เปิดกำไรบรรษัทยา ธุรกิจทำเงินอันดับหนึ่ง

DelayedGenericDrugs-2

 

เป็นความจริงที่ยากปฏิเสธว่าบรรษัทยาคือธุรกิจทำเงินอันดับหนึ่งของโลก แม้บ่อยครั้งจะมีข่าวแพ้คดีจนต้องเสียค่าปรับในหลักพันล้านดอลลาร์จากพฤติกรรมล้ำเส้นจริยธรรมที่ไม่ชอบมาพากลต่างๆ นานา แต่บรรษัทยาและเวชภัณฑ์ยักษ์ใหญ่ทั้งหลายกลับยังสามารถดำเนินธุรกิจเพื่อทำกำไรได้อย่างต่อเนื่อง

 

5 อันดับธุรกิจทำกำไรมากที่สุด (รายได้สุทธิหลังหักค่าใช้จ่าย)

ธุรกิจ รายได้สุทธิ (% ) % สูงสุด % ต่ำสุด
ยาและเวชภัณฑ์  19 42 10
ธนาคาร 19 29 5
สื่อ 12 18 6
น้ำมันและก๊าซธรรมชาติ 8 24 2
รถยนต์ 6 10 3

ที่มา: forbes.com

 

ปี 2013 บรรษัท Pfizer ผู้ผลิตยาและเวชภัณฑ์ใหญ่ที่สุดในโลกด้วยยอดรายได้หลังหักค่าใช้จ่ายแล้วอยู่ที่ร้อยละ 42 หากไม่นับรวมรายได้นับ 10,000 ล้านดอลลาร์ที่บรรษัทได้จากเวชภัณฑ์สำหรับสัตว์ที่มีกำไรร้อยละ 24 ออกไป ก็ยังนับว่าเป็นธุรกิจที่ทำกำไรดีเยี่ยม

สำหรับในอังกฤษ เพียงแต่มีการเสนอข่าวคาดการณ์ผลกำไรที่บรรษัทด้านพลังงานจะได้รับในปีนี้ ที่เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 4 เป็นร้อยละ 8 ก็ทำให้ผู้คนโกรธแค้นกันมากแล้ว

ขณะที่ในปี 2013 บรรษัทยา 5 แห่ง ซึ่งได้แก่ Pfizer, Hoffmann-La Roche, AbbVie, GlaxoSmithKline (GSK) และ Eli Lilly สามารถทำกำไรได้กว่าร้อยละ 20

 

 

Prozac_pills

+ ทำกำไรอย่างยั่งยืน?

หากทราบราคายาในการรักษาโรคบางอย่างที่ทั้งคอร์สไม่ต่ำกว่า 100,000 ดอลลาร์ ขณะที่ค่าใช้จ่ายในการผลิตปริมาณมหาศาล ย่อมทำให้ต้นทุนยาต่ำลงอย่างไม่น่าเชื่อ นั่นคงเป็นเหตุผลและช่องว่างในการทำกำไรของธุรกิจที่ผู้บริโภคจำเป็นต้องพึ่งพากระทั่งฝากชีวิตไว้กับมัน

ปี 2013 จดหมายเปิดผนึกจากกลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านเนื้องอก 100 คน ได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร Blood ที่เผยแพร่งานวิจัยด้านโลหิตวิทยา เพื่อเรียกร้องให้บรรษัทยาลดราคายารักษามะเร็ง

ดร.ไบรอัน ดรูเกอร์ ผู้อำนวยการสถาบันมะเร็ง Knight Cancer Institute หนึ่งในผู้ร่วมลงชื่อกล่าวว่า “ถ้าคุณทำรายได้จากยามะเร็งเม็ดเลือด Gleevec 3,000 ล้านดอลลาร์ต่อปี ทั้งๆ ที่สามารถลดลงเหลือ 2,000 ล้านดอลลาร์ได้? ก็เท่ากับว่าคุณก้าวข้ามเส้นผลกำไรที่เหมาะสมจนไปอยู่ที่การเน้นทำกำไรไปแล้ว?”

