หลากใบหน้า สารพันภูมิหลัง บนโลกใบเดียวกัน

ผมเล่าถึงประสบการณ์การท่องเที่ยวในนิวซีแลนด์ด้วยรถบัสและการโบกรถ (ดู – ‘โต๋เต๋แบบจนๆ’ ตอน Hit the Road และ ‘โบกรถ’ ไปดวงดาว) ได้พบเจอผู้คนมากมาย ทั้งคนท้องถิ่นและไม่ใช่ (แต่ก็ไม่ใช่คนแปลกหน้าสำหรับคนท้องถิ่น เพราะล้วนรู้จักมักคุ้นกันพอควร) ผู้มีน้ำมิตรและน้ำใจกับผม ด้วยการรับผมขึ้นรถไปด้วย หรือแม้แต่เลี้ยงน้ำชา ขนม และชวนสนทนา ทำให้ผมได้รับรู้เรื่องราวของผู้มีจิตใจเอื้อเฟื้อเหล่านั้น

ในแง่หนึ่ง คงต้องพูดว่าผมเป็นคนโชคดีที่เจอคนแปลกหน้าผู้มีความกรุณาและเป็นมิตร ชวนพูดชวนคุย เปิดเผยกับผม ในอีกแง่หนึ่ง ผมก็เป็นคนสอดรู้สอดเห็น ชอบฟังเรื่องเล่าของคนอื่น อยากรู้เรื่องราวของพวกเขา สนใจในชีวิตและอดีต ความเป็นมาของคนเหล่านี้

หวนคิดถึงการใช้ชีวิตนานกว่า 6 ปี ใน ‘ดินแดนแห่งเมฆขาวเป็นแนวยาว’ ผมได้ฟังและรับรู้เรื่องราวมากมายจากหลากหลายผู้คน ทั้งคนคีวีและต่างชาติ ทั้งที่เป็นมิตรสหาย ทั้งคนรู้จักและคนแปลกหน้า ได้ยินสารพันเรื่องเล่า ไม่ว่าจะเป็นภูมิหลัง ประวัติความเป็นมา ความทรงจำของวันวานที่ชื่นบาน อดีตอันขมขื่นที่เวลาที่ผ่านมาช่วยให้ไม่เจ็บปวดอีกแล้ว ความพยายามที่จะเริ่มต้นชีวิตใหม่ หรือความภาคภูมิใจที่ติดตรึง จากปากคำของคนที่มีอายุรุ่นราวคราวเดียวกับผมไปจนถึงรุ่นพ่อแม่

ยิ่งกว่านั้น ยังเป็นช่วงเวลาที่ผมเจอเหตุการณ์ประหลาดๆ เรื่องราวที่ไม่เคยคาดฝันถึง และคนบางคนที่ไม่แน่ใจว่าจะคิดเห็นต่อเขา/เธออย่างไร 

คีวีหูไว

ผมย้ายที่อยู่หลายครั้ง ทั้งช่วงที่อยู่ในเมืองดันนิดินและเวลลิงตัน มีเพื่อนร่วมแฟลตและร่วมบ้านเช่าหลายคน ซึ่งก็เข้าๆ ออกๆ ย้ายที่อยู่บ่อยเหมือนผม บ่อยจนผมจำบางคนไม่ได้ เรื่องที่จะเล่าต่อไปนี้เป็นเรื่องของบางคนที่ผมสนิทสนม บางคนมีบุคลิกและนิสัยใจคอที่ทำให้จดจำ หรือสร้างวีรกรรมที่ไม่อาจลืมได้

แองเจล่า ผู้เคยปิดประตูบ้านใส่หน้าสองหนุ่มที่มาเคาะประตูเรียกเพื่อเผยแพร่ศาสนาคริสต์นิกายมอร์มอน เธอเป็นสาวคีวีรูปร่างผอม กะทัดรัด เกิดและโตในดันนิดิน ตอนที่ย้ายมาอยู่ในแฟลตเดียวกันเธอกำลังเรียนธรณีวิทยาปีที่ 4 ซึ่งเป็นปีสุดท้ายสำหรับนักศึกษาที่จะจบการศึกษาด้วยคะแนนระดับ ‘เกียรตินิยม’ (นักศึกษาระดับปริญญาตรีจบการศึกษาภายในเวลา 3 ปี ถ้าต้องการจบด้วย ‘เกียรตินิยม’ ต้องเรียนให้ได้คะแนนสูงทุกปี แล้วไปเรียนเพิ่มอีก 1 ปี และสำเร็จการศึกษาด้วยคะแนนเฉลี่ยที่สูง) เธอเป็นคนคล่องแคล่ว ฉลาด ไหวพริบยอดเยี่ยม มีหูและสมองที่ฉับไว

