หัวที่หายไปของโคลัมบัส กับสัญญาประชาคมทางเชื้อชาติ

เนื้อหาและความเห็นในบทความเป็นสิทธิเสรีภาพและทัศนะส่วนตัวของผู้เขียน โดยอาจไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับทัศนะและความเห็นของกองบรรณาธิการ

หัวที่หายไปของอนุสาวรีย์คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส (Christopher Columbus) ที่เมืองบอสตัน สหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน ปี 2020 เราอาจมองได้ว่าเป็นการหายไปของศีลธรรมแบบคนผิวขาว (white) ที่ถูกสับเปลี่ยนจากที่คนผิวขาวเป็นตัวแทนของความดี (good) หรือสิ่งที่ตรงข้ามกับคนผิวขาวก็คือความไม่ดี (bad) กล่าวคือ เป็นสถานะของกลุ่มชาติพันธุ์ที่ไม่ใช่คนผิวขาว (non-white) เป็นความสัมพันธ์ที่กลุ่มชาติพันธุ์ที่ไม่ใช่คนผิวขาวได้แปรเปลี่ยนสถานะตนเอง โดยการแทนที่ศีลธรรมของคนผิวขาวด้วยการผลักคนผิวขาวให้ออกไปจากพื้นที่ทางศีลธรรมนี้ และปรับเปลี่ยนสถานะทางศีลธรรมของกลุ่มตนเสียใหม่โดยการเข้าไปแทนที่พื้นที่ทางศีลธรรมของความดีที่กลุ่มคนผิวขาวเป็นตัวแทนอยู่ก่อนหน้า และกลับหัวความสัมพันธ์ที่คนผิวขาวมีสถานะทางศีลธรรมของความดีเป็นความชั่วร้าย (evil) เพื่อสร้างสถานะของกลุ่มชาติพันธุ์ที่ไม่ใช่คนผิวขาวเป็นความดีแทน แต่เพื่อที่จะเข้าใจว่า ทำไมเราจึงสามารถที่จะมองเห็นหัวที่หายไปของอนุสาวรีย์โคลัมบัสที่เป็นการหายไปของศีลธรรมแบบคนผิวขาวได้นั้น จะต้องทำความเข้าใจประวัติศาสตร์ความเป็นมาของการเหยียดเชื้อชาติในสังคมอเมริกันเสียก่อน

เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม ปี 2020 ตำรวจ 4 คน ได้ทำการจับกุมชายผิวสีอายุ 46 ปี นามว่า จอร์จ ฟลอยด์ (George Floyd) ที่เมืองมินนีแอโพลิส (Minneapolis) มลรัฐมินเนโซตา (Minnesota) สหรัฐอเมริกา ในข้อหาใช้ธนบัตรปลอมในร้านขายอาหารแห่งหนึ่ง ตำรวจทั้ง 4 คนได้เข้าไปจับกุมตัวล็อคแขนล็อคขาใส่กุญแจมือ มีคนหนึ่งใช้เข่ากดคอด้านหลังของฟลอยด์ เป็นเวลานาน 8 นาที 46 วินาที และในช่วง 2 นาที 53 วินาทีในช่วงท้าย ฟลอยด์เริ่มไม่ตอบสนองและหมดสติไปในที่สุด หลังจากนั้นฟลอยด์จึงถูกส่งไปตัวไปที่โรงพยาบาลและเสียชีวิตไปในที่สุด การชันสูตรพลิกศพเบื้องต้นพบว่า เกิดจากผลกระทบที่ผสมกันจากความตึงเครียดระหว่างถูกควบคุมตัวและโรคประจำตัวซึ่งได้แก่โรคหลอดเลือดหัวใจและโรคความดันสูง รวมถึงสารมึนเมาที่อาจมีอยู่ในร่างกายของฟลอยด์นั้นน่าจะเป็นสาเหตุของการเสียชีวิต แต่ผลการชันสูตรโดยผู้เชี่ยวชาญที่ครอบครัวของฟลอยด์ได้จ้างมานั้นกลับพบว่าเกิดจากภาวะขาดอากาศหายใจจากแรงกดทับที่คอและหลัง จนนำไปสู่การขาดเลือดไปเลี้ยงสมอง ภายหลังการเสียชีวิตของฟลอยด์ไม่นาน ก็ได้มีการเผยแพร่วิดีโอบันทึกภาพการจับกุมฟลอยด์ไปทั่วโลกออนไลน์ เกิดกระแส #BlackLivesMatter ไปทั่วสหรัฐ มีการเดินประท้วง ก่อจลาจล และสร้างความวุ่นวายไปทั่วสหรัฐ เพื่อเรียกร้องให้มีการจับกุมตำรวจทั้ง 4 คน และรณรงค์ต่อต้านการเหยียดสีผิวและการเหยียดเชื้อชาติในสหรัฐ จนกลายเป็นกระแสไปทั่วโลกในที่สุด (Pereira, 2020; Silverman, 2020)

โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพยายามทำลายหรือพ่นสีสเปรย์ใส่อนุสาวรีย์ต่างๆ ของบุคคลสำคัญในยุโรปและสหรัฐอเมริกาที่มีความเกี่ยวข้องกับการค้าทาสและการเหยียดเชื้อชาติ โดยการเหยียดเชื้อชาตินี้มีความเกี่ยวพันไปกับการล่าอาณานิคมในอดีตตั้งแต่ช่วงศตวรรษที่ 15 เป็นต้นมา อาทิ การทำลายอนุสาวรีย์ของ เอ็ดเวิร์ด โคลส์ตัน (Edward Colston) พ่อค้าทาสรายใหญ่ที่จับชาวแอฟริกันผิวสีจำนวนมากไปยังสหรัฐอเมริกาที่เมืองบริสตอล อนุสาวรีย์กษัตริย์เลออปอลด์ (Leopold) ที่ 2 ของเบลเยียม ผู้ยึดครองคองโกและเปลี่ยนสภาพคองโกให้เป็นค่ายแรงงานอุตสาหกรรมยางเพื่อความมั่งคั่งของเบลเยียมในช่วงศตวรรษที่ 19 เป็นต้น และประเด็นที่น่าสนใจก็คือ การทำลายหัวของอนุสาวรีย์คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส ที่เมืองบอสตัน สหรัฐ เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน ปี 2020 เหตุที่น่าสนใจก็เพราะว่าคนทั่วไปต่างยกย่องโคลัมบัสในฐานะผู้บุกเบิกและผู้ค้นพบทวีปอเมริกา ในปี 1492 แต่ในภายหลังได้มีการศึกษาประวัติโคลัมบัสใหม่ จนค้นพบหลักฐานจำนวนมากที่แสดงให้เห็นถึงความเลวร้ายที่เกิดขึ้นกับดินแดนที่โคลัมบัสไปถึง ไม่ว่าจะเป็นการค้าทาส การบังคับใช้แรงงานชนพื้นเมือง การทารุณ กดขี่ และการฆ่า จนประชากรชนพื้นเมืองในบริเวณดังกล่าวลดน้อยลงไปในท้ายที่สุด (ปองขวัญ สวัสดิภักดิ์, 2563; พิพัฒน์ กระแจะจันทร์, 2563) 

เหตุการณ์ทั้งหมดเหล่านี้รวมถึงหัวที่หายไปของอนุสาวรีย์โคลัมบัส กำลังบอกอะไรเรา และเราเห็นนัยอะไรจากเหตุการณ์นี้ได้มากน้อยแค่ไหน นี่คือโจทย์ที่บทความชิ้นนี้จะพาทุกคนไปร่วมหาคำตอบ

