ไม่เข้าใจศัพท์ ไม่มีเพื่อนให้ถาม ครูตู้ที่พูดฝ่ายเดียว ในห้องเรียนโดดเดี่ยวบนดอยสูง

ย้อนไปในเดือนเมษายน เมื่อครั้งสถานการณ์โรคระบาด COVID-19 ในประเทศไทยยังรุนแรงไม่แน่นอน กระทรวงศึกษาธิการได้เสนอให้คณะรัฐมนตรีเลื่อนวันเปิดภาคการศึกษาใหม่ไปเป็น 1 กรกฎาคม 2563 เลื่อนจากวันเปิดเทอมเดิมในเดือนพฤษภาคมออกไป 45 วัน

กระทรวงศึกษาธิการยังได้ชูนโยบาย ‘การเรียนรู้นำการศึกษา โรงเรียนหยุดได้ แต่การเรียนรู้หยุดไม่ได้’ โดยเตรียมออกอากาศการเรียนการสอนผ่านระบบโทรทัศน์และออนไลน์ เป็นการเตรียมความพร้อมให้นักเรียนก่อนวันเปิดเทอมจริง และเป็นการทดสอบระบบออกอากาศ เผื่อว่าสถานการณ์โรคระบาดอาจเลวร้ายจนไม่สามารถเปิดเรียนตามกำหนดการใหม่ในเดือนกรกฎาคมได้

วันที่ 18 พฤษภาคม 2563 วันจันทร์แรกของการเปิดเรียนทางไกลผ่านระบบโทรทัศน์ดิจิตอลในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อ COVID-19 ที่จัดขึ้นด้วยความร่วมมือระหว่างกระทรวงศึกษาธิการ มูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมในพระบรมราชูปถัมภ์ (DLTV) และสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ขณะที่เด็กในเมืองหัวเราะว่าการเรียนการสอนวันแรกสัญญาณล่มไม่เป็นท่า หรือจับสังเกตเนื้อหาการสอนที่ผิดพลาดล้าสมัย เด็กๆ ที่หมือสู่โกล๊ะยังไม่เข้าใจว่าจะต้องกดรีโมทอย่างไรถึงจะเปลี่ยนโทรทัศน์ที่บ้านเป็น ‘ครูตู้’ ได้

ในหมู่บ้านหมือสู่โกล๊ะ

หมู่บ้านหมือสู่โกล๊ะ ตั้งอยู่ในอำเภอหมือสู่คี (ขุนยวม) บนดอยแม่อูคอ จังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นชุมชนชาวปกาเกอะญอ ผู้คนบางส่วนยังชีพด้วยการทำเกษตรและรับจ้าง

ในหมือสู่โกล๊ะมีโรงเรียนในชุมชน 1 แห่ง เปิดสอนตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-6 ด้วยความที่มีนักเรียนไม่มากปกติจึงใช้วิธีสอนแบบ ‘สลับชั้น’ คือ จะเปิดชั้นเรียนก็ต่อเมื่อมีนักเรียนอายุเข้าเกณฑ์เรียนชั้นนั้นๆ มาสมัครเรียน หากชั้นเรียนใดไม่มีเด็กในชุมชนเข้าเรียนก็จะปิดไป เช่น หากในปีนั้นทั้งโรงเรียนมีเด็กอายุน้อยที่สุด 8 ปีเข้ามาสมัครเรียน โรงเรียนก็อาจเปิดชั้น ป.2 ให้โดยไม่เปิดชั้น ป.1 ส่วนครูใช้วิธีหมุนเวียนกันสอนได้ทุกชั้น ทุกวิชา

โรงเรียนในชุมชนมีนักเรียนทั้งหมดราว 50-60 คน ต่อครูประมาณ 6-7 คน เด็กที่อายุน้อยกว่าเกณฑ์เข้าเรียนชั้น ป.1 หรืออายุมากกว่าเกณฑ์ชั้น ป.6 จะต้องเดินทางไปเรียนที่โรงเรียนอื่น เช่น ศึกษาต่อที่โรงเรียนขุนยวมซึ่งตั้งอยู่ในตัวอำเภอ

