การสูญพันธุ์ครั้งใหญ่กำลังจะมา เมื่อธรรมชาติไม่สามารถเยียวยาตัวเองได้อีกแล้ว

เมื่อโลกถึงคราวต้องเผชิญกับปัญหาใหญ่ คำถามคือ แล้วปัญหาที่ว่าคืออะไร?

ด้วยเพราะขณะนี้ ทุกปัญหาล้วนใหญ่ไปเสียหมด ไม่ว่าจะเป็นโรคระบาด ภัยพิบัติทางธรรมชาติ ปัญหาภัยแล้ง น้ำท่วม ไฟป่า สารพัดปัญหาที่หากสืบสาวราวเรื่องไปนั้น หลายคำตอบอาจอนุมานได้ว่า เกิดจากความผิดปกติของธรรมชาติซึ่งเกี่ยวพันกันหมด กระทั่งผีเสื้อกระพือปีกอาจสั่นสะเทือนถึงดวงดาว

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ สื่อมวลชน นักเขียนสารคดีผู้คลุกคลีตีโมงอยู่กับงานด้านสิ่งแวดล้อมมาหลายสิบปี ชวนสำรวจสถานการณ์ปัญหาโลกร้อนและสิ่งแวดล้อม ในเวทีพัฒนาศักยภาพผู้นำ: ผู้นำร่วมสร้างสุข (Leadership for Collective Happiness – LCH) โมดูล 1 ปัญญาโลก ปัญญาชีวิต ซึ่งจัดขึ้นวันที่ 8-10 กุมภาพันธ์ 2563 ณ ศูนย์ฝึกอบรมงานอภิบาล ‘บ้านผู้หว่าน’ อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม

“ใครๆ ก็คิดว่าปัญหาใหญ่ของโลกคือเรื่องโลกร้อนหรือ climate change”

ช่วงแรกของการชวนคุยเริ่มต้นด้วยมายาคติเรื่องสิ่งแวดล้อมเช่นนี้ แต่วันชัยบอกว่า ความเชื่อดังกล่าวไม่ถูกต้องทั้งหมด หรือจะให้ชัดกว่านั้นคือ เขาบอกว่ามันมีเรื่องอื่นที่ใหญ่กว่าโลกร้อน

เมื่อโลกเกินเยียวยา

“ผมอยากพูดถึงคำพูดถึงสถานการณ์สิ่งแวดล้อมโลก มีคำพูดหนึ่งที่ค่อนข้างจะใหม่ คือคำว่า ขีดจำกัดความปลอดภัยของโลก หรือ Planetary Boundaries”

Planetary Boundaries หรือ ‘ขีดจำกัดความปลอดภัยของโลก’ ศึกษาและวิจัยโดยนักวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมกลุ่มหนึ่ง นำโดย ดร.โจฮาน ร็อคสตรอม (Johan Rockström) แห่ง Stockholm Resilience Centre ได้ประมวลปัญหาสิ่งแวดล้อมต่างๆ ทั่วโลก เพื่อวิเคราะห์ว่าโลกใบนี้ยังมีศักยภาพพอเพียงในการรับมือกับปัญหาเหล่านี้มากน้อยเพียงใด

“ใครๆ ก็คิดว่าปัญหาใหญ่ของโลกคือเรื่องโลกร้อนหรือ climate change ไม่ใช่ครับ ปัญหาใหญ่สุดของเราก็คือ การสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิต การทำลายความหลากหลายทางชีวภาพ เป็นปัญหาที่ร้ายแรงที่สุดนะครับ ต่อมาคือ ผลกระทบจากการใช้ปุ๋ยเคมี ทำลายหน้าดิน ทำให้เกิดน้ำเน่า แล้วสุดท้ายก็ลงสู่มหาสมุทร”

ที่มา weforum.org

แล้วเรื่องโลกร้อนอยู่ตรงไหนในลำดับความร้ายกาจ หากดูกราฟจากภาพด้านบนนี้จะเห็นคำตอบที่ชัดขึ้น ระดับความรุนแรงของเรื่องโลกร้อนนั้นอยู่ลำดับ 3 รองจากการสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิต และผลกระทบจากปุ๋ยเคมี ซึ่งรุนแรงจนทะลุพื้นที่วงกลมออกมาอย่างที่เห็น วันชัยอธิบายจากกราฟนี้ว่า มันคือสภาวะที่ไม่สามารถเยียวยาได้อีกต่อไป

