WAY 2021 Reviews หนึ่งปีแห่งความโหดเหี่ยว: การเมืองเรื่องสิ่งแวดล้อม กิ๊กเวิร์คเกอร์ นิติสงคราม ขบวนการประชาชน การเงินที่ไม่เป็นธรรม และความเคลื่อนไหวของสถาบันกษัตริย์

ในห้วงความโกลาหลของประเทศแทบทุกมิติ ตั้งแต่ปากท้องจนถึงสภา จากป่าถึงเวทีโลก จากนักสู้สู่นักโทษ จากความโกรธของประชาชนต่อบัลลังก์ศาล ความหลากหลายของประเด็นตลอด 1 ปีที่ผ่านมา จึงถือเป็นสนามและความท้าทายของกองบรรณาธิการ WAY ในการบันทึกเป็นคลังข้อมูลทางประวัติศาสตร์ บอกเล่า และตรวจสอบปรากฏการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นในสังคมไทย ผ่านหน้าเว็บไซต์ waymagazine.org 

อย่างมีนัยสำคัญ นั่นคือแทบทุกเรื่องที่เราจับต้องตลอดปี ยังคงเป็นความขัดแย้งคาราคาซังไร้ข้อยุติ และรังแต่จะทวีความรุนแรงมากขึ้น เมื่อผู้มีส่วนเกี่ยวข้องและทรงอำนาจยังคงดำรงท่าทีและทิศทางที่คลุมเครือในการแก้ปัญหา หรืออาจถึงขั้นเป็นชนวนเสียเอง 

ประเด็นสิ่งแวดล้อม แรงงาน กระบวนการยุติธรรม โควิด-19 การต่อสู้ทางการเมือง และพิษเศรษฐกิจปากท้อง คือหัวข้อที่ WAY ได้ทำการประมวลมาไว้ ณ ที่นี้อีกครั้ง เพื่อกระตุ้นเตือนมิให้หลงลืมไปกับปีเก่าที่ผ่านพ้นไป และเตรียมแรงไว้ต่อสู้กันอีกครั้งในปีใหม่ที่จะมาถึง

Environmental Issues: การเมืองเรื่องสิ่งแวดล้อม

เราไม่อาจหลีกเลี่ยงความจริงที่ว่า ปัญหาสิ่งแวดล้อมกับการเมืองคือเรื่องเดียวกัน ทรัพยากรธรรมชาติ ดิน น้ำ ป่าไม้ และสินแร่ทั้งหลาย เป็นสมบัติสาธารณะที่คนทั้งประเทศต้องใช้สอยร่วมกัน นั่นหมายความว่า โครงการพัฒนาขนาดใหญ่ที่รัฐพยายามจัดสรรไปยังหลายพื้นที่จึงควรอยู่ภายใต้กรอบกติกาที่ทุกฝ่ายเห็นพ้องต้องกัน นี่คือหลักการง่ายๆ ที่ ที่รัฐไทยไม่พึงกระทำในทางปฏิบัติ 

ปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อมที่ปรากฎให้เราเห็นในปี 2564 ล้วนแล้วแต่มีประวัติศาสตร์และเนื้อในของปัญหาที่ซับซ้อนและกินเวลายาวนาน บางเรื่องกินเวลายาวนานเกือบ 4 ทศวรรษ เช่นกรณีคลิตี้ บางเรื่องเพิ่งประทุความขัดแย้งเพียงไม่กี่ปี เช่นกรณีโครงการผันน้ำยวม และบางเรื่องอย่างบางกลอย คือโศกนาฏกรรม ที่สร้างความเสียหายแก่ทรัพยากร คน และประเทศอย่างคาดไม่ถึง 

ไม่มีเรื่องใดที่เดินทางไปสู่ข้อยุติอย่างเป็นธรรม เมื่อรัฐบาลผู้มีหน้าที่ออกนโยบายเพื่อจัดการทรัพยากรร่วมกันอย่างเป็นธรรมและโปร่งใส ไม่ทำหน้าที่นี้อย่างที่ควรจะเป็น

ฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้จากพิษตะกั่ว

เรื่องราวของคลิตี้ อาจผ่านหูผ่านตาสาธารณชนมาแล้วไม่น้อย เพราะหากนับตั้งแต่ปี 2541 ปีที่เรื่องราวของคลิตี้ปรากฏเป็นข่าวใหญ่ กระทั่งมาถึงวันที่ชาวบ้านชนะคดีจากการยื่นฟ้องกรมควบคุมมลพิษ ในปี 2556 นั่นก็กินเวลาถึง 15 ปี

คลิตี้ ถือเป็นคดีประวัติศาสตร์ของประเทศไทย ที่มีคำพิพากษาคดีจนถึงที่สุด  คำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด มีใจความว่า กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ต้องจ่ายค่าชดเชยและฟื้นฟูลำห้วย โดยต้อง ‘กำหนดแผนงาน วิธีการ และดำเนินการฟื้นฟู ตรวจและวิเคราะห์ตัวอย่างน้ำ ดิน พืช ผัก และสัตว์น้ำในลำห้วยคลิตี้ให้ครอบคลุมทุกฤดูกาล อย่างน้อยฤดูกาลละ 1 ครั้ง จนกว่าจะพบว่าค่าสารตะกั่ว ไม่เกินเกณฑ์มาตรฐานเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 1 ปี’

