นเรศ ดำรงชัย: Gene Editing เล่นแร่แปรพันธุกรรม เรื่องต้องห้ามหรือความท้าทาย

ย้อนไปพฤศจิกายน 2018 เจียงกุย เหอ (Jiankui He) จากมหาวิทยาลัย Southern University of Science and Technology (SUST) ในเซินเจิ้น ประเทศจีน สร้างปรากฏการณ์สำคัญในแวดวงวิทยาศาสตร์ หลังเปิดเผยผลงานท้าทายชาวโลก ด้วยการอ้างว่าสามารถใช้เทคโนโลยี CRISPR-Cas9 ปรับแก้พันธุกรรมใน embryo ให้มีภูมิคุ้มกันต่อเชื้อ HIV จนกำเนิดเป็นฝาแฝดเพศหญิง ‘ลูลู่’ และ ‘นานะ’

ล่าสุด วันจันทร์ที่ 7 มกราคม 2019 สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า เพราะมูลค่ามหาศาลของงานวิจัย รองศาสตราจารย์เจียงกุย เหอ เจ้าของผลงานปรับแก้พันธุกรรม หรือ Gene Editing อาจโชคร้ายถึงขั้นรับโทษประหารจากรัฐบาลจีน ด้วยข้อหาคอร์รัปชันและติดสินบน หลังจากถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวไปตั้งแต่เดือนธันวาคม

นั่นคือกรณีที่ว่ากันด้วยขื่อแปและกฎหมายแบบรัฐบาลจีน ขณะที่อีกวงการหนึ่งสนทนาด้วยภาษาอีกแบบ เสียงของผู้คนเหล่านั้นเริ่มอื้ออึงถกเถียงกันว่า Gene Editing เป็นการกระทำที่ ‘ข้ามเส้น’ หรือเปล่า

ดร.นเรศ ดำรงชัย ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (TCELS) กล่าวว่า ผลงานของ เจียงกุย เหอ ยังไม่ใช่เรื่องน่าตื่นตาหรือตื่นเต้น ข่าวสารต่างๆ ในด้านลึกระบุถึงผลงาน Gene Editing ว่ายังเป็นเพียง ‘การกล่าวอ้าง’ โดยไม่มีงานวิชาการหรือหลักฐานอื่นๆ มารองรับ แต่สิ่งที่น่าสนใจกว่านั้นคือการตั้งคำถามถึงฐานคิดในการเข้าไปแก้ไขพันธุกรรม – ซึ่งเป็นอดีต ปัจจุบัน และอนาคต เป็นทุกสิ่งทุกอย่างของมนุษย์หนึ่งคน ว่าสมควรกระทำแค่ไหน

เส้นที่ว่าคือ ‘ไกด์ไลน์’ หรือแนวทางที่นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกต่างยึดถือเป็นกฎ จริยธรรมและมุมมองของสังคม ถ้า Gene Editing ในตัว ‘ลูลู่’ และ ‘นานะ’ ถูกพิสูจน์ได้ว่าเป็นการเอื้อมมือเข้าไปเล่นแร่แปรธาตุกับพันธุกรรมได้จริง เจียงกุย เหอ กำลังสร้างความท้าทายให้วงการวิทยาศาสตร์ หรือกำลังพามนุษยชาติก้าวไปสู่พรมแดนต้องห้ามกันแน่

Gene Editing คืออะไร

ต้องเล่าย้อนกลับไปว่า สมัยก่อนไม่มีหรอก edit เพราะยีน edit ไม่ได้ มันเป็นธรรมชาติ แต่มนุษย์เริ่มสังเกตว่า เราสามารถทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของยีนได้เหมือนกัน แต่ทำไปโดยไม่รู้ตัว เช่น หมา มีตั้งแต่พุดเดิลทอย ร็อตไวเลอร์ บลูด็อก ชิสุ เยอะไปหมด ทั้งหมดมนุษย์สร้างขึ้นทั้งนั้น เพราะเดิมหมามาจากหมาป่า สมัยมนุษย์เป็นมนุษย์ถ้ำ ก่อกองไฟ จะมีหมาป่าที่สนใจว่ากองไฟคืออะไร มาใกล้กับที่อยู่อาศัยของมนุษย์ บางตัวยังอยู่ห่างๆ บางตัวเข้ามาใกล้หน่อย

ตัวที่เข้ามาใกล้ มนุษย์เห็น อาจจะย่างเนื้ออยู่ ก็โยนให้กิน เป็นอย่างนี้นานร้อย พัน หมื่นปี จนกระทั่งหมาที่อยู่ใกล้มนุษย์เกิดสิ่งที่เรียกว่า natural selection หมาที่อยู่ใกล้มนุษย์มีของกินที่ดีกว่าหมาป่าที่อยู่ในป่า หมาพวกนี้ก็เพิ่มจำนวนขึ้น จากเดิมที่กลัวมนุษย์ มนุษย์โยนของให้กิน มันก็เข้ามาใกล้ จากรุ่นพ่อ ลูก ไปรุ่นหลาน จนสุดท้ายก็กลายเป็นสัตว์เลี้ยง ฉะนั้นหมาที่เราเลี้ยงกันอยู่นี่เดิมเป็นหมาป่า

