ยกเครื่องมหาวิทยาลัยไทย | บทที่ 1: ยิ่งอยากไต่อันดับ ยิ่งถดถอย

เนื้อหาและความเห็นในบทความเป็นสิทธิเสรีภาพและทัศนะส่วนตัวของผู้เขียน โดยอาจไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับทัศนะและความเห็นของกองบรรณาธิการ

มีหลักง่ายๆ อยู่อย่างหนึ่งสำหรับประเมินการปฏิบัติงานของระบบใดก็ตาม ไม่ว่าราชการ การเมือง ธุรกิจ ทีมฟุตบอล หรือการจัดการศึกษา นั่นคือหลังจากกำหนดวัตถุประสงค์หรือภารกิจตามวิสัยทัศน์ แล้วออกมาตรการปฏิบัติเพื่อหวังให้บรรลุผลตามวัตถุประสงค์นั้น แต่หากผลที่ได้รับกลับไม่เป็นไปตามที่ประสงค์หรือกลับแย่ลงกว่าเดิม ย่อมเป็นข้อพิสูจน์ชัดเจนว่าวิสัยทัศน์หรือมาตรการในทางปฏิบัติเหล่านั้นล้มเหลว เดินมาผิดทาง ถ้าไม่ยกเลิกเสียคือหยุดทันทีเพื่อลดผลเสียยิ่งกว่าเดิม อย่างน้อยก็ต้องยกเครื่องกันขนานใหญ่อย่างเร่งด่วน

ระบบอุดมศึกษาของไทยใน 10 กว่าปีที่ผ่านมาต้องการเป็นมหาวิทยาลัยระดับโลก โดยตั้งเป้าหมายรูปธรรมว่าต้องขยับอันดับ หรือที่รู้จักกันว่าแรงก์กิง (ranking) ให้ได้สูงขึ้นจนติดอันดับบนๆ จากนั้นก็ออกมาตรการต่างๆ สารพัด โดยเฉพาะการควบคุมลงแส้ให้อาจารย์มหาวิทยาลัยทำผลงานให้ได้ตามเกณฑ์ที่กำหนดขึ้น โดยเฉพาะการตีพิมพ์งานวิจัยในวารสารชั้นนำระดับโลก แต่ผลที่ได้ในแต่ละปีตลอด 10 ปีที่ผ่านมาก็ฟ้องอยู่ทนโท่แล้วว่า อันดับมหาวิทยาลัยของไทยแย่ลงหรือคงที่ (จุฬาฯ กับมหิดลเท่านั้นที่ขึ้นๆ ลงๆ และสิบปีผ่านไปอันดับขยับขึ้นนิดเดียว)

อันดับของมหาวิทยาลัยไทยโดย QS ปี 2013-2024(QS Rankings of Thai Universities 2013-2024)

นี่เป็นหลักฐานชัดเจนว่าสิ่งที่กำลังทำอยู่นั้นผิดทิศผิดทางล้มเหลวไม่เป็นท่า

20 กว่าปีที่ผ่านมา เกิดปรากฏการณ์กับอุดมศึกษาในหลายประเทศที่ให้ความสำคัญกับการจัดอันดับ เพราะหวังว่าความพยายามไต่แรงก์กิงจะกระตุ้นให้เกิดการยกระดับคุณภาพของวิชาการและการวิจัย แต่แล้วอุดมศึกษาของหลายประเทศกลับถลำตัวหมกมุ่นกับการไต่แรงก์กิงจนเกินไป พยายามหาเทคนิควิธีการสารพัดเพื่อมุ่งให้แรงก์กิงขยับ แทนที่จะพยายามยกระดับคุณภาพของวิชาการและการวิจัยอย่างเป็นจริง

การหมกมุ่นกับปัจจัยเล็กที่เป็นส่วนต่อขยายจากปัจจัยหลัก คิดว่าปัจจัยเล็กจะทำให้ปัจจัยหลักขยับเปลี่ยนแปลงแบบนี้ เรียกกันว่า หางกระดิกหมา (The tail wagging the dog.)

