ป๋วยกับสังคมการเมืองไทย ในวิกฤติเปลี่ยนผ่าน

puey-seminar-1
เรื่อง: อรปมน วงค์อินตา
ภาพ: คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 

ปัญหาเรื่องสิทธิมนุษยชนและความรุนแรงต่อบุคคลที่ออกมาเรียกร้องประชาธิปไตยในไทยนั้นไม่ใช่เรื่องใหม่ ในประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่า มีผู้หยิบยกประเด็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนขึ้นมาหลายต่อหลายครั้ง

ดังจะเห็นได้จากการจัดการกับเหตุการณ์ความรุนแรงครั้งสำคัญๆ ในประวัติศาสตร์การเมืองไทย ที่นำเสนอในงานอภิปรายวิชาการ ‘ป๋วยกับสังคมไทยในวิกฤติเปลี่ยนผ่าน’ ที่จัดขึ้น ณ หอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เนื่องในวาระครบรอบ 100 ปีชาตกาล ศ.ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และนักเศรษฐศาสตร์ผู้มีชื่อเสียง ที่ได้รับการยกย่องจากองค์การยูเนสโกเป็นบุคคลสำคัญของโลกในปี 2559-2560

puey-seminar-2
ที่มา: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์

มองสิทธิมนุษยชน ฉบับ(ไม่)หาความจริงและ(ไม่)รับผิด

ในช่วงแรกของการอภิปราย มุ่งประเด็นไปที่การเมืองในวิกฤติเปลี่ยนผ่าน ซึ่งจะไม่สามารถก้าวข้ามวิกฤติได้ หากไม่มีการชำระประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะประวัติศาสตร์บาดแผลที่สังคมพยายามบอกว่าไม่มีประโยชน์ที่จะไปรื้อฟื้นขึ้นมา

จากการนำเสนอบทความ ‘มองสิทธิมนุษยชนไทยผ่านการ(ไม่)หาความจริงและการ(ไม่)รับผิด: กรณีความรุนแรงโดยรัฐที่กระทำต่อขบวนการประชาธิปไตย’ โดย เบญจรัตน์ แซ่ฉั่ว สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล พบว่า

มีการกระทำความรุนแรงต่อผู้เรียกร้องประชาธิปไตยหลายครั้ง แต่ไม่เคยมีผู้ต้องรับผิด

เบญจรัตน์ยกกรณีอาจารย์ป๋วยซึ่งโดดเด่นมากในการค้นหาความจริงและความพยายามพูดความจริงเกี่ยวกับกรณีความรุนแรงที่เกิดขึ้นในช่วง 6 ตุลา 19

เบญจรัตน์ยกประเด็นสิทธิมนุษยชนไทยจากกรณีความรุนแรงที่รัฐกระทำต่อผู้เรียกร้องประชาธิปไตยครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์การเมืองไทย ได้แก่ เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 เหตุการณ์พฤษภาคม 2535 และเหตุการณ์ปราบปรามผู้ชุมนุมแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) หรือกลุ่มคนเสื้อแดง ในเดือนเมษายนและพฤษภาคม 2553 ขึ้นมาอภิปราย

กรณีเหล่านี้เมื่อย้อนดูจะพบว่า ล้วนไม่มีความคืบหน้าของการค้นหาความจริงและการรับผิด ซึ่งถือว่าสำคัญมากต่อการสร้างสิทธิมนุษยชนในสังคมไทย

เบญจรัตน์จับคู่เหตุการณ์ 4 เหตุการณ์โดยเรียงตามสถานะของผู้ชุมนุม คือจับคู่ 14 ตุลากับพฤษภาทมิฬไว้ด้วยกัน เพราะผู้ชุมนุมที่ออกมาเรียกร้องในเหตุการณ์นี้ค่อนข้างได้รับการยอมรับ และมีความชอบธรรมว่าเป็นผู้เรียกร้องประชาธิปไตย

