‘มรดกโลก’ ไม่ใช่แค่สถานที่ แก่งกระจานยังมีผู้คน

เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2564 เป็นวันที่ชาวไทยได้ทราบผลการลงมติของคณะกรรมการมรดกโลก ให้อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกแห่งที่ 6 ของประเทศไทย ท่ามกลางความยินดีปรีดากับคำประกาศครั้งนี้ อีกด้านหนึ่งอาจเป็นคำตัดสินอนาคตของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงในพื้นที่บางกลอยที่จะไม่สามารถกลับไปดำรงชีวิตในบ้านเกิดที่เรียกว่า ‘ใจแผ่นดิน’ ของพวกเขาได้อีก 

เฟซบุ๊คแฟนเพจ ‘GreenNews’ ได้ถ่ายทอดสดเกาะติดประเด็นนี้นับตั้งแต่เริ่มการประชุมของคณะกรรมการมรดกโลก การให้ความเห็นของผู้แทนแต่ละประเทศ ตลอดจนช่วงหลังของการถ่ายทอดสด ได้จัดวงเสวนาหัวข้อ ‘แก่งกระจานมรดกโลก ควรมองอย่างไร ไทยไปไงต่อ’ เพื่อวิเคราะห์สถานการณ์อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ในฐานะมรดกโลกแห่งใหม่จะเป็นอย่างไรต่อไป และเสนอแนะวิธีในการหาทางออกร่วมกันในอนาคต ดำเนินรายการโดย กมล สุกิน บรรณาธิการ สำนักข่าวสิ่งแวดล้อม GreenNews และผู้ร่วมเสวนา ได้แก่ พงษ์ศักดิ์ ต้นน้ำเพชร ตัวแทนชาวบ้านบางกลอย เกรียงไกร ชีช่วง เครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม จำเนียร วรรัตน์ชัยพันธ์ นักวิชาการอิสระด้านการอนุรักษ์ธรรมชาติ ชญาธนุส ศรทัตต์ ภาคี #saveบางกลอย และ ศาสตราจารย์สุริชัย หวันแก้ว คณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วย UNESCO ประเทศไทย

เจ้าของบ้านที่ไม่มีสิทธิในบ้านของตน

พงษ์ศักดิ์แสดงถึงความกังวลหลังรับทราบถึงผลพิจารณา ซึ่งนั่นส่งผลให้กลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงต้องย้ายออก และไม่อาจทราบได้ว่าจะต้องย้ายไปอยู่ที่ใดแทน 

“ผืนป่าแห่งนี้ พวกเราอยู่กันมาเนิ่นนาน แล้วก็ได้ช่วยกันดูแล หลังประกาศเป็นมรดกโลกแล้ว กลุ่มชาติพันธุ์หรือกะเหรี่ยงอย่างเราจะไปอยู่ที่ไหนยังไงก็ยังไม่ทราบ” 

นอกจากนี้พงษ์ศักดิ์ยังแสดงความกังวลถึงปัญหาต่างๆ ที่ยังไม่ถูกแก้ไขตลอดระยะเวลา 25 ปีที่ผ่านมา ซึ่งยังไม่เห็นท่าทีว่าเจ้าหน้าที่หรือหน่วยงานภาครัฐจะมีการจัดการแก้ไขอย่างไร และจะไปในทิศทางไหนต่อไป

