มรดกโลก ‘แก่งกระจาน’ ฟังเสียงนานาชาติต่อจุดยืนด้านสิทธิมนุษยชน

เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคมที่ผ่านมา คณะกรรมการมรดกโลก ได้จัดประชุมครั้งที่ 44 ผ่านระบบทางไกล โดยมีสาธารณรัฐประชาชนจีนเป็นเจ้าภาพหลัก ในวาระการประชุมมีการพิจารณาเพื่อผลักดันให้ ‘พื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจาน’ ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก ซึ่งในท้ายที่สุด คณะกรรมการมรดกโลกก็ได้มีมติ ‘เห็นชอบ’ ให้พื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจานขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกแห่งที่ 6 ของประเทศไทย และนับเป็นแหล่งมรดกโลกทางธรรมชาติแห่งที่ 3 นับตั้งแต่มีการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร-ห้วยขาแข้ง ในปี พ.ศ. 2534 และกลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ ในปี พ.ศ. 2548

ขณะที่ในช่วงเช้าวันเดียวกันนี้เอง ทางภาคี #saveบางกลอย ได้มีการนัดรวมพลกันที่ด้านหน้าสถานทูตจีน เนื่องจากประเทศจีนเป็นเจ้าภาพในการประชุม อีกทั้งยังเป็นหนึ่งในประเทศที่ออกตัวสนับสนุนให้แก่งกระจานขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก โดยนักกิจกรรมจากภาคี #saveบางกลอย ได้มีการขึ้นป้าย ‘มรดกโลก มรดกเลือด’ พร้อมกับจัดกิจกรรมแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ เพื่อเรียกร้องให้มีการเลื่อนพิจารณาแก่งกระจานเป็นมรดกโลก เนื่องจากยังคงมีประเด็นความขัดแย้งในเรื่องกลุ่มชาติพันธุ์ที่อยู่อาศัยในพื้นที่มาเป็นระยะเวลายาวนาน รวมถึงมีข้อกังวลเกี่ยวกับเรื่องสิทธิมนุษยชน

การประชุมพิจารณาให้แก่งกระจานขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก ได้เริ่มต้นจากนำเสนอรายงานขององค์กรระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (International Union for Conservation of Nature หรือ IUCN) โดยระบุว่าทางองค์กรได้รับข้อมูล เอกสาร การลงชื่อ รวมถึงจดหมายหลากหลายฉบับ ไม่ว่าจะเป็นจากองค์กรระหว่างประเทศ องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนของ UN องค์กรด้านสิ่งแวดล้อม องค์กรที่เกี่ยวข้องกับชนพื้นเมือง ฯลฯ ที่มีเนื้อหาแสดงความกังวลเกี่ยวกับการธำรงอยู่ของชนพื้นเมืองที่อาศัยอยู่ในพื้นที่แก่งกระจาน รวมถึงปัญหาการถูกบังคับให้สูญหายของชาวกะเหรี่ยงบางกลอย อันเป็นสิ่งที่ขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชน 

โดยในอดีตที่ผ่านมา ประเทศไทยได้มีความพยายามยื่นเรื่องนำเสนอให้แก่งกระจานเป็นมรดกโลกถึง 3 ครั้งด้วยกัน คือ ในปี พ.ศ. 2558, 2559 และ 2562 และครั้งนี้ก็เป็นอีกครั้งที่ทางรัฐบาลไทยพยายามผลักดันประเด็นนี้ โดยในการพิจารณานั้น ทาง IUCN ได้ระบุถึงขนาดของพื้นที่ป่าแก่งกระจาน รวมถึงความหลากหลายทางชีวภาพที่มีความสำคัญ อย่างไรก็ตาม ปัญหาเรื่องการจัดการแบ่งเขตพื้นที่ และปัญหาเรื่องชนพื้นเมืองยังคงไม่ได้รับการแก้ไข ดังนั้น IUCN จึงมีความเห็นว่า ควรเลื่อนการพิจารณาการขึ้นทะเบียนออกไปในภายหลัง

อย่างไรก็ตาม ท้ายที่สุดผู้แทนจากหลากหลายประเทศได้ลงมติเห็นชอบให้แก่งกระจานได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก อาทิ จีน รัสเซีย อียิปต์ โอมาน ซาอุดีอาระเบีย แอฟริกาใต้ มาลี ไนจีเรีย และเอธิโอเปีย โดยตัวแทนจากรัสเซีย เผยว่า รัฐบาลไทยมีความพยายามในการผลักดันประเด็นนี้มาตลอดระยะเวลากว่า 7 ปี และมีความเห็นว่า ควรอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่ป่า 

