เป็นหมากตัวสำคัญบนกระดานสหรัฐดีกว่าลูกไก่ในกำมือของจีน: นโยบายต่างประเทศไต้หวัน ปี 2020

คาดเดาได้ไม่ยาก ว่าการได้รับเลือกตั้งให้กลับมาดำรงตำแหน่งในรัฐบาลในครั้งที่ 2 ของประธานาธิบดีไช่ อิงเหวิน นั้นสร้างความไม่พอใจ และความอึดอัดเป็นอย่างมากให้แก่ชนชั้นนำภายในรัฐบาลพรรคคอมมิวนิสต์ของจีนแผ่นดินใหญ่ ที่แสดงออกถึงท่าทีรังเกียจไม่เป็นมิตรต่อ ไช่ อิงเหวิน มาตั้งแต่ครั้งที่เพิ่งได้รับเลือกตั้งสมัยแรกเมื่อปี 2016 ยิ่งโดยเฉพาะกับการให้สัมภาษณ์หลังเลือกตั้งเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมาว่าไต้หวันเป็นรัฐที่มีเอกราชเป็นของตนเอง ทำให้ทางรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของจีนอย่าง หวัง อี้ ถึงกับออกมาประกาศกร้าวต่อสื่อเป็นการตอบโต้ด้วยประโยคที่ว่า “ไอ้พวกกบฏแบ่งแยกดินแดน (ในไต้หวัน) นั้นจะทำให้บ้านเมืองของเราเหม็นเน่าไปอีกหมื่นปี”

สิ่งที่น่าสนใจจึงอยู่ที่ว่าหลังจากการเลือกตั้งครั้งนี้ สถานการณ์ภายในไทเป และท่าทีโดยรวมของไต้หวันจะเป็นในรูปแบบใด เมื่อ ไช่ อิงเหวิน ได้รับการต้อนรับอย่างร้อนแรงจากรัฐมนตรี หวัง อี้ ตั้งแต่เพิ่งจบศึกเลือกตั้งไปไม่ถึง 3 วัน (การตอบโต้ทางตรงจาก สี จิ้นผิง คงจะตามมาในไม่ช้า) ซึ่งจากท่าทีของรัฐบาลจีน ก็พอจะทำให้เห็นได้ว่า จีนกำลังส่งสัญญาณออกมาถึงแนวโน้มความเป็นไปได้ที่จะงัดเอามาตรการการกดดัน และการบีบคั้นกลับมาใช้กับไต้หวันอีกเป็นแน่

ทิศทางความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของไต้หวันภายในปี 2020 นี้ หลักๆ ก็คงจะยังหนีไม่พ้นประเด็นเดิมๆ คือ ระบบความสัมพันธ์คาบสมุทร (cross-strait relations) ซึ่งเกมความสัมพันธ์ระหว่างจีนและไต้หวันจะยังคงเป็นใจความหลักของการวางแนวนโยบายต่างประเทศภายในรัฐบาลปัจจุบันเช่นเดียวกับในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา เพราะอย่างที่ได้เอ่ยถึงไว้ในบทความที่แล้ว ว่า ไช่ อิงเหวิน นั้นมีแผนจะแยกตัวออกจากจีนแผ่นดินใหญ่ในทางเศรษฐกิจ เพื่อลดทอนอิทธิพล และระบบการพึ่งพิงกับจีนให้ขยับไปอยู่ในปริมาณที่น้อยลง ในฐานะมาตรการตอบโต้ที่รัฐบาลจีนพยายามใช้เครื่องมือทางเศรษฐกิจในการโจมตีบีบบังคับไต้หวันในทางการเมือง อย่างการจำกัดนักท่องเที่ยวจากจีนแผ่นดินใหญ่ให้สามารถเดินทางเข้าสู่ไต้หวันน้อยลง ไปจนถึงการใช้เงินสนับสนุนเพื่อจ้างให้พันธมิตรกว่า 7 ประเทศตัดสินใจยกเลิกความสัมพันธ์ทางการทูตกับไต้หวัน

