ไม่ใช่แค่ขนม แต่วิชาสังคมถูกใส่ไส้

หากพูดถึงหมวดวิชาสังคมศึกษา ไม่ว่าจะเป็นพระพุทธศาสนา หน้าที่พลเมือง หรือประวัติศาสตร์ นักเรียนจำนวนไม่น้อยคงยกให้ครองตำแหน่งวิชาที่น่าเบื่อหน่ายที่สุด จนถึงขั้นอยากให้ถอดวิชาเหล่านี้ออกจากหลักสูตร

เมื่อเปิดดูเนื้อหาในแบบเรียน เราคงพอจะเข้าใจว่าทำไมเด็กหลายๆ คนมักเกิดอาการง่วงเหงาหาวนอนทันทีแม้ยังไม่ทันได้เริ่มเรียน เพราะทั้ง 3 รายวิชานั้นมักจะเน้นการท่องจำจากเนื้อหาที่อัดแน่นจนเกินความจำเป็น โดยไม่ก่อให้เกิดความเข้าใจใดๆ 

ตัวเนื้อหามักจะเน้นให้ความสำคัญกับบางสิ่งบางอย่างที่หาความเชื่อมโยงไม่ได้ และแฝงไปด้วยความประสงค์ของชนชั้นปกครองในการกล่อมเกลาพลเมือง อาทิ การท่องจำค่านิยม 12 ประการ ตามทัศนะของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ได้กล่าวไว้ในรายการ ‘คืนความสุขให้คนในชาติ’ ไว้ว่า “สิ่งที่คนไทย ประเทศไทยยังเป็นปัญหา และต้องพัฒนาอย่างเร่งด่วน ต้องมีความร่วมมือของทุกภาคส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประชาชนในทุกระดับชั้นทุกเพศทุกวัย เรื่องที่หนึ่ง อยากจะเรียนว่า เราน่าจะกำหนดค่านิยม หลักของคนไทยขึ้นมาให้ชัดเจน ทั้งนี้ เพื่อเราจะสร้างสรรค์ประเทศไทยให้เข้มแข็งจากนโยบาย”

เนื้อหาในบทเรียนไม่ได้สอดคล้องกับวิถีชีวิตในปัจจุบันที่ประกอบไปด้วยความหลากหลายและพลวัตทางสังคม และในบางเนื้อหาก็ไม่ได้มีการปรับปรุงให้เหมาะสมตามยุคสมัย ซึ่งเราสามารถพบหลักสูตรเหล่านี้ได้ตามแบบเรียนเมื่อหลายสิบปีก่อน อย่าง ‘ค่านิยมความเป็นไทย’ ‘การคงไว้ซึ่งจารีตวัฒนธรรมไทยแบบเดิม’ หรือแม้กระทั่ง ‘ความรักชาติ’ ที่พลเมืองไทยที่ดีจะต้องปฏิบัติตนตามสิ่งที่รัฐได้วางไว้ จึงจะถูกยอมรับตามจารีตแบบไทยๆ โดยไม่คำนึงถึงการนิยามหรือให้คำจำกัดความคำว่า ‘ความเป็นไทย’ ในรูปแบบที่มีความหลากหลายตามยุคสมัย 

สิ่งที่ชนชั้นปกครองกำลังทำในขณะนี้คือ การแช่แข็งทางความคิด โดยไม่มีการเปิดโอกาสให้พลเมืองได้นิยามถึงความหมายของความเป็นไทยในรูปแบบที่แตกต่างกันทางความคิด

ทั้งหมดทั้งมวลที่กล่าวไปข้างต้น ดูเหมือนจงใจ ‘ยัดไส้’ เข้ามาในบทเรียนหมวดวิชาสังคมศึกษาเพื่อจุดประสงค์บางอย่างที่มีมาตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบัน แต่ขณะนี้ได้กลายเป็นสิ่งที่ตกยุค ไม่สอดคล้องกับบริบทสังคมและบริบทโลกอีกต่อไป การสอดแทรกแกมยัดเยียดชุดความรู้แบบเดิมให้แก่เด็กราวกับการเซ็ตโปรแกรมให้เครื่องจักรนั้น กำลังถูกท้าทายโดยคนรุ่นใหม่ที่ได้ตระหนักถึงความผิดปกติทั้งในสังคมและแบบเรียนโดยที่พวกเขาเองก็ไม่อาจทราบได้ว่า “เราเรียนรู้สิ่งนี้ไปเพื่ออะไรกันนะ”