ส่วนกรณี 6 ตุลากับการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง ถือว่ายังเป็นเรื่องค้างคา เพราะตัวผู้ชุมนุมถูกตีตราจากสังคมและภาครัฐ ในเหตุการณ์ 6 ตุลา ถูกมองว่าเป็นคอมมิวนิสต์ และในกรณีคนเสื้อแดงได้รับการกล่าวหาว่าเป็นผู้ก่อการร้าย โดยเบญจรัตน์กล่าวว่าเรื่องนี้มีผลต่อการจัดการความจริงเรื่องสิทธิมนุษยชนมาก พร้อมชี้ให้เห็นว่ากลุ่มผู้กระทำผิดที่เป็นฝ่ายละเมิดกลับไม่ถูกดำเนินคดี

14 ตุลา และพฤษภา 35

หลังเกิดเหตุการณ์ 14 ตุลา ไม่ถึงหนึ่งเดือน รัฐบาลออกมาแถลงผลการสอบสวนของกระทรวงกลาโหมคือ สอบสวนจอมพลถนอม กิตติขจร จอมพลประภาส จารุเสถียร และ พันเอกณรงค์ กิตติขจร ว่าบุคคลทั้งสามปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ข้อบังคับ ระเบียบ แบบแผนของทางราชการ แฝงไว้ด้วยโทสะจริตที่มุ่งหมายทำลายล้างนิสิตนักศึกษาและประชาชน

“ฟังดูดี มีการยอมรับว่าผู้บังคับบัญชาเป็นผู้กระทำ มีความมุ่งหมายที่จะทำร้ายประชาชน แต่นัยที่ซ่อนอยู่ พบว่าแถลงการณ์ไม่ได้บอกว่าการปราบปรามประชาชนเป็นความผิดในตัวของมันเอง และรัฐบาลไม่มีการปฏิเสธหากจะมีการปราบปรามการซ่องสุมกำลังล้มล้างรัฐบาลโดยใช้ความรุนแรงไปปราบปราม”

เบญจรัตน์กล่าวว่า การที่รัฐบาลไม่สนใจดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดยังปรากฏชัดใน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ซึ่งให้การนิรโทษกรรมแก่นักเรียนนักศึกษาและประชาชน ที่เกี่ยวข้องกับการเดินขบวน โดย พ.ร.บ. ฉบับดังกล่าวลดทอนความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับประชาชนเป็นเพียง “ความไม่เข้าใจซึ่งกันและกันของนิสิตนักศึกษาและประชาชนกับเจ้าหน้าที่ของรัฐบาล ไม่ใช่ความรุนแรงที่กระทำต่อนักศึกษา”

และยังบอกด้วยว่า “เจ้าหน้าที่รัฐระดับปฏิบัติการ คนที่ยิงนักศึกษา คนที่ยิงผู้ชุมนุม เมื่อได้กระทำการตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชา ย่อมได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายอยู่แล้ว”

กรณี 14 ตุลา จึงยังไม่มีการดำเนินการใดๆ เพื่อให้มีการรับผิด นอกเหนือไปจากการเยียวยาโดยได้รับเงินชดเชยช่วยเหลือ กรณี 14 ตุลา จึงไม่ต่างกันนักกับกรณีพฤษภาคม 2535 ซึ่งมีงานรำลึกเพื่อเชิดชูเกียรติวีรชนทุกปี แต่ก็ไม่ได้มีความคืบหน้าในแง่การเอาผิดเช่นกัน

เบญจรัตน์ให้ข้อมูลว่า มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาหลายชุดเพื่อหาว่าเกิดอะไรขึ้นในวันที่ 17-20 พฤษภาคม แต่ข้อค้นพบของคณะกรรมการนั้นมีนัยสำคัญต่อเรื่องรับผิดและการลอยนวลเช่นกัน

“มีรายงานการสืบสวนกรณีพฤษภาทมิฬของกระทรวงกลาโหมได้เผยแพร่ออกมาในปี 2543 ก็ไม่ได้มีประโยชน์อะไรเช่นกัน เพราะมีการขีดฆ่าสีดำตรงชื่อผู้ที่เกี่ยวข้องออกไป กรณีนี้รัฐยอมรับว่ามีการกระทำผิดในการใช้กำลังปราบปรามผู้ชุมนุมประท้วงขึ้น มีการพยายามสืบสวนระดับหนึ่ง แต่ไม่ได้มีความพยายามใดๆ เลยที่จะนำตัวผู้กระทำผิดมารับผิดชอบ” เบญจรัตน์อภิปราย