กระบวนการนี้เขาจะใช้คำว่า domesticate คือทำให้สัตว์ป่ากลายเป็นสัตว์บ้าน แล้วเราก็เลี้ยงมัน สุดท้ายหมากลับไปอยู่ในป่าไม่ได้แล้ว มันถูก domesticated ไปเรียบร้อยแล้ว พันธุกรรมมันเปลี่ยน พอมีหมาบ้านคนก็เริ่มจับหมามาผสมพันธ์ุกันเพื่อใช้ประโยชน์

การปรับปรุงพันธุกรรมเพื่อให้ได้ผลที่ดีแล้วต้านทานโรคได้ ทางที่ดี แค่เอามาจับผสมพันธุ์กันอย่างเดียวไม่พอ เพราะต้องเกิดความหลากหลาย ต้องผ่าเหล่า ยิ่งผ่าเหล่าเยอะ ยิ่งมีโอกาสเกิดพันธุ์ใหม่ๆ การผ่าเหล่าเป็นเรื่องที่ดี เพราะประชากรของสิ่งมีชีวิตมีลักษณะใหม่ๆ ขึ้นมาเพื่อให้รับมือกับสิ่งแวดล้อมได้ดี

ถ้าตัวอย่างเรื่องสุนัขคือการปรับปรุงพันธุกรรมโดยที่มนุษย์ไม่ได้ตั้งใจ พอมนุษย์มีความตั้งใจลงมือกับพันธุกรรมจริงจังแล้วเกิดอะไรขึ้น

เช่น ถ้าปลูกพืชแล้วมันยังไม่ได้ดั่งใจ ต้องการให้ข้าวโพดหวาน อร่อย กรอบ โตเร็ว ต้านทานโรค ไม่กินปุ๋ยเยอะ น้ำท่วมก็ไม่เป็นไร ลักษณะแบบนี้มีอยู่ยุคหนึ่งใช้การฉายรังสี เดี๋ยวนี้ก็ยังทำอยู่

พอมาถึงยุค genetic engineering (พันธุวิศวกรรม) ซึ่งตอนนี้มันเริ่มล้าสมัยไปแล้ว ยกตัวอย่างมะเขือเทศที่ทนต่ออากาศหนาวเย็นถึงขั้นเป็นน้ำแข็งได้ เขาไปเอายีนมาจากปลาทะเลลึกที่ทนน้ำแข็งตัดต่อใส่เข้าไป ซึ่งอันนี้เป็นเคสที่ค่อนข้าง extreme หรือมียีนทั่วไปที่ทำให้เกิดความต้านทานต่อยาฆ่าแมลง ยาฆ่าหญ้า ก็ insert โดยใช้ชิ้นส่วนของจุลินทรีย์พาเข้าไป เกิดเป็นสิ่งที่เรียกกันว่า GMO

นี่คือ genetic engineering ซึ่งไม่เคยใช้กับคน แต่ถอยกลับไปเมื่อปี 1973 เป็นปีที่นักวิทยาศาสตร์นานาชาติไปประชุมกันหลังจากที่มีเทคโนโลยี genetic engineering เกิดขึ้น เป็นปฐมบทของการคุยกันระหว่างนักวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับการทำ genetic engineering เขาลงความเห็นว่าจะขอระงับก่อนหนึ่งปี เพื่อขอถกกันให้ชัดก่อนว่าวิธีไหนปลอดภัย วิธีการไหนไม่กระทบจริยธรรม

จากนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นคือ genetic engineering มีประโยชน์เยอะ เขาไม่ถึงกับห้ามอะไร จะออกกฎหมายมาห้ามก็ไม่มี แต่มีไกด์ไลน์สำหรับการทำเรื่องนี้ให้ปลอดภัย มี biosafety บ้านเราก็มี biosafety law เป็นกฎหมายออกมา

จากนั้นก็เกิดสถาบันการวิจัย genetic engineering หรือพันธุวิศวกรรมเกิดขึ้น เป็นเรื่องที่ในแล็บทำกันเป็นปกติมาก ทุกวันนี้การทำยา ทำวัคซีน เป็นเรื่องปกติ เพราะได้ประโยชน์ในเรื่องของการต้านทานโรค

ถ้าสิ่งนี้กลายเป็นเรื่องปกติที่พบเจอกันจนชินแล้ว ความก้าวหน้ากว่า genetic engineering คืออะไร

ปัจจุบันมันเข้าสู่ยุคของ Gene Editing เกิดเทคโนโลยีที่ชื่อ ‘คริสเปอร์-แคสไนน์’ (CRISPR-Cas9) ทำให้สามารถเจาะจงจุดที่จะไปตัด แล้วยีนก็สามารถสังเคราะห์ได้ ใส่เข้าไป ไปแก้ ไปตัดออก ก็เป็นเทคโนโลยีใหม่ ซึ่งคนก็ทึ่งกันมาก เพราะ หนึ่ง-ทำได้เร็ว สอง-ทำได้แม่น และ สาม-ทำได้ถูก เพราะแม้แต่เด็กที่อยู่ในโรงเรียนมัธยมหรือคนทั่วไปก็สามารถทำได้ไม่ยาก