แฟลตที่ผมพักอยู่เป็นของมหาวิทยาลัย มีทั้งหมด 5 ห้องนอน ตอนนั้นนอกจากผม ยังมีเพื่อนร่วมแฟลตที่เป็นชายวัยกลางคนจากจีนแผ่นดินใหญ่ หนุ่มชวาจากอินโดนีเชีย สาวสวยญี่ปุ่น และแองเจล่า หากยกเว้นเธอแล้ว ทั้ง 4 คนที่เหลือ พูดภาษาอังกฤษด้วยสำเนียงและลิ้นที่ยากจะเข้าใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ฉี ชายจีน ด้วยเหตุนี้ เวลาที่พวกเราสนทนากันจึงเป็นเรื่องปกติที่ใครสักคนจะขอให้อีกคนพูดซ้ำอีกครั้ง เพราะไม่เข้าใจหรือฟังไม่ทัน การต้องพูดซ้ำเพื่อให้เพื่อนร่วมแฟลตเข้าใจจึงเป็นกิจวัตรของพวกเรา 

แต่ไม่ใช่แองเจล่า ผู้แทบจะไม่เคยขอให้ใครพูดซ้ำอีกครั้ง เธอเรียนรู้ได้อย่างรวดเร็วในการฟังและทำความเข้าใจสำเนียงภาษาอังกฤษของคนต่างชาติ เพียงไม่กี่สัปดาห์หลังจากที่เข้ามาอยู่ร่วมกัน เธอก็สามารถเข้าใจเพื่อนร่วมแฟลตทั้ง 4 คน รวมถึงผมด้วย ได้อย่างไม่มีปัญหา

พูดครั้งเดียวเธอก็เข้าใจ สามารถตอบกลับได้อย่างรวดเร็ว และอย่างเป็นธรรมชาติ

เหนือความคาดหมายใดๆ คือการที่เธอกลายเป็น ‘ผู้ถอดความสำเนียงภาษาอังกฤษของเพื่อนต่างชาติ’ ในการสนทนาที่มีเธอร่วมอยู่ด้วย เมื่อเพื่อนร่วมแฟลตขอให้คู่สนทนาพูดอีกครั้งเพราะไม่เข้าใจ เธอจะตอบแทน อธิบายว่าผู้พูดหมายถึงอะไรได้อย่างกระจ่างชัด ความสามารถในการสื่อสารนี้ทำให้เธอเป็นที่ชื่นชอบของเพื่อนร่วมแฟลตทุกคน

นอกจากทักษะพิเศษด้านการฟังและสื่อสารนี้แล้ว แองเจล่ายังเป็นคนที่กล้าตัดสินใจและแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้อย่างรวดเร็ว

เช้าวันหนึ่งเสียงโทรศัพท์ดังขึ้น ผมออกจากห้องนอนมารับสาย เป็นเสียงผู้หญิง เธอเอ่ยชื่อชายผู้หนึ่งที่ผมไม่รู้จัก (จำไม่ได้แล้วว่าชื่ออะไร) และขอพูดด้วย ผมบอกเธอว่าไม่มีชายคนที่ว่านี้ที่นี่ เธอคงหมุนเบอร์ผิด แล้วก็วางหู อีกครู่หนึ่งต่อมาเธอก็โทรเข้ามาอีก (เดาว่าเธอคงพยายามโทรอย่างต่อเนื่อง) และผมก็ให้คำตอบเช่นเดิม ครั้งที่สาม – หลังจากที่วางหูไปพักใหญ่ – เธอโวยวาย หาว่าผมโกหก สมคบคิดกับชายคนที่เธอถามหา ซึ่งไม่ยอมคุยกับเธอ ไม่ต้องการพบเธอ พูดไปร้องไห้ไป ทำเอาผมตกใจระคนแปลกใจ ไม่คาดคิดว่าจะเจอเรื่องแบบนี้ พยายามพูดปลอบเธอ อธิบายว่าเบอร์โทรศัพท์นี้เป็นแฟลตนักศึกษา และผมเองอยู่ที่นี่มานานแล้ว ไม่เคยมีคนที่เธอถามหาเลย

เสียงโทรศัพท์ที่ดังขึ้นทั้งสามครั้ง ทำให้แองเจล่าและเพื่อนร่วมแฟลตอีกคนออกจากห้องนอนมาดู (ก่อนหน้านั้นผมคิดว่าผมอยู่ในแฟลตคนเดียว) ผมเล่าให้ทั้งสองฟังว่าเกิดอะไรขึ้น แองเจล่าสันนิษฐานว่าหนุ่มที่หญิงคนนั้นถามหาคงไปทำให้เธอหลงรัก แต่เขาคงไม่ได้จริงจังด้วย เลยหนีห่างหลบหาย แล้วหลอกเธอด้วยการให้เบอร์โทรศัพท์ที่ไม่ใช่ของเขา จึงทำให้พวกเราเกิดเห็นใจเธอขึ้นมา

เราสามคนนั่งสนทนากันอยู่พักใหญ่เสียงโทรศัพท์ก็ดังขึ้นอีกครั้ง แองเจล่าเดาว่าน่าจะเป็นหญิงคนนั้นจึงรับสายเอง ซึ่งก็ใช่ แล้วเธอก็พยายามอธิบายและพูดปลอบผู้หญิงคนนั้น หลังจากนั้นไม่มีการโทรเช่นนี้เข้ามาอีกเลย

