‘อาวเตอารัว’ สิทธิในธรรมชาติเป็นของทุกผองชน

เมื่อเริ่มเขียนงานชุด ‘โต๋เต๋แบบจนๆ’ ผมตั้งใจว่าจะเล่าประสบการณ์ชีวิตกว่า 6 ปี ในนิวซีแลนด์ แต่พอเล่าเรื่องที่ออกไปเดินหาและเก็บอาหารตามธรรมชาติกับเพื่อนคีวี และไปตกปลากับมิตรสหาย ดังที่เขียนเล่าไปในตอนที่แล้ว (โต๋เต๋แบบจนๆ: เก็บเห็ด หาปลา ชีวิตช้าๆ สไตล์คีวี) ก็ทำให้ผมต้องหวนกลับไปคิดเรื่องสำนึกและความคิดเห็นของคนนิวซีแลนด์ที่มีต่อธรรมชาติ ทรัพยากรธรรมชาติ รวมถึงสิทธิในการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งเป็นสิทธิในการใช้ร่วมกัน โดยเท่าเทียมกัน

จากประสบการณ์ ผมสันนิษฐานว่าความคิดและทัศนคติของคนนิวซีแลนด์ในปัจจุบันในเรื่องสิทธิที่เท่าเทียมกันอาจจะหนักแน่นมั่นคงยิ่งกว่าในอดีตเสียอีก มิใช่เฉพาะในเรื่องการใช้ทรัพยากรธรรมชาติเท่านั้น หากยังรวมถึงเรื่องอื่นๆ ที่คนในประเทศมีสิทธิที่จะได้รับอย่างเท่าเทียมกัน โดยได้รับการตอกย้ำและยืนยันด้วยตัวบทกฎหมายต่างๆ ที่ออกมาใหม่ และการกระทำอย่างจริงจังของรัฐบาลผ่านหน่วยงานต่างๆ ของรัฐ และองค์กรอิสระทั้งหลาย

ด้วยเหตุนี้ ผมจึงคิดว่าควรเขียนถึงเรื่องทัศนคติและความคิดในสังคมนิวซีแลนด์ และพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นเรื่องปฏิสัมพันธ์ทางการเมืองระหว่างชาวเมารีกับรัฐบาลนิวซีแลนด์ ซึ่งส่งผลต่อความคิด/ความเชื่อในเรื่องการใช้ทรัพยากรธรรมชาติและสิทธิในการใช้ และการต่อสู้/เรียกร้องทางการเมืองที่นำไปสู่การยอมรับสิทธิของชนพื้นเมืองเมารี ชนชั้นแรงงาน และผู้หญิง

แล้วท่านผู้อ่านลองเปรียบเทียบกับเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมไทยในขณะนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องทรัพยากรธรรมชาติและสิทธิในการใช้ ที่เห็นได้อย่างชัดเจนว่าแตกต่างโดยสิ้นเชิงกับประเทศนิวซีแลนด์ ซึ่งรัฐบาลยอมรับและรับรองสิทธิของประชากรในประเทศ

photo: Ben

ธรรมชาติและสิทธิ

ผมคิดว่าคนนิวซีแลนด์จำนวนมาก – ถ้าไม่ใช่คนส่วนใหญ่ – ชอบออกไปใช้ชีวิตกลางแจ้งที่ปกติมักทำกันในฤดูร้อนหรือใบไม้ผลิ อาจเป็นเพราะบ้านเมืองส่วนใหญ่อยู่ใกล้กับธรรมชาติ เดินออกจากบ้านไปไม่ไกลก็เจอสวนสาธารณะ เช่น ดันนิดินและเวลลิงตัน สองเมืองใหญ่ที่ผมเคยอาศัยอยู่มีสวนสาธารณะที่กว้างใหญ่ทีเดียว อยู่บนเนินเขาที่มองเห็นเมืองอยู่ด้านล่าง ชาวเมืองจึงนิยมไปเดินชมพรรณไม้ดอกไม้นานาชนิดหรือชมวิวของเมือง คนที่ไปจ๊อกกิ้งวิ่งออกกำลังกายก็มีไม่น้อย หรือถ้าขับรถออกจากเมืองไปสักพักก็อาจเจอชายทะเลหรือแม่น้ำ และเป็นเรื่องปกติที่จะพบบริเวณที่สามารถนั่งปิกนิกริมทะเลหรือแม่น้ำได้ บางแห่งก็กว้างขวางพอให้เด็กๆ วิ่งเล่นได้ ในด้านหนึ่ง การไปปิกนิกจึงเป็นกิจกรรมของครอบครัวในวันหยุดที่แต่ละครั้งอาจกินเวลานานครึ่งวันหรือนานกว่านั้น

ดอน โดนัลด์สัน อดีตอาจารย์สอนวิทยาลัยครู ผู้สอนผมหลายเรื่องเกี่ยวกับสังคมนิวซีแลนด์ คงเป็นตัวอย่างที่ดีของคนคีวีที่ชอบไปปิกนิก เก็บเห็ดหาอาหารตามธรรมชาติ เดินเล่นชมวิวในสถานที่ที่เป็นพื้นที่สาธารณะ เช่น ชายทะเล สวนสาธารณะของเมือง หรือที่อื่นๆ แต่ที่อาจสำคัญยิ่งกว่าคือ เขาเชื่อว่าทุกคนมีสิทธิที่จะใช้ประโยชน์ในพื้นที่สาธารณะและทรัพยากรธรรมชาติที่อยู่ในพื้นที่นั้น ด้วยเหตุนี้ หาดทรายริมทะเล ตลิ่งริมแม่น้ำ และป่าไม้ทุกแห่งที่ไม่ใช่สวนป่าเพื่อการค้า จึงเป็นที่ที่ทุกคนสามารถเข้าไปเดินเล่น ปิกนิก ชมวิว หรือแม้แต่เข้าไปตกปลา หาและเก็บพืชพรรณธัญญาหารที่ขึ้นตามฤดูกาลได้

