บทที่ 11 ของหนังสือที่มี 10 บท: Moments of Silence ของ ธงชัย วินิจจะกูล  

“…จนถึงทุกวันนี้เกิน 4 ทศวรรษแล้ว หลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 เรายังไม่รู้เลยว่าชายที่ถูกแขวนคอเป็นใคร เราไม่รู้เลยว่าผู้ชายที่ใช้เก้าอี้ทำลายศพเป็นใคร ปริศนาเกี่ยวกับคนทั้งสองนี้เป็นเรื่องเหลือเชื่อ เพราะภาพนี้กระจายจนเป็นที่รู้จักของสังคมไทยมาอย่างน้อยยี่สิบกว่าปี ภาพนี้และความไม่รู้เกี่ยวกับคนทั้งสองก็เป็นเหมือนสัญลักษณ์หรือเป็นตัวแทนของ the unforgetting เกี่ยวกับเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ครั้งนั้น คือ เป็นความเงียบที่ฟ้องสังคมไทย ฟ้องว่าสังคมไทยไม่ปกติ ฟ้องประจานอภิสิทธิ์ การลอยนวลพ้นผิด ปราศจากการรับผิดในประเทศนี้ ฟ้องดังลั่นจนเยาวชนในปัจจุบันได้ยิน และมองเห็นว่าคนมีอำนาจ มีอภิสิทธิ์เช่นนี้ บ่อยครั้งคนรวยก็มีด้วย และสถาบันกษัตริย์มีอภิสิทธิ์นี้ตามกฎหมาย ผู้มีอภิสิทธิ์ทั้งหลายเหล่านี้ คาดหวังเสียด้วยซ้ำว่าเป็นสมบัติที่เขาพึงมีพึงได้ ความเงียบของ 6 ตุลาฯ สะท้อนว่าความสมานฉันท์ ปรองดอง อย่างปราศจากความยุติธรรม หรือเรียกตรงๆ ดีกว่าว่าความอยุติธรรมเพื่อการปรองดอง นั้นเป็นสิ่งที่รัฐไทยเรียกร้อง ป่าวร้อง และปรารถนาจากประชาชนเสมอ กระนั้นก็ตาม ภาวะลืมไม่ได้ จำไม่ลง ทำให้ 6 ตุลาฯ ผลุบๆ โผล่ๆ อยู่กับการเมืองไทยจนถึงปัจจุบัน หลอกหลอนรัฐไทย และสังคมไทย อยู่ในชีวิตปกติทุกวี่วัน”

Moments of Silence บทที่ 11 ทะลุเพดานความเงียบ

ภาพจำลักษณ์ของเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ที่เราจดจำได้ดีที่สุด คือ ภาพชายถูกแขวนคอ และมีชายอีกคนฟาดเก้าอี้ไปที่ร่างของชายที่ถูกแขวนคอนั้น ศ.ดร.ธงชัย วินิจจะกูล บอกกล่าวผ่านระบบสนทนาออนไลน์บนแอพพลิเคชั่น ZOOM ถึงเหตุและผลของความเงียบที่ดำเนินมาตลอดสี่สิบกว่าปีของสังคมไทย ซึ่งเป็นการจบบทที่ 10 สุดท้ายของหนังสือ Moments of Silence ว่าเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ยังคงเป็น ‘ผี’ ที่หลอกหลอนสังคมไทย หลอกหลอนผู้มีอำนาจรัฐที่พยายามทำให้ความเงียบนั้นไม่อาจส่งเสียงได้อีกต่อไป และหลอกหลอนรัฐไทยจนกว่าจะมีความยุติธรรมเกิดขึ้น

ทว่าด้วยการตั้งคำถามของเยาวชนคนรุ่นใหม่ ด้วยการเข้าถึงข้อมูลต่างๆ ที่เพิ่มมากขึ้นในโลกยุคไร้พรมแดน ทำให้ความเงียบนั้นเริ่มส่งเสียง และส่งเสียงดังมากขึ้นจนทำให้ธงชัยกล่าวด้วยความเสียดายหากตนเองล่วงรู้เหตุการณ์ล่วงหน้าว่าจะเกิดข้อเรียกร้อง 10 ข้อของนักศึกษาก่อน ตนเองคงจะชะลอหนังสือไว้ และเพิ่มบทที่ 11 ลงไปโดยให้ชื่อ ‘ทะลุเพดานความเงียบ’

