สหรัฐแบน TikTok ภัยความมั่นคง…ของใคร?

ย้อนกลับไป 5-6 ปีก่อนหน้านี้ ประเด็นที่ว่าแอปพลิเคชันสัญชาติจีนอย่าง TikTok เป็นภัยความมั่นคงนั้นแทบจะไม่ถูกกล่าวถึงในภาคพื้นทวีปอื่นๆ เลย หรือแม้แต่ภายในสหรัฐอเมริกาเอง คนที่ออกมานำเสนอประเด็นดังว่านี้ก็มักถูกเหมารวมแปะป้ายว่าเป็น ‘อนุรักษนิยมแบบรีพับลิกัน (Republican)’ หรือไม่ก็เป็น ‘โรคเกลียดกลัวจีน’ (Sinophobia) ไปโดยปริยาย ทว่าภาพลักษณ์เหล่านั้นกำลังเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง เมื่อ ByteDance บริษัทแม่ของ TikTok ออกมายอมรับเองในปี 2022 ว่าทางบริษัทมีการแอบสอดแนมข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้งานซึ่งเป็นนักข่าว Forbes หลายคน (ภายหลังได้ออกมาแก้ว่าเป็นไปเพื่อการตรวจสอบผู้ที่นำข้อมูลของบริษัทไปเปิดโปงให้แก่สำนักข่าวเท่านั้น) 

ตัวอย่างที่เป็นปัจจุบันมากกว่านั้นคือ ไม่กี่วันหลังจากที่พรรครีพับลิกันและเดโมแครต (Democrat) สองพรรคใหญ่ในสภาคองเกรสพร้อมใจส่งสัญญาณสนับสนุนกฎหมายแบน TikTok ในสหรัฐอเมริกา เมื่อต้นเดือนมีนาคม 2024 ที่ผ่านมา ทำให้ TikTok ออกมาตรการตอบโต้ด้วยการประกาศปลุกระดมเยาวชนและชาวอเมริกันทั้งหมดกว่า 170 ล้านคนที่เป็นผู้ใช้งาน TikTok ให้ช่วยกันออกมาแสดงจุดยืนคัดค้านกฎหมายแบน TikTok ของสภาคองเกรส ซึ่งแม้จะไม่ประสบผลสำเร็จตามที่ ByteDance คาดหมายเอาไว้ แต่สิ่งเหล่านี้ได้ตอกย้ำข้อกังวลที่ชนชั้นนำในสหรัฐอเมริกามีต่อ TikTok ตลอดหลายปีที่ผ่านมา นั่นก็คือ TikTok กำลังเติบโตและมีอิทธิพลมากขึ้นจนน่าตกใจ

ตัวเลข 170 ล้านคนที่ว่านี้ มีความหมายมากในการเมืองระดับชาติของสหรัฐอเมริกา เพราะคิดเป็นสัดส่วนเกือบครึ่งหนึ่งของประชากรทั้งประเทศ และในขณะเดียวกันก็มากกว่าจำนวนผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งทั่วไปในการเลือกตั้งตลอด 20 ปีที่ผ่านมาเสียอีก แม้แต่ปี 2020 ที่ได้รับการกล่าวขานว่าเป็นปีที่มีผู้ออกมาใช้สิทธิเลือกตั้ง (turnout) มากที่สุด ก็ยังไม่ถึง 160,000,000 คน 

อีกด้านหนึ่ง จากการสำรวจของ Pew Research Center ยังชี้ว่ากว่า 1 ใน 3 ของเยาวชนอายุระหว่าง 18-29 ปี (young adults) ในสหรัฐอเมริกา บริโภคข่าวสารที่ถูกเผยแพร่ผ่าน TikTok (และยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ) ไม่แปลกใจที่รัฐบาลของทั้ง โดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) และ โจ ไบเดน (Joe Biden) จะมองว่าตำแหน่งแห่งที่ในปัจจุบันของ TikTok กำลังท้าทายสถานะความเป็นรัฐชาติของสหรัฐอเมริกา 

