ยกเครื่องมหาวิทยาลัยไทย | บทที่ 2: ภาระการสอนกับวิจัยไม่ควรขัดแย้งกัน แต่กลับขัดแย้งกันอย่างประสานงา

เนื้อหาและความเห็นในบทความเป็นสิทธิเสรีภาพและทัศนะส่วนตัวของผู้เขียน โดยอาจไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับทัศนะและความเห็นของกองบรรณาธิการ

การไต่แรงก์กิงอย่างที่มหาวิทยาลัยไทยพยายามทำ เป็นดัชนีหรือตัวชี้วัดการปรับตัวของอุดมศึกษาไทยสู่การเป็นมหาวิทยาลัยวิจัยระดับโลก เพราะผู้จัดแรงก์กิง 2 รายหลักที่มหาวิทยาลัยของไทยและของเอเชียยึดถือมากที่สุดคือ Times และ QS ซึ่งทั้งคู่เป็นการจัดอันดับที่ให้ความสำคัญกับการตีพิมพ์ จำนวนการอ้างอิงผลงานวิจัยของอาจารย์ และนักวิจัยในมหาวิทยาลัยต่างๆ ส่วนความสำคัญกับการสอนและการบริการทางสังคมเป็นเรื่องรอง

ถ้าให้ความสำคัญกับการจัดแรงก์กิงของ 2 รายนี้ ย่อมต้องผลักดันการตีพิมพ์ผลงานวิจัย และหมายถึงต้องผลักดันอาจารย์ให้วิจัยเป็นภารกิจหลัก พยายามตีพิมพ์ผลงานให้ได้ แรงก์กิงจะได้ไต่สูงขึ้น

ดังนั้น หากจุดมุ่งหมายหรือภารกิจหลักของมหาวิทยาลัยไทยเป็นอย่างอื่น เช่น เน้นการสอนและการผลิตแรงงานมีฝีมือ ก็ไม่ควรให้น้ำหนักกับการจัดอันดับของ 2 รายนี้มากจนเกินไป หรือต้องสร้างระบบสนับสนุนการวิจัยที่ดี และต้องลดทอนอุปสรรคถ่วงรั้งภารกิจการวิจัย

มหาวิทยาลัยต่างๆ ในแต่ละประเทศ มีภารกิจไม่เหมือนกัน โดยทั่วไปจัดเป็น 2 ประเภทหลัก ๆ ได้แก่

  1. มหาวิทยาลัยที่เน้นการวิจัยซึ่งต้องทำการสอนและบริการทางสังคมด้วย
  2. มหาวิทยาลัยที่เน้นการสอนเพื่อผลิตบัณฑิตและแรงงานทักษะสูงเข้าสู่ตลาด โดยการวิจัยเป็นภารกิจรอง

ในระบบอุดมศึกษานั้นๆ จะมีมหาวิทยาลัยประเภทอื่นๆ เสริมความต้องการของสังคมและท้องถิ่นด้วย อาทิ มหาวิทยาลัยท้องถิ่นและมหาวิทยาลัยเฉพาะทาง เช่น ด้านภาษา ด้านการสื่อสาร ด้านการออกแบบ ด้านบริหารธุรกิจ เป็นต้น 

ความแตกต่างของมหาวิทยาลัยสารพัดประเภทเหล่านี้ก็คือ ต้องจัดการสัดส่วนภาระงานของอาจารย์และกิจกรรมในมหาวิทยาลัยให้สอดคล้องกับภารกิจของมหาวิทยาลัยนั้นๆ ที่ชัดเจนมากที่สุดก็คือ ในมหาวิทยาลัยที่เน้นการสอน อาจารย์ต้องสอนมากวิชามากชั่วโมงกว่าอาจารย์สาขาวิชาเดียวกันในมหาวิทยาลัยที่เน้นการวิจัย อาจารย์คนหลัง (ในมหาวิทยาลัยวิจัย) ต้องสอนเช่นกัน แต่จำกัดเวลาสอนเพราะต้องให้เวลากับการวิจัย เพราะตัวชี้วัดความก้าวหน้าในวิชาชีพที่สำคัญคือต้องผลิตผลงานวิจัย (สำหรับทางสังคมศาสตร์มนุษยศาสตร์ หมายถึงการตีพิมพ์หนังสือและบทความในวารสารต่างๆ) ในขณะที่อาจารย์ในมหาวิทยาลัยที่เน้นการสอน จะไม่ถูกคาดหวังให้ผลิตงานวิจัยด้วยเกณฑ์เดียวกัน

มหาวิทยาลัยในประเทศเอเชียส่วนข้างมากเป็นมหาวิทยาลัยที่เน้นการสอน และการผลิตบุคลากรผู้เชี่ยวชาญ หรือแรงงานทักษะสูง มีเพียงญี่ปุ่นประเทศเดียวที่มีมหาวิทยาลัยชั้นนำที่เน้นการวิจัยมาตั้งแต่สมัยเมจิ