6 ตุลา และ เมษา พฤษภา 53

ส่วนกรณี 6 ตุลานั้นต่างจากกรณี 14 ตุลา เพราะมีเจ้าหน้าที่ ทหาร ตำรวจที่ใช้ความรุนแรง และยังมีกลุ่มพลเรือนฝ่ายขวาที่เข้ามาใช้ความรุนแรงกับผู้ชุมนุม และ 6 ตุลาในประวัติศาสตร์การเมืองไทยฉบับทางการ ก็ไม่ได้มีการบันทึกไว้ว่าเป็นการเรียกร้องประชาธิปไตย

“แทบจะไม่มีความพยายามของรัฐในการค้นหาความจริงเลยว่าเกิดอะไรขึ้นกับนักศึกษา เจ้าหน้าที่รัฐที่ใช้ความรุนแรงก็ได้รับการนิรโทษกรรมอีกแล้ว โดยพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม ซึ่งก็ออกมาแทบจะทันทีหลังวันที่ 6 ตุลาคม” เบญจรัตน์กล่าว

โดยมีการนิรโทษกรรมให้กรณีความรุนแรงต่างๆ อย่างกว้างขวาง ทั้งนิรโทษกรรมให้คนที่ทำรัฐประหารในวันนั้น และคนที่ใช้ความรุนแรงกับนักศึกษาด้วย เบญจรัตน์กล่าวถึงข้ออ้างในการนิรโทษกรรมนั้นว่า

“ใครก็ตามที่ทำเพื่อให้เกิดความมั่นคงของอาณาจักร ของราชบัลลังก์ และเพื่อความสงบสุขของประชาชน ไม่ว่าจะทำในฐานะใด ไม่ว่าจะทำวันนั้นหรือวันก่อนหน้านั้นก็ได้รับการนิรโทษกรรม”

เหตุการณ์ 6 ตุลานั้น เบญจรัตน์กล่าวว่ามันถูกอธิบายว่า “เกิดจากความไม่เข้าใจในสถานการณ์ที่แท้จริง เพราะเหตุแห่งความเยาว์วัยและการขาดประสบการณ์ของผู้กระทำความผิด ความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับนักศึกษาวันที่ 6 ตุลา เป็นแค่ปัญหาของคนหนุ่มคนสาวที่ไม่เข้าใจโลก และคนที่ได้รับนิรโทษกรรม คือตัวนักศึกษาที่ชุมนุม ก็ไม่สิทธิ์ฟ้องร้องสิทธิและเรียกประโยชน์ใดๆ ทั้งสิ้นจากกรณีความรุนแรงที่เกิดขึ้น”

เหตุการณ์การชุมนุมช่วงเดือนเมษายนและพฤษภาคม 2553 เบญจรัตน์กล่าวว่า กรณีนี้หากเทียบกับสามเหตุการณ์ก่อนหน้านี้อาจจะดูดีขึ้นนิดหนึ่งเพราะไม่มีพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมออกมา เนื่องจากถูกต่อต้านจนตกไป

จากนั้นได้มีการตั้งคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อความปรองดองแห่งชาติ (คอป.) แต่ คอป. ออกตัวอยู่ตลอดว่าต้องการค้นหาความจริงเพื่อความปรองดองไม่ใช่ค้นหาผู้ละเมิด มีข้อเสนอชดเชยผู้ที่ตกเป็นเหยื่อ แต่ไม่มีเรื่องการดำเนินคดีกับผู้ละเมิดเลย คอป. มุ่งไปที่การเยียวยาเหยื่อมากกว่าให้คุณค่ากับการลงโทษผู้กระทำผิด และเน้นให้ผู้กระทำผิดมาแสดงความรับผิด มากกว่าที่จะลงโทษพวกเขา ในแง่การดำเนินคดี เบญจรัตน์กล่าวว่า

“ดีเอสไอฟ้องร้องคุณอภิสิทธิ์และคุณสุเทพ ข้อหาพยายามฆ่า แต่ศาลอาญาก็บอกว่า เป็นความผิดหน้าที่ต่อราชการ ไปดำเนินการที่ศาลฎีกาแผนกคดีนักการเมือง ก็ยกฟ้องไป