จากนั้นมีการเปิดเวทีให้รัฐภาคีต่างๆ แสดงความเห็น โดยตัวแทนจากนอร์เวย์ให้ข้อเสนอแนะว่า นอร์เวย์ตระหนักถึงความสำคัญของพื้นที่ป่าแก่งกระจานที่มีความอุดมสมบูรณ์ รวมถึงศักยภาพที่พื้นที่ป่าแห่งนี้สมควรได้รับการยกย่องให้ขึ้นเป็นมรดกของโลก อย่างไรก็ตาม นอร์เวย์ต้องการให้ทางรัฐบาลไทยให้ความสำคัญกับปัญหาความขัดแย้งที่ยังคงไม่ได้รับการแก้ไข เพื่อนำมาเป็นปัจจัยหนึ่งในการพิจารณาครั้งนี้ด้วยเช่นกัน เนื่องจากหลักสิทธิมนุษยชนของ UN ย่อมมีความข้องเกี่ยวกันกับระบบการพิจารณาการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และได้เสนอแนะให้ที่ประชุมเปิดโอกาสให้ผู้แทนพิเศษด้านชนเผ่าพื้นเมืองได้ขึ้นกล่าวก่อน ซึ่งเป็นการแสดงให้เห็นว่า ผู้แทนจากประเทศนอร์เวย์ให้เกียรติและคำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชนของชนพื้นเมือง อีกทั้งตัวแทนจากสเปนก็เห็นด้วยกับข้อเสนอแนะนี้

ต่อมา ตัวแทนจากหลากหลายประเทศ รวมถึง นายเทียน ซื่อเจิน (Tian Xuejun) ประธานคณะกรรมการมรดกโลกในการประชุมครั้งนี้ ได้ตัดสินใจที่จะให้รัฐภาคีต่างๆ ร่วมแสดงความคิดเห็นก่อน โดยผู้แทนจากเอธิโอเปีย กล่าวว่า ตนไม่ได้มีปัญหากับการที่จะให้ผู้แทนพิเศษด้านชนเผ่าพื้นเมืองได้ขึ้นพูด แต่ควรแสดงความเห็นภายหลังจากที่ประเทศต่างๆ มีการลงมติเรียบร้อยแล้ว 

“ผมขอเรียนว่า สมาชิกรัฐภาคีสมควรได้รับเกียรติในการแสดงความเห็นเป็นอันดับแรก และร่วมกันตัดสินใจในประเด็นนี้ให้เรียบร้อย หลังจากนั้นค่อยให้ผู้แทนพิเศษด้านชนเผ่าพื้นเมืองออกความเห็นในภายหลัง” 

ทางด้านตัวแทนจากประเทศไทย กล่าวว่า “ผมอยากเรียนว่าตลอด 7 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยได้ทำงานอย่างจริงจังและกระตือรือร้นเพื่อที่จะทำให้แก่งกระจานเป็นมรดกโลก เราได้ดำเนินการอย่างเต็มที่ในทุกการตัดสินใจและทุกข้อเสนอแนะ ผมยืนยันว่า แก่งกระจานสมควรที่จะได้รับการยกย่องเป็นมรดกโลก 

“ผมขออนุญาตกล่าวเน้นย้ำถึงสิ่งที่เราดำเนินการสำเร็จลุล่วงไปแล้ว ประการแรก ในเรื่องเขตแดน เราได้ทำความเข้าใจและทำข้อตกลงกับเมียนมาเป็นที่เรียบร้อยแล้วในการประชุมครั้งที่ 43 ประการถัดมา ในเรื่องสิทธิของคนในชุมชน เราได้ให้ความสำคัญกับการจัดการแบบมีส่วนร่วมของคนในท้องถิ่น และสิ่งที่สำคัญที่สุดคือ เราได้มีการจัดสรรที่ดินให้ผู้คนในท้องถิ่นได้อยู่อาศัย รวมถึงชนพื้นเมืองด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ ยังจัดสรรสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ เช่น ไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ น้ำ การเข้าถึงอินเทอร์เน็ต ยารักษาโรค และการศึกษา รวมถึงมีการจัดอบรมฝึกอาชีพและอาชีวศึกษา ซึ่งหน่วยงานภาครัฐเองก็มีการดำเนินโครงการพัฒนาที่หลากหลายเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในท้องถิ่น”