สาวหักอก

ทว่า ผู้หญิงที่กล่าวถึงข้างต้นไม่ใช่คนเดียวที่ผิดหวังกับความรัก ต้องชอกช้ำระกำใจ แต่คราวนี้เกิดขึ้นในแฟลต เป็นประสบการณ์โดยตรง และผลลัพธ์ที่ตามมาแม้จะไม่กระทบกับผมโดยตรง แต่ก็สร้างความเดือดร้อนอย่างมากต่อเพื่อนร่วมแฟลตที่ผมสนิทด้วย จึงทำให้ผมรู้สึกแย่มาก

เรื่องเกิดขึ้นจากเอสเตอร์ สาวอังกฤษค่อนข้างท้วม ซึ่งเป็นคนชอบกิน – ถ้าเครียดหรือกลุ้มใจก็จะกินมากขึ้น – ตอนที่เธอเข้ามานั้นที่แฟลตมีห้องว่างอยู่ห้องหนึ่ง (เพราะมีคนย้ายเข้าออกอยู่เสมอ) โดยมีเพื่อนร่วมแฟลตที่เป็นผู้หญิงรุ่นพี่คนไทยรับผิดชอบ หากเกิดปัญหาขึ้น ในเรื่องสาธารณูปโภค เช่น ค่าโทรศัพท์ ไฟฟ้า ฯลฯ เพราะเธอเป็นคนเซ็นสัญญาที่เกี่ยวข้องกับเรื่องเหล่านี้

เอสเตอร์เห็นประกาศห้องว่างให้เช่าก็มาติดต่อกับเพื่อนรุ่นพี่ ซึ่งต้อนรับเธอด้วยความยินดี ผมไม่แน่ใจว่าเอสเตอร์เป็นนักศึกษาที่มหาวิทยาลัยหรือไม่ หรือมาทำอะไร เพราะเวลาที่เธอเข้าๆ ออกๆ แฟลตนั้นเอาแน่ไม่ได้ ที่ทำเป็นกิจวัตรประจำวันคือไปช็อปปิ้ง ซื้ออาหารและขนมนมเนยสารพัดมาตุนเก็บไว้กิน และโทรศัพท์ทางไกลไปคุยกับพ่อแม่ที่อังกฤษ – สมัยนั้นค่าโทรศัพท์ทางไกลแพงมาก จึงไม่ค่อยมีใครโทรหากไม่มีความจำเป็นจริงๆ – เพื่อนรุ่นพี่ผู้มีความเห็นอกเห็นใจอธิบายว่าเธอคงคิดถึงบ้าน เพราะเป็นครั้งแรกที่มาอยู่ต่างแดน

พอใบเสร็จค่าโทรศัพท์มาถึงเพื่อนรุ่นพี่ของผม เธอต้องตกใจกับค่าโทรทางไกลของเอสเตอร์ที่สูงมาก แรกๆ ก็ไม่มีปัญหาเพราะเธอยอมจ่ายให้เพื่อนรุ่นพี่ แต่อยู่ไปๆ เธอเริ่มมีอาการประหลาดๆ หงุดหงิดง่าย อารมณ์เสียบ่อย นอกจากกินมากขึ้นแล้วยังโทรทางไกลบ่อยขึ้นด้วย แล้ววันหนึ่งเธอก็บอกเพื่อนรุ่นพี่ว่าต้องรีบกลับบ้านที่อังกฤษโดยด่วน แล้วเก็บข้าวของเสื้อผ้าหายตัวไป

เรื่องมากระจ่างในภายหลังว่า เธอตกหลุมรักหนุ่มคีวีคนหนึ่งที่อังกฤษ จึงตามเจ้าหนุ่มมาเมืองดันนิดิน ช่วงแรกที่มาถึงความรักคงยังหวานชื่นอยู่ เธอมีความสุข วางแผนที่จะอยู่ในเมืองนี้นานๆ จึงเริ่มสมัครเรียนที่มหาวิทยาลัย แต่ไม่นานต่อมา – ไม่น่าจะเกิน 2-3 เดือน ถ้าผมจำไม่ผิด – ความรักที่ฝันไว้ว่าจะหอมหวานดั่ง ‘น้ำผึ้งมานูก้า’ อันโด่งดังของนิวซีแลนด์ ต้องกลับขมยิ่งกว่าบอระเพ็ด เพราะเจ้าหนุ่มคีวีทิ้งเธอไปมีแฟนใหม่ ไม่ว่าเธอจะง้อจะอ้อนวอนอย่างไรเจ้าหนุ่มก็ไม่ไยดี หัวใจของเธอจึงแตกสลาย ความฝันอันหอมหวานพังทลายลง!

