เลือกตั้ง 66: เสียงจากภาคประชาสังคม ข้อเสนอนโยบายด้านสิทธิมนุษยชน สิ่งแวดล้อม และคุณภาพชีวิต

วันที่ 4 เมษายน 2566 เครือข่ายภาคประชาสังคมจากหลายองค์กรจัดเวทีนำเสนอนโยบายด้านสิทธิมนุษยชนต่อพรรคการเมืองในหัวข้อ ‘เลือกตั้ง 2566: ฟังเสียงนโยบายจากภาคประชาสังคม’ ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ซึ่งนโยบายดังกล่าวประกอบด้วยนโยบายที่เกี่ยวข้องกับสิทธิพลเมือง สิทธิทางการเมือง สิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม แรงงานข้ามชาติ ผู้ลี้ภัย คนพิการ เด็ก สตรี ผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ สิทธิมนุษยชน และการพัฒนากลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทย

วิทยากรที่เข้าร่วมเสวนา ได้แก่ สฤณี อาชวานันทกุล กรรมการผู้จัดการด้านการพัฒนาความรู้ บริษัท ป่าสาละ จำกัด ธารา บัวคำศรี ผู้อำนวยการกรีนพีซ ประเทศไทย ปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ ประเทศไทย นิติรัตน์ ทรัพย์สมบูรณ์ ผู้อำนวยการเครือข่ายรัฐสวัสดิการเพื่อความเท่าเทียมและเป็นธรรม (We Fair) อธิพันธ์ ว่องไว หัวหน้าโครงการกาลพลิก มูลนิธิกระจกเงา และ นัสรี พุ่มเกื้อ ตัวแทนคนรุ่นใหม่ ดำเนินรายการโดย ฐปณีย์ เอียดศรีไชย สำนักข่าว The Reporters

WAY สรุปใจความข้อเสนอของวิทยากรเหล่านี้ในฐานะเสียงจากภาคประชาสังคมที่ต้องการจะฝากฝังให้เป็นนโยบายของบรรดาพรรคการเมืองที่กำลังขับเคี่ยวในสนามเลือกตั้งอย่างดุเดือด

ข้อเสนอจากภาคประชาสังคม ความคาดหวังต่อรัฐบาลในวันข้างหน้า

สฤณี อาชวานันทกุล กรรมการผู้จัดการด้านการพัฒนาความรู้ บริษัท ป่าสาละ จำกัด กล่าวว่า ความต้องการที่จะส่งเสียงถึงพรรคการเมืองของเธอตั้งอยู่บนฐานคิดของธุรกิจและสิทธิมนุษยชน เพราะในปัจจุบันแทบทุกบริษัทต่างอ้างว่าตนรับผิดชอบต่อสังคม มีนโยบายความยั่งยืน และมี Net Zero (การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์) กล่าวง่ายๆ ทุกบริษัทต่างก็อธิบายตัวเองว่า พวกเขารับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างไร 

แก่นสารของข้อเสนอนี้คือ การเคารพในสิทธิมนุษยชนเป็นหัวใจและองค์ประกอบที่ขาดไม่ได้ในการแสดงความรับผิดชอบของภาคธุรกิจ อย่างที่สฤณีกล่าวว่า

สฤณี อาชวานันทกุล

“ประเทศไทยควรจะบัญญัติการตรวจสอบรอบด้านด้านสิ่งแวดล้อม และการตรวจสอบรอบด้านด้านสิทธิมนุษยชน ให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน อาจจะเริ่มจากอุตสาหกรรมที่มีความเสี่ยงที่จะละเมิดสิทธิ์สูง และมีข้อมูลหลักฐานชัดเจน เช่นอุตสาหกรรมเกษตร อุตสาหกรรมตักตวงทรัพยากรธรรมชาติ ข้อเสนอนี้น่าจะมีส่วนช่วยแก้ปัญหาฝุ่นพิษ PM2.5 ด้วย บริษัทจะต้องเปิดเผยว่า มีการรับซื้อผลผลิตจากแปลงที่เกี่ยวข้องกับการเผามากน้อยแค่ไหน และทำอะไรไปแล้วบ้างเพื่อป้องกันปัญหา”

ธารา บัวคำศรี ผู้อำนวยการ กรีนพีซ ประเทศไทย กล่าวว่า ประชาธิปไตยคือพื้นฐานและหัวใจของการได้มาซึ่งสิทธิทางสิ่งแวดล้อมที่ดี เขาจึงเสนอให้มีการจัดตั้งคณะกรรมาธิการว่าด้วยเรื่องความเป็นธรรมทางด้านภูมิอากาศ (climate justice) โดยมีตัวแทนจากคนท้องถิ่น กลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ สตรี เยาวชน กลุ่มคนหลากหลายทางเพศ และกลุ่มแรงงานอยู่ในคณะกรรมาธิการนี้ 

