มรดก 9/11 (2001-2021)

“Every nation, in every region, now has a decision to make. Either you are with us, or you are with the terrorists.” – George W. Bush

2 ทศวรรษของเหตุการณ์ 9/11 สร้างความเปลี่ยนแปลงต่อสังคมโลกอย่างมากมาย จนอาจเรียกได้ว่าเกิดภาวะการจัดระเบียบโลกใหม่ ทั้งรูปแบบสงคราม การเมืองระหว่างประเทศ เศรษฐกิจ และสังคมวัฒนธรรม 

ข้อเขียนชิ้นนี้ชี้ให้เห็นความเปลี่ยนแปลงและสภาพความเป็นไปในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา อันเป็นมรดกตกทอดจากเหตุวินาศกรรมดังกล่าว

American Pop Culture ภาพหลอนของภาวะเกลียดกลัวอิสลาม

ณ โรงเรียนแห่งหนึ่งในเมืองแซกินอว์ รัฐมิชิแกน ผู้หลักผู้ใหญ่ในชุมชนได้จัดให้มีการประชุมขึ้น ภายหลังเหตุการณ์ 9/11 ผ่านไปไม่นานนัก อาห์เหม็ด อาลี อัคบาร์ (Ahmed Ali Akbar) บอกกับสำนักข่าว AP ว่า เขาและเพื่อนนักเรียนต่างพูดคุยและตอบคำถามเกี่ยวกับชาวมุสลิมและศาสนาอิสลาม เขาจำได้ว่ามีคำถามเหมารวมชวนมึนงงอย่าง “แล้วตอนนี้ บิน ลาเดน อยู่ที่ไหน?” “อะไรคือเหตุเบื้องหลังการโจมตี?”

“ผมจะไปตรัสรู้ได้ไงว่าเขาอยู่ที่ไหน ก็ผมเป็นชาวอเมริกัน” อัคบาร์กล่าว

ปัจจุบันอัคบาร์เป็นนักข่าวและจัดรายการพอดแคสต์ ‘See Something Say Something’ สำหรับเล่าเรื่องราวของชาวมุสลิม-อเมริกัน

หรือในกรณีของ ชูกรี โอโลว์ (Shukri Olow) ผู้อพยพลี้ภัยจากสงครามกลางเมืองในโซมาเลีย เธอมาถึงสหรัฐ เมื่ออายุ 10 ขวบ ชีวิตความเป็นอยู่นับว่าเบิกบานสุขใจ เพราะในเมืองเคนท์ ทางตอนใต้ของซีแอทเทิลนั้น แม้มีผู้อพยพจากหลายวัฒนธรรม ทั้งมีกำแพงภาษา แต่ก็ช่วยเหลือเกื้อกูลกันเป็นอย่างดี กระทั่งเหตุการณ์ 9/11 มาเคาะที่ประตูหน้าบ้าน

คุณครูของโอโลว์ถามเธอว่า “คนของเธอทำอะไรลงไป” อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีคนพูดว่า “มันไม่ใช่ความผิดของเธอหรอก… และตอนนี้เราต้องทำให้แน่ใจว่าเธอจะปลอดภัย”

เห็นได้ว่าภาวะความตื่นกลัวอิสลามเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ ปฏิกิริยาหลังเดือนกันยายน ปี 2001 โดยเฉพาะในสังคมซึ่งมีความตึงเครียดทางเชื้อชาติ ศาสนา หรืออัตลักษณ์ของกลุ่มบุคคลอย่างสหรัฐด้วยแล้ว การเลือกปฏิบัติต่อชาวมุสลิมเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่เด่นชัดท่ามกลางการเลือกปฏิบัติในกลุ่มคนชายขอบอื่นๆ จวบจนการต่อสู้ในขบวนการ Black Lives Matter ในปัจจุบัน ชาวมุสลิม-อเมริกันจำนวนมากก็ออกมาเข้าร่วมเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม ในปี 2017 Pew Research Center ทำการสำรวจความคิดเห็นคนมุสลิม-อเมริกัน พบว่า ผู้ตอบแบบสอบถามครึ่งหนึ่งมีประสบการณ์ถูกเลือกปฏิบัติทางศาสนาอย่างน้อย 1 ครั้ง ในปี 2016 แต่กว่า 49 เปอร์เซ็นต์ กล่าวว่า พวกเขาได้รับการสนับสนุนทางความเชื่อในปีดังกล่าวเช่นกัน

จากผลการสำรวจ นำมาสู่การสะท้อน ‘ความเป็นอเมริกัน’ ที่เต็มไปด้วยการฉกฉวยและการนิยามความหมาย มันอาจหมายถึงการเคารพสิทธิและเสรีภาพภายใต้ความแตกต่างทางอัตลักษณ์ หรืออาจหมายถึงการมุ่งธำรงไว้ซึ่งสำนึกความเป็นชาติ แต่ที่แน่นอนคือความเป็นอเมริกันถูกสั่นคลอน

“Nothing’s been the same since New York” (ไม่มีอะไรเหมือนเดิมตั้งแต่นิวยอร์ค) โทนี สตาร์ค กล่าวกับ เพ็พเพอร์ พอตส์ ใน Iron Man 3 (2013)

ประโยคดังกล่าวอาจเกี่ยวข้องหรือไม่ก็ได้กับเหตุการณ์ 9/11 ถึงอย่างไรมันก็เป็นหนึ่งในหลายๆ ตัวอย่างที่ pop culture ดูเหมือนจะข้องเกี่ยววนเวียนหมกมุ่นอยู่กับ 9/11

ในภาวะซึ่งควันไฟยังไม่มอดดับสนิท และปฏิกิริยาการเกลียดกลัวอิสลามยังรุนแรง สำนึกความเป็นชาติพุ่งสูงขึ้น ภาพยนตร์หลายเรื่องต้องไล่ลบฉากที่มีตึกแฝดเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ปรากฏ และต้องย้อนไล่ลบการพูดถึงกลุ่มก่อการร้ายและ CIA เพราะการพูดถึงสิ่งเหล่านี้กลายเป็นเรื่องเปราะบางต่อผองอเมริกันชน 

อย่างกรณีของซีรีส์ Friends (1994-2004) ที่ถึงกับต้องย้อนลบฉากหนึ่งในตอน ‘The One Where Rachel Tells Ross’ ในช่วงที่แชนด์เลอร์ถูกควบคุมตัวโดย TSA หลังจากเล่นมุกเอาระเบิดขึ้นเครื่องบินอย่างไร้เหตุผล