Gene Editing กับ mutation หรือการกลายพันธุ์ ต่างกันมากน้อยแค่ไหน

ตอนแรก mutation เกิดขึ้นตามธรรมชาติ ต่อมามนุษย์ทำ อย่างฉายรังสี ใส่สารเคมี จนมาถึง Gene Editing แล้วก็จะแม่นขึ้นเรื่อยๆ แต่ทีนี้มันยังไม่ปรากฏหลักฐานชัดเจนว่าความแม่นยำของการทำมันมากน้อยแค่ไหน

สมมุติว่าพันธุกรรมปกติของเรา ผมเจาะเลือดของคุณมา แล้วเอาเข้าเครื่องเพื่อ DNA sequence (หาลำดับ DNA) ถอดรหัสออกมาเป็น ATGC ได้มาแล้ว มันเป็นเฉพาะของแต่ละคน เมื่อไหร่ที่เกิดการเปลี่ยนแปลง ณ จุดใดจุดหนึ่ง เอามาเทียบกันแล้วมันจะเห็นความแตกต่าง ดังนั้น genome ชุดปกติกับ genome ชุดที่ตัดต่อหรือ edit จะไม่เหมือนกัน

นักวิจัยจีน (เจียงกุย เหอ) อ้างว่า เขา sequence แล้ว เทียบกันแล้วเห็นเลยว่าจุดที่ edit ต่างกับของเดิมแบบนี้ๆๆ คนที่ตั้งข้อสงสัยคือ เขาไม่แน่ใจว่าข้อมูลที่เอามาโชว์ มันใช่เซลล์ ใช่ข้อมูลของเด็กจริงหรือเปล่า แล้วตอน sequence ไม่ได้เป็น third party มาทำ บางคนบอกว่า ฉันจะเชื่อก็ต่อเมื่อนักวิทยาศาสตร์คนนี้ส่งข้อมูลไปให้ third party ทำ แล้วเอาข้อมูลมาเปิดดู เทียบให้เห็นว่ามันจริง

ทีนี้ปัญหาที่ตามมาคือมันเจาะจงที่เด็กสองคนนี้ จึงเกิดประเด็น privacy เพราะกระบวนการนี้จะทำให้ต้องเอา genome ซึ่งคือข้อมูลทางพันธุกรรมทั้งหมดของเด็กสองคนนี้มาให้ชาวโลกเห็น ซึ่งไม่ควรทำ ทุกวันนี้ที่เราทำวิจัย เราไม่ควรเปิดข้อมูลใคร มันเป็นข้อมูลส่วนตัว

ปัญหามันอยู่ตรงที่ว่า ถ้าอยากพิสูจน์ว่า edit ได้จริง ก็ต้องเปิดข้อมูล แต่ถ้าเปิด ก็จะรู้ว่าเกิดจากเด็กสองคนนี้ แล้วเด็กหรือพ่อแม่ยอมหรือยัง ถ้าพ่อแม่ยอม เด็กที่ยังไม่รู้เรื่องจะโอเคหรือเปล่า โตขึ้นแล้วจะมีปมด้อยไหม มันมีความซับซ้อนอยู่

เพราะข้อมูลพันธุกรรมของแต่ละคนมีค่าเท่ากับข้อมูลบัตรเครดิต บวกบัตรประชาชน บวกสำเนาทะเบียนบ้าน และอีกมาก

การเปิดเผยข้อมูลทางพันธุกรรม จะทำให้รู้แม้กระทั่งว่า ถ้าเรามีอาการแบบนี้ มีแนวโน้มว่าพี่น้องหรือลูกเราจะเป็นแบบเดียวกัน แล้วพี่น้องหรือลูกเราโอเคหรือเปล่าที่จะให้เปิด ฉะนั้นถึงได้บอกว่าการเปิดข้อมูลออกมาตีแผ่ จำเป็นในทางวิทยาศาสตร์ แต่ไม่ควรทำในแง่จริยธรรม

สมัยก่อนเอาหยดเลือดไปเข้าเครื่องเพื่อที่จะถอดรหัสใช้เงินหลายแสน เดี๋ยวนี้ทำได้ด้วยเงินประมาณหมื่นกว่าบาท ฉะนั้นใครที่ได้หยดเลือด หรือแม้กระทั่งหยดน้ำลายของเราไป มันมีเทคโนโลยีสามารถถอดรหัสได้ edit ได้ แล้วมีเทคโนโลยีเซลล์อย่างเรื่อง stem cell ทำให้เซลล์ของเราที่โตแล้ว กลับไปเป็น embryo ได้ เราอาจมีลูกได้โดยไม่ได้ตั้งใจ

ทำไม Gene Editing ถึงเป็นเรื่องที่ต้องกังวลขนาดนั้น

ต้องย้อนไปก่อนว่าวงการวิทยาศาสตร์เคยมีการพูดคุยกันเรื่อง Gene Editing มาก่อนแล้ว มีหน่วยงานหนึ่งของอเมริกาชื่อ National Academy of Sciences (NAS) ออกไกด์ไลน์มาเมื่อปีที่แล้ว บอกว่าเรื่องไหนที่ยังไม่ควรทำ หนึ่งในเรื่องที่ไม่ควรทำคือการทำ Gene Editing ในมนุษย์ ซึ่งจะมีผลต่อลูกหลานต่อไป