ข่าวคราวนี้ถือเป็นชัยชนะของชาวคลิตี้ และเป็นต้นแบบสำคัญในการกำหนดโมเดลการฟื้นฟูพื้นที่ปนเปื้อนสารพิษขนาดใหญ่ในประเทศไทย อีกทั้งยังเป็นกรณีศึกษาสำคัญต่อการพิจารณาคดีด้านสิ่งแวดล้อมของกระบวนการยุติธรรมไทย

เรื่องราวดูจะจบลงด้วยดี ชาวคลิตี้ได้ความรับความยุติธรรมกลับคืนมาหลังยืนหยัดต่อสู้มากว่าทศวรรษ ทว่าในทางปฏิบัติ มาตรการฟื้นฟูเยียวยายังคงเกิดขึ้นบนความไม่โปร่งใส ไปจนถึงความไม่มีประสิทธิภาพของกระบวนการบังคับคดีเพื่อให้คำพิพากษาเป็นจริง

WAY ได้บันทึกเรื่องราวของคลิตี้ ในวันที่ชัยชนะของพวกเขากำลังถูกทำให้พ่ายแพ้ ผ่านสิ่งที่เรียกว่า ‘กระบวนการยุติธรรม’ และ ‘การทำงานของหน่วยงานรัฐ’ ในหลายแง่มุม ทั้งความลักลั่นของกระบวนการฟื้นฟูที่ไม่ถูกต้องตามหลักวิศวกรรม ความไม่โปร่งใสในแผนการฟื้นฟู ความตายของชายธรรมดาจากการวิพากษ์วิจารณ์ และชาวบ้านที่ต้องแบกรับชะตากรรมนี้อย่างไม่ยุติธรรม

นี่จึงอาจเรียกได้ว่า ความพ่ายแพ้ของผู้ชนะ​ ที่อาจเกิดกับใครก็ได้ในประเทศนี้ ในวินาทีนี้

กะเหรี่ยงบางกลอย ผู้อพยพบนแผ่นดินเกิดตนเอง

เหตุการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัฐไทยกับคนชาติพันธุ์กะเหรี่ยงบางกลอย กลับมาเป็นที่สนใจของสาธารณชนอีกครั้งตลอดปี 2564 หลังชาวบ้านบางกลอยราว 100 คน ได้อพยพกลับขึ้นไปอยู่ที่ ‘บางกลอยบน’ และ ‘ใจแผ่นดิน’ ภายหลังจากประสบปัญหาความอดอยากในที่ดินที่รัฐจัดให้อยู่ใหม่ 

การตัดสินใจกลับไปยัง ‘บ้านเดิม’ ครั้งนั้น นำมาซึ่งการสนธิกำลังของทหารและตำรวจ ใน ‘ยุทธการพิทักษ์ป่าต้นน้ำเพชร’ ระหว่างวันที่ 22-24 กุมภาพันธ์ 2564 เพื่อนำตัวชาวบางกลอยออกมาจากใจแผ่นดิน เหตุการณ์ในวันนั้นถูกบอกเล่าออกมาผ่านหลักฐานและบันทึกปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ ทว่ากลับสวนทางกับปากคำของชาวบ้านที่ถูกริบเครื่องมือสื่อสารและลิดรอนสิทธิในการบันทึกเหตุการณ์ฝั่งของตน ความรุนแรงที่เกิดขึ้นจากปฏิบัติการในวันนั้น จึงนำมาสู่การรวมตัวชุมนุมกันบริเวณเชิงสะพานชมัยมรุเชฐ หน้าทำเนียบรัฐบาล เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อชาวบ้านบางกลอย และให้มีมาตรการคุ้มครองชาวกะเหรี่ยงบางกลอยที่เดินทางกลับไปที่บ้านใจแผ่นดิน ซึ่งเคยเป็นที่อยู่อาศัยของบรรพบุรุษในผืนป่าแก่งกระจาน 

สิ่งที่เกิดขึ้นกับบางกลอย ไม่ว่าจะในช่วงปี 2554 กับ ‘ยุทธการตะนาวศรี’ ปรากฏภาพเจ้าหน้าที่กำลังเผาทำลายที่อยู่อาศัยและยุ้งฉางของชาวกะเหรี่ยงบริเวณบางกลอยบนหรือใจแผ่นดิน ผืนป่าที่พวกเขาอาศัยมาตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษ เพื่อขับไล่ให้ลงมาอยู่ที่หมู่บ้านโป่งลึกหรือบางกลอยล่าง พื้นที่ที่รัฐจัดสรรไว้ให้ นำมาซึ่งความขัดแย้งในปี 2564 เมื่อชาวบางกลอยต้องพบกับความยากลำบากในการดำรงชีวิตในพื้นที่ใหม่ที่ได้รับจัดสรรจากรัฐ

