ปาฐกถาฉบับเต็ม ‘นิติรัฐอภิสิทธิ์และราชนิติธรรม’ โดย ธงชัย วินิจจะกูล

ปาฐกถาพิเศษ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ครั้งที่ 17 วันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2563

นิติรัฐอภิสิทธิ์และราชนิติธรรม

ประวัติศาสตร์ภูมิปัญญาของ Rule by Law แบบไทย

ธงชัย วินิจจะกูล

 

เรียน ท่านอธิการบดี ท่านคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ และท่านผู้มีเกียรติทุกท่าน

ผมขอขอบพระคุณที่ให้เกียรติสูงสุดอย่างหนึ่งสำหรับนักวิชาการแก่ผมในครั้งนี้ และยังให้เกียรติเป็นงานแรกที่จัดขึ้นในสถานที่สำคัญคืออาคารแห่งนี้ ผมเพิ่งได้เห็นวันนี้พร้อมๆ กับท่านทั้งหลาย คิดว่าเป็นอาคารที่สวยงามและน่าสนใจมาก แต่เสียดายว่าถ้าหากไม่มีปัญหาเรื่องโควิด อยากให้คนอีกหลายร้อยคนมามีประสบการณ์เดินและชมให้ทั่วอาคารแห่งนี้

ผมตั้งใจแต่ต้นว่าจะทำงานทุ่มเทให้กับปาฐกถาครั้งนี้ โดยจะเสนอผลงานที่ทำการวิจัยในสองปีที่ผ่านมาและไม่เคยนำเสนอที่ใดมาก่อน อย่างไรก็ตามผมเชื่อว่างานวิชาการที่จริงจังไม่จำเป็นต้องแยกขาดจากความปรารถนาและความหวังที่มีต่อสังคม ผมเชื่อว่านี่เป็นสปิริตของอาจารย์ป๋วยด้วยเช่นกัน

ผมสนใจประวัติศาสตร์กฎหมายก็เพราะความอยุติธรรมของกระบวนการยุติธรรมที่มากมายในทศวรรษที่ผ่านมาทำให้เกิดคำถามว่าอาจไม่ใช่ปัญหาตัวบุคคลหรือการเมืองชั่วครั้งคราว แต่อาจเป็นปัญหาของระบบกฎหมายหรือนิติศาสตร์ไทย ในอีกด้านหนึ่ง เรื่องนี้เป็นส่วนหนึ่งของความสนใจทางวิชาการที่ต้องการศึกษากรอบมโนทัศน์พื้นฐานด้านต่างๆ ของสังคมไทยยุคสมัยใหม่ ดังที่ได้เสนอเค้าโครงไว้ในหนังสือ เมื่อสยามพลิกผัน ของผมแล้ว

หัวข้อนี้ยังเหมาะเจาะกับเวลานี้เป็นอย่างยิ่ง ในแง่หนึ่งเป็นความบังเอิญเพราะผมเสนอหัวข้อและบทคัดย่อตั้งแต่กันยายนปีที่แล้ว แต่ในอีกแง่หนึ่งไม่ใช่ความบังเอิญเพราะเรื่องที่จะพูดวันนี้เป็นปัญหาที่หมักหมมจากประวัติศาสตร์ เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า เกิดหนักหน่วงยิ่งขึ้นในสิบกว่าปีที่ผ่านมา การศึกษาหัวข้อนี้จึงควรทำมาตั้งนานแล้ว การบรรยายในวันนี้จะนำเสนอประเด็นสำคัญๆ เป็นลำดับตรงกับฉบับเต็มที่ความยาวเกือบ 200 หน้าซึ่งจะแจกสู่สาธารณะภายหลังการบรรยาย แต่ผมได้เว้นคำอธิบายอย่างละเอียดและประเด็นย่อยหลายอย่างไว้ให้ท่านไปอ่านเอง และได้เพิ่มเติมเล็กน้อยที่ไม่มีในฉบับเต็มดังกล่าว

ขอเริ่มด้วยจดหมายจากอาจารย์ป๋วยที่ท่านคงเคยเห็นมาแล้ว พอผมได้รับจดหมายที่ท่านเขียนตอบอย่างไม่คาดฝัน ผมตื่นเต้นมาก รีบวิ่งไปบอก อาจารย์ชูศรี มณีพฤกษ์ ที่คณะเศรษฐศ่าสตร์ อาจารย์ชูศรีถามผมว่า “เธอนึกยังไงถึงเขียนไป” ขณะที่ผมเขียนจดหมายนั้น เป็นเวลาไม่กี่อาทิตย์หลังจากออกจากคุก (16 กันยายน 2521) ถึงแม้ผมจะหัวแข็งโต้แย้งกับ อาจารย์ป๋วยซึ่งๆ หน้ามากกว่าหนึ่งครั้ง ต่อหน้าสาธารณชนก็มี แต่ ณ เวลาที่ได้รับจดหมายจากอาจารย์นั้นจนถึงวันนี้ ผมตระหนักดีว่า ผมได้กลับมาเรียนหนังสือและมีชีวิตปกติต่อมา ในขณะที่อาจารย์ป๋วยต้องประสบปัญหาสุขภาพเนื่องจากการทำงานหนักหลัง 6 ตุลาฯ ผมเขียนจดหมายด้วยความสำนึกที่คงติดตัวผมจนวันตายเช่นนี้

จดหมายลายมือของอาจารย์ป๋วยฉบับนี้มาพร้อมกับจดหมายของ อาจารย์จอน ตอนหนึ่ง อาจารย์จอนบอกเหตุผลที่อาจารย์ป๋วยปฏิเสธดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์จากธรรมศาสตร์

ดังข่าวที่รายงานในขณะนั้น (มติชน 19 ตุลาคม 2521)

40 กว่าปีผ่านไป น่าเสียใจที่เหตุผลของอาจารย์ป๋วยยังเป็นความจริงทุกข้อ แถมยังมีฆาตกรรมทางการเมืองกลางกรุงอีกหลายครั้ง ไม่เคยมีคนต้องรับผิดชอบสักครั้งเดียว ตอกย้ำว่าในสังคมไทย รัฐฆ่าคนได้ ไม่มีความผิด เพราะรัฐและกองทัพนิรโทษกรรมตัวเองได้ คนไทยจำใจต้อง ‘อยู่ให้เป็น’ ต้องคิดแบบเดียวกับรัฐเท่านั้น จึงจะไม่เดือดร้อน อีกทางเลือกหนึ่งคืออยู่อย่างเงียบสนิท ส่วนคนที่ ‘อยู่ไม่เป็น’ ก็มีชีวิตเสี่ยงคุก หรือจำต้องอยู่นอกประเทศ…อย่างอาจารย์ป๋วย เป็นต้น

ในการสร้างประชาธิปไตยของไทยที่ผ่านมา เราเห็นกระบวนการยุติธรรมถูกปู้ยี่ปู้ยำซ้ำแล้วซ้ำเล่าอย่างปราศจากความละอาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งนับจากวิกฤตการณ์ทางการเมืองปี 2549 และหลังการรัฐประหารปี 2557 ระบบกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมของไทยอ่อนแอ กฎหมายไม่เคยเป็นใหญ่ 

ผมหวังว่าการศึกษาประวัติศาสตร์กฎหมายของไทยครั้งนี้ จะเป็นคุณแก่คนธรรมดาที่พยายามต่อสู้กับความอยุติธรรม ใครจะเรียกว่านี่คือการชังชาติก็ช่าง เราต้องกล้าเรียกความอยุติธรรมว่าความอยุติธรรมอย่างตรงไปตรงมา เพราะเราแคร์ เราจึงยังมีความหวังว่าสังคมไทยดีกว่านี้ได้ การประจบสอพลอของคนเขลาและไร้ยางอายต่างหากที่น่ารังเกียจ เพราะช่วยหล่อเลี้ยงความอยุติธรรม การเรียกชื่อความอยุติธรรมอย่างตรงไปตรงมาต้องกระทำได้ไม่เฉพาะในสถาบันการศึกษาที่นักวิชาการมักอ้างเสรีภาพทางวิชาการ แต่ควรทำได้ในทุกตารางนิ้วของประเทศไทย รวมทั้งในเขตทหารด้วย

บทนำ

ก่อนอื่น การแปล The Rule of Law ว่า ‘หลักนิติธรรม’ อย่างที่มักทำกันทั่วไปในขณะนี้ ไม่ใช่คำแปลที่ตรงไปตรงมา แต่เป็นการสร้างคำที่แฝงอคติทางการเมืองอย่างแรงดังจะอธิบายต่อไป แล้วอ้างว่าคำนั้นเป็นคำแปลที่ตรงความหมาย ซึ่งไม่จริง ผมจึงขอแปลอย่างตรงตามตัวอักษรว่า ‘การปกครองของกฎหมาย’ หรือไม่ก็ใช้ทับศัพท์ภาษาอังกฤษ (โปรดสังเกตว่าคำที่มีความหมายตรงข้ามกับ Rule of Law ในภาษาอังกฤษก็คือ Rule by Law กลับไม่มีการบัญญัติศัพท์เป็นภาษาไทย ซึ่งหากจะให้ตรงข้ามกับ ‘หลักนิติธรรม’ ก็น่าจะได้แก่ ‘หลักนิติอธรรม’ ในที่นี้ ผมขอแปลตรงตามตัวอักษรเช่นกันว่า ‘การปกครองด้วยกฎหมาย’ และจะเน้นความต่างระหว่าง ของ และ ด้วย ทุกครั้ง)

‘การปกครองของกฎหมาย’ (Rule of Law) เป็นองค์ประกอบที่ขาดไม่ได้สำหรับ การสร้างประชาธิปไตย เพราะจะต้องมีระบบกฎหมายที่ยุติธรรมให้เข้มแข็งควบคู่กันไป หากแยกขาดจากกันก็จะล้มเหลวทั้งคู่

นับจากวิกฤตการณ์การเมืองปี 2549 เป็นต้นมา บทบาทของสถาบันตุลาการและองค์กรอิสระด้านความยุติธรรมที่ควรทำหน้าที่เป็นกรรมการ กลับกลายเป็นผู้เล่นทางการเมืองคนสำคัญจนน่าเกลียด บทบาทอยุติธรรมเกิดบ่อยครั้งแม้กระทั่งเมื่อไม่กี่สัปดาห์ก่อน ถึงขนาดที่คณาจารย์นิติศาสตร์ธรรมศาสตร์หลายท่านทนไม่ได้ วิกฤติความเชื่อถือในระบบกฎหมายและกระบวนการตุลาการรุนแรงและคงต้องอาศัยเวลาฟื้นฟูแก้ไขนานเสียยิ่งกว่าระบอบรัฐสภาและระบบการเมืองเสียอีก

ประเด็นสำคัญของวันนี้ มิใช่เพียงการวิพากษ์วิจารณ์ว่ารัฐบาลใช้กฎหมายอย่างไม่เป็นธรรม สองมาตรฐานหรือไร้มาตรฐาน การวิจารณ์เช่นนั้นเป็นเรื่องที่คนทั้งประเทศรู้ดีอยู่แล้ว แต่วันนี้ ผมตั้งคำถามว่า Rule of Law ในประเทศไทยเป็นอย่างไรกัน หรือว่าประเทศไทยไม่เคยมี The Rule of Law เลย แต่ถ้าเช่นนั้น ระบบกฎหมายและนิติศาสตร์ของไทยเป็นแบบไหนกัน ทำไมจึงเอื้ออำนวยต่อความอยุติธรรม แถมทำได้อย่างปราศจากความละอายได้ถึงขนาดนี้ 

นักนิติศาสตร์และผู้มีปัญญาหลายท่านมักกล่าวว่า ระบบกฎหมายของไทยค่อนข้างดีอยู่แล้ว แต่ปัญหาอยู่ที่การใช้อย่างผิดเพี้ยนเป็นกรณีๆ หรืออยู่ที่คนใช้ยังไม่ดีพอ เราต้องหาทางให้ได้คนดีเป็นผู้บังคับใช้ ชัดแจ้งแล้วว่าคำตอบนี้ไม่น่าพอใจอีกต่อไป เพราะความอยุติธรรมดาษดื่นทุกวันนี้ก็ด้วยฝีมือ ‘คนดี’ ทั้งนั้น แต่น่าเสียดายว่าคำตอบพรรค์นี้พบได้ทั่วไปในสังคมไทยรวมทั้งจากนักนิติศาสตร์ด้วย คำตอบแบบนี้ยังฟ้องว่าระบบและสถาบันทางกฎหมายอ่อนแอ จนไม่สามารถจำกัดความเสียหายอันเกิดจากคนไม่ดีหรือจนกระทั่งคนไม่ดีที่ครองอำนาจสามารถปู้ยี่ปู้ยำกระบวนการยุติธรรมจนเละเทะ อีกทั้งน่าคิดว่าระบบและสถาบันด้านกฎหมายเองเป็นปัจจัยเอื้ออำนวยแก่ความผิดเพี้ยนเละเทะ ดังนั้น เราควรต้องขบคิดหาคำอธิบายในแง่ระบบหรือสถาบัน ไม่ใช่พอใจกับคำตอบแบบง่ายๆ อีกต่อไป

วันนี้ผมขอเสนอว่าความอยุติธรรมผิดเพี้ยนมีรากฐานมาจากนิติศาสตร์และระบบกฎหมายสมัยใหม่ของไทยที่มิใช่ ‘The Rule of Law / การปกครองของกฎหมาย’ นิติศาสตร์แบบบรรทัดฐานในสากลโลกเกิดขึ้นในบริบทประวัติศาสตร์ของยุโรปอเมริกัน แต่นิติศาสตร์สมัยใหม่ของไทยเกิดขึ้นและพัฒนาขึ้นในบริบททางประวัติศาสตร์ของไทยซึ่งต่างออกไปอย่างมาก ผลก็คือระบบกฎหมายที่มีคุณสมบัติผิดแผกผิดเพี้ยนไปจาก The Rule of Law แบบบรรทัดฐานหลายประการ ยังไม่มีใครศึกษาคุณสมบัติที่ผิดแผกจนถึงกับผิดเพี้ยนเหล่านี้แต่อย่างใด เพราะเราท่านมักคิดว่านิติศาสตร์และระบบกฎหมายของไทยเป็นแบบมาตรฐานสากลแล้วเพียงแต่ยังด้อยพัฒนาและคนยังไม่ดีพอแค่นั้นเอง

คำถามหลัก

นิติศาสตร์และระบบกฎหมายสมัยใหม่ของไทยมีคุณลักษณะเฉพาะอย่างไร เนื่องจากเกิดขึ้นและพัฒนาในบริบทประวัติศาสตร์ของไทยเอง

นักนิติศาสตร์ไทยหลายคนทุกสำนักได้พยายามชี้แจงตลอดมาว่า สิ่งที่สังคมไทยเรียกรวมๆ กันว่า ‘นิติรัฐ นิติธรรม’ นั้น มีรากมาจากแนวความคิดสองกระแส คือ 

1. นิติรัฐ (Rechtsstaat หรือ Legal State)

2. การปกครองของกฎหมาย (The Rule of Law)

