ส่องชีวิตเพื่อนร่วมงาน รื้อลิ้นชักความทรงจำในแดนคีวี

ผมเล่าถึงประสบการณ์ทำงานในระหว่างที่เรียน ป.โท ที่มหาวิทยาลัยโอทาโกไปบ้างแล้ว (ดู – ‘โต๋เต๋แบบจนๆ’ ตอน เรียนและงาน งานและเงิน) นอกจากหาเงินเลี้ยงชีพแล้ว ผมยังได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ หลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นละครโอเปร่าที่มีชื่อเสียง ชีวิตนักเรียนแพทย์ที่ต้องเรียนและฝึกงานอย่างหนัก หรือการแปรสภาพและเก็บถนอมอาหารไว้บริโภค

อาจพูดได้ว่านอกจากการเรียนในมหาวิทยาลัย ประสบการณ์ทำงานสารพัดชนิดในช่วง 6 ปีเศษที่นิวซีแลนด์ก็เป็น ‘การศึกษา’ ประเภทหนึ่งที่ช่วยให้ผมรู้อะไรมากมาย รู้จักผู้คนหลากกลุ่มหลายประเภท พบเจอเรื่องราวต่างๆ ที่เขียนเล่าไม่หมดในที่นี้ – ด้วยข้อจำกัดเรื่องพื้นที่ ความเหมาะสม และเหตุผลอื่นๆ

ที่จะเขียนถึงในตอนนี้เป็นการทำงานที่ทำให้ผมได้พัฒนาทักษะหลายอย่าง เจอประสบการณ์แปลกๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโรงพยาบาล และได้รู้จักผู้คนอีกจำนวนไม่น้อย ได้เข้าร่วมกิจกรรมทางสังคมของพวกเขาหลายอย่าง จึงช่วยให้ผมเข้าใจชีวิตคนคีวีมากขึ้น

โยเกิร์ตกับข้าวสวยร้อนๆ

ผมรู้จัก ‘อุมา’ ผ่านเพื่อนรุ่นพี่คนไทย ตอนนั้นเขากำลังทำปริญญาเอกด้านเคมี ถ้าจำไม่ผิด เขาเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยในอินเดีย อุมาเป็นคนผิวคล้ำ ร่างผอมบาง เป็นฮินดูที่เคร่งครัดกับการกินอาหารมังสวิรัติ มีเพื่อนสนิทชื่อ ‘ร็อดนี่ย์’ คนศรีลังกาแต่เป็นคนคริสต์ ร่างท้วมเตี้ย แต่สีผิวเข้มพอๆ กับอุมา ผมเห็นสองคนนี้ไปไหนมาไหนด้วยกันบ่อย ผมรู้จักอุมามากขึ้น เจอเขาบ่อยขึ้น เพราะการทำงาน เขาจึงเป็นทั้งเพื่อนและเพื่อนร่วมงาน

อุมารู้ว่าผมรับจ้างทำงานสารพัด วันหนึ่งในฤดูร้อน ช่วงมหาวิทยาลัยปิดเทอม เขามาหาผมที่แฟลตแล้วบอกว่ามีงานให้ทำ ค่าแรงดี แต่ต้องการคนช่วยทำ งานที่ว่าคือทาสีบ้านและติดกระดาษติดผนังห้องหรือวอลล์เปเปอร์ เขามีรถโฟล์คเต่าคันหนึ่ง สภาพภายนอกและเครื่องยนต์ยังใช้การได้ดี จึงช่วยให้การทำงานสะดวกขึ้น เพราะใช้บรรทุกและขนย้ายสิ่งของที่จำเป็น เช่น สี ทินเนอร์ กระดาษติดผนัง และอุปกรณ์อื่นๆ

คนที่ว่าจ้างอุมาเป็นหนุ่มคีวีที่เพิ่งซื้อบ้านไม้เก่าหลังหนึ่ง เป็นบ้านที่ต้องการการซ่อมแซมในหลายจุด แต่สิ่งที่ทำได้ก่อนคือทาสีใหม่และติดกระดาษวอลล์เปเปอร์ หนุ่มคนนี้และแฟนสาวอยู่ด้วยกันจบปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยโอทาโก จะเรียกว่าเพิ่งเริ่มต้นการมีชีวิตครอบครัวก็คงได้ เขาเป็นคนมีอัธยาศัยดี หน้าตายิ้มแย้ม เป็นกันเอง

วันแรกที่อุมาพาผมไปเจอเขาที่บ้านเพื่อเริ่มทำงาน เขาอยู่บ้านคนเดียว – แฟนสาวออกไปทำงานแล้ว – และพาเราสองคนเดินดูบ้าน ชี้แจงรายละเอียดว่าต้องทำอะไรบ้าง ก่อนออกจากบ้านไปทำงาน เขาพาไปที่ครัว แล้วเปิดตู้ในครัวให้ดูว่าเก็บชาและกาแฟไว้ที่ไหน มีกาต้มน้ำ มีนมสดในตู้เย็น ให้เราสองชงดื่มเอง ถ้าหิวก็ทำแซนด์วิชกินได้เลย แต่อุมาบอกเขาว่าเราเตรียมอาหารมาแล้ว บอกกล่าวสิ่งต่างๆ เสร็จเขาก็ยื่นกุญแจบ้านให้อุมา พูดว่าเขาคงต้องทำงานจนมืดค่ำ ขอให้อุมาล็อกประตูบ้านแล้ววางกุญแจไว้ในกระถางต้นไม้หน้าบ้าน

