อาจารย์ฟรีแลนซ์ ห้ามป่วย ห้ามตาย ห้ามบ่นเรื่องเงิน

 
ภาพประกอบ: Shhhh

อาจารย์ ‘พิเศษ’ แปลว่า

อาจารย์ที่ต้องอยู่ได้ด้วยเงื่อนไขพิเศษ

แด่อาจารย์พิเศษที่เผชิญประสบการณ์คล้ายๆ กัน

คำเตือน:
บทความนี้มีการใช้คำว่า ‘พิเศษ’ อย่างฟุ่มเฟือยเกินจำเป็น
ถ้อยแถลง:
บทความนี้ประกอบร่างขึ้นจากประสบการณ์ตรงของผู้เขียนและเพื่อนผู้ร่วมชะตากรรม เช่นเดียวกันกับอีกหลายๆ คนที่ไม่ประสงค์จะเปิดเผยตัว

ความพิเศษของอาจารย์พิเศษในอดีตคือผู้ทรงคุณวุฒิ หรือมีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางอย่างยิ่ง ที่มหาวิทยาลัยเองไม่สามารถสรรหาบุคลากรมาตอบสนองความต้องการนี้ได้ การจ้างอาจารย์พิเศษจึงเป็นช่องทางหนึ่งในการบริหารการศึกษา ทว่าปัจจุบันจำนวนนักศึกษาที่เพิ่มขึ้น (และกำลังลดลงแล้ว) ทำให้ต้องเกิดการจ้างอาจารย์เพื่อมาช่วยสอนวิชาต่างๆ เพิ่มขึ้น อาจารย์พิเศษในปัจจุบันจึงเป็นเหมือนกับกองหนุน หรือตัวแถม หากอาจารย์ประจำไม่สามารถแบกภาระงานสอนนักศึกษาได้ไหวจริงๆ

อันที่จริงนั้น ปัจจุบันอาจารย์พิเศษมีอยู่หลากหลายประเภททีเดียว เช่น อาจารย์พิเศษที่ถูกว่าจ้างให้มารับผิดชอบสอนรายวิชาต่างๆ ทั้งระดับปริญญาตรี โท และเอก หรืออาจารย์พิเศษที่ถูกว่าจ้างให้ทำหน้าที่ให้คำปรึกษาด้านงานวิจัยต่างๆ หรือเข้ามาสอบ/ตรวจวิทยานิพนธ์ เหล่านี้จะได้รับค่าจ้างเป็นกรณีไป

บทความนี้ขอพูดถึงเฉพาะอาจารย์พิเศษที่รับหน้าที่สอนวิชาต่างๆ ในระดับอุดมศึกษา

อาจารย์พิเศษไม่ได้เป็นเรื่องใหม่ในโลกของเรา กว่าร้อยละ 76 ของอาจารย์ในมหาวิทยาลัยของสหรัฐอเมริกาก็ไม่ได้เป็นอาจารย์ประจำทำงานเต็มเวลา ‘adjunct professor’ หรือขอเรียกง่ายๆ ว่า อาจารย์พิเศษของอเมริกา ได้รับค่าจ้างตามจำนวนชั่วโมงที่ตนสอน และไม่ต้องรับผิดชอบภาระงานอื่นๆ แบบที่อาจารย์ประจำต้องทำ ค่าจ้างรายชั่วโมงของอาจารย์พิเศษในสหรัฐอยู่ที่ราว 18-70 ดอลลาร์ต่อชั่วโมง ขึ้นอยู่กับคุณวุฒิของอาจารย์และวิชาที่ต้องสอน

อาจารย์คนหนึ่งเล่าใน บทความนี้ ว่า เขาคิดว่าการสอนในระดับปริญญาตรีได้รับค่าจ้างน้อยกว่าการรับจ้างเป็นคนดูแลสัตว์เลี้ยงเสียอีก (เขาเล่าว่าเพื่อนของเขาที่ทำงานเป็นคนดูแลสัตว์เลี้ยงแบบเต็มเวลา ได้รับค่าจ้าง 26,000 ดอลลาร์ต่อปี) ส่วนเขาทำงานดังนี้