แม้จะมีพัฒนาการมาคนละทางกันและต่างกันในแง่ต่างๆ พอควร แต่ทั้งสองกระแสความคิดนี้ผสานเข้าหากันเมื่อกลางศตวรรษที่ 20 มีหลักการร่วมๆ กันที่หมายถึงรัฐที่ถือว่ากฎหมายเป็นใหญ่ ไม่ใช่การปกครองตามอำเภอใจของ ‘ผู้ยิ่งใหญ่’ ไม่ว่ามีบารมีดีวิเศษขนาดไหนก็ตาม ทั้งสองกระแสคิดมุ่งจำกัดอำนาจของผู้ปกครอง และให้หลักประกันสิทธิขั้นพื้นฐานแก่ประชาชนให้ปลอดจากอำนาจฉ้อฉลของรัฐ 

คุณสมบัติสำคัญๆ ที่ทุกสำนักคิดเห็นตรงกันมีดังต่อไปนี้

1. มีกฎหมายที่ชัดเจนเป็นมาตรฐานเดียวกันตลอดทั่วทั้งดินแดนใต้ปกครองของรัฐ และประชาชนจะต้องสามารถเข้าถึงรับรู้กฎหมายนั้นได้โดยสะดวก

2. ความเสมอภาคเบื้องหน้ากฎหมาย

3. ต้องจำกัดอำนาจของรัฐ เพื่อปกป้องคุ้มครองสิทธิและทรัพย์สินของปัจเจกบุคคล

4. รัฐธรรมนูญ / รัฐสภา เป็นอำนาจสูงสุด

5. ต้องมีหลักประกันความเป็นอิสระของตุลาการ

นิติศาสตร์และระบบกฎหมายสมัยใหม่ของไทยก่อตัวในบริบททางประวัติศาสตร์ที่ต่างกันลิบลับ จึงน่าจะมีลักษณะเฉพาะของนิติศาสตร์และระบบกฎหมายในประเทศไทย ทั้งนี้ผมจะพิจารณาในแง่ประวัติศาสตร์ภูมิปัญญาเป็นหลัก

บริบทสำคัญที่ทำให้นิติศาสตร์สมัยใหม่ของไทยต่างจากนิติศาสตร์แบบบรรทัดฐาน (normative jurisprudence) คือ สมบูรณาญาสิทธิราชย์ และภาวะกึ่งอาณานิคม

ประการแรก แม้สยามจะไม่เคยตกเป็นเมืองขึ้นโดยตรงหรืออย่างเป็นทางการก็ตาม แต่ทศวรรษ 1880 ถึง 1930 เป็นช่วงกระแสสูงของลัทธิอาณานิคม (high colonialism) ในเอเชีย สยามอยู่ในภาวะกึ่งอาณานิคมที่เผชิญทั้งอิทธิพลยั่วยวนจูงใจให้ผันตัวสู่ความศิวิไลซ์ตามแบบตะวันตก และการบังคับข่มขู่ให้ต้องเปลี่ยนแปลงตามตะวันตกต้องการด้วย 

ประการที่สอง ประวัติศาสตร์ยุโรปผ่านการปฏิวัติศาสนาในศตวรรษที่ 16 และการเปลี่ยนแปลงทางภูมิปัญญาครั้งใหญ่ในยุคเรืองปัญญา (The Enlightenment) ในศตวรรษที่ 17-18 ผลของสองกระบวนการนี้ ทำให้รัฐกับสถาบันทางศาสนาออกห่างจากกัน ศาสนากลายเป็นเรื่องส่วนบุคคลในขณะที่ค่านิยมแบบโลกวิสัย (secularism) ค่อยๆ แผ่ไปทั่วสังคม ระบบกฎหมายสมัยใหม่แบบบรรทัดฐานเกิดขึ้นเพื่อเป็นกฎกติกาของสังคมโลกวิสัย แต่การสังคายนาหรือปฏิรูปศาสนาในสยามไม่เคยนำไปสู่โลกวิสัยหรือรัฐที่แยกห่างจากศาสนจักร กฎหมายสมัยใหม่ในสยามเกิดขึ้นในบริบทนี้ 

ประการที่สาม นิติศาสตร์สมัยใหม่แบบบรรทัดฐานเติบโตควบคู่มากับกระฎุมพีในระบบทุนนิยมเสรีที่ไม่ต้องการให้รัฐเข้ามายุ่มย่ามกับปัจเจกบุคคล กิจการและทรัพย์สินของเอกชน พื้นฐานของวัฒนธรรมการเมืองนี้เป็นที่มาของคำกล่าวที่รู้จักกันดีทั่วโลกว่า อำนาจมักฉ้อฉล อำนาจที่สมบูรณ์จึงฉ้อฉลสมบูรณ์แบบ (Power corrupts. Absolute power corrupts absolutely.) แต่ระบบกฎหมายสมัยใหม่ของรัฐสยามยังอยู่กับปรัชญาการเมืองของพุทธถือว่าอำนาจสะท้อนบุญบารมี คนมีอำนาจสูงก็เพราะมีบุญบารมีมาก อำนาจสมบูรณ์เป็นของผู้มีบุญบารมีสูงสุด ซึ่งตรงข้ามลิบลับกับอำนาจฉ้อฉลสมบูรณ์แบบ

ประการที่สี่ ในขณะที่นิติรัฐของยุโรปเป็นผลของการต่อสู้เพื่อจำกัดอำนาจของรัฐ ต้องการให้กฎหมายเป็นใหญ่เหนือกว่ากษัตริย์ การปฏิรูประบบกฎหมายในสยามอยู่ใต้กำกับของรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์

ประการที่ห้า การเปลี่ยนผันสู่ระบบกฎหมายสมัยใหม่จะต้องเผชิญกับจารีตกฎหมายเดิมที่มีอยู่แล้ว จะต้องสืบทอดและ/หรือขัดแย้งกับจารีตเดิมในบางด้านอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ในข้อนี้ คำถามสำคัญมากต่อความเข้าใจนิติศาสตร์ไทยก็คือกษัตริย์สยามตามจารีตเดิมใช้อำนาจบัญญัติกฎหมายหรือไม่?

ความเชื่อหลักทางวิชาการเห็นว่ากษัตริย์ไทยสมัยก่อนไม่มีอำนาจบัญญัติกฎหมาย เพราะถูกจำกัดด้วยพระธรรมศาสตร์อันศักดิ์สิทธิ์ ดังที่พระองค์เจ้าธานีนิวัตวินิจฉัยประเด็นนี้ไว้ในปี 2489 ว่า …

“ใน (สมัยโบราณ) พระมหากษัตริย์ไม่ทรงถือสิทธิที่จะทำการนิติบัญญัตินอกเหนือคัมภีร์พระธรรมศาสตร์ได้อย่างไรเลย ถ้าจะใช้ภาษาสมัยปัจจุบันก็แทบจะเอาได้ว่า คัมภีร์พระธรรมศาสตร์เป็นรัฐธรรมนูญจำกัดพระราชอำนาจทางนิติบัญญัติมาแต่โบราณกาล”

ประเด็นนี้เป็นส่วนหนึ่งของความเชื่อว่ากษัตริย์ไทยมิได้มีอำนาจสมบูรณ์ มิใช่สมบูรณาญาสิทธิราชย์ มิได้ฉ้อฉลเป็นทรราชย์ แต่เป็นผู้ปกครองที่มีอำนาจจำกัด ความเชื่อนี้กลายเป็นมาตรฐานในประวัติศาสตร์กฎหมายของไทยว่า รัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์มีอำนาจจำกัด สอดคล้องกับหลักของนิติรัฐและ Rule of Law สมัยใหม่อยู่แล้ว (หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช ถึงกับแซ่ซ้องกันว่านี่เป็นความวิเศษของกษัตริย์ไทย โดยประชาชนไม่ต้องต่อสู้เพื่อจำกัดอำนาจรัฐเลย)

คัมภีร์พระธรรมศาสตร์เป็นหลักกฎหมายตามจารีตฮินดู-พุทธ ถือกันว่าเป็นคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ที่สูงส่ง มนุษย์ทั้งหลายรวมทั้งกษัตริย์ผู้ปกครองด้วยจึงต้องเชื่อฟังนับถือ เมื่อรัฐพุทธรับพระธรรมศาสตร์เข้ามาเป็นหลักจารีตกฎหมายของตน ก็ปรับแปรให้เข้ากับพุทธและกับท้องถิ่น แต่ยังถือว่าพระธรรมศาสตร์เป็นกฎศักดิ์สิทธิ์ที่แม้แต่พระมหาสมมติ (ซึ่งเป็นกษัตริย์ในอุดมคติของพุทธ) ก็เคารพเช่นกัน

ปัญหาก็คือ พระธรรมศาสตร์เป็นตัวบทที่ใช้อ้างอิงตรวจสอบอย่างเคร่งครัดเหมือนเราอ้างอิงตรวจสอบกับรัฐธรรมนูญหรือ เป็นไปได้หรือไม่ว่าพระธรรมศาสตร์อาจเป็นที่รู้จักนับถือบูชาในฐานะคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ แต่อาจไม่ใช่เอกสารที่ใช้ตรวจสอบอ้างอิงเคร่งครัดอย่างที่เชื่อกัน ทำนองเดียวกับที่เรารู้จักนับถือบูชาพระไตรปิฎกแต่แทบไม่เคยเปิดศึกษาจริงๆ แต่กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับชีวิตทั้งของเจ้าผู้ปกครอง ลูกขุนตระลาการ และของราษฎรทั้งหลายมากกว่า ได้แก่กฎหมายและคำสั่งต่างๆ ซึ่งกษัตริย์บัญญัติขึ้นบังคับใช้ ที่เรียกรวมว่า ‘พระราชศาสตร์’ (ซึ่งเป็นคำรวมของพระราชกำหนด พระราชบัญญัติ และกฎอื่นๆ ที่กษัตริย์บัญญัติขึ้น)

ประวัติศาสตร์กฎหมายของไทยมักเน้นว่า ‘พระราชศาสตร์’ ไม่สำคัญนัก เป็นกฎหมายชั้นรองเพราะเป็นแค่ส่วนขยายของพระธรรมศาสตร์เพื่อการบริหารบ้านเมืองชั่วครั้งคราวและจบไปตามรัชสมัย ไม่มีผลบังคับยั่งยืน

หากเราเทียบพระราชศาสตร์กับพระธรรมศาสตร์ ก็คงเข้าใจได้ไม่ยากว่ากษัตริย์ไทยไม่มีอำนาจระดับเดียวกับผู้สร้างพระธรรมศาสตร์หรือผู้ค้นพบพระธรรม แต่แลงกาต์เองก็กล่าวว่าคงไม่มีกษัตริย์คนไหนสับสนระหว่างอำนาจของตนกับความศักดิ์สิทธิ์ของพระธรรมศาสตร์ แต่ก็คงจะใช้อำนาจที่จะกระทำอะไรได้ตามที่ตนต้องการอยู่ดี 

พระราชศาสตร์ของไทยยังมีอีกลักษณะหนึ่งที่ไม่ปรากฏในที่อื่น นั่นคือ พระราชศาสตร์ถูกรวมเข้าไว้เป็นคัมภีร์เล่มเดียวกับพระธรรมศาสตร์ การทำเช่นนี้ทำให้พระราชศาสตร์กลายเป็นส่วนหนึ่งของคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ทางกฎหมายไปด้วย แม้จะมีการชำระกฎหมายเป็นครั้งคราว บางบทบางมาตราถูกตัดทิ้ง แต่หลายบทหลายมาตราก็คงอยู่ข้ามรัชสมัย กลายเป็นว่าราชศาสตร์จำนวนไม่น้อยกลายเป็นกฎหมายที่ถาวร ไม่ใช่ชั่วครั้งคราวหรือสิ้นสุดตามรัชสมัยอีกต่อไป แถมอิงแอบกับพระธรรมศาสตร์จนพลอยถือว่าศักดิ์สิทธิ์ไปด้วย เช่นนี้แล้วกษัตริย์ก็มีอำนาจไม่ต่างอะไรกับผู้สร้างกฎหมาย แถมกฎหมายเหล่านั้นเป็นพื้นฐานให้ความชอบธรรมแก่อำนาจของกษัตริย์โดยตรงและทันทียิ่งกว่าพระธรรมศาสตร์หรือคัมภีร์ศาสนาใดๆ เสียอีก

กษัตริย์สยามก่อนยุคสมัยใหม่มีอำนาจบัญญัติกฎหมายอย่างสำคัญหรือไม่ ประเด็นนี้เป็นเรื่องใหญ่ที่ไม่มีคนหยิบยกขึ้นมาอภิปรายเกินกว่าครึ่งศตวรรษ จนกระทั่งหนังสือของ เบเกอร์และ ผาสุก โต้แย้งความเชื่อนี้เมื่อเร็วๆ นี้เอง เขาเสนอว่าความสำคัญของกฎหมายที่บัญญัติโดยกษัตริย์ เป็นลักษณะพิเศษอย่างหนึ่งของอยุธยา ในขณะที่พระธรรมศาสตร์มิได้มีบทบาทมากในสังคมสยามขนาดที่มักเข้าใจกัน

กฎหมายสมัยอยุธยามีความละเอียดและซับซ้อนมาก สะท้อนการพัฒนามานานในสังคมนั้นเอง มิใช่การแปลมาจากพระธรรมศาสตร์ซึ่งมาจากประสบการณ์ของสังคมอื่น ตัวอย่างก็คือ กฎมณเฑียรบาลของอยุธยา สาระของกฎหมายนี้สะท้อนหลักใหญ่ของการเมืองและระเบียบสังคมอยุธยาได้แก่ 1) ลำดับชั้นของเจ้า ขุนนาง และคนในสังคมซึ่งระบุไว้ละเอียดยิบเป็นรูปธรรมตามประสบการณ์ของอยุธยาเอง 2) การพิทักษ์ปกป้องพระมหากษัตริย์และพระราชวัง กฎมณเฑียรบาลจึงสำคัญมาก ผู้ละเมิดต้องถูกลงทัณฑ์หนักที่สุดกว่าความผิดอื่น 

ยังมีกฎหมายอื่นๆ หลายฉบับที่สะท้อนลักษณะความเป็นไปของสังคมอยุธยาและมีผลบังคับใช้อย่างยาวนานหลายร้อยปี อาทิ พระไอยการอาญาหลวง ซึ่งเป็นกฎหมายอีกฉบับที่มีบทลงโทษรุนแรงมาก มีรายละเอียดอย่างมากเกี่ยวกับสังคมอยุธยา เหล่านี้เป็นตัวอย่างและเหตุผลเพื่อยืนยันว่ากษัตริย์ไทยก่อนสมัยใหม่มีอำนาจและทำการบัญญัติกฎหมายมาหลายร้อยปีก่อนหน้าการปฏิรูประบบกฎหมายสมัยใหม่

อันที่จริงมีอีกกรณีหนึ่งซึ่งรู้จักกันดีคือคดีอำแดงป้อมเป็นชู้แล้วฟ้องหย่านายบุญศรีผู้เป็นสามี อันเป็นจุดกำเนิดของการชำระกฎหมายตราสามดวง กรณีนี้นักประวัติศาสตร์กฎหมายแทบทุกคนถือเป็นหลักฐานยืนยันว่ากษัตริย์ไทยยึดมั่นอยู่ในกรอบของพระธรรมศาสตร์ เมื่อเห็นว่าอาจจะมีการผิดเพี้ยนก็ต้องย้อนกลับไปชำระสะสางให้แน่ใจ มียกเว้นคนหนึ่งที่เห็นต่างคือแลงกาต์ ปรมาจารย์ด้านประวัติศาสตร์กฎหมายไทย

