คำสารภาพของ ‘ธัชพงศ์ แกดำ’​ ในอ้อมกอดของคนเสื้อแดง หลังร่วมหัวจมท้ายกับ กปปส. จนรัฐประหาร

แค่คำขอโทษอย่างเดียวคงไม่พอ 

ไม่พอสำหรับการเป็นส่วนหนึ่งของรัฐประหารในปี 2557 ไม่พอทดแทนความผิดหวังของเพื่อนที่ร่วมทำกิจกรรมทางสังคมด้วยกันมาตั้งแต่สมัยเป็นนักศึกษา และไม่พอในการตอบแทนอ้อมกอดของคนเสื้อแดงที่อ้าแขนรับเขาอีกครั้ง ในวันที่อกหักและหันกลับมายังเส้นทางประชาธิปไตย – เขาบอกกับเราเช่นนี้ 

ความไร้เดียงสาทางการเมือง หรือความเชื่อมั่นที่ผิดพลาด นั่นไม่ใช่ข้อแก้ตัวสำหรับ บอย-ธัชพงศ์ แกดำ เพราะสำหรับเขาแล้ว การเลือกผิดก็คือเลือกผิด และไม่อาจใช้เป็นข้ออ้างในการปัดความรูัสึกที่ว่า เขาต้องรับผิดชอบและพิสูจน์ตนเอง

บอย-ธัชพงศ์ แกดำ เข้าร่วมกิจกรรมกับกลุ่มคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) ช่วงก่อนปี 2557 เพื่อนำเสนอปัญหาเรื่องสิทธิทำกิน สิทธิชุมชน ต่อสาธารณะ ในนามเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท.) นั่นเพราะเขาเข้าใจว่า ‘การปฏิรูปประเทศ’ ที่ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึง จะถูกปฏิรูปภายใต้แนวทางของระบอบประชาธิปไตย ชาวบ้านจะลืมตาอ้าปากได้ สิทธิในการทำกินของประชาชนจะดีขึ้น 

เขาคิดไว้เช่นนั้น 

หากแต่มันไม่ใช่เช่นนั้น 

บทสนทนาถัดจากนี้ จึงว่าด้วยการเดินทางของชายหนุ่ม นับจากการรัฐประหารของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) การหวนสู่เส้นทางประชาธิปไตย การต่อสู้บทใหม่เพื่อพิสูจต์ตน คำขอโทษถึงเพื่อนและคนเสื้อแดงอย่างตรงไปตรงมา ตลอดจนเรื่องเล่าถึงเพื่อนที่เคยถูกคุมขัง และกำลังถูกจองจำ

1

คำขอโทษ และโอบกอดของคนเสื้อแดง

คุณเริ่มสนใจประเด็นทางการเมืองตั้งแต่ตอนไหน 

ตอนที่เป็นนักศึกษาในมหาวิทยาลัยรามคำแหง เรามีอิสระ มีเวลาในการไปทำกิจกรรม ลงพื้นที่ ไปค่ายศึกษาปัญหาชาวบ้าน ไปกิน ไปนอน ไปอยู่กับชาวบ้านในพื้นที่ต่างๆ แต่ว่าจุดเปลี่ยนจริงๆ มาจากหนังสือมากกว่า นั่นคือหนังสือ ศิลปะเพื่อชีวิต ของ จิตร ภูมิศักดิ์ และหนังสือของ เช เกวารา เกี่ยวกับการปฏิวัติสังคมใหม่ กับหนังสือของ เหมาเจ๋อตุง ด้วย เราก็อยากจะหาวิธีการในการจัดการความขัดแย้งทางชนชั้นในประเทศเราด้วย

นอกจากการอ่านหนังสือและทำกิจกรรมในค่ายศึกษา เรายังเคลื่อนไหวเรื่องการคัดค้านการนำมหา’ลัยออกนอกระบบ ตอนนั้นมีการรวมกลุ่มกันของนักศึกษาหลากหลายมหา’ลัย ทำให้เราได้เริ่มรู้จักคำว่า ‘ขบวนการนักศึกษา’ หรือคำว่าเครือข่ายมากขึ้น แต่สิ่งที่สำคัญที่สุด เราเชื่อมั่นใน 3 ขา คือแรงงาน ชาวนา แล้วก็นักศึกษา เพราะฉะนั้นตลอดชีวิตความเป็นนักศึกษาของผม จะทำกิจกรรมอยู่กับม็อบชาวนา ม็อบแรงงาน และม็อบนักศึกษาเป็นหลัก 

ย้อนไปยังปี 2557 อะไรทำให้คุณตัดสินใจเข้าร่วมม็อบ กปปส.