“…ในการชุมนุมที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิต เพื่อต่อต้านรัฐบาลของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้ประท้วงฉายคลิปเหตุการณ์สังหารหมู่ที่ธรรมศาสตร์เมื่อสี่สิบปีก่อนบนจอขนาดใหญ่ต่อหน้าผู้คนนับหมื่นคน เป็นบันทึกภาพเดียวกันกับที่เผยแพร่ออกมาเมื่อปี 2539 จนเป็นที่รู้จักในหมู่ที่สนใจเกี่ยวกับเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ แต่ภาพยนตร์ที่ฉายบนจอนั้นไม่มีเสียง เพราะว่าเสียงที่ดังคู่ไปกับการฉายภาพยนตร์บนจอขนาดใหญ่นั้น กลับเป็นเสียงเพลงพระราชนิพนธ์ยูงทอง ไม่มีคำอธิบายใดๆ ว่าทำไมถึงเป็นภาพนั้น ทำไมจึงเป็นเพลงนั้น ทำไมภาพและเพลงนั้นจึงแสดงพร้อมๆ กัน ทั้งๆ ที่ดูผิวเผินแล้วช่างเข้ากันไม่ได้ และไม่เห็นจะมีความเกี่ยวพันใดๆ การปราศรัยช่วงหลังจากนั้น คือ การประกาศข้อเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งเหตุการณ์ในวันนั้นได้กลายเป็นเหตุการณ์สำคัญที่ลือลั่นในประวัติศาสตร์การเมืองไทยไปเรียบร้อยแล้ว เพื่อนเก่าของผมหลายคนเล่าให้ฟังว่าการแสดงที่ไม่มีคำอธิบายดังกล่าวนั้น ทำให้พวกเขาน้ำตาไหล ผมจะเริ่มเป็นย่อหน้าเริ่มต้น หลังจากนั้น ผมจะเล่าถึงขบวนการเยาวชน”

ธงชัยบอกเล่าโดยเสมือนเป็นการอ่านบทที่ 11 ที่ไม่ได้บรรจุไว้ในหนังสือให้ฟังอีกว่า การฉายภาพยนตร์ที่ปราศจากเสียงของเหตุการณ์ ทว่าถูกกลบด้วยเสียงเพลงพระราชนิพนธ์นั้น ยังสะท้อนให้เห็นถึงสาระสำคัญที่อยู่ใน Moments of Silence ผ่านภาพปกหนังสือ ซึ่งความเงียบนั้นสะท้อนให้เห็นปัญหาของความเกี่ยวพันของสถาบันพระมหากษัตริย์ต่อเหตุการณ์ในปี 2519 จนกลายเป็นภาวะของความละเอียดอ่อนที่ไม่กล้าเอ่ยถึงจนนำไปสู่ความเงียบของสังคมไทยส่วนใหญ่ตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมาในที่สุด

ทว่าสำหรับเยาวชนรุ่นใหม่ในปี 2563 ซึ่งเติบโตขึ้นมาจากการเห็นสภาพการเมืองที่รัฐปฏิเสธความสำคัญของเสียงของเขาครั้งแล้วครั้งเล่า ทุบทำลายตัวแทนเสียงของพวกเขาให้แหลกลาญลงไป ควบรวมไปกับภาวะอ่อนแอลงของสถาบันพระมหากษัตริย์หลังเปลี่ยนรัชกาลเองนำมาสู่การตั้งคำถามด้วยการส่งเสียงที่ต้องการทะลุทะลวงแล้วรื้อเพดานของความเงียบนั้นลง

ไม่ใช่ด้วยการคืนความจริง ความยุติธรรม (หากเกิดขึ้นได้ในที่สุด) ต่อเหยื่อ ผู้ถูกกระทำในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 เท่านั้น แต่ยังรวมถึงอนาคตของพวกเขาในวันเวลาข้างหน้าอีกด้วย