สำหรับคนนิวซีแลนด์ การออกไปปิกนิกจึงมิได้มีความหมายแค่การออกไปใช้ชีวิตกลางแจ้ง หากยังสัมพันธ์กับความคิดเรื่องทรัพยากรธรรมชาติและสิทธิในการเข้าถึงและใช้ทรัพยากรด้วย ทั้งนี้เพราะสังคมนิวซีแลนด์เน้นว่าทุกคนมีสิทธิในการใช้พื้นที่สาธารณะและประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติที่อยู่ในพื้นที่นั้นๆ ด้วย แน่นอน การใช้พื้นที่และประโยชน์ทั้งหลายต้องอยู่ภายในขอบเขตที่กฎหมายกำหนดไว้ และกิจกรรมบางประเภทก็มีการเก็บภาษี เช่น การตกปลาแม่น้ำและในทะเลสาบมีค่าธรรมเนียมรายปีที่นักตกปลาต้องจ่าย รายได้ประเภทนี้จะถูกนำไปใช้เป็นค่าใช้จ่ายในการรักษาดูแลสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติของแม่น้ำ ทะเลสาบ และป่าเขานั่นเอง

อันที่จริง กฎหมายของประเทศนี้ได้พัฒนาไปไกลจนดูล้ำหน้าประเทศอื่นๆ ในบางเรื่อง นอกจากมีความก้าวหน้าอย่างยิ่งแล้ว ยังมีความลึกล้ำและซับซ้อนอีกด้วย ดังจะเห็นได้จากกรณีของกฎหมายที่เรียกว่า ‘เต อะวา ทูพูอะ’ (Te Awa Tupua) ซึ่งมีความหมายว่า ‘ข้อตกลงค่าสินไหมทดแทนแม่น้ำวังกานูอิ’ (Whanganui River Claims Settlement) ที่ให้การรับรองสถานภาพการเป็นบุคคลทางกฏหมาย (legal personality) ของแม่น้ำวังกานูอิ อีกทั้งยังเป็นการยืนยันว่า รัฐบาลและสังคมนิวซีแลนด์ยอมรับความสัมพันธ์อันพิเศษระหว่างแม่น้ำวังกานูอิกับชาวเมารีเผ่าวังกานูอิ นับเป็นชัยชนะของชาวเมารีในการเรียกร้อง/ต่อสู้เพื่อสิทธิทางการเมือง-กฎหมายของตนมาอย่างยาวนาน

การที่แม่น้ำวังกานูอิมีสถานภาพของการเป็นบุคคลทางกฏหมายนี้ นอกจากจะทำให้แม่น้ำสายนี้มีสิทธิและความรับผิดชอบเช่นเดียวกับบุคคลทั่วไป ยังเป็นการสะท้อนถึงความสัมพันธ์ทางบรรพบุรุษที่เฉพาะระหว่างชาวเมารีเผ่าวังกานูอิกับแม่น้ำสายนี้ เพราะผู้คนที่ดำรงชีวิตอยู่ตามลำน้ำมิได้เพียงอาศัยแม่น้ำสายนี้เป็นแหล่งอาหารเท่านั้น หากยังมีความผูกพันเชิงจิตวิญญาณที่ลึกล้ำกับลำน้ำอีกด้วย

และนี่คือความน่าทึ่ง/น่าสนใจอย่างยิ่งของกฎหมายฉบับนี้ รวมถึงความคิดและทัศนคติของรัฐบาล/สังคมนิวซีแลนด์ ที่มีต่อคนพื้นเมืองและสิทธิของผู้คนเหล่านี้ และเป็นการสะท้อนถึงการที่รัฐบาล/สังคมนิวซีแลนด์ยอมรับความคิด ความเชื่อ โลกทัศน์ของคนเมารีที่มีต่อสายน้ำ สภาพแวดล้อมทางธรรมชาติและทรัพยากรธรรมชาติ ว่ามีความซับซ้อนทั้งด้านกายภาพและจิตวิญญาณ ในแง่นี้ ธรรมชาติจึงมี ‘ความศักดิ์สิทธิ์’ ที่มนุษย์จะต้องยอมรับและแสดงความเคารพ พร้อมทั้งต้องรักษา ดูแล ให้มีความยั่งยืนสืบต่อไปถึงคนรุ่นต่อๆ ไป (ดูรายละเอียดใน นิติ ภวัครพันธุ์, “แม่น้ำคือบุคคล คืนอำนาจให้ชนพื้นเมือง”, WAY Magazine, 2 March 2021.) 

