สถานการณ์การเมืองไทยยังอยู่ในสายตานานาชาติ

เริ่มต้นปี 2564 ได้ไม่ถึง 2 สัปดาห์ดี ดูเหมือนว่าสถานการณ์การเมืองไทย ยังคงร้อนแรงต่อเนื่อง หลังจากที่มีการออกหมายเรียกนักศึกษา นักเรียน ประชาชนหลายคน ในความผิดเกี่ยวกับการออกมาเคลื่อนไหวขับไล่รัฐบาล ซึ่งเป็นสถานการณ์เด่นตลอดปีที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตามกรณีเดียวกันนี้ก็เกี่ยวโยงไปยังท่าทีของรัฐบาลและองค์กรระหว่างประเทศ ซึ่งยังคงจับตาความเป็นไปในบ้านเมืองเราอย่างใกล้ชิดด้วย โดยล่าสุด มีการเปิดเผย คำชี้แจงของรัฐบาลเยอรมนีและกระทู้ของพรรคกรีนและพรรคฝ่ายซ้าย (Die Linke) ยื่นเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2563 รวม 44 ข้อ เกี่ยวกับ จุดยืนรัฐบาลกลางเยอรมนีต่อสถานการณ์การเมืองในประเทศไทย การปฏิบัติพระราชกรณียกิจอันเป็นที่ถกเถียงกันของพระมหากษัตริย์ไทยในประเทศเยอรมนีและมุมมองของรัฐบาลกลางเยอรมนีในเรื่องนี้

13 มกราคม ที่ผ่านมา สำนักข่าวประชาไทได้รับเอกสารจากคณะทำงานด้านประเทศไทย ของมูลนิธิอาเซียนเฮาส์ (Stiftung Asienhaus) ซึ่งเป็นคำแปลจากภาษาเยอรมันเป็นภาษาไทย และได้รายงานถึงรายละเอียดต่อคำถามของผู้แทนฝ่ายค้านในรัฐสภาเยอรมัน (อ่านเพิ่มเติมที่: เปิด 44 คำถามของพรรคฝ่ายค้านและคำชี้แจงของรัฐบาลเยอรมนี ปม ร.10 ประทับในบาวาเรีย)

ถัดจากนี้ จะเป็นการประมวลสถานการณ์การเมืองไทย จากท่าทีของรัฐบาลและองค์กรระหว่างประเทศต่างๆ ที่ตอบสนองต่อการเคลื่อนไหวขับไล่รัฐบาลของคนหนุ่มสาว ปัญหาการสื่อสารทางการเมืองของรัฐบาลไทย และข้อกังวลต่อการดำเนินคดีกับประชาชนของรัฐบาลไทย โดยจะพบว่ามีความต่อเนื่องไปตามสถานการณ์ที่ผันผวนตลอดปีที่ผ่านมา

การตั้งคำถามต่อบทบาทของพระมหากษัตริย์ไทยในเยอรมนี

ตลอด 3 เดือนแรก (กรกฎาคม-กันยายน) ของการชุมนุมใหญ่ของหนุ่มสาวตั้งแต่ เยาวชนปลดแอก แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม มาจนถึงคณะราษฎร 2563 พบว่านอกจากประเด็นการขับไล่รัฐบาล การเรียกร้องให้รัฐบาลยุติการคุกคามประชาชน และการเรียกร้องให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560

ในวันที่ 7 ตุลาคม 2563 ที่เยอรมนี สส.พรรคกรีนเยอรมัน เริ่มกระบวนการตั้งกระทู้ถาม รมว.การต่างประเทศของเยอรมนี ถึงสถานะของกษัตริย์ไทยในแคว้นบาวาเรีย หลังจากที่พระองค์ใช้เวลาในการประทับอยู่ในเยอรมนีเป็นเวลานาน ขณะที่ในประเทศไทยเองประเด็นในการเคลื่อนไหวของคนหนุ่มสาว เริ่มมีการวิพากษ์วิจารณ์พระราชอำนาจว่าอาจจะไม่เป็นไปตามหลักประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการชุมนุมแบบปักหลักครั้งแรกในวันที่ 13-14 ตุลาคม ของกลุ่มคณะราษฎร ก่อนที่รัฐบาลจะประกาศพระราชกำหนดการบริหารราชการแผ่นดินในสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรง ตามมาด้วยการจับกุมคุมขังแกนนำการชุมนุมหลายคน ในช่วงเวลาดังกล่าว การเคลื่อนไหวที่ยกระดับไปสู่การเคลื่อนไหวแบบไร้แกนนำก็เริ่มขึ้นเกือบทุกวัน

26 ตุลาคม 2563 มวลชนกลุ่มราษฎรเคลื่อนขบวนไปยังสถานทูตเยอรมนีเพื่อยื่นหนังสือให้รัฐบาลเยอรมนีตรวจสอบการใช้พระราชอำนาจของกษัตริย์ไทย โดยมีการอ่านแถลงการณ์หน้าสถานทูตเยอรมนีในหลายภาษา ขณะเดียวกันท่าทีของรัฐบาลเอง ได้มีการประกาศดำเนินคดีกับผู้ชุมนุมต่อเนื่อง

ทูต 5 ประเทศตั้งโต๊ะแถลงข่าวเรียกร้องรัฐบาลไทย

14 พฤศจิกายน 2563 เอกอัครราชทูต 5 ประเทศ ได้แก่ สหรัฐ อังกฤษ เยอรมนี ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย ตั้งโต๊ะแถลงข่าวให้รัฐบาลฟื้นฟูเศรษฐกิจ กรณีเช่นนี้แตกต่างออกไปจากธรรมเนียมการทูตเดิม ซึ่งมีการตั้งข้อสังเกตว่าเหตุใดประเทศมหาอำนาจจึงเลือกใช้วิธีการสื่อสารช่องทางนี้ต่อรัฐบาลไทย อันเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นยาก