สาเหตุความขัดแย้งระหว่างรัฐไทยกับชาวบางกลอยวางอยู่บนเงื่อนไขในการรักษาความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่าแก่งกระจาน ทำให้รัฐบาลไทยพยายามเต็มที่ในการนำเสนอพื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจานให้ UNESCO พิจารณาเพื่อประกาศเป็นมรดกโลก และได้ผลักดันให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ดำเนินการให้สำเร็จโดยเร็ว จึงไม่น่าแปลกใจที่ความเห็นและทัศนคติของเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับคนกะเหรี่ยงบางกลอยจะไม่ได้เป็นไปในทางบวกหรือเห็นอกเห็นใจพวกเขา

กระทั่งวันที่ 26 กรกฎาคม 2564 คณะกรรมการมรดกโลก ได้จัดประชุมครั้งที่ 44 โดยมีสาธารณรัฐประชาชนจีนเป็นเจ้าภาพหลัก ในวาระการประชุมมีการพิจารณาเพื่อผลักดันให้ ‘พื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจาน’ ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก ซึ่งในท้ายที่สุด คณะกรรมการมรดกโลกก็ได้มีมติ ‘เห็นชอบ’ ให้พื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจานขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกแห่งที่ 6 ของประเทศไทย และนับเป็นแหล่งมรดกโลกทางธรรมชาติแห่งที่ 3 นับตั้งแต่มีการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร-ห้วยขาแข้ง ในปี พ.ศ. 2534 และกลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ ในปี พ.ศ. 2548

ความขัดแย้งจึงไม่มีทีท่าจะคลี่คลายหรือยุติในเร็ววัน เพราะหากเราคลี่เส้นเวลาของเหตุการณ์และสำรวจท่าทีของรัฐบาล สิ่งที่ปรากฏนั้น ดูเหมือนว่ารัฐบาลไม่ได้มีความพยายามในการคลี่คลายสถานการณ์ความขัดแย้งมากนัก ตรงกันข้าม กลับดูเป็นฝ่ายที่ใช้อำนาจในการบังคับ ควบคุม หรือแม้แต่ผลักดันคนกะเหรี่ยงบางกลอยให้ต้องจำยอมอย่างไม่อาจเลี่ยง 

บิ๊กโปรเจ็คต์ผันน้ำยวม 7.1 หมื่นล้าน

71,000 ล้านบาท คืองบประมาณที่กรมชลประทานได้กำหนดไว้ในแผนงาน โครงการผันน้ำยวมสู่เขื่อนภูมิพล ตัวเลขนี้การันตีถึงความมหึมาของโปรเจ็คต์นี้ ที่หากเราซักไซ้ไปยังรายละเอียดของโครงการ สิ่งที่ปรากฏให้เห็นคือความลักลั่นของกระบวนการจนเหนื่อยจะนับนิ้ว 

หนึ่ง – โครงการผันน้ำยวม เริ่มต้นจากคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ที่มี พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ นั่งเป็นประธาน มีคำสั่งให้กรมชลประทานศึกษารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) และจัดทำกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน เมื่อรายงานฉบับนี้ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (คชก.) ถัดไปคือการส่งต่อไปยังคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) ซึ่งก็มี พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นประธานเช่นกัน เมื่อเป็นเช่นนี้ การถ่วงดุลอำนาจจึงไม่อาจเกิดขึ้นได้

สอง – โครงการนี้เจาะทะลุผืนป่ารอยต่อ 3 จังหวัด ผ่านอุทยานแห่งชาติ 1 แห่ง และป่าสงวน 6 แห่ง ครอบคลุมพื้นที่ 36 หมู่บ้าน (หรือมากกว่านั้น) ประเด็นสำคัญคือ ประชาชนที่ได้รับผลกระทบไม่ได้รับทราบข้อมูล ผลดี ผลเสีย อย่างครบถ้วน 

สาม – ในเอกสารรายงาน EIA ของโครงการนี้ มีการนำรูป ชื่อ และข้อมูลของบุคคลจำนวนหนึ่งมาใช้ในการเพิ่มความน่าเชื่อถือ คล้ายว่าการประชุมครั้งนั้นมีชาวบ้านเข้าร่วม ทว่าบุคคลที่ถูกอ้างถึงในรายงานกลับกล่าวว่า เป็นเพียงการนัดพบที่ร้านกาแฟหรือรับประทานอาหารในร้านลาบ ตนไม่ได้อนุญาตให้นำรูปและข้อมูลส่วนบุคคลไปใช้ในรายงาน EIA แต่อย่างใด จนเป็นที่มาของแฮชแท็ก #EIAร้านลาบ

สี่ – โครงการนี้คือการ ‘ผันน้ำข้ามลุ่ม’ จากลุ่มน้ำสาละวินไปยังลุ่มน้ำเจ้าพระยา ผ่านทางตอนล่างของลุ่มน้ำปิง ข้อกังวลหลักของผู้เชี่ยวชาญและนักวิชาการอิสระคือ การสูบน้ำข้ามลุ่มน้ำที่ปลาสองลุ่มน้ำมีลักษณะของพันธุกรรมที่แยกกันชัดเจน หากปลาเล็ดลอดข้ามไปยังอีกลุ่มน้ำได้ ผลคือการปะปนของชนิดพันธุ์ต่างถิ่น หรือเอเลียนสปีชีส์ (Alien Species) ที่อาจสร้างความเสียหายให้กับระบบนิเวศทั้งสองลุ่มน้ำอย่างยากที่จะประเมิน

