เชื้อชาติกับเชื้อโรคทางการแพทย์

เดวิด อาร์. วิลเลียมส์ (David R. Williams) นักวิชาการด้านสังคมศาสตร์และสาธารณสุขแห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ได้คิดค้นและพัฒนา ‘เครื่องวัดน้ำหนักแห่งการเลือกปฏิบัติในชีวิตประจำวัน’ โดยแรงจูงใจในการคิดค้นเครื่องวัดนี้มีที่มาจากความเหลื่อมล้ำในทุกมิติระหว่างคนผิวขาวและคนผิวดำ รวมถึงชนกลุ่มน้อยอื่นๆ ในประเทศสหรัฐอเมริกา

เดวิด อาร์. วิลเลียมส์

ย้อนกลับไปช่วงต้นทศวรรษที่ 1990 เดวิดถูกขอให้ตรวจสอบหนังสือวิชาการเล่มหนึ่ง ซึ่งมีหัวข้อเกี่ยวกับสุขภาพของชาวอเมริกันผิวดำ มันสร้างความ “ตกตะลึงเกือบทุกบท ทั้งหมด 25 บทกล่าวว่าการเหยียดชนชาติ เป็นปัจจัยที่ทำลายสุขภาพของคนผิวดำ นักวิจัยทุกคนได้ระบุว่าการเหยียดเชื้อชาติส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อคนผิวดำ”

ทุกๆ 7 นาที มีวัยรุ่นผิวดำเสียชีวิตในสหรัฐ นั่นแปลว่ามีคนผิวดำมากกว่า 200 คน เสียชีวิตในแต่ละวัน ซึ่งคนเหล่านี้จะไม่เสียชีวิต หากสุขภาพของคนผิวดำและผิวขาวเท่าเทียมกัน

หลายเดือนหลังจากนั้น ขณะที่เดวิดกำลังพูดอยู่ในงานสัมมนาที่วอชิงตัน ดีซี เขาพูดถึงสิ่งสำคัญที่สุดในงานวิจัยเล่มนั้น คือการบันทึกว่าการเหยียดเชื้อชาติส่งผลกระทบต่อร่างกายได้อย่างไร สุภาพบุรุษผิวขาวท่านหนึ่งลุกขึ้นยืนท่ามกลางผู้ฟังพร้อมพูดว่า เขาเห็นด้วยว่าเรื่องการเหยียดผิวเป็นเรื่องใหญ่ แต่เราไม่สามารถวัดการเหยียดผิวได้ ซึ่งเดวิดตอบกลับว่า “เราวัดที่ความมั่นใจในตัวเอง”

และนี่อาจเป็นจุดเริ่มต้นของการคิดค้นและพัฒนามาตรวัดน้ำหนักแห่งการเลือกปฏิบัติ

“ดังนั้นผมจึงพัฒนามาตรวัดสามระดับขึ้นมา” เดวิดบอกเล่าบนเวที TEDMED 2016

“ระดับแรก – ตรวจจับเหตุการณ์เลือกปฏิบัติที่รุนแรง เช่น การถูกไล่ออกและถูกตำรวจเรียกอย่างไม่เป็นธรรม แต่การเลือกปฏิบัติสามารกเกิดขึ้นได้ในกรณีที่เล็กน้อยและลึกซึ้งกว่านั้น ฉะนั้นในระดับที่ 2 เรียกว่า ระดับการเลือกปฏิบัติในชีวิตประจำวัน

 

“ในระดับนี้ตรวจจับเก้าสิ่ง ที่ตรวจจับประสบการณ์ เช่น คุณถูกปฏิบัติอย่างไม่สุภาพ เมื่อเทียบกับคนอื่นๆ คุณได้รับการบริการที่แย่กว่าคนอื่น ในร้านอาหารหรือร้านค้า หรือผู้คนแสดงท่าทางเหมือนกลัวคุณ มาตรวัดนี้ตรวจจับถึงวิธีการให้ความเคารพผู้อื่นซึ่งสังคมไม่ได้ให้ความสำคัญ ได้ถูกทำลายลงในชีวิตประจำวัน”

