เงินเยียวยาที่ไร้หลักมนุษยธรรมของ WHO กับการตีราคาความเจ็บปวดของหญิงคองโกผู้ถูกละเมิดทางเพศ

สัปดาห์ที่ผ่านมา สำนักข่าวเอพีเปิดเผยรายงาน ‘ลับ’ ขององค์การอนามัยโลก (WHO) เกี่ยวกับเงินที่ WHO จ่ายให้กับหญิงสาวชาวคองโก 104 คน ที่ตกเป็นเหยื่อการล่วงละเมิดทางเพศของบุคลากร WHO ที่เข้าไปปฎิบัติหน้าที่ระหว่างการแพร่ระบาดของเชื้ออิโบลาที่สาธารณรัฐคองโกช่วงปี 2018-2020 โดยเหยื่อของเหตุการณ์ที่ถูกบันทึกว่าเลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์องค์กร WHO จะได้รับเงินคนละ 250 เหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 8,780 บาท

ตัวเลขนี้ถูกคำนวณขึ้นหลังจากทีมสอบสวนของ WHO นำโดย แพทย์หญิงกายา กัมเฮวาเก (Gaya Gamhewage) เดินทางเข้าไปเก็บข้อมูลในคองโก ช่วงเดือนมีนาคมของปีนี้ โดยคุณหมอกัมเฮวาเกให้สัมภาษณ์สำนักข่าวเอพี ถึงที่มาที่ไปของ ‘เงินก้อนสำหรับเหยื่อผู้รอดชีวิต’ จากเหตุการณ์นั้นว่า เป็นการปฏิบัติตามคำแนะนำที่เธอได้รับมาจากผู้เชี่ยวชาญขององค์กรการกุศลในคองโกเอง และจากหน่วยงานอื่นๆ ขององค์การสหประชาชาติ “ที่จะไม่จ่ายเงินสดเกินกว่าจำนวนที่เหมาะสมของชุมชน เพื่อไม่ให้ผู้ได้รับเงินไปต้องประสบกับอันตรายในอนาคต” 

รายงานลับฉบับดังกล่าว มีการระบุถึงค่าครองชีพรายวันของชาวคองโกว่า หลายคนสามารถดำรงชีพได้ด้วยเงินน้อยว่า 2.15 เหรียญสหรัฐ (75.50 บาท) ต่อวัน 

พญ.กัมเฮวาเก ซึ่งดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายป้องกันและตอบสนองต่อการกระทำผิดทางเพศของ WHO ยอมรับว่า WHO ยังไม่ได้ดูแลผู้หญิงที่ตกเป็นเหยื่อเหล่านั้นได้ดีพอ สิ่งที่ WHO ควรทำต่อไปในอนาคตคือ “การสอบถามจากเหยื่อที่รอดชีวิตโดยตรงว่าต้องการความช่วยเหลืออะไรเพิ่มเติมบ้าง”

ค่าชดเชยเหยื่อ VS เบี้ยเลี้ยงเจ้าหน้าที่ WHO เมื่อชีวิตคนถูกตีราคาไม่เท่ากัน

จำนวนเงินและกระบวนการคำนวณ ไปจนถึงการมอบเงินให้กับเหยื่ออาชญากรรมครั้งนี้เป็นประเด็นที่ควรถูกพูดถึงมาก เพราะสะท้อนให้เห็นถึงแนวคิดของการมองคนไม่เท่ากัน รวมถึงทัศนคติในการยอมรับผิดต่ออาชญากรรมที่บุคลากรของตนเองเป็นผู้ก่อ ในฐานะขององค์กรระหว่างประเทศที่รับบทบาทการสร้างเสริมให้เกิดบริการสาธารณสุขและสุขอนามัยที่ดีของประชากรโลก

เงินจำนวน 250 เหรียญสหรัฐที่เหยื่อผู้รอดชีวิตแต่ละคนจะได้รับจาก WHO เมื่อรวมกัน 104 คนแล้ว จะเท่ากับ 26,000 เหรียญ คิดเป็นเงินเพียงประมาณ 1 เปอร์เซ็นต์ของ ‘กองทุนช่วยเหลือเหยื่อผู้รอดชีวิต’ ที่มีงบประมาณ 2 ล้านเหรียญ ซึ่งเป็นกองทุนที่ WHO ตั้งขึ้นเพื่อให้ความช่วยเหลือเหยื่อที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศ 