และไม่ได้มีเพียงยารักษามะเร็งเท่านั้น ระหว่างเดือนเมษายนถึงมิถุนายน 2014 บรรษัทยา Gilead ทำรายได้จากการจำหน่าย Sovaldi ยารักษาไวรัสตับอักเสบซีไปกว่า 3,500 ล้านดอลลาร์

เหตุผลที่บรรษัทยาหลายแห่งอธิบายว่าที่ต้องตั้งราคายาให้สูงนั้น มาจากค่าใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนา (research and development: R&D) โดยเฉลี่ย มีตัวยาเพียง 3 ใน 10 ตัวเท่านั้นที่ทำกำไร และหนึ่งในนั้นที่สามารถทำกำไรมหาศาลในหลักพันล้านดอลลาร์ต่อปี ขณะที่ยาตัวอื่นๆ แทบไม่มีสิทธิ์ออกวางจำหน่าย

 

 

10 อันดับ บรรษัทยาและเวชภัณฑ์ระดับโลก

บรรษัทยาและเวชภัณฑ์ รายได้รวม งบวิจัย งบการตลาด กำไรสุทธิ สัดส่วนกำไร
(ล้านดอลลาร์) (ล้านดอลลาร์) (ล้านดอลลาร์) (ล้านดอลลาร์) (%)
1 Johnson & Johnson (สหรัฐ) 71,300 8,200 17,500 13,800 19
2 Novartis (สวิส) 58,800 9,900 14,600 9,200 16
3 Pfizer (สหรัฐ) 51,600 6,600 11,400 22,000 43
4 Hoffmann-La Roche (สวิส) 50,300 9,300 9,000 12,000 24
5 Sanofi (ฝรั่งเศส) 44,400 6,300 9,100 8,500 11
6 Merck (สหรัฐ) 44,400 7,500 9,500 4,400 10
7 GSK (อังกฤษ) 41,400 5,300 9,900 8,500 21
8 Astra Zeneca (อังกฤษ) 25,700 4,300 7,300 2,600 10
9 Eli Lilly (สหรัฐ) 23,100 5,500 5,700 4,700 20
10 AbbVie (สหรัฐ) 18,800 2,900 4,300 4,100 22

ที่มา: GlobalData

 

02aspirin_tablets

+ งบวิจัยและสิทธิบัตร

สตีเฟน ไวท์เฮด หัวหน้าสมาคมอุตสาหกรรมยาอังกฤษ (Association of the British Pharmaceuticals Industry: ABPI) ให้ข้อมูลว่า ในระยะยาว การผลิตยาตัวเดิมจะมีต้นทุนลดลงเรื่อยๆ

เขายกตัวอย่างค่ายารักษาอาการป่วยด้วยเชื้อไวรัสตับอักเสบซีแบบเต็มคอร์ส 12 สัปดาห์ อยู่ที่ 54,800 ดอลลาร์ การรักษาด้วยยาจะช่วยให้ร้อยละ 90 ของผู้ที่ได้รับยาไม่จำเป็นต้องผ่าตัด ขณะที่ต้นทุนการผลิตลดต่ำลง ทว่าราคาจำหน่ายกลับไม่เคยลดลง

บรรษัทยามักจะบอกว่าตนมีเวลาจำกัดที่จะทำรายได้จากการจำหน่ายยาที่คิดค้นได้ เนื่องจากสิทธิบัตรยามีอายุคุ้มครองที่ 20 ปี ซึ่งต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 10-12 ปี และมีงบประมาณในการวิจัยและพัฒนาอยู่ระหว่าง 1,500-2,500 ล้านดอลลาร์ต่อตัวยา

