‘โบกรถ’ ไปดวงดาว

เปล่าครับ – และอย่าเพิ่งงง – ผมไม่ได้ ‘โบกรถ’ ไปดาวดวงไหนหรอก แต่ชื่อตอนที่เขียนพาดหัวข้างบนนั้นเพราะนึกถึงนิยายโด่งดังขายดีเรื่อง The Hitchhiker’s Guide to the Galaxy ที่เล่ากันว่าเริ่มจากการเป็นละครตลกทางวิทยุในประเทศอังกฤษช่วงปลายทศวรรษ 1970 และประสบความสำเร็จอย่างสูง จนผู้เขียนบท ดักลาส อาดัมส์ (Douglas Adams) ต้องนำมาเรียบเรียงใหม่ เขียนและพิมพ์เป็นหนังสือนิยายที่มีหลายเล่ม เล่มแรกตีพิมพ์ออกสู่สายตาของนักอ่านช่วงปลายปี 1979 ขายดีอย่างไม่น่าเชื่อ!

(ลูกชายซื้อมาอ่าน บอกว่าสนุกดี แต่ผมอ่านจบแค่บทแรก ไอเดียดีและตลกแบบประชดประชัน)

สมัยที่อยู่นิวซีแลนด์ ผมมักเห็นพวกแบ็คแพ็คเกอร์อ่านหนังสือเล่มนี้ แต่ไม่รู้ว่าเกี่ยวข้องกับการเป็นแบ็คแพ็คเกอร์หรือไม่ หรือเกี่ยวข้องหรือไม่กับการ ‘โบกรถ’ (hitchhiking) หรือเป็นแค่แฟชั่นที่แบ็คแพ็คเกอร์ต้องอ่านเล่มนี้?

ตอนที่แล้วผมเล่าถึงประสบการณ์ท่องเที่ยวในนิวซีแลนด์ด้วยรถบัสที่แล่นระหว่างเมืองต่างๆ ครั้งนี้จะเล่าถึงประสบการณ์โบกรถเที่ยวของผม สมัยนั้นการโบกรถใน ‘ดินแดนแห่งเมฆขาวเป็นแนวยาว’ ปลอดภัยมาก นักท่องเที่ยวเน้นประหยัดเงินอย่างพวกแบ็คแพ็คเกอร์จึงนิยมการโบกรถ เพราะนอกจากไม่ต้องควักกระเป๋าจ่ายค่ารถแล้ว ยังมีความปลอดภัย และสำหรับคนที่ชอบคุยโอ้อวด ก็ยังเอาไปโม้กับแบ็คแพ็คเกอร์คนอื่นได้ว่าตัวเองเคยมีประสบการณ์โบกรถเที่ยวมาแล้ว

(ผมเดาว่าทุกวันนี้การโบกรถก็ยังปลอดภัยเช่นกัน เพราะในประเทศเล็กๆ เช่น นิวซีแลนด์ ซึ่งมีคดีอาชญากรรมน้อย ผู้คนส่วนใหญ่ไม่รุนแรง/ก้าวร้าว มิได้มีอาวุธปืนมากมายอย่างในอเมริกา ความปลอดภัยในชีวิตจึงมีสูง ชีวิตทั่วไปค่อนข้างสงบ และด้วยเหตุนี้ เมื่อเกิดเหตุการณ์ที่ชายออสซี่บุกเข้าไปยิงคนมุสลิมในมัสยิด 2 แห่งในเมืองไครสต์เชิร์ชอย่างบ้าคลั่ง ในวันที่ 15 มีนาคม 2562 ทำให้มีผู้เสียชีวิต 50 คน บาดเจ็บอีกมากมาย จึงทำให้คนทั้งประเทศถึงกับช็อก ไม่คาดฝันว่าจะเกิดเรื่องเลวร้ายเช่นนี้ในประเทศของตน!)