น่าเห็นใจ สงสารเอสเตอร์ – ท่านผู้อ่านอาจรู้สึกเช่นนั้น – ทว่า เธอได้ก่อกรรมทำเข็ญไว้ด้วยน่ะสิ คือค่าโทรศัพท์ทางไกลนับพันดอลลาร์ที่ค้างชำระอยู่ แต่ตัวเธอกลับหายไปตามสายลมซะแล้ว และไม่ได้ทิ้งเงินค่าโทรศัพท์ไว้ พอเพื่อนรุ่นพี่เห็นใบเสร็จฯ ก็แทบจะเป็นลม ตกใจมาก พยายามติดต่อเอสเตอร์ตามที่อยู่ในอังกฤษที่เธอให้ไว้ แต่ก็ไร้ผล เธอไม่เคยตอบกลับมาเลย ผลสุดท้ายเพื่อนรุ่นพี่ต้องจ่ายค่าโทรศัพท์จำนวนมหาศาลนั้นแทน

สาวอังกฤษผู้เจ็บปวดจากความรักที่ล้มเหลวจึงกลายเป็นสาวแสบผู้อันตรธานไปอย่างไร้ร่องรอย!

ชายผู้ขมขื่น

นอกจากคนอกหัก ผมยังเจอคนที่ขมขื่นกับอดีต คิดว่าตัวเองเป็น ‘เหยื่อ’ ผู้ถูกกระทำอยู่เสมอ เมื่อเกิดความผิดหวังขึ้นจะโทษว่าเป็นความผิดของคนอื่น (ที่กระทำต่อตน)

ฉี เป็นชายจีนวัยกลางคนจากมณฑลฟูเจี้ยนในสาธารณรัฐประชาชนจีน มาศึกษาต่อด้านวิทยาศาสตร์ทางทะเลในระดับปริญญาเอก เป็นคนขี้วิตกกังวล พูดภาษาอังกฤษด้วยสำเนียงที่ฟังยาก (น่าจะมีแองเจล่าเพียงคนเดียวที่ไม่เคยขอให้แกพูดซ้ำอีกครั้งเพราะไม่เข้าใจ) พอขอให้พูดอีกครั้งแกก็ยิ่งประหม่า พูดเร็วขึ้นและรัว ลิ้นพันกัน แกมาจากครอบครัวยากจน ในด้านหนึ่งจึงรู้สึกขมขื่นกับฐานะที่ยากจนและชีวิตที่ลำบากมาตั้งแต่เด็ก แต่ในอีกด้านหนึ่งก็รู้สึกภูมิใจในตัวเองที่ก้าวขึ้นมาได้ถึงจุดนี้ สามารถมาเรียนต่อระดับสูงในมหาวิทยาลัยต่างประเทศ

แต่ความขมขื่นของฉีมีมากกว่าความยากจน แกเคยเล่าให้ผมฟังว่า ตนเองต้องหยุดเรียนหนังสือนานหลายปีในช่วงที่เกิดการปฏิวัติทางวัฒนธรรม ซึ่งมีการสั่งปิดโรงเรียนและมหาวิทยาลัย (ผมมีญาติที่เมืองจีนที่ไม่ได้เรียนหนังสือในช่วงนี้เช่นกัน) เรื่องการทำงานที่ต้องใช้เส้นสาย ไม่ใช่ตามความสามารถ และเรื่องที่ดูเจ็บช้ำมากคือแกหลงรักผู้หญิงคนหนึ่ง แต่ความรักไม่สมหวัง กลับต้องแต่งงานกับผู้หญิงอีกคนที่สมาชิกของพรรคคอมมิวนิสต์แนะนำให้ ซึ่งแกไม่ได้รักชอบพอด้วยเลย และบ่นกับผมเป็นทำนองว่าภรรยาเป็นหายนะหรือความพินาศของชีวิตแก

สิ่งเดียว หรือคนเดียว (?) ที่ดูจะทำให้แกมีความสุขคือ ลูกสาวที่ในขณะนั้นยังเป็นเด็ก แกมักบ่นคิดถึงลูกสาวคนนี้อยู่เสมอ

ช่วงแรกๆ ที่ย้ายเข้ามาอยู่ในแฟลต ความสัมพันธ์ของแกกับเพื่อนร่วมแฟลตคนอื่นๆ ดูราบรื่น มิได้เกิดการกระทบกระทั่งกัน แต่เมื่อการทำวิจัยในห้องแล็บของแกเริ่มมีปัญหา ผลลัพธ์ไม่ได้เป็นไปตามที่คาดหวัง แกก็เริ่มเครียด หงุดหงิด อารมณ์เสียกับคนรอบข้าง เริ่มมีปากเสียงกับเพื่อนร่วมแฟลต รวมทั้งผมด้วย ทำให้คนอื่นเริ่มเอือมระอา ผมเองเริ่มปลีกตัวหนีห่างจากแก ไม่นานนักมีเพื่อนมาชวนผมให้ย้ายไปอยู่ที่ใหม่ เป็นบ้านเก่าหลังใหญ่ใกล้เมือง ผมจึงย้ายออกจากแฟลตที่อยู่มานานแห่งนั้น และไม่เจอฉีอีกเลย