“พอไปฟ้องที่ ปปช. มติของ ปปช. ก็บอกว่าปฏิบัติหน้าที่ถูกต้องแล้ว เพราะการชุมนุมนั้นไม่ใช่การชุมนุมโดยสงบตามรัฐธรรมนูญ รัฐจำเป็นต้องดำเนินมาตรการปราบปราม ถ้ามีความผิดอยู่บ้าง ก็เป็นแค่ความผิดเฉพาะตัวของเจ้าหน้าที่ทหารแต่ละคนที่ใช้อาวุธปืนไม่สมควรแก่เหตุเท่านั้น ไม่ได้เป็นความผิดระดับผู้บังคับบัญชา”

จากมติ ปปช. (สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ) เมื่อปลายปี 2558 เบญจรัตน์กล่าวว่า ไม่ต่างกันนักกับคำตัดสินของคณะกรรมการในเหตุการณ์ 14 ตุลา และพฤษภาทมิฬที่ลดทอนการกระทำความรุนแรงของรัฐให้เป็นความผิดส่วนบุคคลของเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการ และยังมีนัยเรื่องการอนุญาตให้ใช้ความรุนแรงปราบปรามได้ หากผู้ชุมนุมไม่ได้ชุมนุมโดยสงบ ซึ่งล้วนไม่ได้ตั้งคำถามถึงสัดส่วนที่เหมาะสมของความรุนแรงที่ใช้โดยเจ้าหน้าที่รัฐ

จากการศึกษาการดำเนินการค้นหาความจริง และความพยายามนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษหลังจากการปราบปรามผู้ชุมนุมที่เรียกร้องประชาธิปไตยในสี่กรณีนี้ เบญจรัตน์พบว่าแทบไม่มีการค้นหาความจริง และไม่ได้มุ่งเป้าไปที่การหาผู้กระทำผิด ซึ่งหากไม่มีการดำเนินการเหล่านี้แล้ว เบญจรัตน์ให้ความเห็นอย่างกังวลใจว่า

เราคงจะไม่สามารถสร้างวัฒนธรรมสิทธิมนุษยชนให้หยั่งรากขึ้นได้ในสังคมไทย เพราะมันจะกลายเป็นวัฒนธรรมการลอยนวลแทน ซึ่งจะยิ่งเป็นการตอกย้ำแก่ประชาชนซ้ำแล้วซ้ำเล่าว่า รัฐสามารถจะละเมิดสิทธิประชาชนได้ตามอำเภอใจ ไม่ต้องรับผิดชอบ แล้วมันก็จะเป็นการนิยามความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับพลเมืองผู้ไร้สิทธิ์อย่างสำคัญ

สุดท้ายเสียงเรียกร้องของประชาชนให้มีการค้นหาความจริงและความรับผิดยังคงจำกัดอยู่ในคนกลุ่มเล็กๆ เบญจรัตน์ชี้ให้เห็นว่าวัฒนธรรมสิทธิมนุษยชนของไทยยังไม่ได้หยั่งรากพอที่จะออกมายืนยันสิทธิแทนผู้อื่น ที่สำคัญพลเมืองที่เรียกร้องประชาธิปไตยมักถูกเสนอว่าเป็นปฏิปักษ์ต่อความมั่นคงของชาติ

puey-seminar-3
ที่มา: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์

ทำไมเมืองไทยไม่มีนักคิด

“ตกลงแล้วพื้นที่ทางการเมืองของระบอบประชาธิปไตยไทยมีไหม หรือมี แต่อยู่ในสภาพที่ชุลมุนวุ่นวาย จนกระทั่งหลักการไม่มีจนกลายเป็นหลักกู” ศ.ดร.ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ อดีตคณบดี คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมแสดงความเห็นหลังการนำเสนอบทความประเด็นสิทธิมนุษยชน

ขณะที่ประเด็นสิทธิมนุษยชนที่อาจารย์ป๋วยสนใจนั้น ธเนศกล่าวว่าไม่ใช่เรื่องใหม่ ในอังกฤษก็เป็นที่ถกเถียงกันตั้งแต่ช่วงหลังสงคราม