ผมรู้ดีว่าคนคีวีเป็นกันเอง อุปนิสัยใจคอดี ไว้ใจคน แต่นี่เป็นครั้งแรกที่ผม – และอุมาด้วย – เจอเจ้าของบ้านที่ไว้ใจ ‘คนแปลกหน้า’ จากแดนไกล จนอนุญาตให้ทำงานในบ้านโดยที่ตัวเองไม่อยู่ กล้าให้กุญแจบ้านไว้ โดยไม่กลัวว่าคนแปลกหน้าจะขโมยของในบ้านหรือทำอะไรที่แย่กว่านั้น ซ้ำยังบอกให้ดื่มชา กาแฟ และกินอาหารในตู้เย็นได้

สำหรับคนที่เติบโตในสังคมไทยอย่างผม คนนิวซีแลนด์น่าอัศจรรย์อย่างยิ่ง!

เมื่อเจ้าของบ้านมีไมตรี อุมาและผมก็มีไมตรีตอบ นอกจากทาสีบ้านและติดกระดาษติดผนังห้อง 3 ห้อง ตามที่ต้องการแล้ว เราสองคนก็ช่วยซ่อมแซมบ้านเล็กๆ น้อยๆ เท่าที่ทำได้ – อะไรที่โยกเยกๆ ก็ตอกตะปูย้ำให้แน่นขึ้นแข็งแรงขึ้น ดูดฝุ่น ทำความสะอาดพื้นบ้านให้ ฯลฯ

เป็นการทำงานที่ทำให้ผมและอุมาสนิทกันมากขึ้น และผมได้เรียนรู้ทักษะใหม่ นั่นคือการติดกระดาษวอลล์เปเปอร์ ซึ่งผมไม่เคยทำมาก่อน ตอนแรกที่เริ่มทำปรากฏว่ามีฟองอากาศอยู่ใต้กระดาษ ต้องดึงกระดาษออกแล้วติดใหม่ เอาแปรงติดกระดาษขูดไล่อากาศหลายครั้งจนกระดาษเรียบ ไม่นานนักผมก็ทำงานได้อย่างมั่นใจและเชี่ยวชาญ สามารถขูดไล่อากาศด้วยแปรงเพียงครั้งเดียวก็เสร็จ กระดาษติดฝาผนังดูเรียบร้อย ไร้ฟองอากาศและรอยย่น ส่วนการทาสี ผมเคยทำมาก่อน จึงไม่ใช่เรื่องยาก

ทว่า มีอีกเรื่องหนึ่งที่ผมเรียนรู้จากอุมา มังสวิรัติผู้เคร่งครัด กินผักเป็นอาหารหลัก เสริมด้วยนมสด ชีส และโยเกิร์ตที่เขาชื่นชอบมาก เย็นวันหนึ่งหลังจากที่ทำงานเสร็จ (เราทำงานที่บ้านหลังนี้อยู่หลายวัน เพราะบางครั้งก็ทำได้แค่ครึ่งวันหรือเพียงไม่กี่ชั่วโมง ถ้าเจ้าของบ้านอยู่บ้านก็ไม่ได้ทำ) อุมาชวนผมไปกินมื้อเย็นที่แฟลตของเขา โดยแวะซื้อของสดบางอย่างก่อน พอถึงที่พักเขาก็หุงข้าว ล้างผักแล้วหั่น เอาชีสออกมาหั่น พอข้าวสุกเขาก็ตักใส่จาน แล้วเปิดกระป๋องโยเกิร์ต ตักโยเกิร์ตที่ยังเย็นอยู่เพราะเพิ่งเอาออกมาจากตู้เย็น ราดลงบนข้าวสวยร้อนๆ แล้วยื่นจานข้าวให้ผม บอกให้กิน ผมปฏิเสธ พูดว่าไม่เคยกินมาก่อน เขายืนยันให้ลองกิน ว่าอร่อย

ข้าวร้อนๆ กับโยเกิร์ตเย็นๆ เปรี้ยวๆ คำแรกที่กินผมรู้สึกประหลาด บอกไม่ถูกว่ารสชาติเป็นอย่างไร แต่พอกินอีกคำก็เริ่มคุ้น ถึงแม้รสชาติจะแปลกลิ้นแต่ก็กินได้ และการแกล้มด้วยผักสดและชีสทำให้ผมรู้จักการกินมังสวิรัติแบบอุมา แต่ไม่แน่ใจว่าคนอินเดียคนอื่นๆ จะกินแบบนี้หรือไม่?!