พูดสั้นๆ ก็คือ คนนิวซีแลนด์ยอมรับความสำคัญของธรรมชาติ ให้ความเคารพ มิได้มองทรัพยากรธรรมชาติว่าเป็นเพียงวัตถุหรือสิ่งของที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจเท่านั้น หากยังเป็นสิ่งที่มีคุณค่าทางสังคม-วัฒนธรรม เป็นสิ่งที่มีจิตวิญญาณแฝงอยู่ ธรรมชาติจึงมีความศักดิ์สิทธิ์ที่ไม่ควรลบหลู่ ด้วยเหตุนี้ การใช้ทรัพยากรธรรมชาติจึงต้องใช้ด้วยความเคารพ และคำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อคนรุ่นหลังในอนาคต

ทว่า คำถามคือวิธีคิดเช่นนี้มาจากไหน? ผมสันนิษฐานว่าน่าจะมาจากการผสมผสานความคิดและทัศนะที่มีต่อธรรมชาติและการอนุรักษ์ธรรมชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ต่อประเด็นเรื่องการเผชิญกับปัญหาโลกร้อนในปัจจุบันและการแก้ไขปัญหานี้ เข้ากับความคิดและความเชื่อในวัฒนธรรมเมารีที่มีต่อธรรมชาติ ที่เน้นว่าคุณสมบัติของธรรมชาตินั้นมีทั้งด้านกายภาพและจิตวิญญาณ มนุษย์ซึ่งเป็นเพียงส่วนหนึ่งของธรรมชาติที่ยิ่งใหญ่กว่า ต้องอาศัยธรรมชาติเพื่อการอยู่รอด ด้วยเหตุนี้ มนุษย์จึงต้องให้ความเคารพต่อธรรมชาติ และใช้ทรัพยากรที่ธรรมชาติมอบให้ด้วยความเข้าใจ และคำนึงถึงผลประโยชน์อันยั่งยืน ไม่เพียงแต่เพื่อการอยู่รอดของลูกหลานเท่านั้น หากยังเป็นการอยู่รอดของ ‘ความเป็นเมารี’ อีกด้วย

เมฆขาวเป็นแนวยาว: การยอมรับสิทธิชนพื้นเมือง

อาวเตอารัว (Aotearoa) ที่เป็นชื่อบทความตอนนี้ เป็นภาษาเมารี (ซึ่งหากออกเสียงให้ถูกต้อง ควรเป็น ‘มาวรี’)[1] ที่มีคำแปลหลายความหมาย แต่คำแปลที่ใช้กันบ่อยจนเป็นที่ยอมรับกันคือ ‘เมฆขาวเป็นแนวยาว’ หรืออีกความหมายหนึ่งคือ ‘ดินแดนแห่งเมฆขาวเป็นแนวยาว’ อันหมายถึงประเทศนิวซีแลนด์นั่นเอง ว่ากันว่าเริ่มแรกที่คำคำนี้ถูกใช้มีความหมายเฉพาะเกาะเหนือของประเทศเท่านั้น เนื่องจากคนเมารีค้นพบเกาะเหนือก่อนเกาะใต้ การตั้งรกรากถิ่นฐานในยุคแรกๆ ก็อยู่บนเกาะเหนือ และก่อนที่คนยุโรปจะอพยพเข้ามาในดินแดนนี้ยังไม่มีคำในภาษาเมารีที่หมายถึงนิวซีแลนด์ทั้งประเทศ มีเพียงคำเรียกเกาะเหนือและเกาะใต้

ยังไม่มีข้อสรุปหรือการยืนยันถึงที่มาหรือความหมายอันแท้จริงของคำว่า ‘อาวเตอารัว’ ทว่า มีเรื่องเล่าเกี่ยวกับคำนี้หลายเรื่อง เรื่องเล่าดั้งเดิมของชาวโพลิเนเชียระบุว่า อาวเตอารัวเป็นชื่อเรือคานูของ ‘คูเป’ (Kupe) นักสำรวจ นักเดินเรือ และผู้นำเชิงตำนานที่เก่งกล้า เขาเป็นผู้ค้นพบดินแดนแห่งนี้ และเรียกชื่อดินแดนแห่งใหม่นี้ตามชื่อเรือ บ้างก็ว่า ‘คูรามาโรตินิ’ (Kuramarotini) ภรรยาของคูเป (บางตำนานว่าเป็นลูกสาวของเขา) มองเห็นบางสิ่งบางอย่างที่ขอบฟ้า จึงร้องขึ้นว่า “เฮอาว เฮอาว” (He ao! He ao!) ซึ่งหมายถึง “เมฆ เมฆ” บางตำนานเล่าว่าเรือคานูแล่นไปตามเมฆขาวที่ลอยเป็นแนวยาว จนกระทั่งลูกเรือของคูเปสังเกตเห็นแผ่นดินในแนวก้อนเมฆ ส่งผลให้คูเปสนใจ และเรียกแผ่นดินที่เห็นว่า ‘อาวเตอารัว’

ในกลางคริสต์ศตวรรษที่ 19 ขบวนการทางการเมืองของชาวเมารีที่รู้จักกันในนามว่า ‘คิงงิทางกา’ (Kingitanga) หรือ ‘Maori King Movement’ ใช้คำว่า ‘อาวเตอารัว’ เพื่อต่อสู้เรียกร้องสิทธิของชาวเมารี เพราะคำนี้มีนัยว่านิวซีแลนด์เป็นดินแดนหรือประเทศของชาวเมารี อย่างไรก็ตาม คำคำนี้เป็นที่ยอมรับกันอย่างกว้างขวางและถูกใช้บ่อยขึ้นในราวทศวรรษ 1990 เพื่อใช้เรียกประเทศนิวซีแลนด์ จึงมีทั้งชื่อภาษาอังกฤษและชื่อภาษาเมารี

