป็นคนที่ค่อนข้างสบาย ชีวิตมั่นคง การเป็นหมอถือเป็นวิธีที่ดี ทันทีที่คุณเป็นหมอ ทุกอย่างมันเปลี่ยนไป แล้วพ่อแม่ผมก็รู้ สมมุติว่าคุณไปเป็นวิศวกร คุณยังต้องเข้าบริษัท ทำงานเป็นเด็ก ต้องพึ่งนาย ต้องใช้เส้นและอะไรต่อมิอะไร แต่การเป็นหมอไม่ต้องทำเช่นนั้น เราทำของเราเอง เราอยากดีอยากเลวก็ทำเองทั้งนั้น ผมเข้าใจว่าพ่อแม่คงคิดเรื่องนั้นมากกว่าว่าจะต้องเป็นหมอเพราะเหตุอื่น

อีกสิ่งหนึ่งที่คุณหมอประเสริฐเล่าให้ฟังคือ เพื่อนของหมอประสิทธิ์หลายคน โดยเฉพาะอาจารย์ธงชัย วินิจจะกูล อาจารย์สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล แต่ละท่านช่วยเปิดมุมมองความคิดหลายเรื่องมาก อยากให้คุณหมอเล่าให้ฟังว่าการพบปะพูดคุย และแรงบันดาลใจมันเกิดขึ้นได้อย่างไร

อันนี้ต้องยกประโยชน์ให้โรงเรียน ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นในโรงเรียนสวนกุหลาบในยุคนั้น ซึ่งรับเอาเด็กเก่งๆ เข้ามาเยอะมาก เก่งมากถึงระดับที่ว่า เด็กแต่ละคนมีความ specialization (ความรู้ความชำนาญเป็นพิเศษ) ตั้งแต่ชั้นมัธยม หลายคนสามารถอ่านหนังสือที่มีเนื้อหาลึกซึ้งได้ อย่างอาจารย์ธงชัยก็จะชอบเรื่องประวัติศาสตร์ เรื่องสังคม เรื่องภาษา แล้วตั้งแต่มัธยมต้นๆ เขาเป็นคนพูดเก่ง แล้วช่วงนั้นการพูดเรื่องพวกนี้มันก่ออารมณ์เยอะนะ ยุคแรกๆ เราอาจรู้สึกว่าเขาค่อนข้างจะจัดไปหน่อยนะ แต่พอเราโตขึ้นเรื่อยๆ หลายเรื่องที่เขาพูดมันก็จริง เราเห็นโลกมากขึ้น เข้าใจมากขึ้น

ทั้งชอบดูหนัง ชอบดูละคร ชอบอ่านการ์ตูน ชอบเรียนรู้ประวัติศาสตร์ผ่านการตั้งคำถาม รวมถึงการไปเจอสภาวะที่มีนักคิดรายล้อมเช่นนั้น เราพอพูดได้ไหมว่า บรรยากาศโดยรวมทำให้หมอประเสริฐเป็นคนที่มีวิธีคิดเชิงสังคมอย่างที่เห็น 

ผมคิดว่าเขามีวิธีคิดทางสังคมเยอะ เขาคิดเรื่องความเป็นธรรมเยอะ เขาคิดเรื่องอนาคตของประเทศเยอะ คิดว่าเราจะพัฒนาสังคมไทย รวมทั้งโลกใบนี้ให้ไปข้างหน้ายังไง ให้มันสามารถอยู่รอดปลอดภัยไปชั่วลูกหลานเรา 

พอเรียนจบ หมอประเสริฐตัดสินใจมุ่งหน้าไปเชียงรายเพราะความอึดอัดคับข้องเรื่องความเหลื่อมล้ำต่ำสูงในระบบสาธารณสุข โดยเฉพาะระหว่างคนจน คนรวย คนเมือง คนชนบท สิ่งเหล่านี้มีผลต่อความคิดจิตใจของหมอประเสริฐอย่างไรบ้าง

คุณหมอประเสริฐเป็นคนเข้มงวดเรื่องจริยธรรมค่อนข้างมาก การที่คุณหมอประเสริฐไม่ยอมอยู่ส่วนกลางก็เพราะว่ามันมีประเด็นทางจริยธรรมบางเรื่องที่ยอมรับไม่ค่อยได้ และไม่มีทางทำอะไรได้ เพราะฉะนั้นเขาเลยรู้สึกว่าต้องไปอยู่ไกลหน่อย เข้าใจว่าคงเลือกจากระยะไกลสุดเท่าที่จะหาได้ 

