‘มรดกโลก’ น้ำผึ้งไม่หวานหอม

รายงานข่าวที่คณะกรรมการมรดกโลกของยูเนสโก มีมติขึ้นทะเบียน ‘กลุ่มป่าแก่งกระจาน’ ให้เป็น ‘มรดกโลก’[1] เป็นการปรากฏในช่วงเวลาที่รัฐบาลไทยต้องการอย่างยิ่ง

เนื่องจากไม่เพียงช่วยสนับสนุนการโฆษณาถึงผลงานและความสามารถของรัฐบาลแล้ว ยังเป็นความพยายามในการสร้างความรู้สึกภาคภูมิใจให้คนไทยว่า ตนมี ‘มรดกโลก’ อวดชาวโลกเพิ่มอีกหนึ่งชิ้น แต่ในอีกด้านหนึ่งก็เป็นไปได้ว่ารัฐบาลอาจมีความหวังเล็กๆ อันริบหรี่ว่า ข่าวนี้อาจเบนความสนใจและความวิตกกังวลของประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศจากข่าวการแพร่ระบาดของเชื้อโควิดที่ทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ โดยไม่มีทีท่าว่าจะทุเลาลง รวมถึงความโศกเศร้าและความหดหู่จากข่าวการตายของผู้ที่ติดเชื้อที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นทุกวัน ตลอดจนความเสียหายทางเศรษฐกิจที่ยังมิอาจประเมินค่าได้ ตามมาด้วยการว่างงานที่ก็ยังประเมินมิได้เช่นกัน

มิได้ราบรื่นตามที่เป็นข่าว

ทว่า การที่ป่าแก่งกระจานได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกมิใช่เรื่องที่น่ายินดีนัก และมิได้ราบรื่นหรือเป็นข่าวดีอย่างที่รัฐบาลพยายามโชว์ให้เห็น ตรงกันข้าม กลับเต็มได้ด้วยอุปสรรค ความคิดเห็นโต้แย้ง และการต่อต้านจากหลายฝ่ายต่อปัญหาที่รัฐบาลไทยได้สร้างขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการคุกคามและการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อคนกะเหรี่ยง ชนพื้นเมืองที่อาศัยอยู่ในป่าผืนนี้มานานจนกลายเป็น ‘บ้าน’ ของพวกเขา

ผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชนบางคน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มผู้เชี่ยวชาญของยูเอ็นที่เรียกว่า Special Rapporteurs ได้ยื่นจดหมายผ่านทางเว็บไซต์ ขอให้คณะกรรมการมรดกโลกของยูเนสโกเลื่อนการประกาศให้ป่าแก่งกระจานเป็นมรดกโลก ด้วยเหตุผลว่ามีการละเมิดสิทธิคนกะเหรี่ยงที่อาศัยอยู่ในป่าผืนนี้ ผู้เชี่ยวชาญกลุ่มนี้ได้พาดพิงถึงกรณีที่คนกะเหรี่ยงถูกขับไล่ออกจากถิ่นฐานของตน บ้านเรือนถูกเผาทำลาย ผู้นำกะเหรี่ยงถูกสังหาร ไปจนถึงการที่คนกะเหรี่ยงมากกว่า 80 คน รวมทั้งผู้หญิงและเด็ก ถูกจับกุมเมื่อปีที่แล้ว

ในจดหมายยังระบุอีกว่า รัฐบาลไทยไม่ได้ขอให้ชุมชนกะเหรี่ยงเข้าร่วมปรึกษาหารือเกี่ยวกับการขอให้ป่าแก่งกระจานเป็นมรดกโลก พร้อมทั้งเรียกร้องให้รัฐบาลไทยยุติการคุกคามคนกะเหรี่ยง ซึ่งเป็นผู้พิทักษ์สภาวะแวดล้อมทางธรรมชาติ และให้รัฐบาลเปิดการสนทนากับคนกะเหรี่ยง ยอมรับถึงบทบาทของพวกเขาในฐานะผู้พิทักษ์ธรรมชาติ และทำงานร่วมกับพวกเขา แทนที่จะกระทำต่อพวกเขาเสมือนเป็นศัตรูที่เป็นภัยอันตราย นอกจากนี้ รัฐบาลไทยยังได้ปฏิเสธ ไม่อนุญาตให้ผู้ประเมินอิสระเข้าไปในเขตอนุรักษ์ฯ เพื่อตรวจสอบหาข้อเท็จจริง