การระบาดของ COVID-19 ยิ่งเป็นตัวเร่งปฏิกิริยาที่เผยให้เห็นถึงปัญหาหมักหมมของระบบราชการในหลายภาคส่วน หนึ่งในนั้นคือ ระบบการศึกษา โดยเฉพาะนโยบายและระเบียบต่างๆ ที่บังคับใช้ในทุกวันนี้มีส่วนช่วยส่งเสริมการเรียนรู้ของนักเรียนอย่างไร อาทิ การกำหนดให้ใส่ชุดนักเรียนขณะเรียนออนไลน์ การถ่ายรูปยืนตรงเคารพธงชาติที่บ้าน ด้วยเหตุผลว่าเป็นกิจกรรมเพื่อส่งเสริมให้เด็กมีระเบียบวินัย สิ่งที่เกิดขึ้นเหล่านี้กำลังสะท้อนให้เห็นถึงความไม่ปกติในโครงสร้างการศึกษาของไทย

ร่วมพูดคุยกับ ปภังกร จันทร์หอม หรือ ‘ครูเอ็ม’ ครูชำนาญการ กลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา โรงเรียนสารวิทยา ผู้มีความหวังว่า บุคลากรทางการศึกษานั้นคือหัวใจสำคัญที่จะช่วยกระตุ้นให้เด็กรู้จักคิดนอกกรอบ นอกจากนี้ยังมี ภูมิฤท อำมฤคโชค และ อรปรียา ชวบูรณะพิทักษ์ ตัวแทนนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย จากโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร (ฝ่ายมัธยม) ผู้ที่มองเห็นและได้สัมผัสโดยตรงกับความล้มเหลวของระบบการศึกษาไทย

ครูเอ็ม-ปภังกร จันทร์หอม

ความเป็นไทยที่ถูก ‘ยัดไส้’ ในแบบเรียน

ปภังกรอธิบายว่า ความเป็นไทยที่ถูกปลูกฝังโดยการศึกษาของเราคือ ต้องมีความเป็นไทยตามที่หลักสูตรกำหนดเอาไว้ ถ้าพูดถึงความเป็นไทยที่ทุกคนรับรู้ก็จะนึกถึงอาหารไทย นึกถึงภาษาไทย ท้ายที่สุดแล้วสิ่งต่างๆ เหล่านี้ที่เรียกว่า ‘ความเป็นไทย’ อาจจะไม่ใช่ไทยเลยก็ได้ 

“ความเป็นไทยก็มีพื้นฐานมาจากวัฒนธรรมของจีน อินเดีย หรือแม้แต่วัฒนธรรมของประเทศเพื่อนบ้านที่เราอาจจะรับมาโดยเราไม่รู้ตัว เพราะฉะนั้นถ้าพูดถึงความเป็นไทย มันจึงไม่ใช่ความเป็นไทย 100 เปอร์เซ็นต์ มันมีที่มาที่ไป มีอิทธิพลมาจากวัฒนธรรมอื่นร่วมด้วย”

หรือจะขยายความให้เห็นภาพอย่างชัดเจน อย่างกรณีเมื่อหลายปีที่ผ่านมาเคยมีข้อถกเถียงกับกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านในเรื่องของ ‘โขน’ หรืออย่างล่าสุดคือเรื่อง ‘ทับหลังปราสาทหนองหงส์-เขาโล้น’ ที่ชาวไทยได้มีการแสดงความคิดเห็นอย่างดุเดือด ว่าสิ่งที่กล่าวมานั้นเป็นของไทย ไม่ใช่ของประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งชี้ให้เห็นถึงความไม่เข้าใจในรากเหง้าของวัฒนธรรมที่ตนเองคิดมาตลอดว่าเป็น ‘ไทยแท้’ เพราะถูกชนชั้นปกครองปลูกฝังความเป็นชาตินิยมโดยผูกความเป็นไทยแบบจารีตไว้กับวัฒนธรรม ซึ่งเป็น soft power ที่ทรงอำนาจในการสร้างสำนึกร่วมของคนในชาติไว้อย่างแนบแน่น จึงเป็นปัญหาใหญ่ของพลเมืองไทยในการยอมรับ ต่อยอด และคิดต่างออกไปในเรื่องความเป็นไทย 