ทีนี้สิ่งที่นักวิทยาศาสตร์จีน เจียงกุย เหอ ทำคือ เขาอ้างว่า (ซึ่งไม่รู้ว่าเขาทำจริงหรือเปล่า เพราะไม่มี paper แล้วคนอื่นก็ตรวจสอบไม่ได้) ใช้เทคโนโลยีนี้คือ CRISPR-Cas9 ทำ Gene Editing กับเด็กแฝด อันนี้เป็นการทำในหมวดที่ร้ายแรงสุดของ NAS ที่ว่า ‘ยังไม่ควรทำ’ เพราะเรายังไม่รู้ผลกระทบว่ามากขนาดไหน ยังพิสูจน์ไม่ได้ อาจจะดีหรือไม่ดีก็ได้

สิ่งที่นักวิทยาศาสตร์จีนทำคือ เขาทำใน embryo เลย ร่างกายของคนทุกคนมาจาก 1 เซลล์ ที่สเปิร์มกับไข่ผสมกัน เซลล์แยกเป็น 2 เป็น 4 ไปเรื่อยๆ เมื่อมันเริ่มจาก 1 เซลล์ ถ้า 1 เซลล์นี้เป็นอย่างไร พอก็อปปี้ตัวเองออกมามันก็จะเหมือนกันหมด รวมทั้งเซลล์สืบพันธ์ุด้วย พอเด็กแฝดนี้โตขึ้นมา ถ้าเป็นผู้หญิงก็จะสร้างไข่ ถ้าเป็นผู้ชายก็จะสร้างสเปิร์ม จะมีลักษณะนั้นติดไปด้วย แปลว่าเมื่อมีลูกมีหลาน ลักษณะที่ว่ามันจะติดตามต่อไป อันนี้คือสิ่งที่กังวลกัน

แต่อย่างที่กล่าวว่ายังพิสูจน์ไม่ได้ เพราะ paper ก็ยังไม่มี โดยจารีตของวงการนี้ ต้องมีงานวิจัยซึ่งเขียนบทความส่งไปรีวิวก่อน เมื่อสำนักหรือนิตยสารวรสารวิชาการยอมเอาไปลง ก็ถือว่าผ่านการดูแล้ว ทีนี้พอตีพิมพ์ไป คนอื่นทำแล้วจะทำได้หรือเปล่าก็ตามดูอีก ถ้าเกิดทำเท่าไหร่ก็ทำไม่ได้ paper นั้นก็มีแนวโน้มว่าอาจจะหลอก อันนี้ยังไม่ถึงขั้นที่มี paper เลย นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้น

อาจจะเป็นเพราะประเทศจีนเองไม่ได้เปิดรับการตรวจสอบจากตะวันตกหรือเปล่า

ผมว่ารัฐบาลจีนเองก็เดือดร้อนนะ เข้าใจว่าตอนนี้รัฐบาลจีนพยายามรักษาภาพพจน์ด้วย จีนตอนนี้ก็ไม่ใช่จีนสมัยก่อนแล้ว ถ้าถามว่าเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นได้เพราะเป็นจีนด้วยหรือเปล่า อาจมีส่วนน้อยก็แล้วกัน

ผมว่าพวกเราเอเชียมีเคสแบบนี้เกิดขึ้นหลายครั้ง ถ้าจำได้ สัก 10 ปีที่แล้วมีนักวิจัยเกาหลีที่ทำเรื่อง stem cell จนกลายเป็นซูเปอร์สตาร์ ตอนหลังมาพิสูจน์ได้ว่ามันมีการปลอมแปลงข้อมูล อันนี้ก็ดับไป

หรือที่ญี่ปุ่นช่วงสักสี่ปีที่แล้ว มีนักวิจัยหญิงคนหนึ่งออกข่าว บังเอิญวันที่นักวิจัยหญิงคนนี้ออกข่าวผมอยู่ที่ญี่ปุ่นด้วย ข่าวนี้ถูกเสนอออกทีวี รายการเรื่องเล่าข่าวเช้าๆ ก็เชิญมาออก แล้วก็กลายเป็นขวัญใจ สิ่งที่เขาทำคือเขาใช้ไฟฟ้า หรืออะไรบางอย่างกระตุ้นเซลล์ปกติ ให้กลายเป็น stem cell แล้วเอาเซลล์ตัวนี้ไปเพาะเลี้ยงต่อ ไปสร้างหัวใจ กล้ามเนื้อ หลอดเลือด โดยที่ไม่ต้องใช้เซลล์จากตัวอ่อน

พอตอนหลังก็มีข่าวออกมาว่าข้อมูลมันไม่จริง ก็เลยมีการตั้งกรรมการสอบสวน สอบข้อเท็จจริง แล้วเธอก็ถูกปลด ตอนหลังก็เขียนหนังสือเล่มหนึ่งยืนยันว่างานของตัวเองถูกต้อง แต่เอาเป็นว่ากระแสหลักยังไม่ยอมรับ ก็จบ เพราะวงการวิทยาศาสตร์มันต้องให้กระแสหลักยอมรับ