ในปีนี้เขาสอนทั้งหมดห้ากลุ่ม (ประมาณ 15 หน่วยกิต หากเทียบกับภาระงานของอาจารย์ประจำ) เขาได้รับค่าจ้างประมาณ 3,000 ดอลลาร์ต่อกลุ่ม รวมๆ แล้วเขาจะมีรายได้ประมาณ 15,000 ดอลลาร์ต่อปี ซึ่งนั่นหมายถึงการทำงานสัปดาห์ละ 20-30 ชั่วโมง เพราะเราต้องอย่าลืมว่าอาจารย์พิเศษนั้นนอกเหนือจากชั่วโมงที่พวกเขาสอนแล้ว ยังต้องมีกิจกรรมจำพวก

  • เตรียมการสอน บางคนต้องออกแบบรายวิชาเองทั้งหมด
  • ให้คำแนะนำนักศึกษา
  • เขียนจดหมายแนะนำนักศึกษาเพื่อนำไปใช้เรียนต่อหรือทำงานต่อ (recommendation letters)
  • ตรวจการบ้าน ออกข้อสอบ ตรวจข้อสอบ
  • คุมสอบ

กิจกรรมเหล่านี้มักไม่ได้ถูกคิดเป็นภาระงานของอาจารย์พิเศษ ซึ่งนับเพียงแต่จำนวนชั่วโมงที่พวกเขาเข้าสอนเท่านั้น

สถานการณ์ลักษณะนี้เองก็ไม่ต่างกับอาจารย์พิเศษในประเทศไทยนัก จากที่สำรวจ ‘คร่าวๆ’ อย่างมาก ที่ต้องใช้คำว่า คร่าวๆ ก็เพราะว่ารายได้ของอาจารย์มหาวิทยาลัยถือเป็นเรื่องในดินแดนสนธยา ไม่ค่อยปรากฏเอกสารเป็นกิจจะลักษณะให้หาอ่านได้โดยทั่วไป จึงอาศัยประสบการณ์เพื่อนร่วมอาชีพมากหน้าหลายตามาเป็นแหล่งข้อมูล และแน่นอนว่าไม่ครอบคลุมทุกคนในวงการอาจารย์พิเศษอย่างแน่นอน

จากการสอบถามพบว่า ราคาค่าตัวอาจารย์พิเศษต่อชั่วโมงต่ำสุดที่ 250 บาทต่อชั่วโมง และสูงสุดที่ 5,000 บาทต่อชั่วโมง โดยทั่วไปแล้วจะอยู่ที่ประมาณ 600 บาทต่อชั่วโมงสำหรับการสอนวิชาทั่วไประดับปริญญาตรี ซึ่งเป็นอัตราที่มหาวิทยาลัยหลายแห่งใช้กัน

ด้วยความสงสัยว่าตัวเลข 600 นี้มาจากแห่งหนตำบลใด ทำไมจึงแพร่หลายกันนักในหลากหลายมหาวิทยาลัย จึงย้อนนึกกลับไปว่า เมื่อก่อนมหาวิทยาลัยก็คือหน่วยงานราชการนี่เอง หากต้องจ้างงานใดๆ แล้วคงจะต้องอ้างอิงตามกฎเกณฑ์ของกระทรวงการคลังเป็นแน่

รายได้ของอาจารย์พิเศษขึ้นอยู่กับการพิจารณาของมหาวิทยาลัย คณะ หรือแม้กระทั่งโครงการ (หลักสูตร) ที่อาจารย์คนนั้นสอนอยู่ เช่น ถ้าสอนในหลักสูตรสองภาษา หรือนานาชาติ อาจได้รับค่าตอบแทนมากกว่าภาคภาษาไทย หรือหากสอนในโครงการพิเศษต่างๆ ที่เก็บค่าบำรุงการศึกษาสูงกว่าหลักสูตรทั่วๆ ไปก็อาจได้รับค่าตอบแทนสูงขึ้น

จากการสอบถามข้อมูลพบว่า ระเบียบการเบิกจ่ายค่าตอบแทนวิทยากรของกระทรวงการคลังที่ประกาศไว้ใน ระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมของส่วนราชการ พ.ศ. 2545 ระบุว่า