หนึ่ง-เรามีความสัมพันธ์กับแกนนำ กปปส. ในฐานะรุ่นพี่รุ่นน้อง เป็นความสัมพันธ์ส่วนตัว สอง-ตอนนั้นเราไปเพื่อหลักการสำคัญ เราไปเพื่อคัดค้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรมสุดซอย

แต่มันผิดพลาดตรงที่ หลังจาก พ.ร.บ.นิรโทษกรรมสุดซอย ถูกปัดตกไป เราไม่ยอมหยุด เพราะเราคิดว่าการอยู่ร่วมต่อในขบวนจะนำไปสู่การปฏิรูปประเทศตามที่แกนนำ กปปส. เขาบอกไว้ มันจะเป็นทางออกของปัญหา อีกทั้งเรารู้สึกว่า โดยหลักการแล้วเราไม่เอารัฐประหารอยู่แล้ว เราคิดว่าหลังรัฐประหารครั้งสุดท้าย 19 กันยา 2549 มันคงจะไม่มีอีกแล้ว มันคงจะจบด้วยการปฏิวัติของประชาชนเหมือนที่เราเคยใฝ่ฝันว่าจะเกิด เราเชื่อว่าอย่างน้อยมันจะเกิดการปฏิรูปประเทศ จะเกิดการแก้ไขปัญหาทุกอย่าง เพราะผมเห็นปัญหาของพี่น้องชาวนา ของม็อบภาคประชาสังคม มันเหมือนโดนเลี้ยงไข้มาตลอด กี่ปีๆ ก็ไม่เคยได้รับการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจังอย่างเป็นรูปธรรม การไปเข้าร่วมกับ กปปส. ครั้งนั้น มันคือความหวังจริงๆ 

ในตอนนั้นผมถูกเพื่อนตำหนิ มาเตือนด้วยความหวังดีมากๆ ว่า “เฮ้ย พี่บอย ถ้าพี่บอยยังร่วมอยู่กับ กปปส. มันจะนำไปสู่การรัฐประหารแน่” ผมก็เถียง แล้วก็ทะเลาะกันเลยนะ เพราะผมไม่เชื่อว่าจะเกิด 

แต่พอวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 มีการยึดอำนาจ นั่นเป็นวันที่ผมอกหัก เหมือนใจมันสลาย เราทะเลาะกับเพื่อนเราที่เป็นนักกิจกรรมด้วยกันตั้งแต่เป็นนักศึกษา เรายืนหลักการว่าเราไม่เอารัฐประหาร แล้วเราไม่เชื่อว่ามันจะนำไปสู่การยึดอำนาจได้ แต่สุดท้ายพอมีการยึดอำนาจ เหมือนทุกอย่างมันพัง มันพังหมดเลย แล้วนั่นก็คือจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญอีกครั้งหนึ่งในชีวิตผม

คุณเผชิญกับความรู้สึกแบบไหนหลังจากวันนั้น วันที่เกิดการรัฐประหาร ยึดอำนาจประชาชน

วันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ทุกอย่างมันเปลี่ยนไปหมด กปปส. กับผม มันจบตั้งแต่วันนั้นเลย วันที่เขายึดอำนาจ 

สิ่งสำคัญคือ มันไม่ต้องมารักษาศักดิ์ศรีหรือรักษาเชิงแล้ว ถ้ามันผิดก็คือผิด ก็ต้องถอนตัวออกมา มันคือความผิดพลาดจากสิ่งที่เราเคยไปเข้าร่วม ฉะนั้นการที่ กปปส. เป็นตัวปูทางให้เกิดการยึดอำนาจ ผลพวงความเดือดร้อนจึงมาสู่ประชาชนในวันนี้ 

หลังการยึดอำนาจของ คสช. คุณเปลี่ยนไปอย่างไร

มันเปลี่ยนตั้งแต่วันแรกที่มีการยึดอำนาจ ในลักษณะที่ว่าผมพลาดแล้ว ผมไม่เชื่อคำเตือนของนักกิจกรรมหรือเพื่อนมิตรสหายที่เคยทำกิจกรรมด้วยกันมา ผมยอมรับจริงๆ ว่าผมพลาด 

ไม่ว่าจะโดยตรงหรือโดยอ้อม ผมมีส่วนที่ทำให้การรัฐประหารเกิดขึ้น แม้ว่าผมจะไม่มีอำนาจสั่งการว่าให้ยึดอำนาจหรือไม่ แต่ก็ถือว่าผมเป็นส่วนหนึ่งของการปูทางให้เกิดการยึดอำนาจด้วย 

วันนั้นผมโกรธมาก ผมจึงคิดว่าความรับผิดชอบของผมที่มีต่อการยึดอำนาจก็คือการต่อต้าน หลังจากวันนั้นผมปฏิเสธขบวนการทุกอย่างของ กปปส. จนทะเลาะกับคนข้างในที่ยังอยู่ใน กปปส. อันนี้ผมยอมรับว่าเริ่มมีปัญหากันอย่างจริงจัง 

วันแรกของการรัฐประหาร ผมขี่มอเตอร์ไซค์ไปด้วยความโกรธแค้นมากนะ ไปที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพื่อไปเขียนป้ายคัดค้านการยึดอำนาจ แต่ผมยังไม่ได้ออกมาเคลื่อนไหวอย่างจริงจัง จนกระทั่งวันที่ 22 พฤษภาคม 2558 ได้จัดกิจกรรมต่อต้านการรัฐประหารครบรอบ 1 ปี 

ผมคิดว่าการขอโทษทุกคนที่เคยเตือนว่า เราผิดพลาดมาแล้ว ขอโทษอย่างเดียวคงไม่พอ อาศัยคำพูดอย่างเดียวคงไม่ได้ การลงมือทำด้วยการต่อสู้และต่อต้านการรัฐประหาร คือความรับผิดชอบที่ผมต้องมี 

