เรียนและงาน งานและเงิน

นอกจากเรื่องราวของมิตรสหายและคนในครอบครัวที่เล่าไปแล้ว (ดู – ‘โต๋เต๋แบบจนๆ’ ตอน หลากใบหน้า สารพันภูมิหลัง บนโลกใบเดียวกัน) ผมอยากเล่าถึงผู้คนที่พบเจอหรือรู้จักเพราะการทำงาน ที่ส่วนใหญ่เป็นสามัญชนคีวี ไม่ใช่คนที่ทำงานอยู่ในมหาวิทยาลัย

ช่วงที่เรียนหนังสืออยู่ในนิวซีแลนด์ ผมไม่ได้รับทุนการศึกษาจากมหาวิทยาลัยหรือแหล่งทุนอื่น และไม่ต้องการขอเงินจากทางบ้าน จึงเป็นการเรียนหนังสือไปทำงานไป หาเงินเลี้ยงชีวิต งานที่ทำส่วนใหญ่เป็นประเภทใช้แรงงาน ออกแนวรับจ้างทั่วไป แต่ก็มีผลดีกับผมในหลายด้าน นอกจากได้เงินแล้ว – เป็นรายได้ที่ช่วยให้ยังชีพอยู่ได้แบบประหยัด เรียบง่าย – ผมยังเรียนรู้ทักษะบางอย่าง เช่น ทาสีบ้านและห้องต่างๆ ในบ้าน ติดกระดาษติดฝาผนัง งานซ่อมแซมเล็กๆ น้อยๆ ในบ้าน ฯลฯ และเรียนรู้ว่าจะไปหางานทำที่ไหนและเมื่อไร ได้รู้จักชาวบ้านชาวเมือง ได้เข้าไปในบ้านของพวกเขา และเห็นชีวิตความเป็นอยู่

เป็นประสบการณ์ที่มีค่าสำหรับคนเรียนมานุษยวิทยาอย่างผม

มนุษย์ต่างดาว

เพราะความสะเพร่าที่ไม่ค้นคว้าหาข้อมูลให้ดีก่อนออกเดินทางไปสู่ ‘ดินแดนแห่งเมฆขาวเป็นแนวยาว’ ผมจึงเสียเวลาไปหลายเดือนในปีแรก ไม่ได้เข้าเรียนเพราะมหาวิทยาลัยเปิดเทอมไปแล้ว ช่วงที่ว่างจากการเข้าห้องเรียนหมดไปกับการเที่ยวตามสถานที่ท่องเที่ยว เรียนการสนทนาภาษาอังกฤษที่โรงเรียนสอนภาษาอังกฤษแก่ผู้อพยพต่างชาติ และหางานทำเพื่อเก็บเงินไว้ใช้จ่ายและเป็นค่าเล่าเรียน

นักศึกษาคีวีทั่วไปต้องทำงานหาเงินเรียนหนังสือ แม้ว่าจะได้รับเงินสนับสนุนการศึกษาจากรัฐบาลที่เรียกว่า ‘Bursary’ ก็ตาม แต่จำนวนเงินที่ได้รับไม่มากพอสำหรับค่าใช้จ่าย เท่าที่ทราบ นักศึกษาหลายคนทำงานพาร์ตไทม์ตลอดทั้งปี แต่ส่วนใหญ่จะทำงานในฤดูร้อน ซึ่งเป็นช่วงปิดเทอมใหญ่ที่ยาวนานกว่า 3 เดือน ฤดูร้อนแรกของผมจึงเป็นการทำงานเฉกเช่นนักศึกษาคนอื่นๆ

มหาวิทยาลัยโอทาโกมีสำนักงานที่เป็นศูนย์กลางในการให้บริการด้านข้อมูลเรื่องงานและการทำงาน นักศึกษาส่วนใหญ่จะไปหางานทำที่นี่ ผมก็เป็นคนหนึ่งที่มักแวะเวียนไปเสมอ แต่พอรู้จักชาวเมืองคีวีมากขึ้น คำแนะนำเรื่องหางานทำก็มาจากคนนอกมหาวิทยาลัย หนึ่งในนั้นคือ ดอน โดนัลด์สัน อดีตอาจารย์สอนวิทยาลัยครูผู้ให้ความรู้แก่ผมหลายอย่าง แกบอกผมว่าถ้าไม่เกี่ยงงอนงานประเภทใช้แรงงาน ซึ่งจ่ายเงินค่าแรงให้ไม่น้อย ผมควรลองไปหางานตามโรงงานต่างๆ ที่อยู่ใกล้ท่าเรือของเมือง หลังจากเดินเข้าๆ ออกๆ ถามหางานอยู่ 2-3 วัน ผมก็ได้งาน