(4.1) วิทยากรที่เป็นข้าราชการ พนักงานและลูกจ้างของส่วนราชการ หน่วยงานอิสระตามรัฐธรรมนูญ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรมหาชน รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่นของรัฐ
การฝึกอบรมระดับต้นและระดับกลาง ไม่เกินชั่วโมง ละ 600 บาท
การฝึกอบรมระดับสูง ไม่เกินชั่วโมงละ 800 บาท
(4.2) วิทยากรที่มิใช่บุคคลตาม (4.1) ให้จ่ายเพิ่มได้อีกไม่เกินหนึ่งเท่าของแต่ละระดับการฝึกอบรม
(4.3) การฝึกอบรมระดับกลางและระดับสูงที่จำเป็นต้องใช้วิทยากร ที่มีความรู้ความสามารถเป็นพิเศษ และเบิกจ่ายค่าสมนาคุณวิทยากรสูงกว่าอัตราที่กำหนดข้างต้น ให้อยู่ในดุลยพินิจของปลัดกระทรวงเจ้าสังกัด ส่วนราชการใด ที่ไม่มีปลัดกระทรวงเจ้าสังกัด ให้ผู้บังคับบัญชาที่มีอำนาจเช่นเดียวกับปลัดกระทรวงเป็นผู้ใช้ดุลยพินิจ

เมื่ออัตรานี้เป็นอัตราที่ถูกระบุไว้ตั้งแต่ พ.ศ. 2545 หากลองคิดค่าจ้างตามค่าครองชีพที่โตเร็วยิ่งกว่าโครงข่าย 4G ในประเทศไทย ปัจจุบันมันควรจะได้เท่าไหร่กันเล่า

การตามหาค่าเงินที่เปลี่ยนแปลงไปตามเวลาสามารถพิจารณาได้จากอัตราเงินเฟ้อ หรือดูให้ลึกซึ้งได้จากอัตราการเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคาผู้บริโภค (Customer Price Index: CPI) หากตั้งต้นที่ปี 2545 โดยดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไประดับประเทศ 2558 = 100 และสิ้นสุดที่ปัจจุบัน (พฤศจิกายน 2560) จะสามารถคำนวณได้ดังนี้

[table class=”table-condensed” colalign=”center|center|center|center”]
ปี ; ธนาคารแห่งประเทศไทย ; กระทรวงพาณิชย์*

2545 ; 71.70 ; 71.73

2560 ; 100.67 ; 100.74

อัตราการเปลี่ยนแปลง (ร้อยละ) ; 40.40 ; 40.44

[/table][vc_row][vc_column width=”1/1″]

*คำนวณเฉลี่ยจากเดือนมกราคม – ตุลาคม

จากตารางข้างบน ถ้าพูดกันแบบง่ายๆ ให้คนชัง ตัวเลขพอฟังเข้าใจก็คือ 15 ปีผ่านไป ค่าเงินได้เพิ่มขึ้นบาทละราว 40 สตางค์ หรือจากเงิน 600 บาทในปี 2545 ในบัดนี้ก็เติบโตงอกงามตามอัตราเงินเฟ้อเป็น 842.40 บาท ตามข้อมูลธนาคารแห่งประเทศไทย และ 842.64 บาท ตามข้อมูลกระทรวงพาณิชย์

และเมื่อผายมือไปยังระเบียบกระทรวงฯ ฉบับล่าสุด คือ พ.ศ. 2555 ก็ยังคงตรึงราคาไว้อย่างเหนียวแน่นที่ 600 บาทขาดตัวเช่นเดิม

นี่มิพักต้องถวิลหาก๋วยเตี๋ยวพิเศษชามละ 5 บาท หรือขนมโก๋อันละ 2 สลึง ที่พ่อๆ แม่ๆ ชอบรำพึงเชิงรำลึกให้ฟังเชียว