โบกรถ

ผมคิดว่าเวลาที่มีใครพาดพิงถึงคำว่า ‘hitchhiking’ ท่านผู้อ่านอาจนึกถึงภาพของคนยื่นมือออกไปพร้อมกับยก ‘นิ้วโป้ง’ ขึ้นมา เป็นสัญลักษณ์ของการขอขึ้นรถไปด้วย เวลาที่ใครก็ตาม ‘โบกรถ’ ในนิวซีแลนด์จะใช้วิธีนี้ รวมทั้งผมด้วย และคนที่โบกรถขอไปด้วยส่วนใหญ่เป็นคนต่างชาติ

ผมแทบจะไม่เคยเจอคนคีวี ไม่ว่าผู้ชายหรือหญิง โบกรถคนอื่นเที่ยว หรือไปไหนมาไหน มีแต่คนต่างชาติที่โบกรถ

ผมเริ่มโบกรถเที่ยวเพราะคำคะยั้นคะยอของมิตรสหาย ตอนแรกๆ ที่หัดโบกรถรู้สึกตื่นเต้น และกลัวว่าจะไม่มีใครรับ แต่พอมีคนขับรถรับผมขึ้นรถไปด้วย ความตื่นเต้นและความกังวลก็ค่อยๆ ลดหายไป ความมั่นใจเข้ามาแทนที่ แต่อันที่จริงผมไม่ได้โบกรถบ่อยมากนัก หลายครั้งก็โบกไม่สำเร็จ ไม่มีใครจอดรถรับ บางครั้งต้องเดินไปไกลทีเดียวกว่าจะมีคนใจดีจอดรถรับ – คือผมไม่ยืนหยุดอยู่กับที่ แต่จะเดินไปเรื่อยๆ พอได้ยินเสียงรถยนต์แล่นมาจากด้านหลังก็จะหันไปมอง หยุดเดิน พร้อมกับยกมือชูนิ้วโป้งขอติดรถไปด้วย – บางครั้งก็ต้องเปลี่ยนใจเพราะโบกไม่สำเร็จ ยอมเสียเงินขึ้นรถบัส

จากประสบการณ์ ผมพบว่าถ้าเป็นผู้ชายโบกรถ ส่วนใหญ่มีแต่คนขับรถผู้ชาย อาจเป็นพวกคนหนุ่มหรือชายวัยกลางคนที่จะรับขึ้นรถไปด้วย แต่สำหรับนักโบกรถผู้หญิง มีคนรับมากกว่า มีทั้งคนขับรถผู้ชายและผู้หญิง สาวแก่แม่หม้าย วัยรุ่นและไม่รุ่น – ผมเคยเห็นคนขับรถสูงวัยรับแบ็คแพ็คเกอร์สาวๆ ไปด้วย แต่อย่างผม คงเป็นไปได้ยาก

อีกเรื่องคือการโบกรถนั้นเอาแน่เอานอนไม่ได้ เหมือนการเสี่ยงโชคหรือซื้อหวย โบกทั้งวันก็อาจไม่มีใครรับก็ได้ (อย่างที่กล่าวถึงข้างต้น) ดังนั้น หากมีคนขับรถจอดรถรับ ผมจะขึ้นรถไปด้วย ไม่ว่าเขาหรือเธอ (คนขับรถ) จะขับไปไกลหรือใกล้เพียงใดก็ตาม การได้นั่งรถดีกว่าการเดินเสมอ และแม้ว่าจะต้องออกเส้นทางไปบ้าง แต่เมื่อคิดคำนวณแล้วว่าจุดที่เขาจะพาไปมีโอกาสที่จะโบกรถต่อได้มากกว่า ผมก็จะขึ้นรถไปด้วย แล้วไปเสี่ยงดวงโบกรถต่อข้างหน้า

สมัยนั้นผมเที่ยวเตร่/โต๋เต๋ในเกาะใต้มากกว่าเกาะเหนือ เพราะเรียนหนังสือและอาศัยอยู่ที่เมืองดันนิดินเกือบ 4 ปี เวลาส่วนใหญ่อยู่ในเกาะใต้ พอได้งานทำที่เมืองเวลลิงตัน ผมพำนักอยู่ที่นั่นไม่ถึง 2 ปี หลังจากนั้นก็กลับไปเกาะใต้อีก ผมจึงคุ้นเคย/รู้จักเกาะใต้มากกว่า แม้ว่าจะเคยเที่ยวตามเมืองต่างๆ ในเกาะเหนือ แต่ก็น้อยกว่าและไม่ถี่เหมือนการท่องเที่ยวในเกาะใต้