ประเด็นที่ควรถูกตั้งคำถามและวิพากษ์วิจารณ์อย่างยิ่งคือ จำนวนเงินชดเชยเหยื่อที่ถูกบุคลากรของ WHO ล่วงละเมิดนั้น พอๆ กันกับจำนวนเงินที่ WHO จ่ายให้กับบุคลากรของตนเองในการไปทำงานที่คองโก มีตัวเลขเปิดเผยว่าเจ้าหน้าที่ WHO ในคองโกจะได้รับเบี้ยเลี้ยงมาตรฐานอยู่ที่ 144-480 เหรียญต่อวัน โดย พญ.กัมเฮวาเก เมื่อครั้งเดินทางไปเก็บข้อมูลการล่วงละเมิดในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ก็ได้รับเบี้ยเลี้ยงถึงวันละ 231 เหรียญ 

ค่าชดเชยแก่ผู้หญิงที่ถูกเจ้าหน้าที่ WHO ล่วงเกินทางเพศ สร้างความเจ็บปวดทั้งกาย ใจ และความรู้สึก หลายคนตั้งครรภ์ ต้องแบกภาระเลี้ยงเด็กอีก 1 คน และต้องอยู่กับภาระและความเจ็บช้ำนั้นไปตลอดชีวิต ซึ่งมากกว่าค่าตอบแทนรายวันของเจ้าหน้าที่ WHO ที่ลงไปทำงานในพื้นที่เพียง 19 เหรียญ 

เห็นได้ชัดว่าการคำนวณเงินทั้งสำหรับจ่ายให้กับเหยื่อผู้ถูกกระทำ และการคำนวณค่าตอบแทนให้เจ้าหน้าที่ WHO เกิดขึ้นบนฐานของแนวคิดด้านเศรษฐศาสตร์ที่ตีราคาชีวิตเป็นมูลค่าด้วยการคำนวณรายได้ที่คนคนหนึ่งจะสามารถหาได้ การตีราคาชีวิตมนุษย์เป็นมูลค่าด้วยการใช้หลักการทางเศรษฐศาสตร์เป็นแนวคิดที่ถูกตั้งคำถามเชิงศีลธรรมมาเป็นระยะเวลายาวนาน และเป็นแนวคิดที่ไม่ควรปรากฏในระบบคิดของหน่วยงานในองค์การสหประชาชาติที่ทำงานเพื่อมนุษยธรรมเลยด้วยซ้ำ โดยเฉพาะในกรณีนี้ที่มีไม่มีร่องรอยของการใช้หลักการทางมนุษยธรรมเข้ามาเป็นปัจจัยในการพิจารณา ไม่มีร่องรอยของการใช้หลักการกำหนดค่าสินไหมทดแทนกรณีถูกละเมิดที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อร่างกายและจิตใจเข้ามาเป็นปัจจัยในการพิจารณา ไม่มีแม้แต่ร่องรอยของการแสดงความยอมรับผิดในกิจกรรมที่เจ้าหน้าที่ของตนเองเกี่ยวข้องกับการก่อให้เกิดความเสียหายต่อผู้อื่น 

WHO ไม่แม้แต่จะเรียกเงินในส่วนนี้ว่า ‘ค่าชดเชย’ แต่กลับเรียกมันว่า ‘เงินก้อนสำหรับเหยื่อผู้รอดชีวิต’ (victim survivor package) “เราไม่สามารถทำอะไรเพื่อชดเชย (การล่วงละเมิดและการแสวงหาประโยชน์ทางเพศ) ได้” คือเหตุผลที่ พญ.กัมเฮวาเก อธิบายกับผู้สื่อข่าว

ที่สำคัญคือ ‘เงินก้อน’ (package) จำนวน 250 เหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 8,780 บาทนี้ ไม่ได้เดินทางถึงมือผู้หญิงที่ตกเป็นเหยื่อเหล่านั้นอย่างง่ายๆ โดยเหยื่อหลายคนที่ถูกข่มขืนจนตั้งครรภ์และให้กำเนิดลูกที่พิการ ต้องเข้ารับการอบรมหลักสูตรฝึกอบรมต่างๆ ที่จะช่วยให้พวกเธอเริ่มต้น ‘กิจกรรมสร้างรายได้’ ของตัวเองก่อนจึงจะได้รับเงินสดก้อนนี้