สังเกตได้ว่าคนฝั่งเอเชียมักกระหายความสำเร็จ กระบวนการตรวจสอบอาจไม่ค่อยดีเท่าไหร่ จริงๆ ฝั่งยุโรป อเมริกาก็มีแบบนี้เยอะ แต่บังเอิญเรื่องเกี่ยวกับเรื่องเซลล์ มาเกิดเคสในเอเชียเยอะ

คำกล่าวอ้างของ เจียงกุย เหอ ที่ว่าทำ Gene Editing ในเด็กเพื่อให้มีคุณสมบัติในเชิงบวกมากขึ้น มองจริงๆ น่าจะเป็นเรื่องดีไม่ใช่หรือ

เป็นเรื่องดีครับ เขาอ้างว่าเข้าไปแก้ไขส่วนหนึ่งของยีนที่ทำให้ติดเชื้อ HIV เหมือนมีประตูบานหนึ่ง ถ้าเกิดเปิดประตูบานนี้แล้ว HIV จะเข้าไปได้ เขาก็ไปปิดประตูบานนี้ วงการวิทยาศาสตร์ที่ไม่เห็นด้วยก็บอกว่า วิธีการป้องกันมีวิธีอื่น มันไม่ได้สิ้นหวัง หรือเหลือวิธีนี้วิธีเดียว ฉะนั้นอาจไม่จำเป็นขนาดนั้นไหม

กระบวนการวิจัยในคน วงการวิทยาศาสตร์เขาวางหลักว่า ทุกๆ งานวิจัยที่ทำกับคนต้องมีกรรมการจริยธรรมดูแล ส่วนใหญ่เป็นกรรมการสถาบัน เช่น ศิริราช ถ้าทำวิจัยที่ศิริราชในคน กรรมการสถาบันของศิริราชจะดูแลและอนุมัติว่าให้ทำได้หรือไม่ได้ก่อน ถ้าไม่อนุมัติก็ทำไม่ได้ครับ แหล่งทุนก็ไม่ให้เงิน

แต่อาจจะมีข้อยกเว้นบ้าง เช่น ถ้าเป็นกรณีโรคมะเร็งร้ายแรงถึงขั้นจะเสียชีวิต แล้วมียาตัวหนึ่งซึ่งตามทฤษฎีรักษาโรคนี้ได้ ก็ยอมให้ใช้ เพราะอาจจะรอดก็ได้

นอกจากพันธุกรรมที่เกี่ยวข้องกับการเกิดโรค เทคโนโลยีการปรับปรุงพันธุกรรมสามารถทำให้มนุษย์มีพัฒนาการด้านอื่นได้อีกไหม เช่น ทำให้เด็กเกิดมาฉลาดขึ้น

คือความรู้ของเราจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จากสิ่งที่ไม่แน่ใจว่าจะทำได้ก็อาจทำได้ ณ ปัจจุบันวันนี้ยิ่งค้นพบมากขึ้น ก็ไปพบยีนที่เกี่ยวข้องกับภาวะเป็นโรคทางด้าน mental หรือยีนที่เกี่ยวข้องกับการติดเหล้าได้ง่าย ผู้ชายก็จะมียีนที่มีแนวโน้มจะก้าวร้าวมากกว่าผู้หญิง ไปเปลี่ยนมันไหม? ก็น่าคิด

ถ้าทำ Gene Editing ได้ ก็จะกลายเป็นว่า ถ้าคุณไม่ edit ก็เหมือนไม่พาลูกไปฉีดวัคซีนหรือเปล่า

อาจเป็นอย่างนั้น แต่ผมคิดว่าอาจมีเส้นทางที่ขรุขระพอสมควรกว่าจะไปถึงจุดนั้นได้ จะมีความไม่เห็นด้วย เหมือนโคลนนิ่ง จะมีกฎหมายบางอย่างออกมา แต่กฎหมายนั้นจะมีหลักการหรือเจตนารมณ์ที่ชัดพอสำหรับคนหมู่มากไหม ไม่แน่ใจ เพราะว่าบางคนก็จะบอกว่า มาจำกัดสิทธิ์ฉันทำไม ก็จะเริ่มอธิบายยากแล้ว

ก่อนหน้านี้ในวงการวิทยาศาสตร์มีความพยายามทำอะไรแบบนี้ไหม

เราไม่เคยได้ยิน เราเพิ่งจะได้ยินเคสนี้เป็นเคสแรก อย่างที่บอกว่าปีที่แล้วเองที่ NAS ออกไกด์ไลน์มา ใครที่อยู่ในวงการวิทยาศาสตร์ย่อมรู้จัก มันไม่สามารถบังคับใครได้หรอก แต่ว่าคนในวงการวิทยาศาสตร์ต้องใส่ใจ แล้วก็เรื่องของกรรมการจริยธรรมถ้าไม่ผ่านก็ไม่มีใครยอมรับ งานวิจัยของเจียงกุยอาจผ่านก็ได้ แต่เราไม่รู้ เพราะข้อมูลไม่เคลียร์