เขาตั้งข้อสังเกตที่น่าสนใจมากว่า พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 1 มั่นใจว่ากฎหมายคลาดเคลื่อน มิได้ลังเลเลยว่าอาจเป็นกฎหมายดั้งเดิมที่มีมานานแท้จริงก็ได้ พระองค์อาศัยความคิดของพระองค์เองเป็นเหตุผลเพื่อเข้าแก้ไขกฎหมาย นี่เป็นการแสดงถึงโบราณราชประเพณีที่ให้อำนาจกษัตริย์ในการวินิจฉัยว่าอะไรวิปลาสและอะไรยุติธรรม แล้วบัญญัติและแก้ไขกฎหมายตามที่พระองค์เองวินิจฉัย

การปฏิรูปกฎหมายสมัยใหม่ของสยามแท้ที่จริงแล้วคือการปรับปรุงเครื่องมือของรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ให้เป็นการปกครองด้วยกฎหมาย

ประวัติศาสตร์แบบฉบับหรือขนบ (conventional) ของการปฏิรูปกฎหมายสู่สมัยใหม่ เป็นเรื่องของการทำกฎหมายให้ทันสมัย (modernization) เนื้อเรื่องแบบฉบับจะเริ่มจากสาเหตุสองด้าน หนึ่งคือความล้าหลังของระบบกฎหมายไทย เช่น 1) ราษฎรไม่เสมอภาคกันตามกฎหมาย 2) ทรัพย์สินเอกชนไม่ได้รับการคุ้มครอง 3) ยังใช้ ‘จารีตนครบาล’ หมายถึงการลงโทษผู้กระทำผิดและการสอบสวนผู้ต้องสงสัยด้วยวิธีการทารุณ 4) การพิจารณาคดีไม่เป็นระบบระเบียบที่ตรวจสอบได้ ผู้ต้องสงสัยหรือผู้กระทำผิดมักถูกจับขังคุกแล้วลืมไปเลย เป็นต้น 5) ตัวบทกฎหมาย การตีความ และกำหนดโทษของความผิดไม่เป็นมาตรฐานเดียวกัน สาเหตุที่สองคือ การเสียเอกราช เพราะฝรั่งไม่ยอมรับอำนาจศาลไทย ทำให้สยามต้องเร่งปรับปรุงระบบกฎหมายให้ได้มาตรฐานที่ชาติยุโรปยอมรับ จึงจ้างชาวต่างชาติผู้เชี่ยวชาญการร่างกฎหมายเข้ามาเป็นคณะกรรมการร่วมกับเจ้านายผู้ปกครองไทยหลายคนเพื่อสร้างระบบประมวลกฎหมายขึ้น ใช้เวลากว่าสิบปีประมวลกฎหมายฉบับแรกก็สำเร็จ นั่นคือ กฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ. 127 (พ.ศ. 2451) ตามมาด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาและแพ่งจนสำเร็จหมดในปี 2478 ได้เอกราชทางการศาลคืนมาเมื่อปี 2481 นับเป็นความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ทั้งช่วยรักษาเอกราชของสยามและทั้งปรับปรุงระบบกฎหมายให้ทัดเทียมมาตรฐานสากล

ประวัติศาสตร์กฎหมายไทยแบบฉบับถือว่าการปฏิรูปเป็นความสำเร็จอย่างยิ่งใหญ่ ด้วยพระปรีชาสามารถของกษัตริย์และชนชั้นนำไทยจึงทำให้นิติศาสตร์ ระบบกฎหมาย และกระบวนการตุลาการทัดเทียมมาตรฐานสากล ทำให้ราษฎรทุกคนเป็นปัจเจกบุคคลที่เสมอภาคกัน เป็นจุดเริ่มต้นของการยอมรับทรัพย์สินและกรรมสิทธิ์ของเอกชน ฯลฯ 

ในความเป็นจริง มีความขัดแย้งระหว่างกฎหมายใหม่ที่อาจจะไม่ลงรอยกับจารีตกฎหมายแบบเดิมหรือขัดฝืนค่านิยมเดิมในสังคมไทยอยู่ เช่น ความเสมอภาคเบื้องหน้ากฎหมายยังไม่เกิด แต่สถานะของ ‘บุคคล’ ทางกฎหมายและต่อรัฐเปลี่ยนไป 

ประวัติศาสตร์ตามแบบฉบับถือว่า การเลิกไพร่ทาส การจัดตั้งกองทัพที่ราษฎร (ชาย) ล้วนเป็นทหารเหมือนกัน ทำให้ราษฎรทุกคนเสมอภาคกัน มีสิทธิเท่าเทียมกันในสายตาของกฎหมาย ในความเป็นจริงความไม่เสมอภาคทางกฎหมายยังมีอยู่ทั่วไป กฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ. 127 ให้อภิสิทธิ์แก่พระราชวงศ์ชนชั้นเจ้าทั้งหมด แถมมีการออกกฎหมายเพิ่มเติมเพื่อให้พระบรมวงศานุวงศ์ไม่ต้องรับผิดเหมือนกับประชาชนชาวบ้านทั่วๆ ไป โดยศาลยุติธรรมยังไม่มีอำนาจดำเนินคดีแก่พระบรมวงศานุวงศ์ได้ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากกษัตริย์เสียก่อน เป็นต้น 

ที่กล่าวว่าการเลิกทาส การเปลี่ยนไพร่เป็นทหารและกฎหมายสมัยใหม่ ย่อมเท่ากับว่าทุกคนเสมอภาคกันแล้ว น่าจะเป็นตรรกะที่ง่ายเกินไป การเลิกไพร่ทาสเป็นเพียงทำให้สถานะไพร่และทาสยุติลง แต่ความไม่เสมอภาคมีแบบอื่นอีกมากมาย สถานะของบุคคลยังแบ่งตามชนชั้นทางสังคม ความรับผิดชอบทางสังคมของปัจเจกบุคคลก็มีต่างๆ กันไปตาม ‘หน้าที่’ บุคคลทุกคนมิได้มี ‘สิทธิ’ (rights) ที่พึงมีเท่ากันหรือไม่ต่างกัน บุคคลจึงมิใช่ individual ที่เสมอภาคกัน อันที่จริงหลักฐานเรื่องการปฏิรูปกฎหมายไม่เคยมีชิ้นใดเลยที่กล่าวถึงความเสมอภาค เพราะนั่นย่อมหมายถึงเจ้าย่อมอยู่ใต้กฎหมายเดียวกันกับราษฎร

ภายใต้สมบูรณาญาสิทธิราชย์ ความแตกต่างระหว่างเจ้า ขุนนาง ข้าราชการ ราษฎร และสถานะของคน (ที่วัดกันด้วยอำนาจ) ยังดำรงอยู่เช่นเดิม เพียงแต่เปลี่ยนไปเป็นว่าราษฎรล้วนเป็น ‘พลเมือง’ ที่เสมอภาคกันใต้ชนชั้นสูง ใต้คนมีอำนาจ และใต้ข้าราชการของพระเจ้าอยู่หัว ระบบกฎหมายสมัยใหม่ของไทยถูกสร้างขึ้นในสภาวะเช่นนั้น

คำว่า ‘พลเมือง’ ที่มักใช้ในความหมายเท่ากับ citizen ในรัฐประชาธิปไตยอย่างที่ใช้กันในระยะไม่กี่ปีที่ผ่านมา แท้ที่จริงเป็นคำเก่า (พบได้ในกฎหมายตราสามดวง) แปลตรงตัวว่า พละกำลังของเมือง หมายถึงไพร่ฟ้าที่เป็นกำลังแรงงาน เป็นมือตีนและกล้ามเนื้อของบ้านเมือง ‘พลเมือง’ จึงหมายถึงราษฎรในเชิง ‘หน้าที่’ คือเป็นองคาพยพในองค์รวมที่เรียกว่าชาติ มีหน้าที่เป็นพละกำลังของเมือง ‘พลเมือง’ จึงไม่รวมชนชั้นปกครองเพราะพวกเขาเป็นศีรษะ สมอง หรือหัวใจของเมือง ดังนั้น ‘พลเมือง’ จึงไม่ใช่ citizen มิได้สะท้อนความเป็นปัจเจกชน (individuality) ไม่สนใจสิทธิของปัจเจกชน (individual rights) ความเป็นส่วนตัว (privacy) และ สิทธิทางการเมือง เป็นต้น 

เหตุผลที่ใช้อธิบายความไม่เสมอภาคกันเป็นประจำก็คือ ปัญหาอยู่ที่การบังคับใช้ เป็นความบกพร่องของบางคนที่ยังไม่ดีพอ เป็นกรณียกเว้นที่ตามปกติไม่เป็นเช่นนั้น แต่ความไม่เสมอภาคในสังคมไทยเป็นเรื่องทั่วไป พบได้เป็นปกติ แถมยังหนักหน่วงขึ้นในปัจจุบันอย่างเห็นได้ชัด เพราะอภิสิทธิ์ทางกฎหมายของบางคนบางกลุ่มบางชนชั้นกลายเป็นเรื่องไม่ต้องละอายอีกต่อไป อวดกันโจ่งแจ้ง แก้ตัวน้ำขุ่นๆ แบบไม่ต้องเห็นหัวสาธารณชนก็บ่อย และถึงที่สุดคือออกกฎหมายให้อภิสิทธิ์แก่บางคนบางกลุ่ม ตามด้วยการเฉลิมฉลองอภิสิทธิ์เช่นนั้น ตอกย้ำอย่างชัดๆ โจ่งแจ้งว่าความไม่เสมอภาคทางกฎหมายนั้นเป็นไปตามกฎหมาย

ความเชื่อที่ว่ากองทัพและการเกณฑ์ทหารแสดงถึงความเสมอภาคของราษฎร เป็นความเข้าใจผิดมายาวนานของนักประวัติศาสตร์ กองทัพไทยเป็นสถาบันที่สะท้อนระเบียบความสัมพันธ์ของคนในวัฒนธรรมศักดินาแบบใหม่ นั่นคือราษฎรเสมอภาคกันภายใต้อำนาจและบารมีของนายพล ซึ่งไม่ใช่แค่ผู้บังคับบัญชา แต่เป็นชนชั้นศักดินาใหม่ในเครื่องแบบ ส่วนทหารเกณฑ์และชั้นผู้น้อยก็ไม่ใช่เป็นแค่ผู้ใต้บังคับบัญชา แต่เป็นไพร่แบบใหม่นั่นเอง [นี่อาจเป็นเหตุผลสำคัญที่การยกเลิกทหารเกณฑ์เป็นสิ่งยากเย็นอย่างยิ่ง เพราะการมีทหารเกณฑ์เป็นคนรับใช้เป็นสิ่งยืนยันถึงศักดินาของนายพล (ทำนองเดียวกับมูลนายต้องมีไพร่ทาสรับใช้) หากไม่มีทหารเกณฑ์ ความเป็นชนชั้นมูลนายของนายพลก็สิ้นสุดลง นี่ยังเป็นเหตุผลว่าทำไมจึงมีนายพลจำนวนมาก เพราะนายพลเป็นบรรดาศักดิ์ของศักดินาใหม่ มีกี่คนก็ได้ ไม่เกี่ยวอะไรเลยกับความต้องการของกองทัพสมัยใหม่ การมีทหารเกณฑ์และจำนวนนายพลจึงเป็นเรื่องของอภิสิทธิ์ล้วนๆ ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับกิจการทหารแต่อย่างใด]

‘บุคคล’ ในความสัมพันธ์ทางสังคมแบบที่ ‘พลเมือง’ ทั้งหลายล้วนเสมอภาคข้างใต้ชนชั้นสูงและชนชั้นผู้มีอำนาจแบบนี้พัฒนาเติบโตต่อมา จึงทำให้หลักการความไม่เสมอภาคทางกฎหมายไม่ได้ดีขึ้น ไม่ใช่ข้อยกเว้นและไม่ใช่เพราะคนดีไม่พอ แต่เป็นความสัมพันธ์ทางสังคมและกฎหมายแบบไม่เสมอภาคที่กลายเป็นสถาบันทางสังคม จึงไม่ต้องละอายกันอีกต่อไป

ผลสำคัญมากอีกอย่างคือแนวคิดนิติศาสตร์ที่สนับสนุนระบอบเผด็จการ

นักนิติศาสตร์ไทยมักกล่าวว่าการปฏิรูปทำให้ ‘สำนักกฎหมายบ้านเมือง’ เข้าครอบงำวงการกฎหมายของไทย สำนักนี้ถือว่ากฎหมายเป็นคำสั่งของรัฐ ราษฎรต้องเคารพกฎหมายทั้งปวงที่รัฐประกาศใช้ออกมาโดยไม่ต้องคำนึงว่ากฎหมายนั้นดีหรือเลว ยุติธรรมหรือไม่ กฎหมายตัดขาดจากความยุติธรรม ตัวอักษรของกฎหมายคือความยุติธรรม ในที่สุดอำนาจก็คือกฎหมาย เป็นนิติศาสตร์ของระบอบเผด็จการในประเทศไทย 

อิทธิพลของสำนักนี้มาถึงสยามโดยกรมหลวงราชบุรีฯ ดังปรากฏในคำสอนที่ว่า

“กดหมายนั้นคือคำสั่งทั้งหลายของผู้ปกครองว่าการแผ่นดินต่อราษฎรทั้งหลาย เมื่อไม่ทำตามแล้วธรรมดาต้องโทษ… ถึงแม้จะไม่ได้กำหนดโทษลงไว้ก็ดี มีกดหมายในลักษณะอาญาหลวงอยู่บทหนึ่ง ซึ่งจะลงโทษผู้ที่ไม่กระทำตาม… เพราะเหตุฉะนี้พระบรมราชโองการหรือคำสั่งฉบับใดต่อราษฎรทั่วไป กำหนดโทษได้ทุกฉบับ…เราจะต้องระวังอย่าคิดเอากดหมายไปปนกับความดีความชั่วฤาความยุติธรรม กดหมายเป็นคำสั่ง เปนแบบที่เราจะต้องประพฤติตาม แต่กดหมายนั้นบางทีก็จะชั่วหรือไม่เปนยุติธรรมก็ได้ ความคิดว่าอะไรดีอะไรชั่ว อะไรเปนยุติธรรมอะไรไม่ยุติธรรม มีบ่อเกิดขึ้นหลายแห่งเช่นตามศาสนาต่างๆ แต่กดหมายนั้นเกิดขึ้นได้แห่งเดียวคือจากผู้ปกครองแผ่นดิน…เท่านั้น”

แนวคิดนี้สืบต่อมายาวนานมากในการศึกษานิติศาสตร์และวิชาชีพกฎหมายของไทย ฝ่ายตุลาการก็ใช้ความคิดนี้เพื่อรับรองการปฏิวัติรัฐประหารโดยอธิบายว่าเมื่อคณะรัฐประหารทำสำเร็จได้อำนาจแล้ว ก็ย่อมเป็นที่มาแห่งกฎหมาย ไม่ว่าจะได้อำนาจมาโดยชอบธรรมหรือไม่ก็ตาม 

ผมเห็นด้วยเต็มที่ว่าความคิดแบบสำนักกฎหมายบ้านเมืองเป็นฐานค้ำจุนระบอบเผด็จการและคณะรัฐประหาร และไม่ควรเป็นเหตุผลที่ตุลาการของไทยยอมรับมาใช้สนับสนุนการรัฐประหารครั้งแล้วครั้งเล่า แต่ผมสงสัยว่า หากความคิดทำนองนี้ไม่มีอยู่ในจารีตกฎหมายของไทยมาก่อนเลย ความคิดแบบสำนักนี้จะเข้ามาลงหลักปักฐานแน่นแฟ้นในช่วงเวลาสั้นๆ และกลับมีอิทธิพลต่อเนื่องมาตลอดนานกว่าศตวรรษแล้วได้อย่างไรกัน ผมจึงขอเสนอคำอธิบายที่แตกต่างออกไป นั่นคือ สำนักกฎหมายบ้านเมืองเป็นเสื้อคลุมฝรั่งที่สวมทับนิติศาสตร์แบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในสยามได้อย่างพอดิบพอดี