ผู้เชี่ยวชาญกลุ่มนี้ยังกล่าวอีกว่า พวกตนได้แสดงความกังวลและห่วงใยในเรื่องนี้ต่อรัฐบาลไทยและคณะกรรมการมรดกโลกของยูเนสโกหลายต่อหลายครั้งนับตั้งแต่ปี 2019 จึงถึงเวลาแล้วที่รัฐบาลไทยและคณะกรรมการมรดกโลกจะต้องปฏิบัติตามข้อบังคับทั้งหลายเพื่อปกป้องชนพื้นเมือง[2]

สิ่งที่น่าสนใจอีกประการหนึ่ง คือรายงานของ Special Rapporteurs ลงวันที่ 20 เมษายน 2020 ที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนคนกะเหรี่ยงในป่าแก่งกระจาน ผู้ที่สนใจสามารถอ่านรายละเอียดได้ที่เว็บไซต์ spcommreports.ohchr.org 

แน่นอน ไม่ต้องแปลกใจที่สื่อไทยส่วนใหญ่จะไม่รายงานเรื่องราวเหล่านี้ และรัฐบาลไทยจะไม่พาดพิงถึง แต่ปัญหาและข้อทักท้วงของผู้เชี่ยวชาญก็ไม่ได้อันตรธานหายไปเช่นกัน ตรงกันข้าม อาจนำไปสู่ผลลัพธ์ที่มิพึงปรารถนาในอนาคตก็ได้

ภาพ: สำนักข่าวชายขอบ

ผลลัพธ์ที่คาดไม่ถึง

ไม่มีใครปฏิเสธว่าสถานภาพของการเป็นมรดกโลกอาจนำไปสู่ผลประโยชน์หลายประการ นับตั้งแต่เรื่องชื่อเสียงของประเทศ เพราะเป็นเกียรติยศที่ทั่วโลกยอมรับ เป็นที่รู้จัก และยังดึงดูดผู้คนจากประเทศต่างๆ ให้เข้ามาเยี่ยมชม สร้างรายได้จากการท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวข้อง รวมไปถึงการจ้างงานในภาคบริการและส่วนอื่นๆ นอกจากนี้ การลงทุนจากภายนอกประเทศก็จะหลั่งไหลเข้ามา และมีความเป็นไปได้ที่จะได้รับความช่วยเหลือจากนานาชาติ ซึ่งปกติก็มิได้มากมายอะไร อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดนี้หมายถึงเงินจำนวนมหาศาลที่เข้าสู่ประเทศ จึงไม่น่าแปลกใจที่ประเทศต่างๆ ไม่ว่าจะรวยหรือจน ล้วนปรารถนาที่จะได้สถานภาพนี้จากยูเนสโก

ทว่าการเป็นมรดกโลกมีราคาที่ต้องจ่าย และในหลายกรณีก็ดูจะไม่คุ้มกับเงินทองหรือสิ่งอื่นๆ ที่ได้มา

หนึ่งในตัวอย่างที่ดีของราคาที่ต้องจ่ายคือ ความไม่พร้อมในการรับมือต่อการทะลักเข้ามาของนักท่องเที่ยว ในหลายกรณีพบว่าจำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้าไปเที่ยวและชมมรดกโลกมีจำนวนมากกว่าที่ได้คาดคะเนไว้ นำไปสู่ปัญหาต่างๆ เช่น การจราจรติดขัด การจัดการด้านมลภาวะที่ไร้ประสิทธิภาพ (ขยะมูลฝอยล้นเกินและมลภาวะทางเสียง [เสียงดังโหวกเหวกของนักท่องเที่ยว แม่ค้าและคนอาชีพต่างๆ] เป็นตัวอย่างที่ชัดเจน) รวมถึงปัญหาอาชญากรรม