คงไม่ผิดนักหากจะกล่าวว่า ในคริสต์ศตวรรษที่ 21 ความเป็นเมารีถูกผสมผสานอย่างกลมกลืนเข้ากับความเป็นคีวี กลายเป็นอัตลักษณ์ของประเทศ ที่ยอมรับความคิด/ความเชื่อในวัฒนธรรมเมารี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นเรื่องธรรมชาติและการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ ดังจะเห็นได้จากกฎหมาย ‘ข้อตกลงค่าสินไหมทดแทนแม่น้ำวังกานูอิ’ ที่พาดพิงถึงข้างต้น

คนเมารีกับธรรมชาติ

นักโบราณคดีสันนิษฐานว่า ชาวเมารีเข้ามาตั้งถิ่นฐานในนิวซีแลนด์เมื่อราว 1,000 ปีที่แล้ว แม้ว่าสภาพภูมิอากาศจะค่อนข้างหนาวเย็นและเปียกชื้น แต่เป็นดินแดนที่อุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากรธรรมชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งทรัพยากรอาหารทั้งบนบกและในทะเล

เรย์มอนด์ เฟิร์ธ (Raymond Firth) นักมานุษยวิทยานิวซีแลนด์ผู้โด่งดัง ระบุไว้ในวิทยานิพนธ์ปริญญาโทที่มากมายด้วยข้อมูลอันน่าทึ่งของเขาว่า ความมั่งคั่งด้วยทรัพยากรธรรมชาติในดินแดนแห่งนี้ส่งผลให้ภาษาเมารีรุ่มรวยด้วยคำศัพท์มากมายที่ใช้เรียกสิ่งทั้งหลายในธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นต้นไม้ นก ไม้พุ่ม พรรณไม้ หิน ปลา เมฆ ลม และดวงดาว เขาพาดพิงถึงรายงานของนักมานุษยวิทยาอีกคนหนึ่งที่ระบุว่า คนเมารีเผ่าทูโฮอิ (Tuhoe) มีคำเรียกชื่อนกมากถึง 100 ชื่อ มีตระกูลนกต่างๆ ที่คนทูโฮอิรู้จักราว 50 ชื่อตระกูล ชื่อพรรณไม้ราว 280 ชื่อ และราว 60 ชื่อที่ใช้เรียกแมลง ไส้เดือน และสัตว์ที่มีชนิดคล้ายคลึงกัน ทั้งหมดนี้เป็นเพียงเศษเสี้ยวเล็กๆ ของคำศัพท์ในภาษาเมารีที่ใช้เรียกสิ่งต่างๆ ในธรรมชาติ[2]

ทรัพยากรธรรมชาติทั้งหลายนี้เป็นแหล่งอาหารของชาวเมารี จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งในการดำรงชีวิตของพวกเขา ด้วยเหตุนี้ คนเมารีเผ่าต่างๆ จึงต้องพยายามปกป้องรักษาทรัพยากรเหล่านี้ไว้เพื่อการบริโภคของคนในเผ่า จึงไม่น่าแปลกใจที่พวกเขาจะต่อสู้/รบราฆ่าฟันกันระหว่างเผ่า เพื่อรักษาหรือแม้แต่แย่งชิงทรัพยากรที่จำเป็นทั้งหลาย

อย่างไรก็ตาม มีนักโบราณคดีบางคนโต้แย้งว่าการทำสงครามระหว่างเผ่าเมารี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในศตวรรษที่ 18 ที่ปรากฏในเอกสารของคนต่างชาติ อาจมิใช่เพื่อปกป้องหรือแย่งชิงทรัพยากรธรรมชาติเท่านั้น แต่อาจมีเหตุผลอื่นด้วย เช่น ความคิด/ความเชื่อในเรื่อง ‘ทาพู’ (tapu) โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับความตาย[3]

ในความเชื่อของชาวเมารี ทาพูคือพลังอันแข็งแกร่งของชีวิต และอาจมีความหมายต่างๆ ได้หลายประการ เช่น อาจตีความว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ก็ได้ หรืออาจนิยามว่าเป็น ‘ข้อจำกัดทางจิตวิญญาณ’ (spiritual restriction) ที่ประกอบด้วยกฎเกณฑ์และข้อห้ามที่สำคัญ ด้วยเหตุนี้ บุคคล สิ่งของ/วัตถุ หรือสถานที่ที่เชื่อกันว่ามีทาพูดำรงอยู่ จึงเป็นสิ่งที่ไม่อาจแตะต้องได้ หรือในบางกรณี ไม่อาจแม้แต่จะเข้าใกล้ได้[4]

เช่นเดียวกับชาวโพลิเนเชียกลุ่มอื่นๆ คนเมารีให้ความสำคัญต่ออวัยวะส่วนต่างๆ ในร่างกายในลักษณะเดียวกับสถานภาพทางสังคม ในแง่ที่ว่าร่างกาย (และสังคม) มีความสำคัญตามลำดับชั้น ศีรษะ ใบหน้า และส่วนที่อยู่เหนือร่างกายเป็นที่ตั้งของ ‘มานะ’ (mana) และทาพู ของทั้งผู้หญิงและผู้ชาย แม้แต่คนธรรมดาทั่วไป ศีรษะก็เป็นส่วนที่มีความสำคัญเช่นกัน สำหรับคนเมารี มานะมีนัยของอำนาจนอกเหนือธรรมชาติของบุคคลแต่ละคน ที่นำไปสู่เกียรติยศ อำนาจ พลัง อิทธิพล สถานภาพ อำนาจเชิงจิตวิญญาณ และบารมีของผู้นั้น[5]

