50 ปีแห่งการปกป้องแหล่งมรดกโลก บนความผันผวนของธรรมชาติและวัฒนธรรม

ในปี 1972 การประชุมสมัยสามัญขององค์การยูเนสโก (General Conference of UNESCO) ครั้งที่ 17 ณ กรุงปารีส ได้ประกาศข้อตกลงที่มีชื่อว่า ‘อนุสัญญามรดกโลก’ (World Heritage Convention) เพื่อปกป้องและคุ้มครองมรดกทางธรรมชาติและวัฒนธรรมในระดับชาติ จากความเสื่อมโทรมทางธรรมชาติและผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและเศรษฐกิจที่รุกคืบอย่างรุนแรงและรวดเร็ว

โครงการมรดกโลก (World Heritage Program) ถือได้ว่าประสบความสำเร็จอย่างสูงในการปกป้องแหล่งมรดกโลกทางธรรมชาติและวัฒนธรรม อาทิ สามารถนำไปสู่การยกเลิกการสร้างเขื่อนเหนือน้ำตกวิกตอเรีย (Victoria Falls) และการกดดันเพื่อยกเลิกการสร้างทางหลวงใกล้พีระมิดแห่งกีซ่า (The Great Pyramid of Giza)

ทว่าบางครั้งการปกป้องแหล่งมรดกโลกก็ดูเหมือนจะเกินกว่าความสามารถของมนุษย์ ซ้ำร้ายภัยคุกคามเหล่านั้นกลับมาจากน้ำมือมนุษย์ด้วยกันเอง อย่างผลกระทบจากสงครามขัดแย้งที่เกิดขึ้นในเมืองซานา ประเทศเยเมน ที่ส่งผลให้สถาปัตยกรรมและสถานที่สำคัญในเมืองถูกทำลาย หรือหมู่บ้านฮอยอัน ประเทศเวียดนาม ที่เคยเงียบสงบ กลับหนาแน่นไปด้วยนักท่องเที่ยวจำนวนมาก

คำถามที่ตามมาคือ การได้ชื่อว่า ‘แหล่งมรดกโลก’ นั้นเพียงพอที่จะปกป้องและคุ้มครองสถานที่ที่กำลังถูกคุกคามได้หรือไม่

การท่องเที่ยวและการพัฒนาเมือง

แน่นอนว่าการถูกเลือกให้เป็นแหล่งมรดกโลกนั้นจะได้รับการสนับสนุนและช่วยเหลือในการอนุรักษ์คุ้มครองเป็นหลักสำคัญ อีกทั้งยังช่วยผลักดันเศรษฐกิจด้านการท่องเที่ยวไปพร้อมกันอีกด้วย แต่ถึงเช่นนั้นปัญหาใหม่ก็ได้ปรากฏตามมา ไม่ว่าจะเป็นการเติบโตอย่างรวดเร็วของแหล่งท่องเที่ยว หรือจำนวนนักท่องเที่ยวที่ล้นหลามเกินกว่าจะรองรับ

หนึ่งในตัวอย่างคือ นครวัด (Angkor Wat) ซึ่งตั้งอยู่ในเมืองเสียมราฐ ประเทศกัมพูชา ที่ประสบปัญหาการจัดการน้ำเนื่องจากมีนักท่องเที่ยวจำนวนมากและประชากรที่เพิ่มขึ้น เมื่อน้ำขาดแคลน ทำให้ทางการจำเป็นต้องดึงน้ำบาดาลมาใช้ ทำให้หน้าดินรวมไปถึงบริเวณที่ตั้งของโบราณสถานค่อยๆ เกิดการทรุดตัวลง

(ที่มา: https://en.unesco.org/courier/2017-april-june/angkor-water-crisis)

จากปัญหาดังกล่าว ทางยูเนสโกจึงเปิดโครงการนำร่องในการปรับปรุงและฟื้นฟูระบบน้ำในนครมรดกโลกและเมืองเสียมราฐ (Enhancing and Restoring Water Systems in Angkor World Heritage Site and Siem Reap City) เพื่อเสนอทางแก้ไขอย่างยั่งยืน

อีกมุมหนึ่งในฝั่งยุโรป ทุกๆ ช่วงต้นปี ณ กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย จะมีการจัดงาน Eistraum หรือ Viennese Ice Dream บริเวณด้านหน้าศาลากลางกรุงเวียนนา (Rathaus der Stadt Wien) ปรากฏลานสเก็ตน้ำแข็งขนาดใหญ่ท่ามกลางสถาปัตยกรรมแบบนีโอโกธิค ซึ่งดึงดูดเหล่าผู้ชื่นชอบกีฬาฤดูหนาวและนักท่องเที่ยวมากกว่า 100,000 คน