นอกจากความไม่พร้อมในการรับมือกับนักท่องเที่ยวแล้ว ยังมีคำวิจารณ์ต่อสิ่งที่เรียกว่า Unescoization ที่มีคนแปลเป็นภาษาไทยว่า ‘พื้นที่ยูเนสโก’ โดยนักมานุษยวิทยานาม เดวิด เบอร์ลิเนอร์ (David Berliner) ผู้ศึกษาการท่องเที่ยวในเมืองหลวงพระบาง ได้วิพากษ์นโยบายของยูเนสโกว่ามีความลักลั่น นำไปสู่ผลลัพธ์ของการพัฒนาที่ไม่สมดุล ทำให้ความสำคัญของหลวงพระบางในฐานะที่เป็นพื้นที่ยูเนสโกขาดๆ แหว่งๆ อันสืบเนื่องมาจากเป็นการพัฒนาด้านการท่องเที่ยวที่วางอยู่บนขนบหรือจารีตที่เป็นอุดมคติ ทำให้ละเลย ไม่สนใจที่จะกล่าวถึงเรื่องราวบางเรื่อง หรือบางเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ที่มีความสำคัญ เช่น สงครามเวียดนามและยุคสมัยที่เป็นอาณานิคม

อีกหนึ่งตัวอย่างคือ กรณีของบริเวณที่เรียกว่า Casco Viejo ในนครปานามา ถูกประกาศให้เป็นมรดกโลกในปี 1997 ซึ่งในเวลานั้นพื้นที่นี้เป็นย่านคนจนที่ทรุดโทรม แต่พอได้รับสถานภาพดังกล่าวจากยูเนสโกก็เกิดการพัฒนาพื้นที่ ส่งผลให้เกิดการผลักดันผู้ที่อยู่อาศัยแต่เดิมที่มีฐานะยากจนออกจากย่านนี้  เกิดการปรับปรุงพื้นที่และสิ่งต่างๆ เพื่อให้สอดคล้องเหมาะสมกับการท่องเที่ยว 

Casco Viejo

ปัจจุบันผู้ที่อาศัยอยู่ในย่านนี้ส่วนใหญ่เป็นชาวต่างชาติที่ร่ำรวย ผู้มีความสามารถในการซื้ออาคารสมัยอาณานิคมทั้งหลายมาปรับปรุงแล้วขายต่อบางส่วนเพื่อทำกำไร และการท่องเที่ยวในนครปานามาก็รุ่งเรืองขึ้นนับตั้งแต่ได้กลายเป็นมรดกโลก ในขณะที่ความไม่เท่าเทียมกันทางสังคม-เศรษฐกิจก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน[3] เป็นความเหลื่อมล้ำระหว่างคนรวยและคนจนที่ชัดเจนยิ่งขึ้น 

ได้มาแล้วก็สูญเสียได้

ปัญหาสำคัญอีกประการหนึ่งคือ มีความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องว่าสถานภาพของการเป็นมรดกโลกเป็นการให้อย่างถาวร เพราะในความเป็นจริง มีกฎเกณฑ์บางประการที่ประเทศทั้งหลายที่ได้รับสถานภาพนี้ต้องปฏิบัติตาม เพื่อปกป้องและดูแลรักษาบริเวณที่ประกาศให้เป็นมรดกโลกให้มีสภาพตามที่ได้บัญญัติไว้ ซึ่งรวมถึงข้อห้ามในการกระทำใดๆ อันจะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของบริเวณดังกล่าว หากประเทศใดล้มเหลวที่จะปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ของยูเนสโกก็จะ “ถูกลบออกจากรายชื่อของมรดกโลก” (delisted) ในที่สุด

แต่ก่อนที่จะถูกลบออกจากรายชื่อของมรดกโลก ประเทศที่ได้รับสถานภาพของการเป็นมรดกโลกแต่ปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ล้มเหลว จะได้รับ ‘คำเตือน’ จากยูเนสโกก่อน เช่น กรณีที่ประเทศเปรูได้รับคำเตือนหลายครั้ง เพราะรัฐบาลเปรูปล่อยปละละเลย ทำให้มาชูปิกชู (Machu Picchu) ซากเมืองโบราณอารยธรรมของชาวอินคาที่ถูกประกาศให้เป็นมรดกโลก ถูกคุกคามทั้งจากจำนวนนักท่องเที่ยวที่มีมากจนเกินไป ปัญหาดินถล่ม และน้ำท่วม

