เพศศึกษา วาระแห่งชาติ

ภาพประกอบ: Shhhh

 

เมื่อไม่นานมานี้ วาระ ‘ติดเครื่องจำหน่ายถุงยางอัตโนมัติ’ ในโรงเรียนวนเวียนกลับมาสู่แวดวงการแลกเปลี่ยนถกเถียงอีกครั้ง ซึ่งไม่แน่ใจนักว่านี่เป็นครั้งที่เท่าไหร่แล้ว พอพูดเรื่องเพศ การศึกษา และโรงเรียน จึงอดสงสัยไม่ได้ว่าประสิทธิภาพและประสิทธิผลของการเรียนเรื่องนี้ในระบบการศึกษาไทยนั้นดีหรือไม่ดีมากน้อยเพียงใดบ้าง

ทำให้นึกถึงสถิติแม่วัยรุ่นที่จัดทำขึ้นโดยธนาคารโลกขึ้นมา

แม้เทรนด์โลกเรื่องการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นมีแนวโน้มลดลงเรื่อยๆ แต่อัตราการให้กำเนิดบุตรของเด็กวัยรุ่นอายุ 15-19 ปีในประเทศไทยกลับอยู่ในภาวะไม่เปลี่ยนแปลงมากนักมาตั้งแต่ปี 2012 นั่นคือเด็กสาว 45 คนจาก 1,000 คนตั้งครรภ์ในวัยเรียน ซึ่งสถิตินี้เคยลดลงต่ำที่สุดในปี 2002 ที่ 42 คนต่อ 1,000 คน และหาเทียบจากอดีตตั้งแต่ยุค 1960 ที่ 60 คนต่อ 1,000 คน ไทยแลนด์ไม่ได้ก้าวไกลไปไหนมากมายนัก ยกตัวอย่างอินโดนีเซียบ้านใกล้เรือนเคียงที่สามารถลดจำนวนการตั้งครรภ์ของวัยรุ่นจาก 144 คนต่อ 1,000 คนในปี 1960 ให้เหลือ 49 คนต่อ 1,000 ในอีก 55 ปีถัดมาได้

ทีนี้เห็นได้ชัดว่ากราฟของไทยเป็นเส้นตรงมาระยะหนึ่ง นั่นคือปัญหาอยู่ในสภาวะคงที่ แต่ก็อดสงสัยไม่ได้อยู่ดีว่าแล้วประเทศอื่นๆ ที่อาจประสบความสำเร็จมากกว่าในการจัดการปัญหานี้ เขาให้ความรู้เรื่องเพศศึกษากันอย่างไร มากน้อยขนาดไหน เชื่อมโยงกับเรื่องอะไรบ้าง

โดยส่วนตัวเชื่อว่าการเรียนรู้เรื่องเพศประกอบไปด้วยหลายส่วน ไม่ว่าจะเป็นการทำความเข้าใจลักษณะทางกายภาพของตนเองและผู้อื่น การสร้างความตระหนักรู้เรื่องสิทธิในเนื้อตัวร่างกายตนเองและผู้อื่น การให้เกียรติความเป็นมนุษย์ซึ่งกันและกัน ความเท่าเทียมทางเพศ ความหลากหลายทางเพศ โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เป็นต้น และทั้งหมดนี้ต้องทำทั้งในโรงเรียน ที่บ้าน และในสังคมวงกว้าง เพื่อสร้างความเข้าใจร่วมกัน

จากสถิติของธนาคารโลก ประเทศที่ไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องแม่วัยรุ่นนั้นได้แก่

1. เกาหลีเหนือ

ประเทศที่สถิติเคลมว่าตอนนี้มีอัตราแม่วัยรุ่นเพียง 1 ต่อ 1,000 คนเท่านั้น (ไม่แน่ใจว่าการเก็บข้อมูลทำได้มากน้อยเพียงใด) แม้จะมีข้อมูลอันน้อยนิดว่าเกิดอะไรขึ้นในคาบเพศศึกษาของเกาหลีเหนือ จากการพูดคุยกับสาวน้อยวัย 19-20 ปีจากเปียงยาง เธอก็อธิบายเพียงว่า