หมวดวิชาสังคมศึกษามีการแบ่งเป็นกลุ่มสาระต่างๆ คือ หน้าที่พลเมือง พระพุทธศาสนา ประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ และเศรษฐศาสตร์ โดยเมื่อ 2 ปีที่แล้วกระทรวงศึกษาธิการมีการปรับเปลี่ยนหลักสูตร ได้แก่ สาระภูมิศาสตร์กับเศรษฐศาสตร์ ซึ่งสาระอื่นไม่ได้ถูกปรับเปลี่ยนมากนัก เป็นเหตุให้เกิดการเรียนเนื้อหาซ้ำๆ อย่างเช่น วิชาประวัติศาสตร์ เด็กๆ จะเรียนวนระหว่าง สุโขทัย อยุธยา ธนบุรี รัตนโกสินทร์ 

“เขาจะสอนให้เรามองแค่มุมเดียว เขาไม่ได้สอนให้เรามองหลายๆ ด้าน ไม่ได้ให้เราวิเคราะห์ อย่างเรื่องของความจงรักภักดีต่อชาติเป็นสิ่งที่เขาปลูกฝังให้เราตลอด เราเหมือนหุ่นยนต์ตัวหนึ่งที่เขาใส่โปรแกรมให้” อรปรียาเผย 

สิ่งที่ครูผู้สอนและนักเรียนเห็นพ้องต้องกันก็คือ การปลูกฝังด้วยการท่องจำค่านิยมไทย 12 ประการ และการยึดถือใน 3 สถาบันหลัก ขัดเกลาผ่านคำว่า ‘พลเมืองดี’ 

“แบบเรียนหมวดสังคม ความเป็นไทยจะอยู่ในสาระประวัติศาสตร์กับหน้าที่พลเมืองเป็นส่วนใหญ่ เด็กจะต้องสำนึกความเป็นตนเอง สำนึกความเป็นไทยผ่านผลงานที่บรรพบุรุษไทยได้ทำสงครามกู้แผ่นดินเอาไว้ ส่วนเรื่องอื่นๆ ในหลักสูตร เช่น เรื่องอาหาร ประเพณี วิถีชีวิต วัฒนธรรมที่เปลี่ยนแปลงตามยุคสมัยก็เริ่มปรากฏอยู่ในหนังสือบ้าง เพียงแต่ยังคงยึดกรอบของความรักชาติไว้อยู่เหมือนเดิม” ปภังกรกล่าว

หลักสูตรที่ฝังรากมาช้านาน ปัจจุบันก็ยังคงอยู่

ปภังกรเปิดเผยว่า สิ่งที่ยังคงเดิมอยู่คือ สาระประวัติศาสตร์กับพระพุทธศาสนา ถึงจะมีการเปลี่ยนชื่อวิชา หากแต่แนวคิดจริงๆ ก็ยังปลูกฝังให้เห็นคุณค่าทางประวัติศาสตร์ผ่านบุคคลสำคัญ โดยเฉพาะพระมหากษัตริย์หรือบุคคลสำคัญที่เป็นพระบรมวงศานุวงศ์ ซึ่งในหลักสูตรบังคับว่าครูจะต้องสอนสิ่งนี้ให้กับเด็ก 

“ตัวผมมองว่าวิชาประวัติศาสตร์เป็นวิชาที่ควรเรียนเรื่องใกล้ตัวก่อน อย่าเพิ่งไปไกลถึงขนาดนั้น เพราะไม่งั้นเด็กเห็นชื่ออะไรต่อมิอะไร เขาจะไม่ค่อยอยากอ่าน