วิไล ศรีพรรณสุข หรือ ‘หน่อเม่อ’ เล่าว่า เธอมีลูก 2 คน ลูกชายคนโตอายุ 10 ขวบ เรียนอยู่ชั้น ป.4 โรงเรียนบ้านพัฒนาปู่กู ส่วนลูกสาวคนเล็กอายุเพียง 2 ขวบครึ่ง ยังไม่ถึงเกณฑ์เรียนชั้นประถม จึงฝากไว้ที่ศูนย์รับเลี้ยงดูเด็กเล็กในหมู่บ้าน ซึ่งเพิ่งสร้างใหม่ได้ไม่กี่ปีก็ต้องปิดลงชั่วคราวเพราะโรคระบาด

“ปกติก็เดินไปเรียน โรงเรียนห่างจากบ้านไม่ถึงกิโลฯ เด็กๆ ก็จะจับกลุ่มกัน 4-5 คน มีหัวหน้ากลุ่มถือธงนำเดิน ถึงบ้านใครก็ค่อยแยกย้ายทีละคน” หน่อเม่อเล่าเป็นภาษาปกาเกอะญอสลับกับภาษาไทยด้วยสำเนียงไม่ถนัดชัดถ้อยชัดคำนัก ที่นั่นคนส่วนมากสื่อสารกันในชีวิตประจำวันด้วยภาษากะเหรี่ยงเป็นหลัก ภาษาไทยถูกสงวนไว้ใช้เมื่อกรณีจำเป็น เช่น การติดต่อราชการ การเรียน

วิไล ศรีพรรณสุข หรือ ‘หน่อเม่อ’ และลูกชาย ‘อะเหนอะ’

“ตอนที่โควิดระบาดที่ประเทศจีน ลูกคนโตก็ยังเปิดเรียนอยู่ ครูเขาก็สอนว่าต้องล้างมือยังไง เด็กก็เอากลับมาสอนพ่อแม่ ช่วงที่มีเคอร์ฟิวกันประมาณปลายมีนาฯ โรงเรียนก็ปิดเทอมพอดี เลยได้หยุดยาว ผอ. ก็บอกตอนเดินสวนกันว่า เจอกันกรกฎาคมนะ ปกติต้องเจอกันพฤษภา-มิถุนา”

ระยะปิดภาคเรียนที่ยาวขึ้นไม่ได้ทำให้เธอและลูกๆ ในวัยกำลังเรียนรู้ได้ใช้เวลาร่วมกันมากขึ้น ตรงกันข้าม ด้วยอาชีพรับราชการที่โรงพยาบาลทำให้เธอต้องทำงานแบบ ‘ขึ้นแปด-ออกสี่’ หรือเข้าทำงาน 8 โมงเช้า เลิกงาน 4 โมงเย็น จะหยุดงานหรือทำงานที่บ้านก็ไม่ได้ ยิ่งวันเสาร์อาทิตย์ก็ต้องทำงานล่วงเวลา ช่วงที่ลูกๆ ปิดเทอมจึงต้องนำไปฝากให้ญาติในละแวกเดียวกันเลี้ยงแทน

“ก็กำชับให้ลูกดูทีวีบ้างระหว่างอยู่บ้านญาติ พรุ่งนี้จะให้เขาเปิดช่องเรียนให้ดู”

มีเด็กๆ อยู่ทุกที่ แต่สัญญาณการเรียนรู้ไปถึงแค่บางที่

กิจกรรมบันเทิงในหมู่บ้านหมือสู่โกล๊ะคือโทรทัศน์ เพราะสัญญาณอินเทอร์เน็ตเข้าแทบไม่ถึง ที่พอมีอยู่บ้างก็เป็นอินเทอร์เน็ตประชารัฐที่ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านนำมาติดไว้ แต่ก็เลือกติดเอาไว้ใกล้ๆ บ้านตัวเอง ส่งรัศมีประมาณ 100 เมตร หรือ 2-3 ครัวเรือนในละแวกเท่านั้น หากใครอยากเล่นอินเทอร์เน็ตก็สามารถมาใช้งานได้ แต่ต้องหามุมหลบร้อนเหมาะๆ ใกล้บ้านผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านเอาเอง

ประมาณสิบกว่าปีก่อน สมัยที่โทรทัศน์ยังไม่แพร่หลาย เด็กๆ ในหมือสู่โกล๊ะจะไปรวมตัวกันที่บ้านหลังใดหลังหนึ่งเพื่อดูโทรทัศน์ แต่ปัจจุบันหลายบ้านมีโทรทัศน์และจานดาวเทียมเล็กๆ เป็นของตัวเอง บ้านของหน่อเม่อมีดาวเทียมจานทึบสีดำอยู่อันหนึ่ง ส่วนบ้านของญาติที่ฝากเลี้ยงหลานก็มีอีกอัน สามารถรับสัญญาณโทรทัศน์ได้ตามปกติ คลายปัญหาไปได้เปลาะหนึ่งว่าการเรียนเพื่อเตรียมความพร้อมครั้งนี้เป็นการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่แล้ว

