On This Day: 20 ตุลาคม 2521 ป๋วยปฏิเสธดุษฎีบัณฑิต มธ. ชี้ 6 ตุลาฯ ไม่กระจ่าง

เหตุการณ์สังหารหมู่นักศึกษาในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519 นอกจากจะนำมาสู่การเสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก รวมถึงการที่คนหนุ่มสาวที่รอดชีวิตจากการปราบปรามครั้งนั้นต้องเดินเข้าสู่ป่า เข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) เป็นจำนวนหลายพันคน ยังนำมาสู่การพลัดที่นาคาที่อยู่ของคนจำนวนหนึ่งที่ถูกใส่ร้ายและไล่ทำลาย

ศาสตราจารย์ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คือหนึ่งในนั้น ป๋วยเดินทางออกจากสนามบินดอนเมือง เพื่อหลบหนีการลอบทำร้ายโดยขบวนการฝ่ายขวาเป็นเวลาหลายปี จนกระทั่งวันที่ 20 ตุลาคม 2521 หลังเหตุการณ์ล้อมปราบ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยสภามหาวิทยาลัย มีมติมอบปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ให้แก่ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ 

ขณะดำรงตำแหน่งอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ | photo: โครงการ 100 ปีชาตกาล ศ.ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ http://puey-ungpakorn.org

หนังสือพิมพ์ มติชน ฉบับวันที่ 20 ตุลาคม 2521 รายงานว่า นายป๋วย อึ๊งภากรณ์ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้มีโทรเลขมาถึงมหาวิทยาลัย โดยปฏิเสธที่จะรับพระราชทานปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ โดยระบุเหตุผลว่า 

ประการแรก เหตุการณ์วันที่ 6 ตุลาคม 2519 ได้ส่งผลกระทบกระเทือนต่อนายป๋วยเอง และข้อเท็จจริงยังไม่ได้รับการเปิดเผย แม้ว่าจะมี พ.ร.บ.นิรโทษกรรมอดีตจำเลยทั้งหมดก็ตาม แต่ขณะนี้ยังมีนักศึกษาอีกจำนวนมากออกไปอยู่ในชนบท จึงยังไม่ถือเป็นข้อยุติได้ 

ประการที่สอง นายป๋วยระบุว่า เสรีภาพทางวิชาการของมหาวิทยาลัยในประเทศไทยยังมีไม่พอตามที่เคยตั้งใจไว้ว่าจะให้มี 

ประการที่สาม ประเทศไทยยังไม่เป็นประชาธิปไตย 

“ท่านจะมีจดหมายมาแถลงเป็นทางการอีกครั้งหนึ่ง ตอนนี้ท่านส่งโทรเลขมาให้มหาวิทยาลัยทราบแล้ว” แหล่งข่าวผู้ใกล้ชิดนายป๋วยกล่าวกับมติชน 

ด้าน นายประภาศน์ อวยชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในเวลานั้น กล่าวกับ มติชน ว่า ตนได้รับโทรเลขด่วนจากนายป๋วยเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2521 เท่าที่จำข้อความได้ นายป๋วยเขียนว่ารู้สึกเป็นเกียรติ แต่ไม่สามารถมารับได้ แต่จะมีจดหมายตามมา โดยไม่ได้ให้เหตุผลอะไร อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กล่าวว่า การอนุมัติปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ให้แก่นายป๋วย เป็นมติจากที่ประชุมคณบดีทุกคณะและสภามหาวิทยาลัยเห็นชอบด้วย ทางมหาวิทยาลัยจึงเป็นผู้ดำเนินการติดต่อแจ้งไปยังนายป๋วยที่ประเทศอังกฤษ เพราะเห็นว่าเป็นบุคคลที่มีความรู้ ความสามารถ ทำประโยชน์ด้านวิชาการแก่มหาวิทยาลัยเป็นอย่างมาก 

อนึ่ง ในข่าวเดียวกัน ได้กล่าวถึงกรณีการก่อตั้ง มูลนิธิป๋วย อึ๊งภากรณ์ ซึ่ง นายไตรรงค์ สุวรรณคีรี รักษาการนายกสมาคมเศรษฐศาสตร์ธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ตนเห็นด้วยที่ตั้งมูลนิธิดังกล่าวขึ้น เพราะนายป๋วยเป็นคนดี ไม่เคยด่างพร้อย การถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์เป็นเรื่องการเมือง แต่นายป๋วยเป็นคนที่ซื่อสัตย์สุจริต ไม่เคยคอร์รัปชัน ควรให้อนุชนรุ่นหลังเอาอย่าง 