เพศสัมพันธ์อะไร ต้องมีหลังอายุ 25 ปีไปแล้ว ก่อนหน้านี้ก็ทำตัวให้เป็นประโยชน์เพื่อชาติไปก่อน หลังจากนั้นอยากทำอะไรก็ทำ แล้วจะมีแม่วัยใสได้ไงเล่า จู๊ซ ไม่เข้าใจเหรอ

2. สวิตเซอร์แลนด์

ข้ามทวีปไปดูประเทศอย่างสวิตเซอร์แลนด์ที่ตามสถิติแล้วมีแม่วัยรุ่นเพียง 3 ต่อ 1,000 คนในปี 2015 ซึ่งถือว่าต่ำมาก ประเทศนี้เคยเป็นประเทศที่เซอร์เรียลอย่างยิ่ง เพราะมีแนวคิดเรื่องการเรียนวิชาเพศศึกษาตั้งแต่ชั้นอนุบาลกันเลยทีเดียว

เมื่อปี 2012 โรงเรียนอนุบาลและประถมในเมืองบาเซิล สวิตเซอร์แลนด์ได้รับแจกกล่องจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่เรียกว่า ‘Sex Box’ (ชื่อเรียกตรงไปตรงมาไม่ต้องหวือหวาแต่อย่างใด) กล่องนี้เป็นอุปกรณ์การเรียนเรื่องเพศศึกษาสำหรับเด็กอายุ 4-10 ปี ในกล่องบรรจุ องคชาติที่ทำจากไม้ และอวัยวะเพศหญิงที่ทำจากผ้า ตุ๊กตา ตัวต่อจิ๊กซอว์ หนังสือ คู่มือครู เพื่อแสดงให้เด็กๆ เห็นว่าส่วนต่างๆ ของร่างกายเป็นเรื่องธรรมชาติของแต่ละคน

นอกจากนั้นคู่มือครูยังเชื้อเชิญให้เด็กๆ ได้ใช้ถุงทรายอุ่นๆ นวดให้กันภายใต้บรรยากาศเสียงเพลงอันไพเราะ เพื่อช่วยให้เด็กๆ ได้พัฒนาประสบการณ์พื้นฐานทางเพศอย่างน่าอภิรมย์ (แน่นอนว่าเด็กๆ เขาก็นวดแขนนวดไหล่กัน ซึ่งผลที่ตามมาอาจไม่เป็นไปตามที่รัฐได้ตั้งเอาไว้สักเท่าไหร่นัก)

ตุ๊กตาใน Sex Box

วิธีที่แสนจะตรงไปตรงมาไม่อ้อมค้อมนี้ทำให้เหล่าบรรดาครูและผู้ปกครองต้องอยู่ในอาการ ‘อกอีแป้นจะแตก’ กันถ้วนหน้า หลายคนถึงขั้นกล่าวว่านี่เป็นเรื่องที่ ‘รับไม่ได้’ ไม่ว่าจะมองจากแง่ไหนมุมใด และมองไม่เห็นว่าจะมีส่วนใดที่เป็นการให้ความรู้เรื่องเพศศึกษาเลย ในขณะที่หลายฝ่ายก็มองว่าโครงการนี้ริเริ่มทำในโรงเรียนเพียง 30 โรง และถูกพัฒนาขึ้นโดยผู้บริหารสถานศึกษาและแพทย์ในสถานศึกษา จึงไม่ได้เป็นเรื่องใหญ่อะไร บางคนก็มองว่าการเริ่มเรียนเรื่องนี้เร็วจะทำให้เด็กสนใจเรื่องเพศเร็วเกินไปหรือไม่ เมื่อถกเถียงกันไม่ลงตัว เรื่องนี้จึงถึงโรงถึงศาลในที่สุด