ดังนั้น New Southbound Policy ที่เป็นนโยบายกระจายความเสี่ยงทางเศรษฐกิจโดยการเข้าหาประเทศในแถบอาเซียน เอเชียใต้ และโอเชียเนีย 18 ประเทศหลัก ผ่านอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว (ซึ่งเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมทำเงินของไต้หวัน) การลงทุนโดยตรง และการแลกเปลี่ยนระดับบุคลากร ทั้งแรงงานและนักศึกษา จึงน่าจะยังเป็นตัวละครหลักในรัฐบาล ไช่ 2 นี้อยู่ เพราะที่ผ่านมา New Southbound Policy ได้พิสูจน์จากในช่วง 4 ปีที่ผ่านมานี้แล้วว่าสามารถช่วยกอบกู้ภาวะชะลอตัวทางเศรษฐกิจให้แก่ไต้หวัน ในวันที่จีนใช้มาตรการกดดันได้จริงตามแผนของ ไช่ อิงเหวิน ทั้งปริมาณนักท่องเที่ยวขาเข้าที่เพิ่มขึ้นกว่า 7 เปอร์เซ็นต์ คือ 800,000 คน ในปี 2019 (จากเดิมมียอดเพียง 11,000,000 คนในปี 2018) เช่นเดียวกับยอดการลงทุนจากต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศที่อยู่ในเป้าหมายของ New Southbound Policy (เช่น สิงคโปร์ และออสเตรเลีย) มียอดทะลุกว่า 900,000,000 ดอลลาร์ ในปี 2019 (เพิ่มมาเกือบ 170 เปอร์เซ็นต์จากปี 2018)

แม้ว่าพาดหัวข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์และบทวิเคราะห์ในสำนักข่าวหลายๆ หัว มักจะเขียนไปในทำนองว่าจีนแผ่นดินใหญ่ได้ตัดสัมพันธ์กับไต้หวัน แต่การตัดสัมพันธ์ในความหมายเหล่านั้นเป็นเพียงการลดระดับความสัมพันธ์ในทางการเมือง พร้อมกับการใช้มาตรการทางเศรษฐกิจเพื่อกดดันเป็นหลัก ไม่ใช่การตัดสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจอย่างที่หลายๆ ฝ่ายเข้าใจ ความสัมพันธ์ทางด้านเศรษฐกิจและการค้าระหว่างไต้หวันกับจีนยังคงดำเนินอยู่ เพียงแค่มีปริมาณที่ลดลงเท่านั้น และจีนก็ยังคงเป็นคู่ค้ารายใหญ่ของไต้หวันเช่นเดิม การนำนโยบาย New Southbound Policy มาใช้นี้ จึงเป็นเหมือนกับมาตรการตอบโต้ และในทางเดียวกันก็เป็นความพยายามของไต้หวันในการลดการพึ่งพาทางเศรษฐกิจกับจีนที่รัฐบาลก่อนหน้า (หม่า อิงจิ่ว ช่วงปี 2008-2016) ให้ลดหลั่นจากภาวะพึ่งพิงเกินขนาด (over-reliance) มาอยู่ในจุดที่สมดุลมากขึ้น และได้รับผลกระทบจากมาตรการกดดันของทางฝั่งจีนน้อยลงเท่านั้น

และเช่นเดียวกัน เมื่อใดก็ตามที่ไต้หวันพยายามตีตัวหรือเว้นระยะห่างออกจากจีน ตัวละครที่ 3 ที่จะปรากฏขึ้นมาบนกระดานก็ไม่ใช่ใครอื่น นอกจากสหรัฐอเมริกาเป็นหลัก ซึ่งในช่วง 4 ปีที่ผ่านมานี้ โดนัลด์ ทรัมป์ และ ไช่ อิงเหวิน ทำงานด้านการทูต-การเมืองระหว่างประเทศเข้าขากันได้ดีมากบนเวทีโลก เริ่มตั้งแต่ที่ทรัมป์ชนะเลือกตั้งในปี 2016 ก็มีการโทรศัพท์คุยแสดงความยินดีกัน ถือเป็นครั้งแรกในรอบหลายสิบปีที่ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาตัดสินใจรับโทรศัพท์จากรัฐบาลไต้หวันแล้วพูดคุยกันเป็นเรื่องเป็นราวออกสื่อแบบนี้