เดวิดเล่าว่า งานวิจัยได้ค้นพบว่าระดับการเลือกปฏิบัติที่สูงขึ้นนั้นสัมพันธ์กับความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดโรคต่างๆ เพิ่มขึ้น ตั้งแต่โรคความดันโลหิตสูง โรคอ้วนลงพุง โรคมะเร็งเต้านมไป จนถึงโรคหัวใจ ถึงขนาดการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร ยิ่งไปกว่านั้น ผลกระทบบางส่วนสามารถตรวจสอบได้ตั้งแต่อายุยังน้อย ยกตัวอย่างเช่น ผลการศึกษาวัยรุ่นชาวผิวดำ พบว่าผู้ที่แจ้งว่าโดนเลือกปฏิบัติสูงในสมัยวัยรุ่น มีระดับฮอร์โมนความเครียดที่สูงกว่า รวมทั้งความดันเลือด

“การเลือกปฏิบัติและการเหยียดผิวส่งผลอย่างลึกซึ้งในด้านต่างๆ ของสุขภาพอีกด้วย ยกตัวอย่างเช่น การเลือกปฏิบัติด้านการรักษาพยาบาล ในปี 1999 สถาบันการแพทย์นานาชาติได้ขอให้ผมดำรงตำแหน่งคณะกรรมการ ซึ่งผมค้นพบและสรุปตามหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ว่าคนผิวดำและชนกลุ่มน้อยอื่นๆ ได้รับการรักษาที่คุณภาพ ต่ำกว่าคนผิวขาว คือสิ่งที่เป็นจริงในการรักษาทางการแพทย์ทุกรูปแบบ จากอันที่ง่ายที่สุดไปจนถึงอันที่มีความซับซ้อนทางเทคนิคมากที่สุด

 

“คำอธิบายหนึ่งสำหรับรูปแบบนี้คือปรากฏการณ์ที่เรียกว่า ‘นัยอคติ’ หรือ ‘การเลือกปฏิบัติอย่างไม่รู้ตัว’ มีการศึกษามาแล้วหลายศตวรรษโดยนักจิตวิทยาสังคม บ่งชี้ว่าถ้าคุณมีความคิดเหมารวมในแง่ลบกับคนกลุ่มหนึ่งอยู่ในจิตใต้สำนึกของคุณ แล้วคุณได้พบกับบุคคลที่มาจากกลุ่มนั้นๆ คุณจะทำการแบ่งแยกบุคคลนั้นทันที คุณจะปฏิบัติต่อเขาอย่างต่างออกไป มันคือกระบวนการที่เกิดขึ้นโดยไม่รู้ตัว เป็นระบบที่เกิดอัตโนมัติ เป็นกระบวนการที่ละเอียดอ่อน แต่ว่าเป็นเรื่องปกติ และมันเกิดขึ้นแม้กระทั่งกับบุคคลที่มีเจตนาดีที่สุด”

เดวิดพยายามฉายภาพให้เห็นถึง ‘การเหยียดที่เพิ่งสร้าง’ ในสังคมอเมริกัน โดยยกตัวอย่างหลักฐานที่กลุ่มนักวิจัยได้รวบรวมขึ้น ประกอบไปด้วยหนังสือ นิตยสาร และบทความ ช่วยให้เรามองผ่านฐานข้อมูลนี้และเห็นว่าชาวอเมริกันมองคำที่ถูกจับคู่กันอย่างไร

“ดังนั้นเมื่อคำว่า ‘ดำ’ ปราฏขึ้นมาในวัฒนธรรมอเมริกัน อะไรจะเกิดขึ้นตามมา?” เดวิดตั้งคำถาม

หลักฐานจากงานวิจัยบอกว่า เมื่อคำว่า ‘ดำ’ ปรากฏ กลุ่มคำที่จะตามมาก็คือ ‘ยากจน’ ‘รุนแรง’ ‘เคร่งศาสนา’ ‘ขี้เกียจ’ ‘ร่าเริง’ ‘อันตราย’ เมื่อคำว่า ‘ขาว’ ปรากฏ คำที่มักจะตามมาบ่อยๆ คือ ‘ร่ำรวย’ ‘หัวก้าวหน้า’ ‘เป็นต้นแบบ’ ‘หัวแข็ง’ ‘ประสบความสำเร็จ’ และ ‘มีการศึกษา’

ถ้ายอดของภูเขาน้ำแข็งนี้คือความไม่เท่าเทียมและการเลือกปฏิบัติทางสังคมเนื่องจากเชื้อชาติ ข้างใต้ภูเขาน้ำแข็งก็คือการเหมารวมในแง่ลบต่อเชื้อชาติอื่น ซึ่งสิ่งนี้เกิดขึ้นกับการรักษาทางการแพทย์ด้วย