นิติศาสตร์และระบบสมัยใหม่แต่แรกเริ่ม ไม่ใช่การปกครองของกฎหมายที่กฎหมายเป็นใหญ่ แต่เป็นการปกครองด้วยกฎหมาย (Rule by Law) ของสมบูรณาญาสิทธิราชย์

ชนชั้นนำไทยในปลายศตวรรษที่ 19 ต่อต้นศตวรรษที่ 20 สามารถรับแนวความคิดแบบสำนักกฎหมายบ้านเมืองได้ง่าย ทั้งยังตอกย้ำและผลิตซ้ำความคิดที่ว่ากฎหมายคือ คำสั่งของรัฐที่ราษฎรพึงต้องปฏิบัติตามโดยไม่สงสัย ก็เพราะแนวคิดสำนักกฎหมายบ้านเมืองเข้ากันได้พอดีกับจารีตกฎหมายที่ดำรงอยู่แล้วในสยามยุคนั้น เป็นที่คุ้นเคยอยู่แล้วสำหรับชนชั้นนำในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ (และคงรวมถึงสังคมไทยโดยทั่วไปในขณะนั้นด้วย) กษัตริย์ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ใช้อำนาจบัญญัติกฎหมายอยู่แล้ว เป็นองค์อธิปัตย์ (The Sovereign) ในทางกฎหมายอยู่แล้ว ความคิดของสำนักกฎหมายบ้านเมืองไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ แถมยังเป็นของฝรั่งที่ศิวิไลซ์กว่าจารีตเดิมอีกด้วย การปฏิรูปกฎหมายก็เพื่อสนองและรับใช้รัฐสมัยใหม่แบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เพื่อให้มีประสิทธิภาพในการรวมศูนย์อำนาจภายใต้ชนชั้นนำที่กรุงเทพฯ ซึ่งต้องการเทคโนโลยีใหม่ๆ รวมทั้งระบบกฎหมายสมัยใหม่นั่นเอง การปฏิรูปกฎหมายคือการยกระดับปรับปรุงเทคนิคการปกครองอย่างสำคัญทำให้รัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นการปกครองของเจ้าด้วยกฎหมายนั่นเอง

ระบบกฎหมายสมัยใหม่ของสมบูรณาญาสิทธิราชย์มิใช่นิติรัฐ (Legal State) เพราะมิได้มุ่งจำกัดอำนาจรัฐเพื่อพิทักษ์ปกป้องปัจเจกบุคคล สิทธิของเอกชน หรือทรัพย์สินของเอกชน ทั้งมิใช่การปกครองของกฎหมาย (The Rule of Law) ที่ชนชั้นปกครองและราษฎรอยู่ใต้กฎหมายอย่างเสมอภาคกัน แต่เป็นนิติศาสตร์และระบบกฎหมายของสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่องค์อธิปัตย์ (The Sovereign) อยู่เหนือกฎหมาย 

การที่ชนชั้นนำใช้วาทกรรมและโวหารของสำนักกฎหมายบ้านเมืองได้สนิท การที่สถาบันตุลาการด้วยหยิบยกคาถาของสำนักกฎหมายบ้านเมืองมาเป็นเหตุผลสนับสนุนความชอบธรรมของระบอบอำนาจนิยมทุกชนิดได้อย่างสะดวกใจ อาจดูเหมือนว่าพวกเขาสมาทานความคิดฝรั่งสำนักนั้น แต่แท้จริงแล้วพวกเขาได้ทำให้ ‘ของนอก’ กลายเป็นไทยแบบที่พวกเขาคุ้นเคยไปเรียบร้อยแล้ว

นับจากนั้นมานิติศาสตร์และระบบกฎหมายสมัยใหม่ของไทยพัฒนาต่อมาเป็นสองกระแสควบคู่กัน ได้แก่ 1) นิติรัฐแบบรัฐมีอภิสิทธิ์ และ 2) นิติธรรมที่อิงกับพุทธและธรรมราชา ทั้งสองกระแสนี้เติบโตผันแปรไปตามการเมืองแบบอำนาจนิยมและวัฒนธรรมหลงใหลคลั่งไคล้เจ้า อย่างที่ผมเรียกว่า Hyper-royalism มีความขัดฝืนแย้งกันบ้าง เพราะกระแสหลังมักอ้างว่าเป็นสำนักกฎหมายธรรมชาติของไทยที่ต่อสู้กับสำนักกฎหมายบ้านเมือง แต่เราจะได้เห็นต่อไปว่ากระแส ‘ราชนิติธรรม’ ลงท้ายก็เป็นนิติศาสตร์ของระบอบเผด็จการไปอีกแบบ

นักกฎหมายจำนวนมากรับแนวคิดทั้งสองกระแสปะปนกันไป มีเพียงนักนิติศาสตร์จำนวนหนึ่งที่ตระหนักในความแตกต่าง แต่ทั้งสองกระแสเป็นสาแหรก (genealogy) ที่ร่วมกันสร้างผลลัพธ์เป็นนิติศาสตร์และระบบกฎหมายของไทยในปัจจุบันซึ่งมิใช่ Rule of Law หรือการปกครองของกฎหมาย แต่เป็น ‘การปกครองด้วยกฎหมาย’ (Rule by Law) ที่มีลักษณะแบบไทย

นิติรัฐอภิสิทธิ์ 

คือ ระบบกฎหมายที่ให้อภิสิทธิ์แก่รัฐใช้อำนาจละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนและทรัพย์สินเอกชนได้ด้วยข้ออ้างเพื่อประโยชน์สาธารณะ

ประชาชนทั่วไปมักเชื่อว่ากฎหมายมักเข้าข้างคนรวยและคนมีอำนาจหรือกล่าวโดยรวมคือคนมีเส้น การใช้เส้นสายในคดีความเกิดขึ้นจนเป็นสิ่งปกติ กระบวนการยุติธรรมเป็นเรื่องของอภิสิทธิ์ชนทั้งระบบ ไม่ใช่เป็นกรณียกเว้น ไม่ใช่เพราะคนยังไม่ดีพอ อย่างไรก็ตามในวันนี้ขอไม่เพ่งเล็งไปที่อภิสิทธิ์ชนิดนี้ แต่ขอมุ่งไปที่อีกประเด็นซึ่งเกี่ยวพันกับระบบกฎหมายและนิติศาสตร์ของไทย นั่นคือ อภิสิทธิ์ของรัฐ

ในนิติรัฐแบบบรรทัดฐาน ระบบกฎหมายมุ่งหมายจำกัดอำนาจรัฐ มิให้รัฐละเมิดสิทธิเสรีภาพของปัจเจกบุคคล แต่นิติรัฐของไทยเป็นทำนองเดียวกับหลายประเทศในเอเชีย คือ มีความโน้มเอียงที่จะให้อภิสิทธิ์แก่รัฐ มีการศึกษาระบบกฎหมายของหลายประเทศในเอเชียที่มีลักษณะดังกล่าว ตัวอย่างแรกได้แก่ ศาลญี่ปุ่นมีธรรมเนียมปกป้องการใช้อำนาจของรัฐเพื่อพัฒนาทางเศรษฐกิจที่เป็นประโยชน์ของสาธารณะแม้จะกระทบเอกชนก็ตาม

อีกตัวอย่างคือ สิงคโปร์มีการปกครองของกฎหมายที่ดีเยี่ยม แต่ว่าในเวลาเดียวกันก็มีกฎหมาย 5 ฉบับที่รวมกันเกิดเป็นปริมณฑลทางกฎหมายที่ให้อำนาจแก่รัฐบาลสูงมากจนสามารถจำกัดสิทธิเสรีภาพของบุคคลได้ จนมีผู้เรียกว่าระบบกฎหมายในสิงคโปร์เป็น ‘dual legality’ ด้วยข้ออ้างว่าเนื่องจากลักษณะเฉพาะของสิงคโปร์ (ประเทศเล็ก ประชากรน้อย หลายศาสนา ฯลฯ) จึงจำเป็นต้องสถาปนาปริมณฑลที่เป็น ‘ข้อยกเว้น’ ไม่สามารถใช้การปกครองของกฎหมายแบบบรรทัดฐานได้ เพื่อความสงบเรียบร้อยของสังคมอันเป็นประโยชน์ส่วนรวม (public good หรือ common good)  ได้แก่ กฎหมายเกี่ยวกับพื้นที่สาธารณะ สิ่งพิมพ์และสื่อมวลชน วิชาชีพทางกฎหมาย การรวมกลุ่มองค์กรและสถาบันทางศาสนา และกฎหมายเกี่ยวกับความเป็นระเบียบเรียบร้อยของสาธารณะ “ประเทศชาติต้องมาก่อนส่วนบุคคล… การคำนึงถึงมนุษยชาติและห่วงใยเพื่อนมนุษย์จะต้องไม่มากจนกลายเป็นข้อจำกัดกีดขวางนโยบายของรัฐ” มีผู้เรียกระบบกฎหมายทวิลักษณ์แบบนี้ว่า ‘การปกครองของกฎหมายแบบอำนาจนิยม’ (Authoritarian Rule of Law)

อภิสิทธิ์ของรัฐเพื่อประโยชน์สาธารณะและความมั่นคงของชาติ

รัฐไทยก็ให้เหตุผลทำนองเดียวกันว่าในฐานะผู้ปกป้องคุ้มครองประเทศชาติ (‘ส่วนรวม’) จึงต้องพิทักษ์ปกป้องสมบัติสาธารณะหรือผลประโยชน์ของส่วนรวมซึ่งสำคัญกว่าส่วนบุคคล กระบวนการยุติธรรมของไทยก็มีความโน้มเอียงเป็นผู้รับใช้รัฐเช่นกัน แม้ว่าการกระทำของรัฐจะกระทบกระเทือนสิทธิเสรีภาพและทรัพย์สินของเอกชนก็ตาม ตัวอย่างคือกฎหมายเกี่ยวกับป่าสงวนแห่งชาติ 4 ฉบับเป็นกฎหมายที่มีลักษณะอำนาจนิยม แม้จะไม่ได้ออกโดยอำนาจพิเศษเช่นคำสั่งคณะรัฐประหาร แต่ให้อำนาจรัฐบาลสามารถขับไล่ประชาชนและละเมิดทรัพย์สินเอกชนได้ ในยุคเผด็จการอย่าง คสช. รัฐบาลมักใช้กฎหมายที่มีลักษณะอำนาจนิยมแบบนี้กับประชาชนหนักหน่วงขึ้นไปอีก 

แต่สมบัติหรือประโยชน์สาธารณะ (public good หรือ common good) ที่สำคัญที่สุดซึ่งรัฐอ้างตนเป็นผู้พิทักษ์ปกป้อง จนนำไปสู่อำนาจและอภิสิทธิ์อันล้นหลามของรัฐก็คือ ‘ความมั่นคงของชาติ’ 

ในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ความมั่นคงของพระมหากษัตริย์ (รวมถึงพระราชวงศ์และพระราชวัง) ถือเป็นเรื่องสำคัญสูงสุด กฎหมายอาญาสมัยใหม่นับแต่ฉบับแรก ยังสืบทอดจารีตเดิมที่ยังคงมีอยู่ในขณะนั้นคือให้ความสำคัญแก่ความมั่นคงของราชสำนักและพระราชวังอย่างมาก เพราะกษัตริย์ ราชวงศ์ และราชวัง = รัฐ

ภายใต้เผด็จการหลายสมัยหลังจากนั้น ‘ความมั่นคงของชาติ’ ก่อให้เกิดอภิสิทธิ์ของรัฐมหาศาลโดยเฉพาะแก่กองทัพ จนยิ่งใหญ่เหนือรัฐบาล ถึงขนาดที่รัฐบาลพลเรือนไม่ค่อยกล้ายุ่งกับงบประมาณทหารและการโยกย้าย ‘บิ๊ก’ ทั้งหลาย เสมือนกองทัพเป็นแว่นแคว้นแบบศักดินาที่ยกให้ ‘บิ๊ก’ ทั้งหลาย ‘กินเมือง’ ไปเลย สร้างรายได้นอกงบประมาณปีละหมื่นล้านบาทที่ไม่ต้องส่งเข้าคลัง หน่วยทหารในทุกเหล่าทัพได้เป็นเจ้าของคลื่นความถี่วิทยุโทรทัศน์รวมกันทั้งหมดแล้วประมาณครึ่งหนึ่งของที่มีอยู่ทั้งหมด เป็นแหล่งเก็บส่วยเก็บค่าเช่าทำมาหากินในยามปกติและสามารถระดมใช้งานล้มรัฐบาลก็ได้ เป็นต้น

ในนาม ‘ความมั่นคงของชาติ’ รัฐและกองทัพยังแทรกแซงและละเมิดทรัพย์สินเอกชน ความเป็นส่วนตัวและสิทธิของปัจเจกชนในด้านต่างๆ จนความผิดปกติทางกฎหมายเหล่านี้กลายเป็นเรื่องปกติที่ประชาชนไทยคุ้นเคยยอมๆ กันไปแล้ว ราวกับประเทศไทยเป็นรัฐทหาร ทั้งหมดนี้ย่อมสะท้อนระบบกฎหมายที่ให้อภิสิทธิ์ล้นหลามแก่รัฐและกองทัพเพื่อความมั่นคงแห่งชาติ

นิติรัฐอภิสิทธิ์ใน ‘สภาวะยกเว้น’ (the State of Exception)

‘ความมั่นคงแห่งชาติ’ ยังเป็นแหล่งที่มาของอภิสิทธิ์มากกว่าที่กล่าวมาเสียอีก นั่นคือเป็นเหตุผลให้รัฐและกองทัพสามารถงดใช้กฎหมายและกระบวนการตุลาการตามปกติได้หากมีสถานการณ์พิเศษหรือใน ‘สภาวะยกเว้น’ (the State of Exception) ให้ใช้กฎหมายพิเศษสำหรับภาวะไม่ปกติแทน เช่น ประกาศภาวะฉุกเฉิน รัฐธรรมนูญชั่วคราว กฎอัยการศึก มีผลให้รัฐหรือคณะรัฐประหารและกองทัพอยู่เหนือกฎหมายปกติ เหนือรัฐธรรมนูญ และเหนือตุลาการ แถมไม่ต้องรับผิดชอบต่อการกระทำที่ในภาวะปกติถือเป็นความผิดอีกด้วย

ธานินทร์ กรัยวิเชียร นายกรัฐมนตรีของระบอบหลัง 6 ตุลาฯ ให้เหตุผลของสภาวะยกเว้นของไทยไว้ชัดเจน

“ยามบ้านเมืองเกิดวิกฤตการณ์ขั้นร้ายแรง…กระทบกระเทือนต่อความมั่นคงของชาติ … เราจะถือสิ่งใดมาก่อนกันระหว่างการยึดมั่นในหลักนิติธรรมอย่างเคร่งครัดกับความมั่นคงของชาติ … เมื่อถึงยามนั้นแล้วเราคงต้องเลือกความมั่นคงของประเทศไว้อยู่เหนือสิ่งอื่นใด…สมควรให้มีข้อยกเว้น…ยอมให้ผู้ใช้อำนาจรัฐมีอำนาจที่จะเข้ามาจำกัดสิทธิขั้นพื้นฐานบางประการของประชาชนได้”