Machu Picchu

หลังจากได้รับคำเตือนจากยูเนสโก ถ้าประเทศนั้นแก้ไขปัญหาล้มเหลวก็จะถูกบันทึกลงในรายชื่อมรดกโลกในกลุ่มภาวะอันตราย หรือที่รู้จักกันอย่างสั้นๆ ว่า รายชื่ออันตราย (danger list) ซึ่งจำนวนไม่น้อยในรายชื่อนี้เป็นพื้นที่ที่ถูกคุกคามจากอันตรายและมีความเฉพาะ เช่น อันตรายจากความขัดแย้งด้วยการใช้อาวุธ การก่อสร้าง ภัยพิบัติทางธรรมชาติ การเสื่อมสภาพของพื้นดิน หรือการปล่อยทิ้งพื้นที่ให้รกร้าง ขาดการดูแล เป็นต้น มรดกโลกที่อยู่ในรายชื่ออันตรายอยู่ในการพิจารณาและการตัดสินของคณะกรรมการมรดกโลก ไม่ใช่ยูเนสโก

ไม่น่าแปลกใจว่ารัฐบาลของประเทศที่ได้รับสถานภาพของการเป็นมรดกโลกจะต่อต้านการถูกจัดอยู่ในรายชื่ออันตราย ด้วยเกรงว่าจะส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวของประเทศ จึงพยายามทุกวิถีทางให้ประเทศของตนถูกลบออกจากบัญชีรายชื่อนี้

อย่างไรก็ตาม หากประเทศใดยังติดอยู่ในรายชื่ออันตรายและปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ของยูเนสโกล้มเหลว จะถูกจัดการด้วยมาตรการขั้นสุดท้าย ซึ่งถือเป็นการลงโทษ นั่นคือการถูกลบชื่อประเทศออกจากรายชื่อของมรดกโลก[4]

ผลของการถูกลบออกจากรายชื่อมรดกโลก

ผลลัพธ์จากการถูกลบออกจากรายชื่อของมรดกโลกมีหลายประการ และแนวโน้มในเชิงลบอาจส่งผลกระทบต่อเรื่องอื่นๆ โดยมิได้คาดคิด บ่อยครั้งเป็นผลกระทบที่ขาดแผนการรองรับ

กรณีตัวอย่างล่าสุดของการถูกลบออกจากรายชื่อของมรดกโลก คือเมืองลิเวอร์พูล ประเทศอังกฤษ เคยได้รับสถานภาพของการเป็นมรดกโลกในปี 2004 หรือเมื่อ 17 ปีก่อน เพราะมีชื่อเสียงว่าเป็นเมืองที่มีบริเวณเขื่อนริมน้ำ (waterfront) สวยงามมาก สาเหตุหลักที่ลิเวอร์พูลถูกลบออกจากรายชื่อของมรดกโลกเกี่ยวข้องกับโครงการพัฒนาบริเวณเขื่อนริมน้ำ ประเมินกันว่ามีวงเงินถึง 7,000 ล้านดอลลาร์ ครอบคลุมโครงการก่อสร้างอพาร์ตเมนต์หรูหราและอาคารสูงระฟ้า จนก่อให้เกิดความกังวลว่าจะทำลายทัศนียภาพอันงดงามของเส้นขอบฟ้าและสถาปัตยกรรมของเมือง

ทว่าความสวยงามของทัศนียภาพทางธรรมชาติและทางสถาปัตยกรรมมิใช่ปัญหาเดียว สิ่งที่ตามมาทันทีคือปัญหาทางการเมืองภายในเทศบาลเมือง เมื่อผู้นำพรรคฝ่ายค้านในสภาเทศบาลเมืองลิเวอร์พูลเขียนแสดงความคิดเห็นในทวิตเตอร์ กรณีถูกยูเนสโกลบออกจากรายชื่อของมรดกโลกว่าเป็น “วันแห่งความน่าอับอายของเมืองลิเวอร์พูล”

ส่วนนายกเทศมนตรีเมืองก็แถลงว่าเธอ “รู้สึกผิดหวังและเป็นกังวลอย่างยิ่ง” เพราะอาจส่งผลกระทบต่อการลงทุนจำนวนมหาศาล ซึ่งไม่เพียงแต่เกี่ยวข้องกับการจ้างงานเท่านั้น หากยังหมายถึงความสูญเสียโอกาสทางเศรษฐกิจต่างๆ เมื่อถูกลบออกจากรายชื่อของมรดกโลก จึงไม่น่าแปลกใจที่เธอกล่าวว่าจะทำงานร่วมกับรัฐบาล เพื่อพิจารณาว่าจะสามารถยื่นอุทธรณ์ต่อยูเนสโกให้ทบทวนในเรื่องนี้ได้หรือไม่