งานแรกที่ทำอยู่ในโรงงานตัดเหล็กแผ่นรัดกระสอบใส่ขนแกะ (เป็นกระสอบใบใหญ่มาก ถ้าบรรจุขนแกะเต็มกระสอบแล้วรัดด้วยแผ่นเหล็กคงหนักมากทีเดียว!) แผ่นเหล็กนั้นมีความกว้างราว 2 เซนติเมตร ยาว 4-5 เมตร ผมทำงานเป็นลูกมือของผู้ชายอีกคนที่ทำหน้าที่ทุกอย่างในโรงงาน – ทั้งโรงงานมีแกและผมเท่านั้น – เป็นทั้งหัวหน้าคุมงาน ดูแลการทำงานและความเรียบร้อยต่างๆ รับออเดอร์งาน ตรวจสอบรายการต่างๆ ทำบัญชีสิ่งของ รับโทรศัพท์ และงานจิปาถะอีกมากมาย ส่วนผมมีหน้าที่ช่วยแกยกเหล็กแผ่นที่ม้วนอยู่ในม้วนเหล็กกลมวางบนเครื่องตัด แล้วลากแผ่นเหล็กเข้าที่ตัด ซึ่งจะเจาะปลายข้างหนึ่งให้เป็นรู อีกข้างหนึ่งเป็นเขี้ยวหรือขอที่จะเกี่ยวเข้าในรูของปลายอีกข้าง พอเครื่องตัดเสร็จก็ยกแผ่นเหล็กไปบรรจุลงในลังไม้ที่ยาวราว 5 เมตร บรรจุแผ่นเหล็กลงเต็มลังก็ชั่งน้ำหนัก ปิดฝาตอกตะปู จดน้ำหนักลงบนแผ่นกระดาษแล้วปิดลงบนฝาลัง เป็นอันเสร็จพิธี

ทำงานวันแรกเสร็จผมก็ ‘เป็นงาน’ รู้ว่าต้องทำอะไรบ้าง เป็นงานที่ไม่ต้องใช้ทักษะพิเศษเลย แต่ผมได้เรียนรู้เรื่องจารีตในชีวิตประจำวันกับธรรมเนียมการทำงานของคนคีวีที่มีบางอย่างร่วมกัน นั่นคือการดื่มชา หรือ ‘Tea time’ ที่ถือว่าเป็นการหยุดพักระหว่างการทำงาน จึงถูกนับรวมอยู่ในเวลาทำงาน ไม่ถูกหักออก (พูดแบบง่ายๆ คือมีเวลาพักดื่มชารวมกันครึ่งชั่วโมง ซึ่งถือว่ายังทำงานอยู่ จึงได้ค่าแรง) ตอนเช้า 1 ครั้ง เรียกว่า ‘Morning tea’ ตอนบ่ายอีก 1 ครั้ง เรียกว่า ‘Afternoon tea’ (ว่ากันว่าธรรมเนียมนี้สืบทอดมาจากคนอังกฤษ และหลงเหลืออยู่ในสังคมนิวซีแลนด์) ปกติสถานที่ทำงานต่างๆ รวมทั้งโรงงาน จะจัดสรรเครื่องดื่มไว้ให้คนทำงาน การดื่มชาแต่ละครั้งนานราว 15 นาที เป็นช่วงเวลาที่คนทำงานจะนั่งสนทนากัน (เป็นช่วงที่ผมได้ยินและเรียนรู้เรื่องราวต่างๆ มากมายเกี่ยวกับชีวิตคนคีวี) และได้พักอีกครั้งคือตอนหยุดพักเที่ยงเพื่อกินอาหารกลางวัน

ผู้ชายที่เป็นหัวหน้างานอายุน่าจะราว 50 ปี ร่างสันทัด ความสูงพอๆ กับผม ไว้หนวดเครา เป็นคนสุภาพ พูดจาเบาๆ แกเล่าว่าทำงานนี้มานานหลายสิบปี ปกติจะมีผู้ช่วย 1 คน แต่บ่อยครั้งที่ต้องทำงานคนเดียว แกชอบชวนผมคุยช่วงที่พักดื่มชา – หรือจะพูดให้ถูกต้องคือ แกพูดและผมฟังมากกว่า เพราะภาษาอังกฤษที่ห่วยแตกของผมในตอนนั้นไม่อนุญาตให้ผมพูดเก่งหรือคล่องแคล่วเลย – และเรื่องที่แกชอบพูดถึงคือเรื่องมนุษย์ต่างดาว ซึ่งแกเชื่อว่ามีจริงและพยายามหาเหตุผลมาอธิบายให้ผมฟังว่า มนุษย์ต่างดาวดำรงอยู่ได้อย่างไร เคยแวะเวียนมาท่องเที่ยวในโลกมนุษย์นี้หลายครั้ง และสร้างสิ่งต่างๆ อันเหลือเชื่อ ประเภทสิ่งมหัศจรรย์ของโลกทั้งหลาย ให้มวลมนุษยชาติได้ประจักษ์แก่สายตา แล้วแกก็จะหยิบหนังสือและวารสารเกี่ยวกับมนุษย์ต่างดาวที่มีอยู่ในครอบครองหลายเล่มออกมาให้ผมดู