เย็นวันแรกของการเรียนทางไกล หลานของหน่อเม่อซึ่งย้ายไปทำงานในกรุงเทพฯ โทรศัพท์กลับมาถามไถ่ว่าชั้นเรียน ‘ครูตู้’ วันแรกเป็นอย่างไรบ้าง หน่อเม่อบอกว่ายังไม่รู้ว่าต้องตั้งค่าครูตู้อย่างไร เธอบอกว่าก่อนหน้านี้เห็นข่าววิธีการเลือกช่องโทรทัศน์อยู่เหมือนกัน แต่ทำตามไม่ทัน ส่วนขั้นตอนที่ประชาสัมพันธ์ในอินเทอร์เน็ตก็มีคำที่เธอไม่เข้าใจ อย่าง ‘ดาวเทียมซีแบนด์’ สุดท้ายก็กดไม่ถูก การเรียนวันแรกจึงต้องเว้นไป ปล่อยให้ลูกชายนั่งเล่นนอนเล่นตามประสาเด็ก

“ซีแบนด์ เคยูแบนด์นี่มันอะไรนะ” หน่อเม่อพยายามทำความเข้าใจตามขั้นตอนที่หลานอธิบายทางโทรศัพท์อยู่หลายนาที ใช้หูฟังขั้นตอน มือก็กดรีโมทตาม ตาก็พยายามสังเกตความเปลี่ยนแปลงบนหน้าจอไปด้วย

“หนึ่ง… แปด… หก… บ้าแล้ว! กดไปหกร้อยแปดสิบสี่ หนึ่ง… แปด… หก… นี่เลขกรุงเทพฯ ไหมเนี่ย อะ มาแล้ว”

กว่าจะทำเป็นก็หมดเวลาเรียน หน่อเม่อจึงเปิดหนังสือเสียงเล่มที่ซื้อมากล่อมลูกคนเล็กนอน ส่วนลูกชายคนโตที่ฝากไว้กับญาติที่บ้านอีกหลังหนึ่งต้องรอตารางเรียนใหม่ในวันพรุ่งนี้ สิ่งที่เธอกังวลคือช่วงนี้ฝนตกหนัก ลมแรง ไฟฟ้าในหมู่บ้านดับบ่อย เมื่อเย็นนี้ก่อนจะลองตั้งค่าช่องการเรียนทางไกล เธอก็เพิ่งบอกว่าไฟฟ้าดับไปหนหนึ่ง

การเรียนทางไกลวันแรกของเด็กชายอะเหนอะ ลูกของหน่อเม่อจึงต้องเลื่อนไปเป็นวันที่ 2 ของคนอื่นๆ ช่วงเช้าและเที่ยง โทรทัศน์บนความสูงกว่า 1,600 เมตรจากน้ำทะเลกลับไม่มีสัญญาณขึ้นมา กว่าเด็กชายจะได้ลองเรียนจริงๆ จึงปาเข้าไปช่วงเย็นของวันที่ 19 พฤษภาคม ซึ่งตรงกับคาบวิชาคณิตศาสตร์ ภาษาไทย และสังคมศาสตร์ของช่อง DLTV

บทสนทนาฝ่ายเดียวจากครูตู้

แม้จะเป็นการเรียนรู้ทางเลือกเพื่อเตรียมความพร้อม ไม่ใช่หลักสูตรบังคับจากโรงเรียน แต่ในสายตาแม่ก็ยังอดห่วงไม่ได้เมื่อเห็นลูกนั่งๆ นอนๆ ระหว่างปิดเทอม ในวันที่ 3 ของการออกอากาศการเรียนทางไกล และวันที่ 2 ของการได้เรียนจริง ความปกติใหม่ในช่วงปิดเทอมของเด็กชายอะเหนอะหรือ รัฐภูมิ ศรีพรรณสุข จึงเป็นการหอบสมุดดินสอมานั่งเรียนหน้าโทรทัศน์ทุกวัน