กล่าวได้ว่า ระหว่างที่ลี้ภัยทางการเมืองไปพำนักอยู่ต่างประเทศ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เดินทางไปชี้แจงข้อเท็จจริงกรณีอาชญากรรมในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 แก่รัฐบาลและบุคคลสำคัญต่างๆ ในหลายประเทศ อาทิ อังกฤษ สหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส เยอรมนี สวีเดน เดนมาร์ก ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย โดยระบุความปรารถนาของเขาว่า ต้องการให้ประเทศกลับคืนสู่ระบอบประชาธิปไตย 

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในปี 2520 เขาเดินทางไปให้การต่อคณะกรรมการวิเทศสัมพันธ์ สภาผู้แทนราษฎรของสหรัฐอเมริกา ในขั้นตอนสืบพยานกรณีสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย อันเนื่องมาจากเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ซึ่งเป็นการให้ข้อเท็จจริงของ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ที่สำคัญครั้งหนึ่ง เขาระบุถึงการก่อกวนมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยบทบาทของขบวนการฝ่ายขวาที่ทำลายประชาธิปไตย รวมไปถึงข้อเท็จจริงจากการที่ตนเองถูกทำร้ายในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 

กล่าวได้ว่า ในช่วงเวลาที่พำนักอยู่ต่างประเทศ ป๋วยใช้เวลาและความพยายามอย่างมากไปกับการเดินสายชี้แจงให้นานาชาติรับรู้เหตุการณ์ในไทย กรณีนี้รวมถึงความพยายามสื่อสารกับลูกศิษย์ในขณะที่ตนเองอยู่ในภาวะป่วย ซึ่งในการปาฐกถา ‘นิติรัฐอภิสิทธิ์และราชนิติธรรม’ โดย ธงชัย วินิจจะกูล ในวันที่ 9 มีนาคม 2563 ธงชัยเปิดเผยจดหมายที่เขาได้รับจากอาจารย์ป๋วยระบุว่า 

“เรียน คุณธงชัย 

ประชาธิปไตย เสรีภาพ ของประชาชน

ความสันติสุขและผาสุกของประชาชนเป็นสิ่งที่ผมปรารถนา 

รักและคิดถึง 

ป๋วย”

ปัจฉิมวัย | photo: โครงการ 100 ปีชาตกาล ศ.ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ http://puey-ungpakorn.org

ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ต้องลี้ภัยอยู่ต่างประเทศและอยู่ในสภาวะฟื้นฟูร่างกายจากอาการเส้นเลือดในสมองแตก จนกระทั่งวันที่ 1 เมษายน 2530 ป๋วยเดินทางกลับมาเมืองไทย ท่ามกลางการต้อนรับของมิตรสหาย ญาติมิตร ลูกศิษย์ และอดีตเพื่อนร่วมงานของเขาจำนวนนับพันคน 

อาจารย์ป๋วยกลับไปเยี่ยมคณะเศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ | photo: โครงการ 100 ปีชาตกาล ศ.ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ http://puey-ungpakorn.org

ปี 2558 ป๋วยได้รับการยกย่องจากองค์การยูเนสโกให้เป็นบุคคลสำคัญของโลก ขณะเดียวกันเหตุการณ์ความรุนแรงในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ยังไม่มีการนำตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษจนถึงปัจจุบัน 

Author

อิทธิพล โคตะมี
อิทธิพลเข้ามาในกองบรรณาธิการ WAY พร้อมตำรารัฐศาสตร์ สังคม การเมือง ถ้อยคำบรรจุคำอธิบายด้านทฤษฎีและวิธีการปฏิบัติ คาแรคเตอร์โดยปกติจะไม่ต่างจากนักวิชาการเคร่งขรึม แต่หลังพระอาทิตย์ตกไปสักพัก อิทธิพลจะเป็นชายผู้อบอุ่นที่โอบกอดมิตรสหายได้ทุกคน

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า