ในตอนนั้นเราไม่ได้คุยกันมากนัก เพราะผมอยู่สงขลา คำแนะนำของผมคือ ให้ไปอีกฟากหนึ่ง อย่ามาใกล้ผมมาก ต่างคนต่างไป ผมเข้าใจว่าเราไม่อยากให้คนอื่นมาเปรียบเทียบ เขาเป็นตัวของเขาเอง ไปอยู่ที่ไหนก็ได้สักแห่ง ประเทศไทยตั้งใหญ่โต

เรื่องไหนที่คุณหมอประเสริฐรู้สึกว่าแก้ไม่ได้ หรือเป็นปัญหาที่ใหญ่มาก ช่วยยกตัวอย่างได้ไหม

คุณหมอประเสริฐไม่เคยรับการสมนาคุณจากบริษัทยา ไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อม เช่น บริษัทยาเชิญคุณหมอประเสริฐไปประชุมต่างประเทศ ซึ่งบริษัทยาก็มักเชิญอาจารย์หมอผู้ใหญ่หลายท่านไป แต่คุณหมอประเสริฐไม่เคยรับเลย ถ้าไปประชุมก็จะควักสตางค์เองเสมอ คุณหมอประเสริฐรู้สึกว่าเรื่องนี้รับไม่ได้ เพราะว่าเป็น conflict of interest (ผลประโยชน์ทับซ้อน) หมอประเสริฐรู้สึกแบบนี้มานานมากแล้ว 

ตัวตนอีกด้านหนึ่งที่ชัดเจนมากๆ ของหมอประเสริฐ คือการเป็นนักเขียน แววการเป็นนักเขียนตั้งแต่วัยเยาว์ พอมีภาพนี้ไหม 

ผมจำไม่ได้ว่าเขาเขียนอะไรบ้าง เห็นมีโน้ตบ้าง มีสมุดบันทึกประจำตัวบ้าง แต่ยังไม่เคยเห็นเขาเขียนอะไรออกมา อาจจะเริ่มต้นจากการอ่านหนังสือการ์ตูน แล้วเขาก็มักบอกว่า รู้สึกผิดที่เอาเงินเดือนไปซื้อหนังสือการ์ตูน เขาอาจรู้สึกว่าเขาต้องเขียนอะไรบางอย่างเพื่อให้มีรายได้ที่แยกออกจากเงินเดือน มาซื้อหนังสือการ์ตูน เอากับเขาสิ (หัวเราะ) แล้วเขาก็เขียนมาเรื่อยๆ ผมเข้าใจว่าเขียนไปก็คงสนุก เริ่มต้นเป็นหนังสือการ์ตูน ต่อมาคงมีคนมาปรึกษาเรื่อยๆ เรื่องเลี้ยงลูก ในที่สุดก็คงตัดสินใจว่าเขียนจริงจังเสียเลย คนจะได้ไม่ต้องมาถามมาก 

การได้พบปะกันในวัยนี้ของคุณหมอทั้งสอง มีการแลกเปลี่ยนเรื่องประเด็นทางสังคมกันบ้างไหม 

คุยกันประจำเลยครับ พอคุยสารทุกข์สุกดิบเสร็จสักพักหนึ่งก็จะคุยกันเรื่องสังคมและอะไรต่อมิอะไร หมอประเสริฐเป็นคนขี้กังวลเรื่องอนาคต ก็จะมีความกังวลเรื่องอนาคตมาก ผมก็กังวลเรื่องอนาคต แล้วก็มีเรื่องปรับทุกข์กัน

พอยกตัวอย่างได้ไหม

มีเหตุการณ์หลายเรื่องที่เรารู้สึกว่าเป็นภัยคุกคามอย่างใหญ่หลวง แต่ไม่ได้เกิดแบบฉับพลัน ประเด็นที่ค่อนข้างฉับพลันคือ PM2.5 กับเรื่องโรคอุบัติใหม่ ซึ่งโรคอุบัติใหม่นั้น สวทช. ก็ได้จัดการไปเยอะพอสมควร ส่วนเรื่อง PM2.5 เราก็ยังงงๆ ว่าทำยังไงดี หรือกระทั่งประเด็นที่เลยไกลไปกว่านั้น เช่น อัตราการเกิดของประชากรในประเทศไทยลดลงเหลือ 500,000 คนต่อปีแล้ว แล้วเราจะทำยังไงกันต่อ