หนึ่งในบรรดาอุดมศึกษาและมหาวิทยาลัยที่ถลำตัวหมกมุ่นกับการไต่แรงก์กิงจนเชื่อว่าหางจะกระดิกหมาได้ คืออุดมศึกษาของไทย

มิหนำซ้ำ มาตรการทั้งหลายที่หวังว่าจะช่วยให้อันดับดีขึ้น กลับเป็นเหตุให้เกิดเสียงร้องเรียนและข้อครหามากมาย แย่กว่านั้นคือเกิดการพัฒนาเทคนิควิธีการเพื่อให้อยู่กับระบบเช่นนี้ได้ โดยไม่ต้องพัฒนาคุณภาพขึ้นมาแต่อย่างใด ผลก็คืออุดมศึกษาที่เต็มไปมหาวิทยาลัยแบบอยู่เป็นและคนอยู่เป็น ที่เจ้าเล่ห์กว่านั้นคือสามารถเล่นกลกับระบบได้ เช่น การซื้อขายเพื่อให้ ‘ชื่อ’ ปรากฏในงานที่ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการนานาชาติ หรือการที่นักวิจัยไทยบางคนมีความสามารถมหัศจรรย์ ผลิตงานจำนวนมากอย่างเหลือเชื่อจนโลกวิชาการตั้งข้อสงสัยผ่านวารสารระดับโลก

เท่าที่ผมพอจะประมวลได้ ข้อวิจารณ์หนักที่สุดจากบรรดาอาจารย์นักวิชาการในมหาวิทยาลัยมี 3 ประเด็นหลักคือ

หนึ่ง ภาระงานมากเกินไป สอนมากเกินไป ที่แย่กว่านั้นคือหมดเวลาไปกับการทำ paperwork สารพัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเก็บข้อมูลตัวชี้วัดต่างๆ เพื่อกรอกแบบฟอร์มประเมินผล ซึ่งมีมากและบ่อยเกินจำเป็น แย่งเวลาไปจากงานหลักทั้งการสอนและวิจัยอย่างมาก ผู้บริหารที่แย่หน่อยก็จะบังคับกะเกณฑ์ให้อาจารย์ทำงานหนักกว่าที่ควรจะเป็น ที่ดีหน่อยก็โอนอ่อนผ่อนผันให้ความกรุณาสร้างบุญคุณต่อกันไป

ภาระงานที่พอเหมาะควรเป็นเงื่อนไขตามปกติของทุกคนควรได้รับ มาตรการที่ดีควรจะท้าทายความสามารถและเป็นโอกาสแก่การเติบโตทางปัญญา วิชาการและวิชาชีพ โดยไม่ต้องกลัวจะถูกจับผิด ไม่ต้องกังวลว่าจะไม่ได้ต่อสัญญา และโดยไม่ต้องมีใครเป็นหนี้บุญคุณใคร