อาจไม่น่าแปลกใจนักที่แกเชื่อเรื่องมนุษย์ต่างดาว แต่ที่น่าแปลกใจกว่าคือแกไม่ค่อยคุยเรื่องกีฬา ซึ่งเป็นหนึ่งในหัวข้อใหญ่ของการสนทนาประจำวันสำหรับคนคีวีจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นรักบี้ คริกเกต หรือกีฬาประเภทอื่น แกแทบจะไม่เคยพูดถึงเลย ช่วงอาหารกลางวันแกจะกินคนเดียวเงียบๆ ปกติเป็นแซนด์วิชที่แกเตรียมมาจากบ้านในตอนเช้า

ผมทำงานร่วมกับแกได้ไม่นานนัก ลูกชายของแกก็มาทำแทน แล้วผมไม่เจอแกอีกเลย ไม่แน่ใจว่าแกเกษียณอายุหรือไปทำงานตำแหน่งอื่นหรือที่อื่น แต่พ่อลูกสองคนนี้มีบางอย่างที่คล้ายกัน คือพอเรียนหนังสือจบชั้นไฮสคูลก็ทำงาน ไม่ได้เรียนต่อในระดับที่สูงกว่านั้น

สมัยที่ผมเรียนหนังสือและทำงานที่นิวซีแลนด์ ผู้คนส่วนใหญ่จบการศึกษาในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายหรือไฮสคูล แล้วทำงานเลี้ยงชีพ ทว่าค่าจ้างแรงงานหรือค่าตอบแทนสูงพอที่จะทำให้เลี้ยงดูครอบครัวได้ สามารถซื้อบ้านเงินผ่อน ที่มักผ่อนกันนานถึง 20-25 ปี มีรถยนต์สักคัน มีรายได้พอเลี้ยงดูลูกๆ 2-3 คน จนจบการศึกษาภาคบังคับ (ถ้าลูกคนไหนอยากเรียนหนังสือต่อในระดับมหาวิทยาลัยหรือวิทยาลัยครู ก็ต้องหาเงินเลี้ยงตัวเองในระหว่างที่เรียนหนังสือ) ทำงานจนเกษียณอายุก็มีเงินบำนาญจากรัฐบาลเลี้ยงดู

ว่าไปแล้ว ชีวิตคนคีวีส่วนใหญ่ในสมัยนั้นค่อนข้างมั่นคง ถึงจะมีรายได้ไม่มากมายนัก มิได้ร่ำรวย แต่มีรายได้หรือค่าเลี้ยงดูจากรัฐ ช่วยให้มีชีวิตที่สุขสบายจนแก่เฒ่าเลยทีเดียว

อาจมีข้อยกเว้นอยู่บ้างคือ ผมเคยพบผู้ชายวัยราว 50 ปี 2-3 คนที่เป็นคนงาน ไม่ได้แต่งงานมีครอบครัว อาศัยเช่าห้องเล็กๆ ในบ้านเช่าหรือที่พักราคาถูกอยู่คนเดียว ทำงานเสร็จตอนเย็นถ้าไม่ไปพบเพื่อนฝูง ดื่มเบียร์เฮฮาที่ผับ ก็ซื้ออาหารมานั่งกินคนเดียว ดูทีวีในห้องเช่า วันหยุดถ้าไม่ไปผับก็นั่งดูทีวี

จนดูเหมือนว่าชีวิตของผู้ชายโสดวัยกลางคนนั้นวนเวียนอยู่กับผับและโทรทัศน์

อย่าทำกระจกแตก

ในช่วงปีแรก งานที่ผมทำบ่อยคือการรับจ้างทำงานตามบ้านเรือนของคนสูงวัย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงที่อยู่คนเดียว อาจเป็นคนโสดหรือสามีเสียชีวิตแล้ว (พร้อมๆ กับที่ผมได้เรียนรู้ว่า ‘ครอบครัวเดี่ยว’ ในสังคมตะวันตกอย่างนิวซีแลนด์ เมื่อลูกเต้าเติบใหญ่และออกจากบ้านไปมีชีวิตของตนเองแล้ว คนต่างรุ่นต่างอายุ ไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่ ปู่ย่าตายาย มักต่างแยกกันอยู่ ไม่เหมือนครอบครัวคนไทยมากมายที่คนต่างรุ่นอาศัยอยู่ร่วมกัน) งานที่ผมต้องทำมักเป็นการทำความสะอาด ทั้งในบ้านและบริเวณรอบๆ นอกบ้าน เช่น ตัดหญ้า ถอนวัชพืช แต่เคยเจอคุณป้าบางคนที่ชอบทำสวน ประเภทปลูกไม้ดอก แกก็อาจให้ผมช่วยพรวนดิน รดน้ำ บางคนให้ผมเอาต้นไม้ลงดินก็มี แต่ไม่บ่อยนัก ถ้าเป็นในบ้านมักเป็นการดูดฝุ่นพื้น เช็ดโต๊ะ ทำความสะอาดครัว หากผมเห็นถ้วยจานชามวางอยู่ในซิงค์อ่างล้างจานก็ล้างให้ แต่เจอไม่บ่อยนัก