จากกรณีผลงานของ เจียงกุย เหอ เราควรตั้งคำถามกับจริยธรรมหรือเปล่า แล้วมันจะหยุดอยู่แค่นี้ไหม

ข้อดีของยุคนี้คือว่า ใครทำอะไรมันเห็นกันหมด แล้ววงการจะมาช่วยกันคุย ปรามกัน แน่ละ แต่ละประเทศมีวิธีของเขาในการดูแล หรือ community ของนักวิทยาศาสตร์ทั้งหมดดูแล เมืองไทยเรา สมมุติบอกว่า เราก็ทำได้ ตามเทคโนโลยีอยู่ บริบทสังคมไทยเป็นแบบนี้ เช่น คนอาจไม่ค่อยแคร์เรื่อง privacy เท่าไหร่ เราเปิดเผยวันเกิดในเฟซบุ๊คไหม ถ้าใช่ ก็เพราะเราไม่ได้แคร์หรอก เพราะเวลา call center ถามเราว่าใช่ตัวจริงไหมเขาจะถามวันเกิด เราก็เปิดวันเกิดเราหมดเลย ทุกคนก็รู้วันเกิดเรา เราไม่ค่อยแคร์เรื่อง privacy ถ้าเป็นอย่างนั้นอาจมีความเสี่ยงมากกว่าต่างประเทศ หรือพูดอีกมุมว่า ไม่เป็นไรหรอก เรารับได้ สังคมต้องมาคุยกันว่าเรารับได้แค่ไหน

พูดได้ไหมว่าหลังจากนี้เราจะไม่วิวัฒนาการแบบ natural selection หรือการคัดเลือกโดยธรรมชาติ แต่จะวิวัฒน์ผ่าน Gene Editing

มันกำลังเข้าสู่ยุคนั้น natural selection เดินด้วยสปีดที่เร็วขึ้นหรือช้าลง ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง กลุ่มประชากรที่เราไปอยู่ ภายใต้เงื่อนไขของธรรมชาติ แต่ตอนนี้เรากำลังเจอยุคที่ selection เกิดขึ้นจากหลายอย่าง ไม่ต้องไปถึงขั้น Gene Editing หรอก อาหารที่กิน สิ่งแวดล้อมที่เจอ สภาพแวดล้อมที่เราอยู่ สารพิษบางอย่างทำให้ภาวะทางอารมณ์มีความผิดปกติสูงมาก แล้วความเครียดของคนมีผลต่อพันธุกรรมส่งผลต่อเด็กหรือสัตว์ที่เกิดมา

เขาบอกว่าจากยุคที่ natural มาถึงยุคปัจจุบันมีตัวแปรเยอะเลยที่ส่งผลต่อพันธุกรรมไปสู่รุ่นลูก แล้วพอถัดไปอีกก็จะเป็น Gene Editing ซึ่งตอนนี้เราก็กำลังจ่อๆ เข้าสู่ยุค Gene Editing อยู่

แต่มันก็เปลี่ยนที่รุ่นลูกใช่ไหม ไม่ได้เปลี่ยนที่รุ่นเรา

natural selection เปลี่ยนในรุ่นลูกหลานใช้เวลาเป็นหน่วยพัน หมื่นปี ที่จริงถ้าเป็นคนก็เปลี่ยนมาเป็นแสนปีขึ้นมา แต่ตอนนี้ความเปลี่ยนมันเปลี่ยนโดยปัจจัยอื่นซึ่งไม่รู้ว่าจะ natural หรือเปล่า เราอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ artificial มากๆ สภาพแวดล้อมผิดไปจากประวัติศาสตร์มนุษย์ เรากำลังถูกหล่อหลอมให้วิวัฒนาการไปอีกทางหนึ่ง เช่น อาหารการกินมีผลต่อน้ำหนักตัว เด็กที่เกิดมาจะมีพันธุกรรมบางอย่างที่เป็นผลจากการใช้ชีวิตปัจจุบัน

ในอนาคต Gene Editing จะกลายเป็นเรื่องถูกกฎหมาย?

อย่างที่บอกทุกวันนี้ Gene Editing ไม่ได้ผิดกฎหมาย ไม่มีกฎหมายห้าม มีแต่ไกด์ไลน์ กฎหมายออกไม่ทันหรอก กว่าจะเข้าสภาก็เปลี่ยนไปแล้ว เลยต้องใช้อย่างอื่นที่ไม่ใช่กฎหมาย เช่น จริยธรรม หรือไกด์ไลน์ อีกอย่างคือ วงการเองก็ต้องคุมกันเอง นักวิทยาศาสตร์เตือนกันเอง เพราะการห้าม Gene Editing ก็ไม่ได้ make sense ก็เรา edit gene เพื่อผลิตยาบางอย่าง รักษามะเร็ง ใครห้ามนี่ซวยไปนะ มันห้ามไม่ได้

ที่เมืองไทยใช้ระบบแพทยสภา เพราะแบบนี้มันต้องแพทย์ทำ แพทยสภาจะเป็นคนประกาศว่าห้ามทำเรื่องไหน สิ่งที่แพทยสภาประกาศอาจไม่ใช่กฎหมาย แต่แพทยสภาสามารถลงโทษคนที่ฝ่าฝืนได้ ที่เป็นแพทย์ ก็ยกเลิกใบประกอบโรคศิลปะ อันนี้มันก็คุมได้ มันมีกลไกที่ไม่ใช่กฎหมายอย่างเดียว