หรือในไม่กี่สัปดาห์หลัง 9/11 วงการเพลงสหรัฐมียอดขายลดลงกว่า 5 เปอร์เซ็นต์ ทัวร์ถูกเลื่อน และมี 165 เพลงที่อยู่ในลิสต์ ‘เนื้อเพลงต้องสงสัย’ อาทิ ‘Another One Bites the Dust’ ของ Queen, ‘Highway to Hell’ ของ AC/DC และ ‘Learn to Fly’ ของ Foo Fighters

และในอีก 2-3 ปีให้หลัง วงการเพลงสหรัฐโน้มเอียงไปกับเพลงที่มีเนื้อหารักชาติมากขึ้น ตัวอย่างคือ ‘Star-Spangled Banner’ ในโชว์ Super Bowl XXV ของ Whitney Houston

photo: whitneyhouston.com

อย่างไรก็ดี แม้ปฏิกิริยาช่วงต้นของ pop culture ส่วนใหญ่จะดูสงวนท่าที ทั้งยังถูกเจือปนด้วยอุดมการณ์รักชาติ แต่ก็มีบางส่วนที่พูดถึงเรื่องเหล่านี้อย่างแข็งขัน

The West Wing (1999-2006) ตอน ‘Isaac and Ishmael’ ได้ถูกเขียนบทและถ่ายทำเพียง 2 สัปดาห์หลังเหตุวินาศกรรม โดยชี้ชวนให้ตั้งคำถามกับกลุ่มผู้ก่อการร้ายว่า “ทำไมเราถึงเข้ากันไม่ได้ล่ะ” พร้อมกับมีตัวละครหลักทำหน้าที่อธิบายสอนสั่งว่า ผู้ก่อการร้ายนั้นเลวร้ายอย่างไร และชาวมุสลิมทั่วๆ ไปนั้น ไม่ได้เกี่ยวข้องอย่างไร

ขณะที่ในปี 2003 นาตาลี เมนส์ (Natalie Maines) นักร้องนำวง Dixie Chicks (ปัจจุบันคือ The Chicks) ได้ออกมาต่อต้านการทำสงครามในอิรัก “เราไม่เห็นด้วยกับสงครามครั้งนี้ ความรุนแรงครั้งนี้ และเรารู้สึกละอายใจที่ประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกามาจากเท็กซัส” เธอถูกขึ้นบัญชีดำจากแฟนเพลงจำนวนหนึ่งที่เห็นว่าเธอไม่รักชาติ และสนับสนุนผู้ก่อการร้าย ก่อนที่ต่อมาเมื่อกาลเวลาพิสูจน์บางอย่าง ในปี 2006 เพลง ‘Take the Long Way’ ของเธอได้รับรางวัล Grammy ขณะที่ จอร์จ ดับเบิลยู. บุช มีคะแนนนิยมตกต่ำที่สุดเป็นประวัติการณ์ในช่วงเวลาเดียวกัน

ลินด์เซย์ เอลลิส (Lindsay Ellis) คอลัมนิสต์จาก Vox ชี้ว่าเหตุการณ์ 9/11 มีผลต่อแนวโน้มของสื่อเป็นอย่างมาก และหากมองย้อนกลับไป ราวกับว่าทั้งหมดทั้งมวลนั้นเป็นเรื่อง surreal

เธอกล่าวว่าการฉกฉวยของ pop culture จากเหตุการณ์ 9/11 เป็นการผลิตซ้ำภาพเหตุการณ์ที่ไร้ซึ่งการใส่ใจ เป็นเพียงการกำหนดความหมายของความน่าสยดสยองเสียใหม่ เพื่อให้ประชาชนรู้สึกดีขึ้น ซ้ำร้ายมันได้หล่อหลอมความรู้สึกของคนทั้งโลกขึ้นมาในลักษณะหนึ่ง อีกทั้งความพยายามสั่งสอนให้มุมมองแบบใน The West Wing อาจเป็นการยืนยันความโกรธของตัวละครและสร้างความชอบธรรมในการล้างแค้นเสียแทน เฉกเช่นเดียวกับกัปตันอเมริกาที่ต้องการผดุงความยุติธรรมให้โลก

ขณะที่แฟรนไชส์ Transformers สร้างความหายนะต่อบ้านเมืองและทรัพย์สินราวเด็ก 7 ขวบ กระทำต่อของเล่นที่เขาไร้เยื่อใย ส่วนของ Marvel ก็สร้างเรื่องราวที่พ่อค้าอาวุธสงครามช่วยกอบกู้จักรวาล ทั้งยังสร้างฉากซากปรักหักพังที่มีแต่กัปตันอเมริกายืนเด่นเป็นสง่ากลางเฟรม และเขายังสามารถแสดงออกทางอารมณ์ได้ตามต้องการ ฟากฝั่ง DC อาจดูดีขึ้นมาหน่อยจาก Man of Steel (2013) ที่ได้รับคำวิจารณ์เชิงบวก พวกเขาเปรียบเปรยให้เห็นภาพชัดเจนในเหตุการณ์ 9/11 จนทำให้ War of the Worlds (2005) หนังที่เปรียบกับ 9/11 โดยตรงดูด้อยไปทันที 

ความคิดเห็นอันเผ็ดร้อนของเอลลิส อาจสรุปสั้นๆ ได้จาก Six Feet Under (2001-2005) ซีรีส์ที่หมกมุ่นอยู่กับความโศกเศร้า มันเสนอทางออกและยังเป็นตัวแทนที่ดีที่สุดของ pop culture ในยุคหลังเหตุการณ์ 9/11 ซึ่งข้อความจากซีรีส์ก็คือ

“คุณสามารถทำอะไรก็ได้ ไอ้สารเลว คุณยังมีชีวิตอยู่! ก้าวผ่านความเจ็บปวดและใช้ชีวิตต่อไป มันช่างเป็นความเจ็บปวดเล็กน้อยเมื่อเทียบกับสิ่งนั้น ถูกไหม?”