ธงชัยกล่าวว่า การจะทำความเข้าใจเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ต้องทะลุทะลวงไปให้ถึงเพดานของความยุติธรรม ทำความเข้าใจว่ารัฐทุกวันนี้ไม่ใช่รัฐประชาชาติ แต่เป็นรัฐราชาชาติ และยังรวมไปถึงการทำเข้าใจนิติศาสตร์แบบไทยๆ

“นิติศาสตร์ของไทยเป็นการปกครองด้วยกฎหมายเพื่อเป็นการค้ำจุนรัฐ เพื่อปกป้องความมั่นคงของตัวเองในนามของชาติ ขอย้ำว่าชาติ ไม่ได้เท่ากับรัฐบาลนะ เพราะรัฐไทยรวมถึงอำนาจเหนือรัฐบาลด้วย คือ อำนาจกองทัพ และครั้งใดที่รัฐไทยขัดแย้งกับอำนาจเหนือรัฐบาล คืออำนาจกองทัพ ถึงตอนนั้นรัฐบาลอาจจะตกอยู่ในอันตราย”

มีอะไรบ้างในหนังสือ Moments of Silence

หนังสือ Moments of Silence บอกเล่าเรื่องราวในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 แต่ไม่ใช่หนังสือเพื่อค้นหาคำตอบว่าเกิดอะไรขึ้นในวันนั้นเสียทีเดียว รศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ กล่าวทั้งในเชิงเปิดงานและแนะนำหนังสือเป็นการเบื้องต้นว่างานเขียนเล่มใหม่ของธงชัยเล่มนี้เป็นงานเขียนที่ใช้ memory study มาเพื่อศึกษาความทรงจำของบุคคลต่างๆ รวมทั้งในฐานะนักศึกษาผู้เข้าร่วมในเหตุการณ์ จนกล่าวได้ว่าเป็นชิ้นงานที่ตัวธงชัยทั้งใช้เวลาและผูกพันกับตัวงานชิ้นนี้เป็นอย่างมาก

“…อาจารย์ใช้คำว่าจิตวิญญาณส่วนหนึ่งของตัวเองอยู่ในหนังสือเล่มนี้ วันนี้เราคงได้มาฟังกันว่า Moments of Silence ซึ่งไม่ได้พูดถึงประเด็นความทรงจำเท่านั้น แต่ว่ายังเกี่ยวข้องกับแนวคิดอีกหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความจริง ความยุติธรรม การให้อภัย บทบาทของศาสนา แนวคิดเรื่องความปรองดองสมานฉันท์ในสังคมไทย มันเกี่ยวข้องยังไงกับเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ และเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ช่วยเปิดเผยให้เราเห็นตัวตน และอัตลักษณ์ของสังคมไทยยังไงบ้าง”

หนึ่งในผู้จัดทำข้อมูลเพื่อประกอบสร้างขึ้นมาเป็นเว็บไซต์สำหรับการศึกษาเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 รศ.ดร.พวงทอง ภวัครพันธุ์ บอกเล่าถึงภาพรวมของหนังสือ Moments of Silence โดยบอกกล่าวสำหรับผู้สนใจ หนังสือเล่มนี้ไม่ได้พูดถึงเหตุการณ์วันที่ 6 ตุลาคม 2519 ว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง? ไม่ได้มุ่งอธิบายว่ากองทัพไทยหรือกลุ่มใดที่เกี่ยวข้อง แต่ Moments of Silence เป็นการศึกษาเกี่ยวกับเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ที่เปลี่ยนแปลงไป เป็นการศึกษาความทรงจำของปัจเจกบุคคล ความทรงจำร่วม ความทรงจำกลุ่ม ความทรงจำของทั้งฝ่ายซ้ายและฝ่ายขวา ความทรงจำของทั้งเหยื่อ ผู้ถูกกระทำ และผู้กระทำความรุนแรง ฯลฯ

กล่าวอย่างย่นย่อ หนังสือ Moments of Silence เป็นหนังสือที่ศึกษาภาวะของความเงียบของสังคมและผู้เกี่ยวข้องตลอด 44 ปี ต่อเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519