งานประเภทนี้ไม่ต้องอาศัยความเชี่ยวชาญด้านใดเป็นพิเศษ ทว่า สำหรับคนไม่ประสีประสาอย่างผม น่าจะพูดได้ว่าเรียนรู้มากทีเดียว ไม่ใช่ด้านทักษะการทำงาน แต่เป็นเรื่องภาษา เพราะผมมีความสามารถด้านภาษาอังกฤษไม่ต่างจากผู้อพยพหรือผู้ลี้ภัยจากประเทศยากจนทั้งหลายนัก การรับจ้างทำงานตามบ้านทำให้ผมต้องสนทนากับผู้ว่าจ้าง แม้ว่าบทสนทนาส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องทั่วๆ ไป หรือเรื่องในชีวิตประจำวัน แต่ช่วยให้เข้าใจภาษานี้ได้ดีขึ้น เรียนรู้ว่าควรพูดอย่างไร อะไรผิดอะไรถูก เริ่มรู้ว่าภาษาอังกฤษที่ตัวเองเคยเรียนมาหรือถูกสอนมามักใช้ไม่ค่อยได้ในชีวิตจริง

คุณป้าผิวขาวคนหนึ่งจ้างผมทำความสะอาดบ้าน เริ่มด้วยการดูดฝุ่นพื้นห้อง เช็ดถูเฟอร์นิเจอร์ต่างๆ ในบ้าน เสร็จสรรพก็บอกผมให้ทำความสะอาดกระจกหน้าต่างที่มีอยู่หลายบาน

“Don’t break the windows.” (อย่าทำกระจกแตกนะ) แกกำชับเสียงหนักแน่นกับผม ผมตอบกลับแบบไทยๆ ว่า “Yes.” แกมองหน้าผมตาโต แล้วพูดเสียงหนักแน่นกว่าเดิม “No! No, you won’t break the windows.”

ผมจึงถึงบางอ้อว่าการตอบว่า “ใช่ (จะไม่ทำ)” ด้วยวิธีคิดแบบคนไทยนั้นผิดพลาดอย่างมหันต์ – ต้องตอบด้วยการปฏิเสธ ว่า “ไม่ (จะไม่ทำ)”

ความไม่ประสีประสาในภาษาอังกฤษของผมมีมากมายจนจำไม่หมด ถ้าจำได้หมด ผมคงเอาไปเขียนเป็นหนังสือเล่มหนา ยาวพอๆ กับเอนไซโคลพิเดียอย่างน้อยสัก 2-3 เล่ม!

เงียบๆ ฉันจะดู ‘Otello’

อีกเรื่องหนึ่งที่ผมได้เรียนรู้จากการทำงานตามบ้านหญิงสูงวัยในเมืองดันนิดินคือ งานอดิเรกและรสนิยมด้านความบันเทิงของชาวเมือง

บ่ายวันเสาร์ในฤดูร้อนที่แดดแรง ท้องฟ้าใสสว่าง แต่อากาศเย็นทีเดียว ผมรับงานทำความสะอาดที่บ้านคุณป้าคนหนึ่ง เป็นคนร่างเล็ก พูดจาเบาๆ สุภาพมาก แกเล่าว่าเป็นคนอังกฤษ แต่อพยพมาอยู่ในเมืองนี้ตั้งแต่ยังเป็นสาว สามีเสียชีวิตไปหลายปีแล้ว พอบอกผมว่าต้องทำอะไรบ้างในบ้าน แกก็เปิดทีวีดู ผมทำความสะอาดในบ้านอยู่พักใหญ่แกก็เรียกผมให้หยุดพักและดื่มน้ำชา ชวนผมสนทนาด้วย แต่สายตาของแกเหลือบมองทีวีที่ยังเปิดอยู่ เหมือนแกกำลังรอดูอะไรสักอย่าง ไม่นานนักสิ่งที่แกรอคอยก็มาถึง นั่นคือ ‘ละครโอเปร่า’ หรือ ‘อุปรากร’

แล้วทีวีเครื่องนั้นก็ดึงดูดความสนใจของแกไปจนหมดสิ้น เป็นการดูอย่างใจจดใจจ่อ ส่วนผมนั่งงง ไม่รู้ว่าละครโอเปร่าที่แกกำลังดูอยู่คือเรื่องอะไร พอเอ่ยปากจะถาม แกกลับบอกผมไม่ให้พูดรบกวนสมาธิ เพราะ คีรี เต คานาวา (Kiri Te Kanawa) นักร้องโอเปร่าหญิงเชื้อสายเมารีผู้มีชื่อเสียงก้องโลกกำลังแสดงอยู่ หลังจากนั้นแกก็นั่งเงียบ สายตาไม่คลาดจากจอทีวี ตั้งอกตั้งใจดูเหมือนเด็กนั่งดูหนังการ์ตูน

ผมมาทราบภายหลังว่าละครโอเปร่าเรื่องนั้นชื่อ ‘โอเทลโล่’ (Otello) เป็นอุปรากรที่ผู้ประพันธ์ชาวอิตาลีแต่งขึ้นใหม่ โดยดัดแปลงจากบทละครของ วิลเลียม เชกสเปียร์ (William Shakespeare) เรื่อง ‘Othello’ ว่ากันว่าต้นตำรับของเรื่องนี้เป็นนิทานหรือเรื่องเล่าในภาษาอิตาลี แล้วเชกสเปียร์รับรู้เกี่ยวกับนิทานเรื่องนี้ จึงนำมาแต่งเป็นบทละครเรื่องใหม่ตามสไตล์ของตนเอง ส่วน ‘โอเทลโล่’ ที่เป็นอุปรากร มี 4 องก์ ผมคงไม่มีสุนทรียะพอที่จะชื่นชมละครเรื่องนี้ แถมอาจจะมีอคติแฝงอยู่ด้วย เพราะคิดว่าเนื้อเรื่องออกแนวอิจฉาริษยา ใส่ร้ายป้ายสีผู้หญิง และสามีของผู้หญิงก็หูเบา ถูกหลอกง่ายซะเหลือเกิน!