อะเหนอะคุ้นเคยกับการเรียนทางไกลมากกว่าหน่อเม่อ เขาบอกว่าไม่ใช่ครั้งแรกที่เคยได้เรียนกับครูตู้ ตอนเรียน ป.3 ครูที่โรงเรียนบ้านพัฒนาปู่กูก็เคยเปิดโทรทัศน์สอนบ้าง จากนั้นค่อยอธิบายทบทวนให้อีกครั้งตอนท้ายคาบ แต่ก็เป็นการเรียนที่รายล้อมไปด้วยครูและเพื่อนๆ ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่เขาเผชิญกับครูตู้ตามลำพัง

หน่อเม่อบอกว่า การเรียนทางไกลช่วยส่งเสริมให้ลูกชายได้ลองคิดหาคำตอบเองโดยไม่พึ่งเพื่อนๆ เช่น ในคาบเรียนคณิตศาสตร์ อะเหนอะพยายามคำนวณคำตอบจากโจทย์เอง แต่เธอพบว่าภาษากลายเป็นอุปสรรคอย่างหนึ่งของลูกชาย เมื่ออะเหนอะไม่เข้าใจคำศัพท์ที่ครูพูด และไม่สามารถกระซิบถามเพื่อน หรือยกมือถามครูเหมือนตอนอยู่ในชั้นเรียนปกติได้

“วิชาภาษาไทยให้ยกตัวอย่างว่า มีอะไรบ้างที่เป็นของอุปโภคบริโภค แล้วเขาไม่รู้จักคำว่าอุปโภคบริโภค เพราะในภาษากะเหรี่ยงไม่ได้ใช้ เลยต้องถามแม่ ถ้าแม่ไม่อยู่ขึ้นมาก็ทำต่อไม่ได้”

หน่อเม่อบอกว่าเด็กประถมยังต้องการพลังจากครูที่มีเลือดเนื้อ ไม่เพียงเพื่อจะตอบคำถามในสิ่งที่เด็กสงสัย แต่เพื่อกระตุ้นให้เด็กสนใจการเรียนให้ตลอดรอดฝั่งด้วย

ในการเรียนทางไกล หน่อเม่อและญาติจึงต้องทำหน้าที่ทั้ง 2 อย่างแทนเป็นการชั่วคราว โดยเฉพาะหน้าที่กำชับให้ลูกชายมีสมาธิจดจ่ออยู่กับครูตู้ ไม่วอกแวกไปหาเกมออฟไลน์ในโทรศัพท์มือถือ

หน่อเม่อบอกว่า เด็กๆ หมื่อสู่โกล๊ะมีปัญหากับภาษาไทยพอสมควร เด็กเหล่านี้เกิดมาพร้อมกับภาษากะเหรี่ยงเป็นภาษาแม่ แล้วค่อยไปเรียนรู้ภาษาไทย คำเมืองท้องถิ่นภาคเหนือ และภาษาอังกฤษที่โรงเรียน เธอยกตัวอย่างลูกชายเธอว่า สมัยที่อะเหนอะยังอายุน้อยกว่านี้ก็รู้สึกขัดเขินเมื่อต้องพูดกับคนอื่นด้วยภาษาไทย แม้ว่าญาติๆ จะพยายามกระตุ้นให้เด็กชายคุ้นชินด้วยการชวนคุยเป็นภาษาไทยบ่อยๆ ก็ตาม

หน่อเม่อและอะเหนอะไม่ได้คาดหวังว่ารัฐบาลไทยจะต้องจัดการเรียนการสอนเป็นภาษากะเหรี่ยงให้ลูกชายของเธอและเด็กๆ คนอื่นในหมู่บ้านหมื่อสู่โกล๊ะ เพราะแม้แต่โรงเรียนในชุมชนที่สอนโดยครูชาวปกาเกอะญอด้วยกันก็ยังพยายามใช้ภาษาไทยเป็นหลัก เธอเพียงแต่กังวลว่าในเวลาที่เธอต้องขึ้นเวรไปทำงานตลอดปิดเทอมนี้ อะเหนอะจะสามารถสื่อสารกับครูตู้โดยไม่มีเพื่อนๆ หรือญาติๆ คอยเป็นล่ามให้ได้หรือไม่