TikTok เขย่าการเมืองสหรัฐ

สิ่งที่ต้องตระหนักเป็นอันดับแรกในขณะนี้ คือ TikTok มีขีดความสามารถที่จะเข้าถึงและสื่อสารกับประชาชนอเมริกากว่าครึ่งประเทศได้อย่างง่ายดาย ผ่านช่องทางง่ายๆ อย่าง System Notification และ For You Newsfeed อย่าลืมว่าเยาวชนอเมริกาที่เป็นประชากรกลุ่มใหญ่ของ TikTok ในขณะนี้ คือ กลุ่มที่มีทัศนคติเห็นอกเห็นใจปาเลสไตน์ (Palestine enthusiasts) และโน้มเอียงไปทางต่อต้านยิว (antisemitism) ไม่ว่าจะด้วยความชอบส่วนตัว หรือถูกชี้นำจากเนื้อหาทางการเมืองและอุดมการณ์รูปแบบใดรูปแบบหนึ่งซ้ำๆ ผ่านอัลกอริทึมพิเศษที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อนำส่งเนื้อหาที่ผู้ใช้งานให้ความสนใจ (personalized filter bubble) 

หากยังจำกันได้เมื่อปี 2021 นั้น กลุ่มผู้สนับสนุนของโดนัลด์ ทรัมป์ ได้ใช้โซเขียลมีเดียเป็นเครื่องมือปลุกระดมมวลชนกว่า 2,000 คน เดินขบวนบุกสภาคองเกรสจนกลายเป็นเหตุปะทะรุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์รอบ 207 ปี ทั้งๆ ที่ทรัมป์มีผู้ติดตามบน Twitter เพียงแค่ประมาณ 87 ล้านคน

สถานการณ์อาจจะต่างกันอย่างพลิกฝ่ามือ หากเป็นกรณีของ TikTok ซึ่งมีฐานผู้ใช้งานในสหรัฐอเมริการ่วม 170 ล้านคน (มากกว่าจำนวนผู้ติดตามทรัมป์บน Twitter ถึงเกือบ 2 เท่า) จริงอยู่ที่ TikTok อาจไม่อุกอาจถึงขั้นปลุกระดมคนออกไปประท้วงหรือก่อจลาจลแบบผู้สนับสนุนทรัมป์ เพราะไม่ใช่แนวทางของทั้ง ByteDance หรือรัฐบาลจีนเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว แต่สิ่งที่อาจจะน่ากังวลกว่าในสายตาของผู้มีบทบาทด้านนโยบายความมั่นคงและต่างประเทศในสหรัฐอเมริกา (the blob) ก็คือ การสอดแทรกและผลิตซ้ำชุดความคิดบางชนิดที่เอื้อต่อผลประโยชน์และยุทธศาสตร์ของจีน ไม่ว่าจะเป็นการใช้อัลกอริทึมผลักดันการมองเห็นเนื้อหาจากบัญชีหาเสียงของผู้สมัครวุฒิสมาชิก ผู้แทนราษฎร หรือผู้ว่าการรัฐกลุ่มที่มีจุดยืนทางนโยบายเป็นมิตรกับจีน หรือมีภูมิหลังเกี่ยวโยงทางธุรกิจกับจีนให้ได้รับเลือกตั้ง ซึ่งไม่ใช่เรื่องยากเย็นในทางเทคนิคแต่อย่างใด เพราะท้ายที่สุดผู้ดูแลระบบก็คือบริษัทที่ครอบครองโดยนักธุรกิจชาวจีน และมีพรรคคอมมิวนิสต์จีนหนุนหลัง ถึงจะมีการกล่าวอ้างว่ามีหลายบริษัทข้ามชาติจากสหรัฐอเมริกาเข้าไปร่วมถือหุ้นก็ตาม 

เท่ากับว่าขณะนี้จีนสามารถเข้าถึงได้ทั้งข้อมูลส่วนตัวของชาวอเมริกันผ่านกฎหมายความมั่นคงของรัฐบาล สี จิ้นผิง (Xi Jinping) และในขณะเดียวกันก็สามารถสื่อสารกับคนกลุ่มดังกล่าวผ่านแพลตฟอร์ม TikTok ได้ในเวลาเดียวกัน ยิ่งโดยเฉพาะกับสภาพเงื่อนไขปัจจุบันที่ TikTok แปลงตัวเองให้เป็นได้ทั้งหนังสือพิมพ์ สำนักข่าว รายการวิเคราะห์ข่าวพร้อมๆ กันในตัวเอง ไม่ว่าจะฐานเสียงของพรรคเดโมแครตหรือรีพับลิกัน ต่างก็มีผู้ที่บริโภคเนื้อหาดังว่าจาก TikTok ทั้งสิ้น 

