คิดเรื่องร้าย ทำนายหายนะ ทักษะที่จำเป็นอย่างยิ่งใน พ.ศ. นี้

เนื้อหาและความเห็นในบทความเป็นสิทธิเสรีภาพและทัศนะส่วนตัวของผู้เขียน โดยอาจไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับทัศนะและความเห็นของกองบรรณาธิการ

จินตนาการและความคิดสร้างสรรค์มันเกี่ยวพันกับวิกฤติฝุ่นกินเมือง หรือวิกฤติความหนาวเย็นระดับขั้วโลกในอเมริกาได้อย่างไร? คำตอบอาจอยู่ในหนังที่เราเคยดูอย่าง Interstellar และ The Day After Tomorrow นั่นไง

หลายปีก่อนผมมีโอกาสได้ไปดูบรรยากาศการเรียนการสอนของโรงเรียนแห่งหนึ่งในบ้านเราที่นำแนวคิดการแก้ปัญหาในอนาคตมาประยุกต์ใช้ บรรยากาศที่ได้เห็นก็คือ เด็กๆ ในชั้นมัธยมต้นกำลังนั่งล้อมรอบเครื่องยนต์ที่ถอดมาจากรถกระบะคันหนึ่ง โดยอาจารย์ผู้สอนกำลังเล่าให้ฟังถึงการทำงานของเครื่องยนต์สันดาปภายในว่าทำงานอย่างไร ได้พลังงานมาจากไหน ถ่ายเป็นกำลังไปสู่ล้อให้รถวิ่งได้อย่างไร และต้องสูญเสียพลังงานไปกับอะไรบ้าง

คำถามที่เด็กๆ สงสัยกันในวันนั้นก็คือ การทำงานของเครื่องยนต์ดีเซลมันต่างจากเครื่องยนต์เบนซินมาก ไอเสียที่เกิดขึ้นจะส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้นด้วยไหม?

จากคำถามนี้ ทำให้เด็กๆ ต้องเดินทางไปที่บริษัทพลังงานแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ เพื่อให้พี่ๆ ผู้เชี่ยวชาญเล่าให้ฟังว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร เครื่องยนต์ที่เผาไหม้ไม่สมบูรณ์จะสร้างปัญหาอย่างไร ฝุ่นละอองในระดับ PM2.5 คืออะไร เด็กๆ ก็ได้กลับมาขบคิดและนำเสนอผลงานให้เวทีใหญ่ว่าอนาคตเราอาจจะเจอปัญหาอะไร และจะแก้ไขได้อย่างไร

เด็กๆ กลุ่มนี้นำเสนอผลงานได้ดีจนมีโอกาสไปร่วมในเวทีระดับนานาชาติ ทำให้เจอกับเด็กนักเรียนจากประเทศอื่นๆ นำสิ่งที่คิดว่าจะเป็นปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตมาถกกันและวางแผนรับมือกับสิ่งนั้น ซึ่งนอกจากเรื่องมลพิษจากเครื่องยนต์แล้ว เด็กๆ ก็ได้เรียนรู้ว่ายังมีเรื่องโลกร้อน ภัยคุกคามป่าไม้ และสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ ฯลฯ

ไม่กี่ปีให้หลัง เราก็เห็นหนังเรื่อง Interstellar ที่สะท้อนให้เห็นโลกในอนาคตที่ถูกปกคลุมด้วยฝุ่นและควันพิษจนส่งผลอย่างรุนแรงต่อประชากรโลก ซึ่งทางรอดเดียวก็คือการอพยพโยกย้ายไปสู่ดาวดวงอื่น

ผมไม่ได้หมายความว่าการนำเสนอของเด็กไทยจะไปเข้าตาผู้กำกับฮอลลีวูด แต่กำลังจะชี้ให้เห็นว่าทักษะการคิดและแก้ปัญหาในอนาคตนั้นเป็นวิธีบ่มเพาะให้เราใช้สติปัญญาวิเคราะห์ปัญหาที่กำลังจะเกิดขึ้น และรวบรวมองค์ความรู้ทั้งหมดเพื่อวางแผนรับมือกับมันอย่างเป็นระบบ

กว่าจะเป็นหนังเรื่อง Interstellar ปัญหาเรื่องฝุ่นละอองในระดับที่ส่งผลต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์เกิดขึ้นในหลายๆ ประเทศแล้ว การวางแผนรับมือจึงเกิดขึ้นหลายระดับ ตั้งแต่การแก้ไขที่ต้นตอ คือโรงงานอุตสาหกรรม ไปจนถึงความคิดที่จะปรับเปลี่ยนยานยนต์ให้เป็นรถไฟฟ้าทั้งหมด แต่หากถึงขั้นเกินเยียวยาซึ่งอาจเป็นร้อยๆ ปีข้างหน้า ความคิดในการทำ Terraforming หรือการปรับสภาพดาวเคราะห์ดวงอื่นให้มนุษย์โลกอยู่อาศัยได้ก็กลายเป็นศาสตร์สำคัญที่กำลังถกเถียงกันอยู่ในทุกวันนี้