“เวลาเราพูดถึงการทำลายความหลากหลายทางชีวภาพนั้น เรามักจะคิดว่า ความสำคัญของความหลากหลายทางชีวภาพหมายถึง เรามีอาหารกิน เรามียารักษาโรค แต่มีสิ่งสำคัญที่คนไม่ค่อยรู้ก็คือ สิ่งที่มนุษย์เลียนแบบธรรรมชาติและนำมาใช้ประโยชน์ (Biomimicry)”

Biomimicry หรือปฏิบัติการเลียนแบบธรรมชาติ คือการสังเกตอย่างละเอียดลออต่อสิ่งที่มีอยู่ในธรรมชาติไม่ว่าจะเป็นพืช แมลงตัวจ้อย หรือสัตว์กลางทะเลลึก นำไปสู่การสร้างเทคโนโลยีใหม่และนวัตกรรมมากมาย โดยวันชัยยกตัวอย่างไว้ว่า

“หัวจรวดรถไฟชินคันเซ็น เมื่อ 20 ปีที่แล้วตอนที่สร้างรถไฟความเร็วสูง ปัญหาใหญ่ก็คือว่า เมื่อรถไฟความเร็วสูงแล่นเข้าสู่อุโมงค์ มันเกิดเสียงดังมาก และนักวิทยาศาสตร์ของเขาไม่สามารถแก้ปัญหาได้เสียทีในการลดความดังของเสียงที่เกิดขึ้น เผอิญมีวิศวกรคนหนึ่ง เขาเป็นนักดูนก เขาสังเกตพฤติกรรมของนกกระเต็น (Kingfisher) ที่พุ่งลงไปจับปลาในน้ำ น้ำนิ่งครับ ไม่กระเพื่อม ไม่มีเสียง เขาก็บรรลุทันทีเลยว่า หัวของนกกระเต็นนั้นถูกออกแบบมาเพื่อลดแรงเสียดทาน จึงกลายเป็นที่มาของรูปทรงของหัวรถจักรชินคันเซ็นรุ่นแรกๆ ก็คือมาจากหัวของนกกระเต็น นี่คือสิ่งที่มนุษย์ใช้ประโยชน์จากธรรมชาติ”

หรือ…

“velcro หรือแถบตีนตุ๊กแก สิ่งนี้เกิดมาจากการสังเกตของนักประดิษฐ์คนหนึ่ง เขาสังเกตว่าเวลาที่เราเดินเข้าไปในทุ่งหญ้า มันจะมีเมล็ดพืชชนิดหนึ่งที่ฝักมีหนามติดกับกางเกงกลับมาด้วย และเขาตั้งคำถามว่า มันคืออะไร? ก็เลยนำเมล็ดนี้ไปส่องกล้องจุลทรรศน์ดู พบว่า สิ่งนี้มีรูปทรงคล้ายกับตะขอเกี่ยวอยู่กับเมล็ดพันธุ์ชนิดนั้น เพื่อใช้เป็นพาหนะขยายพันธุ์ไปยังแหล่งต่างๆ นับแต่นั้น การค้นพบนี้ทำให้ เกิดแนวคิดมาต่อยอดและประดิษฐ์เป็น velcro หรือที่เราเรียกกันว่า แถบตีนตุ๊กแก”

ไม่ใช่เท่านั้น…

“หากเราเอาน้ำหยดลงไปบนใบบัว มันจะไม่ซึม แต่จะกลิ้ง เพราะอะไร? ใบบัวไม่มีคราบสกปรกเกาะเลย เพราะพื้นผิวของใบบัวนั้น มีโครงสร้างคล้ายหนามเล็กๆ ขนาดนาโนเมตร กระจายตัวอย่างเป็นระเบียบทั่วทั้งใบ ทำหน้าที่จับฟองอากาศ ทำให้หยดน้ำไม่สัมผัสกับผิวใบ และกลิ้งพาเอาคราบฝุ่นละอองไปรวมอยู่ในหยดน้ำ และนักประดิษฐ์ก็เอาแนวคิดนี้แหละไปใช้ทำสีทาบ้าน ซึ่งสีทาบ้านบางยี่ห้อนั้น เอาน้ำสาดเข้าไปปุ๊บ น้ำไม่ซึมนะครับ นี่คือสิ่งที่เราได้จากธรรมชาติทั้งนั้น และนี่คือประโยชน์ของความหลากหลายทางชีวภาพ แต่ความหลากหลายทางชีวภาพตรงนี้ มันถูกท้าทายด้วย The Sixth Extinction หรือการสูญพันธุ์ใหญ่ครั้งที่ 6”

การสูญพันธุ์ใหญ่ครั้งที่ 6 ในอนาคต (อันใกล้)