ขณะที่ โดโรธี โรเบิร์ตส์ (Dorothy Roberts) ปัญญาชนผิวสีชาวอเมริกัน ผู้สนับสนุนความยุติธรรมทางสังคม ได้กล่าวถึงประเด็นสำคัญเกี่ยวกับอคติทางเชื้อชาติในการรักษาทางการแพทย์บนเวที TED 2015

โดโรธี โรเบิร์ตส์

“ฉันพบว่า เชื้อชาติเป็นเรื่องที่ฝังรากลึกในวงการแพทย์ มันสร้างแนวทางการวินิจฉัย การวัดผล การรักษา และการจ่ายยาให้กับแพทย์ แม้แต่นิยามของโรค และยิ่งฉันได้ค้นพบข้อเท็จจริงมากเท่าไร ฉันก็ยิ่งหงุดหงิดใจมากเท่านั้น” โดโรธีบอก และชวนตั้งข้อสังเกตถึงอัตราการกรองผ่านหน่วยไต หรือค่า GFR

“แพทย์ทำการแปลผลค่า GFR เป็นประจำ ตัวบ่งชี้ที่สำคัญที่บ่งบอกการทำงานของไตนี้เกี่ยวข้องกับเชื้อชาติ ดังที่คุณเห็นในการทดสอบจากห้องทดลอง ระดับครีเอทีนที่เหมือนกัน ความเข้มข้นในเลือดของผู้ป่วยที่เหมือนกัน ให้ผลการคาดคะเน GFR ที่แตกต่างกัน โดยมีปัจจัยคือ ‘ผู้ป่วยนั้นเป็นชาวแอฟริกันอเมริกันหรือไม่’ ทำไมล่ะ”

คำตอบของโดโรธีก็คือ ข้อมูลทางการแพทย์ที่ผูกโยงกับลักษณะแบบเหมารวมทางเชื้อชาติ เช่น ชาวแอฟริกันอเมริกันมีมวลกล้ามเนื้อมากกว่าคนที่มีเชื้อชาติอื่นๆ

“แต่มันเป็นเหตุเป็นผลตรงไหน ที่แพทย์จะสรุปในทันทีว่าฉันมีกล้ามเนื้อมากกว่านักเพาะกายหญิง มันจะไม่แม่นยำกว่า และต้องใช้หลักฐานอ้างอิงมากกว่าหรือ ที่จะวัดมวลกล้ามเนื้อของผู้ป่วยแต่ละคนโดยแค่มองดูพวกเขา”

การแพทย์ใช้เชื้อชาติเป็นทางลัด แต่มันให้ผลหยาบๆ แต่ “สำหรับปัจจัยที่สำคัญ อย่างเช่นมวลกล้ามเนื้อ ระดับเอนไซม์ และลักษณะทางพันธุกรรม พวกเขาแค่ไม่มีเวลาที่จะตรวจทุกอย่าง แต่เชื้อชาติเป็นตัวแทนที่ไม่ดีในหลายๆ กรณี เชื้อชาติให้ข้อมูลที่ไม่มีความเกี่ยวข้องกันเลย มันเป็นสิ่งที่ทำให้สับสน”

แต่กระนั้น เชื้อชาติก็ยังถูกใช้ในการวัดค่าทางคลินิก

 

“มันบดบังแพทย์ของเราจากอาการของผู้ป่วย ความเจ็บป่วยในครอบครัว ประวัติของพวกเขา ความเจ็บป่วยของพวกเขาเองที่พวกเขาอาจมี ทั้งหมดนี้ใช้หลักฐานอ้างอิงมากกว่าใช้เชื้อชาติของผู้ป่วย เชื้อชาติไม่สามารถแทนที่การวัดทางคลินิกที่สำคัญเหล่านี้ได้ โดยไม่ละทิ้งความเป็นอยู่ที่ดีของผู้ป่วย” โดโรธีกล่าว

ถ้าลองนำ ‘การเหยียดที่เพิ่งสร้าง’ ที่ศึกษาคำว่า ‘ดำ’ กับ ‘ขาว’ และกลุ่มคำและความหมายที่ตามมาจากสองคำนี้ ก็จะพบว่า ทั้งหมดเป็นเรื่องเดียวกัน อคติแบบไม่รู้ตัวได้แทรกซึมผ่านทุกสถาบันทางสังคม ไม่เว้นแม้แต่การแพทย์