รากเหง้าของการเหยียดสีผิวในสหรัฐอเมริกา

ในอดีตการแบ่งแยกบนฐานของเชื้อชาตินั้นน่าจะเกิดขึ้นอย่างชัดเจนครั้งแรกๆ ในประวัติศาสตร์โลก คือ ในสมัยโรมันโบราณ โดยการแบ่งแยกคนโรมันออกจากคนป่าเถื่อนที่เป็นพวกไวกิงในแถบสแกนดิเนเวียและอพยพเข้ามาในทวีปยุโรปมากขึ้นกระทั่งบุกรุกจักรวรรดิโรมันจนล่มสลายไปในที่สุด (โปรดพิจารณา Pagden, 1995, บทที่ 1) สำหรับกรณีของฟลอยด์ นั่นไม่ใช่เหตุการณ์แรกที่เกิดขึ้น หากย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์สหรัฐ จะพบว่าการกระทำบนพื้นฐานของเชื้อชาติ การทำร้าย และการกดขี่โดยไม่คำนึงถึงความเท่าเทียมในฐานของความเป็นมนุษย์นั้นเกิดขึ้นมานานแล้ว อันเป็นผลมาจากลัทธิอาณานิคมในสหรัฐอเมริกา ตั้งแต่ช่วงก่อตั้งประเทศจนถึงปัจจุบัน (ปี 2021) ในการประชุมเพื่อร่างรัฐธรรมนูญของสหรัฐ วันที่ 25 พฤษภาคม ถึงวันที่ 17 กันยายน ปี 1787 ที่เมืองฟิลาเดลเฟีย มลรัฐเพนซิลวาเนีย บันทึกการประชุมดังกล่าวก็มีการระบุถึงข้อเสนอที่จะไม่ให้มีการออกกฎหมายยกเลิกการค้าทาสหรือการมีทาส ภายใต้ข้ออ้างที่ว่าการมีทาสมากๆ จะทำให้สหรัฐอเมริกาเจริญรุ่งเรืองทางการค้าอย่างมาก (สมบัติ จันทรวงศ์, 2529, 156-157, 204-210) 

เชื้อชาติกลายเป็นสิ่งที่ครอบงำสังคม เศรษฐกิจ และวัฒนธรรมในทุกๆ พื้นที่หรือก็คือเป็นการครอบงำทางเชื้อชาติ (racial domination) ที่ผ่านกระบวนการทางสถาบันและการกำหนดวิถีการปฏิสัมพันธ์ระหว่างบุคคลที่สังคมได้กำหนดให้ ‘ความเป็นผิวขาว’ (whiteness) มีสถานะเหนือกว่าทุกชาติพันธุ์ไม่ใช่เพียงคนผิวสีเท่านั้น รวมถึงการใช้ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์และชีววิทยา (biological determinism) ที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อให้ความชอบธรรมกับความเหนือกว่าของคนผิวขาวต่อชนชั้นอื่นๆ คนผิวขาวได้รับอภิสิทธิ์ต่างๆ ในทุกพื้นที่ของสังคม คนชาติพันธุ์อื่นๆ โดยเฉพาะคนผิวสีถูกกดขี่ กดทับ จนแทบจะไม่มีที่ทางในสังคม การเมือง วัฒนธรรม และเศรษฐกิจเลย (Desmond and Emirbayer, 2010, 14-17, 35, 38-41) รวมถึงแนวคิดเรื่อง ‘ความสูงส่งของคนขาว’ (white supremacy) นั่นเป็นแนวคิดที่พยายามสร้างอำนาจให้กับคนผิวขาวเหนือคนชาติพันธุ์อื่นๆ ที่ไม่ใช่ผิวขาวทั้งในทางเศรษฐกิจ วัฒนธรรม สังคม และการเมือง รวมถึงโครงสร้างการครอบงำและกระบวนการกดขี่ขูดรีดต่างๆ อีกด้วย (Cole, 2016, 13, 16)