ความสัมพันธ์ของสหรัฐอเมริกาและไต้หวันก็เริ่มแสดงให้เห็นถึงความแน่นแฟ้นจนออกนอกหน้ามากขึ้น ภายหลังสหรัฐอเมริกาเปิดฉากเข้าสู่สงครามการค้ากับจีน ทางสหรัฐอเมริกามีความพยายามในการตรากฎหมายใหม่ถึง 3 ฉบับ คือ Taiwan Travel Act, Asia Reassurance Initiative Act และล่าสุดคือ Taiwan Assurance Act (ซึ่งยังไม่ผ่านการลงมติของวุฒิสภา) เพื่อกระชับความสัมพันธ์และเพิ่มขีดความร่วมมือระหว่างสหรัฐอเมริกากับไต้หวันให้มากขึ้น ทั้งในด้านการทูตและการทหาร โดยในด้านการทูตนั้นทางสหรัฐอเมริกาจะสนับสนุนให้มีการแลกเปลี่ยนเจ้าหน้าที่ระดับสูงระหว่างทั้งสองประเทศมากขึ้น แม้จะยังอยู่ในขอบเขตของการดำเนินการทูตแบบไม่เป็นทางการ แต่ก็เท่ากับเป็นการปลดล็อคให้ประธานาธิบดีไต้หวันสามารถเดินทางมาเยือนสหรัฐอเมริกาได้อย่างอิสระมากขึ้นกว่าแต่ก่อน

ส่วนในความร่วมมือด้านการทหารนั้น สหรัฐอเมริกาภายใต้ โดนัลด์ ทรัมป์ ก็ได้เซ็นสัญญาค้าขายอาวุธ ชิ้นส่วน ขีปนาวุธ รวมถึงเครื่องบินรบให้แก่ไต้หวันไปแล้วในมูลค่ากว่า 12,000,000,000 ดอลลาร์ เพื่อพัฒนา และส่งเสริมสมรรถภาพในการป้องกันตนเองของกองทัพไต้หวัน ในฐานะพันธมิตร และเป็นหมากชิ้นสำคัญของสหรัฐอเมริกาในยุทธศาสตร์อินโดแปซิฟิค (Free and Open Indo-Pacific) ไต้หวันรู้ดีว่าสหรัฐอเมริกา (โดยเฉพาะกับ โดนัลด์ ทรัมป์) นั้นมองว่าไต้หวันเป็นตัวแปรสำคัญบนกระดานหมากรุกของเอเชียแปซิฟิค และเอเชียตะวันออกนี้ หากสหรัฐอเมริกาต้องการที่จะปิดล้อมจีนไม่ให้มีทางออกสู่ทะเลจีนใต้ สหรัฐอเมริกาจำเป็นต้องมีไต้หวันเป็นหมากหลัก รองลงมาจากญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และเวียดนาม (เช่นเดียวกันกับในสงครามการค้าที่ไต้หวันมีประโยชน์ในฐานะข้อต่อรองที่สหรัฐอเมริกาจะใช้กับจีน)

ในสถานการณ์ที่จีนกำลังอยู่ในสภาวะกังวลกับสถานการณ์ที่ควบคุมไม่ได้ภายในฮ่องกงนี้ บวกกับท่าทีที่แข็งกร้าวที่ไต้หวันมีต่อจีนมาตลอด 4 ปี ความระอุภายในคาบสมุทรไต้หวันนี้จะยังคงเป็นแรงผลักดันสำคัญที่เหวี่ยงไต้หวันให้เข้าไปใกล้ชิดกับสหรัฐอเมริกามากขึ้น ยิ่งโดยเฉพาะกรณีที่ โดนัลด์ ทรัมป์ ได้รับเลือกตั้งกลับเข้ามาเป็นประธานาธิบดีในสมัยที่ 2 ในปลายปี 2020 ที่อาจส่งผลให้สงครามการค้านั้นยืดเยื้อไปอีก 4 ปี ในช่วง 4 ปีหลังจากนี้ คงปฏิเสธได้ยากว่า มหาอำนาจที่ไต้หวันจะใช้พึ่งพาเป็นหลักก็คงเป็นสหรัฐอเมริกา