นอกเหนือจากการต่อสู้กับอคติทางเชื้อชาติ (ที่น่าจับตามองมากยิ่งขึ้นหลังสหรัฐ ถอนทหารออกจากอัฟกานิสถาน) และ pop culture ที่ทรงอิทธิพลและหล่อเลี้ยงบรรยากาศของความรุนแรงเอาไว้ 20 ปีของเหตุการณ์ 9/11 ยังย้ำถึงบรรดาทฤษฎีสมคบคิดมากมายที่ล้วนช่วยเยียวยาและสร้างความบันเทิงแก่จิตใจ อีกทั้งเมื่อผู้คนสูญเสียความมั่นใจจากสถาบันหลักในสังคม พวกเขาก็มีแนวโน้มเข้าหาข้อมูลเท็จหรือข้อมูลทางเลือกมากขึ้น

มาร์ค เฟนสเตอร์ (Mark Fenster) อาจารย์กฎหมายแห่งมหาวิทยาลัยฟลอริดาและผู้เขียนหนังสือ Conspiracy Theories กล่าวกว้างๆ ว่า เหตุการณ์ 9/11 แบ่งทฤษฎีสมคบคิดเป็น 2 ประเภท คือ พวกที่กล่าวว่าผู้มีอำนาจ “ปล่อยให้มันเกิดขึ้น” และพวกที่บอกว่าผู้มีอำนาจ “เจตนาทำให้เกิดขึ้น”

กระนั้นทฤษฎีสมคบคิดเหตุการณ์ 9/11 ยังเกี่ยวข้องกับสิ่งอื่นๆ อีก เช่น พวกที่อ้างว่าไม่มีชาวยิวคนใดเสียชีวิต เชื้อเพลิงและแรงระเบิดไม่สามารถทำลายโครงสร้างเหล็กของอาคารได้ หรือไม่มีเครื่องบินใดๆ ทั้งนั้น ที่เห็นเป็นเพียงภาพโฮโลแกรม

อย่างไรก็ตาม ทฤษฎีสมคบคิดเกิดขึ้นเสมอเมื่อมีโศกนาฏกรรมและกระทบจิตใจผู้คนหมู่รวม แต่ทฤษฎีสมคบคิดดังกล่าวก็ลดลงอย่างชัดเจนเมื่อเกิดการถกเถียงด้วยเหตุและผล

จุดจบของตึกแฝด จุดเริ่มของสงครามฆ่าล้างกลุ่มก่อการร้าย 

‘สงครามต่อต้านการก่อการร้าย’ ถูกประกาศอย่างเป็นทางการหลังการโจมตีสหรัฐ โดยกลุ่มอัลกออิดะห์เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2001 ซึ่งเปลี่ยนโฉมหน้าการเมืองสมัยใหม่ไปตลอดกาล และนำสหรัฐกลับสู่นโยบายต่างประเทศแบบรุกคืบไปทั่วโลกอีกครั้งนับตั้งแต่หลังยุคสงครามเย็นเป็นต้นมา การครบรอบ 20 ปี เหตุการณ์จี้เครื่องบินโจมตีตึกเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์และอาคารเพนตากอน จึงมีความสำคัญในฐานะจุดเริ่มต้นของสนามการเมืองระหว่างประเทศในโลกสมัยใหม่ที่แตกต่างไปจากยุคก่อนหน้า และผลของนโยบายต่างประเทศอันแข็งกร้าวของสหรัฐ รวมถึงชาติพันธมิตร หลังเวลาล่วงเลยมาถึง 20 ปี ก็ได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมีความหมาย

The Pentagon, Washington DC, western wall damage after 911 attack, viewed from I-395.

ภายหลังเหตุการณ์การโจมตีที่เรียกกันว่า 9/11 ไม่นาน จอร์จ ดับเบิลยู. บุช ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาในขณะนั้นก็ได้เปิดฉากโจมตีอัฟกานิสถาน อิรัก และปากีสถาน เพื่อตามล่าหาตัวผู้นำกลุ่มอัลกออิดะห์และกลุ่มก่อการร้ายหรือผู้สนับสนุนอื่นๆ ในพื้นที่โดยรอบ ผลของสงครามนี้ The Watson Institute for International and Public Affairs at Brown University คาดการณ์ว่าน่าจะมีผู้เสียชีวิตโดยประมาณอยู่ระหว่าง 480,000-507,000 ราย โดยแบ่งเป็นพลเมืองอิรักประมาณ 182,272-204,575 ราย พลเมืองอัฟกันอีก 38,480 ราย พลเมืองในปากีสถานอีก 23,372 ราย และทหารอเมริกันอีกเกือบ 7,000 ราย ที่ถูกสังหารในอิรักและอัฟกานิสถานในช่วงเวลาเดียวกัน ทั้งนี้ตัวเลขที่แน่นอนของผู้เสียชีวิตทั้งหมดปัจจุบันก็ยังไม่สามารถระบุได้

สงครามครั้งนี้ไม่เพียงแต่จะสร้างความพินาศต่อชีวิตและทรัพย์สินในพื้นที่สงครามเท่านั้น หากแต่เพราะนโยบายของสหรัฐที่ประกาศกร้าวว่าโลกใบนี้เหลือเพียงแค่ ‘พวกผู้ก่อการร้าย’ กับ ‘สหรัฐอเมริกา’ ทำให้บรรดาประเทศพันธมิตรของสหรัฐในสมัยประธานาธิบดีบุชถูกดึงเข้าไปมีส่วนในนโยบายระหว่างประเทศกึ่งบังคับของสหรัฐด้วย โดยเฉพาะองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ หรือ NATO ที่มีข้อผูกมัดอยู่ในสนธิสัญญาวอชิงตัน ข้อที่ 5 อันกล่าวถึงความมั่นคงร่วมกันของประเทศสมาชิก การโจมตี ‘สมาชิกใดสมาชิกหนึ่ง’ จะเท่ากับเป็นการโจมตี ‘สมาชิกทุกคน’ โดยอัตโนมัติ 

ความร่วมมือของ NATO ในลักษณะนี้เกิดขึ้นครั้งแรกเพื่อข่มขู่สหภาพโซเวียตในสมัยสงครามเย็นและเป็นไปในลักษณะเพื่อป้องกันเท่านั้น แต่กลายเป็นว่าเมื่อศัตรูไม่ใช่อำนาจจากรัฐอื่นที่ไม่สามารถเจรจาต่อรองหรือใช้เหตุผลด้วยได้แล้ว สนธิสัญญานี้จึงกลายเป็นข้อผูกมัดที่ดึงทุกประเทศที่เป็นสมาชิกให้กระโดดเข้าร่วมสงครามครั้งนี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

จากคลังข้อมูลของกระทรวงการต่างประเทศแห่งสหรัฐระบุว่า ใน 100 วันแรกหลังการถูกโจมตี มีประเทศเข้าร่วมกำลังทางการทหารกับสหรัฐมากถึง 136 ประเทศทั่วโลก และอีกกว่า 196 ประเทศเข้าร่วมปฏิบัติการทางการเงินสำหรับการสนับสนุนสหรัฐและการตัดท่อน้ำเลี้ยงทางการเงินของกลุ่มก่อการร้าย ต่อมาเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2001 ปฏิบัติการ ‘เสรีภาพยั่งยืน’ ดำเนินการโดยกองกำลังผสมสหรัฐ สหราชอาณาจักร ออสเตรเลีย และญี่ปุ่น ได้เปิดฉากสงครามกับกลุ่มตาลีบันที่ยึดครองอัฟกานิสถาน และยึดครองเมืองสำคัญได้เป็นจำนวนมาก รวมไปถึงการทำลายค่ายฝึกผู้ก่อการร้ายไปอีก 11 แห่ง

สหรัฐถอนกำลัง ปิดฉากปฏิบัติการลับ?