นับแต่ 2490 รัฐประหารที่สำเร็จแต่ละครั้งฉีกทิ้งรัฐธรรมนูญ ก่อให้เกิดสภาวะยกเว้นทางกฎหมายที่ปกครองด้วยกฎอัยการศึกและกฎหมายความมั่นคงหรือด้วยรัฐธรรมนูญชั่วคราวที่ให้อำนาจรัฐบาลทหารล้นหลามกินเวลาต่อเนื่องกันหลายปี บางพื้นที่อยู่ภายใต้สภาวะยกเว้นนานกว่าเวลา ‘ปกติ’ เสียอีก เช่น พื้นที่มากเกินกว่าหนึ่งในสามของประเทศ ที่มีการต่อสู้กับคอมมิวนิสต์นานหลายทศวรรษ บางพื้นที่ต้องงดใช้กฎหมายปกติเป็นระยะๆ แต่บ่อยและรวมกันเป็นเวลามากกว่าภาวะปกติ เช่น จังหวัดชายแดนใต้ กล่าวอย่างรวมๆ ประเทศไทยอยู่ภายใต้สภาวะยกเว้นแทบเป็นปกติ อยู่ใต้กฎหมายปกติแทบจะเป็นข้อยกเว้น

ตุลาการของไทยให้ความชอบธรรมแก่การรัฐประหารและอำนาจในสภาวะยกเว้น ถือว่าคณะรัฐประหารเป็นรัฏฐาธิปัตย์ หากทำสำเร็จโดยไม่มีประชาชนลุกขึ้นต่อต้าน จึงมีอำนาจสูงสุดในการออกกฎหมายได้ คำวินิจฉัยแบบนี้เริ่มมาตั้งแต่คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 45/2496 และเป็นบรรทัดฐานแก่คำพิพากษาต่อมาจนถึงครั้งล่าสุด ทั้งยังปฏิเสธที่จะตรวจสอบความชอบธรรมในเนื้อหาของคำสั่งต่างๆ และการใช้อำนาจของคณะรัฐประหาร ศาลยังมักดูเพียงว่ารัฐธรรมนูญของคณะรัฐประหารได้นิรโทษกรรมการทำรัฐประหารหรือไม่ และพระมหากษัตริย์รับรองฐานะของคณะรัฐประหารหรือไม่ ซึ่งเป็นเพียงการตรวจสอบว่าการรัฐประหารประกอบ ‘พิธีกรรม’ เถลิงอำนาจในสภาวะยกเว้นครบถ้วนหรือไม่แค่นั้นเอง

‘ความมั่นคง’ ที่ลื่นไหล

แต่ปัญหาใหญ่คือ ‘ความมั่นคง’ ของไทยมีนิยามลื่นไหลตามอำเภอใจของผู้มีอำนาจ สามารถกินความไปถึงทุกแง่มุมในชีวิตประจำวัน ที่ไหนก็ได้เมื่อไหร่ก็ได้ ในขณะเดียวกันกลับไม่มีทางเข้าใจได้ชัด เดวิด สเตร็คฟัส (David Streckfuss) เห็นว่าความพยายามที่จะนิยาม ‘ความมั่นคงของชาติ’ ให้ชัดเจนคงไม่ต่างกับการไขว่คว้าลม ‘ความมั่นคงของชาติ’ เป็นวาทกรรมซึ่งผลิตขึ้นมาโดยหน่วยงานด้านความมั่นคงเองเพื่อให้อำนาจแก่ตัวเอง กฎหมายเกี่ยวกับความมั่นคงของชาติเป็นเสมือนบทประพันธ์ ผู้ใช้ตีความเอาเองว่าความหมายคืออย่างไร ตุลาการก็เป็นเสมือนบรรณาธิการที่ตัดสินว่าควรเขียนอย่างไรจึงจะถือว่าถูกต้อง ทั้งที่จริงเป็นการตัดสินตีความสิ่งที่ลื่นไหลไม่มีความแน่นอน

สเตร็คฟัสให้ตัวอย่างคดีที่พิสูจน์ความลื่นไหลไร้สาระของกฎหมายความมั่นคงได้อย่างวิเศษดังนี้ เมื่อปี 2496 นายแผน เรืองคำ ซื้อถุงเท้ามาคู่หนึ่ง เขาใส่แล้วเดินออกสู่ที่สาธารณะ หลังจากนั้นไม่นานเขาก็ถูกจับด้วยข้อหาดูหมิ่นธงชาติเพราะถุงเท้าของมีรูปธงชาติเล็กๆ ปักอยู่ด้วย ถือเป็นความผิดตามกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 118 (ซึ่งอยู่ในหมวดความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักร) อัยการฟ้องว่านายแผนสมควรถูกลงโทษสูงสุดคือจำคุก 3 เดือนและปรับไม่เกิน 200 บาท และให้ยึดถุงเท้าด้วย (นายแผนยังโชคดีที่คดีเกิดก่อนการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญาเมื่อปี 2502 ซึ่งเพิ่มโทษความผิดมาตรา 118 นี้ขึ้นอีก) นายแผนให้การสารภาพว่าใส่ถุงเท้านั้นจริง แต่เขาต่อสู้ว่าเขาไม่รู้เลยว่ามีรูปธงชาติปักอยู่บนถุงเท้านั้นและไม่มีเจตนาที่จะลบหลู่ดูหมิ่นธงชาติ จึงไม่เข้าองค์ประกอบของมาตรา 118  ศาลชั้นต้นตีความกรณีนี้ว่าความผิดน่าจะเป็นของผู้ผลิตถุงเท้าซึ่งควรถูกลงโทษ แต่ผู้ใส่ไม่น่าจะมีความผิด จึงตัดสินปล่อยตัวนายแผนไปและให้คืนถุงเท้าที่ยึดไว้แก่เขาด้วย ศาลอุทธรณ์เห็นต่างจากศาลชั้นต้น คือเห็นว่านายแผนมีความผิดฐานดูหมิ่นธงชาติ และสั่งให้ยึดถุงเท้าด้วย ในที่สุดคดีถุงเท้าคู่เดียวที่เป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติก็ถึงศาลฎีกา ศาลฎีกาเจาะจงลงไปที่เจตนาจึงพิพากษาว่าผู้ผลิตมีความผิด แต่ผู้ใส่ไม่มีเจตนา สั่งให้ปล่อยนายแผนและให้คืนถุงเท้าแก่เขา

ถ้าหากเราท่านรู้สึกว่าคดีนี้เพี้ยน ท่านคิดว่าใครเพี้ยน? นายแผน หรือผู้จับกุม หรืออัยการ หรือศาล (ชั้นไหน) หรือกฎหมาย? หรือทั้งหมดทุกอย่างทุกฝ่าย? nonsense ตรงไหน? อะไรทำให้เจ้าหน้าที่ต้องทำการจับกุม อัยการต้องฟ้อง ศาลต้องตัดสิน? ผมถามต่อว่านายแผนได้ถุงเท้าคืนไปเก็บไว้ที่บ้านอาจมีความผิดหรือไม่เพราะคราวนี้เขารู้แล้วว่าถุงเท้านั้นปักรูปธงชาติอยู่? แต่หากเขาทำลายหรือทิ้งเป็นขยะไปเสีย จะถือว่าเขาทำลายและดูหมิ่นธงชาติหรือไม่? หรือถ้าเขาชักธงชาติขึ้นสู่ยอดเสาพร้อมกันทั้งสองข้างจะถือเป็นความผิดหรือไม่? ตอนผมอ่านข่าวเรื่องธงดำผมอยากจะบอกนิสิตจุฬาฯ ให้ไปหาถุงเท้าของนายแผนให้เจอและชักขึ้นสู่ยอดเสา

ทั้งหมดนี้มาจากสาเหตุเดียวคือความเพี้ยนพิลึกพิลั่นของกฎหมายความมั่นคงของชาติทั้งหลายและของมโนทัศน์เรื่องความมั่นคงของชาติทั้งหมดด้วย หรือว่า ‘สภาวะยกเว้น’ รวมถึงการงดใช้สามัญสำนึกด้วย (คล้ายกับญี่ปุ่นในทศวรรษ 1920 และ 1930 ที่อาศัยทั้งความกลัวและความไร้เหตุผลไร้สาระควบคู่กันไปเพื่อค้ำจุนลัทธิชาตินิยมแบบขุนศึกและลัทธิบูชาพระจักรพรรดิ)

คดีถุงเท้านี้เตือนเราถึงกฎหมายความมั่นคงในสภาวะปกติเพราะมาตรา 118 อยู่ในส่วนที่หนึ่งของภาคที่สองของกฎหมายอาญาตั้งแต่ ร.ศ. 127 จนถึงปัจจุบัน กฎหมายส่วนนั้นซึ่งรวมมาตรา 112 ด้วยเป็นปริมณฑลที่ให้อภิสิทธิ์แก่รัฐเพื่อรักษาความมั่นคงของชาติในสถานการณ์ปกติด้วย หรือกล่าวได้ว่าเป็นกฎหมายใน ‘สภาวะยกเว้นอย่างถาวร’ ที่อยู่ในกฎหมายปกติ หมายความว่าไม่ใช่สภาวะยกเว้นเป็นการชั่วคราว แต่เป็นการยกเว้นที่แตกต่างจากหมวดอื่นๆ ในระบบกฎหมายปกติ เพราะให้อภิสิทธิ์แก่รัฐละเมิดสิทธิของบุคคลได้ในภาวะปกติ เช่น พรากสิทธิการประกันตัวของผู้ต้องหา ให้ถือว่าผู้ต้องหามีความผิดไว้ก่อนจนกว่าจะได้รับการพิสูจน์ว่าบริสุทธิ์ ในทางปฏิบัติจึงมีการใช้วิธีแบบจารีตนครบาล เช่น การทรมานเพื่อรีดคำสารภาพ และยอมให้มีการพิจารณาคดีเป็นความลับ ที่สำคัญคือใครก็ได้สามารถแจ้งฟ้องร้องให้เจ้าหน้าที่ทราบ คุณสมบัติแบบโบราณเหล่านี้ไม่ใช้อีกต่อไปแล้วในกฎหมายปกติหมวดอื่นๆ เหตุที่ต้องดำรงอยู่ถาวรตลอดเวลาก็เพราะเชื่อว่าประเทศและสถาบันกษัตริย์มีโอกาสตกอยู่ใต้การคุกคามได้ตลอดเวลาดังที่ประวัติศาสตร์ของชาติไทยสอนไว้ การใช้มาตรา 112 ในระยะที่ผ่านมา ยังงดเว้นการใช้สมองอย่างเป็นเหตุเป็นผลตามปกติด้วย แล้วพยายามปลูกฝังเหตุผลแปลกประหลาด ควบคู่กับการแผ่ความกลัวเพื่อจำกัดและกำจัดการคิดอย่างเป็นเหตุเป็นผล

ความต่างระหว่างอภิสิทธิ์ของรัฐไทยกับที่อื่น

กฎหมายที่ให้อภิสิทธิ์แก่รัฐของไทยต่างกับของสิงคโปร์หรือญี่ปุ่นที่ยกมาเป็นตัวอย่างตรงไหน

1) อภิสิทธิ์ของรัฐไทยครอบคลุมกว้างขวางมาก ญี่ปุ่นจำกัดอยู่ที่การดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจเท่านั้นและไม่มีกรณีทางอาญา สิงคโปร์กำหนดไว้ค่อนข้างชัดเจนว่าปริมณฑลยกเว้นอย่างถาวรหมายถึงการกระทำอะไรบ้าง ไม่ลื่นไหลตามใจรัฐหรือกองทัพที่ใช้อำนาจอภิสิทธิ์ 

2) อภิสิทธิ์ของรัฐในญี่ปุ่นและสิงคโปร์จึงคาดการณ์ได้ หมายความว่า ประชาชนอาจจะไม่พอใจกฎหมาย 5 ฉบับของสิงคโปร์ แต่เขาพอรู้ว่าห้ามทำอะไรบ้าง แต่ในกรณีไทยกลับไม่รู้แน่ว่าควรทำยังไงกับถุงเท้าคู่นั้น ทำไมประณามพระเจ้าเอกทัศน์ในตำราเรียนของกระทรวงศึกษาฯ จึงไม่โดน 112 แต่การพูดในแง่ไม่ดีเกี่ยวกับสมเด็จพระนเรศวรกลับโดน

ผมให้สมการอย่างนี้ว่ากฎหมายเลว + คาดการณ์ไม่ได้ = ความกลัว เป็นอาวุธที่มีประสิทธิภาพในการคงอภิสิทธิ์ของรัฐ

3) ทั้งในญี่ปุ่นและสิงคโปร์ อภิสิทธิ์ที่รัฐมีเป็นของสถาบัน ไม่ใช่ของบุคคลที่ครองตำแหน่ง ปัจเจกบุคคลไม่ว่าจะยิ่งใหญ่แค่ไหน ล้วนอยู่ใต้กฎหมายเหมือนๆ กัน ใครใช้อภิสิทธิ์ของรัฐเพื่อประโยชน์ส่วนตัวย่อมเป็นความผิดร้ายแรงอื้อฉาวยิ่งกว่าการทุจริตปกติ แต่อภิสิทธิ์ของรัฐในไทยเผื่อแผ่ถึงบุคคลที่ครองตำแหน่งและวงศ์ตระกูลของเขา  

4) อภิสิทธิ์ปลอดพ้นความผิด (impunity) เป็นสิ่งน่ารังเกียจสุดๆ ในญี่ปุ่น สิงคโปร์ และประเทศส่วนใหญ่ในโลก แต่ในประเทศไทย อภิสิทธิ์ของรัฐรวมถึงอภิสิทธิ์ปลอดพ้นความผิดจนเป็นปกติ ที่มักเผื่อแผ่ถึงบุคคลที่กระทำผิดในหน้าที่และกระทำผิดใดๆ ในขณะที่ครองอำนาจ เพราะเกรงว่าความผิดของบุคคลจะเสียหายถึงรัฐ จึงต้องปกป้องตัวบุคคลนั้นให้พ้นความผิด (เช่น กรณีนาฬิกา) นี่เป็นประเด็นสำคัญมากๆ

อภิสิทธิ์ปลอดพ้นความผิด (Impunity)

impunity หมายถึง อภิสิทธิ์ทางกฎหมายที่ทำผิดแต่ไม่ต้องรับโทษ นี่เป็นอภิสิทธิ์ที่ละเมิดหลักการของ The Rule of Law อย่างสาหัสที่สุด แต่กลับเป็นเอกลักษณ์ของระบบกฎหมายไทยก็ว่าได้ ดังที่มีผู้ศึกษาไว้แล้วว่าอภิสิทธิ์ชนิดนี้เป็นปัจจัยสำคัญของการสร้างรัฐของไทยตั้งแต่ยุคเผด็จการสฤษดิ์จนเป็นอย่างทุกวันนี้