ใจหนึ่งผมนึกสงสารแกที่มีชีวิตที่ลำบากยากเข็ญ แต่อีกใจหนึ่งก็รำคาญที่แกมักโทษคนอื่นเมื่อไม่สมหวังหรือเกิดความผิดพลาดบางอย่างขึ้น เบื่อหน่ายกับการที่แกคิดว่าตนเองเป็นเหยื่อที่ถูกคนอื่นกระทำ ทั้งๆ ที่หลายครั้งเป็นความผิดพลาดของแกเอง

รักโรแมนติก

เล่าเรื่องคนอกหักและคนขมขื่นแล้ว ควรมีเรื่องราวของความรักและความสมหวัง (ที่มิได้คาดฝันไว้) ของหนุ่มคีวี (หนุ่มในขณะนั้น ตอนนี้แก่พอๆ กับผม เพราะอายุรุ่นราวคราวเดียวกัน) ที่ไม่ใช่เพื่อนร่วมแฟลต

เกวิน เป็นลูกชายคนสุดท้องของดอนและออเดรย์ สามีภรรยาที่ผมเคยเขียนเล่าถึง ผู้มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อผมอย่างมหาศาล – ทั้งสองมีลูกชาย 3 คน ผมรู้จักเกวินและแกรม ลูกชายคนโต แต่ไม่เคยเจอลูกชายคนที่ 2 ที่แต่งงานมีครอบครัวอยู่ในกรุงเวลลิงตัน

พอเรียนจบโรงเรียนมัธยมปลาย เกวินก็ทำงาน ไม่ได้เรียนต่อมหาวิทยาลัย ผมไม่แน่ใจว่าแกทำงานอะไร แต่ดูเกี่ยวข้องกับหน่วยงานของรัฐบาลที่ปฏิบัติงานในเมืองดันนิดิน แกมีบุคลิกคล้ายดอน ผู้เป็นพ่อ ไม่ว่าจะเป็นการพูดช้าๆ เนิบๆ ไม่พูดเสียงดังหรือขึ้นเสียง การขับรถแบบเรื่อยๆ ไม่ช้าไม่เร็ว การเป็นคนใจเย็น มีรสนิยมคล้ายกัน แต่มีงานอดิเรกที่ต่างจากพ่ออย่างลิบลับ นั่นคือ การเก็บสะสมลวดหนามที่เป็นเหล็กแหลม ใช้ขึงทำเป็นรั้วของฟาร์มเลี้ยงสัตว์หรือคอกสัตว์ 

แกเคยเล่าว่า ลวดหนามที่ใช้ทำรั้วเหล่านี้มีลักษณะเฉพาะที่แตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นลักษณะเฉพาะของบริษัทผู้ผลิตแต่ละแห่งที่จงใจสร้างความแตกต่างให้เห็น หรือความแตกต่างตามยุคสมัย ช่วงเวลาที่รั้วลวดหนามแต่ละชนิดถูกออกแบบและผลิตขึ้น แกบอกอีกว่าในโลกนี้มีคนสะสมลวดหนามทำรั้วอย่างมีความช่ำชองเพียงไม่กี่คน และแกเป็นคนหนึ่งในกลุ่มนี้

แกเคยเอาลวดหนามที่สะสมไว้ให้ผมดู เป็นการเก็บที่มีระบบ โดยการตัดลวดหนามส่วนที่มีหนามแหลมที่ถูกออกแบบและผลิตขึ้นโดยเฉพาะตามแต่ละบริษัท ตอกติดลงบนแผ่นไม้กระดานที่ทำจากต้นสนขนาดไม่ใหญ่นักเพื่อให้สามารถยกไปไหนมาไหนได้ ลวดหนามแต่ละอันมีหมายเลขระบุไว้ มีคำอธิบายและรายละเอียดของแต่ละหมายเลขที่แกเขียนแยกไว้ต่างหาก โดยทั่วไปแกจดจำเนื้อหาส่วนใหญ่ได้ ไม่ต้องเปิดอ่านบันทึกที่เขียนไว้

เกวินภูมิใจกับงานอดิเรกนี้มาก และแม้ว่าผู้เป็นพ่อจะไม่ได้เก็บสะสมลวดหนาม ก็ให้การสนับสนุนเป็นอย่างดี มักซักถามชวนพูดคุยเรื่องลวดหนามแบบต่างๆ เกี่ยวกับที่มา หรือพบที่ไหน และรายละเอียดอื่นๆ

ราวต้นทศวรรษ 1990 เกิดการเปลี่ยนแปลงในระบบราชการของนิวซีแลนด์ รัฐบาลต้องการลดการจ้างงานและลดจำนวนคนทำงาน จึงมีการ ‘จ้าง’ คนที่ทำงานอยู่ให้ลาออก แลกเปลี่ยนกับผลประโยชน์หลายอย่าง เกวินเป็นหนึ่งในคนที่ลาออก ก่อนที่จะหางานใหม่แกก็ไปเที่ยวออสเตรเลียกับมิตรสหายที่สนิทกัน