“…Moments of Silence ชี้ให้เห็นว่าสภาวะลืมไม่ได้จำไม่ลงของคนกลุ่มต่างๆ มันมีความแตกต่างหลากหลายกัน และมันก็ไม่ได้หยุดนิ่งตายตัวเสมอไป มันสามารถแปรเปลี่ยนไปตามเงื่อนไขของเวลาได้ ผิดเพี้ยนได้ เลื่อนไหลได้ในแต่ละช่วงเวลา รวมทั้งการรับมือต่อความทรงจำบาดแผลของคนแต่ละคน ของแต่ละกลุ่มคนก็แตกต่างกันไป”

โดยสภาวะ ‘ลืมไม่ได้จำไม่ลง’ ซึ่งเป็นชื่อรองของ Moments of Silence ในภาคภาษาอังกฤษ The Unforgetting of the October 6, 1976, Massacre in Bangkok ในทัศนะของพวงทองไม่ได้เกิดขึ้นแค่กับผู้ถูกกระทำ เหยื่อของความรุนแรงเท่านั้น ยังรวมไปถึงกลุ่มฝ่ายขวา กลุ่มผู้กระทำความรุนแรงเองอีกด้วย

“…แต่ไม่ใช่ทุกคนที่อยู่ในความเงียบ และทุกคนไม่ได้อยู่ในความกลัว ความเงียบสำหรับบางคนไม่ได้หมายถึงความกลัวเสมอไป อาจารย์ธงชัยพยายามจะชี้ให้เห็นว่าเวลาเราพูดถึงความเงียบ เรามักจะเข้าใจว่ามันคือความกลัวอย่างเดียว ความเงียบไม่ใช่การลืม แต่ความเงียบของบางคนอาจจะหมายถึงความหวังก็ได้ อย่างเช่นกรณีของพ่อจินดาและแม่ลิ้ม ทองสินธุ์ คุณพ่อคุณแม่ของ จารุพงษ์ ทองสินธุ์ ความเงียบของท่านหมายถึงความหวัง หมายถึงการรอคอยว่าวันหนึ่งลูกจะกลับบ้าน แต่ความจริงต่างหากที่มันทำลายความหวังของท่าน ซึ่งสิ่งนี้ตรงกันข้ามกับสิ่งที่เรามักจะพูดกันว่าความจริงคือความยุติธรรม ความทรงจำบาดแผลจะได้รับการเยียวยาก็ต่อเมื่อได้รับรู้ความจริง สังคมจะเดินหน้าต่อไปได้เมื่อได้รับรู้ความจริง แน่นอนอันนี้เป็นความจริงในระดับสังคม ดิฉันก็เรียกร้องสิ่งนี้มาโดยตลอด พูดถึงการปราบปรามทั้งในเหตุการณ์ 2519 และในเหตุการณ์ 2553 แต่ในระดับปัจเจกบุคคล ความจริงก็โหดร้ายเกินไป มันทำลายความหวังของพ่อแม่คนอื่นให้ต้องยุติลง”

ขณะที่ 6 ตุลาฯ ในปี พ.ศ. 2563 เราในความหมายของสังคมไทยได้เห็นอะไรบ้างตลอด 44 ปีที่ผ่านมา พวงทองวิเคราะห์ว่าปัจจัยสำคัญที่ทำให้ 6 ตุลาคม 2519 ได้รับความสนใจจากกลุ่มคนรุ่นใหม่ในปัจจุบันเกิดขึ้นจากความขัดแย้งทางการเมือง โดยมีจุดตั้งต้นสำคัญอยู่ที่การรัฐประหารในปี 2549 เป็นต้นมา รวมถึงการเติบโตของอินเทอร์เน็ตทำให้เหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ถูกนำไปใช้เพื่อชี้ให้เห็นถึงความรุนแรงในรัฐตั้งแต่การล้อมปราบคนเสื้อแดงในปี 2553 เหตุการณ์ตากใบในปี 2547 รวมไปถึงวัฒนธรรมการลอยนวลพ้นผิดของผู้มีอำนาจ และเพื่อประณามการทำงานของสื่อฝ่ายขวาในปัจจุบัน ตลอดจนการใช้ hate speech มองไม่เห็นถึงความเป็นมนุษย์ของมวลชนที่อยู่ฝ่ายตรงข้ามของตนเอง