กล่าวอย่างถึงที่สุด แม้ว่าจะยังไม่มีข้อสรุปที่แน่ชัดว่า TikTok เป็นภัยคุกคามความมั่นคงของชาติสหรัฐจริงหรือไม่ แต่สิ่งที่แน่นอนที่สุดในตอนนี้ คือ TikTok ได้แสดงตัวเป็นภัยความมั่นคงต่อแวดวงการเมืองสหรัฐอเมริกาเป็นที่เรียบร้อย จนร้อนถึงทำเนียบขาว ฝ่ายความมั่นคง และเครือข่ายผู้กำหนดนโยบายในสภาคองเกรสระดับที่เก้าอี้ลุกเป็นไฟไปแล้ว

แบน TikTok ใครได้ประโยชน์

สิ่งที่น่าขบคิดในลำดับถัดไปคือ หากสหรัฐแบน TikTok แล้วปัญหามันยุติเพียงเท่านั้นจริงหรือไม่ โดยเฉพาะหากพิจารณาเอาจากฐานความกังวลที่ว่า TikTok เป็นเครื่องมือที่รัฐบาลจีนใช้สอดแนมประชาชนสหรัฐและชาวจีนโพ้นทะเลที่อาศัยอยู่ในสหรัฐอเมริกามาตลอดหลายปี ตอบตามตรงได้ว่า ‘ไม่’ เพราะต่อให้จีนไม่สามารถใช้ TikTok สอดแนมได้ จีนก็มีเครื่องมือและช่องทางเข้าถึงข้อมูลอีกมากมาย 

หลายคนอาจจะไม่ได้ตระหนักถึงข้อเท็จจริงที่ว่า รัฐบาลจีนเทงบประมาณลงไปยังขาด้านโทรคมนาคมและการสื่อสารมากถึงปีละมากกว่า 3,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ยังไม่รวมงบลงทุนของบริษัทเอกชนด้านสื่อที่ทำงานร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์ และงบโฆษณาก้อนอื่นๆ ที่ใช้สำหรับซื้อพื้นที่ในสำนักข่าวท้องถิ่นนอกประเทศจีน) และหนึ่งในเป้าหมายของงบเหล่านั้นก็คือ การผลิตสื่อในสหรัฐอเมริกา ทั้งออนไลน์และออฟไลน์ เพื่อตอบสนองการบริโภคของชาวจีนโพ้นทะเลในสหรัฐอเมริกาที่เกือบ 60 เปอร์เซ็นต์ แทบจะไม่มีทักษะการสื่อสารภาษาอังกฤษ และยังไม่นับรวมสมาคมนักศึกษา สมาคมนักวิชาการที่สอดแทรกอยู่ในกลไกของสถาบันขงจื๊อ และองค์กร United Front Work Department (UFWD) ที่รัฐบาลจีนเอาไว้ข่มขู่ชาวจีนโพ้นทะเลให้ใช้ชีวิตอยู่เงียบๆ อย่าได้ออกปากวิจารณ์พรรคคอมมิวนิสต์จีนอีก 

เครือข่ายของรัฐบาลจีนนั้นกว้างใหญ่ไพศาลมากถึงขนาดที่ Federal Bureau of Investigation (FBI) ได้รับรายงานเกี่ยวกับกรณีชาวอเมริกันถูกข่มขู่และคุกคามจากเจ้าหน้าที่รัฐบาลจีนแทบจะทุกๆ 12 ชั่วโมงเลยทีเดียว ซึ่งหน่วยงานในกำกับของรัฐบาลสหรัฐอเมริกาก็ทราบความเคลื่อนไหวลักษณะนี้มาตลอด และรู้ว่าถึงแบน TikTok ไป จีนก็ยังใช้โซเขียลมีเดียอื่นๆ เช่น Facebook, X (Twitter) และ Instagram เผยแพร่ข้อมูล/ข่าวปลอม ปลุกปั่นประชาชนได้ และไม่ได้ทำให้รัฐบาลจีนหยุดสอดแนมใครอยู่ดี (คล้ายๆ กรณีการแบน Huawei ซึ่งไม่นานเรื่องก็เงียบหายไป) ปัญหาการสอดแนมเจ้าหน้าที่รัฐบาลสหรัฐอเมริกาก็ยังคงมีปรากฏออกมาให้เห็นเรื่อยๆ 