ความเชื่อเรื่องบุพเพสันนิวาสคงมีจริง (?) เพราะแกไปเจอสาวอเมริกันคนหนึ่งที่ออสเตรเลีย เธอไปเที่ยวเช่นกัน ทั้งสองเกิดชอบพอกันจึงชวนกันไปเที่ยวต่ออีกพักใหญ่ แล้วสาวเจ้าก็เดินทางกลับอเมริกา ส่วนเกวินกลับดันนิดิน เก็บเสื้อผ้าข้าวของ ร่ำลาพ่อแม่ แล้วบินตรงไปหาหญิงคนรักที่มลรัฐวิสคอนซิน บ้านเกิดของว่าที่ภรรยาในอนาคต ทั้งสองแต่งงานอยู่กินด้วยกันมาตั้งแต่นั้น

2 ปีก่อน ผมพบเกวินโดยบังเอิญในเฟซบุ๊ค จึงส่งข้อความไปทักทาย หลายเดือนต่อมาแกตอบกลับ พร้อมกับขอโทษขอโพยที่ตอบช้า บอกว่าไม่ค่อยได้เปิดเฟซบุ๊คดู แล้วเล่าถึงชีวิตในอเมริกาและงานที่ทำ เรื่องที่แกและภรรยากลับไปเยี่ยมแม่ ออเดรย์ ซึ่งยังมีชีวิตอยู่ด้วยอายุ 80 กว่า และท่องเที่ยวใน ‘ดินแดนแห่งเมฆขาวเป็นแนวยาว’ อย่างเพลิดเพลิน เรื่องที่กำลังจะเกษียณอายุการทำงานแล้วย้ายไปอยู่ในมลรัฐที่อากาศอบอุ่นกว่า

แกพาดพิงถึงหลายเรื่องที่เคยทำกับผม หนึ่งในนั้นคือเรื่องที่แกมาเที่ยวเมืองไทยเมื่อหลายปีก่อน แล้วขอให้ผมพาไปดูมวยไทย ซึ่งเป็นประสบการณ์ที่แกไม่เคยลืม และผมเองก็ยังจำได้

เกวินและพ่อแม่เป็นคนนิวซีแลนด์ที่มอบความทรงจำอันสวยงามแก่ผม

เพื่อนหญิงขี้กังวล

แพม เป็นเพื่อนหญิงคีวีที่ผมคุ้นเคยพอควร ในเวลานั้นเธอก็เช่นเดียวกับผม เรียนด้านมานุษยวิทยาในระดับปริญญาโท เป็นคนคล่องแคล่ว น่ารัก นิสัยดี แต่วิตกกังวลง่าย จึงทำให้บางครั้งดูไม่มีความแน่ใจหรือมั่นใจในการตัดสินใจ แต่จริงๆ แล้วเธอเป็นคนที่มีความสามารถและเชาวน์ปัญญาด้านวิชาการอย่างมากคนหนึ่ง เธอไม่ค่อยเล่าเรื่องส่วนตัวให้ผมฟัง แต่ผมรับรู้จากพ่อแม่ของเธอ ผู้ต้อนรับขับสู้ผมเป็นอย่างดี

หลังจากที่รู้ว่าตัวเองเรียนปริญญาโทจบ (แต่แพมยังไม่จบ) ผมเตรียมตัวเดินทางกลับประเทศไทย แต่ผมอยากเที่ยวก่อน จึงวางแผนการเดินทางโดยรถบัสจากดันนิดินไปถึงออคแลนด์เพื่อขึ้นเครื่องบิน กะว่าจะใช้เวลาราว 8-9 วัน เดินทางไปเรื่อยๆ ไม่รีบร้อน จากเกาะใต้ข้ามไปเกาะเหนือผมต้องนั่งเรือเฟอร์รี่จากพิคตัน เมืองท่าเรือเล็กๆ ทางเหนือสุดของเกาะใต้ ไปกรุงเวลลิงตัน รถบัสไปถึงที่นี่เช้าตรู่ แต่เรือเฟอร์รี่ออกราวใกล้เที่ยงวัน ผมจึงมีเวลาว่างหลายชั่วโมง พอแพมรู้แผนการเดินทางของผม เธอก็คาดคั้นให้ผมแวะหาพ่อแม่ของเธอที่พิคตัน และโทรศัพท์ไปบอกให้พ่อแม่ดูแลผม