“มันถูกใช้เพื่อหมายถึงการล้มเจ้าของคนคิดต่าง ถูกใช้เพื่อหมายถึงประวัติศาสตร์ที่ถูกปิดกั้น เหล่านี้คือความหมายของ 6 ตุลาฯ ในสายตาของคนรุ่นใหม่ ขณะเดียวกัน 6 ตุลาฯ ได้กลายเป็นอาวุธที่ท้าทายผู้มีอำนาจด้วยเวลาที่เราเห็น แฮชแท็ก 6 ตุลาฯ ที่มีการแชร์กันเป็นแสนเป็นล้านนี่นะคะ ดิฉันคิดว่าในแฮชแท็ก 6 ตุลาฯ ดิฉันได้ยินเสียงที่มันสอดแทรกเข้ามาในแฮชแท็ก นี้ด้วย มันเป็นเสียงที่มีแมสเสจที่บอกว่า no more 6 ตุลาฯ เราจะไม่เอา 6 ตุลาฯ อีกแล้ว และที่สำคัญ เราจะไม่ยอมให้เกิดขึ้นอีกแล้ว บางครั้ง แฮชแท็ก 6 ตุลาฯ มันกำลังจะบอกว่า กำลังจะเกิดการปราบปรามประชาชนขึ้นอีกแล้ว มันกำลังป้ายสีว่าเราเป็นพวกล้มเจ้า และมันจะกำจัดเราอีกแล้ว เป็นการส่งเสียงเตือนว่าสิ่งเหล่านี้กำลังกลับเข้ามา”

กล่าวได้ว่าในขณะที่แบบเรียนประวัติศาสตร์ไทยกล่อมเกลาเด็กๆ คนรุ่นใหม่ให้ไม่มีการตั้งคำถาม แต่เหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ทำให้พวกเขาตั้งคำถามกับประวัติศาสตร์ของความเงียบนี้ว่า ทำไม ทำไม ทำไม และทำไม

“…ทำไมพวกเขาไม่ได้เรียนรู้เรื่อง 6 ตุลาฯ ในโรงเรียน ทำไมจึงเกิด 6 ตุลาฯ ขึ้น ทำไมสังคมถึงโหดร้ายขนาดนี้ ทำไมสังคมไทยที่เขารู้จักมันถึงโหดร้ายเกินกว่าที่เขาจะจินตนาการได้ ใครอยู่เบื้องหลังสิ่งเหล่านี้ และทำไมถึงไม่มีใครต้องรับผิดชอบ

“…6 ตุลาฯ จึงเป็นความเงียบที่ส่งเสียงอื้ออึงที่คอยรบกวนผู้มีอำนาจ เป็นความเงียบที่สร้างความอึดอัดใจอิหลักอิเหลื่อให้พวกเขามากขึ้นเรื่อยๆ และพวกเขาไม่รู้ว่าจะรับมือกับคำถามเหล่านี้อย่างไร นอกจากการป้ายสีว่าคนรุ่นใหม่คือพวกล้มเจ้า”

Moments of Silence ในบริบทของภาพยนตร์

ก้อง ฤทธิ์ดี รองผู้อำนวยการหอภาพยนตร์ไทยมอง Moments of Silence ในฐานะชิ้นงานที่มีความ overlaps ระหว่าง history และ memory เป็นหนังสือประวัติศาสตร์ที่ไม่ได้เต็มไปด้วยท่าทีของงานวิชาการว่าด้วยประวัติศาสตร์ ขณะเดียวกันก็ไม่ได้เป็นหนังสือในลักษณะบันทึกความทรงจำส่วนบุคลเพียงอย่างเดียว การผสมผสานระหว่างประวัติศาสตร์และบันทึกส่วนตัวของตัวธงชัยเองทำให้หนังสือเล่มนี้มีความกล่อมเกลา เปี่ยมไปด้วยความรู้สึกที่ทำให้ Moments of Silence เป็นมากกว่าหนังสือที่บรรจุไปด้วยข้อมูล แต่การเปี่ยมด้วยความรู้สึกทำให้งานชิ้นนี้มีพลังมากกว่าเพียงงานประวัติศาสตร์ชิ้นหนึ่ง