ห้า – 9 ปี คือระยะเวลาที่คาดการณ์ว่า โครงการนี้จะดำเนินงานเสร็จสิ้นพร้อมใช้ ทว่าค่าไฟที่เกิดขึ้นจากการดำเนินโครงการระยะยาวนี้ ซึ่งในรายงานของ EIA ไม่ได้ระบุว่าใครคือผู้รับผิดชอบ ประชาชนจึงไม่อาจมั่นใจหรือตรวจสอบได้ว่า รายจ่ายจำนวนนี้จะไม่ถูกผลักมาเป็นภาระที่ประชาชนต้องแบก 

หก – โครงการนี้อาจมีการร่วมลงทุนของบริษัทวิสาหกิจของประเทศจีน ในประเด็นนี้หากว่ากันตามตรงแล้ว เป็นข้อมูลที่สื่อมวลชนได้รับจากถ้อยคำของ วีระกร คำประกอบ ส.ส.นครสวรรค์ และรองประธาน กมธ. วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางบริหารจัดการลุ่มน้ำทั้งระบบเป็นหลัก ใจความว่า รัฐวิสาหกิจของรัฐบาลจีนแห่งนี้มีชื่อว่า ‘บริษัทต้าถัง’ ได้ยื่นข้อเสนอในการสนับสนุนทั้งด้านงบประมาณและพัฒนาโครงการ กล่าวได้ว่า จากเดิมที่กรมชลประทานตั้งงบประมาณไว้ 71,000 ล้านบาท เปรียบเทียบกับข้อเสนอของบริษัทรัฐวิสาหกิจของจีนที่ตั้งงบประมาณไว้เพียง 40,000 ล้านบาท และใช้เวลาก่อสร้างโครงการเพียง 4 ปีเท่านั้น นำมาซึ่งการวิพากษ์วิจารณ์และตั้งคำถามถึง ‘ต้นทุน’ ซึ่งก็คือ ค่าไฟจากการดำเนินงาน และค่าน้ำจากการสูบน้ำที่ประเทศจีนจะเก็บจากประเทศไทยหากได้ลงทุนในโครงการนี้ที่ยังไม่เป็นที่กระจ่างชัด ไปจนถึงการตั้งคำถามต่ออธิปไตยของประเทศ

สถานะของโครงการผันน้ำยวมปัจจุบัน ได้ผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติแล้ว ในการพิจารณา EIA เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2564 เพื่อรอเสนอเข้าสู่คณะรัฐมนตรีในปี 2565 ที่จะถึง 

โครงนี้กำลังเดินหน้าไปอย่างรวดเร็ว ภายใต้ความกังขาของผู้คน และกระบวนการที่ไม่โปร่งใสนานัปการ 

  • ‘คุ้มค่า’ หรือ ‘ได้ไม่คุ้มเสีย’ 71,000 ล้าน ผันน้ำยวม ไทยอยากได้ จีนอยากช่วย คนที่ซวยไม่มีทางหนี https://waymagazine.org/the-yuam-river-water-diversion-megaproject/ 
  • เริ่มที่ ‘ป้อม’ จบที่ ‘ประวิตร’ รองนายกฯ ควบ 2 ประธาน คกก.สิ่งแวดล้อม ก่อนอนุมัติโครงการผันน้ำยวม 71,000 ล้านบาท https://waymagazine.org/the-yuam-river-water-diversion-megaproject-approve-by-prawit/ 
  • เตรียมฟ้องศาลปกครอง พิรุธผันน้ำยวม 71,000 ล้าน ใช้ภาพจากร้านลาบประกอบ EIA เรียกค่าคัดสำเนาจากชาวบ้าน 20,000 บาท https://waymagazine.org/nam-yuam-project/
  • ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม (ดีอีเอส) โต้สื่อ-นักวิชาการ วอนอย่าเชื่อเฟคนิวส์ ยืนยันผันน้ำยวม 7.1 หมื่นล้านคุ้มค่า แก้ปัญหาขาดแคลนน้ำได้จริง https://waymagazine.org/warning-from-mdes/

Gig Worker: ชีวิตไรเดอร์ ถนนคือห้องทำงาน และการทะเลาะกับหัวหน้าที่ไม่มีตัวตน

ระยะ 5 ปีที่ผ่านมา ‘แพลตฟอร์ม’ หรือแอพพลิเคชั่น กลายเป็นตัวกลางในการกระจายสินค้าของธุรกิจร้านอาหารทั่วโลก พร้อมๆ กับอาชีพไรเดอร์ กลายเป็นที่นิยมของคนจำนวนมาก บ้างทำเป็นอาชีพเสริม บ้างเป็นอาชีพหลัก ด้วยภาพลักษณ์และการโฆษณาเนื้องานที่ดูอิสระ วิ่งเมื่ออยากวิ่ง พักเมื่ออยากพัก รายได้มากน้อยตามแต่ความขยัน และรับประกันรายได้หลักหมื่น!