พ่อของเธอ เป็นชายร่างใหญ่ เกษียณอายุการทำงานแล้วแต่ยังดูแข็งแรง ก็ดีใจหาย อุตส่าห์ขับรถฝ่าลมหนาวและละอองฝนของต้นฤดูใบไม้ร่วง (พิคตันตั้งอยู่บน ‘ช่องแคบคุก’ ระหว่างเกาะขนาดใหญ่ 2 เกาะ ที่มีกระแสน้ำเชี่ยวแรง เกิดลมพายุเสมอ อากาศปั่นป่วนและหนาวเย็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในฤดูหนาว – วันที่ผมไปถึง ฟ้ามืดครึ้ม ลมแรง ฝนลงเม็ดแบบชาวเวอร์ อากาศแย่ตามปกติของพิคตัน) มารับผมที่สถานีรถบัส แล้วขับรถไปตามถนนเลียบช่องแคบที่คดเคี้ยวราว 20 นาที บ้านของพ่อแม่แพมตั้งอยู่ริมหน้าผา หันหน้าออกไปทางทะเล วันที่อากาศดีคงได้ชมวิวทะเลอันงดงาม แต่วันนั้นผมเห็นแต่เม็ดฝนที่ซัดสาดลงมา ตามด้วยพายุลมที่กระแทกหน้าต่างบ้าน แต่ละครั้งเสียงดังราวกับใครกำลังกระโดดถีบ!

คุณแม่ของเธอเตรียมน้ำชาร้อนๆ และขนมไว้ต้อนรับคนหิวโหยและหนาวเหน็บอย่างผม ห้องรับแขกอุ่นสบาย น่านั่งน่านอน แล้วพ่อแม่ก็ชวนผมสนทนา คุยกันหลายเรื่อง รวมทั้งเรื่องของแพมก่อนที่เธอจะไปเรียนต่อที่โอทาโก้

หลังจากจบปริญญาตรีแล้วแพมกลับบ้าน ทำงานเป็นครูจ้างชั่วคราวตามโรงเรียนประถมฯ ในชุมชนเล็กๆ ที่อยู่อย่างกระจัดกระจายในช่องแคบคุก เป็นการสอนที่ต้องหมุนเวียนไปตามโรงเรียนต่างๆ ไม่ได้อยู่ประจำที่ใดที่หนึ่ง โรงเรียนบางแห่ง (ผมเดาว่าน่าจะมีเพียงอาคารไม้หลังเล็กๆ สักหลังที่สร้างบนที่ดินสาธารณะของชุมชนเพื่อใช้ในการเรียนการสอน มากกว่าจะเป็นโรงเรียนที่มีหลายอาคารแบบที่คนไทยรู้จัก) ขับรถไปได้ หรือไปเช้าเย็นกลับ บางแห่งต้องใช้เรือและต้องค้างคืนในชุมชน เธอต้องเดินทางอยู่เสมอ ต้องตื่นแต่เช้าและปกติก็กลับถึงบ้านมืดค่ำ เป็นงานที่หนักมากแต่รายได้น้อย แต่แพมทำงานด้วยความสุขและสนุก พ่อแม่บอกว่าเธอรักพวกเด็กๆ มาก มีความสุขที่ได้สอนได้เจอเด็ก

คุยกันอยู่พักใหญ่ผมก็ร่ำลาแม่ของเธอ พ่อขับรถพาผมกลับไปที่ท่าเรือเพื่อขึ้นเรือเฟอร์รี่ ลมยังคงพัดกระชากแรง พร้อมด้วยละอองฝนที่ไม่เคยหมด

ผมไม่ได้พบแพมอีกเลย ได้ข่าวว่าเธอได้ทุนเรียนระดับปริญญาเอกในมหาวิทยาลัยที่มีชื่อในมลรัฐเท็กซัส สหรัฐอเมริกา พอเรียนจบก็อยู่ที่โน่น แต่งงานกับชายอเมริกันที่เป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัย ปัจจุบันเธอเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในมลรัฐนิวยอร์ค ดูประสบความสำเร็จในการงานมากทีเดียว

แม่ผู้ถูกตำหนิ

หลังจากที่ข้ามเรือเฟอร์รี่ ผมแวะพักและเที่ยวเตร่ในกรุงเวลลิงตัน 2-3 วัน นี่เป็นครั้งแรกที่ผมไปที่นั่น หลังจากนั้นก็มุ่งหน้าขึ้นทางเหนือ แวะเมืองเล็กๆ แห่งหนึ่งเพื่อพบและพักที่บ้านของพ่อแม่ของแคลร์

แคลร์ในขณะนั้นกำลังเรียนปีที่ 4 เพื่อให้จบด้วยคะแนน ‘เกียรตินิยม’ ในภาควิชาเดียวกับผม เป็นสาวสวยที่พวกหนุ่มๆ ต่างหมายปอง – จนผู้หญิงหลายคนแอบนินทาให้ผมฟัง – เป็นคนน่ารักและฉลาด คุยสนุก (ผมจึงไม่แปลกใจที่มีชายหนุ่มแอบมอง) เช่นเดียวกับแพม พอแคลร์รู้ว่าผมจะเดินทางไปเกาะเหนือ เธอก็ยืนยันให้ผมไปพักที่บ้านพ่อแม่ แล้วโทรศัพท์ไปบอกกับทางบ้านไว้