นอกจากนี้ Moments of Silence ยังกล่าวถึงภาพยนตร์ที่อ้างอิงถึงเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ที่ทำให้ตัวก้องเองนึกถึงภาพยนตร์อีกหลายเรื่องที่นำเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ มาสอดแทรกลงไปในภาพยนตร์นอกเหนือจากที่ใส่ไว้ในหนังสือ ไม่ว่าจะเป็น ฟ้าใสใจชื่นบาน ที่เป็นภาพยนตร์แนวตลกเล่าถึงนักศึกษาเข้าป่า หรือ ช่างมันฉันไม่แคร์  ที่นำแสดงโดย สินจัย หงษ์ไทย (เปล่งพานิช) ซึ่งเรียกเสียงหัวเราะอย่างขันขื่น กระทั่ง เวลาในขวดแก้ว ที่นำฉากสั้นๆ ของนักศึกษาในสภาพเลือดอาบที่กลับมาถึงบ้านภายหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ว่าเป็นการสิ้นสลายของยุคสมัย

ไปจนถึงภาพยนตร์ที่ธงชัยกล่าวถึงไว้ใน Moments of Silence อย่าง Shakespeare Must Die และ คาวคะนอง ซึ่งก้องวิเคราะห์ภาพยนตร์ที่เชื่อมโยงกับหนังสือไว้อย่างน่าสนใจว่า

“…คือหนัง (ดาวคะนอง) มันทับซ้อนระหว่างความทรงจำกับการลืม มันทับซ้อนระหว่าง history กับ fiction มันซ้อนกัน มันเลือนรางระหว่างจำได้กับจำไม่ได้ อะไรแบบนี้ ตัวแสดงที่เป็นตัวจริง ตัวแสดงที่เป็นตัวละคร ผสมขึ้นมา คือ หนังเราจะเห็นฉาก 6 ตุลาฯ เป็นหลัก ซึ่งมันก็น่าสนใจเพราะว่าหนังเรื่องนี้มันดังที่เมืองนอกมากนะครับ นักวิจารณ์ชอบมาก ติดอันดับยอดเยี่ยมเยอะแยะมาก แต่ถ้าเราไปอ่านดูนะครับ ไม่ค่อยมีใครพูดถึง 6 ตุลาฯ คือพอหลุดไปจากประเทศไทย เขาก็ไม่ค่อยเข้าใจ โอเคล่ะ เขารู้ว่ามีการอ้างอิงถึงเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ไทย แต่เขาไม่ได้เข้าใจ 6 ตุลาฯ หรือไม่ได้แชร์ประสบการณ์ว่า 6 ตุลาฯ มันรุนแรง มันโหดร้ายยังไง สิ่งที่นักวิจารณ์หรือตามเฟสติวัลต่างๆ ชอบหนังเรื่องนี้กันมากเพราะว่าหนังมันตั้งคำถามของการเล่าเรื่องด้วยภาพ คือภาพในหนังมันเป็นความทรงจำใช่ไหมครับบวกกับเรื่องที่แต่งขึ้นมา คือ ทั้งสองอย่างคุณเชื่อได้แค่ไหน คือยิ่งดูไปก็ยิ่งงงว่าอันนี้มันแต่งหรือมันจริง และเราไว้ใจอะไรไม่ได้เลย เราเชื่ออะไรไม่ได้เลยในสิ่งที่เราเห็น ดำเนินไปกระทั่งฉากสุดท้ายเราเห็นว่าภาพมันแตกออกเป็นพิกเซล มันแสดงให้เห็นว่าภาพยนตร์หรือการเล่าเรื่องก็มีข้อจำกัดของมัน คุณไม่สามารถที่จะเล่าทุกอย่างได้ คุณไม่สามารถจะประกอบสร้างภาพทุกอย่างได้ เช่นเดียวกัน คุณไม่สามารถประกอบสร้างความทรงจำได้ สุดท้ายทุกอย่างมันแตกสลายไปเหมือนภาพสุดท้ายในหนัง กลายเป็นพิกเซลที่เลือนรางออกไปจนเราไม่รู้ว่าสิ่งที่เราดูมาเป็นอะไรกันแน่”