จริยธรรมเป็นข้อถกเถียง บทสรุปมันเป็นอะไรที่คนแต่ละกลุ่มจะเห็นเป็นอย่างไร แต่พอมาเป็นไกด์ไลน์ ปลายสุดคือกฎหมาย

ผมจะยกตัวอย่างกฎของแพทยสภา บทบัญญัติของแพทยสภาเป็นอะไรที่แรงกว่าไกด์ไลน์ เพราะลงโทษได้ กฎหมายแรงสุด เพราะว่าบังคับใช้กับทุกคน ลงโทษได้เหมือนกัน มันก็มี พ.ร.บ.วิจัยในคน วิจัยในสัตว์ ที่เขาเถียงกันอยู่ว่า พ.ร.บ.วิจัยในสัตว์ลงโทษหนักกว่า พ.ร.บ.วิจัยในคน ทำให้สัตว์มีความทุกข์ โทษหนักกว่าทำให้คนมีความทุกข์ แปลกดี

ส่วนไกด์ไลน์ไม่มีบทลงโทษ แต่ในทางปฏิบัติ ไปๆ มาๆ ไกด์ไลน์อาจเป็นตัวช่วยที่ดีมากก็ได้ ถ้าคนในวงการนั้นยอมรับ หรือบทบัญญัติของแพทยสภาก็จะคลุมหมอได้ในระดับหนึ่ง อาจจะมีหมอที่ลักลอบ หมอที่อยู่ในโซนเทาๆ ซึ่งก็ต้องพิสูจน์กัน ถ้าคุณผิดจริงก็ต้องถูกเพิกถอน

ในฐานะคนธรรมดาทั่วไป Gene Editing เราควรมองมันในท่าทีไหน

ผมอยากให้ใส่ใจ ไม่ต้องไปรู้เรื่องเทคโนโลยีมากหรอก แต่สิ่งที่น่าจะรู้คือต้องระวังเรื่องอะไร จากเรื่องนี้ผมคิดว่ามีเรื่องจริยธรรมเป็น lesson learn แต่ก็จะดูว่าเมื่อถึงตาที่ตัวเองจะต้องเข้าโรงพยาบาลหรือคุยกับบริษัทประกัน ต่อไปในอนาคตจะมีบริษัทตัวกลางมายุ่งกับข้อมูลเรา เราควรให้ไหม เฟซบุ๊คควรลงวันเกิดไหม เพราะมันลิงค์ไปถึงเรื่องบางเรื่อง

ที่เราพูดถึงเรื่องนี้เพราะเราพูดเรื่องของเด็กสองคนนี้ เวลาที่ต้องพิสูจน์ มันต้องตีแผ่ อันนี้เป็นเรื่องที่น่าสนใจมากเลย เรื่องความขัดแย้งของการยอมรับได้ในวิทยาศาสตร์ กับการยอมรับในทางจริยธรรม บางทีก็ขบกันอยู่

ถ้าเปรียบเทียบวิทยาศาสตร์พันธุกรรมที่จะส่งผลต่ออนาคตของมนุษย์ กับเรื่อง AI อะไรน่ากังวลกว่ากัน

นาทีนี้ AI เพราะเดินหน้าไปเร็ว ส่งผลต่อสังคมและมนุษย์เยอะ สิ่งที่คิดว่าเราโดนไปเยอะแล้วจากการไปข้างหน้าของ AI เคยรู้สึกไหมว่าเวลาคุยโทรศัพท์กับคนที่เราอาจจะไม่เคยเจอ เขาเป็นคนหรือเปล่า คืออีกหน่อยจะเป็นแบบนั้นจริงๆ ตอนนี้ก็มีแล้ว มันมีของ Google Assistant โทรไปจองร้านอาหารให้เราได้ แล้วคนรับสายไม่รู้ว่าไม่ใช่คน แยกไม่ออก มันจะพูดแบบมีเอื้อน กระแอม เหมือนคน แต่มันยังทำภาษาไทยได้ไม่ดี แต่อีกหน่อยก็ทำได้

เพราะจะทำให้เกิดผลทางสังคมมากกว่า คนตกงาน หางานยากขึ้นหรือเปล่า

มันจะเกิด วันนี้ผมก็คุยกับคนที่ทำ call center ธนาคารแห่งหนึ่ง ผมก็ถามว่าเขาใช้ chatbot ไหม เขาก็บอกว่าใช้ ใช้แบบสกรีน คือเขาก็จะเปิดบริการทางไลน์ เป็น chatbot คนจะเขียนเข้าไปถาม คำถามนี้เป็นคำถามง่าย chatbot จะตอบไปเลย แล้วเราไม่ต้องรู้หรอกว่าเป็นคนหรือเปล่า คำถามที่ตอบยากกว่าจะส่งต่อให้คนเป็นคนตอบ ลดภาระคน แทนที่จะต้องจ้างคนหนึ่งพันคนก็อาจจะจ้างแค่ห้าร้อยคน อย่างนี้เรียกว่าตกงานไหม มันไม่มีงานทำตั้งแต่แรก