เพราะฉะนั้น ตั้งแต่ปี 2558 ไม่ว่าจะวันครบรอบ 1 ปี ครบรอบ 3 ปี หรือครบรอบ 3 ปีของการยึดอำนาจรัฐประหาร ผมจะออกมาเคลื่อนไหวตลอด ไม่ว่าจะต้องเจอกับรุ่นพี่หรือคนที่เคยอยู่ใน กปปส. ด้วยกันเกลียดชัง หาเรื่อง เหน็บแนม ทำลายเครดิตเรา หรือกระทั่งถูกฝั่งประชาธิปไตยมองว่า ทำไมเราเพิ่งตาสว่าง ทำไมเรามาสารภาพผิดเอาตอนนี้ ผมก็ถือว่ามันเป็นผลพวงที่เราต้องเจอ 

กระทั่งแม้แต่วันนี้ที่เรามีคดีเยอะมาก จากการต่อต้านความเป็นเผด็จการของรัฐบาลที่มาจากการยึดอำนาจ ผมก็รู้สึกว่ามันเป็นความรับผิดชอบ และมันก็เป็นผลพวงที่ผมต้องเจออยู่แล้ว

คุณเดินเข้าสู่ขบวนการประชาธิปไตยอย่างไรหลังจากหันหลังให้กลุ่ม กปปส. 

เหมือนผมได้ชีวิตตัวเองกลับคืนมา พอผมออกมา ผมรู้สึกว่าผมเป็นอิสระ ผมได้ปลดโซ่ตรวนบางอย่าง ผมได้ปลดโซ่ตรวนของระบบอำนาจนิยม ในความเป็นรุ่นพี่รุ่นน้อง ได้ปลดโซ่ตรวนของระบบอนุรักษนิยมที่เราไม่สามารถจะนำเสนอความคิดเห็นอะไรได้ ถ้าเราไม่ใช่คนในชนชั้นที่เขารู้สึกว่ามีราคาหรือมีคุณค่า ผมได้ปลดโซ่ตรวนของความหวาดกลัว กลัวว่าจะโดดเดี่ยว กลัวว่าจะไม่มีอะไรเหลือ มันปลดออกหมดทุกอย่าง แล้วผมเป็นอิสระ

การที่ผมออกจากเครือข่ายของฝ่ายอำนาจนิยมได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ทำให้ผมออกมาสู้บนท้องถนนได้อย่างเต็มที่ และแม้ผมจะถูกใครบอกว่า พอออกมาสู้กับเผด็จการแล้วผมต้องโดนคดีมากมาย หรือมี EM ติดอยู่ที่ขา ผมก็คิดว่าถ้าย้อนเวลากลับไปได้ ผมก็จะทำอยู่ดี ผมรู้สึกว่าความเป็นประชาธิปไตยมันทำให้เราพูดอะไรได้อย่างตรงไปตรงมา มันทำให้เรามีเสรีในความคิด แล้วมันทำให้เราเห็นศักยภาพในการปลดปล่อยตัวเองไปสู่อีกที่หนึ่ง ที่ที่ทำให้เรารู้สึกว่า นี่แหละมันคือชีวิตเรา ผมจะไม่มีทางกลับไปเป็นเหมือนเดิมที่ฝ่ายอำนาจนิยมเคยทำ ผมจะใช้ชีวิตแบบนี้ให้เต็มที่เลย เพราะผมรู้สึกว่าการเมืองมันต้องดีกว่านี้ ถ้ามันเป็นประชาธิปไตย 

การออกมาครั้งนั้น ต้องแลกกับอะไรบ้าง

ผมถูกคุกคามโดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจบุกเข้ามาที่บ้าน ผมถูกหมายคดี 34 หมาย 34 สน. คดีเยอะมาก ผมถูกจำคุก 38 วัน โดยที่ไม่ได้รับสิทธิประกันตัวขั้นพื้นฐาน ผมติดโควิดอยู่ในเรือนจำ เชื้อลงปอดเกือบตาย แล้วก็ต้องออกมาด้วยเงื่อนไขการใส่กำไล EM บนข้อเท้า ขึ้นเครื่องบินไม่ได้ ออกนอกประเทศไม่ได้ แล้ว ณ วันนี้ การต่อสู้ที่ผมกำลังทำอยู่ มันได้เห็นชัดเจนว่า ระบบอำนาจนิยมมันได้ทำลายทุกอย่าง ไม่ใช่แค่ชีวิตผม แต่ยังรวมถึงคนจน คนจนเมือง คนจนชนบท หรือใครหลายๆ คน ผมคิดว่าวันนี้มาถึงจุดเปลี่ยนแล้ว มันไม่ใช่แค่ผมที่ออกมาสู้ตั้งแต่ตอนที่รู้ว่ามีการยึดอำนาจ แล้วเราต้องสู้ แต่มันยังรวมถึงผู้คน ณ วันนี้ ผู้คนที่เขารู้สึกว่า วันนี้คือการเปลี่ยนแปลง มันคือการต่อสู้ของยุคสมัย

ช่วงที่คุณแตกคอกับเพื่อนนักกิจกรรม วันที่เพื่อนเดินมาตักเตือน คุณพอจะจำถ้อยคำในวันนั้นได้ไหม 