ดูเหมือนว่าการเปิดฉากสงครามต่อต้านการก่อการร้ายรอบโลกของสหรัฐในสมัยประธานาธิบดีบุช ดูจะไม่ได้รับแรงสนับสนุนที่มากพอจากกลุ่มพันธมิตรในระยะยาว เนื่องจากหลายชาติพันธมิตรต้องการจำกัดวงของสงครามไว้เฉพาะอัฟกานิสถานเท่านั้น โดยที่ไม่ต้องการจะให้ขยายไปยังประเทศอื่น อย่างซีเรีย อิรัก หรืออิหร่าน และยิ่งย่ำแย่ลงไปอีกเมื่อนานาประเทศต้องเผชิญกับความไม่มั่นคงภายในจากความไม่พอใจของชาวมุสลิมภายในชาติของตนเอง เนื่องจากเข้าไปพัวพันกับสงครามในตะวันออกกลางดังกล่าว ความกดดันนี้ระยะหลังจึงทำให้ประธานาธิบดีบุชแทบจะต้องพึ่งพาศักยภาพทางการทหารของสหรัฐเป็นหลักในช่วงท้ายของสมัย ในขณะที่เครือข่ายการก่อการร้ายขยายวงกว้างขวางมากกว่าแค่ในอัฟกานิสถานนานแล้ว

ถัดมาในช่วงวาระของ ประธานาธิบดีบารัค โอบามา แห่งสหรัฐ ในปี 2009 ปฏิบัติการทางการทหารของสหรัฐในภูมิภาคตะวันออกกลางยังคงดำเนินสืบเนื่องต่อจากสมัยของอดีตประธานาธิบดีบุช โดยในเดือนธันวาคม 2009 สหรัฐได้เพิ่มกำลังทหารในอัฟกานิสถานถึง 100,000 นาย โดยข้ออ้างในครั้งนี้เป็นไปเพื่อรักษาสถาบันหลักของอัฟกานิสถานให้กลับมาแข็งแรงมั่นคงเพียงพอที่จะตอบโต้กลุ่มตาลีบันและกลุ่มก่อการร้ายได้เอง จนทำให้ชาติพันธมิตรถอนกำลังออกจากพื้นที่ดังกล่าวได้ และในปี 2011 สหรัฐก็สามารถสังหาร โอซามา บิน ลาเดน ได้สำเร็จในที่พักของเขาที่ประเทศปากีสถาน นำไปสู่การถอนกำลังทางทหารของสหรัฐและชาติพันธมิตรในช่วงปลายปีเดียวกันนั้นเอง

ประธานาธิบดีบารัค โอบามา รองประธานาธิบดีโจ ไบเดน และเหล่าเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง ขณะกำลังรับทราบผลของปฏิบัติการสังหาร บิน ลาเดน เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2011 | photo: US Embassy
บริเวณ Ground Zero หลังจากการเสียชีวิตของ บิน ลาเดน | photo: Dan Nguyen

ท่ามกลางความรู้สึกโล่งใจในเวทีผู้นำระหว่างประเทศ ว่าสงครามต่อต้านการก่อการร้ายที่กินเวลายืดเยื้อและผลาญทรัพยากรอย่างมาก ทั้งกำลังคน ทุนทรัพย์ และการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารราชการลับระหว่างภาคีชาติพันธมิตรที่มีความเปราะบางสูง กลายเป็นว่าโลกต้องกระโดดกลับเข้าสู่สภาวะตึงเครียดอีกครั้งเมื่อสิ้นสมัยของประธานาธิบดีโอบามา และเข้าสู่ยุคการบริหารของ ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่เพิ่มกำลังทหารกลับเข้าไปยังอัฟกานิสถานอีกถึง 3,000 นาย การเพิ่มกำลังในครั้งนี้ สหรัฐหมายมั่นที่จะบีบให้ตาลีบันยอมตกลงในสนธิสัญญาหยุดยิงกับชาติพันธมิตรและตัดขาดความสัมพันธ์กับกลุ่มอัลกออิดะห์ 

ข้อตกลงดังกล่าวดำเนินการเรื่อยมาจนถึงปัจจุบันคือ สมัยของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ที่ตกลงถอนกำลังทหารทั้งหมดออกจากอัฟกานิสถานภายในวันที่ 11 กันยายน 2021 เพื่อเป็นการระลึกถึงวันครบรอบเหตุการณ์ 9/11 ซึ่งการถอนทหารดังกล่าวนี้เองที่นำมาสู่สภาพปัญหาใหม่เรื่องการปกครองอัฟกานิสถานโดยรัฐบาลตาลีบัน ที่มีข้อกังวลจากหลายประเทศพันธมิตรว่าจะทำให้อัฟกานิสถานกลับไปสู่แดนสวรรค์ในการบ่มเพาะผู้ก่อการร้ายส่งออกอีกครั้งหรือไม่ และปัญหาด้านสิทธิมนุษยชนที่ตามมาเป็นเงาตามตัวทันทีที่ทหารสหรัฐตบเท้าออกจากพรมแดนประเทศ

แต่การเข้าออกตะวันออกกลางโดยกองกำลังสหรัฐและชาติพันธมิตรอย่างบ่อยครั้งเช่นนี้ ไม่ใช่เรื่องเดียวที่นานาชาติรวมไปถึงประเทศพันธมิตรเป็นกังวล หนึ่งในเรื่องใหญ่ที่สุดเรื่องหนึ่งที่ถูกยกขึ้นมาจนส่งผลสั่นคลอนการรวมกลุ่มของพันธมิตรต่อต้านการก่อการร้ายคือ การใช้ ‘ปฏิบัติการลับ’ ที่ผิดหลักมนุษยชน และโดยส่วนมากอยู่นอกเหนือความคาดหมายของหลายชาติที่เข้าร่วมปฏิบัติการปราบปรามการก่อการร้ายด้วยกัน

