Relearn VS Unlearn ‘เลิกรู้’ เพื่อ ‘เรียนรู้’

เนื้อหาและความเห็นในบทความเป็นสิทธิเสรีภาพและทัศนะส่วนตัวของผู้เขียน โดยอาจไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับทัศนะและความเห็นของกองบรรณาธิการ

เข้าสู่เทศกาล ‘รับปริญญา’ ในช่วงนี้ของทุกปี เราก็มักจะเห็นการเลี้ยงแสดงความยินดีกับบัณฑิตใหม่กันอย่างปลื้มปิติ

แน่ละ! กว่าจะฝ่าฟันเข้าไปในรั้วมหาวิทยาลัย ก้มหน้าก้มตาเรียนจนจบหลักสูตรได้เป็นบัณฑิตใส่ชุดครุยของสถาบันมันช่างน่าภูมิใจยิ่งนัก จนผมอยากเข้าไปโผกอดบัณฑิตแปลกหน้าทุกคน และอยากบอกพวกเขาว่า

“ดีใจด้วยที่น้องผ่านก้าวแรกมาได้สำเร็จ แต่อีกไม่นานน้องจะพบว่ามันเป็นก้าวที่ง่ายที่สุดในชีวิต”!

ตัดฉากมาที่ห้องประชุมของบริษัทใหญ่แห่งหนึ่ง วันนั้นเราเพิ่งรับรู้ว่าบริษัทซัพพลายเออร์แห่งหนึ่งที่ทำธุรกิจด้วยกันมากว่า 30 ปีกำลังจะปิดสำนักงานสาขาประเทศไทยลง โดยซัพพลายเออร์เจ้านี้ให้เหตุผลสั้นๆ ง่ายๆ เพียงแค่ว่า การติดต่อสั่งซื้อวัตถุดิบ การประสานงาน การจัดการเรื่องสเป็คสินค้าและการเงินล้วนทำได้ผ่านอินเทอร์เน็ตอยู่แล้ว จึงไม่มีความจำเป็นต้องมีสำนักงานในประเทศไทยแต่อย่างใด

ผมเองเพิ่งมีโอกาสได้ไปเลี้ยงฉลองกับผู้บริหารของบริษัทดังกล่าวเพราะทำยอดขายทะลุเป้า แต่วันนี้เขากำลังจะตกงานเพราะสาขาในประเทศไทยถูกปิด เขาถูกย้ายไปทำงานในสำนักงานใหญ่ในต่างประเทศซึ่งเขาไม่เต็มใจไป จึงไม่มีทางเลือกใดนอกจากลาออก

เช่นเดียวกับพนักงานอีกหลายสิบชีวิตที่แม้จะได้เงินก้อนใหญ่จากการเลิกจ้างแต่ก็ไม่มีใครอยากได้เพราะส่วนใหญ่อายุมากกันแล้ว การหางานใหม่ในช่วงอายุเช่นนี้ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย

ความเข้าใจของเราว่าทำงานให้เต็มที่ โชว์ฝีมือให้ดีที่สุด เพื่อสร้างความมั่นคงในหน้าที่การงาน คงเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนไปเสียแล้วในยุคปัจจุบัน เพราะเราอาจตกงานได้แม้ว่าจะมีผลงานเป็นเลิศ เราอาจถูกเลิกจ้างได้แม้ว่าจะทำยอดขายสูงทะลุเป้า เพียงเพราะ… บริษัทถูกคู่แข่งควบรวมกิจการ บริษัทแม่ในต่างประเทศตัดสินใจขายธุรกิจทั้งหมด เจ้าของบริษัทขับรถวิบากตกเขาตาย หรือถูกเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาแทนที่ ฯลฯ

หลังจากหลังขดหลังแข็งเรียนมหาวิทยาลัยมาสี่ปี จนคิดว่ามีความรู้มากพอที่จะกระโจนเข้าสู่สมรภูมิในโลกแห่งการทำงานจริง น้องบัณฑิตใหม่เหล่านั้นจะพบว่าเขาจำเป็นต้อง relearn เรียนรู้เรื่องใหม่ๆ อย่างไม่สิ้นสุด

เพราะทุกปีมีเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมที่เข้ามาปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานอยู่ตลอดเวลา เอาแค่ไทยแลนด์ 4.0 ก็กระตุ้นให้คนทั้งประเทศต้องตื่นตัวกับ Big Data ทั้งๆ ที่ในชีวิตแทบจะไม่เคยทำเรื่องฐานข้อมูลมาก่อน หรือจะเป็น AI, Blockchain, Internet of Things (IoT) โดยที่เรายังไม่เคยทำความเข้าใจกับเรื่อง IT พื้นฐานมาก่อนเลย

การ relearn หรือการเรียนรู้เรื่องใหม่ๆ ตลอดเวลาจะทำให้เราเห็นภาพและผลกระทบที่กำลังจะเกิดขึ้น

ยกตัวอย่างเช่น พนักงานเก็บข้อมูลที่อาจถูก IoT เข้ามาแทนที่โดยสมบูรณ์ เพราะแทนที่จะใช้คนเดินทางไปเก็บข้อมูลตามที่ต่างๆ หากเปลี่ยนมาใช้เซ็นเซอร์ในระบบ IoT เก็บข้อมูลได้ตลอดเวลาและส่งข้อมูลให้ได้วิเคราะห์แบบทันทีทันใด