สาเหตุที่มหาวิทยาลัยในเอเชียไม่เน้นการวิจัย แต่เน้นการผลิตแรงงานทักษะสูง ก็เพราะระบบอุดมศึกษาของเอเชียแทบทั้งหมด มีรากฐานเป็นแบบอาณานิคม (colonial higher education) เพื่อผลิตคนเข้ารับใช้รัฐ ภาคธุรกิจ และสังคมสมัยใหม่ที่ขยายตัว ส่วนการวิจัยเป็นเรื่องต้องลงทุนสูง ต้องใช้เวลา และต้องมีฐานความรู้ในสาขาวิชาหนึ่งๆ ต่อเนื่องมานานพอสมควร ซึ่งมหาวิทยาลัยในโลกตะวันตกทำได้ดีกว่า (หากคิดตามระบบการแบ่งงานกันทำของโลกยุคอาณานิคม) 

ประเทศอาณานิคมและกึ่งอาณานิคมที่กำลังสร้างระบบอุดมศึกษาขึ้นมา จึงพึ่งพิงโลกตะวันตกในด้านการวิจัย ส่วนตัวเองเน้นการผลิตความรู้แบบประยุกต์ ผลิตบัณฑิตแบบช่างเทคนิค (ทั้งทางวิทยาศาสตร์และทางสังคม) แบบเร่งด่วน เพื่อให้สามารถรองรับระบบราชการ กิจการสมัยใหม่ได้เป็นพอ คิดค้นเองไม่ได้ ปรับตัวไม่เก่งก็ไม่เป็นไร

สยาม/ไทย ซึ่งไม่ตกเป็นอาณานิคมอย่างเป็นทางการ แต่รัฐและระบบราชการสมัยใหม่ล้วนเดินตามอย่างประเทศอาณานิคม รวมทั้งระบบอุดมศึกษาและมหาวิทยาลัยก็มีภารกิจและคุณลักษณะต่างๆ ทำนองเดียวกับมหาวิทยาลัยแบบอาณานิคม เช่น เน้นคณะสาขาวิชาหลักๆ ผลิตความรู้และบัณฑิตที่ใช้งานได้ตามความต้องการของระบบราชการและสังคมสมัยใหม่ สาขาวิชาที่ไม่มีประโยชน์ใช้สอยตรงๆ ก็ถูกละเลยทำนองเดียวกัน (เช่น วิทยาศาสตร์บริสุทธิ์ มนุษยศาสตร์) และโดยพื้นฐานเป็นมหาวิทยาลัยที่เน้นการสอนเหมือนๆ กัน การวิจัยเป็นภารกิจที่ยากและแพงเกินตัว (มรดกของอุดมศึกษาแบบอาณานิคมยังมีผลตกทอดมาถึงปัจจุบัน แม้บริบทต่างๆ จะเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิงแล้วก็ตาม)

จนกระทั่งนับจากประมาณทศวรรษ 1980 นี่เอง หลายประเทศในเอเชียร่ำรวยขึ้น จึงขยายอุดมศึกษาเพิ่มจำนวนมหาวิทยาลัยทั้งรัฐและเอกชน ทั้งเพื่อรองรับเศรษฐกิจบูม ประชากรที่ขยายตัว มีฐานะดีขึ้น และเพื่อพร้อมทะยานสู่อนาคตตามศักยภาพที่สูงขึ้นอย่างรวดเร็ว มหาวิทยาลัยมีทรัพยากรทั้งนักวิชาการและทางวัตถุ จึงมีศักยภาพที่จะขยับสู่การเป็นมหาวิทยาลัยวิจัย เป็นผู้ผลิตความรู้ใหม่ ไม่ใช่เป็นแค่ผู้รับและประยุกต์ใช้เท่านั้น

ความพยายามเปลี่ยนนี้เริ่มขึ้นเมื่อประมาณ 30 ปีที่ผ่านมานี้เอง

จึงไม่แปลกที่พบว่า จำนวนมหาวิทยาลัยวิจัยเพิ่มขึ้นในประเทศเอเชียที่ร่ำรวยพอสมควร มีทรัพยากรบุคคล และมีระบบการศึกษาก่อนปริญญาตรีที่เข้มแข็งพอสมควร ได้แก่ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สิงคโปร์ ไต้หวัน เป็นต้น ประเทศที่รวยน้อยกว่าหรือมีความพร้อมน้อยกว่าก็พยายามขยับตัวเป็นมหาวิทยาลัยวิจัยในระลอกต่อมา เช่น มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ เป็นต้น