เดี๋ยวไปส่ง

ถ้าคิดในแง่บวก การเที่ยวคนเดียวและไม่ได้ขับรถมีข้อดีหลายประการ หนึ่งในนั้นคือมักมีคนขับรถใจดีอาสาพาผมไปส่ง ซึ่งเกิดขึ้นหลายครั้ง แต่มักเป็นการเดินทางช่วงสั้นๆ เช่น เจ้าของที่พักหรือโรงแรมขับรถพาผมจากที่พักไปส่งที่ร้านขายของหรือร้านอาหาร บางครั้งก็เป็นแขกคนอื่นที่เข้ามาพัก หลังจากทักทาย/สนทนากับผม พอรู้ว่าผมไม่มีรถยนต์ก็อาสาขับรถพาผมไปส่งที่ร้านอาหารหรือซูเปอร์มาร์เก็ตที่อยู่ไม่ไกลจากที่พัก มีบางคนพาผมไปส่งที่ผับด้วย

คนคีวีใจดีขับรถพาผมไปส่งแบบนี้ เป็นความทรงจำอันดีที่ผมมีต่อ ‘เมฆขาวเป็นแนวยาว’ ดินแดนของผู้คนที่มีจิตใจเอื้อเฟื้อและเป็นมิตร

ไม่เหมือนหนังเมกัน

ฉากหนึ่งที่เห็นบ่อยในหนังฮอลลีวูดคือ ตัวเอกของเรื่องโบกรถ แล้วคนขับรถบรรทุก บางครั้งเป็นคันใหญ่มาก จะจอดรถรับไปด้วย ผมไม่รู้ว่าเรื่องนี้เป็นความจริงแค่ไหนในอเมริกา แต่ผมไม่เคยเห็นคนขับรถบรรทุกในนิวซีแลนด์จอดรับใครขึ้นรถเลย ผมเองก็ไม่เคยโบก (ส่วนใหญ่เป็นรถยนต์และรถตู้บรรทุกของหรือสินค้าที่รับผมขึ้นรถ) ส่วนรถบรรทุกที่เห็นมักเป็นรถคันใหญ่ที่ใช้ลากรถพ่วงบรรทุกสัตว์ เช่น แกะ วัว หรือเป็นรถใหญ่ลากตู้คอนเทนเนอร์ที่ยาวและใหญ่มาก รถบรรทุกที่เล็กกว่านี้ก็มักเป็นรถหกล้อ ที่ท้ายรถเป็นตู้ทึบสำหรับบรรทุกสินค้า มีประตูสองบานใหญ่ที่ด้านหลัง

ที่อาจดูตลกคือ ผมเคยมีประสบการณ์โบกรถบรรทุกในเมืองไทย เป็นรถบรรทุกใหญ่ด้วย สมัยที่ยังเรียนในระดับปริญญาตรี ผมและมิตรสหาย 2-3 คน มักหาโอกาสออกเที่ยวต่างจังหวัด ส่วนใหญ่จะไปช่วงปิดเทอมใหญ่หน้าร้อนเพราะได้หยุดยาว แต่ข้อเสียคืออากาศที่ร้อนอบอ้าวและแดดที่แผดเผาร่างกาย ที่ชอบไปเที่ยวกันคือภาคอีสาน เพราะมีเพื่อนที่ครอบครัวพำนักอยู่ที่นครราชสีมาและขอนแก่น – แห่งหลังนี้มีนักโบราณคดีรุ่นพี่ที่ไปทำงานและตั้งสำนักงานชั่วคราวอยู่ด้วย เป็นบ้านเช่าหลังใหญ่ เป็นที่ที่พวกผมอาศัยกินนอนได้เมื่อไปถึง