ความโดดเด่นของอุมาอีกประการหนึ่งคือ การไม่ชอบ ‘ความเป็นอังกฤษ’ อย่างรุนแรง เขาเคยพูดด้วยน้ำเสียงประชดประชันกับผมว่าอังกฤษไม่มีอะไรดีเลย และไม่เคยทำอะไรดีๆ ไว้ให้กับอินเดียเลย นอกจากขโมยทุกสิ่งทุกอย่างของอินเดียไปแล้ว สิ่งเดียวที่อังกฤษทิ้งไว้ให้คือ ‘shit’ – ที่อาจแปลเป็นไทยได้ว่า ‘ขี้ที่ไร้ประโยชน์’ ต่อผู้คนและประเทศอินเดีย เพราะอังกฤษจะดูดซับเอาความมั่งคั่งและทรัพยากรทุกชนิดของอินเดียไป อีกทั้งยังทิ้งสารพัดปัญหาไว้ด้วย ไม่ว่าจะเป็นด้านการเมืองระหว่างอินเดียกับปากีสถาน ความขัดแย้งทางศาสนาระหว่างคนฮินดูและมุสลิม หรือด้านวรรณะและชนชั้น ความยากจน รวมถึงปัญหาสังคมอีกมากมาย

การไม่ชอบอังกฤษอย่างรุนแรงของอุมา เป็นเหตุผลสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้เขาไม่ไปเรียนต่อที่ประเทศอังกฤษ แต่พอผมพูดว่านิวซีแลนด์มีความเป็นอังกฤษสูง เขาก็แย้งว่านิวซีแลนด์ไม่ใช่อังกฤษ และคนนิวซีแลนด์ที่เขาเจอก็น่ารักและดีกับเขามาก เขาชอบคนนิวซีแลนด์ แต่ไม่ชอบอังกฤษ

เขาเป็นคนขยัน ตั้งใจทำงานในห้องแล็บและการทำวิทยานิพนธ์ ถ้าจำไม่ผิด เขาจบปริญญาเอกภายในเวลาไม่ถึง 4 ปี

ครัวโรงพยาบาล

ตั้งแต่ช่วงกลางปีที่ 2 ของการเรียน ป.โท ผมใช้เวลาส่วนใหญ่กับการเขียนวิทยานิพนธ์อย่างขะมักเขม้นเพราะอยากจบภายใน 2 ปี ไม่ได้สนใจเรื่องอื่นใด จนกระทั่งพบว่าในบัญชีธนาคารของผมแทบไม่มีเงินเหลืออยู่เลย

‘จะทำไงดี?’ ผมคิดหาวิธีแก้ปัญหา เพื่อนบางคนแนะนำให้ไปปรึกษากับธนาคารเพื่อขอกู้เงิน ปรากฏว่าธนาคารมีระเบียบและข้อกำหนดในการช่วยเหลือนักศึกษาผู้เดือดร้อนเรื่องเงิน โดยอนุญาตให้กู้เงินปลอดดอกเบี้ยได้ – ผมจำจำนวนเงินที่แน่นอนไม่ได้ – หากคนกู้จ่ายเงินกู้คืนธนาคารภายในระยะเวลาที่กำหนด (ถ้าจำไม่ผิด ธนาคารส่วนใหญ่ในเมืองมีระเบียบและข้อกำหนดคล้ายๆ กันนี้) ผมจึงขอกู้เงินจำนวนหนึ่ง แล้วเริ่มหางานทำ และคิดว่าจะเขียนธีสิสในช่วงหลังเลิกงาน (เพื่อค้นพบว่าเป็นความหวังลมๆ แล้งๆ เพราะหลังเลิกงานผมเหน็ดเหนื่อยจนไม่อยากทำอะไรนอกจากนอน)

โชคดีที่ผมเจองานที่ประกาศไว้ที่สำนักงานจัดหางานของมหาวิทยาลัย เป็นคนงานในครัวของโรงพยาบาลของเมือง – ซึ่งเป็นสถานที่ที่คณะแพทยฯ ใช้ฝึกงานนักศึกษาแพทย์ และแพทย์จำนวนมากก็เป็นอาจารย์ในคณะด้วย – วันที่ผมไปสอบถามที่ครัว ยังไม่มีใครไปสมัคร เจ้าหน้าที่หญิงที่ดูแลการทำงานภายในครัว ซึ่งเป็นนักโภชนาการ จึงบอกผมให้เริ่มทำงานได้เลย

ภาระหลักๆ ของผมในครัวคือการทำความสะอาด ไม่ว่าจะเป็นพื้นครัว อุปกรณ์ในการทำครัว ภาชนะต่างๆ อ่างล้าง/ทำความสะอาด ผักและผลไม้ และสิ่งอื่นๆ ที่เจ้าหน้าที่ในครัวบอกให้ทำ – ความสะอาดเป็นเรื่องสำคัญมาก ทุกคนต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด ทุกอย่างในครัวต้องสะอาด รวมถึงมือของคนที่ทำงานในครัว ที่ต้องล้างวันละหลายครั้ง

นอกจากเรื่องความสะอาด ความปลอดภัยก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่เจ้าหน้าที่/นักโภชนาการเคร่งครัดมาก ไม่ว่าจะเป็นความปลอดภัยของการทำงานและคนงาน ของการทำอาหาร และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ของอาหาร เพราะหากเกิดความผิดพลาดขึ้นอาจมีความเสียหายที่รุนแรงได้ และที่เป็นกังวลกันมากที่สุดคือ ความเสียหายต่อชีวิตของคนไข้ที่บริโภคอาหารจากครัว