ถึงแม้จะพ้นยุคประธานาธิบดี ‘สายเหยี่ยว’ อย่างบุชมาสู่ ‘สายพิราบ’ อย่างโอบามาแล้วก็ตาม วิลเลียม อี. ชูเออร์แมน (William E. Scheuerman) ศาสตราจารย์สาขาวิชาการเมืองแห่งมหาวิทยาลัยอินเดียนา กล่าวเอาไว้ในงานเขียน Barack Obama’s War on Terrorism ว่า ถึงแม้ประธานาธิบดีโอบามาจะต่อต้านนโยบายเดิมของประธานาธิบดีบุชอย่างรุนแรง ถึงขั้นต้องการสอบสวนผู้ต้องหาคดีก่อการร้ายด้วยการทรมานและมุ่งมั่นที่จะเปิดเผยเอกสารลับบางส่วนเกี่ยวกับกรณีปฏิบัติการลับเหล่านี้ รวมไปถึงการสั่งปิด ‘Black Site’ ที่เกิดขึ้นในสมัยรัฐบาลก่อนหน้าที่ใช้สำหรับกักขังและสอบสวนผู้ต้องสงสัยคดีก่อการร้ายอย่างผิดมนุษยธรรม แต่อย่างไรก็ตามประธานาธิบดีโอบามากลับดำเนินรอยตามนโยบายต่อต้านการก่อการร้ายในสมัยของประธานาธิบดีบุชในเกือบทุกรูปแบบ และขยายอำนาจของฝ่ายบริหารออกไปให้ไกลที่สุดเพื่อสร้างความมั่นใจว่าสหรัฐยังคงอยู่ใน ‘สภาวะสงคราม’ กับอัลกออิดะห์ 

สถานการณ์เช่นนี้ทำให้ภารกิจในการเก็บข้อมูลและการข่าวกรองยังคงเข้มข้นไม่ต่างจากยุคก่อนหน้าเท่าใดนัก และนำไปสู่การสร้างศูนย์ความมั่นคงทางไซเบอร์ของ NSA ด้วยงบประมาณถึง 1.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในการสนับสนุนความมั่นคงทางข่าวกรองและการเฝ้าระวังทั้งในและต่างประเทศของสหรัฐ และสถานที่ Black Site อย่าง Guantanamo Bay ที่เคยกล่าวว่าจะสั่งปิดนั้น ก็ยังไม่ได้ถูกปิดตัวลงตามคำสัญญาแต่อย่างใด หากแต่แค่ถูกลดขนาดลงเท่านั้น 

ปฏิบัติการลับต่างๆ ถูกยกระดับไปอีกขั้นในช่วงสมัยของประธานาธิบดีโอบามา เมื่อสหรัฐเริ่มที่จะออกตามล่าและสังหารผู้ที่อยู่ในรายชื่อเฝ้าระวังการก่อการร้ายนอกประเทศ เป้าหมายแรกๆ ที่ถูกสังหารคือ อันวาร์ อัล-อาวลากิ จากประเทศเยเมน ด้วยการใช้โดรนไร้คนขับโจมตีทางอากาศอย่างไม่ทันตั้งตัว ต่อมาการใช้โดรนไร้คนขับเข้าโจมตีเป้าหมายลักษณะนี้ได้กลายเป็นเครื่องมือหลักของฝ่ายความมั่นคงสหรัฐในการลอบสังหารผู้ที่ถูกคาดการณ์ว่าน่าจะเป็นภัยต่อมาตุภูมิ เนื่องจากเป็นวิธีการที่ว่องไว รวดเร็ว ไม่มีความเสี่ยงด้านกำลังพลในการปฏิบัติการ และที่สำคัญคือสามารถข้ามขั้นตอนการจับกุม การไต่สวน หรือการต่อสู้คดีกันในชั้นศาลไปได้เลยด้วยการกดปุ่มยิงเพียงครั้งเดียวจากสถานที่ที่ห่างออกไปครึ่งโลก

การเข้ามาของเทคโนโลยีโดรนสังหารเป็นอีกหนึ่งยุทธวิธีที่เปลี่ยนแปลงสนามการเมืองระหว่างประเทศไปตลอดกาล เนื่องจากเทคโนโลยีปัจจุบันที่ทำให้โดรนเหล่านี้ตรวจจับได้ยากขึ้น และสามารถบินอยู่เหนือน่านฟ้าของแทบจะทุกพื้นที่ในโลก การสอดแนมไปจนถึงการสังหารเป้าหมายจะช่วยย่นระยะเวลาในการจับกุมและสอบสวนที่ตามมา เนื่องจากสหรัฐกำลังจัดการกับปัญหาค่าย Black Site ทั้งหลาย และไม่ต้องการให้การไต่สวนนักโทษเหล่านี้กลายเป็นคดีความทางการเมืองที่จะเข้าสู่การกดดันของสภาคองเกรสได้ ชูเออร์แมนจึงกล่าวว่า อำนาจการตัดสินใจ สั่งการ และการเป็นตุลาการ ถูกรวบไว้ที่ประธานาธิบดีโอบามาแต่เพียงผู้เดียวด้วยยุทธวิธีโดรนสังหาร ถึงแม้ว่าในหลายครั้งจะมีพลเรือนอเมริกันหรือชาติพันธมิตรเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยก็ตาม แน่นอนว่าการปฏิบัติการลับทางการทหารเหล่านี้ส่งผลให้ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงในเรื่องหลักการ check and balance ที่เป็นชุดคุณค่าหลักของสหรัฐมาช้านาน

ปฏิบัติการลับทางการทหารและข้อมูลข่าวสารในยุคสมัยตั้งแต่ประธานาธิบดีบุชมาจนถึงโอบามา ก่อนส่งผ่านมาถึงยุคประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ และ โจ ไบเดน ดูเหมือนจะค่อยๆ เสื่อมความนิยมในหมู่ประชาชนอย่างต่อเนื่อง โดยปฏิบัติการดังกล่าวในช่วง 10 ปี ก่อนถูกจัดทำเป็นแบบสำรวจโดยสำนักข่าว AP และองค์กร NORC Center for Public Affairs Research พบว่า การเก็บข้อมูลประชาชนทั้งในและนอกประเทศของสหรัฐ รวมไปถึงการมอบอำนาจให้เจ้าหน้าที่สามารถเข้าไปอ่านอีเมลของบุคคลที่อยู่นอกสหรัฐได้นั้น มีความนิยมเห็นด้วยกับมาตรการดังกล่าวอยู่ที่ร้อยละ 47 และไม่เห็นด้วยอยู่ที่ร้อยละ 30 แต่ในช่วงระยะเวลาปัจจุบันกลับเหลือเพียงร้อยละ 27 ที่เห็นด้วย และอีกร้อยละ 46 ที่ไม่เห็นด้วย รวมไปถึงการที่ประธานาธิบดีไบเดนเตรียมเปิดเผยเอกสารลับกรณี 9/11 ที่ได้รับความสนใจจากประชาชนเป็นอย่างมากนั้น บ่งชี้ได้อย่างชัดเจนว่าทิศทางของสังคมอเมริกันกำลังเบื่อหน่ายกับการปฏิบัติการลับและอำนาจที่อยู่นอกเหนือไปจากการเข้าถึงของรัฐบาลในสงครามต่อต้านการก่อการร้าย ถึงแม้ว่าอัฟกานิสถานอาจจะกำลังกลับมาเป็นแหล่งบ่มเพาะผู้ก่อการร้ายรุ่นใหม่ขึ้นก็ตาม