ด้านชญาธนุสกล่าวว่า เมื่อแก่งกระจานเป็นมรดกโลกแล้ว จะไม่สามารถเข้าไปพัฒนา เปลี่ยนแปลงพื้นที่ หรือเข้าไปวิจัยและฟื้นฟูวิถีชีวิตของชาวกะเหรี่ยงได้อีก ทาง ภาคี #saveบางกลอย กำลังมองไปยังโมเดลเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร เพื่อให้ชาวบ้านกลับเข้าไปเลี้ยงชีพด้วยการทำไร่หมุนเวียนตามวิถีเดิม เนื่องจากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ที่ยังรุนแรง ชาวกะเหรี่ยงบางส่วนไม่สามารถประกอบอาชีพในเมืองได้ ดังนั้น จึงต้องแก้ไขปัญหาเรื่องการทำกินของชาวบ้านด้วยการเสนองานวิจัยเกี่ยวกับการทำเกษตรแบบไร่หมุนเวียน เพื่อที่จะสามารถกลับขึ้นไปทำเกษตรกรรมตามเดิม แต่ยังติดขัดในการพิสูจน์เรื่องระบบไร่หมุนเวียนว่ามีผลกระทบต่อธรรมชาติหรือไม่ จึงจำเป็นต้องมีการดำเนินการแก้ไขในประเด็นนี้ต่อไป

มรดกธรรมชาติ และมรดกวัฒนธรรม เส้นขนานที่ไม่สามารถบรรจบกัน

เกรียงไกรเผยว่า เห็นด้วยกับทางองค์กรอย่าง IUCN (International Union for Conservation of Nature) และ UNESCO รวมถึงบุคลากรที่ยืนยันในหลักการสิทธิมนุษยชน แม้บางฝ่ายจะมองว่า เรื่องสิทธิมนุษยชนไม่เกี่ยวข้องกับการขึ้นทะเบียนมรดกโลกก็ตาม และแม้ว่าจะมีกลุ่มชาติพันธุ์ต่างประเทศยื่นหนังสือเพื่อแสดงจุดยืนถึงปัญหาชาวบ้านบางกลอย แต่ก็แทบไม่มีผลอะไรต่อการขึ้นทะเบียนมรดกโลกที่ได้ประกาศไปแล้ว

“เป็นเรื่องน่าเสียดาย เพราะในกระบวนการทำงานที่เราคาดหวังว่าจะมีมรดกโลกทางธรรมชาติ และมรดกโลกทางวัฒนธรรมอยู่ร่วมกัน แต่สิ่งนี้ก็ยังไม่เกิดขึ้น ทั้งที่เราพยายามจะใช้ทางสายกลางเป็นทางออก แต่น่าเสียดายที่ไม่ถูกพูดถึง”

จากนั้นได้ตั้งข้อสังเกตไว้ว่า ผืนป่าที่ไม่ได้ถูกประกาศเป็นเขตอุทยานแห่งชาติ มักจะไม่เกิดปัญหาขัดแย้งมากนักระหว่างรัฐกับชาวบ้าน แต่เมื่อใดก็ตามที่ผืนป่านั้นถูกประกาศเป็นเขตสงวน กลับมีปัญหาเรื่องเงื่อนไขพิเศษเพิ่มเข้ามา และภายใต้เงื่อนไขพิเศษนี้ ผู้มีอำนาจสามารถดำเนินการในพื้นที่นั้นได้ แต่กับชาวบ้านเองไม่สามารถที่จะมีส่วนร่วมได้แม้กระทั่งที่อยู่อาศัยของตน

การบ้านชิ้นเดิม กับคำถามที่ไร้คำตอบ

จำเนียรเน้นย้ำไปยัง ‘การบ้าน’ ที่ทาง IUCN ได้กล่าวไว้ในที่ประชุมต่อการสะสางปัญหาให้คลี่คลาย ซึ่งเป็นสิ่งที่ทุกฝ่ายต้องร่วมกันแก้ไขปัญหา และดูแลรักษามรดกโลกแห่งใหม่นี้ไม่ให้ถูกทิ้งขว้างตามอย่างมรดกโลกอื่นๆ ในประเทศที่เมื่อเวลาล่วงไปก็ถูกละเลย 

จำเนียรยังกล่าวถึง การให้ความสำคัญกับสิทธิมนุษยชนให้เทียบเท่ากับมรดกโลก โดยเฉพาะการเปลี่ยนทัศนคติและความคิดของฝ่ายรัฐ หน่วยงาน และคนในสังคมที่มีต่อกลุ่มชาติพันธุ์ให้เป็นไปในทางที่ดีและเข้าใจต่อพวกเขาให้มากขึ้น รวมไปถึงการกลับไปทำการบ้านที่ยังคงค้างคา ด้วยการบูรณาการระหว่างความหลากหลายทางวัฒนธรรมและธรรมชาติให้ปรากฏเป็นรูปธรรมและเป็นที่ประจักษ์แก่นานาชาติในอนาคต