Moments of Silence ในแง่งามความทรงจำของเพื่อน

ขณะที่ ศ.ดร.เกษียร เตชะพีระ พูดถึง Moments of Silence ในแง่มุมจากเพื่อนถึงเพื่อนที่ผ่านเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ มาด้วยกัน โดยหลักใหญ่ใจความคือ งานชิ้นนี้ของธงชัยในลักษณะที่ว่าเป็นงานวิชาการที่ไม่มีความเป็นกลาง เพราะเต็มไปด้วย ‘อคติ’ (bias) ทว่าในที่ทางของงานวิชาการแล้ว ‘อคติ’ คืออีกความหมายของการมีจุดยืน (standpoint) และมุมมอง (perspective) อย่างเยือกเย็น เพราะในการค้นคว้าทางวิชาการย่อมเป็นธรรมดาและเลี่ยงไม่ได้ที่คนเราจะทำหรือมีมุมมองหรือจุดยืนหนึ่งๆ

“…ไม่มีหนังสือบ้าเล่มไหนไม่มีอคติครับ พูดให้ถึงที่สุดที่เราเรียกแรงๆ ว่าอคตินั้น หรือ bias หากเรียกในทางวิชาการอย่างเยือกเย็น คือ มุมมอง หรือจุดยืน (perspective/standpoint) ในการค้นคว้าคิดเขียนงานวิชาการชิ้นหนึ่งเป็นธรรมดา หรือเลี่ยงไม่ได้ที่คนเราจะทำจากมุมมองหนึ่ง หรือจุดยืนหนึ่ง งานเขียนและผู้เขียนที่ปลอดอคติ หลุดพ้นจากมุมมองและจุดยืนทั้งปวง และสามารถมองได้จากทุกมุม หรือไม่ยืนตรงไหนเลย แปลว่าเขาลอยตัวเหนือพื้นได้ เหาะได้อย่างนั้นเหรอ? มันไม่มีจริง เพราะเราไม่มีตาทิพย์ ไม่ใช่พระผู้เป็นเจ้า ที่จะมองได้จากทุกมุมและหลุดพ้นจากโลกวิสัยไปได้ มนุษย์ขี้เหม็นอย่างเราก็เป็นอย่างนี้แหละ มีอคติ มุมมอง จุดยืน ถึงเป็นนักวิชาการ นักวิจัย ดอกเตอร์ หรือศาสตราจารย์แล้ว ก็ยังขี้เหม็นอยู่เหมือนเดิม จะไม่เหม็นและกลายเป็นขี้หอมไปได้อย่างไร การเรียกร้องให้ปุถุชนบรรลุโมกขธรรม ชำระล้างอคติ เป็นอริยบุคคลให้ได้ก่อนทำงานวิชาการหนึ่งชิ้นจึงเป็นเรื่องเหนือจริงเกินไป เข้าใจหรือเปล่า?”

แล้วเราควรมีท่าทีเช่นไรต่องานเขียนประเภทนั้น เราในที่นี้ของเกษียรหมายถึงนักวิชาการ กระทั่งหมายรวมถึงนักเขียนในทัศนะของข้าพเจ้าเองก็ว่าได้

คือ หนึ่งจะต้องมีสำนึกรู้เท่าทัน สอง ไม่หลอกคนอ่าน (และหลอกตัวเอง) คนอ่านจะได้ระวัง รู้ตัวตั้งแต่เนิ่นๆ ว่าคุณมีอคติ

“…อย่าเสือกไปหลอกคนอ่านว่าผมเป็นกลาง ผมไม่มีอคติ สามจะต้องกำราบด้วยหลักวิชาการ ด้วยจรรยาบรรณ ด้วยข้อมูลข้อเท็จจริง และมุมมองอื่นๆ ซึ่งระบบวิชาการสร้างกลไกผ่านอาจารย์ที่ปรึกษา กรรมการวิทยานิพนธ์ นักวิจารณ์ หรือกระทั่งนักศึกษาที่เราสอนนะครับ”

ไม่ว่า Moments of Silence จะเป็นส่วนผสมระหว่าง history และ memory ตามทัศนะของก้อง ฤทธิ์ดี หรือกระทั่งไม่ได้ตอบคำถามว่าเกิดอะไรขึ้นในวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 ในมุมมองของพวงทอง เช่นนั้น หนังสือเล่มนี้คืออะไรกันแน่?