ในแง่นี้เชื้อชาติจึงเป็นประดิษฐกรรมทางสังคมภายใต้กระบวนการทำให้เป็นเรื่องของเชื้อชาติ (racialization) ที่ทำให้เรื่องต่างๆ กลายเป็นเรื่องเกี่ยวกับเชื้อชาติไปหมด เป็นเรื่องปกติและธรรมชาติ และเป็นเรื่องที่ยอมรับได้ กระบวนการดังกล่าวนี้ได้กลายเป็นรากฐานเพื่อสนับสนุนผู้ปกครองชาวผิวขาวได้ปกครองกลุ่มคนที่ไม่ใช่คนผิวขาวได้อย่างชอบธรรม อีกทั้งกระบวนการดังกล่าวยังเป็นเรื่องทางชนชั้นอย่างชัดเจน กล่าวคือเป็นการแบ่งแยกระหว่างชนชั้นกระฎุมพีและชนชั้นกรรมาชีพ (Cole, 2016, 1-2, 7, 21) อีกทั้งในสหรัฐอเมริกาปัญหาการเหยียดสีผิวก็ยังถูกมองได้เป็นสองแนวทางหลักๆ ด้วยกัน โดยที่ฝ่ายเสรีนิยมมองว่าเป็นเรื่องของโครงสร้างทางกฎหมาย ส่วนฝ่ายอนุรักษนิยมมองว่าเป็นเรื่องพฤติกรรมที่เกี่ยวข้องกับเรื่องศีลธรรม (West, 2017, xvii, xxi, 3, 11-12)

ปิตาธิปไตยทางเชื้อชาติ กับสัญญาประชาคมทางเชื้อชาติ

ชาร์ลส์ ดับเบิลยู. มิลส์ (Charles W. Mills) นักปรัชญาชาวแคริบเบียนจากจาไมกา ปัจจุบันสอนอยู่ที่ City University of New York สหรัฐอเมริกา เขียนหนังสือชื่อ The Racial Contract (1997) เสนอการทำความเข้าใจความคิดเรื่องความสูงส่งของคนขาวในสังคมอเมริกันด้วยแนวคิดเรื่อง ‘สัญญาประชาคมทางเชื้อชาติ’[1] (Racial Contract) โดยอธิบายว่าสัญญาดังกล่าวทำขึ้นโดยคนขาวด้วยกันเพื่อบังคับให้กลุ่มชาติพันธุ์ที่ไม่ใช่ผิวขาว (non-white) อยู่ในสถานะที่ต่ำกว่า เป็นเพียงผู้ถูกปกครองในสังคมการเมืองของทวีปยุโรปและอเมริกา (Mills, 1997, 9-11) 

สัญญานี้ได้สร้างคำอธิบายทางการเมืองและศีลธรรมเพื่ออธิบายถึงการดำรงอยู่ของสังคมการเมืองที่ถูกสร้างขึ้นบนพื้นฐานของคนขาวด้วยกฎ ระเบียบ และธรรมเนียมต่างๆ อีกทั้งสัญญานี้ยังมีสถานะในเชิงญาณวิทยาและปทัสถานทางสังคมที่คอยกำหนดรูปแบบการรับรู้และวิถีการปฏิบัติที่รองรับชาติพันธุ์คนขาวและได้สร้างกลไกทางการเมือง สังคม ศีลธรรม และเศรษฐกิจ มารองรับสังคมการเมืองหรือรัฐที่เกิดขึ้นบนพื้นฐานของสัญญาดังกล่าว หรืออาจพูดในอีกแบบได้ว่าสัญญานี้เป็น ‘สัญญาประชาคมของคนผิวขาว’ (White Contract) ที่สนับสนุนความคิดเรื่องความสูงส่งของคนขาว 