“ยกตัวอย่าง รูปแบบของการมีส่วนร่วมของชุมชนที่ IUCN ได้เสนอไปนั้น มีการปฏิบัติจริงจังเป็นรูปธรรมสักแค่ไหน นี่คือโอกาสที่พวกเราต้องเข้ามาพูดคุยกัน ฉะนั้น หลังจากที่ประเทศไทยได้ของขวัญชิ้นนี้มาแล้ว ก็อยากให้องค์กรและภาคส่วนต่างๆ ออกมาช่วยกันหาแนวทางอนุรักษ์ธรรมชาติควบคู่กับวัฒนธรรม รวมไปถึงการร่วมมือ การสนับสนุนการมีส่วนร่วมในกระบวนการพัฒนาที่ต้องมีการพูดคุยกันให้ชัดเจน”

กลไกสำคัญไม่ได้มีเพียงแค่ ‘รัฐ’ อีกต่อไป

ทางด้านศาสตราจารย์สุริชัยแนะนำถึงการสร้างความเข้าใจร่วมกันทั้งในภาครัฐ ภาคประชาสังคม และประชาชน ต่อความซับซ้อนในประเด็นปัญหาที่ชาวบ้านบางกลอยกำลังประสบ ซึ่งเป็นเรื่องที่ท้าทาย แต่หากไม่สำเร็จ นั่นแปลว่าเรากำลังสร้างปัญหาซ้ำซาก รวมถึงการทำงานขององค์กรและภาคส่วนต่างๆ ที่ถือเป็นกลไกสำคัญไม่ต่างกับรัฐ ในการเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งในอนุกรรมการต่างๆ ที่จะช่วยทวงคืนความยุติธรรมให้แก่ชาวบ้านบางกลอยในอนาคต ซึ่งการตื่นตัวของคนรุ่นใหม่ก็จะช่วยให้ประเด็นของชาวบางกลอย กลายมาเป็นประเด็นร่วมของสังคมในการจัดการแก้ไขเพื่อจะเคลื่อนไปข้างหน้าต่อไป

“จากนี้ไปกลไกการทำงานจะต้องไม่จำกัดอยู่แค่เฉพาะภาครัฐ เพราะยังมีองค์กรอิสระอื่นๆ อีก หรือถ้ามองในมุมที่กว้างออกไป ภาคประชาสังคมคิดยังไง ผมคิดว่า การตื่นตัวของคนรุ่นใหม่ที่ห่วงใยเรื่องนี้โดยผ่านแฮชแท็ก #saveบางกลอย ก็น่าจะเป็นสะพานเชื่อมให้เราดึงเรื่องบางกลอยเป็นประเด็นร่วมกันของสังคมที่จะเดินไปข้างหน้าได้”

เราจะเดินไปข้างหน้ากันอย่างไร

ชญาธนุสเสนอว่า ควรจะมีการผลักดันองค์กรเคลื่อนไหวให้มีอำนาจมากขึ้น

เนื่องจากแม้จะมีการรวมตัวกันขององค์กรต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มชาติพันธุ์ แต่เป็นเพียงแค่เครือข่ายชุมชน ไม่มีอำนาจที่จะเข้าไปบริหารจัดการในประเด็นที่เกี่ยวเนื่องกับชีวิตของตนได้เลย 

อีกประเด็นที่มีความน่าเป็นห่วงคือ การทำวิจัยของคณะอนุกรรมการไร่หมุนเวียนที่ยังไม่ได้ริเริ่ม ซึ่งจะเป็นสิ่งสำคัญในการที่จะตัดสินว่า ชาวบ้านจะสามารถกลับไปดำเนินชีวิตดังเดิมในพื้นที่บ้านเกิดได้หรือไม่ 