ฉากที่คุณป้าคนอังกฤษดูอยู่นั้นเป็นตอนสำคัญของละครเรื่องนี้ คือองก์ 4 เป็นตอนที่ ‘เดสเดโมนา’ (Desdemona) ตัวเอกฝ่ายหญิง (ซึ่งแสดงและขับร้องโดย คีรี เต คานาวา) คนงามแห่งนครเวนิส ภรรยาของทหารแขกมัวร์นาม ‘โอเทลโล่’ กำลังพยายามพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตนเองและความรักที่เธอมีต่อสามี ไม่เคยคิดนอกใจ แต่โอเทลโล่ถูกเป่าหูจนเสียสติ เชื่อว่าภรรยามีชู้ แล้วเรื่องก็จบด้วยความเศร้าแบบโศกนาฏกรรม สามีฆ่าภรรยา แล้วฆ่าตัวตายตาม

บ่ายวันนั้นคุณป้าดูพลางซับน้ำตาด้วยผ้าเช็ดหน้าพลาง ส่วนผม ซึ่งตอนนั้นยังไม่รู้อะไรทั้งนั้น และฟังโอเปร่าภาษาอิตาลีไม่ออกสักคำ จึงมิได้มีอารมณ์คล้อยตามคุณป้าเลย แต่ต้องขอบคุณแกที่ทำให้ผมรู้จักอุปรากรเรื่องนี้ และคีรี เต คานาวา หญิงเมารี/คีวีผู้โด่งดัง

นอนครั้งสุดท้ายเมื่อไร?

งานที่อาจเรียกได้ว่าเป็นงานประจำของผมคือ งานที่ห้องสมุดคณะแพทยศาสตร์ ที่ต้องทำ 2 หน้าที่ หน้าที่แรกคือการตรวจเช็กและเก็บเงินเหรียญที่นักศึกษาใช้หยอดเครื่องถ่ายเอกสารในห้องสมุด งานนี้ผมต้องทำทุกเช้า จันทร์ถึงศุกร์ อีกหน้าที่หนึ่งอยู่ในแผนก ‘หนังสือต้องจอง’ (Reserved Books) ที่เก็บหนังสือและตำราที่สำคัญและจำเป็นต่อการเรียน นักศึกษาทุกคนสามารถยืมหนังสือได้ครั้งละ 1 เล่ม เล่มละ 2 ชั่วโมง ครบ 2 ชั่วโมงต้องเอามาคืน ถ้ามีนักศึกษาคนอื่น ‘ขอจอง’ หนังสือเล่มนั้นไว้ หนังสือก็จะถูกเก็บไว้ให้คนที่จอง แต่หากไม่มีใครขอจองไว้ นักศึกษาคนที่เอาหนังสือมาคืนสามารถยืมต่อได้อีก 2 ชั่วโมง อย่างไรก็ตาม เนื่องจากเป็นหนังสือ/ตำราทางการแพทย์ที่นักศึกษาต้องใช้ แต่ละเล่มจึงมีหลายก๊อบปี้ แทบจะไม่ต้องแย่งกันอ่านแย่งกันยืม ยกเว้นช่วงสอบใหญ่ปลายปี

ผมชอบงานที่แผนกหนังสือต้องจอง แม้ว่าต้องทำถึง 5 ชั่วโมง เริ่มเวลา 18.00 น. จนปิดห้องสมุดในเวลา 23.00 น. แต่ภารกิจที่ต้องปฏิบัติคือนั่งประจำที่เคาน์เตอร์สำหรับยืมหนังสือ มีหน้าที่ให้นักศึกษายืมและจองหนังสือที่อยู่บนชั้นหนังสือต้องจอง ให้ยืมหนังสือทั่วไปที่อยู่ในส่วนอื่นๆ ของห้องสมุด (หากยืมได้) ตรวจดูความเรียบร้อยของห้องสมุดก่อนปิด และปิดห้องสมุดตอน 5 ทุ่ม ระหว่างที่นั่งอยู่ที่เคาน์เตอร์ผมสามารถทำงานของผมเองได้ นั่นคือการอ่านและเขียนรายงานที่ต้องส่งให้อาจารย์ และวิทยานิพนธ์ ป. โท ในเวลาต่อมา ผมทำหน้าที่นี้อยู่นานจนจำหน้านักศึกษาแพทย์บางคนได้ บางคนที่มีอัธยาศัยดี เป็นมิตรเป็นกันเอง ผมก็ทักทาย ชวนสนทนาด้วย จนรู้ว่ากำลังเรียนปีอะไร