มากกว่านั้น ไรเดอร์ไม่ใช่ลูกจ้างใต้บังคับบัญชา หากแต่คือ ‘พาร์ทเนอร์’ ร่วมธุรกิจ นิยามความสัมพันธ์ใหม่คู่ขนานกับชั่วโมงทำงานที่สามารถเลือกได้อย่างเสรี จึงไม่ยากเลยที่อาชีพนี้จะดึงดูดความสนใจผู้คนได้ในเวลาอันรวดเร็ว ทว่านิยามความสัมพันธ์ภายใต้รูปแบบการจ้างงานใหม่นี้ อาจเรียกได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นของปัญหาทั้งหมด ที่นับวันจะทวีความรุนแรงมากขึ้น

จากข้อมูลของสหภาพไรเดอร์พบว่า ตลอดปี 2564 เกิดการรวมตัวประท้วงของไรเดอร์ต่อบริษัทแพลตฟอร์มเจ้าหลักๆ ในไทยมากกว่า 30 ครั้ง ทั้งในกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัด เพื่อส่งเสียงเรียกร้องถึงความเป็นธรรมในการจ้างงาน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการปรับลดค่ารอบของบริษัท การเปิดรับไรเดอร์ไม่จำกัด จนนำไปสู่ภาวะ ‘ไรเดอร์มากกว่าออเดอร์’ ไปจนถึงการเรียกร้องสวัสดิการอย่างประกันอุบัติเหตุในฐานะคนทำงานที่ต้องเผชิญความเสี่ยงบนท้องถนนทุกวัน 

ทางออกของความขัดแย้งดังกล่าวดูท่าจะยังไม่เห็นเค้าลาง เมื่อภาครัฐไม่สามารถปรับข้อกฎหมายให้เท่าทันความเป็นไปของกลไกธุรกิจ ส่งผลให้ตัวละครสำคัญที่ธุรกิจ food delivery ขาดไม่ได้อย่าง ‘ไรเดอร์’ กลายมาเป็นอีกหนึ่งองค์ประกอบที่ได้รับผลกระทบจากการเติบโตอย่างรวดเร็วของธุรกิจนี้ ทั้งในแง่คุณภาพชีวิตการทำงาน สวัสดิการ ความเป็นธรรมในการจ้างงาน และสถานะทางกฎหมายที่คลุมเครือ ไปจนถึงอำนาจต่อรองที่ธุรกิจแพลตฟอร์มมีเหนือกว่าแรงงาน จนกลายเป็นข้อถกเถียงอันเผ็ดร้อนในช่วงปีที่ผ่านมา  ไม่ว่าจะบนท้องถนนหรือในรัฐสภาก็ตาม 

  • โอกาสหรือวิกฤติของแรงงานแพลตฟอร์มกับ ‘ระยะห่าง’ ระหว่างหยาดเหงื่อกับความเป็นธรรม https://waymagazine.org/labor-welfare-for-platform-labor/ 
  • เส้นทางค้ากำไรของธุรกิจแพลตฟอร์ม กับสิทธิที่หล่นหายของไรเดอร์ https://waymagazine.org/fairness-for-platform-labor/ 
  • ระบบนิเวศของธุรกิจแพลตฟอร์ม ทุ่มตลาด ขาดทุน และแมลงเม่าที่บินเข้ากองไฟ https://waymagazine.org/platform-economy/ 
  • หนีเสือปะจระเข้ เลิกทะเลาะกับหัวหน้างาน เพื่อมารบกับแพลตฟอร์ม https://waymagazine.org/rider-as-a-partner/ 
  • ออกจากวังวนนิติศาสตร์แบบไทยๆ ประเทศอื่นทำอย่างไรกับความคลุมเครือของแพลตฟอร์มและคนงาน https://waymagazine.org/rider-law/ 
  • ‘ไม่เลือกงานก็ยากจนอยู่ดี’ เอาชนะอำนาจอันล้นเหลือของแอพพลิเคชั่น ด้วยการสร้างอำนาจต่อรองของไรเดอร์ https://waymagazine.org/riders-life-ray/ 
  • ไรเดอร์ทั้งหลายพึงรู้เถิดว่า เขากำลังขูดรีดเลือดเนื้อเราเพื่อเอากำไร https://waymagazine.org/interview-rider-union/ 
  • อึดอัด อัดอั้น ไรเดอร์จึงต้องออกมารวมตัวเรียกร้อง https://waymagazine.org/interview-rider-namwan/ 
  • ไรเดอร์แม่เลี้ยงเดี่ยว เรื่องที่ไม่ได้เล่าอย่างในโฆษณา https://waymagazine.org/single-mom-rider/ 
  • เมื่อไรเดอร์รวมตัว ไม่ใช่แค่ช่วยเหลือกัน แต่เพื่อเพิ่มพลังให้เสียงเราดังขึ้น https://waymagazine.org/riders-life-mook/ > อิสริยะ ไพรีพ่ายฤทธิ์: มองสนามแข่งของธุรกิจแพลตฟอร์มที่ไร้ผู้คุมกฎ ผ่านทัศนะผู้บริหาร LINE MAN Wongnai https://waymagazine.org/isriya-line-man-wongnai/