“ในส่วนของวิชาพระพุทธศาสนาเราเรียนกันมานานแล้ว เรียนมานานจนเด็กตั้งคำถามว่าได้ประโยชน์อะไรบ้าง ณ ปัจจุบันนี้จำนวนคนที่ไม่นับถือศาสนาเพิ่มมากขึ้น มีคนนับถือศาสนาที่หลากหลายขึ้น เสนอให้เปลี่ยนเป็นการเรียนเรื่องศาสนาสากลน่าจะดีกว่า เพราะมีอยู่ครั้งหนึ่งเคยไปติวให้เด็ก ม.6 ที่จะสอบเข้ามหาวิทยาลัยในสามจังหวัดภาคใต้ เราก็หนักใจมาก ต้องสอนหลักธรรมพุทธให้เด็กที่ใส่ฮิญาบ เขาก็งงกันเป็นแถว แต่ไม่สอนก็ไม่ได้ เพราะบังคับในหลักสูตร ต้องใช้สอบ มันย้อนแย้งไหมล่ะ

“ถ้าพูดสรุปประเด็นนี้ เนื้อหาที่ยังคงเดิมคือ หนึ่ง เรื่องหลักธรรมในศาสนาพุทธ สอง เรื่องประวัติศาสตร์ที่ยังคงเน้นไปทางกระแสหลักอยู่ ก็ยังสอนแบบเดิมคือ ประวัติศาสตร์สไตล์กรมพระยาดำรงฯ สุโขทัย อยุธยา ธนบุรี รัตนโกสินทร์” 

เมื่อพูดถึงการเรียนวิชาพุทธศาสนาท่ามกลางวัฒนธรรมและผู้คนที่แตกต่างหลากหลาย ภูมิฤทแสดงทัศนะว่า ในหนังสือเรียนไม่เคยสอนว่าจะมีวิธีการอย่างไรที่จะอยู่ร่วมกันโดยสันติสุขบนความหลากหลาย หรือต้องให้เกียรติกันและกันอย่างไร 

“ที่เห็นชัดที่สุดเลยคือ วิชาพระพุทธศาสนา 1 เล่ม มี 7-8 บท สอนศาสนาสากลแค่บทเดียวเท่านั้น ที่เหลือก็คือเนื้อหาของศาสนาพุทธทั้งหมด เทียบสัดส่วนแล้วก็ไม่เห็นว่าจะหลากหลายตรงไหน การบังคับเด็กที่มีความหลากหลายทางศาสนาให้มาท่องบทสวดของศาสนาเดียว มันไม่ได้เคารพความหลากหลายจริงๆ แค่มองว่ามันมีความหลากหลายแบบผิวเผิน”

ภูมิฤทแสดงทัศนะ 

หน้าที่พลเมืองในความเป็นจริงกับสิ่งที่เรียน

พลเมืองดี หมายถึง ประชาชน ราษฎร หรือพสกนิกร ที่ประพฤติตนให้เป็นไปตามระเบียบ กฎเกณฑ์ กฎหมาย และข้อบังคับต่างๆ ของสังคม โดยบุคคลดังกล่าวจะต้องมีหน้าที่และมีความรับผิดชอบ ปฏิบัติตนให้เกิดประโยชน์แก่สังคม ประเทศชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์

ลักษณะของพลเมืองดีตามที่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้บอกไว้นั้น เป็นไปตามค่านิยม 12 ประการ ได้แก่ 1. รักชาติ ศาสน์ กษัตริย์ 2. ซื่อสัตย์ เสียสละ อดทน 3. กตัญญูต่อผู้มีพระคุณ 4. ใฝ่หาความรู้ 5. รักษาวัฒนธรรมไทย 6. มีศีลธรรม 7. เข้าใจเรียนรู้การเป็นประชาธิปไตย 8. มีระเบียบ วินัย เคารพกฎหมาย ผู้น้อยรู้จักการเคารพผู้ใหญ่ 9. มีสติรู้ตัว 10. ดำรงตนอยู่โดยใช้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง 11. มีความเข้มแข็งทั้งร่างกาย และจิตใจ ไม่ยอมแพ้ต่ออำนาจฝ่ายต่ำ 12. คำนึงถึงผลประโยชน์ของส่วนรวมมากกว่าผลประโยชน์ของตนเอง