“ตอนนี้หลายคนก็น่าจะรอผลวิจัยนี้เป็นหลัก เพราะไร่หมุนเวียนจะเป็นคีย์สำคัญว่า เราจะอยู่ร่วมกับมรดกโลกนี้ได้จริงๆ หรือเปล่า ที่ผ่านมาไร่หมุนเวียนเคยมีภาพลักษณ์และภาพจำที่ผิด จะเรียกว่าเป็นเฟคนิวส์หรืออคติที่เกี่ยวกับไร่เลื่อนลอยก็ได้ แต่เมื่อได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกแล้ว ประเด็นนี้ก็ควรจะถูกหยิบยกมาถกเถียงกันมากขึ้น” 

ทางออกอีกทางคือ ร่าง พ.ร.บ.สภาชนเผ่า ที่ได้มีการส่งรายชื่อไปแล้ว แต่ขณะนี้ยังไม่ถูกบรรจุเข้าไปในวาระการประชุมของคณะรัฐมนตรี ซึ่งหากผ่านที่ประชุมแล้วก็จะช่วยเสริมสร้างให้การต่อสู้ในเรื่องนี้หนักแน่นขึ้น และทำให้ชาวบ้านบางกลอยสามารถมีสิทธิในการจัดการปัญหาของตนเองได้

ในตอนท้าย ชญาธนุสมองว่า คนรุ่นใหม่คือความหวังในการที่จะขับเคลื่อนปัญหาที่ซับซ้อนเหล่านี้ให้สังคมได้ตระหนักมากขึ้น ด้วยข้อมูลข่าวสารที่กว้างไกลและรวดเร็วเป็นตัวช่วยสำคัญในการเผยแพร่ ดังเห็นได้จากแฮชแท็ก #saveบางกลอย ที่เป็นผลมาจากการช่วยกระจายข้อมูลให้คนในสังคมได้ตระหนัก รับรู้ถึงปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นกับชาวบ้านบางกลอย 

ทางด้านเกรียงไกรคาดหวังว่า รัฐเองจำเป็นต้องเปลี่ยนมุมมองใหม่ที่มีต่อกลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งมุมมองของรัฐมักเกี่ยวเนื่องกับความมั่นคงเป็นหลัก โดยไม่ได้คำนึงถึงประเด็นวิถีชีวิตวัฒนธรรม ทำให้หาทางออกได้ยาก

ประเด็นต่อมาคือ การขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกจะทำให้เกิดความร่วมมือกันระหว่างภาครัฐและชาวบ้านบางกลอยมากขึ้น เนื่องจากที่ผ่านมาแม้ชาวบ้านจะพยายามให้ความร่วมมือกับรัฐ แต่ก็ไม่มีช่องทางให้สามารถเข้าร่วมได้เลย

เกรียงไกรกล่าวต่อถึงความคาดหวังข้อสุดท้าย ในเรื่องการคลี่คลายคดีการหายตัวไปของ บิลลี่ พอละจี และคดีที่ชาวบ้านบางกลอยคนอื่นๆ ถูกคุกคามตลอดช่วงระยะเวลาที่พวกเขาต่อสู้เรียกร้องสิทธิในที่ดินทำกิน ทว่าจนบัดนี้คดีต่างๆ ก็ยังไม่ถูกทำให้คลี่คลายลงแต่อย่างใด

“อีกมุมหนึ่งที่อยากตั้งคำถามก็คือ ของขวัญจากการเป็นมรดกโลกครั้งนี้ จะสามารถคลี่คลายคดีบิลลี่ได้ไหม ไปให้สุดได้ไหม ไปสู่การตัดสินได้ไหมว่า ตกลงใครผิด และต้องคลี่คลายคดีอื่นๆ ด้วย”