ในขณะที่สมาชิกสภาเทศบาลผู้หนึ่งแสดงความรู้สึกผิดหวังคับข้องใจ และกล่าวว่าการตัดสินใจครั้งนี้ของยูเนสโกเกิดขึ้นในช่วงที่เมืองกำลังประสบความทุกข์ยาก เพราะการว่างงานที่เพิ่มขึ้นเป็นสถิติสูงที่สุดในประเทศ อันเป็นผลจากการล็อคดาวน์ครั้งแรก[5]

เมืองลิเวอร์พูลเป็นกรณีตัวอย่างที่สะท้อนถึงนัยเชิงลบของการถูกลบออกจากรายชื่อของมรดกโลก ซึ่งอาจก่อให้เกิดผลกระทบในหลายด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านเศรษฐกิจ อันอาจหมายถึงการสูญเสียการลงทุน และกระทบต่อการว่าจ้างงานและโอกาสทางเศรษฐกิจอื่นๆ ที่อาจก่อให้เกิดความลำบากยากแค้นของผู้คนจำนวนมาก และต่อสังคมทั่วไป

รายงานข่าวเรื่องเมืองลิเวอร์พูลถูกลบออกจากรายชื่อมรดกโลก ทำให้ผมนึกถึงเรื่องป่าแก่งกระจานและโครงการไทยไดมอนด์ซิตี้ แก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี ที่โฆษณาว่าจะเป็น “ศูนย์นิคมอุตสาหกรรมด้านการบริการและการท่องเที่ยวแห่งแรกของไทยที่ให้บริการท่องเที่ยว พร้อมที่ประกอบอาชีพ” บนเนื้อที่กว่า 35,000 ไร่ ซึ่งผมเคยพาดพิงถึงในงานเขียนที่เผยแพร่ไปแล้ว[6] ทั้งนี้ เพราะผมมีความกังวลอยู่สองประการ

ประการแรก ผมไม่สามารถค้นหาข้อมูลและรายละเอียดของโครงการนี้ จึงไม่ทราบว่าเป็นโครงการที่เป็นเพียงไอเดียคร่าวๆ หรืออยู่ในแผนงานที่จะมีการดำเนินการอย่างจริงจังในอนาคต หากเป็นประการหลัง ก็ควรมีข้อมูลและรายละเอียดของแผนงานที่เปิดเผยให้สาธารณชนได้รับรู้ 

ประการที่สอง ถ้าโครงการนี้เกิดขึ้นจริง มีการก่อสร้างอาคารและสิ่งก่อสร้างต่างๆ อย่างมโหฬารเช่นที่โฆษณาไว้ ก็ควรที่จะคิดทบทวนไตร่ตรองให้รอบคอบ ว่าโครงการนี้จะขัดกับกฎเกณฑ์ของยูเนสโกในเรื่องการเป็นมรดกโลกหรือไม่ เพราะหากขัดกับกฎเกณฑ์ดังกล่าว ยูเนสโกคงมี ‘คำเตือน’ หรือแม้แต่สั่งให้ระงับการก่อสร้าง และหากไม่ปฏิบัติตามก็มีความเป็นไปได้อย่างมากว่าป่าแก่งกระจานจะถูกลบออกจากรายชื่อมรดกโลก เหมือนที่เมืองลิเวอร์พูลต้องประสบ ซึ่งจะสร้างความเสียหายอย่างมากมายต่อประเทศไทย

ประโยชน์ร่วมกับชนพื้นเมือง

โดยส่วนตัว ผมไม่ขัดแย้งกับการเป็นมรดกโลก เพราะมีผลดีของประเทศหลายประการ แต่สถานภาพนี้ก็มีข้อจำกัดมากมายทีเดียว คำถามคือมีทางเลือกอื่นๆ หรือไม่ในการส่งเสริมการท่องเที่ยว การสร้างงานและธุรกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ในขณะเดียวกันก็ให้ชนกลุ่มต่างๆ ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เข้ามามีส่วนร่วม สร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างรัฐบาลและผู้คนเหล่านั้นด้วยการทำความเข้าใจชีวิตและวัฒนธรรมของพวกเขา และให้ความเคารพในอัตลักษณ์ของพวกเขาที่อาจแตกต่างจากเรา