เท้าความไปยังการสูญพันธุ์ครั้งล่าสุด (ครั้งที่ 5) ราว 65 ล้านปีก่อน หรือที่เราพอจะทราบกันดีว่า เป็นเหตุการณ์ที่โลกถูกโจมตีด้วยอุกกาบาตขนาดยักษ์ และได้กวาดล้างไดโนเสาร์จนหมดสิ้น และถือเป็นจุดเริ่มต้นของการขึ้นครองโลกโดยสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่ได้วิวัฒนาการมาเป็นมนุษย์เช่นเราในปัจจุบัน

น่าตกใจว่า การสูญพันธุ์ใหญ่ครั้งที่ 6 ในอนาคตอันใกล้ กำลังถูกจุดชนวนโดยมนุษย์ ที่ล้วนมีส่วนในการสร้างปัจจัยเร่งให้เกิดหายนะในครั้งนี้

“ครั้งที่ 6 นั้นเป็นสิ่งที่นักวิทยาศาสตร์บอกว่าเป็นปัญหาใหญ่ที่สุดในโลก และครั้งนี้เกิดจากน้ำมือมนุษย์ทั้งนั้นเลย ไม่ว่าจะการทำลายป่า ปัญหามลพิษ ปัญหาโลกร้อน ล่าสุดอย่างที่เราทราบดีคือพื้นที่ป่าออสเตรเลียที่ถูกไฟป่าเผา มีขนาด 13 ล้านเฮกตาร์ ประมาณ 130,000 ตารางกิโลเมตร หรือ 1 ใน 4 ของพื้นที่ประเทศไทย สัตว์จำนวนมากหนีไฟไม่ทัน หรือไม่รู้จะหนีไปทางไหน บาดเจ็บล้มตายในกองเพลิงอย่างน่าอนาถเกือบ 500 ล้านตัว

“เท่านั้นไม่พอนะครับ ในโลกของวงการสิ่งแวดล้อม มีสิ่งหนึ่งที่เรียกว่า ไฟป่ามหาสมุทร อันนี้ร้ายแรงกว่า เพราะตลอดระยะเวลา 25 ปีที่ผ่านมา พลังงานความร้อนที่เราใส่ลงไปในมหาสมุทร เทียบได้กับระเบิดปรมาณูที่ถล่มเมืองฮิโรชิมา 3.6 พันล้านลูก หรือเท่ากับการทิ้งระเบิดปรมาณู 4 ลูก ในทุก 1 วินาที อุณหภูมิน้ำในมหาสมุทรที่เพิ่มขึ้นเพียง 1 องศาเซลเซียส ส่งผลให้เกิดปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาว ล้มตายลงทั่วโลก”

outer reef, Cairns, Australia

สิ่งที่วันชัยบอกเล่าต่อไปนี้ คือการทำลายล้างธรรมชาติ และนั่นคือปรากฏการณ์ลูกโซ่ที่ส่งผลต่อระบบนิเวศและการดำรงอยู่ของมนุษย์ เกินกว่าที่เราจะคาดคิด

“ในช่วงเวลาเพียง 40 ปีที่ผ่านมา มนุษย์ทำลายสิ่งมีชีวิตจนสูญพันธุ์ไปจากโลกถึงร้อยละ 50 สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำสูญพันธุ์ไปร้อยละ 40 สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมสูญพันธุ์ไปร้อยละ 26 อีก 50 ปีข้างหน้าโลกของเรา อาจจะไม่มีสิ่งมีชีวิตหลงเหลืออยู่ นอกจากมนุษย์

“เช่น เมื่อมหาสมุทรมีอุณหภูมิสูงขึ้น มันทำให้ปะการังตาย ปะการังซึ่งเป็นบ้านของเหล่าสัตว์น้ำ และเมื่อโปรตีนของมนุษย์ที่มาจากปลาทะเลเป็นหลักหายไป จะเกิดอะไรขึ้น

“บรรดาพืชอาหาร 100 ชนิดที่เป็นอาหารเลี้ยงประชากรมนุษย์ทั้งโลก 70 ชนิด ต้องการผึ้งเป็นตัวผสมละอองเกสร และร้อยละ 70 ของผลิตผลด้านการเกษตรทั้งโลก ล้วนพึ่งพาผึ้งทั้งนั้น แต่วันนี้ผึ้งหายไปจากโลกถึงร้อยละ 90 เพราะสารเคมี ยาฆ่าแมลงที่เราใช้กันทั่วโลก ถ้าผึ้งหายไป การผสมพันธุ์ของพืชพรรณอาหารของโลกก็จะหายไปด้วย”