วันหนึ่ง มีคนไข้พบเศษแก้วชิ้นใหญ่ในจานอาหารมื้อกลางวันของตน โชคดีที่เจอก่อน ยังไม่ได้กินอาหาร จึงไม่มีอันตรายเกิดขึ้น แต่ก็ทำให้พยาบาลผู้ดูแลคนไข้ในชั้นนั้นโกรธ โวยวายกับเจ้าหน้าที่/นักโภชนาการทันที กลายเป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องเรียกประชุมทุกคนในครัวอย่างรีบด่วนเพื่อทำการตรวจสอบว่าเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นได้อย่างไร เริ่มจากการสอบปากคำแม่ครัว บริเวณที่เก็บและภาชนะที่เก็บวัตถุดิบที่เป็นอาหาร วัตถุดิบทุกชนิดของอาหารจานนั้น ภาชนะที่ใช้ทำ (หม้อ กระทะ ถาด ฯลฯ) รวมถึงที่มาของเศษแก้ว

ที่ประหลาดคือจากการตรวจสอบพบว่า เศษแก้วในอาหารไม่ได้เกิดขึ้นจากความผิดพลาดของการทำงานหรือของคนในครัว แต่ก็ไม่มีคำตอบหรือข้อสรุปว่าเศษแก้วชิ้นนั้นมาจากไหน หรือปะปนมากับอะไร และเข้าไปอยู่ในอาหารได้อย่างไร ปัญหานี้ทำให้เจ้าหน้าที่/นักโภชนาการระมัดระวังมากขึ้น เข้มงวดยิ่งขึ้น กวดขันกับการทำอาหารมากขึ้น

ช่วงแรกที่ผมเริ่มทำงาน งานที่ยากที่สุดคือการล้างจานด้วยเครื่องล้างจานชามอัตโนมัติที่มีความยาวทีเดียว แบ่งออกเป็น 3 ส่วนที่เชื่อมต่อกันด้วยสายพานยาว เริ่มจากการวางเรียงจานชาม ถ้วยและภาชนะต่างๆ ลงบนสายพานที่เลื่อนเข้าไปสู่เครื่องฉีดล้างภาชนะด้วยน้ำ แล้วเข้าสู่เครื่องฉีดล้างด้วยน้ำสบู่ จบด้วยเครื่องฉีดล้างด้วยน้ำร้อน

อาจฟังดูเป็นงานง่ายๆ แต่ในความเป็นจริง สายพานเคลื่อนที่เร็วและไม่หยุด จึงต้องทำงานแข่งกับเวลา และภาชนะที่ล้างด้วยน้ำร้อนแล้วจะร้อนทีเดียว อาจลวกมือได้หากทำงานช้าหรือทำไม่ถูกจังหวะ ช่วงแรกๆ ที่เริ่มทำงานผมยังงุ่มง่าม แม้ว่าจะไม่ค่อยมีปัญหากับหน้าที่วางเรียงภาชนะลงบนสายพาน แต่ถ้าทำหน้าที่เก็บภาชนะที่ล้างเสร็จแล้วด้วยน้ำร้อนจะเกิดปัญหา เพราะยังทำไม่ถูกจังหวะ เก็บไม่ค่อยทัน ภาชนะก็ร้อนมือ บางครั้งผมทำภาชนะตกแตก – ดีว่าเขาไม่ได้ว่าอะไร ไม่ได้หักเงินค่าแรง – แต่หลังจากทำงานได้ระยะหนึ่งก็เริ่มคุ้นเคย ไม่ค่อยเกิดความผิดพลาด และทำงานเข้ากับคนงานอื่นๆ ได้

ในครัว เจ้าหน้าที่/นักโภชนาการมีอำนาจสูงสุด เป็นคนระบุว่างานในแต่ละวันมีอะไรบ้าง และใครมีหน้าที่อะไร แต่ส่วนใหญ่เป็นหน้าที่ซ้ำๆ กับที่เคยทำในวันก่อน เป็นคนกำหนดว่าอาหารแต่ละมื้อคืออะไร (ซึ่งวางอยู่บนพื้นฐานของหลักโภชนาการ) จึงต้องทำงานอย่างใกล้ชิดกับพ่อครัวแม่ครัว เพราะต้องคอยดูและตรวจสอบการทำอาหารอยู่เสมอ คนทำงานทั่วไปอย่างผมไม่ค่อยยุ่งเกี่ยวกับเจ้าหน้าที่/นักโภชนาการ ยกเว้นในกรณีที่มีงานพิเศษหรือเหตุฉุกเฉินเกิดขึ้น

หลังจากที่ทำงานในครัวได้ราว 2 เดือน เจ้าหน้าที่/นักโภชนาการเรียกผมไปพบ ถามว่าช่วงคริสต์มาสไปไหนหรือไม่ ทำอะไร พอรู้ว่าผมไม่ได้ไปไหนและไม่มีแผนอะไร เธอบอกว่าในวันคริสต์มาสซึ่งเป็นวันหยุด จะมีคนทำงานในครัวไม่พอ และถามว่าผมสนใจทำงานในวันนั้นหรือไม่ พอรู้ว่าค่าแรงทำงานในวันคริสต์มาสเป็น 3 เท่าของค่าแรงปกติ ผมรีบตกลงรับปากว่าจะทำ

ความรู้งูๆ ปลาๆ เรื่องกฎหมายแรงงานในสมัยนั้นของผมคือ ค่าแรงเพิ่มขึ้นตามอัตราก้าวหน้า และการทำงานในวันหยุดจะได้ค่าแรงเพิ่มขึ้นตาม เช่น ถ้าทำงานในวันเสาร์ (หลังจากที่ทำงานมาแล้ว 5 วัน หรือ 40 ชั่วโมง) จะได้ค่าแรง 1 เท่าครึ่ง วันอาทิตย์ได้ 2 เท่า วันหยุดพิเศษอื่นๆ เช่น วันอีสเตอร์ วันคริสต์มาส ได้ค่าแรง 3 เท่า