photo: JMacPherson

ชาติพันมิตรเหนื่อยใจกับสงครามไม่รู้จบของสหรัฐ

อย่างที่ได้กล่าวไปแล้วในตอนต้นว่า บรรดาประเทศพันธมิตรของสหรัฐต่างถูกดึงให้เข้าร่วมสงครามครั้งนี้ ด้วยสนธิสัญญาจากอดีตที่ไม่ได้ถูกคิดขึ้นมาเพื่อรับมือกับภัยก่อการร้าย รวมไปถึงความหมิ่นเหม่ที่จะทำให้ยุโรปตกเป็นเป้าหมายของการโจมตีโต้กลับจากฝั่งหัวรุนแรงและยิ่งสร้างความไม่พอใจในหมู่ประชาชนภายในชาติ ซึ่งดูเหมือนว่าตั้งแต่สมัยของประธานาธิบดีบุชมาจนถึงประธานาธิบดีไบเดนนั้น บรรดาพันธมิตรทางการเมืองของพวกเขาต่างก็มีบทบาทและพฤติกรรมที่น่าสนใจบนเวทีการเมืองระหว่างประเทศตลอด 20 ปีที่ผ่านมาเป็นอย่างยิ่ง

ในระยะแรกของสงคราม โดยเฉพาะช่วงปฏิบัติการที่เข้าโจมตีอัฟกานิสถานนั้นมีหลายชาติให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี โดย จูซัฟ วานันดี (Jusuf Wanandi) ผู้ร่วมก่อตั้ง the Center for Strategic and International Studies (CSIS) ระบุเอาไว้ในงานเขียนชื่อ A Global Coalition against International Terrorism ว่า สหรัฐได้รับความสนับสนุนจากชาติสมาชิกใน NATO เป็นหลัก แต่ขณะเดียวกันก็ได้รับความช่วยเหลือเป็นอย่างดีจากเครือข่ายตำรวจและเจ้าหน้าที่หน่วยข่าวกรองของประเทศในกลุ่ม Association of Southeast Asian Nations (ASEAN) และประเทศในกลุ่มปากีสถาน อุซเบกิซสถาน ทาจิกิซสถาน และคาซัคสถาน ต่างให้ความช่วยเหลือด้านข้อมูลเนื่องจากมีความต้องการในการขับไล่กลุ่มตาลีบันออกไปจากพื้นที่ ในแง่ผลประโยชน์ทางการเมือง อินเดียและรัสเซียก็ได้ใช้ช่วงเวลานี้เองในการเร่งกระชับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศกับสหรัฐ ด้วยการส่งความช่วยเหลือมาให้แก่ฝ่ายตะวันตก ส่วนสาธารณรัฐประชาชนจีนนั้นเข้าร่วมด้วยเนื่องจากเพื่อเป็นการป้องกันภัยก่อการร้ายภายในประเทศของตนเองที่มีส่วนเชื่อมโยงไปยังอัลกออิดะห์ได้

ทว่าภายหลังจากการโค่นล้มรัฐบาลตาลีบันในอัฟกานิสถานแล้ว กลับไม่ได้ทำให้สงครามต่อต้านการก่อการร้ายจบลง สำหรับสหรัฐแล้ว พวกเขาต้องการที่จะกำจัดไปให้ถึงรากของปัญหา นั่นคือการจัดการ บิน ลาเดน ปัญหาการก่อตั้งรัฐบาลใหม่ในประเทศที่ได้รับผลกระทบจากสงคราม การแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารและการควบคุมทางด้านอาวุธกับประเทศพันธมิตรต่อไป จุดเปลี่ยนหลังสงครามอัฟกานิสถานครั้งนี้ทำให้นานาชาติเริ่มแสดงท่าทีห่างเหินจากนโยบายต่างประเทศทางการทหารของสหรัฐมากยิ่งขึ้น 

ไอโว เอช. ดาลเดอร์ (Ivo H. Daalder) และ เจมส์ เอ็ม. ลินด์เซย์ (James M. Lindsay) ระบุเอาไว้ในงานเขียนชื่อ Nasty, Brutish and Long: America’s War on Terrorism ว่า ความเสื่อมถอยของภาคีต่อต้านการก่อการร้ายของสหรัฐนี้เกิดมาจากปัญหาที่แต่ละประเทศสมาชิกภาคีตีความการต่อต้านการก่อการร้ายแตกต่างกันออกไปตามแต่บริบทของประเทศตนเอง เนื่องด้วยเมื่อประเทศสมาชิกได้รับผลประโยชน์ในจังหวะใดจังหวะหนึ่งแล้วก็จะหาทางพยายามลดการสนับสนุนลง โดยเฉพาะกลุ่มประเทศอาหรับที่ไม่ต้องการสร้างกระแสเกลียดชังอเมริกันในประเทศของตนให้ลุกฮือขึ้นมา ไปจนถึงอัตราการเสียชีวิตของผู้บริสุทธิ์ในเขตสงครามที่มากขึ้นเรื่อยๆ เริ่มทำให้ภาคประชาชนในหลายประเทศที่เข้าร่วมสงครามไม่พอใจการตัดสินใจของรัฐบาลของตนเอง

หลังจากนั้นเป็นต้นมา การต่างประเทศของเวทีโลกก็เริ่มเคลื่อนตัวเข้าสู่ยุค ‘Domenestic’ กันมากขึ้น เนื่องจากการก่อการร้ายได้ปะทุขึ้นในหลายประเทศ ตั้งแต่ฝรั่งเศส อังกฤษ ไปจนถึงอียิปต์ กระแสสังคมจึงไม่ได้สนับสนุนให้รัฐบาลของประเทศตนเองเข้าร่วมสงครามต่อต้านการก่อการร้ายและส่งทหารไปรบนอกประเทศอีกต่อไป หากแต่เป็นการกลับมาสนใจเรื่องภัยอันตรายภายในประเทศและการจัดการกับปัญหาผู้ลี้ภัยตามเส้นแบ่งพรมแดนเสียมากกว่า ถึงแม้ความร่วมมือทางการทหารจะยังคงมีอยู่บ้างตามสนธิสัญญาเดิม แต่ก็ไม่สามารถปฏิเสธได้ว่าทุกวันนี้ภัยอันตรายจากการก่อการร้ายภายในประเทศทำให้หลายประเทศเริ่มกลับมาสนใจบ้านของตนเองมากขึ้น มากกว่าอันตรายจากต่างแดนที่อยู่ห่างออกไปครึ่งโลก