นอกจากนี้ ปัจจุบันโครงสร้างค่าจ้างอาจารย์พิเศษในไทยมีสามสี่แบบคร่าวๆ ดังนี้

  1. ค่าตอบแทนรายชั่วโมงอย่างเดียว ไม่ได้รับเงินอื่นใดเพิ่มเติมแล้ว

2. ค่าตอบแทนรายชั่วโมง + ค่ารถ

3. ค่าตอบแทนรายขั่วโมง + ค่ารถ + ค่าตรวจข้อสอบ

4. ค่าตอบแทนรายชั่วโมง + ค่ารถ + ค่าตรวจข้อสอบ + ค่าคุมสอบ

โดยในรายละเอียดคือ

  • ค่าจ้างรายชั่วโมงคิดเฉพาะจำนวนชั่วโมงที่สอนเท่านั้น เริ่มตั้งแต่ 250-5,000 บาท
  • ค่ารถได้รับเป็นรายครั้งประมาณ 150-300 บาทต่อครั้งที่ไปสอน เช่น หากสอนสองกลุ่มในวันเดียวจะได้รับเพียงครั้งเดียวเท่านั้น
  • ค่าตรวจข้อสอบมีตั้งแต่ฉบับละ 2 บาท ไปจนถึง 20 บาท และไม่สำคัญว่ามันจะเป็นข้อสอบที่ยาวแค่ไหน หรือเป็นข้อสอบอัตนัยหรือปรนัย
  • ค่าคุมสอบมีข้อมูลน้อย อาจารย์หนึ่งท่านกล่าวว่าได้รับค่าจ้าง 100 บาทต่อครั้ง

ทั้งนี้ทั้งนั้น หากตั้งคำถามง่ายๆ ว่าจะสามารถยังชีพด้วยอาชีพอาจารย์พิเศษเพียงอย่างเดียวได้ไหม ขอตอบด้วยการจำลองวิถีชีวิตแห่งอาจารย์พิเศษให้ทุกท่านได้ดู

อาจารย์ A สอนทั้งหมดสามวันเต็ม ให้กับสามมหาวิทยาลัย วันละหกชั่วโมง โดยได้รับค่าจ้าง 600 บาทต่อชั่วโมง สอนทั้งหมด รวมค่ารถอีก 300 บาทต่อครั้ง

ดังนั้น โดยสุทธิแล้ว หนึ่งวัน อาจารย์ A จะได้รับค่าจ้างทั้งสิ้น 3,900 บาท

หนึ่งสัปดาห์ อาจารย์ A จะได้รับค่าจ้าง 11,700 บาท

หนึ่งเดือน หากได้สอนครบทุกสัปดาห์ (สี่ครั้ง) อาจารย์ A จะได้รับค่าจ้าง 46,800 บาท

หากรวมกับค่าตรวจข้อสอบแล้วอาจได้รับค่าจ้างกว่า 47,000 บาท อยู่นิดหน่อย

หรือหากคิดเป็นรายวิชา ถ้าคุณสอนหนึ่งรายวิชา เป็นจำนวน 16 ครั้งต่อภาคเรียน ครั้งละสามชั่วโมง คุณจะได้รับค่าตอบแทนวิชาละ 28,800 บาท หากสอนครบหกรายวิชา (คือสอนสามวันเต็ม ต่อหนึ่งสัปดาห์) ภาคเรียนนั้นคุณจะได้รับค่าจ้าง 172,800 บาท และหากนับรายได้ต่อภาคเรียนหรือราวหกเดือน คุณจะมีรายรับเฉลี่ยประมาณ 28,800 บาทต่อเดือน ซึ่งถือว่าเป็นเงินเดือนที่ไม่มากไม่น้อยจนเกินไป

แต่อย่าลืมว่าในเส้นทางอาชีพนี้ หากคุณสอนที่เดิมทุกภาคเรียนไม่มีเปลี่ยนแปลง รายได้สุทธิของคุณจะไม่มีวันเพิ่มขึ้นแต่อย่างใด และเพื่อประกันความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้น ช่วงปิดเทอมฤดูร้อน คุณควรหารายได้เพิ่มเติมให้ได้! หรือไม่เช่นนั้นคุณต้องหางานอื่นทำควบคู่กันไปด้วย

ความเสี่ยงที่ว่ามีดังต่อไปนี้

– การได้รับค่าจ้างเป็นภาคเรียน คือจ่ายเงินหลังสอนเสร็จเรียบร้อยแล้วหนึ่งเทอมรวดเดียว

– การได้รับค่าจ้างรายภาคเรียนหลังจากปิดภาคไปแล้ว 1-2 เดือน

– ความไม่แน่นอนที่ว่าภาคเรียนหน้าคุณจะได้กลับมาสอนอีกหรือไม่ น้ำจะท่วมเลยไปสอนไม่ได้ชั่วคราวไหม วิชานั้นจะอยู่ดีๆ ก็ปิดตัวลงหรือไม่ คนจัดตารางสอนไม่ชอบคุณเลยไม่อยากจัดตารางให้คุณแล้ว เบื้องบนเปลี่ยนผู้บริหารใหม่จึงต้องการให้ผู้อื่นมาสอนแทนคุณ เป็นต้น