“เรียนทางไกลก็ไม่ได้แย่” แต่ถ้าให้เลือกก็จะเรียนในโรงเรียน

ในขณะที่โลกออนไลน์ถกเถียงดุเดือดเรื่องการออกเสียงภาษาอังกฤษผิดฝาผิดตัวของครูวังไกลกังวล การนำสูตรการหาพื้นที่สลับปะปนกับการหาความยาวรอบรูป และความผิดพลาดเล็กใหญ่อีกหลายประการของเทปการสอนโดยบรรดาครูตู้ สวนทางกับนโยบายการพัฒนาชั้นเรียนและบุคลากรที่ DLTV พยายามส่งเสริมผ่านการทำโครงการต่างๆ อย่างสม่ำเสมอ ชาวบ้านหมื่อสู่โกล๊ะที่ไม่ได้เรียนสูงและไม่ได้ใช้บริการอินเทอร์เน็ตประชารัฐในชีวิตประจำวันก็ลอยตัวเหนือการถกเถียงทั้งปวง แต่จะโทษกันก็ไม่ถูก ใครจะคิดว่าหลักสูตรกลางของรัฐจะโหว่แหว่งได้มากมายขนาดนี้

อะเหนอะไม่ใช่เด็กหัวกะทิของห้อง ผลการเรียนของเขาดีบ้างไม่ดีบ้าง เรียนซ้ำชั้นก็เคยมาแล้ว แต่หน่อเม่อ ผู้สังเกตการณ์การเรียนของอะเหนอะก็บอกว่า ตลอด 2-3 วันที่ผ่านมาลูกชายของเธอดูกระตือรือร้นดีแม้จะต้องคอยกำกับอยู่สักหน่อย เธอเห็นว่าคาบเรียนของ DLTV ไม่ได้เลวร้ายหรือมีอะไรผิดสังเกต ทุกวันนี้หน่อเม่อก็ใช้เวลาหลังเลิกงานเรียนวิชาต่างๆ ของหลักสูตรประถมศึกษาไปพร้อมกับลูกชาย

“เรียนทางไกลก็ดี ครูเขาก็อธิบายให้ก่อนแล้วค่อยปล่อยให้ทำแบบฝึกหัด” เธอว่า

อะเหนอะบอกว่า แม้จะไม่พร้อมด้วยอุปสรรคหลายอย่างทั้งเรื่องอุปกรณ์และการสื่อสาร เขาก็ไม่ได้รังเกียจการเรียนทางไกลด้วยหลักสูตรของวังไกลกังวล แต่ยังไงเขาก็อยากไปเรียนที่โรงเรียนตามเดิมอยู่ดี ที่โรงเรียนมีเพื่อนและครู เวลาเรียนที่บ้านบางทีหน่อเม่อก็อธิบายโจทย์คณิตศาสตร์บางข้อที่เขาไม่เข้าใจไม่ได้ หรือบางทีหน่อเม่อก็ต้องทำงานจนเย็น อะเหนาอะต้องเก็บบทเรียนที่สงสัยไว้ในใจหลายชั่วโมงกว่าจะได้ถาม

อะเหนอะยังคงนับวันรอคอยให้โรงเรียนเปิดตามปกติในอีก 2 เดือนข้างหน้า และใช้เวลากลางวันจนถึงเย็นลากสมุดดินสอมากางนอนเอกเขนกกับพื้นบ้าน เรียนทั้งวิชาประถมและการฝึกใช้ภาษาไทยในชีวิตประจำวันรอไปพลางๆ

ข้อมูลประกอบการเขียน

Author

ชนฐิตา ไกรศรีกุล
First Jobber ที่ผันตัวจากนักศึกษาเศรษฐศาสตร์-การสื่อสารมวลชนมาเป็นเจ้าหน้าที่วิจัยด้านแรงงาน เป็นชาวเชียงใหม่ที่มีกรุงเทพฯ เป็นบ้านหลังที่สอง และเพิ่งจะยึดแม่สอดเป็นบ้านหลังที่สาม เชื่อว่าตัวเองมีชะตาต้องกันกับพื้นที่ชายแดนและประเด็นทุกข์ร้อนของคนชายขอบ

Photographer

อุษา แก้วธิวัง
สาวแบงค์ที่รักการถ่ายภาพยิ่งกว่างานประจำ สนุกกับการทำอาหารและเปลี่ยนสีผมทุกสามวัน เชื่อว่าความสุขเริ่มต้นจากตนเอง แต่ความสุขขั้นกว่าเกิดจากการพบปะผู้คนที่มีมุมมองคล้ายกัน

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า