สอง มาตรการและเกณฑ์วัดผลจำนวนมากไม่สมเหตุสมผล บางอย่างปฏิบัติไม่ได้ (จะอธิบายกรณีสำคัญๆ ในตอนต่อๆ ไป) นำไปสู่นวัตกรรมแบบเจ้าเล่ห์เพื่อให้อยู่รอดได้ อาทิ พัฒนาเทคนิคการกรอกแบบฟอร์มประเมินคุณภาพให้เป็นไปตามที่ผู้บริหารและกระทรวงการอุดมศึกษาฯ (อว.) ต้องการ หรือดูดีกว่าเกณฑ์ที่กำหนดไว้ด้วยซ้ำไป หรือการสร้างวารสารในประเทศ และ ‘วารสารนานาชาติ’ จำนวนมากขึ้นมาในประเทศไทย เพราะตั้งเกณฑ์ขึ้นมาแล้ว แต่นักวิชาการไทยส่งไปวารสารนานาชาติของจริงแล้วถูกตีตกกลับมามาก จึงต้องหาทางเลี่ยงเกณฑ์ที่ตั้งขึ้นมา (แทนที่จะทบทวนเกณฑ์ดังกล่าว) หรือกระทั่งการตั้งโครงการปริญญาเอกขึ้นมาในประเทศจำนวนมาก เพื่อเพิ่มจำนวนอาจารย์ที่จบปริญญาเอกในสถาบันต่างๆ ตามที่ตัวชี้วัดของกระทรวงการอุดมศึกษาฯต้องการ โดยไม่ต้องเสียเงิน เวลา แถมไม่ต้องเสี่ยงสมัครไปเรียนต่างประเทศแล้วอาจจะไม่ได้หรืออาจจะเรียนไม่จบ (แถมยังใช้ ป.เอกเป็นกำนัลเพื่อการสร้างความสัมพันธ์อันดีกับผู้มีทุนหรือมีอำนาจหรือมีบุญคุณก็ได้ด้วย)

นวัตกรรมแบบเจ้าเล่ห์ทำนองนี้ เป็นไปได้เพราะระบบอุดมศึกษาเต็มไปด้วยเครือข่ายอุปถัมภ์ทั้งในสถาบันหนึ่งๆ และระหว่างสถาบัน จึงต้องช่วยกันยอมรับ (หรือไม่กล้าปฏิเสธขัดใจกัน) วารสารด้อยคุณภาพและโครงการปริญญาเอกที่ตั้งขึ้นมาว่าได้มาตรฐานดีพอๆ กับวารสารและปริญญาเอกนานาชาติ นวัตกรรมแบบเจ้าเล่ห์เหล่านี้ไม่เกี่ยวกับการพัฒนาวิชาการที่เป็นจริง ไม่ช่วยยกระดับคุณภาพของมหาวิทยาลัยแต่อย่างใด

(ต้องกล่าวให้ชัดว่า ข้อวิจารณ์เช่นนี้ไม่ได้เหมารวม วารสารทั้งในประเทศและนานาชาติที่มีคุณภาพจริงก็มีอยู่ โครงการปริญญาเอกในประเทศที่ดีจริงก็มีอยู่จริง แต่ระบบเครือข่ายอุปถัมภ์และการประเมินคุณภาพอย่างที่เป็นอยู่ไม่สามารถแยกแยะได้ กลับส่งผลให้เกิดการหาทางอยู่รอดหรือเล่นกลกับระบบด้วยนวัตกรรมแบบเจ้าเล่ห์ทำนองนี้ โดยไม่ต้องยกระดับคุณภาพ)

มาตรการและเกณฑ์ไม่สมเหตุสมผลและวิธีการตบแต่งหน้าตาให้ดูดีเหล่านี้ เป็นไปตามแบบฉบับของการพัฒนาแบบไทยๆ ให้ศิวิไลซ์เข้าไว้ ตั้งแต่ครั้งสมัยรัชกาลที่ 5 สมัยจอมพล ป. และยุคพัฒนาสมัยสฤษดิ์ ซึ่งล้วนเน้นรูปโฉมเป็นทางการที่ทันสมัยทันโลก การยกระดับคุณภาพที่เป็นจริงมักเกิดขึ้นบ้างแต่เป็นเรื่องรอง

‘การพัฒนา’ แบบไทยๆ นี้หลอกชาวโลกไม่ได้ จึงไม่ช่วยให้อันดับแรงก์กิงขยับสูงขึ้นสักเท่าไร