การใช้อภิสิทธิ์ชนิดนี้ในทางกฎหมายมีทั้งแบบแอบแฝงและแบบโจ๋งครึ่ม แบบแอบแฝงมักเป็นการใช้เส้นสายหรือมี ‘นโยบาย’ หรือ ‘ใบสั่ง’ จากผู้ยิ่งใหญ่ทั้งหลายอย่างเงียบๆ เพื่อบิดเบือนกระบวนการยุติธรรม ส่วนแบบโจ๋งครึ่มได้แก่ การทำให้คดีสูญหายไปเฉยๆ เช่น กรณีฆ่าแขวนคอนักกิจกรรม 2 คนก่อน 6 ตุลาฯ การนิรโทษกรรมผู้กระทำผิดในกรณี 6 ตุลาฯทั้งหมด การปิดบังข้อมูลอย่างโจ่งแจ้งในรายงานการสอบสวนเหตุการณ์พฤษภา 2535 การหาแพะรับบาปแทนการลงโทษผู้มีอำนาจหรือผู้ยิ่งใหญ่ของรัฐ การทำให้ชีวิต 92 รายเป็นเรื่องไม่ต้องสอบสวนไม่ต้องหาผู้กระทำผิด ทั้งที่ใช้กระสุนจริงนับแสนนัดในปฏิบัติการครั้งนั้น และการบิดเบือนกระบวนการยุติธรรมอย่างไม่ละอายสาธารณชน ซึ่งเราพบมากมายเหลือเกินนับจากปี 2549

อภิสิทธิ์ปลอดความผิดที่อัปลักษณ์ที่สุดคือกฎหมายนิรโทษกรรมตัวเองหลังการรัฐประหาร เพราะเป็นอภิสิทธิ์ของกบฏที่รับรองโดยตุลาการผู้กระทำการในพระปรมาภิไธย ถือเป็นการสมรู้ร่วมทำความผิดระดับสูงสุดที่พึงเกิดได้ในรัฐหนึ่งๆ

รัฐไทยในระยะเกือบ 100 ปีที่ผ่านมาใช้ความรุนแรงต่อประชาชนและทำลายสถาบันประชาธิปไตยครั้งแล้วครั้งเล่า เพราะทุกครั้งจบลงด้วยการให้อภิสิทธิ์แก่ผู้มีอำนาจและผู้ยิ่งใหญ่ในแผ่นดินพ้นจากการสอบสวนเอาผิด ไม่ว่าด้วยเหตุผลเพื่อความสมานฉันท์หรือไม่มีเหตุผลเลยก็ตาม แต่เหตุผลแท้จริงคือการค้ำจุนผู้มีอำนาจและสถาบันสำคัญต่างๆ ไว้  มีหลายเหตุการณ์ที่ผู้มีอำนาจหรือผู้ยิ่งใหญ่อยู่ในข่ายเป็นผู้กระทำผิด เหตุการณ์ประเภทนั้นไม่ใช่เพิ่งเกิดในยุคสฤษดิ์ แต่เกิดมาก่อนหน้านั้นด้วย เช่นในปี 2489 ความพยายามปกปิดความผิดเป็นปัจจัยหนึ่งที่นำไปสู่รัฐประหาร 2490 ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของวงจรอุบาทว์ทางการเมืองจนทุกวันนี้

ผลลัพธ์ของอภิสิทธิ์ปลอดพ้นความผิดมีมหาศาลขนาดไหน เราจะเข้าใจได้ด้วยการลองคิดดูว่า ถ้าหากการกระทำผิดของรัฐหรือผู้ยิ่งใหญ่ครั้งสำคัญๆ เพียงไม่กี่ครั้ง เช่นการรัฐประหารครั้งใดครั้งหนึ่ง การสังหารประชาชนครั้งใหญ่สักครั้ง การหายไปของ คุณสมชาย นีละไพจิตร หรือเหตุการณ์ในปี 2489 ถ้าหากมีการจัดการกรณีเหล่านี้อย่างยุติธรรมตามกฎหมาย เพื่อวางเป็นบรรทัดฐานว่าการกระทำของรัฐหรือบุคคลสำคัญขนาดไหนก็ตามล้วนอยู่ใต้กฎหมายเดียวกันทั้งนั้น ไม่มีใครในแผ่นดินนี้พึงได้รับอภิสิทธิ์ปลอดพ้นความผิดเลยแม้แต่คนเดียว ลองคิดดูว่าหากเกิดบรรทัดฐานเช่นนี้ จะมีใครหน้าไหนได้รับอภิสิทธิ์ปลอดพ้นจากความผิดอีก การให้อภิสิทธิ์แก่นายพลหรือผู้มีอำนาจอื่นใดคงยากจะเกิดขึ้น เพราะเกิดบรรทัดฐานไปแล้วว่าในแผ่นดินนี้ไม่มีใครใหญ่ไปกว่ากฎหมาย กฎหมายบังคับใช้กับทุกคนเท่าเทียมกันหมด

น่าเสียดายที่ความเป็นจริงในประวัติศาสตร์เป็นตรงข้ามกับที่เพิ่งกล่าวมา ส่งผลให้ระบบกฎหมายทั้งหมดออกนอกลู่นอกทางทับถมมากขึ้นเรื่อยๆ ในเมื่อให้อภิสิทธิ์ทางกฎหมายแก่บางคนได้ด้วยเหตุผลบางอย่าง ก็ย่อมให้อภิสิทธิ์แบบเดียวกันและอภิสิทธิ์อื่นๆ นานาชนิดแก่ผู้มีอำนาจและเจ้าหน้าที่ของรัฐในลำดับชั้นต่างๆ ได้เช่นกัน อภิสิทธิ์ปลอดความผิดกลายเป็นเรื่องปกติ การหาเส้นสายเพื่ออภิสิทธิ์นานาชนิดกลายเป็นวัฒนธรรมไทยปกติทั่วไปหมด ไม่ใช่แค่เป็นครั้งคราวเพราะการบังคับใช้กฎหมายไม่ดีพอหรือคนไม่ดีพอ แต่เป็นเอกลักษณ์ไทยที่มีไว้โอ้อวดกันทั่วไป

ราชนิติธรรม 

คือ นิติศาสตร์ไทยที่ถือว่ากษัตริย์เป็นหลักสูงสุดของกฎหมายและความยุติธรรม (มิใช่รัฐธรรมนูญหรือรัฐสภาดังที่ถือกันเป็นบรรทัดฐานทางสากล)

จุดเริ่มต้นของหลักนิติธรรมแบบไทยคือการต่อสู้ระหว่างสำนักกฎหมายธรรมชาติหรือ ‘ธรรมนิยม’ กับสำนักกฎหมายบ้านเมือง ประเด็นสำคัญที่สะท้อนความต่างของสองสำนักนี้คือความยุติธรรม นักนิติศาสตร์เห็นไม่ต่างกันว่าความหมายของความยุติธรรมนั้นไม่ตายตัวแน่นอน ขึ้นอยู่กับแนวความคิด หลักการ ปรัชญาไปจนถึงขึ้นอยู่กับกรณีและบริบท ฝ่าย ‘ธรรมนิยม’ กล่าวหาว่าสำนักกฎหมายบ้านเมืองแยกกฎหมายออกจากความยุติธรรม ธรรมะและศีลธรรม แถมถือว่าไม่มีความยุติธรรมที่อยู่นอกเหนือตัวบทกฎหมาย แต่ ‘ธรรมนิยม’ เห็นว่า กฎหมายจะต้องผูกพันกับธรรมะและศาสนา และเห็นว่า ‘ธรรมราชา’ เป็นหลักสูงสุดของกฎหมายและความยุติธรรมแบบไทย ‘พุทธ + กษัตริย์’ เป็นแหล่งจารีตและประเพณีของหลักนิติธรรมไทย

ความยุติธรรมแบบพุทธหมายถึงอะไร? มีลักษณะอย่างไร? ตัวอย่างหนึ่งที่มักอ้างอิงอยู่บ่อยๆ ว่าเป็นความหมายของความยุติธรรมแบบพุทธคืองานเขียนเรื่อง ธรรมสารวินิจฉัยว่าด้วยยุติธรรมเป็นอย่างไร ของ กรมหลวงพิชิตปรีชากร ซึ่งอันที่จริงเป็นการเอาความคิดของนักคิดชาวอังกฤษมาใส่บาลีแล้วอธิบายเป็นภาษาไทย ส่วนสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ. ปยุตฺโต) นำเสนอนิติศาสตร์แนวพุทธมานาน ประเด็นหลักๆ มีเพียงว่ากฎหมายต้องอิงกับธรรมะ แต่ท่านเห็นว่า ต้องการปัญญาพิเศษจึงจะหยั่งรู้ความยุติธรรม จึงพยายามมองหาคนดีผู้มีบุญบารมีสูงส่งมาเป็นผู้ใช้กฎหมายอย่างเป็นธรรม แต่คนดีมีบารมีแบบพุทธมักหมายถึงผู้มีอำนาจ ซึ่งฝรั่งเชื่อว่ามักเป็นคนฉ้อฉล

นักนิติศาสตร์ ‘ธรรมนิยม’ เห็นว่า ความยุติธรรมสำคัญกว่าและมาก่อนกฎหมาย ซึ่งสอดคล้องกับหลักกฎหมายธรรมชาติ (natural law) ของตะวันตกและสอดคล้องกับปรัชญากฎหมายไทยตามแนวพระราชดำริของพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ที่ถือว่าธรรมะหรือความยุติธรรมเป็นใหญ่กว่าตัวบทกฎหมาย งานเขียนของพวกเขาทั้งหลายมักอ้างถึงพระราชดำรัสในโอกาสต่างๆ ที่ตอกย้ำว่ากฎหมายตามตัวบทไม่ใช่ความยุติธรรม จะยึดแต่ตัวบทกฎหมายย่อมไม่ได้ ข้อนี้อาจตรงกับใจของเราท่านหลายคนที่เสื่อมศรัทธากับการยึดตัวบทอย่างเถรตรง (หรือที่มีผู้เรียกว่า ‘นิติอักษรศาสตร์’) แต่สำหรับ ‘ธรรมนิยม’ ข้อวิจารณ์การยึดตัวบทเป็นประตูไปสู่ ‘ราชนิติธรรม’ เพราะพวกเขาเห็นว่าแหล่งที่มาของความยุติธรรมที่สำคัญที่สุดไม่ใช่ตัวบทแต่คือพระมหากษัตริย์ กษัตริย์เป็นหลักสูงสุดของระบบกฎหมายไทย เป็นรัฐธรรมนูญที่แท้จริงของไทยเหนือกว่ารัฐธรรมนูญธรรมดา เพราะกษัตริย์ไทยเป็นธรรมราชาและประวัติศาสตร์ก็ยืนยันสนับสนุนแนวคิดนี้

ประวัติศาสตร์ที่สนับสนุนนิติศาสตร์แบบราชนิติธรรมมี 4 ประเด็น

ประเด็นที่หนึ่ง ในจารีตกฎหมายเดิมพระมหากษัตริย์เป็นผู้ทรงความยุติธรรมสูงสุดแต่ไม่ใช้อำนาจบัญญัติกฎหมาย

ประเด็นที่สอง อำนาจอธิปไตยยังเป็นของพระมหากษัตริย์หลัง 2475 และประเด็นอื่นที่เกี่ยวข้อง

ประเด็นที่สาม กษัตริย์เป็นผู้พิทักษ์ประชาธิปไตย

ประเด็นที่สี่ ประวัติของธรรมราชายุคสมัยใหม่

ประเด็นที่หนึ่ง ดังได้เสนอไปแล้ว ความเชื่อที่ว่าพระมหากษัตริย์เป็นผู้ทรงความยุติธรรมสูงสุดแต่ไม่ใช้อำนาจบัญญัติกฎหมาย เพื่อสร้างความเชื่อว่ากษัตริย์ไทยไม่ใช่สมบูรณาญาสิทธิราชย์

ประเด็นที่สอง คือ ปัญหาว่าหลังการปฏิวัติ 2475 อำนาจอธิปไตยยังเป็นของกษัตริย์หรือไม่ พวกกษัตริย์นิยมอธิบายว่าหลัง 2475 อำนาจยังเป็นของพระมหากษัตริย์ แต่ได้พระราชทานให้กับคณะราษฎรเพื่อเริ่มระบอบใหม่ซึ่งพระมหากษัตริย์ก็เตรียมที่จะให้อยู่แล้ว บวรศักดิ์ (อุวรรณโณ) เสนอว่าด้วยเหตุนี้เมื่อมีการรัฐประหารล้มล้างรัฐธรรมนูญทุกครั้ง ก็ต้องถือว่าอำนาจอธิปไตยที่เคยให้ประชาชนไปนั้นก็กลับคืนมายังกษัตริย์ผู้ทรงเป็นเจ้าของเดิมมาก่อน 24 มิถุนายน 2475 นี่เป็นลักษณะพิเศษของไทยที่ไม่เหมือนประเทศอื่น

ประเด็นที่สาม คือ บทบาทของพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ในเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 และพฤษภา 2535 และในวิกฤติการเมืองนับจากปี 2549 ที่พระองค์ยุติการนองเลือดได้ พวกกษัตริย์นิยมรุ่นเก่ามักย้ำว่ากษัตริย์ไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง พวกกษัตริย์นิยมรุ่นปัจจุบันกลับผลักดันความคิดใหม่ว่ากษัตริย์ยุ่งเกี่ยวกับการเมืองอย่างเหมาะสมจึงช่วยรักษาประชาธิปไตยไว้ได้ เพราะการเมืองสกปรกล้มเหลวเกินกว่าจะเป็นประชาธิปไตยได้ (โปรดสังเกตว่า ประวัติศาสตร์แบบนี้จะยกเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 และพฤษภา 2535 เสมอ แต่หลีกเลี่ยงที่จะพูดถึงเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 และพฤษภา 2553)

ประเด็นที่สี่ คือ ประวัติศาสตร์ของธรรมราชา โดยโหมโฆษณาพระราชกรณียกิจของพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 และย้ำความสำคัญของทศพิธราชธรรมเพื่อเป็นเหตุผลสนับสนุนว่ากษัตริย์ไทยเป็น ‘ธรรมราชา’ ตามแนวคิดนี้ ทศพิธราชธรรมได้เขยิบจากหลักธรรมของพุทธราชา กลายเป็นหลักและธรรมเนียมปฏิบัติทางรัฐธรรมนูญ (convention of the constitution) ไปแล้ว

กล่าวโดยสรุป

ตามความคิดนี้กษัตริย์จะอยู่เหนือรัฐธรรมนูญ (ฉบับที่เป็นกฎหมาย) เพราะเป็นรัฐธรรมนูญที่แท้จริงของไทย 

ราชนิติธรรมในสภาวะยกเว้นให้ความชอบธรรมแก่การงดใช้ระบบกฎหมายปกติ

นักนิติศาสตร์ที่เห็นว่าสำนักกฎหมายบ้านเมืองเป็นหน่อของลัทธิอำนาจนิยมและเผด็จการในประเทศไทย มักให้เครดิตแก่สำนักกฎหมายธรรมชาติอย่างมากในการต่อสู้กับเผด็จการ มีคนหนึ่งถึงกับกล่าวว่าสำนักธรรมนิยมเป็นฝ่ายเสรีนิยม สำนักกฎหมายบ้านเมืองเป็นฝ่ายอำนาจนิยมที่รับใช้ผู้ที่ทำการประทุษร้ายต่อรัฐธรรมนูญ