โลกหลัง 9/11 อาจพูดได้อย่างเต็มปากว่าเปลี่ยนวิธีคิดทางการเมืองระหว่างประเทศของผู้คนธรรมดาบนท้องถนนไปได้อย่างไม่มีวันกลับ ไม่ว่าเขาจะคิดว่าเรื่องที่ห่างออกไปอีกซีกโลกหนึ่งเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับเขา หรือจะคิดว่าพวกเขาควรสนใจเรื่องในบ้านของตนเองให้มากขึ้นกว่าการไปสนใจเรื่องภายนอกก็ตาม จุดจบของ ‘สงครามไร้จุดจบ’ คงใกล้เข้ามาถึงในเร็ววันกว่าที่คิด 

รายจ่ายทางเศรษฐกิจ แลกด้วยชีวิตและกระสุนปืน

แม้เป้าของเครื่องบินโบอิงของ American Airlines และ United Airlines จะอยู่ที่ตึกเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ และปีกซ้ายของตึกเพนตากอน แต่ความมุ่งหวังกลับไม่ได้จำกัดแค่การคร่าชีวิต หรือทำลายตึกอันเป็นสัญลักษณ์จักรวรรดิการเงินและการเมืองของอเมริกัน เพราะนี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของปฏิบัติการ ‘ลบชื่อสหรัฐอเมริกา’ ออกจากแผนที่โลก ด้วยหวังให้อเมริกากลายเป็นประเทศล้มละลาย

หลังเกิดเหตุได้ไม่กี่ชั่วโมง กลุ่มอัลกออิดะห์ภายใต้การนำของทายาทตระกูลเศรษฐีที่ชื่อ บิน ลาเดน ตกเป็นผู้ต้องสงสัยว่าเป็นผู้อยู่เบื้องหลังแผนการครั้งนี้ ทั้งนี้ โดยปราศจากการตรวจสอบข้อสันนิษฐาน สหรัฐกลับรีบส่งกองทัพเข้าไปยังประเทศอัฟกานิสถาน ที่เชื่อว่าเป็นแหล่งกบดานของกลุ่มอัลกออิดะห์ เนื่องจากอัฟกานิสถานไม่ให้ความร่วมมือในการตามล่าตัว บิน ลาเดน นับเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้โลกรู้จักกับ ‘สงครามต่อต้านการก่อการร้าย’ (War on Terror) ภายใต้การนำทัพของประธานาธิบดีสหรัฐ จอร์จ ดับเบิลยู. บุช

“ทุกๆ ชาติ ในทุกๆ อาณาบริเวณ จำเป็นต้องมีการตัดสินใจเลือก ณ ขณะนี้ว่า คุณจะอยู่ฝั่งพวกเรา หรือคุณจะเข้าพวกกับผู้ก่อการร้าย” คือสุนทรพจน์อันโด่งดังของบุช

แม้จะปฏิเสธการมีส่วนเกี่ยวข้องในตอนแรก แต่เมื่อถึงเดือนตุลาคม ปี 2004 บิน ลาเดน กลับยอมรับการอยู่เบื้องหลังเหตุการณ์ 9/11 ทั้งยังประกาศว่า เป้าหมายของเขาและอัลกออิดะห์คือ “การดำเนินนโยบายที่จะรีดเลือดอเมริกาจนกว่าจะไปถึงจุดแห่งการล้มละลาย” ความสำเร็จของการก่อการร้ายจึงไม่ได้วัดที่จำนวนผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตเพียงเท่านั้น แต่อยู่ที่การขาดดุล การเป็นหนี้ และการลงทุนในสิ่งที่จะขัดขวางการเติบโตทางเศรษฐกิจของอเมริกา

เหตุผลที่ บิน ลาเดน เลือกใช้ยุทธศาสตร์เช่นนี้ เป็นเพราะเมื่อครั้งอัฟกานิสถานกำลังเผชิญกับการรุกรานของสหภาพโซเวียต ในช่วงทศวรรษ 80 บิน ลาเดน ในฐานะหนึ่งในขบวนการต่อต้านครั้งนั้น ได้ต่อสู้เป็นเวลากว่าสิบปี จนสามารถขับไล่โซเวียตออกไปได้ในที่สุด และสำหรับ บิน ลาเดน ผลพวงของชัยชนะครั้งนั้น คือการล้มละลายทางการเงินของสหภาพโซเวียต จนนำไปสู่การล่มสลายในไม่กี่ปีต่อมา

อย่างไรก็ดี การทำสงครามก็จำเป็นต้องใช้เงินมหาศาล ไม่ว่าจะรัฐ หรือกลุ่มก่อการร้ายก็จำเป็นต้องใช้เงินในการทำสงคราม สำหรับกลุ่มก่อการร้าย เงินจำนวนมากก็ต้องมาจากการทำธุรกิจผิดกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นการค้ายาเสพติด ค้าอาวุธ กระทั่งการลักพาตัวเพื่อเรียกค่าไถ่ แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า เงินของกลุ่มก่อการร้ายจะต้องมาจากการทำอะไร ‘ดิบๆ’ เท่านั้น เพราะแหล่งทุนสำคัญหนึ่งของ บิน ลาเดน และอัลกออิดะห์ก็มาจากการทำอะไรหวานๆ อย่างการ ‘ขายน้ำผึ้ง’

สำหรับอเมริกา 8 ล้านล้าน คือ งบประมาณทั้งหมดตลอดระยะเวลา 20 ปี ที่อเมริกาใช้จ่ายไปกับการทำสงครามครั้งนี้ โดยมีการใช้จ่ายเกี่ยวกับกำลังพลต่างแดนโดยตรง (The Overseas Contingency Operations: OCO) จำนวน 2.1 พันล้าน กินสัดส่วนเป็นอันดับหนึ่ง ตามมาด้วยงบความมั่นคงแห่งมาตุภูมิ (Homeland Security) จำนวน 1.17 พันล้าน เป็นอันดับสอง งบนอกเหนือจากนี้ก็จะเกี่ยวกับบำนาญ สวัสดิการ ที่เกี่ยวข้องกับการทำสงคราม เช่น ค่ารักษาพยาบาลและเงินบำนาญของทหารที่กลับมาจากสงคราม 