(ที่มา: https://www.wien.info/en/lifestyle-scene/ice-world-348598)

ด้วยความนิยมที่ล้นหลาม จึงนำไปสู่การเกิดแผนพัฒนาเมืองในบริเวณทางตอนใต้ของสวนสาธารณะ Stadtpark ที่อยู่ห่างจากศาลากลางประมาณ 1.7 กิโลเมตร โดยในแผนดังกล่าวประกอบไปด้วย อพาร์ตเมนต์สุดหรู โรงแรมขนาดใหญ่ หอคอยสูง ศูนย์ประชุมแห่งใหม่ และลานสเก็ตในร่ม

แต่นั่นก็ทำให้คณะกรรมการมรดกโลก (World Heritage Committee) มีข้อกังวลเกี่ยวกับหอคอยที่มีความสูงถึง 66.3 เมตร ที่อาจส่งผลในทางลบต่อความงดงามทางสถาปัตยกรรมที่ตั้งอยู่ในศูนย์กลางทางประวัติศาสตร์ของเมืองเวียนนา (Historisches Zentrum von Wien) ด้วยเหตุนี้ทำให้พื้นที่ดังกล่าวถูกจัดอยู่ในหมวดรายชื่อมรดกโลกที่อยู่ในอันตราย (List of World Heritage in Danger)

สภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง

นอกจากผลกระทบจากการเติบโตของนักท่องเที่ยวและการพัฒนาเมือง อีกสิ่งหนึ่งที่ยูเนสโกต้องเผชิญคือ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate change) แน่นอนว่าเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะครั้งหนึ่ง เกรท แบริเออร์ รีฟ (Great Barrier Reef) ก็ประสบกับปัญหาดังกล่าวจนเกือบถูกจัดเข้าสู่รายชื่อมรดกโลกที่อยู่ในอันตรายมาแล้ว

ทั้งนี้ ไม่ใช่เพียงแหล่งมรดกโลกทางธรรมชาติที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงแหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรมอีกด้วย โดยในปี 2007 นักวิทยาศาสตร์ได้ตีพิมพ์บทความเตือนไปยังยูเนสโกเกี่ยวกับแหล่งมรดกโลก 26 แห่งที่กำลังถูกคุกคาม หนึ่งในนั้นคือ Chan Chan แหล่งโบราณคดีสำคัญที่ได้ชื่อว่าเป็นเมืองที่สร้างขึ้นด้วยอิฐที่ใหญ่ที่สุดในโลกในประเทศเปรู ซึ่งได้รับผลกระทบจากน้ำฝนปริมาณมหาศาลอันเป็นผลจากปรากฏการณ์เอลนีโญ (El Niño)

Chan Chan, Peru (ที่มา: https://whc.unesco.org/en/list/366/gallery/)

The Next 50: อนาคตของมรดกโลกในช่วงเวลาที่ท้าทาย

เนื่องโอกาสครบรอบ 50 ปี ของอนุสัญญามรดกโลก กระทรวงวัฒนธรรมและกีฬา และเหล่าคณะผู้แทนของกรีซ ร่วมกับยูเนสโก ได้จัดการประชุมขึ้นในวันที่ 17-18 พฤศจิกายน 2022 ณ ประเทศกรีซ โดยจุดมุ่งหมายของการประชุมในครั้งนี้คือ การนำเสนอและให้ข้อสังเกตถึงปัจจัยสำคัญในยุคปัจจุบันที่มีผลกระทบต่ออนุสรณ์สถานทางวัฒนธรรมและธรรมชาติทั่วโลก รวมไปถึงศักยภาพในการจัดการผลกระทบดังกล่าว

อ้างอิง

Author

ณัชชา กันเขตร
นักพิสูจน์อักษรผู้ชอบนอนดึกตื่นเช้า อดีตนักเรียนประวัติศาสตร์ศิลปะ เวลาว่างชอบอ่านเว็บตูนและวาดรูป กำลังค้นหาและทดลองทำสิ่งใหม่ๆ ใช้ชีวิตอยู่เพื่อทักทายและทำความรู้จักกับแมวจร

Illustrator

ณขวัญ ศรีอรุโณทัย
อาร์ตไดเร็คเตอร์ผู้หนึ่ง ชอบอ่าน เขียน และเวียนกันเปิดเพลงฟัง

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า