เมื่อปี 2505 ในช่วงต้นของระบอบเผด็จการสฤษดิ์-ถนอม ธานินทร์ กรัยวิเชียร กล่าวว่า “การตรากฎหมายที่ลิดรอนเสรีภาพทำไม่ได้เพราะขัดกับรัฐธรรมนูญตามหลักนิติธรรม” แต่ถ้าครั้นเขาเห็นว่าหลักสูงสุดของนิติธรรมแบบไทยกำลังถูกคุกคาม เขากลับเสนอว่าหลักนิติธรรมควรมีข้อยกเว้น งดใช้เป็นการชั่วคราวก็ได้ ด้วยเหตุผลนี้เอง นักนิติศาสตร์อาวุโสของสำนักธรรมนิยมอย่าง ธานินทร์ กรัยวิเชียร จึงได้เป็นนายกรัฐมนตรีของระบอบเผด็จการขวาจัดหลัง 6 ตุลาฯ และ ปรีดี เกษมทรัพย์ ผู้นำทางความคิดของสำนักธรรมนิยมต่อต้านสำนักกฎหมายบ้านเมือง จึงกลายเป็นผู้นำการต่อต้านนักศึกษาฝ่ายซ้ายและอาจารย์เสรีนิยมรวมทั้งอาจารย์ป๋วยด้วยในช่วงก่อนเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 จนได้เป็นอธิการบดีธรรมศาสตร์หลังเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ในยุคที่ธรรมศาสตร์ไม่มีเสรีภาพสักตารางนิ้ว

วรเจตน์ ภาคีรัตน์ กล่าวไว้ว่า

“บรรดานักกฎหมายที่เข้าไปรับใช้คณะรัฐประหาร…ส่วนใหญ่แล้วไม่ได้เข้าไปเพราะมีทัศนะหรือจุดยืนทางนิติปรัชญาแบบสำนักกฎหมายบ้านเมืองเลย แต่เข้าไปเพราะทัศนะทางการเมืองหรือเข้าไปเพื่อแสวงหาผลประโยชน์หรืออำนาจทั้งสิ้น แม้แต่นักกฎหมายที่แสดงตนว่านิยมยกย่องกฎหมายธรรมชาติหรือแสดงตนว่าเชื่อมั่น ‘คุณความดี’ หรือ…เป็นคนดี ก็ล้วนเข้าไปทำงานให้คณะรัฐประหาร …มิหนำซ้ำยังพยายามอธิบาย ‘คุณความดี’ ไปในทางสนับสนุนการรัฐประหารและสร้างความชอบธรรมแก่ (ตนเองด้วย) เช่นอ้างว่าทำไปเพื่อประเทศชาติ หรือเพื่อขจัดคนเลว” 

นิติศาสตร์ไทยทั้งสองกระแสสนับสนุนระบอบอำนาจนิยมและการรัฐประหารไม่ต่างกัน หากเราเข้าใจบริบททางการเมืองช่วงต่างๆ น่าจะเห็นได้ไม่ยากว่าสองกระแสนี้มีความโลดแล่นผันแปรมาอย่างไร ในระยะหนึ่งภายใต้ระบอบเผด็จการทหาร สำนักธรรมนิยมผู้สนับสนุนราชนิติธรรมจึงพยายามคัดคานอำนาจของทหาร ครั้นสังคมไทยเอียงไปทางซ้าย ผู้นำของราชนิติธรรมก็เห็นว่าหลักนิติธรรมควรมีข้อยกเว้น สนับสนุนฆาตกรรมประชาชนอย่างเหี้ยมโหดก็ยังได้ ใช้อำนาจของรัฏฐาธิปัตย์อย่างไม่ต้องแคร์ความยุติธรรมหรือหลักกฎหมายแต่อย่างใด ครั้นกระแสความคิดลัทธิหลงใหลคลั่งไคล้เจ้า (Hyper-royalism) และระบอบการเมืองประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขขยายอำนาจจนเป็นด้านหลักของการเมืองไทย ธรรมนิยมก็ลืมคำวิจารณ์ที่ตนเคยมีต่อสำนักกฎหมายบ้านเมืองก่อนหน้านี้เสียสิ้น สนับสนุนการใช้กระสุนจริงต่อคนที่เขาเรียกว่าพวกเผาบ้านเผาเมืองก็ได้

นับแต่ทศวรรษ 1990 เราจะพบการใช้คำว่า ‘นิติรัฐ’ และ ‘นิติธรรม’ บ่อยมากขึ้น เพราะมากับกระแสปฏิรูปการเมืองและการร่างรัฐธรรมนูญ 2540 แทบไม่มีใครกล่าวถึงคำทั้งสองว่าหมายถึงการจำกัดอำนาจรัฐเพื่อพิทักษ์สิทธิเสรีภาพของประชาชนและทรัพย์สินเอกชน เพราะความหมายนี้ไม่เคยมีที่ทางในสังคมไทยเลยไม่ว่าในจารีตเดิมหรือในความคิดที่รับจากตะวันตก

คำว่า ‘หลักนิติธรรม’ ในปัจจุบันเป็นเพียงเสื้อคลุมของนิติศาสตร์แบบไทย (นิติรัฐอภิสิทธิ์ + ราชนิติธรรม) เป็นการอำพรางนิติศาสตร์แบบอำนาจนิยมให้ดูน่าเชื่อถือด้วยกฎหมายและธรรมะแค่นั้นเอง

นิติศาสตร์แบบไทยส่งผลต่อระบบกฎหมายและการเมืองอย่างมาก

ความเฟื่องฟูของราชนิติธรรมในทศวรรษหลังๆ มีผลต่อระบอบรัฐของไทยเพราะทำให้สถานะของพระมหากษัตริย์กับรัฐธรรมนูญ กับการเมือง และกับกฎหมายเปลี่ยนไป

ประเด็นแรก พระมหากษัตริย์คือรัฐธรรมนูญของไทยหรือ? 

ประเด็นที่สอง ‘เหนือการเมือง’ เปลี่ยนความหมายไป 

ประเด็นที่สาม อำนาจสูงสุดอยู่ที่ไหน?

ประเด็นแรก รัฐธรรมนูญที่เป็นกฎหมายนั้นไม่สอดคล้องกับจารีตกฎหมายของไทยจึงถูกฉีกได้ง่ายเหลือเกินทั้งที่เป็นกฎหมายสูงสุด ในทางตรงข้าม กฎหมายที่ผูกพันกับการค้ำจุนสถาบันกษัตริย์และรัฐ เช่น กฎมณเฑียรบาล กฎอัยการศึก กฎหมายความมั่นคง จึงมีความสำคัญที่ต้องบังคับใช้อย่างจริงจังและยืนยงกว่ารัฐธรรมนูญ 

ประเด็นที่สอง ความหมายของคำว่า ‘เหนือการเมือง’ เปลี่ยนแปลงผันแปรไปตามภาวะการเมืองมาตลอดนับแต่หลัง 2475 เมื่อฝ่ายกษัตริย์นิยมกลายเป็นอำนาจหลักของการเมืองไทยใน 25 ปีหลังของรัชสมัยที่แล้ว พวกเขาจึงผลักดันให้กษัตริย์เป็นอำนาจหนึ่งในระบบการเมืองไทย โดยเป็นเบื้องบนของสถาบันการเมืองอื่นๆ พระราชอำนาจแบบนี้เพิ่มพูนมากขึ้นไปอีกในรัชสมัยปัจจุบัน คือสามารถมีอำนาจโดยตรงเหนือกองกำลังอาวุธและมีอำนาจจัดการทรัพย์สินมากที่สุดนับแต่ 2475 เป็นต้นมา นับจากนี้ไป ‘เหนือการเมือง’ ตามนิติศาสตร์แบบไทย ไม่ใช่อยู่พ้นหรือไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมืองอีกต่อไป แต่หมายถึงพระราชอำนาจที่จะแทรกแซงการเมืองได้ บวรศักดิ์เรียกบทบาทนั้นว่า “องค์กรรมการและผู้ประสานรอยร้าวสูงสุดแห่งชาติ” คำถามก็คือใครคือผู้ตัดสินว่าเมื่อไรกษัตริย์จึงควรแสดงบทบาทนั้น หรือควรปล่อยให้เป็นไปตามพระราชวินิจฉัย?

การเป็นหลักสูงสุดของความยุติธรรมยังหมายถึงเป็นอำนาจสูงสุดและเป็นที่สุดในกิจการที่นอกเหนืออำนาจรัฐบาลและรัฐสภา เช่น ดูแลให้กระบวนการยุติธรรมเป็นไปอย่างเรียบร้อย (ตามพระราชประสงค์) ไม่กี่ปีมานี้ยังขยายไปถึงคณะสงฆ์ด้วย อำนาจกระทำการต่างๆ เหล่านี้มีอย่างสมบูรณ์ หมายถึงไม่มีความรับผิด ในปัจจุบันยังไม่มีใครสามารถเห็นเป็นอื่นได้ (ในขณะที่สมัยรัชกาลที่ 5 ผู้เห็นต่างยังสามารถทำได้)

ประเด็นที่สาม ในขณะที่นิติรัฐและ The Rule of Law แบบบรรทัดฐานยึดถือหลักการว่ารัฐธรรมนูญและรัฐสภาเป็นอำนาจสูงสุด (The Supremacy of the Constitution; The Supremacy of the Parliament) แต่ในนิติศาสตร์แบบไทย สถานะขององค์อธิปัตย์ (The Sovereign) ที่อยู่เหนือรัฐธรรมนูญและเป็นเบื้องบนเหนือระบบการเมืองทั้งหลายดังที่กล่าวมานั้น จะถือว่าอยู่ใต้กฎหมายหรืออยู่เหนือกฎหมาย? ผู้สนับสนุนราชนิติธรรมต้องตอบคำถามนี้ และถ้าหากกล่าวตามหลักการของ Legal State และ The Rule of Law ที่ว่ากฎหมายต้องเป็นใหญ่สุด ใครหรือกลไกใดทำหน้าที่ตรวจสอบพระมหากษัตริย์ภายใต้นิติศาสตร์แบบราชนิติธรรมมิให้กลายเป็นทรราชย์?

สมคิด เลิศไพฑูรย์ เขียนไว้เมื่อไม่นานมานี้ว่า

“ในประเทศไทยตั้งแต่มีรัฐธรรมนูญฉบับแรก พ.ศ. 2475 เป็นต้นมาถือได้ว่าประเทศไทยพยายามนำหลักนิติธรรมมาใช้กับสังคมไทย…มีรัฐธรรมนูญฉบับถาวร ที่มีการบัญญัติเนื้อหาของหลักนิติธรรมอยู่ในรัฐธรรมนูญและกฎหมาย…ไว้ได้อย่างเป็นมาตรฐานสากล ความแตกต่างสำคัญระหว่างประเทศไทยกับประเทศอื่น น่าจะอยู่ที่การบังคับใช้กฎหมาย”

เรากำลังหลอกตัวเองหรือเปล่าว่าระบบกฎหมายของไทยได้มาตรฐานสากลแล้ว แต่ปัญหาอยู่ที่การบังคับใช้ ทำไมรัฐธรรมนูญจึงเขียนอย่างสวยหรูแต่ตรงข้ามกับความเป็นจริง? น่าคิดว่าเป็นการโฆษณาชวนเชื่อของรัฐหรือ? หรือเป็นการหลงตัวเองหลอกตัวเอง? หรือเป็นการพูดอย่างทำอย่าง (hypocrisy) จนกลายเป็นนิสัยประจำชาติไปแล้ว? หรือเป็น Doublespeak หมายถึงศัพท์สำนวนที่มีความหมายตรงข้ามกับตัวอักษร เช่น เสรีภาพหมายถึงเป็นทาส จริงหมายถึงเท็จ ปฏิปักษ์ต่อรัฐธรรมนูญหมายถึงการต่อต้านรัฐประหาร ปกป้องรัฐธรรมนูญหมายถึงการรัฐประหารฉีกรัฐธรรมนูญ เป็นต้น

ถ้าเช่นนั้นคำว่า ‘นิติธรรม’ แท้จริงแล้วคงจะหมายถึงนิติอธรรม (Rule by Law)

บวรศักดิ์ กล่าวว่า ชาวตะวันตกไม่มีทางเข้าใจสถาบันกษัตริย์ในสังคมไทย โปรดอ่านข้อความนี้

“สิ่งเหล่านี้ไม่เคยมีในประเทศตะวันตกซึ่งเจริญทางวัตถุแต่เสื่อมทรามทางจิตใจ…ที่ไม่เคยอยู่ในประเทศที่ประมุขกับราษฎรมีความผูกพันอย่างอบอุ่นแนบแน่นเหมือน ‘พ่อ’ กับ ‘ลูก’ เพราะประมุขของคนตะวันตกเหล่านั้นคือ ‘นักการเมือง’ ที่มีความเท่าเทียมกับราษฎร และความผูกพันระหว่างประมุขที่เป็นนักการเมืองกับประชาชนผู้เลือกตั้ง ก็เป็นความผูกพันทางการเมืองที่เมื่อหมดความผูกพันก็สิ้นความสำคัญลง … แต่คนไทยที่รักและเทิดทูน ‘พ่อ’ ของตัวเองทุกคนคงยอมไม่ได้ที่จะให้ใครมาวิพากษ์วิจารณ์พระมหากษัตริย์ผู้เป็น ‘พ่อ’ ของพวกเขาอย่างไม่เป็นธรรม นี่คือมิติทางสังคมวัฒนธรรมทางสถาบันกษัตริย์ไทยที่คนซึ่งไม่เคยได้ ‘รู้สึก’ (feel) คงจะเข้าใจยาก เหมือนคนที่ไม่เคยมีพ่อแม่เพราะกำพร้ามาแต่เกิด ก็คงไม่เคยรู้สึกและไม่มีวันเข้าใจความรู้สึก ‘รัก’ และ ‘ผูกพัน’ ระหว่างลูกกับพ่อแม่”

ด้วยเหตุนี้ความผิดตามมาตรา 112 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกฎหมายอาญา และมิใช่ส่วนหนึ่งของบทบัญญัติทางศาสนา จึงกลับกลายเป็นบทบัญญัติศาสนาไปแล้ว การละเมิดมาตรานี้จึงกลับกลายเป็น ‘blasphemy’ หรือการดูหมิ่นศาสนาอย่างรุนแรง (คำของบวรศักดิ์) การใช้มาตรา 112 กล่าวหาผู้คนจำนวนมาก ปฏิเสธสิทธิประกันตัวของพวกเขา ตีความเกินเลยและลงโทษเกินเหตุ เหล่านี้เป็นผลลัพธ์ของความคลั่งไคล้ยึดติดจนกลายเป็นลัทธิบูชาเทวกษัตริย์คล้ายลัทธิคลั่งไคล้ศาสดา มิใช่ผลของความจงรักภักดีอย่างมีสติหรือมีเหตุผล

นิติศาสตร์แบบไทยกำลังทำให้กฎหมายที่เกี่ยวกับกษัตริย์กลายเป็นกฎหมายศาสนา แถมเป็นอภิศาสนาที่สูงกว่าศาสนาอื่นจึงยอมให้มีเสรีภาพในการนับถือไม่ได้ การกล่าวเช่นนี้มิใช่ชังชาติ แต่ชังการผลักดันให้ประเทศไทยกลายเป็นรัฐศาสนาที่คับแคบและเต็มไปด้วยความเกลียดชังต่อคนที่ไม่คลั่งไคล้แบบประจบสอพลอ

ประวัติศาสตร์และมโนทัศน์เรื่องธรรมราชาที่ใช้อธิบายเพื่อค้ำจุนราชนิติธรรม แทบทั้งหมดล้วนอิงอยู่กับเรื่องเล่าเกี่ยวกับพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ในแบบทางการเท่านั้น ถ้าเช่นนั้นราชนิติธรรมจะเหมาะสมกับเวลาอื่นภายหลังรัชสมัยของรัชกาลที่ 9 หรือ? จะยังใช้ได้หรือหากคนไทยรู้ว่าประวัติศาสตร์แบบทางการเป็นแค่ ‘fake news’ ?