แม้ว่าในวันคริสต์มาสจะมีคนทำงานในครัวน้อยกว่าปกติ แต่ภาระงานก็ไม่ได้เพิ่มขึ้นมากมาย ที่พิเศษขึ้นคือเค้กคริสต์มาสที่แม่ครัวได้เตรียมไว้ก่อนหน้านานแล้ว (เค้กคริสต์มาสเป็นสิ่งที่ต้องเตรียมนานนับเดือน ซึ่งเคยเล่าเรื่องไปแล้ว – ดู ‘โต๋เต๋แบบจนๆ’ ตอน อาหารคีวี: พัฟโลวาสักชิ้นไหม) ผมเองมีหน้าที่เพิ่มขึ้นหนึ่งอย่าง คือนำอาหารไปให้คนไข้ (ปกติเป็นหน้าที่ของคนงานคนอื่น) ทำให้ผมได้พบคนไข้และพยาบาล และได้รับคำขอบคุณและคำอวยพรคริสต์มาสจากคนเหล่านี้ 

นอกจากค่าแรง 3 เท่าตัว ผมยังได้กลับบ้านก่อนเวลาเกือบ 1 ชั่วโมงครึ่ง เมื่อเจ้าหน้าที่/นักโภชนาการอนุญาตให้เลิกงาน เพราะเห็นว่าอาหารมื้อกลางวันได้เสิร์ฟให้คนไข้หมดแล้ว (ส่วนมื้อเย็นเป็นหน้าที่ของคนงานอีกกลุ่มหนึ่ง) พอผมเตรียมออกจากครัว แม่ครัวร่างอ้วนใจดีถามผมว่า มื้อเย็นกินอะไร แล้วตักพายเนื้อชิ้นใหญ่ที่เหลือจากมื้อกลางวัน ห่อแผ่นฟอยล์อะลูมิเนียมยื่นให้ผม ซึ่งผิดกฎของครัว เพราะมีข้อห้ามคนที่ทำงานในครัวกินหรือนำอาหารในครัวกลับบ้าน แต่เธอบอกผมด้วยรอยยิ้มว่าวันนี้เป็นวันคริสต์มาส ไม่เป็นไร แล้วเอ่ยคำอวยพรคริสต์มาสให้ผม

ก่อนหน้าที่ผมจะเริ่มทำงานในครัว ปีเตอร์ วิลสัน ศาสตราจารย์ด้านมานุษยวิทยาและอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ของผม โดนรถจักรยานที่ขี่มาอย่างเร็วชนหน้าคณะ หกล้มศีรษะฟาดพื้น กระดูกคอเคลื่อนที่ ถูกส่งตัวเข้าโรงพยาบาลและรักษาด้วยการดึงกระดูกสันหลังและคอให้เข้าที่เดิม ต้องนอนหงาย โดนล็อกร่างกาย แขนขา และลำคอติดกับเตียง ห้ามขยับเป็นเวลานานกว่า 8 สัปดาห์ เพื่อให้กระดูกคอกลับเป็นปกติ ดังนั้น เมื่อมีเวลาว่างจากงานในครัวผมจะขึ้นไปเยี่ยมแก เห็นสภาพแกแล้วผมรู้สึกอึดอัดแทน หดหู่ เป็นกังวล แต่แกมีจิตใจที่เข้มแข็งมาก ไม่เคยบ่น ไม่เคยโทษใคร เห็นหน้าผมแกก็ยิ้มแย้ม พูดทักทายเหมือนปกติ ถามถึงเรื่องราวในครัวที่ผมทำงานอยู่

ปีเตอร์มักชมพยาบาลว่าทำงานดี คอยดูแลเอาใจใส่แกและคนไข้คนอื่นๆ สุภาพและให้บริการดี แต่ปัญหาของแกคือการอ่านหนังสือ อันเป็นกิจกรรมที่ทำอย่างสม่ำเสมอ แต่สภาพที่โดนล็อกตัว/แขนขา ขยับไม่ได้ พยาบาลจึงเอาหนังสือกางติดไว้กับโครงเหล็กที่อยู่เหนือใบหน้า อ่านจบ 2 หน้า ก็ต้องรอให้พยาบาลเข้ามาพลิกหน้าใหม่ให้ เพราะแกไม่สามารถพลิกเองได้ จึงเป็นการอ่านหนังสือที่ทุลักทุเล น่ารำคาญและเสียเวลามาก

ท่านผู้อ่านลองนึกภาพคนที่ต้องนอนหงาย มีหนังสือกางอยู่ข้างบนของลูกตาในระยะที่เห็นตัวอักษรและอ่านได้ แต่พลิกหน้าหนังสือเองไม่ได้เพราะแขนขาถูกมัดติดกับเตียง – นั่นคือสภาพของปีเตอร์ในตอนนั้น!