นั่นหมายความว่า มีเวลาเหลือ 8-10 ปี สำหรับทำกำไรจากยอดจำหน่ายก่อนจะต้องเสียส่วนแบ่งทางการตลาดและสิทธิ์ในการผลิตยาต้นแบบให้กับบริษัทยาชื่อสามัญรายย่อยๆ ที่จะสามารถหั่นราคายาตัวเดียวกันลงได้ชนิดแทบไม่น่าเชื่อ ความจริงที่เกิดขึ้นคือ  ยอดจำหน่ายในไม่กี่เดือนแรกของยาต้นแบบก็สามารถคืนต้นทุนในการคิดค้นและวิจัยพัฒนายาตัวดังกล่าวได้แล้ว

 

DelayedGenericDrugs-1

 

+ แทคติค ‘ต่อเวลา’ ทำกำไร

ผลิตภัณฑ์ยาอาจจะแตกต่างจากสินค้าและบริการอื่นๆ เพราะเมื่อสิทธิบัตรยาหมดระยะเวลาคุ้มครองลง ผู้บริโภคก็พร้อมจะหันไปซื้อยาชื่อสามัญที่มีราคาย่อมเยากว่าแทบจะทันที นี่คือข้อสังเกตจาก โจชัว โอไวด์ ผู้อำนวยการ GlobalData บริษัทวิจัยตลาดอุตสาหกรรมด้านสุขภาพ

นี่จึงเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่บรรษัทยาพยายามยืดอายุความคุ้มครองสิทธิบัตรยาต้นแบบของพวกเขาออกไปให้ได้นานที่สุด ที่ทราบกันในนามของ ‘Evergreening patent’ หรือสิทธิบัตรไม่มีวันหมดอายุ ด้วยการจดสิทธิบัตรตัวยาใหม่ ทั้งที่จริงอาจเป็นตัวยาเดิม แต่นำมาจัดเรียงพันธะทางเคมีใหม่ เติมยาอีกชนิดเพื่อให้เป็นสูตรผสม หรือเปลี่ยนตัวทำละลายเพื่อให้ยาดูดซึมดีขึ้น โดยรวมแล้ว ผู้เชี่ยวชาญด้านเภสัชกรรมไม่สามารถรับรองได้ว่ายาที่ยื่นคำขอรับสิทธิบัตรเหล่านั้นมีนวัตกรรมที่สูงขึ้นกว่าเดิมอย่างไร

สำหรับยาที่มียอดขายอยู่ที่ไตรมาสละ 3,000 ล้านดอลลาร์ การยืดอายุสิทธิบัตรออกไปเพียง 1 เดือนย่อมหมายถึงรายได้ที่เพิ่มขึ้นนับพันล้านดอลลาร์

รวมถึงเทคนิคของ GSK ที่ยินดีจ่ายเงินชดเชยให้กับบริษัทยาชื่อสามัญเพื่อชะลอการวางจำหน่ายยาชื่อสามัญที่มีราคาย่อมเยาออกไปก่อน

 

DelayedGenericDrugs-3

 

+ เส้นแบ่งแห่งจริยธรรม

การติดสินบนแพทย์เพื่อให้สั่งยาของบริษัท ถือเป็นการละเมิดกฎหมายชัดเจน อย่างกรณีที่ทาง GSK แพ้คดีและต้องเสียค่าปรับ 490 ล้านดอลลาร์ในจีนเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา ก็ด้วยพฤติกรรมการให้ค่าตอบแทนกับบุคลากรสาธารณสุขที่มีอำนาจในการเขียนใบสั่งยาให้คนไข้ ขณะที่ในโปแลนด์และแถบตะวันออกกลางที่คดียังไม่สิ้นสุด บรรษัทยาก็ยังอยู่ระหว่างสู้คดี

จริยธรรมในการให้และรับของขวัญของกำนัล หรือรับการสนับสนุนจากบรรษัทยาในงานสัมมนาวิชาการหรืองานสอนนักศึกษาแพทย์ เป็นกรอบกำหนดไว้ด้วยเส้นแบ่งที่อาจไม่ชัดเจนนัก สิ่งเหล่านี้จึงเกิดขึ้นเป็นปกติในสหรัฐ