ร่ำลือกันว่าการสอบเข้าคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยโอทาโก ยากแสนเข็ญยิ่งนัก แม้ได้เข้าเรียนแล้วแต่อาจไม่จบก็ได้ เพราะการเรียนจนจบและได้รับปริญญา (ใช้เวลา 6 ปี โดยต้องสอบให้ผ่านด้วยคะแนนที่สูงในตอนปลายปีที่ 5 เพื่อเข้าฝึกงานเป็นแพทย์อินเทิร์นในปีที่ 6 ซึ่งเป็นปีที่โหดมาก) นั้นยากลำบากกว่าเสียอีก

ผมรู้จักหนุ่มอินเดียที่เรียนคณะนี้คนหนึ่ง เป็นคนเงียบๆ สุภาพมาก อัธยาศัยดี เจอผมก็ทักทาย (แบบเงียบๆ) ทุกครั้ง แกจบปี 5 ด้วยคะแนนสอบที่สูง แต่พอไปเป็นแพทย์อินเทิร์นกลับสอบไม่ผ่าน ด้วยเหตุที่เป็นคนเงียบๆ ไม่ชอบสุงสิงพบปะผู้คน และขาดความมั่นใจในการตัดสินใจ อาจารย์ให้สอบอีกครั้งก็ไม่ผ่าน ในที่สุดคณาจารย์ปรึกษากัน แล้วแนะนำแกให้เรียนวิชาเพิ่มเติมในสาขาวิชาเคมี จบการศึกษาด้วยดีกรีทางเคมี และได้งานทำในห้องแล็บของคณะแพทย์ฯ

เรื่องราวของหนุ่มอินเดียจึงจบลงอย่างแฮปปี้เอ็นดิ้ง – แกได้ปริญญา คณะแพทย์ฯ ได้คนทำงานห้องแล็บที่ไม่พูดมากและขยัน ทำงานหนัก และคู่หมั้นของแก ซึ่งเป็นหญิงอินเดียก็ยินดีที่เห็นว่าที่สามียังทำงานอยู่ในโรงพยาบาล แม้ว่าจะไม่ได้เป็นหมอก็ตาม

จะพูดว่าการทำงานในห้องสมุดนี้เป็นการเปิดหูเปิดตาของผมก็คงได้ ช่วยให้ผมรู้จักโลกที่กว้างขึ้น นับตั้งแต่ความรู้ทางการแพทย์บางเรื่อง รู้จักหนังสือและตำราการแพทย์ที่สำคัญหลายเล่ม (แม้ว่าจะอ่านไม่รู้เรื่องเลยก็ตาม) เช่น Gray’s Anatomy ซึ่งเป็นตำราการแพทย์และหนังสืออ้างอิงเกี่ยวกับกายภาพของมนุษย์ที่สำคัญอย่างยิ่งยวด นักศึกษาแพทย์ในโลกตะวันตกต้องใช้ในการศึกษามาตั้งแต่ ค.ศ. 1858 (แต่ท่านผู้อ่านไม่ควรสับสนกับเรื่อง Grey’s Anatomy ที่เป็นซีรีส์ทีวีอเมริกัน เรื่องราวของแพทย์และพยาบาล) หรือได้รู้จักนักศึกษาแพทย์หลายคน รับรู้ถึงการเรียนแพทย์ที่หนักหนาสาหัส ความมุ่งมั่นและความขยันขันแข็งของนักศึกษาบางคน

ผมคุ้นเคยกับนักศึกษาปี 6 ที่ทำอินเทิร์น 2-3 คน มักพูดคุยกันเวลาที่เขามายืม ‘หนังสือต้องจอง’ (คุ้นเคยกันจนบางครั้งผมก็เก็บหนังสือไว้ให้) เคยถามว่าทำไมมาเรียนแพทย์ ได้คำตอบว่าตอนเด็กๆ อยากรู้เรื่องร่างกายมนุษย์ หรืออยากช่วยเหลือผู้อื่น อยากรักษาคนเจ็บป่วย (ทำนองความฝันวัยเด็กทำให้อยากมาเรียน) แต่พอมาเรียนก็เจอว่าความเป็นจริงกับสิ่งที่เคยฝันนั้นต่างกัน เพราะเป็นการเรียนที่หนักมาก (แต่ผมอยากเดาว่าเพราะคนเหล่านี้มีความฝัน มีความต้องการบางอย่างอย่างจริงจัง จึงทำให้ตั้งหน้าตั้งตาเรียน มิเช่นนั้นคงเลิกเรียนไปนานแล้ว)

มีหนุ่มนักศึกษาอินเทิร์นคนหนึ่งที่ผมทักทายพูดคุยด้วยเสมอ เป็นคนนิสัยดีและขยันมาก ผมเห็นเขามานั่งอ่านและเขียนหนังสือในห้องสมุดเสมอ ตอนต้นปีการศึกษาแกดูกระฉับกระเฉง ไม่แน่ใจว่าเพราะความตื่นเต้นกับการเป็นนักศึกษาแพทย์อินเทิร์นหรือเปล่า แต่พอการฝึกงานเป็นแพทย์ในโรงพยาบาลหนักขึ้นแกก็ไม่ค่อยได้พักผ่อน หน้าตาเริ่มดูเหมือนคนอดหลับอดนอน เวลาผ่านไปแกยิ่งดูเหนื่อยและอ่อนเพลียมากขึ้น

คืนหนึ่งในห้องสมุด เมื่อแกมาขอยืมหนังสือ หน้าตาอิดโรยมาก ผมเผ้าไม่ได้หวี ผมเห็นหน้าแกแล้วก็เป็นห่วง จึงเอ่ยถามว่า “คุณนอนครั้งสุดท้ายเมื่อไร?”