แน่นอนว่าพนักงานเก็บข้อมูลคงต้องตกงาน แต่หากรู้ทันความเป็นไปของโลก เขาก็อาจผันตัวมาเป็น Data Scientist ได้หากศึกษาเรื่องราวใหม่ๆ มากพอและปรับตัวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลง การรีเลิร์นจึงช่วยให้ปรับตัวรับกับกระแสการเปลี่ยนแปลงได้อยู่เสมอ

แต่บางครั้งลำพังแค่การเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ อาจไม่พอ หากไม่ ‘ลืม’ สิ่งที่เคยทำมาตลอด เพราะบางครั้งความรู้ที่มีอยู่ก็อาจกลายเป็นกรอบกักขังตัวเราจากความเป็นไปของโลกภายนอก เราจึงไม่อาจก้าวไปไหนได้หากไม่ลบความรู้และความเคยชินที่เคยทำมาเป็นสิบๆ ปีออกไปจากหัวเสียก่อน

เช่นเดียวกับชาวประมงในยามะกุจิ ประเทศญี่ปุ่นที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในเรื่องการประมงเป็นอย่างดี การจับปลาของพวกเขาไม่เป็นสองรองใคร ยกเว้นอยู่เรื่องเดียวคือขาดคนรุ่นใหม่ที่จะเข้ามาสานต่อกิจการเพราะคนหนุ่มสาวเห็นว่างานที่ทำอยู่นี้ไม่คุ้มค่าสู้ทำงานในเมืองใหญ่ไม่ได้

เมื่อทุกอย่างวิกฤติจนดูเหมือนจะหาทางออกไม่ได้ ชิกะ ซึโบจิ ซึ่งเป็นเพียงผู้หญิงตัวเล็กๆ อาสาเข้ามาช่วยและเธอก็พบว่าซัพพลายเชนของธุรกิจประมงนั้น ไม่เอื้อให้ชาวประมงที่เป็นด่านหน้าของอุตสาหกรรมนี้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีสักเท่าไรนัก เพราะกว่าที่อาหารทะเลจากเรือประมงจะเดินทางไปถึงร้านอาหารหรือซูเปอร์มาร์เก็ตนั้นจะต้องผ่านตัวกลางมากมายหลายทอด และแต่ละทอดจะมีผู้ได้รับผลประโยชน์มากมายยกเว้นเพียงชาวประมงที่มีรายได้พอแค่ค่าแรงและค่าน้ำมันเดินเรือเท่านั้น

ซึโบจิ ตัดสินใจให้ชาวประมง unlearn ด้วยการล้างสมองพวกเขาจากการขายปลาแบบเดิม แต่หันมาใช้เทคโนโลยีเชื่อมชาวประมงเข้ากับร้านอาหารและซูเปอร์มาร์เก็ตโดยตรง ผลที่ได้คือการถ่ายทอดสดการจับปลา ซึ่งไม่จำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีขั้นสูงใดๆ เพียงแค่มีสมาร์ทโฟนและทำการ ‘ไลฟ์’ ถ่ายทอดการจับปลาแต่ละครั้งว่าได้ปลาอะไรมาบ้าง น้ำหนักเท่าไร เพียงแค่นี้ปลาทั้งหมดในเรือก็ขายได้หมดตั้งแต่เรือยังกลับไม่ถึงท่าด้วยซ้ำ

แน่นอนว่าวิธีนี้ทำให้ชาวประมงเพิ่มรายได้ให้กับตัวเองอย่างเป็นล่ำเป็นสัน ในขณะที่ปลายทางคือผู้บริโภคก็ได้อาหารทะเลราคาไม่แพงและสดกว่าเดิมเพราะตัดคนกลางออกไปหลายทอด การ unlearn ครั้งนี้จึงไม่เพียงเป็นการเปลี่ยนวิถีในการทำงาน แต่ยังเป็นการปฏิวัติระบบซัพพลายเชนของอุตสาหกรรมอาหาร ซึ่งคนกลางจะถูกลดบทบาทลงไปเรื่อยๆ

แน่นอนว่าต้องมีคนได้รับผลกระทบ และคงมีคนตกงานอีกเป็นจำนวนมากเพราะงานที่เขาเคยทำถูกเทคโนโลยีเข้ามาแทนที่ ซึ่งทางออกของเขาก็ไม่มีอะไรมากนอกจาก relearn เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ เพิ่มเติม รวมถึง unlearn ลืมสิ่งที่เคยเรียนรู้มาเพราะมันไม่เข้ากับโลกใบนี้เสียแล้ว…

Author

ปฐม อินทโรดม
ด้วยประสบการณ์บริหารบริษัทไอทีหลายแห่ง ทำให้ปฐมเป็นหนึ่งในผู้เชี่ยวชาญด้านไอทีที่มักแสดงความเห็นผ่านสื่อต่างๆ อยู่เสมอ แต่เนื้อแท้แล้วปฐมสนใจเรื่องการเปลี่ยนแปลงของสังคมและการศึกษาไม่แพ้กัน เพราะรู้ว่าโลกดิจิตอลและอนาล็อกที่มาพัวพันกันทุกวันนี้ก่อให้เกิดปรากฏการณ์มากมายที่น่าบันทึกเอาไว้

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า