หากย้อนมองแล้ว ในข้อที่ 7 จะพบว่ามีการส่งเสริมให้เรียนรู้การเป็นประชาธิปไตย ทว่าการที่จะเป็นประชาธิปไตยได้นั้นต้องมาจากการถกเถียงหาข้อสรุปของคนในสังคม ระบอบการปกครองประชาธิปไตยถูกนำมาใช้กับการเลือกตั้งผู้นำประเทศ แต่ พลเอกประยุทธ์ ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งนายกฯ ด้วยการรัฐประหารโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในปี 2557 โดยไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชน 

เมื่อเป็นเช่นนี้ ครูจะตอบคำถามกับนักเรียนอย่างไร?

“ตอบตามความเป็นจริง” ปภังกรให้ความเห็น

“เราจะพูดทั้งเหตุการณ์ปัจจุบันกับชุดความรู้ที่อยู่ในหนังสือ มีผลงานรัฐบาลชุดปัจจุบันหลายอย่างที่เกิดข้อแตกต่าง ข้อเปรียบเทียบ เราต้องบอกกับเด็กๆ อย่างไม่ปกปิดและบิดเบือน เขาจะได้รู้ว่าจุดบกพร่องอยู่ตรงไหน”

ในความเห็นของอรปรียา เข้าใจว่าการเรียนหน้าที่พลเมือง หลักสูตรจะต้องสอนให้สร้างสรรค์สังคมให้น่าอยู่ โดยที่ทุกคนต้องมีความเท่าเทียมและมีความสุขร่วมกัน แต่พอได้เรียนจริงๆ ก็เป็นเพียงการท่องจำค่านิยม 12 ประการ เพื่อสอบเก็บคะแนนจากการท่อง ซึ่งอรปรียาไม่เห็นว่าการท่องจำจะนำไปใช้ประโยชน์อะไรได้ ทำให้มองว่าเป็นการ ‘ยัดเยียด’ แทนที่จะสอนให้เด็กได้คิดเอง 

“เหมือนเขาบอกว่า นี่คือหน้าที่พลเมืองดีตามวิถีของฉันที่คุณต้องทำ ห้ามทำอย่างอื่น ถ้าทำอย่างอื่นจะไม่ใช่พลเมืองที่ดี”

อรปรียาเสริม 

การจัดการในห้องเรียนส่วนใหญ่เป็นเรื่องระหว่างผู้สอนกับนักเรียน การประเมินผลการสอนจะประเมินจากเกรดของเด็ก แต่เมื่อประเทศต้องเจอกับวิกฤติโควิด-19 วิธีการสอนช่วงออนไลน์จึงถูกปรับเปลี่ยนไป เด็กบางคนอาศัยอยู่กับพ่อแม่ มีชุดความคิดที่แตกต่างกัน ครูจึงต้องระมัดระวังมากขึ้นกว่าเดิม

ปภังกรยกตัวอย่างการสอนออนไลน์ในรูปแบบของตนเองคือ การเอาบทความไปแปะไว้ในกลุ่มโซเชียล เพื่อให้นักเรียนเข้าไปอ่านแล้วตอบคำถาม วิธีแบบนี้จะช่วยให้นักเรียนเกิดการคิดวิเคราะห์ ซึมซับบางอย่าง ช่วยกระตุ้นข้อสงสัยให้เกิดการตั้งคำถาม 

“ในหนังสือเรียนพูดเรื่องของการเสียกรุงโดยพม่าเข้ามาทำลาย เราก็จะหาบทความที่บอกว่าเหตุที่กรุงศรีอยุธยาแตกไม่ได้เป็นฝีมือพม่า เป็นฝีมือของคนในกรุงศรีฯ เป็นฝีมือของคนจีน ก็จะให้ชุดข้อมูลที่แตกต่างจากหนังสือเพื่อให้เขาไปอ่าน