Lawfare: นิติสงคราม สนามใหม่ของการต่อสู้

ปี 2564 เป็นอีกหนึ่งปีที่กระบวนการยุติธรรมถูกตั้งข้อกังขาค่อนข้างมาก ประเมินได้จากการจัดกิจกรรมทั้งในทางวิชาการ ทางการเมือง ตลอดถึงกระแสแฮชแท็ก (#) ที่เกิดขึ้นมากมายในโลกออนไลน์

เมื่อมีกิริยาก็ต้องมีปฏิกิริยา เมื่อมีการใช้อำนาจย่อมมีการต่อต้าน หากกฎหมายคือเครื่องมือที่ถูกใช้ในการต่อสู้ทางการเมือง ปีนี้ก็เป็นอีกปีที่สนามการช่วงชิงนิยามผ่านการตีความทางกฎหมายเป็นไปอย่างดุเดือด 

ดังนั้น คงไม่เกินเลยไปนัก หากจะบอกว่า ปี 2564 การต่อสู้ทางการเมืองไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะบนท้องถนน หากยังมีการต่อสู้บนสนามกฎหมายประกอบกันไปด้วย และมันเป็นการต่อสู้ที่มักเรียกกันว่า ‘นิติสงคราม’ 

สิทธิสมรส

วันที่ 17 พฤศจิกายน 2564 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1448 ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ โดยศาลรัฐธรรมนูญมีข้อสังเกตว่า รัฐสภา คณะรัฐมนตรี และหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องสมควรดำเนินการตรากฎหมายเพื่อรับรองสิทธิและหน้าที่ของบุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศต่อไป 

จากคำวินิจฉัยนี้เกิดกระแสสังคมโต้กลับจำนวนมาก WAY เผยแพร่บทความชิ้นนี้ของ รศ.อานนท์ มาเม้า อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อตั้งข้อสังเกตเชิงกฎหมาย 

สิทธิประกันตัว

สิทธิในการประกันตัว เป็นประเด็นหนึ่งที่มีการพูดถึงแทบจะตลอดทั้งปี สืบเนื่องจากการที่ผู้ถูกกล่าวหาในคดีการเมืองมักจะถูกนำตัวไปคุมขัง ทั้งๆ ที่ยังไม่มีคำพิพากษาถึงที่สุด จนหลายคนมองว่าขัดต่อหลักการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจําเลยไม่มีความผิด (Presumption of Innocence) ซึ่งเป็นหลักการสากลทางกฎหมายอาญา ทั้งยังเป็นหลักการที่ถูกรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน มาตรา 29

แต่แม้หลักการทางกฎหมายจะบัญญัติไว้ชัดเจนเพียงใด หลักปฏิบัติกลับเดินสวนทาง

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.บุญเลิศ วิเศษปรีชา อาจารย์ประจำคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้เป็นคอลัมนิสต์ประจำ WAY จึงเขียนเหตุผลทางกฎหมาย ว่าทำไมผู้ถูกกล่าวหาจึงควรได้รับสิทธิประกันตัวอย่างเท่าเทียม

ปฏิรูป = ล้มล้าง

หนึ่งในไฮไลท์สำคัญคือเหตุการณ์ที่ศาลรัฐธรรมนูญให้เหตุผลประกอบคำวินิจฉัยดังกล่าวว่า “มีเจตนาซ่อนเร้นเพื่อล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข มิใช่การปฏิรูป … เป็นการแสดงความคิดเห็นโดยไม่สุจริต เป็นการละเมิดกฎหมาย มีมูลเหตุจูงใจเพื่อล้มล้างการปกครอง” เป็นการกระทำที่มีเจตนาทำลายล้างสถาบันกษัตริย์โดยชัดแจ้ง และเป็นการเซาะกร่อนระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข มีการใช้สิทธิเสรีภาพที่ไม่ถูกต้อง ใช้ถ้อยคำหยาบคาย มีการดำเนินงานอย่างเป็นขบวนการเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์และเป้าหมาย ซึ่งจะนำไปสู่การล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยในที่สุด” 

หลังจากศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยได้เพียง 1 วัน ปรากฏว่าเว็บไซต์ทางการของศาลรัฐธรรมนูญ (www.constitutionalcourt.or.th) ถูกแฮ็คเปลี่ยนหน้าเว็บเป็นเพลง ‘Guillotine (It goes Yah)’ ของ Death Grips กลุ่มศิลปินฮิปฮอปแนวทดลองสัญชาติอเมริกัน และเปลี่ยนชื่อเว็บไซต์ (site title) เป็น Kangaroo Court 

WAY พาไปทำความรู้จักคำอธิบายของสิ่งที่เรียกว่า ‘ศาลจิงโจ้’ (Kangaroo Court) ด้วยบทความชิ้นนี้

ชี้ช่องฟ้องรัฐ

ปฏิเสธไม่ได้ว่าการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลเสียหายต่อชีวิตของผู้คนจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในทางเศรษฐกิจ 

ในระยะแรก ความเสียหายที่ต้องแลกกับมาตรการป้องกันของภาครัฐ อาจเป็นสิ่งที่พอยอมรับและเข้าใจได้ แต่หลายคนก็เห็นว่า การบริหารจัดการของรัฐบาล ภายใต้การนำของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นการบริหารที่ล้มเหลวและผิดพลาดอย่างร้ายแรง ซ้ำร้าย หลายๆ ครั้งภาครัฐยังมีท่าทีปฏิเสธความรับผิดชอบโดยการอ้าง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน 

นั่นทำให้เกิดคำถามว่า จะทำอย่างไรหากประชาชนได้รับผลกระทบจากคำสั่งหรือมาตรการของรัฐ ผู้ได้รับความเสียหายมีสิทธิเรียกเงินชดเชยหรือเงินเยียวยาหรือไม่ ในสถานการณ์ฉุกเฉินอย่างการแพร่ระบาดของโควิด-19 รัฐได้รับอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายใด และหากรัฐสร้างความเสียหายจากการดำเนินนโยบายผิดพลาดหรือบกพร่อง รัฐจะต้องรับผิดตามกฎหมายหรือไม่ หรือ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน จะเป็นเกราะป้องกันไม่ให้รัฐต้องรับผิดใดๆ เลย?

บทความ ‘ชี้ช่องฟ้องรัฐ คู่มือเอาผิดรัฐจากการรับมือโควิด-19 ล้มเหลว’ เป็นชิ้นงานที่เกิดจากการเข้าร่วมสัมมนาออนไลน์ ‘น่าคิด เรียกรัฐรับผิด โควิด-19: การเรียกร้องค่าเสียหายตามกฎหมายปกครอง กรณีได้รับผลกระทบจากคำสั่งรัฐ’ ซึ่งร่วมจัดโดยสำนักงาน Tilleke & Gibbins และคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อตอบคำถามเหล่านั้น

ลงถนน ขยับเพดาน และมาตรการเดือดจากอำนาจรัฐ

ปี 2021 ไม่ใช่ปีแรกของขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อขับไล่ ประยุทธ์ จันทร์โอชา พ้นจากการเป็นนายกรัฐมนตรี รวมถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และการเรียกร้องให้ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ 

ทว่าท่ามกลางการระบาดของโควิดและวิกฤติเศรษฐกิจตลอดปีเช่นนี้ การเมืองบนท้องถนนและในรัฐสภาจำเป็นต้องขับเคลื่อนต่อไปอย่างทุลักทุเล พร้อมๆ กับการจับตามองของสื่อมวลชน ประชาสังคม ไปจนถึงนานาชาติ

ต่อไปนี้คือเรื่องราวการเคลื่อนไหวของการเมืองบนท้องถนน รัฐสภา และระหว่างบรรทัดทางการเมืองที่ยากจะพูดออกมาโดยตรงในหมู่ประชาชน

เกมอำนาจค้ำยันระบอบประยุทธ์

จากประยุทธ์ 1 สู่ประยุทธ์ 2 การเมืองไทยในภาพรวมมีความเปลี่ยนแปลงไม่มากเท่ากับการเปลี่ยนเก้าอี้รัฐมนตรี เราไม่สามารถปฏิเสธได้ว่าวิกฤตการณ์ทางการเมืองเช่นนี้มีความสำคัญยิ่งกับสุขภาวะของระบอบประชาธิปไตยเสรีที่เป็นความใฝ่ฝันของใครหลายคนตั้งแต่ยุคคณะราษฎรจนถึงคนปี 2021

ต่อไปนี้คือสายธารความคิดที่ร้อยเรียงและสอดประสานไปกับบริบทการเมืองไทยตลอด 1 ปี หลากหลายแง่มุมต่อหลายภาคส่วนในสังคมการเมืองที่มีนายกฯ ชื่อ ประยุทธ์ จันทร์โอชา 

ในความเคลื่อนไหวของสถาบันกษัตริย์

ปฏิรูปสถาบันฯ: น้ำมันกับเปลวไฟบนโลกประชาธิปไตยสมัยใหม่

2021 นับได้ว่าเป็นปีที่มีการพูดถึงการ ‘ปฏิรูป’ สถาบันพระมหากษัตริย์มากที่สุดปีหนึ่ง และเป็นปีที่แตกต่างจากหลายปีก่อนเป็นอย่างมากที่เรื่องราว ‘วังๆ’ เช่นนี้กลายเป็นประเด็นที่ทุกภาคส่วนของสังคมให้ความสำคัญ มีการเสนอข้อเรียกร้องและการแสดงออกอย่างไม่หวั่นเกรงดังเช่นที่ผ่านมา

การปฏิรูปไม่ใช่สิ่งที่ประเทศใดประเทศหนึ่งต้องเผชิญ ทว่าหลากหลายชาติในโลกที่มีสถาบันกษัตริย์ต่างต้องมีการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์กันทั้งสิ้น 