จากกรณีที่คุณ A.R. และ L.R. ฟ้องศาลยุติธรรมแห่งสหภาพยุโรปว่าด้วยเรื่องสิทธิมนุษยชนโดยมีประเทศสวิตเซอร์แลนด์เป็นจำเลย ว่าการที่รัฐบาลสวิตเซอร์แลนด์ไม่ยินยอมให้นักเรียนสามารถละเว้นการเรียนวิชาเพศศึกษาในระดับประถมศึกษาในเมืองบาเซิลถือเป็นการละเมิดกฎหมายสิทธิมนุษยชนหรือไม่

คุณ A.R. มีลูกสาวอายุ 7 ปี และกำลังจะขึ้นชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 ต้องการให้ลูกของตัวเองได้รับสิทธิ ‘ไม่เข้าเรียนวิชานี้’ ศาลได้มีคำตัดสินเมื่อวันที่ 18 มกราคมนี้ว่าการเรียนวิชาเพศศึกษาในระดับประถมนั้นไม่ได้อยู่ในลักษณะวิชาบังคับ หากแต่เป็นไปตามธรรมชาติ และเป็นการตอบสนองต่อคำถามและพฤติกรรมของเด็กๆ เท่านั้น จึงถือว่า ‘ไม่เป็นการละเมิดต่อสิทธิมนุษยชน’ ตามที่โจทก์ได้ร้องทุกข์มา

กรณีของคุณ A.R. นั้นไม่ใช่ครั้งแรก จากกรณี Sex Box เดียวกันนี้เอง กลุ่มพ่อแม่จำนวนมากได้ร่วมลงชื่อกว่า 100,000 ชื่อเพื่อสิทธิในการปกป้องเด็กๆ จากการเรียนเรื่องเพศทั้งในโรงเรียนอนุบาลและประถมศึกษามาแล้วเพื่อให้สิทธินี้เป็นของพ่อแม่ไม่ใช่ระบบโรงเรียน โดยเสนอให้การเรียนเพศศึกษาเป็นเพียงวิชาเลือกสำหรับเด็กก่อนอายุ 12 ปี เมื่อเด็กโตขึ้นจึงสามารถบังคับให้ได้รับความรู้เกี่ยวกับระบบสืบพันธ์ุและพัฒนาการมนุษย์

ก่อนหน้านี้กลุ่มเดียวกันนี้เองก็ได้เข้าชื่อให้ยกเลิกการใช้ Sex Box และจากกรณี Sex Box นี้ สังคมสวิสได้ขยายความไปถึงเรื่องการเรียนเพศศึกษาในโรงเรียนและการถกเถียงอย่างเข้มข้นว่าตกลงแล้วเด็กๆ สวิสต้องเรียนเพศศึกษากับใครและอย่างไรกันแน่

คุณบีท เซมป์ (Beat Zemp) ผู้อำนวยการสมาพันธ์ครูแห่งสวิตเซอร์แลนด์ (Federation of Swiss Teachers) ได้อธิบายถึงกรณีนี้เพิ่มเติมว่า กรณีของบาเซิลควรเป็นการกระทำในระดับโรงเรียนที่เหมาะสมทั้งในแง่บริบทท้องถิ่นของเมือง และตามลักษณะของโรงเรียน ชั้นเรียน และสถานการณ์ เช่น ต้องตั้งคำถามว่า Sex Box ที่เป็นปัญหานั้นเหมาะสมกับเด็กประถมต้นหรือไม่ คุณบีทมองว่ามันเหมาะกับเด็กมัธยมต้นอายุ 13 ปีโดยประมาณมากกว่า