“คนที่มีบทบาทสำคัญคือ ‘ครู’ ครูควรจะกระตุ้นให้เด็กรู้จักคิดเกินกรอบที่กระทรวงกำหนด เพราะเด็กสมัยนี้เขาไปไกลกว่าชุดความรู้ที่มีในหลักสูตรแล้วด้วยซ้ำ” ปภังกรเน้นย้ำ 

เมื่อบ้านเมืองคุกรุ่น การเรียนจึงต้องเปลี่ยน 

2 ปีที่ผ่านมา การเมืองในประเทศไทยร้อนระอุ เกิดการประท้วงเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตย มีกลุ่มผู้ร่วมชุมนุมและข้อเรียกร้องที่หลากหลาย หนึ่งในนั้นเป็นการชุมนุมที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปการศึกษา สิ่งเหล่านี้ ทำให้เกิดการตั้งข้อสังเกตว่า ก่อนและหลังการชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตย มีผลกระทบต่อการเรียนวิชาในหมวดสังคมมากแค่ไหน ทั้งครูผู้สอนและตัวของผู้เรียนต่างยืนยันเป็นเสียงเดียวกันว่า กระทบแน่นอน

“การชุมนุมที่เกิดขึ้นในปัจจุบันไม่ได้โฟกัสไปที่เรื่องของการเมืองอย่างเดียว เป็นการรวมตัวกันของหลายกลุ่ม และก็มีกลุ่มที่จุดประเด็นที่เด็กตั้งข้อสงสัยมายาวนานมาก เช่น ทำไมนักเรียนผู้ชายต้องตัดผมเกรียน ทำไมนักเรียนผู้หญิงต้องปฏิบัติตนตามแบบหลักที่พวกเขาเองก็ไม่ได้เป็นคนคิด สิ่งเหล่านี้มันทำให้เด็กๆ ตื่นตัว และกล้าตั้งคำถาม กล้าพูดมากยิ่งขึ้น”

เมื่อสถานการณ์บ้านเมืองจุดกระแสให้เด็กๆ ตั้งคำถาม และหันกลับมามองว่าการชุมนุมทางการเมืองไม่ได้เป็นเรื่องไกลตัว แต่เป็นเรื่องใกล้ตัว 

“เด็กๆ ก็โดนผลกระทบจากการเมืองเหมือนกัน มีเหตุการณ์หนึ่งที่น่าตกใจที่อยากจะยกตัวอย่างก็คือ ตอนเป็นหัวหน้าระดับหมวดสังคมก็เจอนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 เขียนข้อความเรียกร้องสิทธิ แปะไว้เต็มไปหมด สะท้อนให้เห็นว่าเขาตื่นตัวทางการเมืองมากกว่าเดิม ถ้าเป็นเมื่อก่อนเด็กๆ จะไม่ค่อยรับรู้เรื่องการเมืองเท่าไหร่ จะมารู้ก็ตอนเรียนปริญญาตรีเสียด้วยซ้ำ”

ปภังกรอธิบาย พร้อมกับชี้ว่านี่คือการเคลื่อนไหวที่ดี เพราะจะทำให้เด็กกล้าตั้งคำถาม ไม่ได้เลือกเชื่อทั้งหมด แม้กระทั่งที่ครูสอนก็อาจจะไม่ใช่เรื่องที่ถูกต้องทุกอย่าง กลายเป็นว่าเด็กๆ กล้าเข้ามาพูดคุยกับครูหมวดสังคมมากยิ่งขึ้น จากเดิมเป็นแค่ครูสอนหนังสือเฉพาะเรื่อง แต่เมื่อมีการชุมนุมทางการเมืองเข้ามาเด็กก็อยากจะพูดคุยกับครูเรื่องสถานการณ์ทางการเมืองเพิ่มด้วย 