การรอให้พยาบาลมาพลิกหน้าหนังสือให้ เป็นเรื่องเดียวที่ปีเตอร์บ่นกับผมช่วงที่นอนรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล ตรงกันข้าม แกไม่บ่นเรื่องการถูกมัดติดกับเตียง อันเป็นสภาพที่น่าอึดอัดอย่างยิ่ง ทั้งในด้านจิตใจและร่างกาย

นอกจากนี้ การทำความสะอาดร่างกายของปีเตอร์ต้องทำโดยขยับเขยื้อนร่างกายของเขาให้น้อยที่สุด พยาบาลจึงต้องทำความสะอาดร่างกายทีละส่วน ไล่ตั้งแต่ใบหน้าไปจนถึงเท้า เวลาเช็ดด้านหลังก็ต้องมีพยาบาลอีกคนช่วยยกร่างกายให้อีกคนสอดมือเข้าไปเช็ดถู ตามด้วยการเปลี่ยนเสื้อผ้าชุดใหม่ ทุกขั้นตอนต้องค่อยๆ ทำอย่างระมัดระวัง

พยาบาลทำงานด้วยความชำนาญที่ผ่านการฝึกฝนมาอย่างดีและการทำงานนานปี ทำด้วยความใส่ใจและใจเย็น ด้วยสปิริตของคนที่ต้องการช่วยเหลือผู้อื่นอย่างแท้จริง

ไม่น่าแปลกใจที่ปีเตอร์เอ่ยคำชมเชยพยาบาลกับผมหลายครั้ง

คนงานครัว

การทำงานในครัวนานกว่า 3 เดือน ทำให้ผมคุ้นเคยกับคนงานบางคน แต่ก็ไม่อาจพูดได้ว่าถึงขั้นสนิทสนมกับใครเป็นพิเศษ ผมไม่แน่ใจว่าเหตุผลคืออะไร อาจเป็นเพราะว่าผมไม่ได้ทำงานในครัวนานพอที่จะสร้างความสัมพันธ์เช่นนั้นได้ – แม้ว่าผมจะได้ร่วมงานสังสรรค์ที่ส่วนใหญ่จัดกันในผับกับพวกเขาหลายครั้ง มีทั้งงานวันเกิดของลูกสาวของแม่ครัวคนหนึ่ง การเฮฮาคืนวันศุกร์ ปาร์ตี้ก่อนวันคริสต์มาส แต่ก็ไม่อาจพูดได้ว่าผมกลายเป็นสมาชิกคนหนึ่งของกลุ่ม – หรืออาจเป็นเพราะความแตกต่างบางประการระหว่างผมกับพวกเขา?

หนึ่งในคนงานที่ผมคุ้นเคยด้วยคือ ‘รอน’ ชายวัยกลางคนผิวขาว ผู้มีใบหน้าที่ปกคลุมด้วยหนวดเครา มีรอยสักบนแขนทั้งสองข้าง เป็นคนทำงานคล่องแคล่ว รวดเร็ว แต่การพูดการจาช้ากว่าการทำงาน ทว่าไม่ต่างจากคนงานคนอื่นๆ มากนัก คือพอเขาเรียนจบไฮสคูลก็เริ่มทำงาน ส่วนใหญ่เป็นงานใช้แรงงาน ก่อนที่จะมาทำงานในครัวของโรงพยาบาลที่ทำมานานนับสิบปี และไม่มีทีท่าว่าจะไปทำงานที่อื่นจนเกษียณอายุ

เขาเป็นคนแรกๆ ในครัวที่ช่วยผมทำงาน และให้คำแนะนำในการทำงาน เราพูดคุยกันบ่อย รอนเป็นคนตรงไปตรงมา และเป็นคนเปิดเผยอย่างน่าประหลาดใจ เช่น เขาบอกผมว่าเคย ‘ติดเหล้าเรื้อรัง’ (alcoholic) จนต้องเข้าทำการรักษาอยู่นาน พอหายจากการติดเหล้าก็ไม่เคยดื่มแอลกอฮอล์อีกเลย เคยเอ่ยกับผมว่าเขาดีใจที่เลิกดื่มได้

เขาเล่นกีตาร์ได้ และกลายเป็นงานอดิเรกที่ทำรายได้พิเศษ ด้วยการเล่นในวงดนตรีประเภทคันทรีมิวสิกในผับใกล้สวนสาธารณะของเมือง ไม่ไกลจากแฟลตของผมนัก เขาเล่นเพียงคืนเดียวในหนึ่งสัปดาห์ (ผมไม่แน่ใจว่าเขาเล่นที่ผับอื่น ในคืนอื่น หรือไม่ แต่เดาว่าอาจเป็นไปได้) ครั้งหนึ่งในการสนทนา เขาเอ่ยพาดพิงถึงเรื่องนี้และชวนผมไปฟังเขาเล่นดนตรี ผมรับปากว่าจะไปฟัง แต่ไม่อยากไปคนเดียว (เพราะคิดว่าคนเดียวคงไม่สนุก) จึงชวนเพื่อนนักศึกษาคีวีที่สนิทสนมกันไปด้วย ปรากฏว่าได้ผล

คืนที่ผมและเพื่อน 3-4 คน ไปฟังรอนเล่นดนตรี มีลูกค้าที่เป็นแฟนเพลงคันทรีมิวสิกเกือบแน่นผับ ส่วนใหญ่เป็นคนวัยกลางคน ทั้งหญิงและชาย พวกเราน่าจะเป็นกลุ่มที่มีอายุน้อยที่สุด พอผมพาเพื่อนๆ เข้าไปแนะนำให้รู้จักกับรอน เขาดีใจมาก เอ่ยทักทาย/ต้อนรับทุกคนด้วยรอยยิ้ม คุยกันได้ครู่หนึ่งเขาก็ขอตัวไปขึ้นเวที เล่นดนตรี เป็นวงที่เล่นดนตรีได้สนุกมาก คนฟังที่มีความสามารถด้านเต้นรำออกไปวาดลวดลายกันบนลานหน้าเวที บางคนก็ร้องเพลงตาม คนอื่นๆ รวมทั้งพวกผม ปรบมือตามจังหวะ บรรยากาศแตกต่างจากผับที่พวกนักศึกษานิยมไปกัน