น้ำแข็งละลายที่หิมาลัย และยุงที่บินไกลถึงยุโรป

“เวลาเราพูดถึงปัญหาโลกร้อนนั้น เรามักจะคิดถึงขั้วโลกนะครับว่ามันห่างไกลจากเรา เทือกเขาหิมาลัยเป็นแหล่งต้นน้ำสำคัญของของแม่น้ำนานาชาตินับสิบสาย อาทิ แม่น้ำคงคา แม่น้ำโขง แม่น้ำสาละวิน แม่น้ำพรหมบุตร แม่น้ำสินธุ หล่อเลี้ยงผู้คนนับพันล้านคน ซึ่งน้ำส่วนใหญ่ก็มาจากการละลายของธารน้ำแข็ง และทุกวันนี้ อัตราการละลายของน้ำแข็งบนเทือกเขาหิมาลัยเข้าขั้นวิกฤติถึงปีละ 8,300 ล้านตัน ปริมาณน้ำแข็งที่ปกคลุมลดลงเหลือเพียงร้อยละ 72 ลองนึกภาพดูว่า ถ้าปริมาณของน้ำแข็งในหิมาลัยหายไป ภาวะการขาดแคลนน้ำจืดจะตามมาและก่อให้เกิดสงครามแย่งชิงน้ำในที่สุด”

การปรากฏตัวของ โคโรนาไวรัส เมื่อปลายปีที่ผ่านมานั้น คือกรณีศึกษาสำคัญที่ทำให้มนุษย์ตระหนักถึงการเกิดขึ้นของโรคอุบัติใหม่ อันมีต้นเหตุสำคัญจากปัญหาโลกร้อน โดยวันชัยได้อธิบายว่า

“สิ่งที่ตามมากับปัญหาโลกร้อนนั้น เกี่ยวข้องกับโรคและไวรัสที่เราพบอยู่ทุกวันนี้ เพราะว่าเมื่ออุณหภูมิสูงขึ้น มันจะทำให้เกิดโรคอุบัติใหม่ ซึ่งก็คือ โรคติดต่อชนิดใหม่ๆ ที่พบผู้ป่วยเพิ่มขึ้นในระยะ 20 ปีที่ผ่านมา หรือโรคที่เพิ่งจะแพร่ระบาดเข้าไปสู่อีกที่หนึ่ง ตัวอย่างโรคติดเชื้ออุบัติใหม่ เช่น โรคเอดส์ ไข้หวัดใหญ่ โรคซาร์ส โรคไข้หวัดนก และโคโรนาไวรัส (COVID-19)

“ยกตัวอย่างเช่น ยุง ที่เคยมีวงจรชีวิตที่สั้น พอความร้อนของโลกสูงขึ้น ทำให้หลายประเทศในยุโรปที่ไม่เคยมีปัญหาเรื่องโรคที่เกี่ยวข้องกับยุงมาก่อนก็เกิดปัญหาขึ้นมา อันนี้คือโรคที่เกิดขึ้นพร้อมกับอุณหภูมิโลกที่สูงขึ้น ซึ่งสาเหตุของโรคอุบัติใหม่นั้น เกิดจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ การทำลายธรรมชาติ ทำให้มนุษย์สัมผัสกับเชื้อโรคผ่านสัตว์ได้ง่ายขึ้น, และการที่คมนาคมดีเยี่ยม ผู้คนเดินทางสะดวกขึ้น ทำให้โรคแพร่กระจายอย่างรวดเร็วมากขึ้น”

กินหมูกระทะ สะเทือนถึงป่าต้นน้ำ

แน่นอนว่าการพัฒนาประเทศนั้น จำเป็นอย่างยิ่งในการบริโภคทรัพยากรที่มีอยู่ ซึ่งเมื่อประชากรมากขึ้น ก็จำเป็นต้องใช้ทรัพยากรธรรมชาติมากขึ้นด้วยเช่นกัน และผลที่ตามมานั้น ปัญหา PM2.5 คงเป็นภาพตัวอย่างที่ดี ในการอธิบายความสัมพันธ์ของการพัฒนาที่เชื่อมโยงอย่างเหนียวแน่นกับปัญหาสิ่งแวดล้อมในปัจจุบัน

“เวลาเราพูดถึง PM2.5 นั้น ในกรุงเทพฯ มันอาจจะมาจากการใช้รถที่ไม่ได้มาตรฐาน ปัญหาจากฝุ่นที่ก่อสร้าง และปัญหาจากการเผาอ้อย แต่ถ้าพูดถึงภาคเหนือ ปัญหาของฝุ่นนั้นส่วนใหญ่มาจากการทำลายป่าเพื่อเป็นพื้นที่ปลูกข้าวโพด