นอกจากนี้สัญญาดังกล่าวไม่ใช่เป็นเพียงเรื่องทางเชื้อชาติอย่างเดียว แต่ยังสัมพันธ์กับเรื่องของชนชั้นและเพศสภาพอีกด้วย หรือหากพูดให้ลงรายละเอียดไปอีกระดับหนึ่งนั้น สังคมอเมริกันเป็นสังคมของ ‘ปิตาธิปไตยทางเชื้อชาติ’ (racial patriarchy) ในแง่นี้สัญญานี้จึงเปรียบเสมือน ‘สัญญาของการครอบงำ’ (domination contract) ภายใต้ระบบของชายผิวขาวเป็นใหญ่ จนทำให้สังคมที่เกิดขึ้นในปัจจุบันเป็นสังคมที่ย้อนแย้งต่ออุดมการณ์ที่ตัวเอง ต่างป่าวประกาศและกล่าวต่อสาธารณชนว่า สังคมนี้ยึดถืออุดมการณ์อะไร สังคมนี้เป็นสังคมที่ป่วยไข้มึนเมาต่ออาการเจ็บป่วยของตน จนลืมอุดมการณ์ของสัญญาประชาคมในเรื่องของความเท่าเทียม อิสรภาพ เสรีภาพ ความปลอดภัย และความยุติธรรมที่จะเกิดขึ้นกับสมาชิกในสังคมทุกคนอย่างเท่าเทียม แต่กลับกลายเป็นว่าสัญญาประชาคมนี้มีไว้เพื่อผู้ชายผิวขาวเท่านั้น (Mills, 2015, 542-543, 553-558) ยิ่งไปกว่านั้นสัญญานี้ยังระบุว่าสังคมเกิดขึ้นได้จากคนผิวขาวที่มีอารยธรรมเท่านั้น จึงสามารถสร้างสัญญาประชาคมมาคุ้มครองให้ผู้คนในสังคมนี้มีเสรีภาพ อิสรภาพ และความปลอดภัย ส่วนกลุ่มคนที่ไม่ใช่คนผิวขาวเป็นเพียงคนป่าเถื่อนที่ไม่มีอารยธรรม จึงไม่มีสิทธิที่เทียบเท่ากับคนผิวขาว 

มิลส์ (1997, 13, 21-23) ตั้งข้อสังเกตว่า สัญญานี้เริ่มเป็นรูปเป็นร่างขึ้นในปี 1492-1830 ในช่วงเวลาแห่งการล่าอาณานิคมไปทั่วโลกโดยประเทศต่างๆ ในยุโรป คนผิวขาวจากยุโรปได้ผลิตสร้างความชอบธรรมของการสร้างคู่ตรงข้ามต่างๆ มากมายบนพื้นฐานของการมีอารยธรรมกับกลุ่มคนที่เป็นอนารยชนคนป่าเถื่อนที่ไร้ซึ่งอารยธรรมใดๆ เหมือนคนผิวขาวจากยุโรป และคริสต์ศาสนาเองก็เข้ามามีส่วนในการกำเนิดความเหนือกว่าของคนผิวขาว ผ่านการตีความคัมภีร์ไบเบิลเพื่อสร้างกระบวนการกดทับและกดขี่ให้คนที่ไม่ใช่คนผิวขาวมีสถานะรองหรือต่ำกว่าคนผิวขาว ทุกคนต้องบูชาและสยบยอมต่อคนผิวขาว 

นัยของหัวที่หายไปของโคลัมบัส กับสถานะทางศีลธรรมของคนผิวสี

ในแง่นี้จะเห็นได้ว่าความสัมพันธ์ระหว่างคนผิวขาวกับชาติพันธุ์ที่ไม่ใช่คนผิวขาว เช่น กลุ่มคนเอเชีย กลุ่มคนละตินอเมริกา กลุ่มผู้อพยพในช่วงศตวรรษที่ 19-20 คนพื้นเมืองอินเดียน คนผิวสีหรือแอฟริกันอเมริกัน เป็นต้น นั่นต่างถูกสัญญาประชาคมทางเชื้อชาติกำหนดความสัมพันธ์ระหว่างผู้เป็นนาย (คนผิวขาว) และผู้เป็นทาส (ชาติพันธุ์ที่ไม่ใช่คนผิวขาว) ในประเด็นนี้เองจะเห็นว่าวิธีการที่ ฟรีดริช นิทซ์เช (Friedrich Nietzsche) นักปรัชญาชาวเยอรมันในศตวรรษที่ 19 ได้อธิบายศีลธรรมของผู้เป็นนายและผู้เป็นทาสในงาน On the Genealogy of Morality: A Polemic (1989) (Zur Genealogie der Moral: Eine Streitschrift, ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 1887) ผ่านการอธิบายถึงประวัติศาสตร์ศีลธรรมของคริสเตียนที่มาครอบงำวัฒนธรรมของโลกตะวันตก ช่วยทำให้เราสามารถมองเห็นนัยถึงหัวที่หายไปของอนุสาวรีย์โคลัมบัส นั่นเป็นการแสดงให้เห็นถึงการรับรู้สถานะทางศีลธรรมของสังคมที่เปลี่ยนไป 