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากสังคมเมารีมีการแบ่งลำดับชั้น ศีรษะของหัวหน้าเผ่าซึ่งเป็นนักรบ คือศูนย์รวมที่สำคัญที่สุดของมานะ ดังนั้น จึงเป็นบริเวณที่มีทาพูที่น่ากลัวที่สุดอีกด้วย รอยสักบนใบหน้าของชาวเมารีที่เรียกกันว่า ‘ตา โมโกะ’ (Ta moko) จึงมิได้มีนัยของอัตลักษณ์ของบุคคลแต่ละบุคคลเท่านั้น หากยังแฝงไว้ด้วยมานะและพลังของทาพูอีกด้วย นอกจากนี้ หากเกิดเหตุใดขึ้นก็ตาม หรือมีกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับศีรษะ เช่น เมื่อหัวหน้าเผ่ากินอาหารหรือตัดผม จะเชื่อกันว่าเป็นสถานการณ์ที่น่ากลัว และต้องระแวดระวังอย่างยิ่ง

การตัดผมถือเป็นพฤติกรรมที่เหมือนกับการฆ่าฟัน เพราะเกี่ยวข้องกับศีรษะและการตัด หลังจากที่ตัดผมแล้ว มือทั้งสองข้างของผู้ที่ตัดผมให้หัวหน้าเผ่าไม่อาจใช้แตะต้อง จับ หรือทำกิจกรรมสำคัญๆ เช่น การกินอาหาร อย่างน้อยในช่วงเวลาหนึ่ง เพราะถือว่าเป็นทาพู จึงต้องมีผู้อื่นคอยป้อนอาหารให้ คนที่ตัดผมของหัวหน้าเผ่ามักเป็นภรรยาของหัวหน้า หรือคนในกลุ่มของหัวหน้าเผ่าเอง ว่าไปแล้วนัยของการป้อนอาหารก็เพื่อแสดงให้เห็นฐานะที่สูงกว่าของเหล่าหัวหน้าและครอบครัว นอกจากนี้ มือของหัวหน้าเผ่าผู้ยิ่งใหญ่มีชื่อเสียงก็เชื่อกันว่ามีความสำคัญและอันตราย มีอันตรายมากเสียจนไม่อยากยกมือขึ้นไปชิดกับศีรษะ เพราะเชื่อกันว่าหากทำเช่นนั้นแล้วอาจเกิดเหตุร้ายขึ้นกับหัวหน้าเผ่าผู้นั้น[6]

จิตวิญญาณของธรรมชาติ

ในโลกทัศน์เชิงจารีตของคนเมารี สรรพสิ่งทั้งหลายในธรรมชาติเป็นหนึ่งเดียวกัน ไม่อาจแยกออกจากกันได้ ยิ่งกว่านั้น ธรรมชาติมิได้มีเพียงสภาวะทางกายภาพเชิงภูมิศาสตร์ที่มนุษย์มองเห็นและจับต้องได้เท่านั้น หากยังแฝงไว้ด้วยพลังอันยิ่งใหญ่ที่มีจิตวิญญาณดำรงอยู่ ด้วยเหตุนี้ ความเชื่อเรื่องทาพู หรือพลังอันแข็งแกร่งของชีวิต จึงมิได้ดำรงอยู่เพียงในมนุษย์หรือสิ่งมีชีวิตอื่นๆ เท่านั้น หากยังมีอยู่ในสถานที่บางแห่ง เช่น ป่าไม้ ภูเขา แม่น้ำ ทะเลสาบ มหาสมุทร และทำให้สถานที่เหล่านี้มีพลังแห่งชีวิต เป็นสภาวะแห่งจิตวิญญาณ แฝงไว้ด้วยความศักดิ์สิทธิ์ หรือ ‘พลัง/อำนาจอันศักดิ์สิทธิ์’ ตัวอย่างที่ดีของความเชื่อนี้คือ ความศักดิ์สิทธิ์ของแม่น้ำวังกานูอิ

เล่ากันว่าคนเมารีเผ่าวังกานูอิดำรงชีวิตอยู่คู่กับแม่น้ำวังกานูอิมานานกว่า 700 ปี ลำน้ำสายนี้เปรียบเสมือนทุกสิ่งทุกอย่างของพวกเขา ที่สำคัญคือมันเป็น ‘อะวา ทูพูอะ’ (awa tupua) หรือ ‘แม่น้ำแห่งอำนาจศักดิ์สิทธิ์’ ลำน้ำสายนี้จึงมีคุณค่าเชิงจิตวิญญาณที่คนผิวขาวหรือผู้คนกลุ่มอื่นอาจไม่เข้าใจ 

สำหรับคนเมารีเผ่านี้ แม่น้ำวังกานูอิมิได้เป็นเพียงแหล่งอาหารเท่านั้น แต่เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติอันยิ่งใหญ่ที่มนุษย์ต้องพึ่งพิงอาศัย จึงเป็นทุกสิ่งทุกอย่างในการอยู่รอดของคนเมารี และก่อให้เกิดความผูกพันเชิงจิตวิญญาณที่ลึกล้ำระหว่างแม่น้ำกับคนเผ่านี้