ใช้มรดกโลกเป็นเครื่องมือแก้ปัญหา

ส่วนจำเนียรเสนอว่า มรดกโลกควรเป็น ‘เครื่องมือ’ ไม่ใช่แค่ ‘เป้าหมาย’ โดยจะต้องเป็นเครื่องมือในการแก้ปัญหาที่ค้างคา การสร้างทัศนคติที่ถูกต้อง แก้ไขปัญหาโครงสร้างการบริหาร สนับสนุนการมีส่วนร่วมระหว่างกลุ่มชาวบางกลอย ภาครัฐ และภาคส่วนอื่นๆ รวมไปถึงการแก้ไขข้อกฎหมายให้รองรับและเป็นธรรมต่อพี่น้องชาวบางกลอย

จำเนียรระบุเพิ่มเติมถึงจุดประสงค์ของการนำมรดกโลกมาเป็นเครื่องมือ คือ การรักษาไว้ซึ่งธรรมชาติและวัฒนธรรมให้อยู่ร่วมกัน เพื่อเป็น 2 เสาหลักของการพัฒนาที่ยั่งยืน ไม่สามารถขาดอย่างใดอย่างหนึ่งได้ และมองว่ามรดกโลกเองสามารถที่จะรักษาไว้ทั้งสองสิ่งนี้ได้ อีกประเด็นคือ การสร้างความเป็นเจ้าของร่วมกัน (gold ownership) และการจัดการร่วมกัน (gold management) 

“การที่แก่งกระจานเป็นมรดกโลก ไม่ได้หมายความว่ามีเพียงกระทรวงใดกระทรวงหนึ่งเป็นเจ้าของตรงนี้ แต่พวกเราล้วนเป็นเจ้าของในการที่จะเข้ามาจัดการ ดูแลมรดกโลกให้เกิดเป็นประโยชน์สูงสุด เพื่อไม่ให้มรดกโลกแห่งใหม่นี้ต้องเผชิญชะตากรรมเดียวกันกับมรดกโลกแห่งอื่นๆ ในไทยที่ไม่ได้รับการดูแลเท่าที่ควร”

ศาสตราจารย์สุริชัยกล่าวต่อในประเด็นการรักษาความหลากหลายของธรรมชาติ และวัฒนธรรมชาติพันธุ์ที่เพิ่งจะถูกให้ความสำคัญบนเวทีโลกเมื่อไม่กี่สิบปีที่ผ่านมา โดยยกตัวอย่างประเทศญี่ปุ่นที่มีกรณีเรื่องการยอมรับชนพื้นเมืองชาวไอนุ ในพื้นที่ฮอกไกโด ซึ่งเป็นพื้นที่มรดกโลกเช่นกัน แม้ระยะแรกทางรัฐบาลจะไม่ยอมรับในการมีอยู่ของกลุ่มชาติพันธุ์ไอนุ แต่สุดท้ายแล้ว ชาวไอนุก็ได้รับการยอมรับและมีสิทธิในการจัดการตนเอง ดังนั้น การมีส่วนร่วมของชุมชนจึงไม่ใช่เรื่องเพ้อฝัน เพราะหลายๆ ประเทศดำเนินการได้ ดังนั้น เราเองก็สามารถเรียนรู้จากกรณีเหล่านี้ได้เช่นกัน

ณัฐวรรณ ทองพันภิญโญ
เด็กประวัติศาสตร์ที่กำลังจะเรียนจบในปีหน้าผู้กำลังรอคอยการไปคอนเสิร์ตอีกครั้งอย่างใจจดใจจ่อ และหาลู่ทางไปเติบโตในสังคมที่ดีกว่า

Photographer

อรสา ศรีดาวเรือง
มือขวาคีบวัตถุติดไฟ มือซ้ายกำแก้วกาแฟ กินข้าวเท่าแมวดม แต่ใช้แรงเยี่ยงงัวงาน เป็นเป็ดที่กระโดดไปข้องแวะกับแทบทุกประเด็นได้อย่างไม่ขัดเขิน สนใจทั้งภาพยนตร์ วรรณกรรม การศึกษา การเมือง และสิ่งแวดล้อม ชอบแสดงอาการว่ายังทำงานไหวแม้ซมพิษไข้อยู่บนเตียง

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า