เรื่องเกิดขึ้นเพราะความอยากลอง – และอยากประหยัดเงิน – จึงชวนกันลองโบกรถแถวโคราช ไม่นานนักก็มี ‘สิงห์รถบรรทุก’ คนขับใจดีรับขึ้นรถ เป็นรถสิบล้อที่เพิ่งถ่ายของบรรทุกออก ท้ายรถที่บรรทุกสิ่งของ/สินค้าจึงว่าง คนขับวัยกลางคนบอกพวกผมให้ขึ้นไปอยู่บนท้ายรถ กว่าจะรู้ตัวว่ากำลังเผชิญกับอะไรก็ ‘สายเกินไปเสียแล้ว’ พอรถเริ่มเคลื่อนที่และแล่นเร็วขึ้นๆ ฝุ่นแป้งสีขาวที่พวกผมเดาว่าคงเป็นแป้งมัน ก็หมุนตลบอบอวลเหมือนพายุแป้ง เพราะลมที่เคลื่อนตัวผ่านรถบรรทุกด้วยความเร็ว ตีฝุ่นแป้งขึ้นจากพื้นรถบรรทุก ฝุ่นแป้งเข้าหูเข้าตาพวกเราจนทนไม่ไหว ต้องปีนขึ้นไปยืนบนไม้ที่ใช้กั้นส่วนที่ใช้บรรทุกสิ่งของ/สินค้า ผมจำไม่ได้ว่ารถบรรทุกแล่นนานแค่ไหน แต่ดีใจมากเมื่อรถถึงที่หมาย ปีนลงจากท้ายรถบรรทุก ยกมือไหว้และขอบคุณคนขับ แล้วพวกผมจึงเห็นว่าทุกคนเลอะเทอะด้วยฝุ่นผงสีขาว ไม่ว่าจะเป็นใบหน้า เส้นผม และเสื้อผ้า ขาวโพลนไปหมด เหมือนโดนใครเอาแป้งขว้างใส่!

ประสบการณ์อีกครั้งก็เป็นรถบรรทุกสิบล้อเช่นกัน พอผมและเพื่อนปีนขึ้นไปบนท้ายรถที่เป็นส่วนบรรทุกสินค้าก็เห็นเศษหญ้า ทั้งสดและแห้ง กระจายเกลื่อนกลาดอยู่บนพื้น กำลังคิดว่า ‘ของ’ ที่บรรทุกมาด้วย (แต่ตอนนี้ไม่อยู่แล้ว) คืออะไร เพื่อนในกลุ่มก็เอ่ยปากถามว่า “มึงได้กลิ่นไหม?” ผมเลยคิดออก แม้จะไม่มีหลักฐานที่เป็นต้นเหตุของกลิ่นนั้น แต่กลิ่นที่ว่าก็ยังติดอยู่บนพื้นรถ ดีว่ากลิ่นไม่แรงมากนัก มิเช่นนั้นไม่คนใดก็คนหนึ่งในพวกเราอาจเกิดอาการคลื่นเหียนอาเจียนแน่นอน!

นึกถึงประสบการณ์โบกรถบรรทุกสิบล้อในบ้านเรา ผมก็พอจินตนาการได้ว่า ถ้าต้องขึ้นไปยืนอยู่บนรถพ่วงที่บรรทุกแกะหรือวัวในนิวซีแลนด์จะมีสภาพเช่นไร

คิดแล้วก็ดีใจที่ผมไม่เคยโบกรถประเภทนี้ และโชคดีที่ไม่มีคนขับรถบรรทุกใจดีจอดรับผม

รถเก๋งในฝัน

ครั้งนั้นผมโต๋เต๋อยู่ตามเมืองเล็กๆ ในเกาะใต้ น่าจะเป็นช่วงปิดเทอม เพราะไปหลายวัน และคงรู้สึกเบื่อกับความจำเจของชีวิตนักศึกษา จึงตัดสินใจกระโดดขึ้นรถบัสออกจากดันนิดินโดยมิได้วางแผนใดๆ ค่ำมืดก็ไปหาที่นอนในที่พักราคาถูกประเภท ‘มอเตอร์แคมป์’ ตอนกลางวันเดินเล่นดูบ้านเมืองตามประสา ยังชีพด้วยการทำอาหารง่ายๆ กิน หรือซื้อพายเนื้อหรือฟิชแอนด์ชิปส์ 