กล่าวคือเป็นการสลับความสัมพันธ์ในทางศีลธรรมหรือก็คือการปฏิวัติทางศีลธรรมของทาสที่ปรับเปลี่ยนสถานะของตนที่เคยเป็นทาสเสียใหม่ จากชุดคำอธิบายศีลธรรมของผู้เป็นนายหรือคนขาวที่ว่า “ฉันเป็นคนดี ดังนั้นคุณคือคนไม่ดี” (“I am good, therefore you are bad.”) (กล่าวคือศีลธรรมของคนผิวขาวจะเป็นการบอกว่าตัวเองนั้นดี เพราะมีอารยธรรม มีความรู้ มีเหตุผล และอื่นๆ ที่เหนือกว่าคนอีกกลุ่ม ดังนั้นหากใครไม่ใช่คนผิวขาวก็จะไม่ใช่คนดีนั่นเอง) เป็นชุดคำอธิบายทางศีลธรรมของทาสหรือชาติพันธุ์ที่ไม่ใช่คนผิวขาวเสียใหม่ ที่ได้ทำลายชุดศีลธรรมของผู้เป็นนายเดิม ให้เป็นชุดศีลธรรมใหม่ที่ว่า “คุณนั้นชั่วร้าย ฉันจะอยู่ตรงข้ามกับสิ่งที่คุณเป็นเสมอ ฉันจึงเป็นคนดี” (“You are evil; I am opposite of what you are; therefore I am good.”) (กล่าวคือเป็นการเปลี่ยนคู่ความสัมพันธ์ของความดีและความไม่ดีของศีลธรรมของคนผิวขาวเสียใหม่)[2]

คำอธิบายข้างต้นด้วยปรัชญาของนิทซ์เช ช่วยทำให้เราสามารถมองเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับฟลอยด์ และหัวที่หายไปของอนุสาวรีย์โคลัมบัส ในปี 2020 ผ่านการอธิบายด้วยเรื่องสถานะทางศีลธรรมของชาติพันธุ์ที่ไม่ใช่คนผิวขาวได้ โดยเฉพาะคนผิวสีในสหรัฐอเมริกา ตลอดช่วงประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาตั้งแต่ช่วงการก่อตั้งประเทศ คำตัดสินของศาลสูงสหรัฐอเมริกา ในปี 1841 ว่าด้วยเรื่องทาสในเรือ La Amistad สงครามกลางเมือง เรื่อยมาจนถึงการเดินขบวนครั้งใหญ่ของ มาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ (Martin Luther King Jr.) เพื่อเรียกร้องสิทธิที่เท่าเทียมของคนผิวสี จนถึงกรณีการตายของฟลอยด์ และหัวที่หายไปของโคลัมบัสที่เมืองบอสตัน ในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาคนผิวสีถูกกดขี่ คุกคาม และทรมานอย่างไม่เป็นธรรรมโดยคนผิวขาว ภายใต้สัญญาประชาคมทางเชื้อชาติที่เป็นสัญญาที่ครอบงำและให้ความชอบธรรมผ่านคำอธิบายต่างๆ ทั้งในทางวัฒนธรรมและชีววิทยา สิ่งนี้ได้กลายเป็นสิ่งที่คงรักษาการกระทำดังกล่าวจนหยั่งรากกลายเป็นแบบแผน กระบวนการ โครงสร้าง สถาบัน และวัฒนธรรม รวมถึงแนวคิด ‘ความสูงส่งของคนขาว’ ที่ถูกเชิดชูขึ้นมาเหนือสิ่งอื่นใด ทั้งหมดนี้ได้หลอมรวมความรู้สึกและอารมณ์ของความอยุติธรรมที่ได้รับมาตลอดกว่า 500 ปีที่ผ่านมา เฉกเช่นที่คนยิวและชาวคริสต์ในยุคเริ่มต้นของคริสต์ศาสนาได้เคยประสบพบเจอมาตามข้อสังเกตตามที่นิทซ์เชได้ศึกษาประวัติศาสตร์ในช่วงเวลาดังกล่าว แล้วได้พัฒนาจนกลายเป็นความคิดว่าด้วยศีลธรรมของผู้เป็นนายและผู้เป็นทาส 