“เพราะอะไร ทำไมปริมาณความต้องการข้าวโพดของทั่วโลกถึงเพิ่มขึ้น นั่นเพราะคนบริโภคเนื้อสัตว์มากขึ้น ป่าในแอมะซอนถูกทำลายเพื่อเป็นพื้นที่ปลูกถั่วเหลืองส่งไปเป็นอาหารสัตว์ในยุโรปและอเมริกา ป่าในพม่าถูกทำลายเปลี่ยนเป็นไร่ข้าวโพด ป่าในไทยก็เช่นกัน เพราะคนบริโภคเนื้อสัตว์มากขึ้นโดยเฉพาะจีน

เมื่อปริมาณความต้องการเนื้อมากขึ้น ปริมาณความต้องการอาหารสัตว์จึงมากขึ้นด้วย มันเป็นเหตุผลที่ทำให้พื้นที่ทางการเกษตรไม่เพียงพอ การเผาป่า เปลี่ยนพื้นที่ป่าเพื่อปลูกข้าวโพดจึงเกิดขึ้น แม้กระทั่งป่าต้นน้ำที่จังหวัดน่านก็ถูกเปลี่ยนเป็นพื้นที่ข้าวโพดเช่นกัน”

ปัญหาสิ่งแวดล้อมนั้นโยงใยกับหลายมิติของสังคม สิ่งนี้เราไม่อาจปฏิเสธได้ และเราไม่อาจเข้าใจต้นตอของปัญหาได้หากเพียงมุ่งวิเคราะห์ไปยังเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ตัวอย่างง่ายๆ เช่น หมูกระทะที่เมื่อเราบริโภคมากขึ้น เราก็คือส่วนหนึ่งในการทำลายป่า ตามมาด้วยปัญหามลพิษ ปัญหาน้ำแล้ง และอีกสารพัดปัญหาที่เห็นได้เพียงปรายตามองไปยังโลกปัจจุบัน

“4 ปีที่ผ่านมา เมืองไทยมีป่าอยู่ 50 เปอร์เซ็นต์ ประชากร 20 ล้านคน วันนี้เรามีประชากร 60 กว่าล้านคนนะครับ แต่มีป่าอยู่ที่ประมาณ 25 เปอร์เซ็นต์ ประเทศไทยมีประชากรอยู่ 64 ล้านคน มีคนเมืองประมาณ 32 เปอร์เซ็นต์ หรือประมาณ 20 ล้านคน ส่วนผู้ที่อาศัยในชนบทมีอยู่ประมาณ 40 ล้านคน คำถามคือ ใครบริโภคทรัพยากรมากกว่า

“คำตอบคือคนเมือง เอาง่ายๆ ปัญหาเรื่องโลกร้อนนั้น ภาคอุตสาหกรรมปล่อยก๊าซเรือนกระจก 40 เปอร์เซ็นต์ ตึกรามบ้านช่อง 31 เปอร์เซ็นต์ ที่เหลือคือการคมนาคม 22 เปอร์เซ็นต์ แต่ภาคเกษตรปล่อยแค่ 4 เปอร์เซ็นต์ นี่คือความเหลื่อมล้ำของการใช้ที่ดิน ซึ่งเป็นเรื่องที่ใหญ่มาก และเป็นความเหลื่อมล้ำที่นำไปสู่ปัญหาสิ่งแวดล้อม

“ประเทศส่วนใหญ่อยู่ในมือของคนส่วนน้อย ร้อยละ 10 ของคนทั้งประเทศเป็นเจ้าของที่ดินมากกว่า 100 ไร่ และร้อยละ 90 ของคนทั้งประเทศ เป็นเจ้าของที่ดินน้อยกว่า 1 ไร่เท่านั้น”

สนับสนุนโดย

Author

อรสา ศรีดาวเรือง
มือขวาคีบวัตถุติดไฟ มือซ้ายกำแก้วกาแฟ กินข้าวเท่าแมวดม แต่ใช้แรงเยี่ยงงัวงาน เป็นเป็ดที่กระโดดไปข้องแวะกับแทบทุกประเด็นได้อย่างไม่ขัดเขิน สนใจทั้งภาพยนตร์ วรรณกรรม การศึกษา การเมือง และสิ่งแวดล้อม ชอบแสดงอาการว่ายังทำงานไหวแม้ซมพิษไข้อยู่บนเตียง

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า