ชัยชนะของพรรคแรงงาน

ในความคิดของผม ทัศนะและความคิดในเรื่องธรรมชาติและการอนุรักษ์ธรรมชาติเพื่อการใช้ประโยชน์อันยั่งยืนในสังคมนิวซีแลนด์ อาจสอดคล้องกับความคิด/ความเชื่อเชิงจารีตในวัฒนธรรมเมารี (ในแง่นี้ จึงเป็นเหตุผลหนึ่งที่รัฐสภายอมรับและผ่านกฎหมายรับรองการมีสถานภาพเป็นบุคคลของแม่น้ำวังกานูอิ รับรองสถานภาพทางกฎหมายของชาวเมารีเผ่าวังกานูอิ และสิทธิในการใช้ประโยชน์จากแม่น้ำและพื้นที่โดยรอบที่อยู่ในระบบนิเวศวิทยาของลำน้ำสายนี้) ทว่า ผมสันนิษฐานว่าความคิดในเรื่องสิทธิที่มีร่วมกัน เท่าเทียมกัน ในการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและพื้นที่สาธารณะในสังคมนิวซีแลนด์ อาจเกี่ยวข้องหรือมีอิทธิพลของแนวคิดสังคมนิยมแฝงอยู่ก็ได้

ดอน โดนัลด์สัน เป็นผู้หนึ่งที่มีความคิดเชิงสังคมนิยม แม้ว่าเจ้าตัวจะไม่เคยอ้างว่าใช่ก็ตาม แต่หากสนทนาเรื่องการเมืองกับเขา เขาจะพาดพิงถึงชัยชนะของพรรคแรงงานในทศวรรษ 1930 เสมอ เป็นชัยชนะที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงอันมากมายทางสังคมและเศรษฐกิจของนิวซีแลนด์ และเป็นจุดเริ่มต้นของพัฒนาการไปสู่การเป็นรัฐสวัสดิการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องสวัสดิการที่ให้ต่อผู้ใช้แรงงาน ครอบครัวที่มีรายได้น้อย เด็กและผู้สูงวัย รวมถึงครอบครัวพ่อแม่เดี่ยว

พรรคแรงงาน (Labour Party) เกิดขึ้นจากพัฒนาการของกลุ่มนิยมสังคมนิยมและกลุ่มแรงงานหลายกลุ่มที่ในที่สุดรวมตัวกันก่อตั้งขึ้นเป็นพรรคการเมืองในปี 1916 และ 3 ปีต่อมาก็ชนะการเลือกตั้ง ได้รับเลือกเป็นสมาชิกรัฐสภาจำนวน 8 คน ในการเลือกตั้งในปี 1919 สร้างความตกใจแก่ฝ่ายอนุรักษ์เป็นอย่างยิ่ง หลังจากนั้นจำนวนสมาชิกก็ได้รับเลือกมากขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งเมื่อเข้าสู่ยุคเศรษฐกิจตกต่ำในทศวรรษ 1930 พรรคแรงงานก็ได้รับความนิยมอย่างล้นหลาม นำไปสู่ชัยชนะในการเลือกตั้งในปี 1935 เมื่อสมาชิกของพรรคได้รับคะแนนเสียงจนกลายเป็นพรรคที่มีเสียงข้างมากในรัฐสภา และสามารถตั้งรัฐบาลขึ้นได้ โดยมี ไมเคิล โจเซฟ ซาเวจ (Michael Joseph Savage) เป็นนายกรัฐมนตรี – และเป็นนายกฯ คนแรกที่มาจากพรรคแรงงาน – และเป็นการเริ่มต้นของนโยบายรัฐสวัสดิการ ซึ่งรวมถึงนโยบายการเคหะสำหรับผู้มีรายได้น้อยอย่างจริงจัง

เมื่อ โจเซฟ ซาเวจ เสียชีวิตลงใน ค.ศ. 1940 ปีเตอร์ เฟรเซอร์ (Peter Frazer) จากพรรคแรงงานเช่นกัน ได้รับเลือกเป็นนายกฯ จนกระทั่งพรรคแพ้การเลือกตั้งในปี 1949 แต่ก็เป็นช่วงเวลาที่พรรคแรงงานได้เป็นรัฐบาลยาวนานที่สุด โดยมี ปีเตอร์ เฟรเซอร์ เป็นนายกฯ ที่ยาวนานที่สุดอีกด้วย และการเป็นรัฐบาลที่ยาวนานนี้เองที่ทำให้พรรคสามารถดำเนินนโยบายรัฐสวัสดิการได้อย่างเต็มที่

