จากดวงจันทร์ ถึงการสอบจรรยาบรรณคณาจารย์ รวมผลงาน รมต. ‘เอนก เหล่าธรรมทัศน์’ เท่าที่เห็น

เรื่องมันเริ่มจากหนังสือลงวันที่ 29 เมษายน 2564 ส่งถึงอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อขอให้ชี้แจงข้อเท็จจริง กรณีการสอบจรรยาบรรณคณาจารย์ที่ปกป้อง – ยื่นขอประกันตัวกลุ่มนักศึกษาที่มีพฤติกรรมจาบจ้วงสถาบันพระมหากษัตริย์ แม้หนังสือดังกล่าวจะระบุว่าออกโดย ดวงฤทธิ์ เบ็ญจาธิกุล ชัยรุ่งเรือง เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม แต่ใจความสำคัญก่อนการลงชื่อก็คือว่า

“รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้มีบัญชาให้อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดลชี้แจงว่าจะสอบจรรยาบรรณคณาจารย์ทั้ง 8 รายได้หรือไม่”

ข้อความดังกล่าว พาเรากลับมาทบทวนว่า ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ซึ่งรับตำแหน่งอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2563 ตลอดระยะเวลากว่า 8 เดือนขณะดำรงตำแหน่ง นอกจากบัญชาล่าสุดและความฝันว่าจะส่งยานไปดวงจันทร์แล้ว เอนกมีผลงานอะไรที่คนไทยควรภาคภูมิบ้าง

โครงการมหาวิทยาลัยสู่ตำบล สร้างรากแก้วให้ประเทศ

เอนกเล็งเห็นถึงปัญหาการว่างงานของบัณฑิตจบใหม่และผู้ที่ตกงานในภาวะวิกฤติโควิด-19 มากกว่าการชุมนุมของเยาวชน และต้องการให้มองประเทศด้านบวกบ้าง จึงจัดโครงการเพื่อพัฒนาทักษะการทำงานโดยให้บัณฑิตจบใหม่ทำงานในพื้นที่ชุมชน เพื่อที่จะได้มีการจัดทำ Big Data ของข้อมูลชุมชนที่ใช้สำหรับการแก้ปัญหาความยากจนในพื้นที่ นำไปสู่เศรษฐกิจพอเพียงที่ยั่งยืน ซึ่งจะได้ค่าตอบแทนเดือนละ 15,000 บาท ตลอดระยะเวลา 12 เดือนของโครงการ

ระยะแรกของโครงการ (มกราคม-มีนาคม 2564) มีการประชุมสรุปผลการดำเนินงานในจังหวัดนราธิวาส ปรากฏว่าสามารถจ้างงานได้มากถึง 53,264 คน จากเป้าหมาย 60,000 คน คิดเป็น 89 เปอร์เซ็นต์ และจะมีการผลักดันระยะที่ 2 ในพื้นที่จังหวัดอื่นๆ ต่อไป

เสนอร่าง ‘พระราชบัญญัติส่งเสริมการใช้ผลประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม’

เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2564 เอนกได้นำเสนอร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมการใช้ผลประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรมในที่ประชุมรัฐสภา โดยให้เหตุผลว่าถึงแม้รัฐจะสนับสนุนทุนวิจัยมาตลอด แต่ผู้รับทุนหรือนักวิจัยไม่ได้เป็นเจ้าของผลงานหรือนวัตกรรมได้ด้วยข้อจำกัดทางกฎหมาย จึงไม่เกิดการใช้ประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรม จึงควรทำให้ผู้รับทุนหรือนักวิจัยเป็นเจ้าของผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐได้ และมีมาตรการบังคับใช้สิทธิโดยรัฐเพื่อประโยชน์ส่วนรวมของสังคม (แต่ในขณะเดียวกัน เสรีภาพทางวิชาการในประเทศยังไม่ได้เปิดกว้างมากนัก)

ผลสรุป รัฐบาลมีมติเห็นชอบด้วยคะแนนเสียงเห็นด้วย 525 ราย ไม่เห็นด้วย 1 ราย และงดออกเสียง 3 ราย