ชวนอ่านซีรีส์ Monarchy in Motion: ในความเคลื่อนไหวของ ‘สถาบันกษัตริย์’ ตลอดเดือนธันวาคมนี้จนถึงต้นปีหน้า ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงของสถาบันกษัตริย์ยุคใหม่ทั่วโลก ท่ามกลางความท้าทาย แรงเสียดทาน ข้อครหา และการรักษาภาพลักษณ์หรือความจำเป็นสำหรับการมีตัวตนอยู่ในโลกปัจจุบันที่กำลังหันหน้าไปสู่ประชาธิปไตยที่เสรี

COVID-19 และชีวิตของคนตัวเล็ก

วิกฤติการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 เป็นมหันตภัยระดับโลกที่ไม่มีใครคาดคิดว่าจะเจอ ทว่าหลายประเทศก็เริ่มมีพัฒนาการในการเตรียมความพร้อม การป้องกัน และการสร้างชีวิตวิถีใหม่ที่แตกต่างกันออกไป 

อย่างไรก็ตาม สำหรับประเทศไทยนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายที่ประชาชนทั่วไป ไม่ว่าจะมนุษย์เงินเดือนอย่างชนชั้นกลาง หรือคนหาเช้ากินค่ำอย่างคนรากหญ้า จะสามารถผ่านวิกฤตินี้ไปได้เช่นเดียวกับผู้มีสิทธิพิเศษอื่นๆ ในสังคม

ต่อไปนี้คือการร่วมสำรวจวิกฤติโรคระบาดจากหลากหลายมุมในสังคม ท่ามกลางเสียงความทุกข์ยากของคนเล็กคนน้อย

การเงินที่ไม่เป็นธรรม

พิษเศรษฐกิจ หนี้สิน และปากท้อง

ผลพวงจากวิกฤติโรคระบาด COVID-19 และการบริหารที่ล้มเหลวของรัฐบาลประยุทธ์ระลอกแล้วระลอกเล่าตลอดปี 2564 นำมาซึ่งการเจ็บป่วยล้มตายของผู้คนเป็นใบไม้ร่วง ส่วนคนที่ยังเหลือรอดชีวิตอยู่ก็ถูกพิษเศรษฐกิจเล่นงานจนแทบจะเรียกได้ว่า ‘ตายทั้งเป็น’ 

บริษัทห้างร้านทั้งหลาย ไม่ว่ารายใหญ่รายเล็ก บ้างปิดกิจการ บ้างเลิกจ้าง บ้างลดชั่วโมงทำงาน ลดเงินเดือน ลดพนักงาน ฯลฯ บรรดาลูกจ้าง แรงงานหาเช้ากินค่ำ หรือแม้แต่มนุษย์เงินเดือน ต้องกลายสภาพเป็นผู้ประสบภัยพิบัติทางเศรษฐกิจและปากท้อง ตามมาด้วยปัญหาหนี้สินที่พอกพูนขึ้นเป็นเงาตามตัว สะท้อนได้จากอัตราการว่างงาน ภาวะหนี้ครัวเรือน และหนี้สาธารณะที่พุ่งทะยานจนแทบมองไม่เห็นอนาคต 

ปี 2564 WAY ได้ร่วมกับ แนวร่วมการเงินที่เป็นธรรมประเทศไทย (Fair Finance Thailand) และองค์กรเครือข่าย ได้แก่ ป่าสาละ, International Rivers, มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค, มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม และมูลนิธิบูรณะนิเวศ เพื่อนำเสนอข้อมูลข่าวสาร บทความ งานวิจัย ว่าด้วยการจัดการหนี้ที่เป็นธรรม ผ่านเว็บไซต์ fairdebtthailand.org, fairfinancethailand.org และแฟนเพจ Fair Finance Thailand

โครงการที่จัดทำขึ้นนี้เพื่อจะชี้ให้สังคมได้รับรู้ว่า การเป็นหนี้ มิใช่เป็นทาส และภาวะการเป็นหนี้ที่เป็นธรรม ไม่ใช่เป็นเรื่องในฝัน แต่สามารถผลักดันให้เกิดขึ้นจริงได้หากมีการจัดการเชิงนโยบายที่เหมาะสม

ประเด็นหลักที่มีการขับเคลื่อนในช่วงขวบปีที่ผ่านมา อาทิ การเสนอแนะแนวทางแก้ปัญหาหนี้สินของลูกหนี้รายย่อยที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เพื่อเยียวยาให้ตรงจุด รวมถึงการผลักดันให้มีการปรับปรุงแก้ไขร่าง พ.ร.บ.ล้มละลาย ฉบับที่ 11 พ.ศ. … เพื่อให้บุคคลธรรมดามีโอกาสเข้าถึงกระบวนการยื่นล้มละลายโดยสมัครใจ และสามารถเริ่มต้นชีวิตใหม่ที่ปราศจากหนี้สินได้อย่างเป็นธรรมมากยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ Fair Finance Thailand ยังได้จัดให้มีการประเมินนโยบายด้านต่างๆ ของสถาบันการเงินไทย เพื่อกระตุ้นให้ภาคธนาคารก้าวสู่แนวคิดและวิถีปฏิบัติของ ‘การธนาคารที่ยั่งยืน’ (sustainable banking) อย่างแท้จริง

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า