มีความเป็นไปได้อย่างน้อย 2 ทิศทาง คือ หนึ่ง ขึ้นอยู่กับรัชสมัยต่อๆ มาว่าจะสามารถยืนยันว่ากษัตริย์เป็นหลักสูงสุดของกฎหมายและความยุติธรรมได้ทุกรัชสมัยหรือไม่ บทเรียนจากหลังพระปิยมหาราชช่วยให้เรารู้ว่าพระบารมีที่ยิ่งใหญ่เป็นปัจจัยทั้งบวกและภาระเกินแบกรับของรัชสมัยต่อมา เพียง 22 ปีหลังพระปิยมหาราชก็เกิด 2475 

ทิศทางที่สอง พระบารมีของพระปิยมหาราชที่อาจดูเจือจางลงเพียง 20 ปีให้หลัง หากมองจากอีกมุมหนึ่งกลับพบว่าทรงอิทธิพลถึงขนาดกลายเป็นมรดกให้เกิดการฟื้นฟูพระราชอำนาจของกษัตริย์ในรูปการต่างๆ หลายทศวรรษภายหลัง 2475 เราอาจกล่าวได้ว่าบารมีของกษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่สามารถกลายเป็น ‘สถาบัน’ ที่ส่งผลยืนยาวได้ ไม่ว่ากษัตริย์องค์ต่อๆ มาจะมีบารมีมากน้อยก็ตาม

ปราชญ์อย่างพระองค์เจ้าธานีนิวัตและของปัญญาชนฝ่ายกษัตริย์นิยมในปัจจุบัน กำลังพยายามทำให้พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 เป็น ‘บุคลาธิษฐาน’ หรือเป็นสถาบันของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขในทางการเมือง และของนิติศาสตร์แบบราชนิติธรรม ที่พวกเขาหวังว่าจะแผ่บารมีข้ามรัชสมัยในระยะยาวด้วย

ความพยายามนี้มีอยู่มากมายหลายกระบวนการ มาตรการสำคัญอย่างหนึ่งก็คือทำสิ่งที่ จอร์จ ออร์เวล เคยกล่าวไว้ “ถ้าควบคุมอดีตได้ ก็จะควบคุมอนาคตได้ ถ้าควบคุมปัจจุบันได้ ก็จะควบคุมอดีตได้” แต่ความพยายามนี้จะสำเร็จหรือไม่ มากหรือน้อย ยังขึ้นกับปัจจัยอื่นๆ อีกหลายอย่าง เพราะอดีตไม่ใช่สิ่งที่จะสามารถควบคุมได้ง่ายๆ อย่างใน 1984

ความพยายามสร้างบุคลาธิษฐานของรัชกาลที่ 9 โดยอิงอยู่กับเรื่องเล่าแบบทางราชการนั้น โปรดตระหนักว่าประวัติศาสตร์มีหลายด้านเสมอ ในอนาคตอาจมีผู้มองไปยังรัชสมัยที่ผ่านไปแล้วสรุปว่าเป็นรัชสมัยที่เริ่มต้นด้วยอภิสิทธิ์ปลอดความผิดครั้งใหญ่ที่สุด และจบรัชสมัยด้วยการทำให้พระราชอำนาจแทบจะอยู่เหนือกฎหมาย เท่ากับว่าเป็นยุคสมัยของการทำลายหลักการสำคัญสูงสุดสองอย่างของการปกครองของกฎหมาย The Rule of Law จนพังพินาศ ยุคสมัยดังกล่าวจึงอาจจัดได้ว่าเป็นยุคมืดของประวัติศาสตร์กฎหมายไทย 

ทัศนะประวัติศาสตร์เช่นนี้ปิดบังไม่ได้แล้ว

การควบคุมอดีตก็ยากขึ้นในภาวะที่ความทรงจำไม่ได้เป็นเพียงวัตถุหรือสิ่งก่อสร้างที่ริ้อทำลายให้หายวับไปได้ แต่กลับโลดแล่นในปริมณฑลสาธารณะ (public sphere) ที่รัฐคุมไม่ได้ แถมมีผู้เข้าร่วมผลิตความทรงจำนับไม่ถ้วน ดังนั้นอนาคตจึงอยู่นอกเหนือจากการควบคุมโดยสมบูรณ์ การเชิดชูเฉลิมฉลองแบบประจบสอพลอฟุ้งเฟ้อเกินสมเหตุสมผล แล้วอาศัยความกลัวและกฎหมายอยุติธรรมบังคับความคิดกัน ไม่มีทางสร้างศรัทธาอย่างหนักแน่นและยืนยาวได้ เพราะคนรุ่นหลังๆ ไม่มีประสบการณ์หรือความทรงจำร่วม วัฒนธรรมประจบสอพลออย่างน่าสะอิดสะเอียนลงท้ายแล้วจะก่อให้เกิดยุคเสื่อมสามานย์ (The Age of Decadence) ของอารยธรรมไทย

ทางเลือกอีกทางสำหรับสังคมไทยก็คือ พยายามเลิกเสพติดกับความคลั่งไคล้จนถลำลึกไปกว่านี้ เลิกอภิสิทธิ์สารพัดในนามของความมั่นคง สร้างการปกครองของกฎหมาย (The Rule of Law) ทางเลือกนี้ยากกว่าแต่มีอนาคตและยั่งยืนกว่า

ความปรารถนาและความหวัง

คนที่เห็นต่างล้วนพยายามทัดทานการผลักดันประเทศไปในทิศทางที่พวกเขาเกรงว่าจะอันตรายทั้งต่อประเทศ ต่อการเมือง ต่อระบบกฎหมาย ตุลาการ และต่อสถาบันกษัตริย์ในระยะยาวด้วย ก็เพราะประเทศไทยเป็นบ้านของเขาด้วยเช่นกัน เขารักและเป็นเจ้าของแผ่นดินนี้มากเท่าๆ กับคนที่กล่าวหาเขาว่าชังชาติ หากไม่โดนบังคับ พวกเขาก็คงเลือกตายที่นี่…เพราะความผูกพันกับบ้านเกิดเมืองนอนข้ามพ้นอุดมการณ์ทางการเมือง

หากพิจารณาอย่างมีสติจะพบว่าความคิดของคนอย่าง วรเจตน์ ภาคีรัตน์ มิได้รุนแรงเลยสักนิด แต่เป็นความคิดที่ยืนอยู่บนหลักการของนิติศาสตร์แบบบรรทัดฐานทั้งนั้น หากมองจากภายนอกสังคมไทย จะพบว่าคณะนิติราษฎร์และวรเจตน์มีความคิดเหมือนกับกระแสหลักทางวิชาการนิติศาสตร์ในที่อื่นๆ ทั้งโลก ถ้าเช่นนั้นอะไรเล่าที่ทำให้ความคิดดังกล่าวกลับถูกมองจากบางคนว่าเป็นความคิดที่อันตรายเสียเหลือเกิน

คำตอบก็คือเพราะอำนาจหลักทางการเมืองของไทย กระแสหลักทางวัฒนธรรมความคิดในสังคมไทยได้ถอยหลังไปสุดกู่เกินกว่ากระแสหลักของสังคมไทยก่อนหน้า 2549 ถอยหลังไปไกลกว่ากระแสหลักในทางการเมืองและทางนิติศาสตร์ของที่อื่นๆ ในโลก ในภาวะเช่นนี้ ความคิดที่มั่นคงในหลักการของนิติศาสตร์กระแสหลักเมื่อ 10-20 ปีก่อนและของโลกจึงกลายเป็นความคิดที่ก้าวหน้าขึ้นมาทันที

อาจารย์ลิขิต ธีรเวคิน สิ้นชีวิตด้วยการที่หลายคนบอกว่าท่านเป็นฝ่ายซ้าย สำหรับผมเหลือเชื่อ แต่เพราะสังคมไทยถอยหลังไปอย่างมหาศาล

นี่คงเป็นสิ่งที่เราทุกคนปรารถนาเช่นกัน ความปรารถนานี้หมายถึงไม่ควรให้อภิสิทธิ์แก่รัฐหรือผู้มีอำนาจและผู้ยิ่งใหญ่คนไหนทั้งสิ้น ทุกคนต้องเท่ากันเบื้องหน้ากฎหมายและต้องไม่มีอภิสิทธิ์ที่น่ารังเกียจสุดๆ อย่างอภิสิทธิ์ปลอดพ้นความผิดอีกต่อไป

หลายคนเห็นว่านี่เป็นอุดมคติ คงยังอีกไกลกว่าประเทศไทยจะไปถึงหลักการเหล่านี้ แถมเราไม่มีประวัติศาสตร์เหมือนอย่างประเทศที่ใช้หลักการปกครองของกฎหมาย ผมเห็นว่าหลักการเหล่านี้เป็นอุดมคติของคนได้ทั้งโลกรวมทั้งประเทศไทยหากเราปรารถนา แต่หากเราต้องการอย่างนั้น เราต้องหาหนทางและสร้างประวัติศาสตร์ของเราเอง 

เราสามารถตั้งความปรารถนาแล้วหาหนทางเดินไปข้างหน้าสู่จุดหมายนั้นตามเงื่อนไขของสังคมไทยเองได้  อันที่จริงเราเดินมาถึงปัจจุบันนี้ได้ก็เพราะบรรพบุรุษของเราทุกรุ่นไม่ยึดติดกับอดีต แต่พวกเขาตั้งความปรารถนาแล้วบุกเบิกสร้างสรรค์หนทางเดินไปข้างหน้าตลอดมาทุกรุ่น ท่านคิดว่าพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 มีความมุ่งมั่น (สปิริต/spirit) อย่างไรจึงกระทำการหาญกล้าเปลี่ยนแปลงประเทศขนานใหญ่ พระองค์ต่อสู้กลุ่มอนุรักษนิยมในยุคนั้นตั้งแต่ช่วงที่พระองค์ยังไม่มีอำนาจจริง การเปลี่ยนแปลงใหญ่ขนาดนั้นนับจากต้นจนสิ้นรัชกาล สะท้อนความมุ่งมั่นทั้งทางสติปัญญาและการปฏิบัติ ผู้มีคุณสมบัติแบบนี้ก็เพราะตระหนักว่าปัจจุบันมิได้เป็นหนี้ต่ออดีตแค่นั้น แต่ยังขอกู้อนาคตมาจากลูกหลานด้วยจึงต้องไม่ดันทุรังผลักปัจจุบันให้ถอยไปข้างหลัง

ป๋วย อึ๊งภากรณ์ นามนี้หมายถึงความซื่อสัตย์ เรามักเข้าใจว่าความซื่อสัตย์ของท่านหมายถึงการไม่โกงกิน แต่ความซื่อสัตย์ของท่านที่เราไม่ค่อยพูดถึงกันนักคือ การไม่ทรยศหลักการที่ท่านยึดถือ ท่านยอมงอไม่ได้ ขอ ‘อยู่ไม่เป็น’ ดีกว่า ถึงแม้ว่าจะทำให้ท่านอยู่ไม่ได้ก็ตาม ความสัตย์ประเภทนี้ต้องมีศรัทธาและมีความกล้าหาญที่จะรับผลของการไม่ยอมงอ ท่านคงปฏิเสธคำวิจารณ์ในหลายเรื่องไม่ได้เพราะท่านเป็นมนุษย์ปกติที่มีข้อดีข้ออ่อน แต่คงไม่มีใครสงสัยในความกล้าหาญของท่านที่จะไม่ยอมงอในยามวิกฤติ

คุณสมบัติข้อนี้หาได้ยากเหลือเกินในประเทศไทยที่มีคน ‘อยู่เป็น’ เต็มแผ่นดิน 

มีคนเฝ้าประจบสอพลอว่าประเทศไทยที่เสื่อมลงทุกด้านเป็นความวิเศษที่สุดมากเกินไป แซ่ซ้องพระราชาที่ไม่สวมเสื้อผ้าว่าเป็นฉลองพระองค์ที่สวยที่สุดดังนิทานฝรั่งว่าไว้

ประเทศนี้หาผู้กล้าหาญที่จะ “ไม่ยื่นดาบให้กับพระมหากษัตริย์” ดังที่บัญญัติกฎมณเฑียรบาลบัญญัติไว้ในสมัยอยุธยาได้ยากเหลือเกิน แต่เราเห็นคนในวิชาชีพกฎหมายเบียดเสียดแย่งกันเข้าประตูห้องประชุมวุฒิสภา 

เพราะเหตุนี้เอง ประชาชนจึงต้องต่อสู้เอาเองเพื่อการปกครองของกฎหมาย เพื่อความยุติธรรม

คนอย่าง สมยศ พฤกษาเกษมสุข, ดารณี ชาญเชิงศิลปกุล, ภรณ์ทิพย์ มั่นคง, ปติวัฒน์ สาหร่ายแย้ม, ไผ่ ดาวดิน, สิรภพ หรือ ‘รุ่งศิลา’ และปัจเจกบุคคลอีกมากมายที่เป็นเหยื่อของความอยุติธรรม และอีกมากมายที่เอาตัวเข้าแลกเพื่อต่อสู้กับความอยุติธรรมในจังหวัดชายแดนใต้และกรณีอื่นๆ สักวันหนึ่งคนเหล่านี้จะได้รับการยอมรับ บันทึกอยู่ในความทรงจำของสังคมว่า เขาเป็นคนที่ไม่ยอมก้มหัวให้กับความอยุติธรรมของระบบกฎหมายแบบไทยๆ

กลุ่มนักกฎหมายผู้ทำงานอย่างหนักเพื่อต่อสู้กับระบบกฎหมายอยุติธรรมอย่างขอเอ่ยชื่ออย่างเป็นทางการอีกครั้ง เช่น ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนและโครงการ iLaw และนักกฎหมายอีกหลายท่านคือผู้บุกเบิกที่สร้างความปรารถนาถึง The Rule of Law ให้เป็นความจริงในสังคมไทย พวกเขาเฝ้าบอกแก่เราท่านด้วยการกระทำของเขาว่า นิติศาสตร์และระบบกฎหมายที่ยุติธรรมเป็นไปได้ และถ้าหากจะมีคุณอะไรก็ตามในการนำเสนอ ขอให้พวกท่านคิดถึงคนเหล่านี้และสนับสนุนพวกเขาให้เต็มที่

ขอให้ผู้พิพากษาที่ดับชีวิตของตนสังเวยความอยุติธรรมของระบบกฎหมายและตุลาการจงเป็นคนสุดท้ายเถิด

ประชาชนเหลืออดแล้ว กับการแทรกแซงกระบวนการตุลาการเพื่อเป็นเครื่องมือของความมั่นคง และกับการที่สถาบันตุลาการ ‘อยู่เป็น’ ถวายตัวรับใช้รัฐอภิสิทธิ์ ถวายใจรับใช้ผู้ยิ่งใหญ่แทนที่จะรับใช้ความยุติธรรม นิติรัฐแบบนี้ผิดและผิด และจะต้องยุติ พอกันที

ประเทศไทย สังคมไทยต้องการการปกครองของกฎหมาย ไม่ใช่การปกครองของผู้ยิ่งใหญ่ด้วยกฎหมาย ไม่ใช่นิติอธรรมอย่างเด็ดขาด

ขอบคุณครับ

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า