เปิดโรงพยาบาลสนามทั่วประเทศรับมือโควิดระลอก 3

เอนกได้พยายามทำงานสนับสนุนรัฐบาลอย่างเต็มที่ ด้วยการจัดหาโรงพยาบาลสนามรองรับผู้ป่วยถึง 3 รอบด้วยกัน รอบแรก 9 เมษายน 2564 โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต จำนวน 470 เตียง และ โรงพยาบาลจักรีนฤบดินทร์ 400 เตียง ต่อมาวันที่ 11 เมษายน 2564 เปิดโรงพยาบาลสนามกระจายในมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ 23 แห่ง และล่าสุด 13 เมษายน 2564 เปิดโรงพยาบาลสนามอีก 14 แห่ง รวมแล้วทั่วประเทศ 12,822 เตียง อีกทั้งยังสั่งการคณบดีโรงเรียนแพทย์ให้ช่วยรับสายด่วน 1668 และช่วยรัฐบาลฉีดวัคซีนด้วยตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2564 เป็นต้นไป

วิสัยทัศน์ของเอนก

นอกจากการทำงานเชิงนโยบาย เอนก เหล่าธรรมทัศน์ ยังแสดงวิสัยทัศน์ในการทำงานเพื่อขับเคลื่อนประเทศในฐานะรัฐมนตรีกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ซึ่งบางครั้งก็เป็นข่าวเงียบๆ แต่บ่อยครั้งก็กลายเป็นหนึ่งในพาดหัวที่ให้ประชาชนอย่างเราได้นั่งขบคิดไตร่ตรอง

5 กันยายน 2563

ระหว่างตรวจติดตามความคืบหน้าของงานวิจัยและนวัตกรรมภาคเหนือ เอนกได้ร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนกับตัวแทนนักศึกษา โดยยืนยันว่า แม้หลายฝ่ายจะมองว่าประเทศไทยนั้นมีข้อบกพร่องหลายอย่าง แต่แท้จริงแล้วเราไม่ได้ด้อยไปกว่าใคร

“ขอยืนยันว่าประเทศไทยที่บางฝ่ายมองว่าไม่มีอะไรดีเลยนั้น แท้จริงแล้วเราเป็นประเทศที่มีความมั่นคงแข็งแรงหลายด้าน แม้กระทั่งทางด้านเศรษฐกิจเราก็เติบโตเป็นอันดับ 19 ของโลกจากทั้งหมดเกือบ 200 ประเทศ ขณะที่ความเจริญทางด้านวิทยาศาสตร์ ถ้าเปรียบเทียบในอาเซียน 10 ประเทศ เราก็อาจจะแพ้แค่สิงคโปร์เท่านั้น ประเทศของเรายังมีดีมีจุดแข็งอีกมากมาย เป็นหน้าที่ของทุกคน ทั้งรุ่นเก่ารุ่นใหม่เราต้องช่วยกันพัฒนา”

5 พฤศจิกายน 2563

เปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการในหัวข้อ ‘นวัตกรรมเพื่อสังคมไทย บทบาทผู้นำเยาวชนยุคใหม่…สู่…คนไทยมีดี’ ณ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) โดยมีผู้นำนักศึกษาและผู้นำเยาวชน 168 คนจาก 89 มหาวิทยาลัยทั่วประเทศเข้าร่วม ซึ่งเอนกได้กล่าวกับนักศึกษาว่า

“การจะประสบความสำเร็จในชีวิต นอกจากมีความรู้ มีอุปนิสัยดีแล้ว ยังต้องมีเครือข่ายของคนที่เคยรู้จักหรือคุ้นเคย เช่น การรู้จักกันในกิจกรรมนี้ก็เป็นการสร้างเครือข่ายหนึ่งที่จะมีประโยชน์กับชีวิตนักศึกษาเป็นอย่างยิ่ง เป็นการสร้างทุนทางสังคม เสริมจากทุนชีวิตที่แต่ละคนมี ที่สำคัญขอให้มีทัศนคติที่ถูกต้อง มองโลกในทางบวก ไม่ใช่เห็นแต่แง่ลบ ซึ่งข้อดีของการมองโลกในทางบวกจะทำให้เรามองเห็นโอกาสไม่ใช่เห็นแต่ปัญหา”