ตอนอยู่ กปปส. ผมโดนเตือนจากเพื่อน คำที่สำคัญและจำได้แม่นที่สุดคือ “ระวังนะพี่ สิ่งที่พี่ทำอยู่ มันจะเป็นการไปปูทางให้เกิดการรัฐประหาร” แล้วเราก็เถียง ไม่เก็ต ความไร้เดียงสาของเราคือ เราเชื่อมั่นในตัวเองสูงเกินไป เราเชื่อมั่นในความคิดของตัวเองสูง แล้วเราไม่ฟังใคร “ไม่เชื่อไม่เป็นไร กูไปคนเดียวก็ได้วะ” แต่พอถึงวันที่มีการยึดอำนาจจริงๆ เรารู้สึกอกหักและผิดหวังกับตัวเอง ก็ต้องยอมรับว่ามันคือความผิดพลาดของตัวผมเอง ผมไม่โทษใครนะ มันเป็นความผิดพลาดของตัวผมเองที่ไม่ฟังเพื่อน 

หลังจากนั้นก็ต้องยอมรับว่า ต้องใช้เวลา ใช้เวลา ณ ที่นี้ไม่ได้หมายความว่าต้องไปพิสูจน์กับใคร แต่ใช้เวลาในการลงมือทำให้เห็นว่าเราไม่ได้ต้องการการรัฐประหารจริงๆ นั่นก็คือการออกมาต่อสู้กับการยึดอำนาจ ผมคิดว่าเส้นทางประชาธิปไตยมันต้องพิสูจน์ตัวเอง

แล้วกับคนเสื้อแดงล่ะ 

ผมไม่เคยถูกพี่น้องเสื้อแดงมาชี้หน้าด่า ตอนเข้ามาชุมนุมกับขบวนการนักศึกษา แม้ว่าพี่น้องเสื้อแดงหลายคนจะมองว่าผมเคยอยู่ กปปส. มาก่อน ผมได้รับการโอบกอดจากป้าคนเสื้อแดงเยอะมาก แต่ว่าช่วงแรกๆ ที่มีการยึดอำนาจ ที่ผมเคยถูกจับตอนปี 2558 แล้วผมก็ถูกด่าทั้งจากคนเสื้อเหลือง เสื้อแดง อันนั้นผมคิดว่ามันคือผลพวง เพราะคนยังตกใจ คนยังช็อก แล้วคนยังไม่เข้าใจว่า “ตกลงนี่มันอะไรวะ” จากเคยร่วม กปปส. อยู่ดีๆ ครบรอบ 1 ปี ออกมาต้านรัฐประหาร นั่นเป็นธรรมดา เป็นสิ่งที่ผมต้องเผชิญ 

ตั้งแต่ผมเคลื่อนไหวกับขบวนคนหนุ่มสาวในปี 2563 กับขบวนการเยาวชนในการเรียกร้องประชาธิปไตย หรือที่เขาบอกว่าเป็นสามกีบหรือสามนิ้ว ผมไม่เคยโดนพี่น้องเสื้อแดงมาด่าเลย ผมได้รับการโอบกอดจากพวกเขา

อีกอย่างหนึ่งที่ต้องยอมรับ นั่นคือ ตั้งแต่ปี 2558 ผมได้กำลังใจจากแกนนำที่เป็นเสื้อแดงเยอะมาก เขาจะอวยพรหลังบ้านเสมอ “บอย ยืนหยัดสู้ต่อไปนะ” เช่น พี่หนูหริ่ง-สมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บก.ลายจุด พี่หนูหริ่งเป็นคนที่ให้กำลังใจหลังบ้านตั้งแต่ปี 2558-2559 มาโดยตลอด ทั้งที่เราก็เคยเห็นต่างจากพี่หนูหริ่ง แต่พี่หนูหริ่งไม่เคยที่จะประณามเราในที่สาธารณะเลย อันนี้ต้องเอ่ยชื่อจริงๆ นะ 

วินาทีที่ถูกโอบกอด คุณรู้สึกอย่างไร

เราไม่คิดว่ามันจะ… มันก็พูดไม่ถูกนะ เรารู้สึกกระอักกระอ่วน เรารู้สึกผิดตั้งแต่วันที่เรา… (นิ่งคิด)

มันคือความรู้สึกผิด ผิดมากๆ คือวันที่เราถูกหิ้วขึ้นรถตู้ไปเมื่อครั้งต้านรัฐประหาร ปี 2558 มีทั้ง รังสิมันต์ โรม, ลูกเกด (ชลธิชา แจ้งเร็ว) และเนติวิทย์ แล้วลูกเกดนั่งร้องไห้อยู่ข้างเรา เรารู้สึกเจ็บ 

หลังจากนั้นมาเรารู้สึกกระอักกระอ่วนมาก แล้วพอเรามาเคลื่อนไหวครั้งนี้ ตั้งแต่ปี 2563 การที่เราได้รับการปกป้องจากคนเสื้อแดง ได้รับการโอบกอดจากป้าๆ เสื้อแดง… คือมันบอกไม่ถูก มันหาคำพูดมาอธิบายไม่ได้ เราไม่รู้จะใช้คำไหน แต่เรารู้สึกว่า เรามีความสุข แล้วเรารู้สึกว่านี่คืออิสระ เราคิดถูกแล้วที่เราปลดโซ่ตรวนของเราออก