– หากคุณป่วย นั่นหมายความว่าคุณจะไม่มีรายได้ใดๆ เข้ามายังชีพเลย หากคุณมีประกันสุขภาพที่ซื้อไว้ ก็อาจช่วยแบ่งเบาภาระส่วนนี้ไปได้บ้าง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าถ้าคุณเกิดป่วยนาน คุณจะได้กลับมาสอนวิชาที่คุณเคยสอน ไม่มีอะไรการันตีได้ทั้งสิ้น

– ปัจจุบันตามประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่องเกณฑ์มาตรฐานหลักสูตรบัณฑิตศึกษา พ.ศ. 2558 ระบุว่า อาจารย์พิเศษสามารถสอนได้ไม่เกินร้อยละ 50 ของรายวิชา โดยต้องมีอาจารย์ประจำเป็นผู้รับผิดชอบวิชานั้นๆ

ข้อสุดท้ายนี้สะท้อนให้เห็นถึงมุมมองเชิงนโยบายที่มีต่ออาจารย์พิเศษดังที่กล่าวไว้ข้างต้นว่า เป็นกองหนุนผู้ช่วยพิชิตภาระงานสอนของอาจารย์ประจำผู้รับผิดชอบรายวิชา แต่ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญในสาขาวิชานั้นๆ ดังเช่นที่เป็นมาในอดีต

และหลายครั้งคุณไม่มีสิทธิ์ต่อรองใดๆ หากได้รับค่าตอบแทนล่าช้า เพราะมันก็เป็นไปตามระบบเบิกจ่าย ‘ทางราชการ’ ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับความกรุณาปรานี จะมีใครบังคับก็หาไม่ของเจ้าหน้าที่การเงินที่รับผิดชอบเรื่องนั้นๆ หรือผู้เกี่ยวข้อง

ซึ่งหมายความว่าคุณต้องมีแหล่งเงินสำรองไว้หมุนระหว่างรออย่างมีความหวัง หากการเบิกจ่ายค่าตอบแทนของคุณล่าช้า คุณจะไม่สามารถทำงานและใช้จ่ายเดือนชนเดือนได้เลย

และเมื่ออาจารย์พิเศษไม่มีสวัสดิการใดๆ ให้คุณเลย แต่ก็ไม่ถูกต้องเสียทีเดียว เอาใหม่นะคะ คุณอาจได้พื้นที่ทำงาน เป็นห้องพักรวมของบรรดาอาจารย์พิเศษ ได้เป็นสมาชิกห้องสมุด ที่จอดรถฟรี (ค่ะ บางแห่งก็ต้องจ่ายค่าจอดรถเองด้วย) สำหรับสถาบันบางแห่ง อาจตระเตรียมอาหารให้คุณบ้าง แต่คุณต้องจ่ายเบี้ยประกันตนให้ตัวเอง หากเจ็บป่วย ก็หาทางรักษาตัวเอาเองตัวใครตัวมัน

ส่วนถ้าเกิดอยากกู้เงิน อยากผ่อนบ้าน ผ่อนรถใดๆ ก็เป็นการยากยิ่ง เพราะอาจารย์พิเศษเป็นอาชีพรับจ้าง ไม่มีแหล่งรายได้ชัดเจน จึงค่อนข้างเป็นเรื่องยากที่จะได้รับอนุมัติเงินกู้ หากไม่มีแหล่งรายได้อื่นๆ แต่หากเป็นอาจารย์ประจำ ชีวิตคุณจะปลดล็อคสู่อิสรภาพได้โดยสามารถขอกู้เงินกับสหกรณ์มหาวิทยาลัยด้วยอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าทั่วๆ ไป