หากเป็นเช่นนั้นแล้ว สหรัฐจะทำไปเพื่อการใด คำถามนี้ตอบให้เต็มปากคงยาก แต่ถ้าให้กล่าวโดยอิงกับทฤษฎีผลประโยชน์ทับซ้อนนั้น อาจจะพอพิจารณาได้บ้างในแง่มุมที่ว่า แบน TikTok แล้วใครหรือกลุ่มใดได้ประโยชน์ 

ขอให้ย้อนกลับไปดูว่า การเจริญเติบโตของ TikTok จะส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อคู่แข่งรายใด หรือแย่งส่วนแบ่งรายได้จากบริษัทใดหรือไม่ Statista ฐานข้อมูลสถิติด้านการตลาดสัญชาติเยอรมัน เคยมีการสำรวจไว้ว่า Facebook ใช้เวลาเกือบ 10 ปี กว่าจะสามารถเข้าถึงผู้ใช้งานได้ 1,000 ล้านคน ในขณะที่ TikTok ใช้เวลาเพียง 5 ปีเท่านั้น และในอีก 3 ปีถัดมา ก็สามารถเข้าถึงตัวเลข 2,000 ล้านคนได้ 

และจากการสำรวจในปี 2023 ของ Kepios บริษัทที่ปรึกษาด้านกลยุทธ์การตลาด พบว่ามากกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ของผู้ใช้งาน TikTok ทั่วโลก ยังใช้ Facebook เป็นช่องทางการติดต่อสื่อสารหลัก รองลงมาคือ Instagram จึงเป็นที่แน่นอนว่า กรณีที่มีการแบน TikTok เกิดขึ้นมาจริงๆ สุดท้ายผู้ใช้งานก็มีแนวโน้มจะอพยพกลับไปที่ Facebook และ Instagram เพราะทุกวันนี้ทั้งสองแพลตฟอร์มก็เปิดการใช้งานวิดีโอสั้น (Reels) แล้ว และทาง Meta ก็มีการทุ่มทุนสนับสนุนรายได้ให้ผู้ใช้งานอย่างมหาศาลด้วย

ประเด็นนี้เห็นตัวอย่างได้ชัดที่สุดจากกรณีของอินเดียที่ประกาศแบน TikTok ไปเมื่อปี 2020 จนส่งผลให้ยอดการดาวน์โหลด Instagram ภายในอินเดียขยับขึ้นมาเป็นอันดับ 1 เป็นเวลา 3 ปีซ้อน ตั้งแต่ 2021-2023 เม็ดเงินจากการโฆษณาที่เคยวิ่งเข้าหา TikTok ก็ทยอยไหลกลับเข้าไปสู่ Meta ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของ Facebook และ Instagram อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ในสหรัฐอเมริกาก็เช่นกัน ท้ายที่สุด Facebook จะกลายเป็นยักษ์ใหญ่โซเขียลมีเดียรายแรกๆ ที่ได้ประโยชน์จากการที่ TikTok ถูกกีดกันออกจากตลาดออนไลน์ในสหรัฐอเมริกา 

ที่กล่าวมานี้ไม่มีเจตนาจะชี้นำว่า ชนชั้นนำในสหรัฐอเมริกาชื่นชอบ Facebook มากกว่า TikTok เพราะ มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก (Mark Zuckerberg) เองก็เพิ่งจะถูกบีบคั้นให้กล่าวคำขอโทษที่ล้มเหลวในการแก้ปัญหาเรื่องที่ Facebook ถูกใช้เป็นเครื่องมือเผยแพร่ข่าวปลอมและปลุกปั่นประชาชน แต่หากมองผ่านกรอบผลประโยชน์แห่งชาติ และกระแสชาตินิยมที่ขยายตัวในกลุ่มผู้กำหนดนโยบายในรัฐบาลสหรัฐอเมริกาทั้งสองพรรค Facebook ก็ดูจะเป็นมิตรและพร้อมจะให้ความร่วมมือกับรัฐบาลสหรัฐอเมริกาในด้านต่างๆ มากกว่า TikTok เช่น การมุ่งหน้าพัฒนาระบบตรวจสอบบัญชีที่เผยแพร่ข่าวปลอม (content moderation) ซึ่งปัจจุบัน Facebook ได้ทยอยดำเนินการแปะฉลากให้แก่บัญชีหรือเพจที่นำเสนอเนื้อหาเอนเอียงไปทางจีน/รัสเซียให้เห็นไปบ้างแล้ว 