“สถานการณ์ทางการเมืองในปัจจุบัน ทำให้นำเหตุการณ์เหล่านั้นมา relate กับสิ่งที่เรียน สิ่งที่กำลังเกิดขึ้น และตั้งคำถามไปพร้อมกับคนอื่นๆ ที่ไปชุมนุมด้วยกันว่า สังคมกำลังเป็นแบบนี้ สิ่งที่เราเรียนมาเป็นแบบนี้ เราต้องมาเปรียบเทียบ ต้องมาเชื่อมโยงกัน คิดว่าการเรียนสังคมกับเหตุการณ์ทางการเมือง พอไปด้วยกันแล้วมันส่งเสริมกันอย่างไร” ภูมิฤทเสริม 

ปัญหาที่ต้องแก้ไขในมุมมองของครูสังคม

ปภังกรเล่าว่า การศึกษานั้นต้องแก้ไขตั้งแต่โครงสร้าง ชำแหละออกมาเป็นข้อๆ โดยเฉพาะวิชาประวัติศาสตร์ ต้องไปดูว่าภาพรวมในอนาคตสังคมจะยังคงเดิมอยู่ไหม ต้องมีการปรับเปลี่ยนให้เท่าทันโลกปัจจุบัน หลักสูตรต้องสามารถตอบคำถามนักเรียนได้ 

“มีกรณีตัวอย่างที่เด็กมาถามเรื่องเกี่ยวกับ ‘คณะราษฎร’ ว่าทำไมบางอย่างถึงหายไปและพังไป ในหนังสือเรียนก็ตอบเขาไม่ได้

“เมื่อรัฐบาลต้องการสร้างความนิยมให้กับสถาบันหลักๆ ของชาติ ระบบการศึกษาก็เลยวนเวียนอยู่กับการรักชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ที่โฟกัสวิชาประวัติศาสตร์มากๆ ก็เพราะสาระสำคัญของคำว่าความเป็นไทยอยู่ที่ประวัติศาสตร์” ปภังกรบอก

ส่วนอรปรียาบอกว่า โดยส่วนตัวอยากเรียนรู้ประวัติศาสตร์การเมืองไทยและประวัติศาสตร์การเมืองโลก โดยนำแต่ละประเทศมาเปรียบเทียบกันเพื่อให้เห็นเป็นรูปธรรม ทำให้ได้คิดวิเคราะห์ตาม

“อยากให้หลักสูตรสอนเรื่องการตระหนักรู้ร่วมกันของสังคม ทำอย่างไรคนอื่นจะไม่เดือดร้อนและเราสามารถทำได้อย่างเต็มที่และอยู่ในกรอบของเสรีภาพ อยากให้สอนให้เด็กกล้าที่จะตั้งคำถามกับประเด็นเหล่านั้นเยอะๆ ไม่ใช่แค่ว่าบทสรุปของประเด็นนี้เป็นอย่างนี้ เราต้องคิดอย่างนี้เท่านั้น

“ในวิชาประวัติศาสตร์ก็คิดว่าน่าจะพัฒนาไปไกลได้มากกว่านี้ ทุกวันนี้เราเรียนเนื้อหาวนๆ กัน สุโขทัย อยุธยา รัตนโกสินทร์ ทั้งที่ความเป็นจริงเมื่อเราเรียนเรื่องไหนจบแล้วเราก็สามารถไปเรียนประวัติศาสตร์ในยุคที่ใกล้ๆ กับเราอีกได้ ตั้งแต่ยุค 2475 เป็นต้นมา ซึ่งก็มีหลายเหตุการณ์ที่หลักสูตรไม่ได้สอน จะมีเพียงแค่ 1-2 ประโยค แต่ไม่ได้ลงรายละเอียด ซึ่งถ้าหากเราได้เรียนมากกว่านี้ก็จะทำให้เราเอาความรู้ตรงนั้นมาตีความเพื่อเชื่อมโยงกับสถานการณ์ในปัจจุบันได้ 

“นอกจากนี้ก็อยากเรียนวิชาจริยธรรมหรือปรัชญา คิดว่าตรงนี้สามารถเอามาแทนวิชาพระพุทธศาสนาได้เลย เพราะจะสอนให้เรามีตรรกะในการเลือกเชื่อ” อรปรียากล่าว 