พ่อของเธอเป็นครู อพยพมาจากยุโรปตั้งแต่ยังเป็นเด็กในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เติบโตและเรียนหนังสือในนิวซีแลนด์ ส่วนแม่เป็นคนคีวี อายุมากกว่าพ่อ ก่อนแต่งงานกับพ่อ แม่เคยอยู่กินกับผู้ชายคนหนึ่งจนมีลูกสาว 3 คน แคลร์จึงมีพี่สาวต่างพ่อ 3 คน แต่ไม่สนิทกันนัก

ในเช้าของวันที่ 2 ที่ผมพักกับทั้งสอง พอกินอาหารเช้าเสร็จพ่อก็ออกไปทำงาน แม่ชวนผมออกไปเดินเล่นชมวิว แล้วจู่ๆ เธอก็เล่าเรื่องราวเกี่ยวกับตัวเอง (หลังจากเล่าจบก็เอ่ยกับผมว่า “ประหลาดนะ ทำไมฉันมาเล่าเรื่องนี้ให้เธอฟัง?!”)

ตอนสาวๆ อายุราว 18-19 ปี แม่เจอผู้ชายคนหนึ่งที่อายุมากกว่า แต่มีเสน่ห์ ชวนให้หลงใหล น่าทึ่งน่าฟังเวลาที่สนทนาด้วย – ทำนองคนที่มี ‘ปากเป็นเอก’ พูดจาหว่านเสน่ห์กับใครต่อใครได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับสาวๆ – เธอจึงตกหลุมรัก อยู่กินด้วยกันจนมีลูกจึงรู้ว่าหมอนี่เป็นผู้ชายประเภท ‘เหยียบขี้ไก่ไม่ฝ่อ’ ใช้ชีวิตแบบสนุกสนานไปวันๆ ไร้ความรับผิดชอบ นอกจากไม่ทำงานทำการแล้ว ยังไม่ช่วยเลี้ยงลูกด้วย (ทำให้ผมแปลกใจว่า ทำไมแม่จึงยอมอยู่กับชายคนนี้จนมีลูกด้วยกันถึง 3 คน?! แต่ก็ไม่ได้ถาม) ซ้ำร้ายคือเป็นคนเจ้าชู้ แม่ผิดหวังในชายคนนี้มาก แต่ก็หาทางออกไม่ได้ ไม่รู้จะหันหน้าไปพึ่งพาใคร จมอยู่กับความเศร้า ชอกช้ำใจ จนฟังดูเหมือนเธอจะมีอาการ ‘ซึมเศร้า’ อยู่หลายปี จนกระทั่งได้มาเจอพ่อของแคลร์ – ผู้ชายที่สุภาพ เอางานเอาการ มีความรับผิดชอบ

ที่ฟังดูน่าเศร้ากว่าชีวิตของเธอคือ ลูกสาว 2 คนที่เกิดจากชายคนนั้น ทั้งสองล้มเหลวในชีวิตคู่ ต้องหย่าร้างจากสามี (มีเพียงลูกสาวคนเล็กที่ไม่มีปัญหาเรื่องการหย่าร้าง – ถ้าจำไม่ผิด ผมพบเธอ เป็นคนหน้าตาดี ยิ้มแย้ม ดูเผินๆ ก็คล้ายกับแคลร์) ลูกสาวทั้งสองโทษว่าเป็นความผิดของแม่ ที่ทำให้การแต่งงานของตนต้องพังทลาย เพราะความสัมพันธ์ที่ไม่ดีอันยาวนานระหว่างแม่กับพ่อส่งผลต่อสภาพจิตใจของลูกสาว และเพราะความล้มเหลวของแม่ในการเป็นแม่ที่ดี ฯลฯ

พอเล่าถึงตรงนี้ เสียงของแม่ก็เริ่มสั่นเครือ เธอเงียบไปครู่หนึ่ง ก่อนที่จะเอ่ยกับผมทำนองน้อยใจว่า จะโทษเธอได้อย่างไร ตอนนั้นเธออายุยังน้อย ยังไม่ค่อยรู้จักโลกรู้จักคน อีกอย่างคือลูกสาวคนเล็กก็ไม่มีปัญหาเรื่องครอบครัว ไม่เหมือนลูกสาวสองคนนั้น จะมาโทษเธอได้อย่างไร?

ผมไม่รู้ว่าแม่เคยเล่าเรื่องนี้ให้แคลร์ฟังหรือไม่ เพราะไม่ได้ถามแม่หรือแคลร์ และไม่เจอเธอหรือพ่อแม่เธออีกเลย

นิติ ภวัครพันธุ์
ศาสตราจารย์ด้านมานุษยวิทยา สถานที่ทำงานสุดท้ายคือคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปัจจุบันเขียนหนังสือด้านสังคม-วัฒนธรรม และผู้คนต่างกลุ่มชาติพันธุ์ ผลงานรวมเล่ม ได้แก่ ชวนถก ชาติและชาติพันธุ์, เรื่องเล่าเมืองไต พลวัตของเมืองชายแดนไทย-พม่า เป็นต้น และเป็นคอลัมนิสต์ให้สื่อออนไลน์

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า