ส่วนสถานการณ์ที่เหมาะสมอาจหมายถึงถ้ามีเด็กเล็กถามครูที่ตั้งครรภ์อยู่ว่าเด็กในครรภ์มาจากไหน หรือเห็นถุงยางแล้วนำมาถามครู ครูก็จำเป็นต้องตอบคำถามอย่างเหมาะสมตามอายุของเด็กคนนั้นๆ ซึ่งหมายความว่าเพศศึกษาเป็นเรื่องที่พูดคุยกับเด็กๆ ได้เมื่อเกิดสถานการณ์อันเหมาะสม

แต่นอกจากประเด็นเรื่องความเหมาะสมแล้ว ยังต้องคิดกันต่อไปอีกว่าการสอนเรื่องเพศศึกษาในเด็กนั้นเป็นเรื่องที่พ่อแม่ต้องทำ ไม่ใช่หน้าที่ของโรงเรียนหรือไม่ ซึ่งคุณบีทมองว่าการที่โรงเรียนเข้ามามีบทบาทในเรื่องนี้ก็เพราะ การสอนให้เด็กเล็กรู้จักร่างกายตัวเองในฐานะที่เด็กเป็นเจ้าของอวัยวะทุกชิ้น และการที่ยอมให้คนอื่นมาสัมผัสร่างกายตนเอง มีทั้งแบบที่ดีและไม่ดี จะช่วยป้องกันเรื่องการล่วงละเมิดทางเพศของเด็กได้ส่วนหนึ่ง ซึ่งเป็นมุมมองแบบเดียวที่ศาลยุติธรรมทั้งในสวิตเซอร์แลนด์และสหภาพยุโรปเห็นตรงกัน

หลังจากกรณีมากมายที่ได้บรรยายไปเบื้องต้นก็พบว่าทั้งพ่อแม่ โรงเรียน และรัฐของสวิตเซอร์แลนด์ ต่างให้ความสำคัญกับประเด็นการเรียนเรื่องเพศศึกษาของเด็กๆ โดยมิได้เพียงแต่ถกเถียงกันในวงแคบเท่านั้น พวกเขามองว่ามันเป็นวาระสำคัญที่รัฐบาลท้องถิ่น (canton) และรัฐบาลกลางต้องรับฟัง

พูดให้ง่ายกว่าเดิมคือ ทุกคนมีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้และพร้อมแลกเปลี่ยนถกเถียง และปรับเปลี่ยนเพื่อให้เพศศึกษาก่อประโยชน์สูงสุดกับเด็กจริงๆ

ดังนั้นการถกเถียงกันเรื่อง ‘ตู้จำหน่ายถุงยางอนามัย’ อาจต้องขยายผลเป็นการถกเถียงเรื่องกระบวนการเรียนเรื่องเพศศึกษา ลักษณะค่านิยมต่างๆ ที่เกี่ยวกับเรื่องนี้ในสังคมไทย บทบาทของสังคม โรงเรียน ผู้ปกครอง และรัฐในเรื่องนี้ และอื่นๆ อีกมากมาย หากเราต้องการหนทางแก้ปัญหาอันยั่งยืนกว่านี้


อ้างอิงจากข้อมูลจาก:
findingjustice.org
humanrightseurope.org
thelocal.ch
swissinfo.ch
bag.admin.ch
swissinfo.ch
data.worldbank.org

Author

กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ
กุลธิดา รุ่งเรื่องเกียรติ 'ครูจุ๊ย' นักวิชาการอิสระ เคยมีประสบการณ์ด้านการศึกษาจากฟินแลนด์ ประเทศที่ได้ชื่อว่ามีความก้าวหน้าด้านการเรียนรู้ในโลกสมัยใหม่ ตลอดจนมีโอกาสไปค้นคุ้ยตำราเรียนของเกาหลีเหนือ ในคอลัมน์ 'เล่า/เรียน' ครูจุ๊ย คุณครูสาวพร้อมแว่นสีสด จะ 'เล่า' เรื่องราวในห้องเรียน สถานที่แลกเปลี่ยนความรู้ของเด็กและครู ให้ผู้อ่านได้ 'เรียน' ไปพร้อมๆ กัน

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า