นอกจากนี้ ธาราเสนอว่าควรมีการประกาศภาวะวิกฤตตามสถานการณ์ในขณะนั้น และควรมีการสอดส่องการฟอกเขียวที่เกิดจากการปราศจากการรับรองสิทธิที่จะเข้าถึงสิ่งแวดล้อมที่ดี (right to a healthy environment)

“ไม่มีสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน ถ้าไม่มีความเป็นธรรมทางสังคม ทุกพรรคการเมืองมีนโยบายเรื่องสิ่งแวดล้อม แต่ว่ามันมีความเป็นธรรมทางสังคมมากขนาดไหน มันจะนำไปสู่การต่อกรกับวิกฤตความเป็นธรรมทางด้านภูมิอากาศ ในระดับประเทศได้อย่างไรบ้าง และจะรับประกันได้อย่างไรว่า คนชายขอบ กลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มเปราะบาง ชาวเล คนที่อยู่ในเขตป่า จะไม่ได้รับผลกระทบจากปฏิบัติการเหล่านี้”

ปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการ แอมเนสตี้ ประเทศไทย เผยว่า ตั้งแต่วันที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2563 จนถึงปัจจุบัน มีผู้ถูกดำเนินคดีจากการใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกสูงกว่า 1,800 คน และในจำนวนนี้มีเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี กว่า 300 คน ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้น และควรยุติการดำเนินคดีในทันที 

ปิยนุช โคตรสาร

ข้อเสนอของปิยนุชจึงยึดโยงอยู่บนเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชนทุกรูปแบบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งยกเลิกการใช้อุปกรณ์ติดตามอิเล็กทรอนิกส์ และข้อกำหนดให้อยู่ในเคหสถานตลอด 24 ชั่วโมง นอกจากนี้ ยังขอให้มีการป้องกันการทรมานและบังคับบุคคลให้สูญหาย กล่าวโดยสรุป ข้อเสนอของปิยนุชคือ การเรียกร้องสิทธิมนุษยชนอย่างเต็มรูปแบบเท่าที่คนคนหนึ่งสมควรได้รับ

“แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจะมีกลไกในการปกป้องคุ้มครองผู้ชุมนุมที่ออกมาประท้วง ออกมาใช้ในสิทธิ์ของเขาอย่างไร ตามพันธกรณีกติกาสากลว่าด้วยสิทธิพลเมือง และสิทธิทางการเมือง โดยไม่ก่อให้เกิดความหวาดกลัว”

นิติรัตน์ ทรัพย์สมบูรณ์ ผู้อำนวยการเครือข่ายรัฐสวัสดิการเพื่อความเท่าเทียมและเป็นธรรม (We Fair) ให้ข้อมูลว่า คนไทยกว่า 4.4 ล้านคน มีรายได้น้อยกว่า 2,803 บาทต่อเดือน เด็กและเยาวชนหลุดจากระบบการศึกษา 238,277 คน และในปี 2565 มีคนไทยว่างงาน 546,600 คน นอกจากนี้ หนี้สินครัวเรือนยังขยายตัว 14.27 ล้านล้านบาท ถือเป็นร้อยละ 90 ของ GDP 

ในทางกลับกัน เศรษฐี 40 อันดับแรกของประเทศไทยกลับมีมูลค่าทรัพย์สิน 143,595 ล้านดอลลาร์ คิดเป็นร้อยละ 28.5 ของ GDP และยังครอบครองที่ดินกว่า 6 แสนไร่ ซึ่งมีขนาดเท่ากับจังหวัดสมุทรปราการ หากนำคนรวยสุดและคนจนสุดมาเทียบกัน จะพบว่ารายได้ของทั้งสองฝ่ายต่างกันถึง 19 เท่า และทรัพย์สินที่ถือครองก็ต่างกันถึง 375 เท่าทีเดียว 

ข้อเสนอของนิติรัตน์จึงเป็นการปฏิรูปภาษี ตั้งแต่การจัดเก็บภาษีความมั่งคั่ง และลดการลดหย่อนจากการลงทุนของผู้มีความมั่งคั่ง แล้วนำไปเพิ่มงบของรัฐสวัสดิการ เพื่อไม่ให้กลุ่มคนรายได้น้อยต้องเป็นผู้ที่แบกรับภาระทางภาษีมากกว่ากลุ่มคนรายได้สูง