ไม่น่าแปลกใจที่ไทยก็อยากขยับเป็นมหาวิทยาลัยวิจัยเช่นกัน ตามแนวทางของมหาวิทยาลัยในเอเชียที่เดินนำไปก่อน ผมเชื่อด้วยว่ามีความพยายามจะปรับให้เหมาะกับเงื่อนไขของไทยแล้ว แต่เท่าที่ปรากฏออกมา ดูเหมือนว่า เราไม่เข้าใจการเปลี่ยนจากมหาวิทยาลัยเน้นการสอน (ที่มีรากมาจากอุดมศึกษาแบบอาณานิคม) สู่การเป็นมหาวิทยาลัยวิจัยเท่าไรนัก

สิ่งที่เลือกมาใช้กับไทยนั้น น่าสงสัยว่าเลือกจากมุมมองของผู้มีอำนาจที่ไม่ไว้ใจอาจารย์ ถือว่าอาจารย์เป็นผู้ใต้บังคับบัญชาแบบราชการ ต้องการควบคุมอาจารย์ไว้ให้มั่น ทัศนะเหล่านี้ขัดแย้งกับการบริหารวิชาการอุดมศึกษาที่ควรจะเป็นทั้งสิ้น (จะขยายความประเด็นนี้ในตอนข้างหน้า)

ความพยายามไต่แรงก์กิงของไทยมาควบคู่กับระยะที่อุดมศึกษากำลังขยายตัวอย่างรวดเร็ว ทั้งเพื่อรองรับอุปสงค์เนื่องจากประชากรวัยเรียนขยายตัว ได้รับการศึกษาพื้นฐานค่อนข้างทั่วถึง และเพื่อเพิ่มรายได้ของมหาวิทยาลัยที่ต้องพึ่งตัวเองมากขึ้นกว่าก่อนออกนอกระบบ โปรแกรมและวิชาใหม่ๆ เปิดขึ้นจำนวนมากในเวลาไม่นานนัก มีเป็นชั่วโมงที่ต้องการผู้สอนจำนวนมหาศาล แต่ในเวลาเดียวกัน การไต่แรงก์กิงก็ต้องการให้มีผลงานวิจัยตีพิมพ์มากขึ้น และต้องเป็นงานที่ดีซึ่งมีคนอ้างอิงนำไปใช้ต่อ ยิ่งมากยิ่งดี การวิจัยที่ดีได้ตีพิมพ์ในวารสารนานาชาติและมีคนอ้างอิงเยอะๆ นั้น ผู้วิจัยต้องการเวลาพอควรและต่อเนื่องก็ยิ่งดี เพื่อทุ่มเทกับการขบคิดค้นคว้า ลำพังแค่การเขียนบทความภาษาอังกฤษให้ดีก็ต้องใช้เวลามากพอควร

มหาวิทยาลัยวิจัยทั้งโลกจึงจำกัดภาระการสอนของอาจารย์ เพื่อให้มีเวลาทำงานวิจัย สภาวะการทำงานที่เอื้อต่องานวิจัยและการสอนต้องไม่ขัดแย้งกัน

การลดภาระการสอนเป็นกุญแจสำคัญที่สุดก็ว่าได้ สำหรับการเปลี่ยนมหาวิทยาลัยที่เดิมเน้นการสอนให้เป็นมหาวิทยาลัยวิจัย มีมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งซึ่งปรับตัวได้เร็วอย่างน่าพิศวงสำหรับวงการอุดมศึกษาทั้งโลก เขาประกาศเมื่อต้นทศวรรษ 2000 ลดภาระการสอนสำหรับอาจารย์ด้านสังคมศาสตร์มนุษยศาสตร์ จากเดิมคนละ 6 วิชาต่อปี (โดยเฉลี่ย) ลดลงเป็น 3-4 วิชาต่อปีให้ได้ในเวลาเพียงไม่กี่ปี ความสำเร็จตรงนี้เป็นเงื่อนไขจำเป็น ทำให้เขาเปลี่ยนเป็นมหาวิทยาลัยวิจัยได้และแรงก์กิงขยับขึ้นเร็วมากในเวลาเพียง 10 กว่าปีหลังจากนั้น

อย่างไรก็ดี เงื่อนไขที่เอื้อให้เขาสามารถทำได้สำเร็จนั้น แทบเป็นไปไม่ได้ในที่อื่น นั่นคือ ใช้ภาษาอังกฤษเป็นหลักในการสอนอยู่แล้ว และมีเงินมหาศาลเพื่อทุ่มจ้างอาจารย์ใหม่ๆ จากที่ต่างๆ ในโลก เพิ่มจำนวนผู้สอนวิชาต่างๆ ทดแทนการที่แต่ละคนสอนน้อยลงเพื่อทำวิจัยให้มากขึ้น ทั้งนี้ มีปัญหาในรายละเอียดอีกมากที่ขอไม่กล่าวถึงในที่นี้