พรรคแรงงานชนะการเลือกตั้งและได้เป็นรัฐบาลอีกหลายครั้ง จนกระทั่งพรรคชนะการเลือกตั้งในปี 2017 มีที่นั่งในรัฐสภาจำนวน 46 ที่นั่ง มากเป็นที่ 2 ในรัฐสภา และได้ความร่วมมือจากพรรค New Zealand First และพรรค Green Party จัดตั้งรัฐบาลผสมขึ้น โดยมี จาซินดา อาร์เดิร์น (Jacinda Ardern) เป็นนายกรัฐมนตรี อีก 3 ปีต่อมา พรรคก็ชนะการเลือกตั้งในปี 2020 มีที่นั่งในรัฐสภาจำนวน 65 ที่นั่ง มากพอที่จะจัดตั้งรัฐบาลเอง และมีนายกฯ คนเดิม คือ จาซินดา อาร์เดิร์น ผู้ได้รับความนิยมชมชอบอย่างกว้างขวาง ทั้งในประเทศและนานาประเทศ

photo: Nevada Halbert

พรรคแรงงานภายใต้การนำของ จาซินดา อาร์เดิร์น ประสบความสำเร็จอย่างมากด้านเศรษฐกิจ นโยบายทางสังคมและรัฐสวัสดิการต่อชนกลุ่มน้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อคนเมารีและชาวโพลิเนเชียกลุ่มอื่นๆ รวมทั้งต่อผู้ลี้ภัย นอกจากนี้ ยังมีประเด็นสำคัญที่ผมอยากย้ำอีกด้วย คือนโยบายการเคหะสำหรับผู้มีรายได้น้อย ซึ่งพรรคแรงงานเป็นผู้ริเริ่มขึ้นใน ค.ศ. 1935 นั้น ได้รับการสานต่ออย่างจริงจังจากนายกฯ ผู้นี้ ซึ่งได้ประกาศเมื่อต้นปี 2021 ว่ารัฐบาลมีแผนการที่จะสร้างที่อยู่อาศัยในที่ดินของรัฐเพิ่มขึ้นสำหรับผู้มีรายได้น้อย และแผนการนี้ได้รับการตอบขานเป็นอย่างดีจากผู้นำพรรคฝ่ายค้าน ที่ยืนยันว่าพรรคฝ่ายค้านเห็นด้วยกับนโยบายนี้ และจะให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่

ประเทศแรกที่ผู้หญิงมีสิทธิเลือกตั้ง

นิวซีแลนด์มีนายกรัฐมนตรีที่เป็นเพศหญิงจำนวน 3 คน และ จาซินดา อาร์เดิร์น เป็นคนล่าสุด ผู้มีแนวคิดประชาธิปไตยสังคมนิยม (social democracy) การเป็นสาธารณรัฐ และเป็นเฟมินิสต์ เน้นการสนับสนุนความช่วยเหลือต่อผู้ลี้ภัย และผู้มีรายได้น้อย

อย่างไรก็ตาม การที่ผู้หญิงอย่างเธอกลายเป็นผู้นำประเทศไม่ใช่เรื่องที่น่าแปลกใจนัก เพราะหากเราพิจารณาประวัติศาสตร์การเมืองของนิวซีแลนด์ก็จะเข้าใจในเรื่องนี้

ในเว็บไซต์เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของนิวซีแลนด์ระบุว่า ในวันที่ 19 กันยายน ค.ศ. 1893 ผู้สำเร็จราชการนาม ลอร์ด กลาสโกว์ (Lord Glasgow) ได้ลงนามในกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้ง (Electoral Act) ฉบับใหม่ อนุมัติให้ผู้หญิงมีสิทธิในการออกเสียงเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภา ทำให้นิวซีแลนด์กลายเป็นประเทศแรกที่ผู้หญิงมีสิทธิในเรื่องนี้ ว่ากันว่าทำให้ประเทศนี้กลายเป็น ‘ห้องทดลองทางสังคม’ (social laboratory) ในเรื่องสิทธิของสตรีในการออกเสียงเลือกตั้ง และมีประเทศอื่นๆ ทำตาม เช่น รัฐออสเตรเลียใต้ (South Australia) ได้ออกกฎหมายอนุญาตให้สตรีมีสิทธิในการออกเสียงเลือกตั้งในปี 1894

อย่างไรก็ตาม ผู้หญิงนิวซีแลนด์ก็ยังไม่สามารถลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกรัฐสภาได้ จนกระทั่งในปี 1919 เมื่อมีการประกาศใช้กฎหมายว่าด้วยสิทธิในรัฐสภาของสตรี (Women’s Parliamentary Rights Act) และมีผู้หญิงลงสมัครรับเลือกตั้ง 3 คน แต่ไม่มีผู้ใดชนะการเลือกตั้ง[7] ทว่า หลังจากนั้นผู้หญิงก็เข้าสู่การเมืองของประเทศมากขึ้น เช่น ในการเลือกตั้งในปี 1996 มีผู้สมัครเพศหญิงที่ชนะการเลือกตั้งเป็นจำนวนถึง 35 คน หรือเกือบถึง 30 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนสมาชิกรัฐสภาทั้งหมด และในปี 1997 เจนนี ชิปลีย์ (Jenny Shipley) จากพรรค National Party ก็กลายเป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของประเทศ 2 ปีต่อมา เฮเลน คลาร์ก (Helen Clark) จากพรรคแรงงาน ได้กลายเป็นนายกฯ หญิงคนที่ 2 และคนล่าสุดก็คือ จาซินดา อาร์เดิร์น นั่นเอง[8]