การโอบกอดจากเพื่อนที่ว่านั้น หมายถึงโอบกอดแบบไหน

ต้องบอกว่าทั้งกายภาพและทางใจครับ พอเรากลับมา เรายังคงความเป็นนักกิจกรรมในสมัยร้องเพลงปฏิวัติรอบกองไฟ ร้องเพลงปฏิวัติในวงเหล้า เราได้กลับมาสู่บรรยากาศเดิมๆ อีกครั้ง ณ วันนี้เราเห็นคนหนุ่มสาวตื่นตัวทางการเมืองสูงมาก มันคือความใฝ่ฝันที่อยากเห็นมาโดยตลอด มันทำให้เรามีความสุข กระชุ่มกระชวย เราเคยคิดว่าจะไม่มีทางได้เห็น แต่พอวันนี้เราโคตรมีความสุขเลย ผมรู้สึกว่า นี่เรายังเป็นนักกิจกรรมเหมือนในวันนั้นอยู่เลย ยังรู้สึกว่า ไฟในการต่อสู้มันยังมีอยู่

พูดได้ไหมว่า ณ วันนี้คุณที่จะก้าวข้ามฝั่งทางการเมือง และยังมีเพื่อนๆ รอคุณอยู่ 

ในวันที่ผมไปอยู่อีกฝั่งหนึ่ง ผมคิดว่าเพื่อนเขาเชื่อมั่นว่าผมจะไม่ได้เป็นแบบนั้นทั้งหมด ผมยอมรับว่าเพื่อนเชื่อใจเรา เพราะเพื่อนรู้ว่าเราไม่ได้เป็นเหมือนคนในขบวนที่เราเข้าร่วม เราไม่ได้เป็นเหมือนแกนนำ กปปส. เพื่อนรู้ว่าเราไม่ได้ฉวยโอกาส เราไม่ได้หวังในตำแหน่งทางการเมือง ผมคิดว่าเพื่อนเชื่อใจ เพื่อนอาจจะไม่พูด แต่ลึกๆ แล้วผมคิดว่าเพื่อนเชื่อในตัวผม

เพราะฉะนั้น วันนี้ผมจึงยังเป็นผมเหมือนเดิมไม่เปลี่ยนแปลง ผมยืนยันว่า ถ้าในอนาคตมีรัฐบาลที่เป็นเผด็จการกับประชาชน ไม่ว่าจะฝ่ายไหนก็ตาม ผมก็ยังต้องออกมาสู้ต่อ ก็ยังต้องต้านต่อ มันคือชีวิตไปแล้ว 

2

ไม่มีใครสบายในกรงขัง เราต่างอดทนและสู้ต่อ 

การได้ปลดโซ่ตรวนทางความคิด แลกกับการต้องไปใช้ชีวิตหลังกำแพงสูงในเรือนจำ เล่าให้ฟังหน่อยว่า ที่แห่งนั้นมีสภาพแบบไหน ทุกคนอยู่กันอย่างไร

ผมคิดว่ามันไม่สามารถหาคำว่าสบายได้ เราไปอยู่ข้างในเรือนจำ มันคือคุก คุกก็คือคุก มันไม่มีคำว่าดีขึ้น ดีแค่นี้ ดีกว่านี้ หรือดีมากกว่านี้ แต่มันคือคุกที่ขังอิสรภาพของเรา แต่พวกเราไม่เคยถูกขังทางความคิดได้ แม้เขาพยายามจะขังความคิดเราเท่าไร เพราะฉะนั้นเพื่อนเราที่อยู่ข้างใน ต่อให้ทางกายภาพถูกขัง แต่ความคิดของพวกเรายังสู้อยู่เสมอ 

ตอนที่อยู่ข้างในคุก เราต้องสู้กับระบบเผด็จการในเรือนจำด้วยนะ แล้วเราก็ต้องสู้เพื่อให้ข้างนอกมีความหวัง ภารกิจของเพื่อนที่อยู่ข้างในคือ ต้องไม่ทำให้เพื่อนที่อยู่ข้างนอกท้อ ตอนเราอยู่ข้างใน เรามีความหวังทุกครั้งที่เราได้ยินข้างนอกกำลังสู้อยู่ เพื่อนที่อยู่ข้างในจะไม่บอกให้มวลชนเข้าไป free เขา เพราะเขาไม่อยากให้คนที่อยู่ข้างนอกต้องมาเสียเวลากับการมาปลดปล่อยเขา แม้ลึกๆ เขาอยากจะพูด เพราะบางคนก็อาจจะเหนื่อย แต่เขาจะไม่ยอมพูดออกมาว่า “เฮ้ย มึงมาปล่อยกูได้แล้ว” เพราะเขาอยากให้คนที่อยู่ข้างนอกได้โฟกัสเรื่องยุทธศาสตร์การต่อสู้ให้สำเร็จ 

ทุกครั้งที่มีผู้คนออกมาร่วมกิจกรรม ‘ยืน-หยุด-ขัง’ คุณรู้สึกอย่างไร

คุณอย่ามองว่าการ ‘ยืน-หยุด-ขัง’ เป็นแค่การทำกิจกรรมแล้วไม่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลง นะ การยืน-หยุด-ขัง มีคุณค่าทางจิตใจสำหรับคนที่อยู่ในคุกมาก พอผมได้ยินคำว่า ยืน-หยุด-ขัง ทุกวันๆ จากทนาย หรือจากญาติที่เข้าไปเยี่ยม มันทำให้เรารู้สึก เรามีความหวัง ลมหายใจของเราคือการได้อัพเดตข่าว ว่าข้างนอกมีการต่อสู้อย่างไร แค่นั้นพอแล้ว 