งานวิจัย ‘Financial Conflicts of Interest in Medicine’ นำโดย โจเซฟ เอนเกลเบิร์ก จากสถาบันการจัดการเรดี มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ซานดิเอโก (Rady School of Management, University of California at San Diego) เก็บข้อมูลจาก 12 บรรษัทยา แพทย์ 330,000 ราย และใบสั่งยาอีกนับพันล้านใบ พบหลักฐานยืนยันว่าแพทย์ในสหรัฐได้รับเงินอุดหนุนจากบรรษัทยา เพื่อให้สั่งจ่ายยาของบรรษัทตนแก่คนไข้

และปัญหาจะทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นสำหรับยาที่อยู่ในบัญชียาหลัก ผลวิจัยจาก Prescribing Analytics พบว่าสวัสดิการด้านสุขภาพในอังกฤษที่บริหารโดยสำนักงานสาธารณสุขแห่งชาติ (National Health Service: NHS) จะสามารถประหยัดงบประมาณได้ 1,000 ล้านปอนด์ต่อปี หากเปลี่ยนตัวยาในบัญชียาจากยาต้นแบบ (Original drugs) ของบรรษัทยา ซึ่งมีสิทธิบัตรรับรอง เป็นยาชื่อสามัญ (Generic drugs) หลังจากความคุ้มครองสิทธิบัตรของยาต้นแบบดังกล่าวสิ้นสุดลง

 

 

ไม่หวั่นค่าปรับ

ค่าปรับ (ล้านดอลลาร์) ปี  บรรษัทยา ความผิด
3,000 2012 GSK ประชาสัมพันธ์ยา Paxil – ยาต้านอาการซึมเศร้า สำหรับผู้อายุต่ำกว่า 18 ปี
2,300 2009 Pfizer ขยายคุณสมบัติยาแก้ปวด Bestra เกินจากสรรพคุณเดิม
2,200 2013 Johnson & Johnson ประชาสัมพันธ์ยาที่ยังไม่ได้รับการยืนยันความปลอดภัย
1,500 2012 Abbott ประชาสัมพันธ์ยารักษาอาการด้านจิตเวช Depakote โดยผิดกฎหมาย
1,420 2009 Eli Lilley ประชาสัมพันธ์ยารักษาอาการด้านจิตเวช Zyprexa โดยผิดกฎหมาย
950 2011 Merck ประชาสัมพันธ์ยาแก้ปวด Vioxx ผิดกฎหมาย

 

การบิดและขยายคุณสมบัติยาเกินจากสรรพคุณเดิมและโฆษณายาอย่างผิดกฎหมายยังคงเกิดขึ้น แม้จะต้องลงเอยด้วยการแพ้คดีและถูกปรับไปนับพันล้านดอลลาร์ แต่ก็คงหลังจากทำกำไรไปแล้วอย่างสมน้ำสมเนื้อ นอกจากนี้ ยังมีความพยายามอย่างต่อเนื่องที่จะขยายขอบเขตทางจริยธรรมในการขายยาอย่างถูกกฎหมายออกไปให้มากที่สุด

 

 

อ้างอิงข้อมูลจาก: bbc.com

bloodjournal.org

rady.ucsd.edu

propublica.org

logo

Author

อภิรดา มีเดช
อดีตภูมิสถาปนิกที่สนิทสนมกับตัวหนังสือมากกว่าต้นไม้ สารพัดขนแมวที่ติดอยู่บนเสื้อสีดำเป็นเครื่องหมายแสดงความจิตใจดี เป็นเครื่องประดับแสดงความเป็นทาสแมว สนใจด้านสิ่งแวดล้อม การศึกษา ประวัติศาสตร์ การเมือง รวมถึงการวิพากษ์สังคมและบุคคลอย่างตรงไปตรงมา
(กองบรรณาธิการ WAY ถึงปี 2559)

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า