อย่างบางเรื่องที่เราคุยกัน เช่น คุณทราบไหมว่าทั่วทั้งทวีปเอเชีย แม่น้ำมาจากไหน คำตอบคือแม่น้ำตลอดทั้งทวีปเอเชีย จนถึงแม่น้ำเหลือง ยาวไปถึงแม่น้ำสินธุ มาจากทุ่งน้ำแข็งแห่งหนึ่งในเทือกเขาหิมาลัย ซึ่งกำลังลดขนาดลงอย่างรวดเร็วภายในไม่เกิน 100 ปีข้างหน้า บางคนคาดว่าเร็วกว่านั้น แต่บางคนก็คิดว่าน่าจะนานกว่านั้น ทุ่งหิมะนี้จะหายไป แล้วเมื่อหายไป แม่น้ำทั้งหมดจะเหือดแห้งพอสมควร คำถามคือ โลกยุคนั้นจะมีหน้าตาเป็นยังไง ประเทศไทยอาจจะเป็นเพียงไม่กี่ประเทศที่ไม่ได้ใช้แม่น้ำจากเทือกเขาหิมาลัยโดยตรง แปลว่ารอบๆ ประเทศไทยจะเต็มไปด้วยประเทศแห้งแล้ง แล้วประเทศไทยจะเป็นประเทศที่ค่อนข้างดีอยู่ประเทศเดียว ซึ่งหากเป็นเช่นนั้น มันคงไม่สนุกเท่าไร 

ขยับเข้าไปเรื่องระบบสาธารณสุข หมอประสิทธิ์มองพัฒนาการเรื่องระบบประกันสุขภาพของประเทศไทยอย่างไร

เรื่องระบบประกันสุขภาพของไทย ก็ต้องยอมรับว่าไปได้ไกลกว่าประเทศอื่น ต้องชื่นชม คุณหมอสงวน นิตยารัมภ์พงศ์ ซึ่งคุณหมอสงวนกับคุณหมอประเสริฐสนิทกันมาก ถึงขั้นลูกคุณหมอสงวนไปนอนบ้านคุณหมอประเสริฐเป็นระยะๆ ทีเดียว ฉะนั้นเขาคงแลกเปลี่ยนกันเยอะ ผมเองมีส่วนเกี่ยวข้องกับการพัฒนาระบบประกันสุขภาพน้อยมาก แต่เราเห็นร่วมกันว่ามันจำเป็น หมอประเสริฐเห็นว่ามันเป็นความจำเป็นในเชิงสังคม และความเป็นธรรมทางสังคม

ผมทำงานด้านวิทยาศาสตร์ ผมจึงคิดว่าระบบประกันสุขภาพคือเรื่องจำเป็น นั่นเพื่อให้ผมสบายใจว่า สิ่งที่ผมทำจะไม่เป็นภัยต่อคน เพราะเวลาทำงานวิทยาศาสตร์เรามักจะถามเสมอว่า มันเป็นประโยชน์ต่อคนที่มีอำนาจเพื่อใช้ข่มเหงคนไม่มีอำนาจหรือเปล่า หรือมันเป็นประโยชน์ต่อประชาชนโดยภาพรวม สิ่งที่เราทำอาจเป็นอาวุธที่คนมีอำนาจเอาไปใช้ข่มเหงคนก็ได้ หรือจะเอาไปใช้เพื่อประโยชน์ของสังคมก็ได้ หรือถ้างานวิจัยทางการแพทย์ที่เราพัฒนาขึ้น ถูกนำไปใช้เพื่อประโยชน์ต่อคนรวยบางคน มันทำให้ความเหลื่อมล้ำมากขึ้นก็ได้ ฉะนั้นเรื่องของระบบประกันสุขภาพที่ดี จึงการันตีได้ว่าความเหลื่อมล้ำจะไม่เกิดขึ้น เวลาทำวิจัยหรือสร้างสิ่งใหม่แล้วมันสบายใจหน่อย

ในแวดวงหมอ บรรยากาศการผลักดันเรื่องหลักประกันสุขภาพในยุคนั้นเป็นอย่างไร

คุณหมอประเสริฐเป็นกรรมการของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) อยู่พักหนึ่ง แล้วก็มีเพื่อนผมที่อยู่ สปสช. มาเล่าว่าคุณหมอประเสริฐช่วยเยอะ 

ผมเข้าใจว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องหลักการ ถามว่าก่อนหน้านี้ประชาชนเข้าถึงระบบประกันสุขภาพไหม ผมเข้าใจว่าสามารถเข้าถึงได้ในระดับหนึ่ง โรงพยาบาลต่างๆ เขามีระบบสวัสดิการอยู่ เพียงแต่ประชาชนต้องมาขอ แล้วเวลามาขอมันก็มีคนที่ควรจะได้และไม่ควรจะได้ ซึ่งก่อให้เกิดความยุ่งยากในการพิจารณาต่างๆ มาก ถามว่าถ้าไม่มีระบบประกันสุขภาพ ประชาชนจะเป็นทุกข์กว่านี้ไหม ผมคิดว่าใช่ เพราะระบบประกันสุขภาพทำให้คนเข้าถึงมากขึ้น จากเดิมที่ไม่มีโอกาส ไม่กล้าเข้าสู่โรงพยาบาล ไม่กล้าเข้ารับการรักษา 