เกษียรอธิบายไว้ว่า หนังสือเล่มนี้เป็นงานวิชาการที่ทรงคุณค่าอย่างไม่ต้องสงสัย และไม่ใช่แค่บันทึกความทรงจำส่วนตัวแน่ๆ

“ในแง่ใกล้ชิดที่สุด มันเป็นเหมือนจดหมายขนาดยาวที่เขียนเล่าให้เพื่อนร่วมชะตากรรมฟังว่า ตัวอาจารย์ธงชัยได้ค้นพบอะไร คิดอ่านอย่างไร เกี่ยวกับตัวเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ และกระบวนการไม่ลืมเหตุการณ์ของตัวเอง และสังคมไทยตลอดสี่สิบกว่าปีที่ผ่านมาบ้าง คือมันเหมือนกับ เกษียร เดี๋ยวกูจะเล่าให้มึงฟังว่าสี่สิบกว่าปีที่ผ่านมา ตัวกูเอง พรรคพวกของเรา ฝ่ายตรงข้าม เหยื่อผู้ถูกกระทำ กูมีปัญหามากกับการจะจับ จะหลีกมันยังไงบ้าง แกไปเจออะไรบ้าง แกมาเล่าให้ฟัง ซื่อๆ จริงใจ จำได้ไหม หนังบ้าบอคอแตก จะต้องมีตัวเอกหัวโหม่งพื้น ตื่นขึ้นมา จำไม่ได้ว่าตัวเองเป็นใคร ทันทีที่คุณสูญเสียความทรงจำ เท่ากับคุณสูญเสียอัตลักษณ์ นั่นแปลว่าความทรงจำประกอบส่วนสร้างเอกลักษณ์ของบุคคล ของสังคมอย่างสำคัญ การที่คุณจำ และไม่สามารถจำ การที่คุณลืม และไม่สามารถลืม มันสร้างตัวตนของคุณ และผมอยากจะเคลมว่ามันสร้างตัวตนและเอกลักษณ์ของสังคมไทยด้วย และในแง่กว้างใหญ่ที่สุด มันทำให้เรารู้จักตัวตนเอกลักษณ์แท้จริงลึกๆ ของสังคมการเมืองวัฒนธรรมไทย ว่าคนเราเป็นใคร เป็นอะไร ประกอบสร้างขึ้นมาจากความทรงจำ การศึกษาเรียนรู้ครุ่นคิดอย่างเอาจริงกับกระบวนการพยายามไม่ลืมเหตุการณ์ที่กระทบกระแทกเขย่าสั่นคลอนตัวตนที่แท้ยิ่ง กระทบกระแทกอำนาจนำที่ใหญ่โตยิ่ง และพล็อตประวัติศาสตร์ที่เป็นแก่นของสังคมไทย จึงทำให้เราได้รู้จัก เข้าใจสังคมไทยอย่างลึกซึ้งจริงแท้ที่สุดว่ามันเป็นยังไง จากการไม่ลืมและจากความเงียบของมันต่อเหตุการณ์บาดแผล หรือ trauma อย่าง 6 ตุลาคม 2519”

Author

นิธิ นิธิวีรกุล
เส้นทางงานเขียนสวนทางกับขนบทั่วไป ผลิตงานวรรณกรรมตั้งแต่เรียนชั้นมัธยม มีผลงานรวมเรื่องสั้นและนวนิยายหลายเล่ม ก่อนพาตนเองข้ามพรมแดนมาสู่งานจับประเด็น เรียบเรียง รายงานสถานการณ์ทางความรู้และข้อเท็จจริงในสนามออนไลน์ เป็นหนึ่งในกองบรรณาธิการที่สาธิตให้เห็นว่า ข้ออ้างรออารมณ์ในการทำงานเป็นสิ่งงมงาย

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า