แล้วเราก็จะนอนยิ้มฝันดีว่า “เฮ้ย วันนี้เขาไปทำเนียบกันแล้ว เฮ้ย วันนี้เขาไปที่อนุสาวรีย์ วันนี้เขาไปที่ดินแดง วันนี้เขามียืน-หยุด-ขัง’ ทุกครั้งที่ได้ยินมันมีความสุขมาก แล้วเราก็จะจินตนาการไปว่า เพื่อนเราจะต้องทำสำเร็จแน่ เพื่อนเราจะต้องปลอดภัย มันเป็นกำลังใจ มันคือลมหายใจของพวกเราที่อยู่ในเรือนจำ

ในบรรยากาศและสภาพความเป็นอยู่ที่ลำบากมากๆ จุดที่คนข้างในรู้สึกดำดิ่งในจิตใจมันเป็นยังไง จัดการมันแบบไหน โอบกอดกันอย่างไร

มีครั้งหนึ่งเราอยู่ในเรือนจำแล้วรู้สึกลงเหวมาก เพื่อนเราบางคนหลังจากที่หัวเราะกันอยู่ เล่นกันอยู่ อยู่ดีๆ เขาก็นั่งร้องไห้ แล้วก็พูดว่า “พี่บอย เฟลว่ะ” มันเป็นอารมณ์แบบนี้จริงๆ เราเองก็เป็น 

เราเองบางทีก็รู้สึกแบบ… เดินไปในห้องน้ำ คือห้องน้ำมันก็ไม่มีอะไรกั้น แต่บางทีมันเป็นมุมที่เรารู้สึกว่า ช่วงเวลาที่มีความสุขที่สุดคือการอาบน้ำ หรือบางครั้งมันรู้สึกดิ่งลงเหว เราก็ต้องเข้มแข็งเข้าไว้ วิธีการจัดการของเราคือ ไม่ว่าข้างนอกจะเป็นยังไง แต่เราจะต้องอยู่ข้างในให้ได้ ลำบากแค่ไหนก็ต้องอยู่ให้ได้ ต้องสู้ต่อให้ได้ ต้องส่งสารทางความคิดไปถึงเพื่อนที่อยู่ข้างนอกว่า ข้างนอกมึงสู้ไปเลยนะ พวกกูอยู่ได้ พวกกูสบายใจ 

ต้องยอมรับว่า บางทีเราก็ร้องไห้โดยที่เราไม่รู้ตัว เราต้องข่มตาตัวเองให้ได้ ซึ่งผมก็รู้สึกว่า วันนี้มีทั้งน้องๆ ทั้งเพื่อนๆ หลายคน แม้จะไม่ได้ถูกจับเข้าไปในเรือนจำ แต่สิ่งที่เขาต้องเผชิญ ทั้งคดี 112 ทั้งการถูกติดตามคุกคาม ทั้งถูกคดี ถูกอะไรหลายๆ อย่าง ทั้งประสบปัญหากับครอบครัว เพราะความเห็นต่างที่พ่อแม่ไม่เข้าใจสิ่งที่ลูกกำลังทำอยู่ ณ วันนี้ มันคือการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ของอนาคต มันคือการกำหนดอนาคตของคนหนุ่มสาว วันนี้มีหลายคนที่ร้องไห้โดยที่ไม่รู้ตัว หลายคนสู้จนบางทีเป็นโรคซึมเศร้า เพราะถูกเผด็จการกระทำกับเราอย่างหนักมาก หรือบางคนต้องหนีออกจากไทย 

ณ ตอนนี้มันคือความเจ็บปวด แต่มันจะสร้างความเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ เราจะต้องสู้ต่อ เพราะการต่อสู้ครั้งนี้มันคือจิตวิญญาณ มันคือผู้คนและกาลเวลาจริงๆ มันไม่ใช่ใครมาสั่งให้เราทำม็อบ สั่งให้เราจัดการชุมนุม ไม่มีใครมาคุมเราได้ แล้วก็ไม่มีชนชั้นนำคนไหนหรือตัวไหนจะมาบอกให้เราหยุดการเคลื่อนไหวได้ ต่อให้ใหญ่แค่ไหนก็สั่งเราไม่ได้ 

ความสุขอย่างเดียวของคุณในคุกคือการอาบน้ำ แล้วของเพื่อนคนอื่นๆ ล่ะ 

อย่างเพนกวิน (พริษฐ์ ชิวารักษ์) ความสุขของเขาคือการอ่านหนังสือ เพนกวินเป็นคนติดหนังสือมาก แล้วเวลาได้ของกินมา เขามีความสุขกับการกินมาก ของผมคือการอาบน้ำแล้วก็นอนอ่านหนังสือ เพราะว่าผมจะได้ไม่ต้องคิดเรื่องโลกข้างนอก แต่พอเราอยู่ด้วยกัน มันหยุดคิดไม่ได้หรอก เพราะว่าชอบชวนกันคิด นี่คือนักปฏิวัติจริงๆ อยู่ในคุกก็ยังจะปฏิวัติน่ะ ความสำเร็จของพวกเราอีกอย่างหนึ่งคือ เราสามารถทำให้นักโทษคนอื่นๆ เห็นคุณค่าของการเรียกร้องสิทธิ เพราะว่าเราไปอยู่ข้างใน เราได้เรียกร้องสิทธิให้กับนักโทษคนอื่นๆ ด้วย เช่น การเรียกร้องสวัสดิการของนักโทษ หรือการที่ผู้คุมใช้อำนาจเผด็จการกับนักโทษคนอื่น เราก็จะไม่ยอม เราก็จะมีการกดดันผู้คุม