แกมองหน้าผมด้วยสายตาอ่อนเพลียพร้อมรอยยิ้มเล็กๆ บนใบหน้า ก่อนตอบว่า

“ผมจำไม่ได้” (I can’t remember.) แล้วหอบหนังสือที่ขอยืมไปนั่งที่โต๊ะอ่านหนังสือ

วิถีชีวิตหลังเศรษฐกิจตกต่ำ

หวนคิดถึงประสบการณ์การทำงานที่ห้องสมุดคณะแพทย์ฯ ทำให้ผมนึกถึงเรื่องเล่าเกี่ยวกับคณะแพทยศาสตร์ หนึ่งในคณะแรกๆ ที่เปิดทำการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัยโอทาโก สถาบันการศึกษาระดับสูงที่เก่าแก่ที่สุดของประเทศ ซึ่งก่อตั้งขึ้นในต้นคริสต์ศตวรรษที่ 19 คณะแพทยศาสตร์นอกจากจะมีอายุเก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งแล้ว ยังเป็นคณะที่มีชื่อเสียงในระดับโลก ด้วยเหตุที่คณะนี้ได้รักษามาตรฐานในการศึกษาในระดับสูงมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน มีการเรียนการสอนที่เข้มข้น การผลิตนักศึกษาแพทย์เป็นไปอย่างจริงจัง แต่ละปีจึงมีนักศึกษาแพทย์ที่สามารถสอบผ่านและจบการศึกษาจำนวนไม่มาก

ในช่วงภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ (The Great Depression) ที่เริ่มขึ้นใน ค.ศ. 1929 และยาวต่อเนื่องเกือบ 1 ทศวรรษ สร้างความเสียหายต่อนิวซีแลนด์ในทุกภาคส่วน รวมถึงการศึกษาและมหาวิทยาลัย อาจารย์และนักศึกษาในทุกคณะ รวมถึงคณะแพทย์ฯ ล้วนถูกผลกระทบจากสภาพเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ จนมีเรื่องเล่าว่านักศึกษาแพทย์บางคนต้องเลิกเรียนกลางคัน บางคนที่อดทนดิ้นรนเรียนต่อ ทั้งๆ ที่ไม่มีเงิน กลายเป็นคนไร้บ้านเพราะขาดเงิน ไม่สามารถเช่าบ้านพักได้ ต้องนอนตามริมถนน ในกล่องกระดาษแข็งบุด้วยกระดาษหนังสือพิมพ์เพื่อให้อบอุ่น แต่อากาศหนาวเย็นและเปียกชื้นในฤดูหนาวทำให้การนอนในกล่องกระดาษเป็นสิ่งที่ทรมานต่อร่างกายอย่างยิ่ง ส่งผลให้สุขภาพของนักศึกษาบางคนทรุดโทรมลง เกิดการเจ็บป่วย และมีบางรายที่เสียชีวิต

เรื่องราวเหล่านี้กลายเป็นเรื่องเล่าจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ที่นักเขียนนิวซีแลนด์ให้ความสนใจ จนกลายเป็นหนึ่งในหัวข้อสำคัญของการเขียนประวัติศาสตร์สังคม (Social history) ของดินแดนแห่งเมฆขาวเป็นแนวยาว เพราะนอกจากผลกระทบด้านเศรษฐกิจและการเมือง (ที่ภายหลังนำไปสู่ชัยชนะอย่างถล่มทลายของพรรคแรงงานในการเลือกตั้งในกลางทศวรรษ 1930) ยังก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคม-วัฒนธรรมอีกด้วย

ในช่วงภาวะเศรษฐกิจตกต่ำมีคนตกงานเป็นจำนวนมาก ทำให้ครอบครัวขาดรายได้ เกิดคนจนขึ้นมากมาย ตามมาด้วยความอดอยาก ผู้คนทั่วไปจึงต้องดิ้นรนช่วยเหลือตนเอง หากครอบครัวพอจะมีที่ดินบ้าง แม้เป็นเพียงผืนเล็กๆ รอบบ้าน ก็เริ่มทำการเพาะปลูก ส่วนใหญ่เป็นพืชผักที่บริโภคได้ หรือแม้กระทั่งเลี้ยงไก่เพื่อเอาไข่ หลังจากที่ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ผ่านพ้นไป กิจกรรมเพาะปลูกพืชพรรณเพื่อการบริโภคก็มิได้หายสาบสูญไป แต่กลับกลายเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตคนคีวีสมัยใหม่ที่นิยมปลูกผักต่างๆ เช่น แคร์รอต กะหลํ่าปลี หรือแม้แต่มันฝรั่ง บางครอบครัวที่จริงจังกับการปลูกผักอาจสร้าง ‘เรือนกระจก’ (Glass house) เพื่อปลูกมะเขือเทศและผักชนิดอื่นๆ ที่ไม่อาจทนความหนาวเย็นของน้ำค้างแข็ง (Frost) ได้ นอกจากนี้ การปลูกไม้ดอกเพื่อความสวยงามก็เป็นที่นิยมอย่างยิ่ง