พอลลา โดโนแวน (Paula Donovan) จากโครงการรณรงค์ที่มีชื่อว่า Code Blue ที่ถูกตั้งขึ้นเพื่อรณรงค์ให้ขจัดสิ่งที่เรียกว่า ‘การไม่ต้องรับโทษจากการประพฤติผิดทางเพศของบุคลากรขององค์การสหประชาชาติ’ วิพากษ์แนวคิดในการจ่ายเงินก้อนสำหรับเหยื่อผู้รอดชีวิตจากการถูกล่วงละเมิดและแสวงหาผลประโยชน์ทางเพศในครั้งนี้ว่าเป็น ‘ความวิปริต’ (preserve) เธอมองว่าการที่องค์การของสหประชาชาติจะให้เงินเริ่มต้น (seed money) กับผู้คนเพื่อเพิ่มศักยภาพในการดำรงชีวิตเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้ แต่การนำเงินดังกล่าวมาผสานกับค่าชดเชยสำหรับการที่พวกเธอถูกล่วงละเมิดทางเพศซึ่งถือเป็นอาชญากรรมอย่างหนึ่งนั้น นับเป็นเรื่องที่ ‘คิดไม่ถึง’ 

รายงานการจ่าย ‘เงินก้อนสำหรับเหยื่อผู้รอดชีวิต’ เพิ่งถูกเปิดเผยเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ขณะที่การจ่ายเงินจริงเกิดขี้นไปแล้ว หญิงสาวคนหนึ่งให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวว่า เธอถูกเจ้าหน้าที่บังคับให้มีความสัมพันธ์ทางเพศด้วยเพื่อแลกกับการได้มีงานทำระหว่างการแพร่ระบาดของเชื้ออีโบลาในปี 2018 จนทำให้เธอต้องกลายเป็นแม่ของลูกวัย 5 ขวบในวันนี้ และเธอได้รับเงิน 250 เหรียญ หลังจากเข้ารับการอบรมหลักสูตรการอบขนมและการตัดเสื้อ

การล่วงละเมิดทางเพศในคองโก ประวัติศาสตร์อันเลวร้ายของ WHO และสหประชาชาติ

วันที่ 1 เดือนสิงหาคม 2018 คองโกประกาศให้จังหวัดทางภาคตะวันออกของประเทศอยู่ในภาวะการแพร่ระบาดของเชื้ออีโบลา สถานการณ์การแพร่ระบาดกินเวลานานกว่า 2 ปี มีผู้เสียชีวิตมากถึงเกือบ 3,000 ราย และถูกบันทึกว่าเป็นการแพร่ระบาดที่มีความรุนแรงเป็นอันดับที่ 2 นับจากมีการพบเชื้อโรคนี้ในปี 1976 องค์กรช่วยเหลือและองค์กรด้านมนุษยธรรมจำนวนมากลงพื้นที่ปฏิบัติหน้าที่ในคองโก รวมทั้งเจ้าหน้าที่จาก WHO

จนกระทั่งหลังจาก WHO ประกาศให้สถานการณ์การระบาดสิ้นสุดลงในวันที่ 25 มิถุนายน 2020 เกิดข่าวลือเรื่องเจ้าหน้าที่ขององค์กรความช่วยเหลือต่างๆ ทั้งกองกำลังรักษาสันติภาพ เจ้าหน้าที่สหประชาชาติ และบรรดาผู้รับเหมาช่วงต่างๆ ละเมิดทางเพศกับหญิงสาวชาวคองโก แลกกับการที่พวกเธอจะได้มีงานทำในระหว่างการแพร่ระบาด 

พฤศจิกายน 2021 WHO ส่งทีมสอบสวนพิเศษลงพื้นที่ และได้เขียนรายงานขึ้นมา 1 ฉบับ ระบุว่ามีผู้กระทำผิดในเหตุการณ์ครั้งนั้นรวม 83 คน โดยอย่างน้อย 21 คน เป็นเจ้าหน้าที่หรือผู้ที่ลงไปปฏิบัติหน้าที่ในนามองค์การอนามัยโลกเอง และเหยื่อที่อายุน้อยที่สุดเท่าที่มีข้อมูลคือ 13 ปี 

อย่างไรก็ตาม ไม่มีการเปิดเผยรายละเอียดของผู้กระทำผิด ไม่ว่าจะชื่อ หรือสัญชาติ มีเพียงรายงานข่าวที่ไม่มีการยืนยันและไม่มีรายละเอียดว่า WHO ได้ไล่เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องอื้อฉาวครั้งนี้ออกไป 5 คน ตั้งแต่ปี 2021 