“การแพทย์ที่เกี่ยวกับเชื้อชาติ ยังทำให้ผู้ป่วยผิวสีมีความเสี่ยงเป็นอย่างยิ่งจากความลำเอียงและภาพพจน์ทางสังคมที่อันตราย ผู้ป่วยผิวสีและละตินมีความเป็นไปได้เป็นสองเท่าที่จะได้รับการรักษาอาการกระดูกหักที่เจ็บปวดไม่ดีเท่าคนขาว เพราะว่าภาพจำที่ว่า คนผิวดำรู้สึกถึงความเจ็บปวดได้น้อยกว่า จึงพูดถึงความเจ็บปวดในลักษณะเกินจริง ทำให้พวกเขาอาจได้รับยามากเกินจนติดยาได้” โดโรธีบอก

“ปัญหาเกี่ยวกับเชื้อชาติในการแพทย์มีมากกว่าการวินิจฉัยผู้ป่วยผิดพลาด การให้ความสำคัญกับความแตกต่างเชื้อชาติแต่เดิมต่อโรคเบี่ยงความสนใจและแหล่งข้อมูลจากการตัดสินทางสังคม ทำให้เกิดช่องว่างทางเชื้อชาติที่น่าตกใจ การขาดการเข้าถึงการดูแลทางการแพทย์ที่ดี อาหารที่ขาดแคลนในชุมชนยากจน การสัมผัสกับพิษทางสิ่งแวดล้อม อัตราการถูกกักขังที่สูง และการเผชิญกับความเครียดของการแบ่งแยกทางเชื้อชาติ

โดโรธียกตัวอย่างการรับรองยารักษาโรคหัวใจสำหรับคนผิวสี – BiDil

“องค์การอาหารและยายังได้รับรองยาที่จำเพาะต่อเชื้อชาติ มันคือยาที่มีชื่อว่า BiDil ที่ใช้รักษาอาการหัวใจล้มเหลวในผู้ป่วยแอฟริกัน-อเมริกัน แพทย์โรคหัวใจพัฒนายานี้โดยปราศจากการคำนึงถึงเชื้อชาติหรือพันธุกรรม แต่มันกลายเป็นความสะดวกสำหรับเหตุผลทางการค้าในการขายยานี้ให้กับผู้ป่วยผิวสี จากนั้นองค์การอาหารและยาก็อนุญาตให้บริษัทยาทดสอบประสิทธิภาพยาในการทดสอบทางคลินิกที่มีแต่ผู้ทดสอบชาวแอฟริกัน-อเมริกัน

 

“การทดสอบนี้มีสมมุติฐานว่า เชื้อชาติเป็นตัวแทนของปัจจัยทางพันธุกรรมบางอย่างที่มีผลต่อโรคหัวใจ หรือต่อการตอบสนองยา แต่ลองคิดถึงข้อความอันตรายที่มันสื่อสิคะ ที่ว่าร่างกายของคนผิวสีไม่ได้มาตรฐาน ยาที่ใช้รักษาพวกเขาไม่ได้รับการยืนยันว่ามันจะได้ผลกับผู้ป่วยอื่นๆ

 

“เชื้อชาติเป็นการจัดจำแนกทางสังคมที่สร้างความยุ่งยากให้กับผลทางชีวภาพ เป็นเหตุความไม่เท่าเทียมในสังคมต่อสุขภาพของคน กระนั้นการแพทย์ที่เกี่ยวกับเชื้อชาติก็ยังแสร้งว่า คำตอบของช่องว่างเรื่องสุขภาพนี้ สามารถพบได้ในยาที่จำเพาะต่อเชื้อชาติ มันง่ายกว่าและทำกำไรได้มากกว่าในการขายเทคโนโลยีที่จำเพาะกับช่องว่างทางสุขภาพนี้ แทนที่จะจัดการกับโครงสร้างความไม่เท่าเทียมกันที่ทำให้เกิดสิ่งนี้ขึ้น”

สุดท้ายยา BiDil สำหรับคนผิวสีก็ไม่ได้ถูกวางจำหน่าย

“การแพทย์ที่เกี่ยวกับเชื้อชาติเป็นการแพทย์ที่ไม่ดี มันเป็นวิทยาศาสตร์แย่ๆ และมันเป็นการตีความมนุษยชาติที่ผิดเพี้ยน ที่สุดแล้วเราจะละทิ้งความคิดตกทอดที่แสนล้าหลังนี้ และยืนยันมนุษยธรรมพื้นฐาน โดยการหยุดความไม่เท่าเทียมกันในสังคม ที่แบ่งแยกเรา”

 

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า