ช่วงที่นักดนตรีหยุดพัก รอนลงมาคุยกับผมและเพื่อนๆ สนทนากันอย่างถูกคอ แล้วเขาก็ซื้อเบียร์เลี้ยงพวกผม แต่ตัวเองดื่มน้ำส้ม เพื่อนผมชอบรอนและบรรยากาศของผับมาก ฟังเพลงพลางพูดคุยกับแขกคนอื่นๆ ที่มาเที่ยวพลาง เพื่อนเล่าว่าเป็นครั้งแรกที่มาผับที่มีดนตรีคันทรีมิวสิก ไม่นึกว่าจะมีคนชอบเพลงประเภทนี้มากมายขนาดนี้ และคนที่มาผับนี้ก็มีอัธยาศัยดี เป็นกันเอง คุยสนุก เพื่อนๆ ผมสนุกกันมาก ผมเองก็สนุกเช่นกัน

‘แจ็คกี้’ เป็นอีกคนหนึ่งที่ผมคุยด้วยบ่อย เธอน่าจะมีอายุราว 40 ปลาย หรือ 50 ต้นๆ รูปร่างเล็ก ผอม พูดจาตรงไปตรงมา โผงผาง เป็นคนจริงจัง ประเภท ‘no-nonsense woman’ แต่ก็มีอารมณ์ขัน เวลาทำงานกันเครียดๆ เธอมักมี ‘เรื่องเล่า’ ที่เรียกเสียงหัวเราะได้จากทุกคน (แต่ไม่รู้ว่าจริงเท็จประการใด) เป็นคนที่ทำงานในครัวมานานมาก – อาจจะนานกว่ารอนเสียอีก? – มีความเชี่ยวชาญ รู้งาน ทำงานและตัดสินใจได้เองโดยไม่ต้องรอคำสั่ง เป็นคนหนึ่งที่เจ้าหน้าที่/นักโภชนาการไว้วางใจมาก

เธออาจต่างจากคนงานคนอื่นๆ ที่ไม่ค่อยชอบไปผับ แต่ชอบไปเล่น ‘บิงโก’ (Bingo) เกมที่มีกติกาว่าผู้เล่นได้รับแผ่นกระดาษที่มี ‘หมายเลข’ ต่างๆ โดยมี ‘ผู้ประกาศ’ หยิบหมายเลขขึ้นมาแล้วขานเรียกหมายเลขนั้นดังๆ หากผู้เล่นคนใดมีหมายเลขนั้นจะยกมือ เพื่อบอกให้ผู้ประกาศทราบว่าตนมีหมายเลขดังกล่าว ผู้ประกาศจะขานเรียกหมายเลขต่างๆ ไปเรื่อยๆ จนกระทั่งผู้เล่นคนหนึ่งคนใดที่มีหมายเลขครบทุกหมายเลขที่ขานเรียกก็จะร้องขึ้นว่า ‘บิงโก’ ประกาศให้ทุกคนรู้ว่าตนเป็นผู้ชนะ

ผมอยากรู้ว่าบิงโกคืออะไร เล่นกันอย่างไร แจ็คกี้จึงชวนผมไปดู เขานิยมเล่นกันตอนกลางคืนหรือตอนบ่ายวันเสาร์ ในห้องโถงกว้างๆ จึงมักใช้ห้องประชุมของชุมชน เป็นสถานที่สาธารณะ คืนที่ผมตามแจ็คกี้ไปดูมีคนเล่นมากทีเดียว เล่นกันพักหนึ่งเธอก็ชวนผมเล่น เล่นไปๆ ผมเริ่มลุ้นว่าจะได้บิงโกหรือไม่ แต่ก็ไม่ได้ ถึงกระนั้นผมก็รู้สึกสนุก เข้าใจได้ว่าทำไมแจ็คกี้และคนอีกมากมายจึงชอบเล่นเกมนี้

ผู้คนไร้ปริญญา

ตอนที่แล้ว ผมเล่าว่าช่วงที่อยู่ที่โน้นผู้คนส่วนใหญ่ในนิวซีแลนด์จบการศึกษาในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายหรือไฮสคูล แล้วหางานทำ ได้ค่าจ้างมากพอที่จะเลี้ยงดูชีวิตตนเองและครอบครัว (ดู – ‘โต๋เต๋แบบจนๆ’ ตอน เรียนและงาน งานและเงิน)

คนงานในครัวเป็นตัวอย่างที่ดีของประเด็นที่พาดพิงถึงข้างต้น ในด้านหนึ่งสะท้อนว่าคนคีวีสมัยนั้นยังไม่ค่อยเห็นความสำคัญของการศึกษาในระดับมหาวิทยาลัย เพราะตลาดแรงงานยังเปิดกว้าง การหางานทำไม่ใช่เรื่องยากลำบาก และรายได้ดีพอที่จะมีชีวิตอย่างผาสุก