ในขณะที่กำลังเริ่มต้นพิจารณาเอกสารนั้น ผู้แทนจากนอร์เวย์ได้ยกมือและยืนยันว่า ตนต้องการให้ผู้แทนพิเศษชนเผ่าพื้นเมืองได้นำเสนอก่อน พร้อมทั้งแสดงจุดยืนว่า “นอร์เวย์ได้พิจารณาข้อมูลที่รัฐไทยยื่นเสนอแล้ว แต่เราไม่สามารถสนับสนุนการขึ้นทะเบียนได้ เนื่องจากยังคงมีข้อขัดแย้งในเรื่องสิทธิมนุษยชนที่ไม่ได้รับการแก้ไข ในฐานะสมาชิกภาคี เรามีส่วนรับผิดชอบในการทำให้แน่ใจว่า เนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับชนพื้นเมืองและคนท้องถิ่นนั้นต้องมีการระบุไว้ ดังนั้น เราจึงไม่เห็นด้วยกับการรับรองครั้งนี้ และเห็นว่าควรเลื่อนการพิจารณาออกไป”

ผู้แทนจากประเทศไทย ให้ความเห็นกลับไปว่า “เราได้ชี้แจงในประเด็นเหล่านี้ไปหลายครั้งแล้ว ซึ่งหลายๆ ประเด็นก็ยังคงวนเวียนกลับมา แต่เราก็ต้องทำในสิ่งที่เราต้องทำ และอย่างที่ผมได้กล่าวไป ประเทศไทยเชื่อมั่นและยึดหลักสิทธิมนุษยชนอย่างครบถ้วน”

จากนั้นตัวแทนจากประเทศจีน มีความเห็นว่า “ประเด็นเรื่องสิทธิมนุษยชนนั้นมีความสำคัญ อย่างไรก็ตาม UN ก็มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชนที่ให้ความเห็นในเรื่องเหล่านี้ได้ สำหรับเวทีแห่งนี้ เราจะดำเนินการโดยยึดหลักฐานทางวิทยาศาสตร์และขึ้นอยู่กับดุลยพินิจที่มีความเป็นมืออาชีพ เราจึงมีความเห็นสนับสนุนให้พื้นที่แห่งนี้เป็นมรดกโลก และผมคิดว่าหากตัดสินใจขึ้นทะเบียนในวันนี้จะเป็นเรื่องที่เหมาะสมอย่างยิ่ง” 

ขณะที่ตัวแทนจากนอร์เวย์ยืนยันอีกครั้งว่า ไม่สามารถรับรองและสนับสนุนในประเด็นนี้ “นอร์เวย์ไม่สามารถสนับสนุนมตินี้ได้ นอกเสียจากต้องเลื่อนการพิจารณา เราเคารพกระบวนการการตัดสินใจของที่ประชุม แต่เราไม่สามารถสนับสนุนการรับรองครั้งนี้”

เนื่องจากมติของที่ประชุมยึดเสียงข้างมากของรัฐภาคีเป็นส่วนใหญ่ ในท้ายที่สุดแล้ว ที่ประชุมจึงมีมติรับรองให้แก่งกระจานสามารถขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก โดย นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวด้วยความยินดีว่า “ในฐานะตัวแทนของประเทศไทย ผมอยากจะแสดงความขอบคุณจากใจจริงสำหรับการสนับสนุน และขอบคุณทุกท่านที่สละเวลามาพิจารณาการขึ้นทะเบียนของแก่งกระจานครั้งนี้ สำหรับหลายๆ ท่านการขึ้นทะเบียนครั้งนี้อาจเป็นเพียงอีกหนึ่งสถานที่ของการเป็นมรดกโลก แต่สำหรับเราแล้ว การขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกของแก่งกระจานสะท้อนให้เห็นถึงความตั้งใจและความอุทิศตน 