24 ธันวาคม 2563

กระทรวง อว. จัดแถลงสรุปผลงานเด่นประจำปี 2563 โดยเอนกได้แสดงวิสัยทัศน์เกี่ยวกับเทคโนโลยีอวกาศของไทยไว้ว่า ประเทศไทยจะมีการพัฒนาดาวเทียมที่โคจรรอบดวงจันทร์ ส่วนหนึ่งของการขยายความสามารถทางอวกาศเพราะปัจจุบันโลกกำลังพูดถึงเศรษฐกิจอวกาศ ซึ่งจะเป็นหนทางสำคัญที่จะทำให้ประเทศหลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง คาดว่าจะใช้งบประมาณเพียง 3,000 ล้านบาทเท่านั้น

“ในทุกปัญหาและวิกฤติย่อมก่อให้เกิดการสร้างสรรค์นวัตกรรม เพื่อนำประเทศฝ่าวิกฤติ ทั้งยังเป็นการเตรียมพร้อมสำหรับสถานการณ์โควิด-19 ระลอกใหม่ที่กำลังเกิดขึ้น และกระทรวง อว. ยังคงเดินหน้าในการคิดค้นนวัตกรรมใหม่อย่างต่อเนื่อง เพื่อนำพาประเทศไทยก้าวต่อไปได้อย่างมั่นคง”

9 มกราคม 2564

เนื่องในวันเด็กแห่งชาติประจำปี 2564 เอนกได้ให้โอวาทที่แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของวิทยาศาสตร์ที่เป็นเครื่องมือในการพาประเทศไทยให้ก้าวพ้นจากประเทศรายได้ปานกลาง ผู้ใหญ่ควรสนับสนุนความสนใจทางวิทยาศาสตร์ของเด็กๆ และให้ตัวเด็กเองถือโอกาสในวันเด็กคิดวางแผนชีวิตอย่างจริงจัง

“วิทยาศาสตร์เป็นความพิศวง เป็นความสนุกสนาน เป็นความเพลิดเพลิน และเป็นอาชีพที่ดีได้ด้วย และเป็นวิชาชีพที่เป็นอนาคตของประเทศ เพราะว่าประเทศไทยได้ทุ่มเทเพื่อวิทยาศาสตร์มากมาย และเวลานี้กำลังจะออกดอกออกผล ที่ชัดที่สุดคือ ถ้าพูดได้ในประโยคเดียวในตอนนี้คือ อีก 7 ปีข้างหน้าเราจะส่งยานอวกาศไปโคจรรอบดวงจันทร์”

อ้างอิง

Author

ชัญญา อินทร์ไชยา
ชื่อเล่นญี่ปุ่น แต่เลือดอีสานแท้ เว่าลาวได้นิดหน่อย แมวคือสิ่งมีชีวิตที่ทำให้มีความสุข อาหารอร่อยและการ์ตูนสักเรื่องคือเครื่องหล่อเลี้ยงจิตใจ นิยามตัวเองเป็นเป็ดเพราะการเรียนรู้ไม่เคยสิ้นสุด

Illustrator

บัว คำดี
จากนักเรียนสายหนังผันตัวมาทำกราฟิกดีไซน์และงานโมชั่น แม่นยำเรื่องจังหวะเวลาแม้กระทั่งการเคี้ยวข้าวทีละคำด้วยความเร็วสม่ำเสมอจนหมดเวลาพักเที่ยง ฝากลายเส้นไว้ในชิ้นงานแนวรักเด็ก รักโลก ละมุนละไม แต่อีกด้านที่ทำให้กองบรรณาธิการต่างเกรงกลัวไม่กล้าแบทเทิลด้วย คือความเอาจริงเอาจังกับตารางเวลา ตรงไปตรงมา ลงจังหวะเน้นเป๊ะตามบาร์แบบชาวฮิพฮอพ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า