แน่นอน ประเด็นที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ นิวซีแลนด์เป็นรัฐสวัสดิการ มีสวัสดิการด้านต่างๆ ที่สนับสนุนการดำรงชีพอย่างผาสุก ซึ่งผมจะกล่าวถึงในตอนหน้า

ข้อดีอีกประการหนึ่งของประเทศนี้คือทุกคนสามารถกลับไปเรียนหนังสือในมหาวิทยาลัยได้ ไม่ว่าจะมีอายุมากแค่ไหน เพศใด มีเชื้อสายอะไร หรือเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ใด ก็มีสิทธิที่สมัครเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยได้ แต่จะจบหรือไม่ ด้วยคะแนนเท่าไร เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

ผมรู้จัก ‘ร็อบ’ หนุ่มผิวขาวจากเนเพียร์ (Napier) เมืองชายทะเลในเกาะเหนือ เพราะเขาชอบมาสุงสิงกับคนไทย และพูดภาษาไทยได้เล็กน้อย เขาน่าจะราว 20 ปลาย หรือ 30 ต้นๆ ตอนที่ผมเจอเขา เป็นคนสุภาพ พูดจาช้าๆ เนิบๆ เขาเล่าว่าพอเรียนจบไฮสคูลก็ทำงาน เป็นแรงงานรับจ้างทั่วไป เก็บเงินได้ก้อนหนึ่งก็ไปเที่ยว เคยมาเที่ยวเมืองไทยแล้วตกหลุมรักสาวไทยคนหนึ่ง รักมากจนตั้งใจว่าจะอยู่กินกับเธอ แต่เพราะไม่มีความรู้หรือทักษะพิเศษด้านใด ใบปริญญาก็ไม่มี จึงตัดสินใจกลับไปเรียนหนังสือ

เขาสมัครเข้าเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยโอทาโก (เขาไม่เคยบอกว่าทำไมจึงเลือกที่นี่) ในภาควิชาภาษาอังกฤษ แต่เพราะร้างราจากการเรียนไปนานปีจึงเป็นเรื่องที่ยากลำบากสำหรับเขา และต้องใช้ความพยายามอย่างมาก นับตั้งแต่การฟังอาจารย์เลคเชอร์อย่างตั้งอกตั้งใจ การอ่านหนังสือเล่มหนาๆ ที่ต้องเผชิญกับศัพท์แสงต่างๆ มากมาย ต้องดิ้นรนกับการเขียนรายงานส่งอาจารย์ด้วยภาษาที่ไม่สันทัด/คุ้นเคย และต้องพยายามหาเพื่อนใหม่ในมหาวิทยาลัย

เขาบ่นกับผมหลายครั้งเรื่องการเรียน และถ้าผมเข้าใจไม่ผิด เขาหยุดเรียนไประยะหนึ่ง และไม่ได้เจอเขาเป็นเวลานานทีเดียว – ผมเองก็ยุ่งกับการเขียนวิทยานิพนธ์ จึงไม่ได้นึกถึงเขาเลย – ไปพบเขาอีกครั้ง และเป็นครั้งสุดท้าย เมื่อเขารู้ว่าผมจะขึ้นไปเที่ยวเกาะเหนือ จึงชวนผมไปพักที่บ้านของพ่อแม่ในเนเพียร์ เมืองเล็กๆ เงียบๆ ที่ชาวเมืองเป็นมิตร (ได้ยินว่าในปัจจุบันเมืองนี้กลายเป็นหนึ่งในเมืองฮิปๆ ของเกาะเหนือที่นักท่องเที่ยวนิยมไปกัน) ตอนที่ผมไปนั้นเขาอยู่ที่บ้านพ่อแม่ ต้อนรับขับสู้ผมเป็นอย่างดี และพาชมเมืองจนทั่ว

หลังจากนั้นผมไม่เจอร็อบอีกเลย แต่ได้ยินว่าเขาเรียนจบปริญญาตรีในที่สุด ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ายินดีอย่างยิ่ง

ผมเรียนรู้สิ่งต่างๆ มากมายในการใช้ชีวิตในนิวซีแลนด์ ได้พบเจอผู้คนสารพัด และคนอย่างร็อบได้ช่วยให้ผมเข้าใจ ‘คุณค่าทางสังคม’ ที่สำคัญประการหนึ่งของนิวซีแลนด์ นั่นคือการให้โอกาสแก่ทุกคน ด้วยการให้การสนับสนุนในด้านต่างๆ บนฐานความคิดความเชื่อในเรื่องความเท่าเทียมและความยุติธรรม และการปกป้องสิทธิที่เท่าเทียมกัน ซึ่งจะกล่าวถึงในตอนหน้า อันเป็นตอนสุดท้ายของงานเขียนชุดนี้

นิติ ภวัครพันธุ์
ศาสตราจารย์ด้านมานุษยวิทยา สถานที่ทำงานสุดท้ายคือคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปัจจุบันเขียนหนังสือด้านสังคม-วัฒนธรรม และผู้คนต่างกลุ่มชาติพันธุ์ ผลงานรวมเล่ม ได้แก่ ชวนถก ชาติและชาติพันธุ์, เรื่องเล่าเมืองไต พลวัตของเมืองชายแดนไทย-พม่า เป็นต้น และเป็นคอลัมนิสต์ให้สื่อออนไลน์

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า