กิจกรรมในชีวิตประจำวันที่เกิดขึ้นอีกกิจกรรมหนึ่งที่อาจเป็นผลพวงของภาวะเศรษฐกิจตกต่ำคือ การเก็บรักษาอาหารไว้บริโภคในอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำผลไม้แช่อิ่มและแยมทาขนมปัง ที่ใช้วัตถุดิบหลักจากไม้ผลที่ปลูกไว้ในบริเวณบ้านหรือผลไม้ที่ซื้อมาจากร้านค้า ครอบครัวคีวีที่ผมรู้จักชอบทำแยมหรือผลไม้แช่อิ่มเพื่อกินกับไอศครีม หรือทำเค้ก และสอนให้ผมทำแยม

บ้านเช่าที่ผมเคยเช่าอยู่เป็นบ้านเก่าหลังใหญ่ที่มีพื้นที่รอบบ้านกว้างขวางมาก เจ้าของบ้านเป็นผู้ชายที่เกษียณอายุแล้ว แต่ยังแข็งแรงและขยันทำงาน ดูแลบ้าน แกปลูกไม้ดอกและไม้ผลไว้มากทีเดียว หนึ่งในนั้นคือต้นกูสเบอรี่ (Gooseberry) ผลไม้สีเขียวรสเปรี้ยวที่ไม่ค่อยมีใครโปรดปราน ด้วยความอยากรู้ ผมจึงถามแกว่าจะกินกูสเบอรี่ที่เปรี้ยวมากอย่างไร แกแนะนำให้ทำพายผลไม้หรือแยม ซึ่งทำไม่ยาก ผมตัดสินใจลองทำแยม และประสบความสำเร็จ ได้แยมกูสเบอรี่หลายขวด แต่ก็ต้องใช้น้ำตาลหลายถุงทีเดียวเพื่อดับความเปรี้ยว

บ้านเช่าที่ผมเคยเช่าอยู่เป็นบ้านเก่าหลังใหญ่ที่มีพื้นที่รอบบ้านกว้างขวางมาก เจ้าของบ้านเป็นผู้ชายที่เกษียณอายุแล้ว แต่ยังแข็งแรงและขยันทำงาน ดูแลบ้าน แกปลูกไม้ดอกและไม้ผลไว้มากทีเดียว หนึ่งในนั้นคือต้นกูสเบอรี่ (Gooseberry) ผลไม้สีเขียวรสเปรี้ยวที่ไม่ค่อยมีใครโปรดปราน ด้วยความอยากรู้ ผมจึงถามแกว่าจะกินกูสเบอรี่ที่เปรี้ยวมากอย่างไร แกแนะนำให้ทำพายผลไม้หรือแยม ซึ่งทำไม่ยาก ผมตัดสินใจลองทำแยม และประสบความสำเร็จ ได้แยมกูสเบอรี่หลายขวด แต่ก็ต้องใช้น้ำตาลหลายถุงทีเดียวเพื่อดับความเปรี้ยว

การทำแยมกูสเบอรี่นั้นง่ายกว่าการทำแยมผลไม้อื่นๆ แค่เอากูสเบอรี่ไปต้มกับน้ำตาล พอสีผลไม้เปลี่ยนจากสีเขียวเป็นสีน้ำตาลก็ดับไฟ ปล่อยให้เย็นก็จะได้แยมกูสเบอรี่ที่แข็งตัวเอง ไม่ต้องใส่เพกทิน (pectin) ซึ่งเป็นผงที่ทำให้แยมแข็งตัวเหมือนการทำแยมผลไม้ชนิดอื่น

ชีวิตในนิวซีแลนด์ทำให้ผมมีประสบการณ์และเรียนรู้ทักษะหลายอย่างที่ดูแสนธรรมดา แต่มีประโยชน์ในชีวิตประจำวันอย่างมาก

นิติ ภวัครพันธุ์
ศาสตราจารย์ด้านมานุษยวิทยา สถานที่ทำงานสุดท้ายคือคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปัจจุบันเขียนหนังสือด้านสังคม-วัฒนธรรม และผู้คนต่างกลุ่มชาติพันธุ์ ผลงานรวมเล่ม ได้แก่ ชวนถก ชาติและชาติพันธุ์, เรื่องเล่าเมืองไต พลวัตของเมืองชายแดนไทย-พม่า เป็นต้น และเป็นคอลัมนิสต์ให้สื่อออนไลน์

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า