บทสรุป: การเหยียดผิวสีในสหรัฐอเมริกากับสัญญาประชาคมที่เท่าเทียม

ทั้งหมดนี้จะเห็นได้ว่าแม้การรับรู้เรื่องสถานะทางศีลธรรมของคนผิวสีจะเปลี่ยนไปแล้วในสหรัฐอเมริกา หากเชื่อตามความคิดของนิทซ์เชที่พิจารณาจากนัยของหัวที่หายไปของอนุสาวรีย์โคลัมบัส แต่การเปลี่ยนแปลงสถานะทางศีลธรรมก็เป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้นเท่านั้น เพราะกลไกและสัญญาประชาคมทางเชื้อชาติยังคงครอบงำแบบแผน ความคิด ความอ่าน การรับรู้ และอคติทางเชื้อชาติที่ยังคงถูกรักษาไว้อย่างทรงพลัง สังเกตได้จากกลุ่มคนที่สนับสนุน โดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) หรือกลุ่มชาตินิยมผิวขาวในสหรัฐอเมริกาในช่วงตั้งแต่ปี 2016 จนถึงปัจจุบัน (2021) 

ดังนั้นอนาคตของการเหยียดผิวสีในสหรัฐอเมริกาก็ยังไม่เป็นที่น่าไว้วางใจนัก อนาคตนี้ยังคงอยู่ภายใต้เงื้อมเงาของสัญญาประชาคมทางเชื้อชาติ การจะหลุดพ้นเงาดังกล่าวต้องอาศัยการตระหนักรู้ที่ถอดถอนอคติทางเชื้อชาติ เพศสภาพ และชนชั้น ออกไปจากสายตาของผู้คน เมื่อนั้นสัญญาประชาคมดังกล่าวจะเปลี่ยนไปเป็นสัญญาประชาคมที่ทุกคนเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมได้ มาร่วมกันกำหนดชะตาชีวิตและออกแบบชุมชนทางการเมืองที่จะอยู่ร่วมกันได้อย่างเท่าเทียม

เชิงอรรถ

[1] ในอีกทางหนึ่งอาจทำความเข้าใจแนวคิดเรื่องสัญญาประชาคมทางเชื้อชาติของมิลส์กับความคิดรัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรมของ นิธิ เอียวศรีวงศ์ (2557, 114-117) กล่าวคือ เป็นรัฐธรรมนูญหรือสัญญาที่ไม่เป็นลายลักษณ์อักษร แต่เป็นสัญญาในเชิงวัฒนธรรมที่คอยควบคุมการรับรู้และความเข้าใจของคน จนส่งผลให้เกิดโครงสร้างและกระบวนการต่างๆ ที่ไม่ได้อยู่ในรูปของสถาบันที่เป็นทางการเท่านั้น แต่ยังรวมถึงกฎ ระเบียบ ความเชื่อ วัฒนธรรม และประเพณี 

[2] คำอธิบายชุดนี้นำมาจากการตีความของ Gilles Deleuze นักปรัชญาฝรั่งเศสในศตวรรษที่ 20 โดยพิจารณาเพิ่มเติมได้ใน Deleuze 2006, 127-129