ในงานเขียนเรื่อง แม่น้ำคือบุคคล การคืนอำนาจให้ชนพื้นเมือง ผมกล่าวถึงกรณีที่รัฐบาลนิวซีแลนด์ออกกฎหมายฉบับใหม่ที่รับรองสถานภาพของแม่น้ำวังกานูอิว่าเป็น ‘บุคคล’ มีสิทธิทางกฎหมายเช่นเดียวกับบุคคลหนึ่งที่สามารถใช้สิทธิของตนในกระบวนการพิจารณาในชั้นศาลได้ (ในแง่หนึ่ง แม่น้ำสายนี้จึงมีฐานะเทียบเท่าสิ่งมีชีวิต มีนัยของการมีชีวิตอยู่เฉกเช่นบุคคลในทางกฎหมาย) อย่างไรก็ตาม ในความเป็นจริงแม่น้ำไม่สามารถทำการใดๆ ได้ด้วยตนเอง ดังนั้น กฎหมายฉบับนี้จึงระบุให้มี ‘ผู้พิทักษ์คุ้มครอง’ สองคน คนหนึ่งเป็นตัวแทนเจ้าหน้าที่รัฐ อีกคนหนึ่งเป็นชนพื้นเมืองเมารี ปฏิบัติหน้าที่แทนและปกป้องผลประโยชน์ของแม่น้ำสายนี้ โดยต้องเข้าใจและตระหนักว่าคนเมารีที่อาศัยอยู่ตามลำน้ำเชื่อว่าแม่น้ำวังกานูอิมีความศักดิ์สิทธิ์ จึงมีความผูกพันเชิงจิตวิญญาณที่ลึกล้ำกับแม่น้ำสายนี้ แม่น้ำและคนเมารีจึงเป็นหนึ่งเดียวกัน ไม่สามารถแยกออกจากกันได้ 

ด้วยเหตุนี้ การกระทำใดๆ ที่มีต่อแม่น้ำจะต้องคำนึงถึงระบบนิเวศทั้งมวล ไม่ว่าจะเป็นองค์ประกอบทางกายภาพ แม่น้ำ จิตวิญญาณ รวมถึงผู้คนและชุมชน ล้วนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน มีจุดมุ่งหมายร่วมกัน จึงต้องคำนึงถึงสุขภาพและความผาสุกของสภาพแวดล้อม สังคม วัฒนธรรม เศรษฐกิจของแม่น้ำและผู้คนที่พึ่งพิงลำน้ำสายนี้ ความสัมพันธ์ระหว่างแม่น้ำและผู้คนเป็น ‘คุณค่าแท้จริง’ ที่กำหนดให้ความผูกพันระหว่างทั้งสอง และคนเมารีมีความรับผิดชอบในการปกป้องผลประโยชน์ของแม่น้ำ และผลประโยชน์ของคนรุ่นต่อไป[7]

อันที่จริง นิวซีแลนด์ในปัจจุบันมีสถานที่ที่อยู่ในรายชื่อมรดกโลก 3 แห่ง ได้แก่ Te Wahipounamu – South West New Zealand, Tongariro National Park และ Subantarctic Islands ทั้ง 3 แห่งมีทิวทัศน์ตามธรรมชาติที่งดงาม นอกจากมีคุณค่าอันประเมินค่ามิได้ในด้านระบบนิเวศของประเทศแล้ว ยังเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สร้างรายได้มหาศาลอีกด้วย[8]

ที่น่าสนใจคือรัฐบาลนิวซีแลนด์ให้ความสำคัญต่อคนเมารี ชนพื้นเมืองของประเทศอยู่เสมอ การออกกฎหมายรับรองสถานะการเป็นบุคคลของแม่น้ำวังกาอูนิเป็นตัวอย่างที่ดีในเรื่องนี้ แต่การให้ความสำคัญและความเคารพต่อคนเมารีไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้น หากมีมานานนับศตวรรษแล้ว