เราควรมองพัฒนาการของ AI อย่างไร ควรกังวลมากน้อยแค่ไหน

ควรกังวลแบบมีเหตุผล ถ้ากังวลมากไป หรือ ‘just กังวล’ ก็ไม่มีประโยชน์อะไร กังวลในระดับที่อธิบายได้ว่าคือ คุยกันได้ เรานั่งคุยกัน ผมบอกผมกังวล ผมจะพูดว่า ผมกังวลเพราะมันเป็นแบบนี้ แล้วผมคิดว่าควรทำแบบนี้ เพราะแบบนี้ อย่างนี้ผมอยากให้มันเกิด

แล้วเรื่องแบบนี้ผมคุยกับเด็กมหาวิทยาลัยได้นะ เขาก็อยากได้ เขาก็ชอบคุย แต่ถ้าคุยกับแม่ผม อาจยากกว่า แม่กังวล แต่แม่ไม่อยากรู้ แต่แม่กังวลอย่างเดียวอันนี้ก็ยากไปอีกแบบ

ในฐานะคนที่ทำงานตรงนี้ ความกังวลของสังคมกับ AI มีอะไรน่ากังวลบ้างไหม

เรื่องการไม่ระวังตัว เรื่อง privacy ถูกหลอก คนไทยมีปัญหาถูกหลอกง่าย พอมี AI ก็ยิ่งถูกหลอกง่ายขึ้น หรือถูกหลอกให้ป้อนข้อมูลให้ AI โดยผู้ที่ไม่ได้ถึงกับหวังร้าย แต่หวังได้เงินเรา อันนี้กังวล เรื่องกังวลที่กังวลเกินเหตุก็มี

เรื่องที่เราคุยกัน ทั้งเรื่องพันธุกรรม และ AI มีสิ่งที่เกี่ยวข้องกันคือ privacy ไม่น้อยกว่ากันเท่าไหร่เลย?

ใช่ ในมุมที่อาจจะมีที่มาต่างกัน แต่เรามาเจอกัน เรื่องพันธุกรรม ในเซลล์มี DNA แล้วใน DNA เป็นข้อมูลสุดรักสุดหวงของเรา ส่วนเรื่อง AI มันเอามาจากโซเชียลมีเดีย เป็นข้อมูลนอกร่างกายที่สำคัญเหมือนกัน พอสองส่วนนี้มัน… สมมุติมีใครที่ได้มาทั้งสองอันเลย ทีนี้มัน powerful มาก เพราะมันรู้ทั้งลักษณะทางพันธุกรรมที่เรามีแนวโน้มอย่างไร แล้วมันก็รู้ว่าพอเรามีแบบนี้ข้างใน แล้วภายนอกเราเป็นแบบนี้ มันจะ match กันได้ มันจะรู้เยอะเลย อันนี้ยิ่งต้องระวัง

Author

กนกอร แซ่เบ๊
เราเคยแซวกันว่า "กนกอรเป็นคนจีนที่พูดไทยได้" หรือ "เป็นฮองเฮาประจำสำนัก WAY" ซึ่งไม่ผิดนัก เธออาจมองว่าภาษาจีนเป็นเรื่องสามัญในครอบครัว แต่สำหรับกองบรรณาธิการ หน้าที่ประการหนึ่งของอดีตนักศึกษามานุษยวิทยาคือการเปิดหน้าต่างบานใหม่ให้ WAY มองสิ่งต่างๆ ได้ไกลและกว้างกว่าที่เคยเป็น

Author

รุ่งฤทธิ์ เพ็ชรรัตน์
จากผู้อ่าน WAY อดีตภูมิสถาปนิก ตัดสินใจเปลี่ยนชีวิตมาทำงานหนังสือ ต้นทุนด้านการอ่าน ความสนใจที่หลากหลายและลงลึก เขาจึงเป็นตัวจักรสำคัญที่ทุกคนในองค์กรยอมรับ ยกเว้นรสนิยมทางดนตรี เพราะทุกวันนี้ยังต้องใส่หูฟังคนเดียวเงียบๆ

Photographer

อนุชิต นิ่มตลุง
อาชีพเก่าคือคนขายโปสการ์ดภาพถ่ายขาวดำยุคฟิล์ม จับกล้องดิจิตอลรับเงินเดือนประจำครั้งแรกที่นิตยสาร a day weekly เมื่อปี 2547 ถ่ายงานหลากหลายรูปแบบทั้งงานสตูดิโอ ภาพข่าว สารคดี มีความสามารถพิเศษสั่งตัวแบบได้ตั้งแต่พริตตี้ คนงานทุบหินแถวหิมาลัย ไล่ไปจนถึงงานที่ถูกใครต่อใครหยิบยืมไปใช้สอยบ่อยๆ อย่างภาพถ่ายนักวิชาการที่ไม่น่าจะถ่ายรูปขึ้น นอกจากทำงานให้ WAY อย่างยาวนาน ยังเป็นเจ้าของกิจการเครื่องหนัง Dog's vision อันลือลั่น

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า