อาชีวะคือทางรอด

 

vocational-sq

แด่นักเรียนสายวิชาชีพ ไม่ใช่ว่าพวกคุณไม่มีศักยภาพ แต่เพราะเราอาจอยู่ผิดประเทศ

‘ระบบการศึกษาคู่ขนาน’ หรือ ‘dual educational systems’ ในประเทศเยอรมนี ไม่เพียงแต่ทำให้ทางเลือกทางการศึกษาของปัจเจกมีมากขึ้น (เพราะถ้าเรายอมรับว่ามนุษย์ทุกคนย่อมหลากหลาย และไม่ใช่ทุกคนที่จะเข้าใจคอนเซ็ปท์ของวิชาคณิตศาสตร์เสริม 2)

แต่การจัดอันดับของ PwC (PricewaterhouseCoopers) ที่ปรึกษาธุรกิจโลก เรื่อง ‘Young Workers Index’ เปรียบเทียบกำลังแรงงานในประเทศนั้นๆ กับการศึกษา พบว่าประเทศเยอรมนีติดโผอยู่ในอันดับที่ 2 ขณะที่สหรัฐ อยู่ในอันดับ 10 และอังกฤษรั้งท้ายตารางในอันดับที่ 21 จากทั้งหมด 35 ประเทศในกลุ่ม OECD* (The Organisation for Economic Co-operation and Development) หรือกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว

หมายความว่า…กำลังแรงงานส่วนใหญ่ของประเทศเยอรมนี มักเป็นกลุ่มคนอายุน้อย

แล้วมีนายจ้างที่ไหนให้คนอายุน้อยทำงานเล่า?

คำว่า ‘dual educational systems’ อาจแปลตรงตัวได้ว่าคือ การศึกษาคู่ขนานระหว่างการศึกษาสาย ‘วิชาการ’ กับ ‘สายวิชาชีพ’ หากอีกนัยหนึ่ง รัฐบาลเยอรมนีกำลังสร้างทางคู่ขนาน ระหว่างการศึกษาสายวิชาชีพ กับข้อกฎหมายการจ้างงานและค่านิยมของคน

Vocational Training Act หรือ กฎหมายการจ้างงาน ถูกเขียนขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 1969 หากถูกรื้อเขียนใหม่อีกครั้งในปี 2005

ใจความสำคัญคือการออกกฎให้บริษัท – กว่า 500,000 บริษัท – ต้องมีคอร์สฝึกอบรม (training) ก่อนเริ่มงานที่ได้รับการควบคุมเรื่องคุณภาพการศึกษา ประชาชนสามารถมั่นใจได้ว่า ไม่ว่าคุณจะได้รับการฝึกจากบริษัทและหน่วยงานไหน วิชาชีพที่คุณอยากได้ จะไม่ต่างกับการฝึกเทรนด์ของอีกบริษัทหนึ่ง

มากกว่านั้น กว่า 50 เปอร์เซ็นต์ของโรงเรียนอาชีวะในเยอรมนี ยังได้รับการสนับสนุนโดยบริษัทใหญ่ๆ โดยมีแนวคิดว่า นโยบายการศึกษาคู่ขนาน เป็นวิธีที่ดีที่สุดที่จะพัฒนาศักยภาพด้านการทำงานของคนได้ดีและตรงสายงานมากที่สุด

ย้อนกลับไปที่อันดับ ‘Young Workers Index’ ที่จัดโดย PwC

ในบทความของ อีเช เนลสัน (Eshe Nelson) นักข่าวด้านเศรษฐกิจและการตลาด วิเคราะห์มูลเหตุที่ทำให้ประเทศอังกฤษติดโผอยู่ในอันดับที่ 21 และมีตัวเลขที่ชี้ว่า กว่า 17 เปอร์เซ็นต์ของกำลังแรงงานอายุน้อย ไม่มีงานทำ ไม่ได้เรียนหนังสือ และไม่ได้กำลังเทรนด์งานอยู่ที่ไหน

อาจเป็นเพราะปัญหาเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศยุโรปตกต่ำมาช่วงเวลาหนึ่ง และส่งผลสืบเนื่องมาที่กลุ่มทำงานจบใหม่ก็เป็นได้

เนลสันวิเคราะห์ถึงค่านิยมของผู้ที่เรียนและทำงานสายอาชีพด้วยว่า…อาจเหมือนกันกับหลายประเทศ งานประเภทนี้ยังไม่ถูกยอมรับมากเท่าที่ควร

แต่ประเด็นสำคัญในบทวิเคราะห์ของเนลสัน เธอเห็นว่า ‘dual educational systems’ ไม่เพียงทำให้ประชากรมีทางเลือกในการศึกษา มีหนทางในการพัฒนาศักยภาพที่หลากหลาย ไปจนกระทั่งพัฒนาคุณภาพชีวิต (ที่ทั้งหมดเหล่านี้เป็นเรื่องปัจเจกบุคคล) เท่านั้น

หากเธอเห็นว่าในท้ายที่สุด ผลประโยชน์และการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ (GDP) จะงอกงามเติบโต และเธอคาดการณ์ว่า หากประเทศที่พัฒนาแล้วทั้ง 35 เมืองดำเนินรอยตามโมเดลของเยอรมนี

เม็ดเงินทางเศรษฐกิจจะงอกเงยได้ราว 1.1 ล้านล้านดอลลาร์


องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา หรือ Organisation for Economic Co-operation and Development – OECD เป็นองค์กรระหว่างประเทศของกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว และยอมรับระบอบประชาธิปไตยและเศรษฐกิจการค้าเสรีในการร่วมกันและพัฒนาเศรษฐกิจของภูมิภาคยุโรปและโลก
ประกอบไปด้วย ออสเตรีย เบลเยียม เดนมาร์ก ฝรั่งเศส กรีซ ไอซ์แลนด์ ไอร์แลนด์ อิตาลี ลักเซมเบิร์ก นอร์เวย์เนเธอร์แลนด์  โปรตุเกส อังกฤษ สวีเดน สวิตเซอร์แลนด์ ตุรกี สหรัฐอเมริกา เยอรมนีตะวันตก แคว้นอิสระของตรีเอสเต
ชิลี เช็ก อิสราเอล เม็กซิโก ฮังการี ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ เกาหลีใต้ โปแลนด์ อิหร่าน เอสโตเนีย ลัตเวีย สโลวาเกีย สโลวีเนีย ญี่ปุ่น และ รัสเซีย (ประเทศที่ได้รับเชิญให้เข้าร่วม)

 


ที่มา: qz.com
pwc.co.uk

 

 

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า