หันกลับมามองบ้านเรา

อย่างที่กล่าวไว้ในตอนต้นว่า ประสบการณ์ของผมในการใช้ทรัพยากรธรรมชาติในนิวซีแลนด์ได้นำไปสู่การคิดทบทวนเกี่ยวกับสำนึกและความคิดเห็นของผู้คนในสังคมนั้นที่มีต่อธรรมชาติและทรัพยากร และสิทธิที่มีร่วมกันในการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างเท่าเทียมกัน ซึ่งมีประวัติความเป็นมาและพัฒนาการที่สัมพันธ์กับการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและการเมือง และกับปฏิสัมพันธ์อันยาวนานและซับซ้อนระหว่างชนพื้นเมืองกับรัฐบาล ที่ได้คลี่คลายในแง่บวกมาจนถึงทุกวันนี้ และทำให้ประเทศเล็กๆ อย่างนิวซีแลนด์ได้กลายเป็นหนึ่งในตัวอย่างของประเทศที่ประสบความสำเร็จในการสร้างประโยชน์จากการใช้ทรัพยากรธรรมชาติให้ทุกฝ่ายได้อย่างยั่งยืน พร้อมๆ กับความสำเร็จในการอนุรักษ์ธรรมชาติ ในขณะเดียวกันก็ส่งเสริมและสนับสนุนให้ชนพื้นเมืองและชนกลุ่มน้อยอื่นๆ มีสิทธิทางการเมืองเท่าเทียมกับผู้อื่น โดยได้รับการรับรองอย่างถูกต้องตามกฎหมายที่ออกโดยรัฐสภา

หันมาดูประเทศไทย ความล้มเหลวในการแก้ปัญหาคนกะเหรี่ยงบางกลอยเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนที่สะท้อนให้เห็นว่า รัฐบาลไทยมิได้ใส่ใจ/แยแสในเรื่องสิทธิของชนกลุ่มน้อย ซึ่งทำให้ความขัดแย้งในเรื่องนี้ยังคงดำรงอยู่ และไม่มีทีท่าว่าจะยุติลงด้วยดี และในขณะที่ผมกำลังเขียนอยู่นี้ ชาวบ้านจากอำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ก็ยังคงปักหลักประท้วงการสร้างนิคมอุตสาหกรรมอยู่ข้างทำเนียบรัฐบาล โดยไม่มีแนวโน้มว่ารัฐบาลจะเสนอทางออกที่ทำให้ชาวบ้านพอใจได้เลย 

จนท้ายที่สุดรัฐบาลตัดสินใจหาทางออกด้วยการใช้กำลังตำรวจ คฝ. บุกเข้าสลายผู้ชุมนุมกลุ่มจะนะรักษ์ถิ่น เมื่อกลางดึกของคืนวันที่ 6 ธันวาคม 2564

เชิงอรรถ

[1] ผมเข้าใจว่า หากออกเสียงคำว่า ‘Maori’ ตามเจ้าของภาษา ควรออกเสียงว่า ‘มาวรี’ ไม่ใช่ ‘เมารี’ แต่เพราะผมเห็นว่าในภาษาไทยมักใช้คำว่า ‘เมารี’ จึงใช้คำนี้มาตลอด

[2] Raymond Firth, Economics of the New Zealand Maori (Wellington: A. R. Shearer Government Printer, 1972), p. 58.

นี่เป็นวิทยานิพนธ์ที่น่าทึ่งมาก เพราะนอกจากจะมากมายไปด้วยข้อมูล รายละเอียด และสาระต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการดำรงชีวิตและระบบเศรษฐกิจของชาวเมารีในอดีตแล้ว ยังมีการตีความ/วิเคราะห์ที่น่าสนใจ ที่สำคัญคือเป็นงานเขียนที่ประยุกต์การศึกษาทางมานุษยวิทยาและประวัติศาสตร์ โดยใช้เอกสารต่างๆ ประกอบได้อย่างยอดเยี่ยม และอ่านสนุกมาก

[3] ดูรายละเอียดใน Janet Davidson, “Maori Prehistory: The State of the Art”, The Journal of the Polynesian Society, Volume 92, Number 3, 1983, pp. 291-308.

[4] New Zealand Intellectual Property Office, “Tapu and noa”, Concepts to understand, <https://www.iponz.govt.nz/about-ip/maori-ip/concepts-to-understand/

[5] Te Aka, Maori Dictionary, “mana”, <https://maoridictionary.co.nz/word/3424>

[6] ผมเคยเขียนถึงประเด็นเหล่านี้ไว้อย่างละเอียดแล้ว ผู้ที่สนใจโปรดอ่านใน นิติ ภวัครพันธุ์, “รอยสัก กับการสร้าง “ตัวตน””, ใน เผยร่าง-พรางกาย ทดลองมองร่างกายในศาสนา ปรัชญาการเมือง ประวัติศาสตร์ ศิลปะ และมานุษยวิทยา, ปริตตา เฉลิมเผ่า กออนันตกูล บรรณาธิการ (กรุงเทพฯ: โครงการจัดพิมพ์คบไฟ, 2541), หน้า 185-233.

[7] New Zealand History, “Women and the vote. Page 1 – Introduction”, <https://nzhistory.govt.nz/politics/womens-suffrage

[8] New Zealand History, “Women and the vote. Page 3 – Women’s suffrage milestones”, <https://nzhistory.govt.nz/politics/womens-suffrage/suffrage-milestones

นิติ ภวัครพันธุ์
ศาสตราจารย์ด้านมานุษยวิทยา สถานที่ทำงานสุดท้ายคือคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปัจจุบันเขียนหนังสือด้านสังคม-วัฒนธรรม และผู้คนต่างกลุ่มชาติพันธุ์ ผลงานรวมเล่ม ได้แก่ ชวนถก ชาติและชาติพันธุ์, เรื่องเล่าเมืองไต พลวัตของเมืองชายแดนไทย-พม่า เป็นต้น และเป็นคอลัมนิสต์ให้สื่อออนไลน์

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า