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ประชากรของคองโกถูกล่วงละเมิดทางเพศโดยบุคลากรขององค์กรเพื่อมนุษยธรรมต่างๆ โดยเฉพาะในสังกัดสหประชาชาติ ทั้งคองโกและประเทศอื่นๆ ในทวีปแอฟริกาต้องประสบปัญหาลักษณะนี้มาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในคองโกที่ WHO ถึงกับตั้งกองทุนเพื่อช่วยเหลือเหยื่อที่ถูกล่วงละเมิดและใช้ประโยชน์ทางเพศจากเจ้าหน้าที่ที่เข้าไปให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมเป็นการเฉพาะ 

พญ.กัมเฮวาเก ผู้อำนวยการฝ่ายป้องกันและตอบสนองต่อการกระทำผิดทางเพศของ WHO ยังยอมรับว่าประชากรคองโกและประเทศอื่นในภูมิภาคเดียวกัน มีความเสี่ยงสูงที่จะถูกละเมิดทางเพศ เนื่องจากเป็นประเทศยากจน และมีประชาชนจำนวนมากได้รับผลกระทบจากเหตุฉุกเฉินด้านสุขภาพ การเข้าไปให้ความช่วยเหลือของสหประชาชาติจึงสามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนที่นั่นได้ 

“เรารู้ว่าการประพฤติผิดทางเพศเกิดขึ้น เมื่อมีความแตกต่างทางอำนาจ และความแตกต่างทางอำนาจนั้นถูกใช้เพื่อการแสวงหาประโยชน์ทางเพศ และเหตุการณ์ลักษณะนี้เคยเกิดขึ้นโดยไม่ต้องรับโทษ” 

ในบันทึกของ WHO การละเมิดทางเพศที่เกิดขึ้นในคองโกระหว่างปี 2018-2020 จึงไม่ได้ถูกอ้างถึงในฐานะการล่วงละเมิดทางเพศครั้งแรกในประวัติศาสตร์องค์กร แต่เป็นการล่วงละเมิดทางเพศที่รุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์องค์กร

การจัดการกับปัญหาที่เกิดขึ้น รวมถึง ‘เงินก้อนสำหรับเหยื่อผู้รอดชีวิต’ ที่ WHO จัดให้กับเหยื่อผู้ถูกละเมิดทางเพศ อาจจะเพียงช่วยให้เหยื่อและครอบครัวมีชีวิตที่ดีขึ้นในช่วงสั้นๆ แต่ระยะยาว นอกจากเหยื่อต้องทนอยู่กับแผลในใจที่จะเจ็บปวดไปตลอดชีวิต พวกเธออาจต้องมีชีวิตที่แย่ลงกว่าชีวิตในปัจจุบัน ดังคำกล่าวของเหยื่อคนหนึ่งของเหตุการณ์ในครั้งนั้นที่ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวเอพีถึงความวิตกกังวลต่อชะตากรรมของประเทศโดยเฉพาะเมื่อเกิดวิกฤติด้านสุขภาพในอนาคต ประเทศของเธอซึ่งได้รับผลกระทบจากเหตุความรุนแรงมาอย่างต่อเนื่อง มีโครงสร้างพื้นฐานที่ไม่มีคุณภาพ ขาดแคลนทรัพยากร และต้องพึ่งพาความช่วยเหลือจากนอกประเทศโดยเฉพาะจากองค์การอนามัยโลก จะก้าวผ่านวันเวลาที่เลวร้ายนั้นได้อย่างไร 

“ฉันไม่สามารถไว้วางใจ (องค์การอนามัยโลก) ได้อีกต่อไป พวกเขาละทิ้งเราไปในเวลาที่เรายากลำบาก จากไปโดยไม่รับผิดชอบและไม่ทำอะไรเลย” 

อ้างอิง:

เพ็ญนภา หงษ์ทอง
นักเขียน นักแปลอิสระ อดีตนักข่าวสิ่งแวดล้อม สนใจประเด็นทางสังคม การกดขี่ภายใต้การอ้างความชอบธรรมของกฎ ระเบียบ กฎหมาย และโครงสร้างอำนาจ มีผลงานแปลหลากหลาย อาทิ No Logo โดย นาโอมิ ไคลน์ รวมถึง พระนิพนธ์ขององค์ทะไล ลามะ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า