สาม อีกปัญหาสำคัญที่พูดถึงกันมาก โดยเฉพาะในมหาวิทยาลัยเล็กๆ หรือระดับรองลงไป แต่ก็ไม่เว้นแม้ในมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศ คือทำอย่างไรจึงจะสามารถสร้างผลงานตีพิมพ์ในวารสารวิชาการนานาชาติได้ เพราะในขณะที่กำหนดเกณฑ์ความคาดหวังนี้ขึ้นมา แต่ไม่มีคำแนะนำหรือมาตรการรูปธรรมเพื่อช่วยเหลือ นอกเหนือไปจากการให้รางวัลเงินจูงใจ ไม่ว่าในระดับปัจเจกบุคคลหรือระดับสถาบัน ใครทำได้ก็ทำไป ตัวใครตัวมัน จนนักวิชาการจำนวนไม่น้อยรู้สึกหลงทาง หรือมึนงงหาทางไม่เจอ สถาบันต่างๆ ก็ไม่มีการพัฒนาระบบเพื่อสนับสนุนงานวิจัยขึ้นอย่างจริงจัง ที่นิยมทำกันอย่างมากก็คือให้รางวัลเป็นแรงจูงใจ จนนำไปสู่การซื้อเพื่อให้มีชื่อเป็นผู้เขียนในงานที่ตีพิมพ์

ผลที่เกิดขึ้นทั่วไปคือความพอใจในการทำงานและต่อวิชาชีพ (morale) ทางวิชาการของอาจารย์และนักวิจัยตกต่ำมากในขณะนี้ จำนวนมากรู้สึกเสมือนถูกลงแส้กวดขันให้ทำงานอย่างไม่สมเหตุสมผล ยิ่ง morale ถดถอยตกต่ำ ผลงานที่ผลิตออกมาอาจมีมากขึ้นบ้างตามแต่ความสามารถของนักวิชาการจำนวนหนึ่ง แต่คุณภาพโดยรวมและของระบบมิได้ดีขึ้น อันดับของมหาวิทยาลัยที่มิได้ดีขึ้น สะท้อนสภาวะและคุณภาพที่เป็นจริงเช่นนี้ 

แทนที่สถาบันทางปัญญาจะยอมรับหลักการหลักง่ายๆ ว่า ในเมื่อสิ่งที่ทำอยู่นั้นไม่ได้ผลตามต้องการและกลับก่อผลเสียมากมายจึงควรทบทวนมาตรการที่ล้มเหลวทั้งระบบ ผู้มีอำนาจบริหารอุดมศึกษาและมหาวิทยาลัยกลับยังคงมองข้ามปัญหาที่เป็นจริง ยังดึงดันกับมาตรการเดิมๆ แนวทางเดิมๆ กับระบบเดิมๆ กันต่อไป หลายคนยังให้ความร่วมมือปลูกผักชีมาโรยหน้าเพื่อให้อยู่รอดและอยู่เป็นกับระบบที่ไม่ช่วยให้เกิดการพัฒนาอุดมศึกษาแต่อย่างใดอีกด้วย

แรงก์กิงควรเป็นเพียงภาพสะท้อนของคุณภาพทางวิชาการที่เป็นจริงของสถาบันหนึ่งๆ ต้องไม่แยกออกจากการพัฒนาคุณภาพที่เป็นจริง จะต้องระวังมิให้แรงก์กิงกลายเป็นเป้าหมายในตัวมันเอง ถึงขนาดพยายามทำทุกทางเพื่อให้อันดับขยับขึ้น แต่การพัฒนาคุณภาพของมหาวิทยาลัยกลับกลายเป็นเรื่องรอง

ในทำนองเดียวกัน ผลสอบ ‘การอ่าน’ ของ PISA สะท้อนของคุณภาพของนักเรียนไทยว่า มีทักษะทางภาษาในการอ่านการทำความเข้าใจสาระที่เป็นประเด็นทางสังคมดีแย่ระดับไหน จะต้องระวังมิให้ผลการสอบ PISA กลายเป็นเป้าหมายในตัวมันเอง ถึงขนาดพยายามทำทุกทางเพื่อให้คะแนนขยับขึ้น แต่การพัฒนาคุณภาพจริงๆ ของวิชาภาษาและสังคมศึกษากลับกลายเป็นเรื่องรอง

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า