ยิ่งโดยเฉพาะกับฤดูกาลเลือกตั้งประธานาธิบดีสมัยถัดไปกำลังใกล้เข้ามา หาก Tiktok ยังมีอิทธิพลในระดับที่สามารถควบคุมและกำหนดทิศทางความคิดเห็นของผู้ใช้งานโซเชียลมีเดียได้ คงไม่เป็นการดีเท่าใดนัก ไม่ว่าจะกับพรรคเดโมแครตที่เสี่ยงจะได้รับความเสียหายจากอัลกอริทึม TikTok ที่มักเผยแพร่เนื้อหาต่อต้านยิว (ฐานเสียงส่วนหนึ่งของพรรคเป็นเครือข่ายชาวยิวและครอบครัวรวมมากกว่า 10 ล้านเสียงทั่วประเทศ) ไหนจะทฤษฎีสมคบคิดขวาจัด (QAnon) ที่กลุ่มผู้สนับสนุนโดนัลด์ ทรัมป์ พยายามปลุกปั่นขึ้นมาใน TikTok จนอาจพัฒนาไปเป็นเหตุรุนแรงในฤดูกาลหาเสียงได้ ส่วนทางด้านพรรครีพับลิกันที่ไม่ได้มีฐานเสียงเป็นชาวยิว และเป็นผู้ได้รับผลประโยชน์โดยตรงจากทฤษฎีสมคบคิด QAnon แต่ฐานเสียงส่วนใหญ่ของรีพับลิกันกลับเป็นกลุ่มที่ยังได้รับผลกระทบจากคลื่นความเกลียดกลัวจีนที่ทรัมป์และไวรัสโควิด-19 เคยสร้างเอาไว้ รีพับลิกันจึงถูกบีบให้ต้องเดินหน้าผลักดัน TikTok ออกจากเกมการเมืองสหรัฐอเมริกาไปโดยอัตโนมัติ

เหนือสิ่งอื่นใด สิ่งที่นักกลยุทธ์และทีมที่ปรึกษาการตลาดการเมืองในสหรัฐอเมริกาเริ่มแสดงความกังวลกันมากขึ้นก็คือ ที่ผ่านมา TikTok นั้นพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าเป็นแพลตฟอร์มที่สามารถรวบรวมคนที่มีแนวคิดเหมือนหรือคล้ายคลึงกัน (echo chamber) นับล้านคน แล้วสอดแทรกชี้นำเพื่อพยุงความคิดในหัวของคนเหล่านั้นซ้ำๆ ต่อไปได้ และที่อันตรายมากที่สุดคือ ณ ปัจจุบันยังไม่มีใครในสหรัฐอเมริกาสามารถเข้าถึงกลไกอัลกอริทึมและ AI เบื้องหลังแพลตฟอร์มดังกล่าวได้ 

การปล่อยให้ TikTok ดำเนินกิจการในสหรัฐอเมริกาต่อไป อาจมีความหมายเท่ากับว่าสหรัฐเปิดช่องให้ TikTok เข้ามามีส่วนแทรกแซงการเมืองระดับชาติได้อย่างอิสระ โดยที่ไม่มีโอกาสล่วงรู้ได้ว่ารัฐบาลจีนจะยื่นมือเข้ามาร่วมกำหนดทิศทางความคิดเห็นของคนอเมริกันเมื่อไหร่ และมันจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อคณิตศาสตร์การเลือกตั้งอย่างแน่นอนไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ซึ่งสถานการณ์ที่แย่ที่สุดของที่สุด (worst-case scenario) อาจปรากฏออกมาให้เห็นกันในขั้นตอนเลือกตั้งชั้นต้นในพรรค (primary vote) ที่ในอนาคตอาจได้ผู้สมัครประธานาธิบดีที่เอื้อประโยชน์ต่อประเทศจีน หรือมีนโยบายสนับสนุนจีนอย่างลับๆ และอาจเป็นคนที่แย่กว่าทั้งไบเดนและทรัมป์ในเรื่องของการปกป้องผลประโยชน์สหรัฐอเมริกาก็เป็นได้

ป.ฐากูร
นักเขียนอิสระที่ผันตัวมาเป็นมือปืนรับจ้างด้านนโยบาย สนใจการบ้านการเมืองทั้งในและต่างประเทศ เวลาว่างชอบอ่านหนังสือพิมพ์และดูหนัง บางวันเป็นลิเบอรัล บางวันก็สวมบทคอนเซอร์เวทิฟ แต่ยังไม่ถึงขั้นไบโพลาร์

พูดคุยแลกเปลี่ยนได้ที่ [email protected]

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า