ข้อเท็จจริงในสังคมไทยคือ นักวิชาการกลับมีภาระงานสอนเพิ่มขึ้น (มิใช่ลดลง) เพื่อสนองโปรแกรมและวิชาที่เปิดเพิ่มขึ้น แถมยังถูกกำหนดว่าต้องตีพิมพ์ผลงานวิจัยในวารสารนานาชาติมากขึ้นหากต้องการต่อสัญญา เขาจะเอาเวลามาจากไหน ตกอยู่ในภาวะที่เปรียบเสมือนถูกลงแส้ให้ทำงานอย่างหนัก ภารกิจการสอนกลายเป็นอุปสรรคไม่เอื้อต่อภารกิจวิจัย

มักกล่าวกันว่าอาจารย์พอใจจะสอนเองเพื่อเพิ่มรายได้ แถมยังเป็นรายรับที่แน่นอนกว่า คาดหมายวางแผนการเงินของตนเองได้ชัดเจนกว่า และได้มาในเวลาสั้นกว่าการผลิตตีพิมพ์งานวิจัยเสียด้วย เพราะรางวัลตอบแทนที่จะได้จากการตีพิมพ์งานวิจัยนั้นไม่แน่นอนว่าจะได้หรือไม่ และกินเวลานานกว่ามาก ถ้าเป็นผมก็คงเลือกเช่นนั้น เพราะเป็นการเลือกที่สมเหตุสมผล (rational) กว่า

ถ้าเช่นนั้น การกำหนดให้อาจารย์ต้องผลิตผลงานวิจัยตีพิมพ์ในวารสารนานาชาติมากชิ้น ในขณะที่ต้องสอนมากวิชามากชั่วโมงราวกับโรงเรียนประถม ย่อมไม่สมเหตุสมผล ยิ่งถึงขนาดบังคับว่าหากผลิตผลงานไม่ถึงเป้าก็จะไม่ได้ต่อสัญญาจ้าง ยิ่งไม่สมเหตุสมผล

รางวัลจูงใจนับแสนบาทต่อบทความหนึ่งชิ้นดังที่บางมหาวิทยาลัยสัญญา หรือเงินที่จะมากับตำแหน่งทางวิชาการที่สูงขึ้น ล้วนไม่ได้ลดเวลาสอนหรือเพิ่มเวลาทำวิจัย แต่ล้วนอยู่บนความเชื่อว่า อาจารย์ทำงานไม่หนักพอ ต้องทำได้ทั้งสอนมากและผลิตงานวิจัยดีๆ ต้องทำงานให้หนักกว่านี้ ผู้บริหารต้องลงแส้เข้าไปอีกจึงจะเพิ่มผลิตภาพ (productivity)

รางวัลจูงใจพรรค์นี้เกิดจากความเข้าใจผิดและทัศนะผิดๆ ว่า อาจารย์เสมือนไพร่ที่ต้องลงแส้จึงจะทำงานเต็มศักยภาพ

หากตั้งเป้าหมายจะเป็นมหาวิทยาลัยวิจัย อันดับแรกที่ต้องทำคือลดภาระการสอน อันดับต่อมาคือต้องมีระบบสนับสนุนการวิจัย (จะกล่าวถึงเรื่องนี้ในตอนอื่น) ไม่ใช่ลงแส้ให้แต่ละคนดิ้นรนกันเอง

ถึงอย่างนั้นก็ดี ไม่มีความจำเป็นใดๆ ที่มหาวิทยาลัยทุกแห่งในประเทศต้องตั้งเป้าหมายหรือใช้เกณฑ์แบบมหาวิทยาลัยวิจัยเหมือนๆ กัน ต่อให้อยากทำเช่นนั้นก็เป็นไปไม่ได้ สำหรับระบบอุดมศึกษาที่เน้นการสอนมาตลอด ยิ่งไม่จำเป็นต้องบังคับให้อาจารย์ทุกคนถูกวัดผลหรือต่อสัญญาด้วยจำนวนผลงานตีพิมพ์

ในภาวะปัจจุบันที่ประชากรลดลง คนหนุ่มสาวที่ต้องการปริญญาลดลง มหาวิทยาลัยหลายแห่งกำลังมีปัญหาขาดนักศึกษา อาจจะเป็นโอกาสดีที่จะหาทางลดชั่วโมงสอนต่อคนลง และไม่ต้องเลิกจ้างให้คนตกงาน สร้างระบบที่เปิดโอกาสแก่อาจารย์นักวิจัยผู้ยินดีรับการท้าทายว่าต้องผลิตงานวิจัย โดยคงช่องทางไว้ตามเดิมแก่อาจารย์ที่ต้องการทุ่มเทกับการสอนได้ทำงานที่รักต่อไป

บทความตอนต่อไป : ไต่แรงก์กิง อิง Scopus หาทางลัดแต่ไม่พัฒนา

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า