เช่นเดียวกับภาวะโลกร้อนที่เราเห็นผลกระทบแบบสุดขั้วในหนังเรื่อง The Day After Tomorrow ที่การหมุนเวียนของน้ำในมหาสมุทรหรือ Thermohaline Circulation หยุดลงชั่วคราวจนส่งผลให้เกิดยุคน้ำแข็งขึ้นแบบปัจจุบันทันด่วน ซึ่งกำลังเกิดปรากฏการณ์คล้ายๆ กัน คือภาวะหนาวเย็นเฉียบพลันในรัฐทางเหนือของอเมริกาในวันนี้ เพียงแต่สาเหตุเป็นเพราะกระแสลม Polar Vortex ที่เคยพัดหมุนวนในขั้วโลกเหนือกลับเลื่อนต่ำลงอย่างผิดปกติมาถึงแคนาดาและอเมริกาเหนือ

จินตนาการที่ได้จากการคิดถึงปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต จะมาพร้อมกับทักษะการคิดแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ เด็กที่ผ่านการเรียนในรูปแบบนี้จึงเป็นได้ทั้งคนเขียนบทป้อนให้กับบริษัทสร้างหนังหรือเป็นนักวิทยาศาตร์ วิศวกรที่วิเคราะห์ทางแก้ปัญหาต่างๆ

กลับมาที่เด็กไทยกลุ่มเดิมที่ได้ทักษะในการวิเคราะห์และวางแผนรับมือในอนาคต พ่วงด้วยการไปแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับเพื่อนต่างชาติ เมื่อกลับมาแล้วเส้นทางชีวิตเขาจะเป็นอย่างไร เป็นนักคิด นักวิทยาศาสตร์ หรือเป็นนักการเมืองที่อาสาเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาของประเทศได้หรือไม่…?

ขอแสดงความเสียใจที่ต้องเฉลยว่า “ไม่ได้เลย” เพราะโครงการดังกล่าว แม้ผู้ปกครองทุกคนจะรู้ดีว่ามันยกระดับการคิดและการแก้ปัญหาได้อย่างดีเลิศ แต่สุดท้ายแล้วก็มีแต่คนทยอยลาออกจากโครงการดังกล่าวไปทีละคนสองคน

เพราะท้ายสุดแล้วตัวชี้ขาดในระบบการศึกษาไทยก็คือการ ‘สอบเข้ามหาวิทยาลัย’ ซึ่งทักษะที่ได้มานั้นมันไม่ได้ช่วยให้สอบเข้ามหาวิทยาลัยได้เลย แม้จะมี TCAS รอบที่ใช้การยื่นพอร์ตหรือผลงานของนักเรียน แต่นั่นเป็นผลสอบแข่งขันการทำข้อสอบในเวทีวิชาการต่างๆ เป็นหลักเท่านั้น

ไม่น่าแปลกใจอะไรที่บ้านเราจะตื่นตระหนกทุกครั้งเมื่อเจอปัญหาต่างๆ เพราะแทบจะไม่มีใครมีจินตนาการถึงภัยพิบัติต่างๆ เหล่านี้มาก่อนนอกจากนักวิชาการ และเราเลือกที่จะเชื่อหมอดูหรือคนทรงเจ้ามากกว่านักวิทยาศาสตร์เมื่อต้องพยากรณ์ภัยธรรมชาติที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต!

Author

ปฐม อินทโรดม
ด้วยประสบการณ์บริหารบริษัทไอทีหลายแห่ง ทำให้ปฐมเป็นหนึ่งในผู้เชี่ยวชาญด้านไอทีที่มักแสดงความเห็นผ่านสื่อต่างๆ อยู่เสมอ แต่เนื้อแท้แล้วปฐมสนใจเรื่องการเปลี่ยนแปลงของสังคมและการศึกษาไม่แพ้กัน เพราะรู้ว่าโลกดิจิตอลและอนาล็อกที่มาพัวพันกันทุกวันนี้ก่อให้เกิดปรากฏการณ์มากมายที่น่าบันทึกเอาไว้

Illustrator

ณขวัญ ศรีอรุโณทัย
อาร์ตไดเร็คเตอร์ผู้หนึ่ง ชอบอ่าน เขียน และเวียนกันเปิดเพลงฟัง

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า