ความเหลื่อมล้ำมักนำไปสู่ความแตกแยกในที่สุดเสมอ ความเหลื่อมล้ำมีตั้งแต่ความเหลื่อมล้ำทางการเงิน ความเหลื่อมล้ำเรื่องการเข้าถึงปัจจัยสี่ ซึ่งเรื่องสุขภาพก็เป็นส่วนหนึ่งของปัจจัยสี่ เพราะฉะนั้นสังคมที่ดีต้องจัดการความเหลื่อมล้ำ เพื่อให้ประชาชนไม่ต้องมาพะวงกับเรื่องพวกนี้ สังคมจะได้เดินไปข้างหน้าได้ 

ประเด็นเรื่องสังคมประชาธิปไตยกับเยาวชนคนรุ่นใหม่ คุณหมอมองเรื่องนี้อย่างไร 

ผมคิดว่าประชาธิปไตยต้องเริ่มที่บ้าน สิ่งที่ผมคาดหวังคือ วิธีสอนลูกในโลกสมัยใหม่มันจะเป็นยังไง สอนลูกอย่างประชาธิปไตยมันเป็นยังไง อย่างที่ผมย้ำคือ เรื่องพวกนี้ไม่ใช่เกิดมาแล้วเป็นเลย ผมเองก็เคยสอนลูกอย่างที่ไม่ใช่ประชาธิปไตยนะ พอมองย้อนกลับไปผมก็นึกเสียใจว่าทำไมผมต้องทำอย่างนั้น ถ้าผมมีความรู้มากกว่านี้ ถ้าผมเข้าใจได้มากกว่านี้ ผมก็คงจะสามารถเลี้ยงลูกในลักษณะที่ดีกว่านี้ได้


บทสัมภาษณ์ชุด ‘นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ ในการแสดงปาฐกถาพิเศษ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ครั้งที่ 18’ นี้ ประกอบด้วยการสนทนากับ 1) ประสิทธิ์ ผลิตผลการพิมพ์ 2) จิราภรณ์ อรุณากูร 3) เรณู ศรีสมิต 4) สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ และ 5) สุภาวดี หาญเมธี เพื่อประกอบตัวตนและความคิดของ นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ จิตแพทย์และนักเขียน ในการแสดงปาฐกถาพิเศษ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ครั้งที่ 18 หัวข้อ ‘#เลี้ยงลูกในโลกใหม่: พัฒนาการเด็ก ประชาธิปไตย และอนาคตใหม่ของทุกคน’

จัดงานโดยคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในวันพุธที่ 9 มีนาคม 2565 รับชมการถ่ายทอดสดออนไลน์จากห้อง ศ 101 คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ท่าพระจันทร์) ผ่านทางเฟซบุ๊คแฟนเพจ EconTU Official และ way magazine เวลา 09.30-12.10 น.

Author

อรสา ศรีดาวเรือง
มือขวาคีบวัตถุติดไฟ มือซ้ายกำแก้วกาแฟ กินข้าวเท่าแมวดม แต่ใช้แรงเยี่ยงงัวงาน เป็นเป็ดที่กระโดดไปข้องแวะกับแทบทุกประเด็นได้อย่างไม่ขัดเขิน สนใจทั้งภาพยนตร์ วรรณกรรม การศึกษา การเมือง และสิ่งแวดล้อม ชอบแสดงอาการว่ายังทำงานไหวแม้ซมพิษไข้อยู่บนเตียง

Photographer

อนุชิต นิ่มตลุง
อาชีพเก่าคือคนขายโปสการ์ดภาพถ่ายขาวดำยุคฟิล์ม จับกล้องดิจิตอลรับเงินเดือนประจำครั้งแรกที่นิตยสาร a day weekly เมื่อปี 2547 ถ่ายงานหลากหลายรูปแบบทั้งงานสตูดิโอ ภาพข่าว สารคดี มีความสามารถพิเศษสั่งตัวแบบได้ตั้งแต่พริตตี้ คนงานทุบหินแถวหิมาลัย ไล่ไปจนถึงงานที่ถูกใครต่อใครหยิบยืมไปใช้สอยบ่อยๆ อย่างภาพถ่ายนักวิชาการที่ไม่น่าจะถ่ายรูปขึ้น นอกจากทำงานให้ WAY อย่างยาวนาน ยังเป็นเจ้าของกิจการเครื่องหนัง Dog's vision อันลือลั่น

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า