watson.brown.edu/costsofwar

ทั้งนี้ แม้เหตุการณ์ 9/11 และสงครามต่อต้านการก่อการร้าย ดูจะเป็นเรื่องใหญ่และน่าจะมีการใช้งบประมาณ รวมถึงมีผลกระทบทางเศรษฐกิจมหาศาล แต่ จูเลียน ฟอกซ์ (Julien Fox) คอลัมนิสต์ของ Bloomberg และอดีตบรรณาธิการนิตยสาร Harvard Business Review ได้นำข้อมูลมากางให้เห็นว่า งบประมาณที่ใช้จ่ายไปกับการทหารของสหรัฐ มีแนวโน้มลดลงมาตลอดตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 โดยลดลงจาก 18.7 เปอร์เซ็นต์ ของ GDP ในปี 1946 เหลือเพียง 3.5 เปอร์เซ็นต์ของ GDP ในปี 2020 สำหรับปี 2001 ปีที่เกิดเหตุ 9/11 นั้น สัดส่วนงบการทหารอยู่ที่เพียงแค่ 2.9 เปอร์เซ็นต์ 

bloomberg.com

หากมองในช่วงสั้น แม้ช่วงปลายปีหลังเกิดเหตุการณ์ 9/11 จะทำให้เศรษฐกิจถดถอยอย่างหนัก ตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์ค (New York Stock Exchange: NYSE) ถึงขนาดต้องมีการปิดตลาดยาวนานเป็นครั้งที่ 3 ในประวัติศาสตร์ (ครั้งแรกคือเดือนแรกของสงครามโลกครั้งที่ 1 ครั้งที่สองเกิดขึ้นช่วงภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ ในเดือนมีนาคม ปี 1933) ชาวเมืองนิวยอร์คกว่า 112,000 คน ต้องตกงานภายในระยะเวลาเพียง 2 เดือน บริษัทประกันต้องจ่ายเงินประกันรวมเป็นจำนวนกว่า 40,000 ล้านเหรียญสหรัฐ นับเป็นการจ่ายเงินประกันที่สูงที่สุดในประวัติศาสตร์

อย่างไรก็ดี เมื่อถึงเดือนมกราคม ปี 2002 ความคึกคักในภาคธุรกิจและการบริโภคก็กลับมาผงาดอีกครั้งอย่างรวดเร็ว อนึ่ง หลังเกิดเหตุการณ์ 9/11 ชาวอเมริกันเองก็มีวิถีการแสดงความรักชาติ (patriotic) ในรูปแบบที่มีความอเมริกันมากๆ นั่นคือ ‘การทำเงิน’ ซึ่งตีคู่มากับ ‘การใช้เงิน’ หรือที่เรียกว่า ‘consumer patriotism’ เงินที่ใช้ในการบริโภคเป็นการแสดงออกทางการเมืองของชาวอเมริกันเสมอมา ในทางเศรษฐศาสตร์การเมือง ชาวอเมริกันจะ ‘voting with dollar’

ถึงที่สุดแล้ว งบประมาณที่ใช้ไปกับสงครามต่อต้านการก่อการร้ายก็ยังไม่ได้สูงถึงขนาดที่จะทำให้อเมริกาล้มละลายได้ ความมุ่งหวังและเป้าหมายของ บิน ลาเดนและอัลกออิดะห์ (ภายใต้การนำของ บิน ลาเดน) จึงยังไม่บรรลุผล หนำซ้ำผลกระทบทางเศรษฐกิจของมันยังเทียบไม่ได้กับเศรษฐกิจตกต่ำที่เกิดจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่นั่นก็ไม่ใช่ความพ่ายแพ้ไปเสียทีเดียว เพราะ เอซรา ไคลน์ (Ezra Klein) คอลัมนิสต์แห่ง The New York Times มองว่า แม้ บิน ลาเดน จะไม่สามารถทำให้อเมริกาล้มละลายได้จริง แต่ก็ได้กระตุ้นสำนึกบางอย่างที่สามารถนำไปสู่การล้มละลายได้ เช่น การใช้จ่ายเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์แบบ 9/11 อีก หรือความพยายามเปลี่ยนแปลงโลกตะวันออกกลาง (อย่างที่อเมริกาสูญเงินไปอย่างน้อย 200 ล้านเหรียญ ไปกับการสร้างอัฟกานิสถานขึ้นใหม่ แต่ก็ล้มเหลว)

สุดท้ายนี้ แม้อเมริกาจะกำจัด บิน ลาเดน ได้สำเร็จ ตลอดยังมีการถอนทัพออกจากอัฟกานิสถานเมื่อกลางปีที่ผ่านมา แต่หากอ้างสุนทรพจน์ในวันที่ 20 กันยายน 2001 ของบุชผู้ประกาศสงครามครั้งนี้ ‘อัลกออิดะห์ก็เป็นแค่จุดเริ่มต้น’

“สงครามต่อต้านการก่อการร้ายของพวกเราเริ่มต้นที่อัลกออิดะห์ แต่มันจะไม่จบแค่ตรงนั้น มันจะไม่จบจนกว่ากลุ่มก่อการร้ายทุกกลุ่มบนโลกจะถูกเจอตัว ถูกหยุด และถูกทำให้ศิโรราบ” บุชกล่าวต่อหน้าสภาคองเกรสและคนทั้งประเทศ

การเปิดฉากถล่มดินแดนตะวันออกกลางของอเมริกา แม้อาจไม่ได้ใช้งบประมาณมากถึงขนาดที่จะทำให้ประเทศล้มละลาย แต่กระสุน ระเบิด ความโหดร้ายทารุณ ที่อเมริกานำไปทิ้งถล่มในดินแดนเหล่านี้อย่างไม่เลือกหน้า ก็แลกมากับเลือดเนื้อและชีวิตของผู้บริสุทธิ์มากมาย มันเป็นปริมาณความสูญเสียที่มากเพียงพอให้ผู้บริสุทธิ์เหล่านั้น ไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ ลุกขึ้นจับอาวุธและเข้าร่วมกับกลุ่มก่อการร้ายต่างๆ เพียงเพื่อแก้แค้นอเมริกา ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีผลที่อเมริกาไม่คาดว่าจะได้รับ อย่างการที่พวกเขายกย่องเหตุการณ์ 9/11 และมอง บิน ลาเดน เป็นแรงบันดาลใจ 

หากจะอ้างคำพูดของ ไซมอน เจนคินส์ (Simon Jenkins) คอลัมนิสต์แห่ง The Guardian ผลพวงทั้งหมดนี้ก็มีจุดเริ่มต้นจากการบุกรุกอัฟกานิสถาน การบุกรุกซึ่งต้องใช้เวลากว่า 20 ปี ถึงจะรู้ว่า มันไม่มีความจำเป็นที่ต้องทำโดยสิ้นเชิง

อ้างอิง
American Pop Culture ภาพหลอนของภาวะเกลียดกลัวอิสลาม
จุดจบของตึกแฝด จุดเริ่มของสงครามฆ่าล้างกลุ่มก่อการร้าย
รายจ่ายทางเศรษฐกิจ แลกด้วยชีวิตและกระสุนปืน

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า