อ้างอิง
  • นิธิ เอียวศรีวงศ์. 2557. ชาติไทย, เมืองไทย, แบบเรียนและอนุสาวรีย์ ว่าด้วยวัฒนธรรม, รัฐ และรูปการจิตสำนึก. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มติชน.
  • สมบัติ จันทรวงศ์. 2529. มหาชนรัฐและประชาธิปไตย: ความคิดทางการเมืองอเมริกัน ค.ศ. 1776-1800. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
  • Cole, Mike. 2016. Racism: A Critical Analysis. London: Pluto Press. 
  • Deleuze, Gilles. 2006. Nietzsche and Philosophy. Translated by Hugh Tomlinson. New York: Columbia University Press.
  • Desmond, Matthew, and Emirbayer, Mustafa. 2010. Racial Domination, Racial Progress: The Sociology of Race in America. New York: McGraw-Hill.
  • Pagden, Anthony. 1995. Lords of all the world: ideologies of empire in Spain, Britain and France c. 1500-c. 1800. London: Yale University Press.
  • Mill, Charles W. 1997. The Racial Contract. Ithaca: Cornell University Press.
  • Mill, Charles W. 2015. The Racial Contract revisited: still unbroken after all these years. Politics, Groups, and Identities, 3(3): 541-557.
  • Nietzsche, Friedrich. 1989. Ecce Homo. Translated by Walter Kaufmann, and On Genealogy of Morals. Translated by Walter Kaufmann and R. J. Hollingdale. New York: Vintage.
  • West, Cornel. 2017. Race Matters. Boston: Beacon Press. 
  • ปองขวัญ สวัสดิภักดิ์. 2563ก. จากเหตุจลาจลแอลเอ 1992 สู่ Black Lives Matter 2020 อะไรเปลี่ยนไป อะไรเหมือนเดิม. เข้าถึงเมื่อ 28 มิถุนายน 2563, https://thestandard.co/black-lives-matter-2020/.
  • ปองขวัญ สวัสดิภักดิ์. 2563ข. จากแอฟริกาถึงอเมริกา การค้าทาส และจุดเริ่มต้นของการเหยียดผิวในสหรัฐฯ. เข้าถึงเมื่อ 28 มิถุนายน 2563, https://thestandard.co/origin-of-racism-in-united-states/.
  • พิพัฒน์ กระแจะจันทร์. 2563. หัวที่หายไปของโคลัมบัส กับปรากฏการณ์ลบความทรงจำบนอนุสาวรีย์ เรื่องเหล่านี้สะท้อนอะไร? เข้าถึงเมื่อ 28 มิถุนายน 2563, https://thestandard.co/christopher-columbus-statue/.
  • Pereira, Ivan. 2020. Independent autopsy finds George Floyd died of homicide by asphyxia. Accessed June 28, 2020, https://abcnews.go.com/US/independent-autopsy-george-floyd-findings-announced/story?id=70994827.
  • Silverman, Hollie. 2020. Floyd was “non-responsive” for nearly 3 minutes before officer took knee off his neck, complaint says. Accessed June 28, 2020, https://edition.cnn.com/us/live-news/george-floyd-protest-updates-05-28-20/h_d6de512e51a8858a57f93ffa732c2695.

ชุติเดช เมธีชุติกุล
นักศึกษาปริญญาโท (ปกครอง) คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีความสนใจที่หลากหลายข้ามพ้นเส้นแบ่งสาขาวิชาทั้งการเมืองภายใน/ภายนอก (สหรัฐอเมริกา เกาหลีใต้ และอื่นๆ) ปรัชญา วรรณกรรม ประวัติศาสตร์ เป็นต้น ช่วงหลังมานี้สนใจกรอบคิดเรื่อง City Life และ Spatial Justice ซึ่งสัมพันธ์กับเรื่องพื้นที่ เมือง และความยุติธรรม

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า