การโต้ตอบกันของคนสองวัย

ในฐานะครูสังคม ปภังกรมองว่า เยาวชนในปัจจุบันกล้าตั้งคำถามกับสิ่งที่ผู้ใหญ่ไม่เคยตั้งคำถาม และผู้ใหญ่ก็ตอบไม่ได้ เมื่อเกิดการปกปิดเช่นนี้ต่อไป ก็จะเกิดการต่อต้านแบบนี้ไปเรื่อยๆ เป็นการต่อสู้ของคนสองวัย

“คนกลุ่มหนึ่งพยายามจะแสวงหาความรู้ใหม่ๆ แสวงหาความจริงกลาย แต่กลายเป็นว่า เขากลับถูกมองเป็นคนผิดแปลกไปจากจารีตประเพณี คนที่ควบคุมก็เป็นคนที่มีอำนาจอาวุโส เขาก็จะมีชุดข้อมูล ค่านิยมเก่าๆ มีวิธีปฏิบัติที่ขัดแย้งกับคนรุ่นใหม่”

ขณะที่อรปรียาเสริมว่า “มีบางครั้งที่ข้อมูลบทเรียนไม่เหมือนกับสิ่งที่เราไปศึกษาเอง แล้วเราก็พยายามถามกลับไปว่า สิ่งที่เราไปศึกษามาเขาบอกอย่างนี้ ทำไมในบทเรียนถึงบอกอย่างนี้ เขาก็จะให้คำอธิบายเป็นเชิงว่า ‘เดินตามผู้ใหญ่หมาไม่กัด’ เมื่อเราถาม และเราไม่ได้คำตอบ คนอื่นๆ ก็จะไม่กล้าถาม เพราะคิดว่าสิ่งที่เขาสอนมามันถูกต้องที่สุด ไม่เท่ากับสิ่งที่เราไปหาเอง” 

สังคมที่เป็นประชาธิปไตยเป็นสังคมที่ต้องมีการแลกเปลี่ยนความคิด พูดคุยเพื่อถกเถียงหาข้อสรุป อย่างน้อยในการเรียนนักเรียนควรจะได้ตั้งคำถาม เกิดการวิเคราะห์ แลกเปลี่ยนความเห็นกับครู การนั่งฟังอย่างเดียวเป็นการสื่อสารแบบ one way communication 

“นักเรียนต้องเป็น active learner ก็จะต้องมีการตรวจสอบ มีการพัฒนาซึ่งกันและกัน ทุกวันนี้คุณครูรุ่นใหม่ๆ เขาจะพูดประมาณว่า ‘ถ้าครูผิดสามารถเสริมได้นะ’ คิดว่าการเรียนการสอนน่าจะเป็นแบบนี้มากกว่า” 

อ้างอิง

ณัฐวรรณ ทองพันภิญโญ
เด็กประวัติศาสตร์ที่กำลังจะเรียนจบในปีหน้าผู้กำลังรอคอยการไปคอนเสิร์ตอีกครั้งอย่างใจจดใจจ่อ และหาลู่ทางไปเติบโตในสังคมที่ดีกว่า

กัญญาภัค ทิศศรี
เรียนสื่อสารมวลชน โทข่าวและสารคดี ชอบฟังดนตรีสด สนใจสะสมโมเดลจากอนิเมะ

แพรพรรณ หรรษา
นักศึกษาสื่อสารมวลชน ศิลปากร ชอบเรียนรู้สิ่งใหม่ ใส่ใจคนรอบข้าง ชอบมองท้องฟ้า ดอกไม้ต้นไม้ แต่ปลูกเองไม่ได้เพราะตายทุกต้น

ณัฎฐณิชา นาสมรูป
นักศึกษากราฟิกดีไซน์ ผู้สนใจในเรื่องเพลง การเมือง และประเด็นทางสังคม เป็นคนพูดไม่เก่งแต่มีเรื่องราวมา Deep conversation กับเพื่อนเสมอ เมื่อก่อนชอบอ่านหนังสือมาก แต่ตอนนี้ชอบนอนมากกว่า

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า