“การขึ้นทะเบียนครั้งนี้ไม่ใช่จุดสิ้นสุดของงานเรา แต่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการอนุรักษ์ความหลากหลายทางธรรมชาติของสิ่งมีชีวิตทั้งหลาย ตั้งแต่พืชพันธุ์ สัตว์ป่า และมนุษย์ ผมอยากให้ทุกคนมั่นใจว่า เราทำงานโดยไม่แม้แต่จะมีความเหน็ดเหนื่อย แม้จะมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ผมหวังว่าทุกท่านจะแวะมาเยี่ยมเยือนด้วยตัวเองและเห็นด้วยตาว่า ประเทศไทยได้ทำเพื่อประชาชนที่อยู่ในพื้นที่แก่งกระจานมาโดยตลอดและยังคงทำต่อไป จึงไม่ควรไปฟังเสียงของบุคคลที่สาม เราอยากให้ทุกท่านมั่นใจว่า เราทำเพื่อผลประโยชน์ของประชากรโลก ไม่ใช่เพื่อคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง เราให้ความสำคัญอย่างยิ่งยวดในเรื่องการอนุรักษ์ผืนป่า และยืนยันว่าธรรมชาติกับมนุษย์สามารถธำรงอยู่ร่วมกันได้ ขอย้ำว่า เรามีความมุ่งมั่นที่จะทำงานร่วมกับภาคีของเราในเรื่องการอนุรักษ์ธรรมชาติเพื่อคนรุ่นใหม่ในอนาคต ผู้เป็นเจ้าของอย่างแท้จริง”

เมื่อลงมติเรียบร้อยแล้ว ทางที่ประชุมจึงเปิดโอกาสให้ตัวแทนจากองค์กรชนพื้นเมืองนานาชาติเพื่อมรดกโลก (The International Indigenous Peoples’ Forum on World Heritage หรือ IIPFWH) ขึ้นกล่าว 

“ผมมาในที่แห่งนี้เพื่อจะย้ำเตือนยูเนสโกและทุกรัฐภาคีที่ทำงานร่วมกันให้เคารพสิทธิของชนพื้นเมือง ไม่ว่าจะเป็นการรับรองครั้งสำคัญครั้งนี้ หรืองานใดๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งค่อนข้างน่าผิดหวังที่กระบวนการตัดสินใจครั้งนี้ ไม่ได้เปิดพื้นที่ให้ชนพื้นเมืองได้มีส่วนร่วมเลย ทั้งๆ ที่การตัดสินใจครั้งนี้จะส่งผลกระทบต่อสิทธิในการถือครองที่ดิน รวมถึงทรัพยากรของพวกเขา การอนุรักษ์ธรรมชาติอย่างยั่งยืนและเคารพต่อสิทธิมนุษยชนจะไม่สามารถเป็นไปได้ หากชนพื้นเมืองยังคงถูกคุกคาม ถูกฟ้องร้อง ดำเนินคดี หรือถูกขัดขวางไม่ให้แสดงอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมของตน อีกทั้งในช่วงปีที่ผ่านมา เรื่องสิทธิมนุษยชนก็เลวร้ายลง สำหรับข้อแนะนำของ IUCN ในตอนต้น รู้สึกเสียใจเป็นอย่างยิ่งที่การพิจารณาไม่ถูกเลื่อนออกไป”

ผู้แทนพิเศษด้านชนเผ่าพื้นเมือง ได้แสดงความเห็นปิดท้ายอย่างตรงไปตรงมาอีกว่า “เราขอคัดค้านคำตัดสินของคณะกรรมการมรดกโลกครั้งนี้ เนื่องจากเป็นอีกหนึ่งคำตัดสินที่แสดงให้เห็นถึงจุดตกต่ำที่สุดของประวัติศาสตร์ยูเนสโก วัตถุประสงค์ของยูเนสโกอยู่บนพื้นฐานของปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ยูเนสโกจะยอมให้มีการละเมิดสิทธิข้อนี้ในเวทีแห่งนี้ได้อย่างไร เราอยากให้ยูเนสโกให้ความสำคัญทั้งในเรื่องการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิทธิมนุษยชนด้วย เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน การรับรองครั้งนี้เป็นเรื่องของการล็อบบี้ทางการเมืองอย่างร้ายแรงเพื่อผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ คำตัดสินครั้งนี้ทำให้คุณค่าของการเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติของยูเนสโกตกต่ำลง”

อ้างอิง

อวิกา กันยาแสงศรี
เด็กปาก(กา)แจ๋วในทวิตเตอร์ผู้ผันตัวมาเป็นนัก(อยาก)เขียน เฟมินิสต์และแพนเซ็กชวลผู้หลงใหลในบทเพลงและสนับสนุนความเท่าเทียมในทุกรูปแบบ

ณัฎฐณิชา นาสมรูป
นักศึกษากราฟิกดีไซน์ ผู้สนใจในเรื่องเพลง การเมือง และประเด็นทางสังคม เป็นคนพูดไม่เก่งแต่มีเรื่องราวมา Deep conversation กับเพื่อนเสมอ เมื่อก่อนชอบอ่านหนังสือมาก แต่ตอนนี้ชอบนอนมากกว่า

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า