แล้วทำสำเร็จไหม

สำเร็จไม่สำเร็จไม่รู้ แต่มีผู้คุมบางคนถูกย้าย 

ผู้คุมคนนั้นเขาไม่ได้กระทำกับพวกเรานะ แต่เขาไปกระทำกับนักโทษคนอื่น แล้วพวกเรารับไม่ได้กับการที่คุณมาลงโทษนักโทษด้วยวิธีการแบบนี้ หรือแม้แต่เรื่องของอาหาร เช่น ตอนที่เราติดโควิดอยู่ในโรงพยาบาลสนาม ‘ไผ่ ดาวดิน’ (จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา) ก็พยายามที่จะปกป้องและรักษาสวัสดิการของนักโทษคนอื่น เพราะตอนนั้นไผ่ได้เป็นหัวหน้าห้อง ไผ่ก็ต้องดูแล คอยเช็ค การกินยงกินยา ‘ไมค์ ระยอง’ (ภาณุพงศ์ จาดนอก) ก็เป็นคนคอยช่วยดู เช่น ถ้านักโทษถูกผู้คุมข่มเหง ถูกด่า ไมค์ก็จะด่าสวนกลับแทนนักโทษคนอื่น หรือแม้แต่อานนท์ (อานนท์ นำภา) เองก็จะไม่ยอมเหมือนกัน ถ้าได้เห็นนักโทษคนอื่นได้รับการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม เพราะฉะนั้นถึงพวกเราจะถูกขัง แต่ความคิดพวกเราไม่เคยหยุด 

อยากทราบบรรยากาศชีวิตในเรือนจำ คุณได้เจอใครบ้าง พวกเขาเป็นอย่างไรกันบ้าง

ทุกคนเวลาอยู่ด้วยกันมันคือสวนสนุกน่ะ อย่าง ฟ้า (พรหมศร วีระธรรมจารี) เพนกวิน หรือไมค์ เวลาพวกเขาอยู่ด้วยกันมันคือดินแดนแห่งสวนสนุกเลย เขามีเรื่องเล่า เขาจะเล่นกัน ผมแก่สุดก็จะเหมือนเป็นพ่อใหญ่ คอยนั่งดูเด็กๆ เดี๋ยวไอ้นั่นก็มาฟ้อง เดี๋ยวไอ้นี่ก็มาฟ้อง เหมือนพ่อ เข้าไปแล้วเหมือนพ่อจริงๆ แต่พวกนี้มันจะชอบเรียกผมว่าพ่อใหญ่ หรือว่าเป็นแม่ บางทีก็เรียกผมว่าเจ๊ เขาบอกเขาชอบไปโกหกคนในเรือนจำว่าผมเป็นเจ๊รุ่นหนึ่งของโรงละคร พวกนี้ก็จะมีมุมแบบนี้ แกล้งกัน ไผ่ก็จะสนุก เขาชอบแอ๊คหล่อตลอด อยู่ในนั้นก็ยังบอกว่าตัวเองหล่อกว่าผมเยอะ 

แล้วคุณ ‘แซม สาแมท’ ล่ะ

แซมเป็นน้องที่น่ารักมาก อยู่ข้างในผมมีความสุขมาก เพราะแซมจะเป็นคนที่ทำให้ผมหัวเราะได้ตลอด แซมชอบเรียกผมว่าพ่อ แล้วก็ชอบแต่งตัว เอาผ้าเช็ดตัวมาแต่งตัวแล้วเราก็จะเล่นละคร ผมจะเล่นเป็นกรรมการประกวดนางงาม ซึ่งแซมเป็นคนที่มีพลังมากนะ เขาต้องรอการพิสูจน์สัญชาติไทย แซมเป็นเด็กที่ไม่ได้รับความยุติธรรมมาตั้งแต่เด็ก แซมถูกโรงเรียนขับออกเพราะว่าไม่มีสัญชาติไทย แล้วแซมก็ไม่ได้เรียนอีกเลย ต้องใช้ชีวิตแบบคนไร้สัญชาติมาโดยตลอด จนวันหนึ่ง แซมใช้ความสามารถของตัวเองไปทำงานแล้วมีเงินเดือนสูงมาก แต่พอเห็นขบวนการนักศึกษาออกมาต่อสู้ในปี 2563 แซมมีความหวังว่าจะได้ปลดแอกเรื่องสัญชาติ แซมทิ้งงานทุกอย่างที่มีเงินเดือนสูงมาร่วมในฐานะเป็นมวลชน แล้วถูกจับเข้าคุกซ้ำแล้วซ้ำอีก ผมนับถือหัวใจเขามาก แล้วเขาปลุกการต่อสู้ของคนในเรือนจำด้วย เขาสามารถปลุกระดมให้นักโทษในห้องขังอื่นๆ เอาด้วย เช่น ให้ทุกคนตะโกนโห่ร้องในเรือนจำ เพื่อให้ผู้คุมพา ‘ฟ้า พรหมศร’ ไปหาหมอ เขาใช้คำว่า “คุณผู้ชาย ช่วยกะเทยด้วย เดี๋ยวกะเทยจะปฏิวัติแล้ว กะเทยจะเป็นใหญ่ในแผ่นดิน” นักโทษทุกคนเฮ ปรบมือเอาด้วย จนผู้คุมต้องรีบมา คือมวลชนที่เป็นมวลชนจริงๆ นี่คือนัยสำคัญว่าปี 2563 เราได้สร้างความหวังให้กับหลายๆ อาชีพ หลายๆ คนในสังคมที่จะมีความหวังครับ 