โดยเฉพาะหลังจากที่ไต้หวันได้ผ่านร่างกฎหมายฉบับใหม่ คือ Anti-Infiltration Act หรือเรียกง่ายๆ ว่ากฎหมายสกัดอิทธิพลจีนขึ้นมา จากการที่ไต้หวันต้องตกอยู่ท่ามกลางวงล้อมของสงครามข่าวสาร และสงครามข่าวปลอมของฝ่ายการเมืองที่อยู่ตรงข้ามกันมาตลอด 4 ปี กฎหมายดังกล่าวนั้นเป็นความพยายามของรัฐบาลไต้หวันในการที่จะสร้างกลไกในการป้องกันอิทธิพลจากฝ่ายการเมืองในรัฐบาลจีน และกลุ่มทุนธุรกิจจากจีนไม่ให้เข้ามาทำการแทรกแซงการเมืองภายในไต้หวันไปมากกว่าที่เป็นอยู่นี้ ในขณะเดียวกันก็เป็นความพยายามในการกวาดล้างอิทธิพลของรัฐบาลจีนที่เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องภายในการเลือกตั้ง การทำประชามติ และสถาบันการเมือง รวมไปถึงด้านสื่อและการข่าวสาร พูดง่ายๆ ก็คือ เป็นปฏิบัติการตอบโต้เพื่อไม่ให้จีนแผ่นดินใหญ่นำอิทธิพลของตนเองมาส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตของประชาชนไต้หวัน แม้ตัวกฎหมายจะถูกโจมตีอย่างหนักในเรื่องการลดทอนเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นก็ตาม (มีการตรวจพบในปี 2019 ว่าสำนักข่าวในไต้หวันหลายแห่งได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐบาลจีนให้นำเสนอข่าวด้านบวกของรัฐบาลจีน)

ความพยายามอย่างเป็นระบบของรัฐบาล ไช่ อิงเหวิน ทั้งการตรากฎหมาย Anti-Infiltration Act การนำนโยบาย New Southbound Policy และการเน้นย้ำความสำคัญของตนเองในฐานะหมากตัวสำคัญในมือสหรัฐอเมริกา กำลังแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนถึงแผนการและวิสัยทัศน์ของ ไช่ อิงเหวิน ในการลดการพึ่งพาทางเศรษฐกิจของจีน ผ่านกลไกทางนโยบายในหลายๆ มิติทั้งทางด้านกฎหมาย เศรษฐกิจ การเมือง และการทูต ไช่ อิงเหวิน กำลังส่งสัญญาณให้กับเวทีโลกและจีนว่า ไต้หวันไม่ใช่ของตายที่จีนจะกดดัน หรือบีบคั้นเมื่อใดก็ได้ แต่ไต้หวันนั้นมีอิสระ มีทางเลือก และมีขีดความสามารถมากพอที่จะต่อรองกับจีนได้ ไม่ว่าจีนจะใช้กลเม็ดใดในการกดไต้หวันให้จมลงอย่างไร ทั้งการจ้างให้ประเทศอื่นเลิกเป็นพันธมิตรกับไต้หวัน หรือการออกมาตรการชะลอนักท่องเที่ยวชาวจีนขาออกที่เดินทางไปยังไต้หวัน ไต้หวันนั้นก็พร้อมที่จะตอบโต้ และมีแผนสำรองในการรับมือในสถานการณ์เหล่านั้นได้มากกว่าจะยอมตกเป็นเพียงแค่ลูกไก่ในกำมือของจีน

Author

ปรีชภักดิ์ ทีคาสุข
อดีตนักวิจัยฝึกหัดจากสถาบัน Richardson ประเทศอังกฤษ สนใจในประเด็นทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ กับยุทธศาสตร์ทางด้านการทูตของจีน และไต้หวัน รวมถึงประเด็นอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับนโยบายต่างประเทศ มีประสบการณ์ทางด้านมานุษยวิทยาเล็กน้อย ปัจจุบันกำลังศึกษาประเด็นเกี่ยวกับโรฮิงญา และความเป็นไปทางภูมิรัฐศาสตร์ของการเมืองโลก

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า