สายวันนั้นผมเช็คเอาท์ออกจากที่พัก เดินแบกเป้หลังใบใหญ่ออกไปที่ถนนสายหลักที่เงียบสงบ ไร้รถยนต์แล่นผ่าน (ได้เล่าในตอนที่แล้ว ‘Hit the Road’ ว่าถนนระหว่างเมืองเล็กๆ ในนิวซีแลนด์ไม่ค่อยมีรถราวิ่งไปมา บางครั้งโล่งและเงียบจนผมคิดว่าถ้าอยากนอนบนพื้นถนนคงจะได้ อาจปลอดภัย ไม่มีรถยนต์แล่นมาชนหรือทับ?) ผมยืนรอโบกรถอยู่พักหนึ่งก็ตัดสินใจเดิน – เผื่อโชคดีข้างหน้ามีรถให้โบก – แดดไม่ร้อนนัก แต่เป้หลังน้ำหนักไม่น้อย เดินไปได้พักใหญ่ๆ เหงื่อก็เริ่มออก พร้อมๆ กับรู้สึกว่าน้ำหนักของเป้หลังเพิ่มขึ้นหนักขึ้น มีรถยนต์วิ่งตามหลังมาคันสองคัน แต่โบกแล้วเขาไม่รับ ผมจึงต้องเดินไปเรื่อยๆ

แล้วผมก็ได้ยินเสียงเอี๊ยดอ๊าดๆ กึงกังๆ คล้ายโลหะกระทบ/เสียดสีกันมาจากด้านหลัง ก่อนที่สมองจะทำการวิเคราะห์/สั่งการอะไรได้ ปรากฏว่ามือขวาได้ยื่นออกไปพร้อมกับนิ้วโป้งที่ยกขึ้นชี้ฟ้า – เป็นปฏิกิริยาของการโบกรถที่ไม่เกี่ยวข้องกับการใช้สมอง?! – แล้วผมจึงเหลียวหน้าไปดูข้างหลัง บนถนนมีรถยนต์คันหนึ่งกำลังแล่นตามมาอย่างช้าๆ แต่เสียงโครมครามของโลหะที่ดังลั่นถนนเดินทางเร็วกว่าความเร็วของรถคันนั้น ครู่หนึ่งรถยนต์ก็ปราดเข้ามาจอดข้างตัวผม หนุ่มผมยาวจรดต้นคอที่นั่งข้างคนขับยื่นหน้าออกมาถามผมว่าจะไปไหน พอผมบอกจุดหมายเขาก็ส่ายหน้า ตอบว่าถึงสามแยกข้างหน้า อีกไม่ถึง 10 กิโลเมตร เขาจะเลี้ยวขวา ไม่ได้ไปทางที่ผมจะไป – “ดีกว่าเดิน” ผมคิดแวบเดียวก็พยักหน้า ขอติดรถไปด้วย

แล้วคนขับที่อายุรุ่นราวเดียวกับหนุ่มผมรากไทร และมีความสูงพอกัน ก็เปิดประตูลงจากรถ เดินอ้อมไปที่ฝากระโปรงท้ายรถ บอกผมให้เอาเป้หลังใส่ท้ายรถ แต่พอเปิดฝากระโปรงขึ้นก็เจอที่เก็บของเต็มไปด้วยสารพัดสิ่ง ทั้งอะไหล่รถยนต์สารพัดชนิด กล่องเครื่องมือ ขวดเปล่า ทั้งขวดเบียร์ที่เป็นแก้วและขวดน้ำพลาสติก เศษโลหะ เศษผ้า เศษกระดาษห่อขนม และข้าวของจิปาถะอีกมากมาย

จะพูดว่าท้ายรถที่เก็บของไม่ต่างจากถังใส่ขยะคงไม่ผิดนัก!