19 พฤศจิกายน 2563 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ประกาศบังคับใช้กฎหมายทุกฉบับ ทุกมาตรา มีการดำเนินคดีผู้ชุมนุมทางการเมืองตามมาหลายข้อหา หนึ่งในนั้นคือความผิดประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ก่อนที่จะมีการออกหมายเรียกมวลชนที่ออกมาแสดงออกทางการเมืองด้วยข้อหาดังกล่าวเกือบ 40 คน

แต่ท่าทีของนานาชาติก็เริ่มแหลมคมยิ่งขึ้น โดยเป็นแสดงออกถึงการสนับสนุนการเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยอย่างเปิดเผย พร้อมๆ กับตั้งคำถามต่อรัฐบาลไทยในการดำเนินคดีกับผู้ชุมนุม

การตอบโต้วุฒิสมาชิกสหรัฐ จากวุฒิสมาชิกไทย

3 ธันวาคม 2563 สว.สหรัฐ นำโดย บ็อบ เมเนนเดซ (ฺBob Menendez) วุฒิสมาชิกสหรัฐ รัฐนิวเจอร์ซีย์, แทมมี ดักเวิร์ด (Tammy Duckworth) วุฒิสมาชิกเชื้อสายไทย จากรัฐอิลลินอยส์ เข้าชื่อร่วมกับวุฒิสมาชิกทั้งหมด 8 คน ให้สหรัฐหนุนการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในไทย

เพียง 3 วันถัดมา ในวันที่ 6 ธันวาคม 2563 สามผู้รายงานพิเศษยูเอ็น แสดงความกังวลต่อการดำเนินคดีเยาวชนปลดแอก นักเรียน และผู้ร่วมชุมนุมที่ใช้สิทธิในการชุมนุม รวมถึงการแสดงความเห็นในโลกออนไลน์

อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่ารัฐบาลไทยจะเลือกใช้วิธีการตอบโต้ท่าทีของนานาชาติ แทนการชี้แจงทางการทูต ดังในวันที่ 8 ธันวาคม 2563 วุฒิสมาชิกของไทย 3 คน ได้แก่ พิกุลแก้ว ไกรฤกษ์, สมชาย แสวงการ, เสรี สุวรรณภานนท์ แถลงข่าวที่รัฐสภาโต้วุฒิสมาชิกสหรัฐ ระบุผู้ชุมนุมไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย รัฐบาลจึงมีการดำเนินคดี

ขณะเดียวกัน ไม่เพียงแค่วุฒิสมาชิกไทยเท่านั้น โฆษกรัฐบาลไทยก็ได้ออกมาตอบโต้การเข้าชื่อวุฒิสมาชิกสหรัฐด้วย โดยในวันที่ 9 ธันวาคม 2563 อนุชา บูรพชัยศรี โฆษกรัฐบาล แถลงโต้ สว.สหรัฐ ระบุรัฐบาลไทยยึดมั่นแนวทางประชาธิปไตย เคารพสิทธิเสรีภาพในการชุมนุมและการแสดงออก

28 ธันวาคม 2563 แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ออกแถลงการณ์ถึงทางการไทย เรียกร้องให้ยกเลิกการดำเนินคดีต่อผู้ชุมนุมโดยสงบและผู้ที่สนับสนุนการชุมนุมทั่วประเทศ ซึ่งมีถึง 220 คน ที่ถูกดำเนินคดีและมีเยาวชนร่วมอยู่ด้วย

12 มกราคม 2564 สำนักข่าวบีบีซีรายงานว่า กรณีที่พรรคการเมืองฝ่ายค้านของเยอรมนีตั้งกระทู้กว่า 40 ข้อ ถามรัฐบาลเยอรมนี กรณีข้อสงสัยในการใช้พระราชอำนาจในดินแดนเยอรมนีของกษัตริย์ไทย

น่าติดตามต่อไปว่าสถานการณ์การเมืองไทย ในสายตานานาชาติจะยังดำเนินเช่นนี้ต่อไป หรืออาจจะมีทางคลี่คลายในทางที่ดีขึ้น แต่เมื่อพิจารณาปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่รัฐในการดำเนินคดีกับมวลชนราษฎร อาจจะเป็นคำตอบในเบื้องต้นได้ว่า น่ากังวล

Author

อิทธิพล โคตะมี
อิทธิพลเข้ามาในกองบรรณาธิการ WAY พร้อมตำรารัฐศาสตร์ สังคม การเมือง ถ้อยคำบรรจุคำอธิบายด้านทฤษฎีและวิธีการปฏิบัติ คาแรคเตอร์โดยปกติจะไม่ต่างจากนักวิชาการเคร่งขรึม แต่หลังพระอาทิตย์ตกไปสักพัก อิทธิพลจะเป็นชายผู้อบอุ่นที่โอบกอดมิตรสหายได้ทุกคน

Illustrator

ญาดา พระนคร
เด็กฝึกงานสายกราฟิกจากเชียงใหม่ มีใจรักในการเลี้ยงสัตว์ และปลูกต้นไม้ทุกชนิด ความใฝ่ฝันสูงสุดในชีวิตคือการทำงานด้านกราฟิกควบคู่ไปกับการเปิดสวนสัตว์ และร้านขายต้นไม้

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า