Tongariro National Park

Tongariro National Park หนึ่งในมรดกโลกของประเทศ เป็นอุทยานแห่งชาติที่มีประวัติความเป็นมาน่าสนใจมาก ที่นี่เป็นเทือกเขาที่มียอดเขาเป็นปากปล่องภูเขาไฟ 3 ปล่อง และเป็นสถานที่ที่คนเมารีเผ่า Ngāti Tuwharetoa เชื่อว่ามีความศักดิ์สิทธิ์ จึงให้ความเคารพอย่างยิ่ง มีบันทึกประวัติของอุทยานฯ ว่าในช่วงทศวรรษ 1880 รัฐบาลนิวซีแลนด์ ภายใต้พระราชอำนาจของราชินีวิคตอเรีย (The Crown) ปรารถนาจะจัดทำอุทยานแห่งชาติในบริเวณเทือกเขาแห่งนี้ จนกระทั่งปี 1887 หัวหน้าเผ่าเมารีได้ยกพื้นที่ในบริเวณเทือกเขาแห่งนี้ให้รัฐบาลเพื่อเป็นอุทยานแห่งชาติ โดยมีการทำความเข้าใจและข้อตกลงร่วมกันระหว่างรัฐบาลและคนเมารีว่า พื้นที่แห่งนี้เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ การกระทำใดๆ ก็ตามต้องกระทำด้วยความเคารพ และให้คนเมารีมีฐานะเป็นผู้พิทักษ์คุ้มครองเทือกเขาแห่งนี้

ในปี 1993 อุทยานแห่งชาติตองการิโรถูกประกาศให้เป็นมรดกโลก และเป็นแห่งแรกในโลกที่ได้รับการจัดประเภทตาม Dual World Heritage ของยูเนสโก นั่นคือเป็นมรดกโลกทั้งในด้านธรรมชาติและวัฒนธรรม มีคุณลักษณะของภูมิทัศน์เชิงวัฒนธรรม (cultural landscapes) ให้ความสำคัญต่อชนพื้นเมืองของประเทศ

เรียนรู้ คิดใหม่

ผมคิดว่าจำเป็นอย่างยิ่งที่รัฐบาลไทยต้องรับรู้สิ่งใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นในประเทศอื่น เรียนรู้จากประสบการณ์ของสังคมอื่น เพื่อพัฒนาความคิดใหม่ๆ มิใช่กรอบความคิดเดิมๆ ที่จำกัดอยู่เพียงเรื่องชาติและชาติไทย ความเป็นไทย และการมีวัฒนธรรมไทยเป็นวัฒนธรรมหนึ่งเดียวของสังคมประเทศ หันมาให้ความสนใจและความสำคัญต่อชนต่างชาติพันธุ์กลุ่มอื่นๆ รวมทั้งชนพื้นเมือง (และคนกะเหรี่ยงบางกลอยที่อาศัยอยู่ในป่าแก่งกระจานก็เป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่เป็นชนพื้นเมือง) โดยอาจใช้นิวซีแลนด์เป็นตัวอย่าง เรียนรู้จากประสบการณ์ของประเทศที่ให้ความสำคัญและความเคารพต่อชนพื้นเมือง เข้าใจชีวิต ขนบธรรมเนียมปฏิบัติและความเชื่อของคนเมารี เพราะนอกจากจะเป็นการสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างรัฐบาลกับชนพื้นเมืองแล้ว ยังทำให้เกิดประโยชน์ร่วมกันอีกด้วย

การสร้างสรรค์แบบนิวซีแลนด์เป็นตัวอย่างที่ดี สังคมควรเรียนรู้หรือแม้แต่เลียนแบบ เพื่อการมีชีวิตร่วมกันอย่างสงบสุข มีผลประโยชน์และความผาสุกร่วมกันระหว่างทุกฝ่ายในสังคม และต้องหลีกเลี่ยงการกระทำต่างๆ ที่เคยปฏิบัติมาในอดีต ไม่ว่าจะเป็นการข่มขู่คุกคาม การขับไล่ผู้คนออกจากบ้านเรือนของพวกเขา การเผาบ้านเรือน รวมไปถึงการจับกุมด้วยข้อหาต่างๆ หรือการละเมิดสิทธิมนุษยชนในลักษณะอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การบังคับให้สูญหาย


เชิงอรรถ

[1] มีหลายสำนักข่าวที่รายงานเรื่องนี้ เช่น กรุงเทพธุรกิจ, “‘กลุ่มป่าแก่งกระจาน’ ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็น ‘มรดกโลก’”, 26 กรกฎาคม 2564, <https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/951146> และ Matichon Online, “ไทยเฮ ยูเนสโก ขึ้นทะเบียน แก่งกระจานเป็นมรดกโลก”, วันที่ 26 กรกฎาคม 2564,<https://www.matichon.co.th/local/quality-life/news_2850838