“มันไม่มีคนที่อยู่ในฐานะทางสังคม ทางการเมือง ทางการรับรู้ของประชาชนที่เรียกว่าเป็นชนชั้นนำ ที่มีความจริงใจและปรารถนาจะเห็นการเปลี่ยนแปลงระดับโครงสร้าง ระดับล่างลงมา ไม่ใช่แค่ข้างบน”

ธเนศยกตัวอย่างนักคิดไทยที่เป็นปัญญาชนสยามก่อนอาจารย์ป๋วยที่ออกมาพูดเรื่องความจริง ความงาม ความดี คนแรกคือ เทียนวรรณ เป็นบรรณาธิการและนักเขียนในสมัยรัชกาลที่ 5

“เทียนวรรณก็พูดเรื่องความเท่าเทียมของสตรี การศึกษา ความรู้ต่างๆ ว่าต้องเปิดให้ไปถึงข้างล่าง แต่ความสามารถที่จะผลักให้เกิดการเปลี่ยนแปลงจริงๆ มันมีน้อย และมันไม่ได้เปลี่ยนไปถึงฐานราก เทียนวรรณจบชีวิตด้วยการถูกลงโทษ ป้ายสี หรือพูดปัจจุบันก็คือหมิ่นมาตรา 112 ติดคุก 17 ปี”

คนที่สองคือ ศรีบูรพา หรือ กุหลาบ สายประดิษฐ์ บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ นักคิดนักเขียนคนสำคัญที่ต้องประสบชะตากรรมไม่ต่างจากเทียนวรรณ

“กุหลาบ สายประดิษฐ์ พูดว่าความจริงมันพูดไม่ได้ เพราะความจริงมักถูกกีดกันโดยอำนาจ ถ้าพูดความจริงก็ต้องสู้กับอำนาจ ซึ่งประเด็นที่พูดทำให้ศรีบูรพาต้องจบด้วยการลี้ภัยทางการเมือง”

ตั้งแต่กรณีเทียนวรรณถึงศรีบูรพา ถึงอาจารย์ป๋วย คือ คนที่พูดความจริงในสังคมไทย แต่ต่างได้รับชะตากรรมเหมือนกัน ธเนศตั้งข้อสังเกตน่าสนใจว่า

“ทำไมนักคิดสยามไทยจึงไม่ค่อยมี เพราะว่าถ้ามี ก็เข้าคุก ไม่เข้าคุกก็อยู่นอกประเทศ อยู่ในประเทศไม่ได้” ธเนศมองว่าการสร้างนักคิดในสังคมไทยถือเป็นภารกิจที่ยากมาก

ถ้าสังคมไทยสร้างนักคิดของตัวเองไม่ได้ สร้างปัญญาชนที่มีอิสระ รักความจริง และสามารถต่อสู้เพื่อความถูกต้องของตัวเองไม่ได้ ระบบการปกครองอะไรก็ไม่มีความหมาย จะเป็นประชาธิปไตยก็เป็นแต่ในนาม เพราะอำนาจก็ยังเหนือกว่าอุดมการณ์ต่างๆ

นักคิดปัญญาชนสยามที่รับรู้เรื่องโลกสมัยใหม่ ธเนศให้ความเห็นว่ามีมานานแล้ว แต่เป็นแนวคิดที่ไม่ได้รับความเห็นชอบจากส่วนกลาง

“เรามีแต่จารีตวัฒนธรรมของรัฐ วัฒนธรรมของหลวง วัฒนธรรมของราษฎรมันถูกกดอยู่ตลอดเวลา มันเป็นสิ่งแปลกปลอม เป็นสิ่งที่ถูกอ้างว่าเป็นความมั่นคงของรัฐ ความมั่นคงของการปกครอง

“ทั้งหมดทั้งปวงทำให้เส้นทางพัฒนาการต่างๆ ของสังคมมาได้อย่างขาดๆ วิ่นๆ และจะเป็นไปอย่างลุ่มๆ ดอนๆ เพราะมันไม่มีความจริง ไม่มีความงาม ไม่มีความดีอะไรที่เหลืออยู่” ธเนศกล่าว

 

 

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า