พูดถึง ‘ฟ้า พรหมศร’ ช่วยเล่าความทรงจำในเรือนขังให้ฟังอีกหน่อย

ฟ้าก็เป็นคนที่สนุก ฟ้ากับแซมเวลาอยู่ด้วยกันเขาก็แหย่กันตลอด ผมจะมีความสุขมาก ฟ้าเป็นคนที่เข้าใจระบบในเรือนจำดีมากด้วย และจะเป็นคนที่คอยแนะนำเรา ส่วนไมค์จะเป็นคนคอยจัดการดูแลพวกเราทุกคน โดยเฉพาะเรื่องกับข้าว ไผ่กับไมค์นี่เขาชอบจัดการเรื่องอาหาร เราทุกคนจะมีความพิเศษคือ เวลาทนายซื้อสิ่งของให้ ญาติซื้อให้ หรือใครที่ซื้อของมาเยี่ยม เราจะแบ่งให้นักโทษคนอื่นๆ 50-60 เปอร์เซ็นต์ ที่เหลือเราก็จะกินกัน แต่หลักๆ คือแจก เพราะมีนักโทษหลายคนที่เขาไม่มีญาติ ไม่มีคนซื้อกับข้าวเข้าไปให้ เราได้รับรู้ว่ามีความไม่เป็นธรรมเกิดขึ้นในเรือนจำเยอะมาก และมีความไม่เป็นธรรมเกิดขึ้นในกระบวนการยุติธรรมเยอะมาก โดยเฉพาะคนจนที่พอถูกดำเนินคดี แล้วไม่มีเงินต่อสู้คดีในการทำเรื่อง แล้วต้องติดคุกเยอะมาก

คำถามสุดท้าย คุณผ่านอะไรมามากเหลือเกิน วันนี้คุณมองเห็นอะไรในเส้นทางต่อจากนี้

ผมไม่เคยสิ้นหวังเลย ไม่ว่าทางกายภาพผมจะเหนื่อยแค่ไหน ผมก็ไม่เคยสิ้นหวังนะ แม้ว่าตอนยึดอำนาจปี 2557 แม้ว่าจะอกหัก แม้ว่าจะออกมาต่อสู้ แล้วถูกหลายคนไม่เข้าใจ แต่เราต้องพิสูจน์ตัวเอง ต้องมีความหวังอยู่เสมอ สิ่งที่เราทำมาทั้งหมดมันคือการเปลี่ยนแปลงที่ไม่มีอะไรมาหยุดยั้งได้ ต่อให้มีเผด็จการแค่ไหนมาปิดกั้นเรา มันก็หยุดเราไม่ได้ หรือเอาเฉพาะแค่วันนี้เราก็เห็นการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมเยอะมาก เห็นการเปลี่ยนแปลงทางสังคมเยอะมาก เพียงแต่การเปลี่ยนแปลงเชิงกลไกอำนาจรัฐมันยังไม่เปลี่ยนเท่านั้นเอง แม้ยังไม่เปลี่ยนนายกฯ ยังไม่เปลี่ยนรัฐบาล แต่สังคมไทยวันนี้เปลี่ยนไปแล้ว และไม่มีวันหวนกลับไปอีกแล้ว แม้ว่าในวันนี้เรายังไม่มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่เป็นของประชาชนจริงๆ แต่วันนี้ความคิดทางสังคมและวัฒนธรรมมันเปลี่ยนไปแล้ว มันไม่สามารถหวนกลับไปจุดเดิมได้แล้ว 

Author

อรสา ศรีดาวเรือง
มือขวาคีบวัตถุติดไฟ มือซ้ายกำแก้วกาแฟ กินข้าวเท่าแมวดม แต่ใช้แรงเยี่ยงงัวงาน เป็นเป็ดที่กระโดดไปข้องแวะกับแทบทุกประเด็นได้อย่างไม่ขัดเขิน สนใจทั้งภาพยนตร์ วรรณกรรม การศึกษา การเมือง และสิ่งแวดล้อม ชอบแสดงอาการว่ายังทำงานไหวแม้ซมพิษไข้อยู่บนเตียง

Author

มนสิรา กาหลง
ใช้ชีวิตอยู่ปัตตานีจนจบ ม.ปลาย แล้วจึงย้ายถิ่นฐานเพื่อมาเรียนวารสารฯ ธรรมศาสตร์ วัยเด็กโตมากับทีวี รักการดูโฆษณา ปัจจุบันหันมาสนใจงานเขียน งานข่าว ขับเคลื่อนชีวิตด้วยน้ำชง เพลงเเจ๊ส และแมว มุ่งหวังที่จะมีส่วนร่วมในการพัฒนาสังคมให้ดีขึ้นไปพร้อมๆ กับการเอาชีวิต(ให้)รอดในโลกทุนนิยม

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า