[2] ดู “Thailand: UN experts warn against heritage status for Kaeng Krachan national park”, 23 July 2021, <https://www.ohchr.org/SP/NewsEvents/Pages/DisplayNews.aspx?NewsID=27333&LangID=E>

ผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชนที่ว่านี้ประกอบด้วยบุคคล 3 คน ได้แก่ José Francisco Cali Tzay เป็นชนพื้นเมือง Maya Kaqchikel จากประเทศกัวเตมาลา มีประสบการณ์ในการปกป้องสิทธิของชนพื้นเมือง ทั้งในกัวเตมาลา ในระดับของยูเอ็น และชนพื้นเมืองอเมริกา (Organization of American States, OAS) และเป็นอาจารย์สอนกฎหมายที่มหาวิทยาลัยแอริโซนา, David R. Boyd รองศาสตราจารย์ด้านกฎหมายชาวแคนาดาที่มหาวิทยาลัยบริติชโคลัมเบีย และ Mary Lawlor ชาวไอร์แลนด์ เป็นรองศาสตราจารย์ด้านธุรกิจและสิทธิมนุษยชนที่ Centre for Social Innovation (CSI), Trinity College Dublin Business School

นอกจากนี้ Special Rapporteurs เป็นส่วนหนึ่งของ Special Procedures of the Human Rights Council ซึ่งเป็นกลุ่มกลุ่มผู้เชี่ยวชาญอิสระในด้านสิทธิมนุษยชนของยูเอ็น มีหน้าที่สืบสวน ตรวจสอบ และประเมินผลด้านสิทธิมนุษยชนทั่วโลก กลุ่มผู้เชี่ยวชาญเหล่านี้ทำงานในฐานะอาสาสมัคร มิใช่บุคลากรของยูเอ็นและไม่ได้รับเงินเดือนจากยูเอ็น อีกทั้งพวกเขามิได้ขึ้นต่อรัฐบาล องค์กร หรือหน่วยงานใดๆ จึงมีความสามารถทำงานได้อย่างอิสระ

[3] Chloé Maurel, “The unintended consequences of UNESCO world heritage listing”, The Conversation. Academic rigour, journalistic flair, January 11, 2017 (translated from the French by Alice Heathwood for Fast for Word), <https://theconversation.com/the-unintended-consequences-of-unesco-world-heritage-listing-71047

[4] Monica Buchanan Pitrelli, “Being named a UNESCO World Heritage site is a big deal — so is losing it”, CNBC Travel, April 27, 2021, <https://www.cnbc.com/2021/04/27/unesco-world-heritage-list-what-it-takes-to-make-and-lose-site-status.html>

[5] Aina J. Khan, “Liverpool Loses Its UNESCO World Heritage Status”, The New York Times, July 21, 2021, <https://www.nytimes.com/2021/07/21/world/europe/liverpool-unesco-world-heritage-status.html>

[6] ดู นิติ ภวัครพันธุ์, “แม่น้ำคือบุคคล การคืนอำนาจให้ชนพื้นเมือง”, WAY Magazine, 2 March, 2021, <https://waymagazine.org/river-as-a-person/

[7] อ้างแล้ว – ซึ่งมีรายละเอียดต่างๆ อีกมากมาย

[8] ดู “World Heritage New Zealand”, <https://www.newzealand.com/int/feature/world-heritage-new-zealand/> และ “World Heritage Sites”, <https://media.newzealand.com/en/story-ideas/world-heritage-sites/>

นิติ ภวัครพันธุ์
ศาสตราจารย์ด้านมานุษยวิทยา สถานที่ทำงานสุดท้ายคือคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปัจจุบันเขียนหนังสือด้านสังคม-วัฒนธรรม และผู้คนต่างกลุ่มชาติพันธุ์ ผลงานรวมเล่ม ได้แก่ ชวนถก ชาติและชาติพันธุ์, เรื่องเล่าเมืองไต พลวัตของเมืองชายแดนไทย-พม่า เป็นต้น และเป็นคอลัมนิสต์ให้สื่อออนไลน์

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า