นิติรัตน์ ทรัพย์สมบูรณ์

“ผมคิดว่าการเลือกตั้งครั้งนี้สำคัญและเดิมพันสูง มันเดิมพันระหว่างความหวังกับความสิ้นหวังของคนรุ่นใหม่ เดิมพันระหว่างประชาธิปไตยกับเผด็จการ เดิมพันระหว่างเผด็จการอำนาจนิยมกับรัฐสวัสดิการ เดิมพันระหว่างสวัสดิการเพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตประชาชนกับเพื่อเพิ่มคุณภาพอาวุธและความมั่นคงของกองทัพ เดิมพันระหว่างโอกาสการศึกษาที่เท่าเทียมกันกับธุรกิจการศึกษาที่สร้างหนี้สิน และเรื่องสำคัญที่สุดคือการสร้างรัฐธรรมนูญประชาธิปไตย และการคงอยู่ของระบอบอำนาจนิยม”

อธิพันธ์ ว่องไว หัวหน้าโครงการกาลพลิก มูลนิธิกระจกเงา กล่าวว่า ถึงเวลาแล้วที่จะต้องมีการแก้ไขปัญหาคนพิการ เพื่อให้พวกเขาสามารถใช้ชีวิตได้อย่างอิสระและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เขาหวังว่าพรรคการเมืองจะมองเห็นปัญหา และกล้าเข้ามาแตะปัญหานี้อย่างจริงจัง เริ่มตั้งแต่ความปลอดภัยในการเดินทาง ฟุตบาท สะพานลอย รวมไปถึงการติดกล้องวงจรปิดบริเวณป้ายรถเมล์ เพื่อความปลอดภัยของผู้พิการทางสายตา รวมถึงสตรีและเด็ก 

นอกจากนี้ อธิพันธ์ยังเสนอให้มีการเพิ่มค่าแรงผู้ช่วยคนพิการเพื่อเป็นแรงจูงใจ รวมถึงการพัฒนากองทุนคนพิการให้สามารถใช้งานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ และตอบโจทย์คุณภาพชีวิตของคนพิการ 

อธิพันธ์ ว่องไว

“อยากให้พรรคการเมืองจริงจังกับเรื่องของผู้ช่วยคนพิการ ผู้พิการบางคน ถ้าไม่มีผู้ช่วยเพียง 1 วัน เขาอาจไม่ได้กินข้าว แต่หากหลายวันเข้า บางทีก็เป็นแผลกดทับที่อาจติดเชื้อจนถึงเสียชีวิต เราไม่สมควรที่จะให้ใครตายอยู่เบื้องหลัง โดยที่เขายังอยากมีชีวิตอยู่ สิทธิความเป็นอยู่เป็นสิ่งที่ทุกคนควรมี อิสรภาพในการดำรงชีวิตอยู่ ระบบผู้ช่วยคนพิการสำคัญมาก รวมไปถึงสิ่งอำนวยความสะดวกที่จะทำให้ผู้พิการสามารถไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งได้เหมือนคนอื่นๆ เขา”

นัสรี พุ่มเกื้อ ตัวแทนคนรุ่นใหม่ กล่าวว่า ประเทศไทยกลายเป็นประเทศที่คนรุ่นใหม่ไร้ซึ่งความหวัง รวมไปถึงยังลิดรอนสิทธิต่างๆ มากมาย เริ่มตั้งแต่เมื่อคนรุ่นใหม่ยังอยู่ภายใต้ระบบการศึกษา เช่น ทรงผม การแต่งกาย และการแสดงออก แม้กฎระเบียบบางอย่างที่เป็นปัญหาจะได้รับการแก้ไขบ้างแล้ว แต่ยังคงมีการพ่วงท้ายว่า ‘แล้วแต่ดุลพินิจ’ ส่งผลให้ไม่เกิดการยกเลิกกฎระเบียบเจ้าปัญหานั้นอย่างแท้จริง 

นัสรี พุ่มเกื้อ

เพราะฉะนั้น นัสรีจึงเสนอให้มีการยกเลิกข้อระเบียบที่เป็นอุปสรรค และลดทอนคุณค่าความเป็นมนุษย์ของเยาวชน อีกทั้งยังต้องการให้ภาครัฐสนับสนุนและเพิ่มทางเลือกแก่เยาวชนในสายงานต่างๆ และที่สำคัญ เขาต้องการให้ภาครัฐใส่ใจต่อปัญหาสุขภาพจิต และยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือเยาวชนผู้สิ้นหวังในประเทศนี้อย่างถูกจุด ถูกประประเด็น และถ้วนหน้าทุกชนชั้น
“สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ เราต้องการที่จะเห็นว่า ทุกคนให้ความสำคัญและความสนใจกับเด็กและเยาวชน เพราะเราจะเห็น First Voter (ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งครั้งแรก) ออกมาแสดงออก แต่กลับโดนตอบโต้ด้วยปัญหา เราต้องการให้เกิดความรับรู้ถึงการมีตัวตนอยู่ของเรา เพราะนี่จะทำให้เราอยากอยู่ในประเทศนี้ต่อไปอย่างมีความหวัง และการเลือกตั้งครั้งนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นความหวังของเรา”

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า