ดังนั้น กล่าวได้ว่า แถวนี้มันเถื่อน ใจไม่นิ่ง ไม่แน่จริงอยู่ไม่ได้

ช่างยากเย็นเข็ญใจเหลือแสนที่จะยังชีพด้วยการเป็นอาจารย์พิเศษอย่างเดียว

ข้อมูลเหล่านี้สะท้อนมุมมองต่ออาชีพอาจารย์พิเศษว่า อาชีพนี้ยังไม่ได้รับสถานะความเป็นอาชีพอย่างเป็นกิจจะลักษณะเท่าที่ควร ค่าตอบแทนที่ได้เท่ารายรับเดิมตลอดอายุงานในกรณีสอนสถาบันเดิมเป็นระยะเวลานาน สะท้อนให้เห็นว่าระบบมองว่า ตลอดระยะเวลาการทำงาน อาจารย์พิเศษไม่ได้ถูกพิจารณาว่ามีการพัฒนาเชิงวิชาชีพเลย หรืออาจกล่าวเปรียบเปรยอาจารย์พิเศษในแง่หนึ่งได้กับแรงงานมีฝีมือ (skilled labour) ที่ไม่จำเป็นต้องได้รับการพัฒนาความรู้ความสามารถอื่นใดอีกหลังจากรับเข้าทำงานแล้ว นอกจากนั้นในบางแห่งยังไม่มีระบบดูแลจัดการค่าตอบแทนที่ชัดเจน ไม่มีองค์กรดูแลสวัสดิการต่างๆ อาทิ สหภาพแรงงานบุคลากรในแวดวงการศึกษาอย่างที่มีกันในหลายประเทศ ซึ่งจะคอยกำกับดูแลให้ค่าตอบแทนแรงงานในสายอาชีพนั้นๆ เป็นไปอย่างยุติธรรม สามารถส่งเสียงในระดับนโยบายได้ และการที่เพื่อนร่วมอาชีพคนอื่นๆ ไม่อยากเปิดเผยตัวตน ก็สะท้อนค่านิยมบางอย่างใต้ร่มเงาแดนสนธยาแห่งนี้ได้พอสมควรแล้ว

และไม่ใช่แต่เฉพาะอาจารย์พิเศษ หรือผู้ใช้แรงงานเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นสายอาชีพใดๆ ก็ตามควรได้รับการคุ้มครองสิทธิพื้นฐานอันพึงได้รับ และสามารถเรียกร้องหากเกิดความไม่ชอบธรรมต่างๆ ได้ โดยไม่มีผลร้ายตามมาทีหลัง อันเป็นความหวาดหวั่นใจของมนุษย์ลูกจ้างมาเสมอยามต้องประสบกับการละเมิดต่างๆ

ความยุติธรรมที่ผู้เขียนกล่าวถึงหาใช่การขึ้นค่าจ้างรายชั่วโมงไปอย่างไร้จุดหมาย ตามแต่อำเภอใจผู้จ้าง หากแต่คือการคิดคำนวณค่าจ้างรายชั่วโมงอย่างเหมาะสม ให้น้ำหนักภาระงานอื่นๆ ของอาจารย์พิเศษตามจริง ส่วนการขึ้นค่าจ้าง ขอวิงวอนให้คิดคำนวณตามประสบการณ์ที่บุคลากรคนนั้นๆ มี สะท้อนกับค่าครองชีพที่แท้จริงในปัจจุบัน เช่นเดียวกับโครงสร้างค่าตอบแทนที่ใช้คิดกับอาจารย์ประจำบ้างเถิด

ด้วยว่าเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้จริง จึงหวังว่าคงไม่เป็นเพียงฝันลมๆ แล้งๆ ไป


อ้างอิงข้อมูลจาก:
ดัชนีราคาผู้บริโภค กระทรวงพาณิชย์ 
ดัชนีราคาผู้บริโภค ธนาคารแห่งประเทศไทย
ประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง เกณฑ์มาตรฐานหลักสูตรระดับปริญญาตรี พ.ศ. 2558
ระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรม การจัดงาน และการประชุมระหว่างประเทศ
(ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2555
ระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมของส่วนราชการ พ.ศ. 2545
theguardian.com

 

Author

กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ
กุลธิดา รุ่งเรื่องเกียรติ 'ครูจุ๊ย' นักวิชาการอิสระ เคยมีประสบการณ์ด้านการศึกษาจากฟินแลนด์ ประเทศที่ได้ชื่อว่ามีความก้าวหน้าด้านการเรียนรู้ในโลกสมัยใหม่ ตลอดจนมีโอกาสไปค้นคุ้ยตำราเรียนของเกาหลีเหนือ ในคอลัมน์ 'เล่า/เรียน' ครูจุ๊ย คุณครูสาวพร้อมแว่นสีสด จะ 'เล่า' เรื่องราวในห้องเรียน สถานที่แลกเปลี่ยนความรู้ของเด็กและครู ให้ผู้อ่านได้ 'เรียน' ไปพร้อมๆ กัน

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า