เมื่อไม่เหลือที่ว่างพอสำหรับใส่เป้หลัง หนุ่มโชเฟอร์ก็บอกผมให้เอาเป้ไปวางไว้บนเบาะที่นั่งหลังคนขับ หนุ่มผมรากไทร ผู้มีไมตรีและอัธยาศัยที่ดี รีบเปิดประตูรถด้านหลังให้ผม พร้อมกับพูดว่าต้องรู้วิธีเปิด มิเช่นนั้นจะเปิดไม่ได้ – ส่วนประตูอีกข้างที่อยู่ด้านหลังคนขับมีเชือกไนล่อนมัดประตูติดแน่นกับกรอบประตู เปิด-ปิดไม่ได้ – พอแกเปิดประตูรถออก ผมก็เห็นสิ่งของที่มีลักษณะไม่แตกต่างจากพวกที่อยู่ท้ายรถวางอยู่เต็มเบาะรถ หนุ่มผมรากไทรกุลีกุจอรีบเข้าไปข้างในรถ แล้วโยนข้าวของทั้งหลายบนเบาะที่นั่งลงบนพื้นรถ เพื่อเคลียร์พื้นที่ให้วางเป้หลังและให้ผมนั่งได้ แต่บนพื้นรถมีท่อไอเสียเก่าๆ วางอยู่หนึ่งท่อ

“Step on it.” – “เหยียบ (วางเท้า) ลงไปเลย” แกบอกผมหน้าตาเฉย

รถเคลื่อนที่ไปอย่างช้าๆ พร้อมด้วยการโยกตัวของรถ ซ้ายทีขวาที สร้างความรู้สึกเหมือนกำลังนั่งบางอย่างที่โยกตัวได้ ไม่ใช่รถยนต์ ตามมาด้วยเสียงเอี๊ยดอ๊าด แต่เพียงครู่เดียวประสาทหูของผมก็เริ่มเคยชิน รู้สึกเหมือนเสียงนั้นเบาเงียบไป

หนุ่มทั้งสองคนเป็นเพื่อนกัน ถ้าเข้าใจไม่ผิด ทั้งคู่ทำงานในอู่ซ่อมรถหรืองานบางอย่างที่คล้ายคลึงกัน คนขับบอกว่าแกชอบซ่อมรถยนต์ วัสดุต่างๆ ที่ผมเห็นในรถ ทั้งในที่เก็บของท้ายรถและส่วนที่ผมกำลังนั่งอยู่นั้น เป็นอะไหล่ที่จำเป็นต่อการซ่อมรถ เพื่อนที่นั่งมาด้วยก็คอยสนับสนุน ช่วยกล่าวเสริมเติมรายละเอียด ไม่ต้องบอกก็รู้ได้ทันทีว่าสองคนนี้ต้องเป็นมิตรสหายที่รักใคร่กันมาก และคงมีความชอบและรสนิยมที่คล้ายกัน

ผมจะไม่แปลกใจเลยหากแผนการอันยิ่งใหญ่ของหนุ่มทั้งสองคือ ซ่อมรถคันที่กำลังนั่งอยู่นี้เพื่อเอาไปแข่ง ‘กรังปรีซ์’!

พอถึงสามแยกที่เขาต้องเลี้ยวขวา หนุ่มผมรากไทรก็รีบลงมาเปิดประตูรถให้ผมออกจากรถ และกล่าวขอโทษที่ไปส่งผมไม่ได้ แล้วทั้งสองก็โบกมืออำลา หลังจากนั้นรถยนต์สภาพลายครามก็แล่นออกไปอย่างช้าๆ พร้อมด้วยเสียงเอี๊ยดอ๊าดๆ กึงกังๆ

ผมยกเป้ขึ้นสะพายหลังแล้วออกเดิน ในใจนึกชมชอบหนุ่มสองคนนั่น – ถ้าไม่ต้องเดินทางต่อ ผมคงชวนทั้งสองไปดื่มเบียร์ที่ผับ แล้วคุยกันต่อ คงได้ฟังเรื่องสนุกๆ จากทั้งสองอีกแยะ

แวะดื่ม ‘ชายามบ่าย’ ก่อน

พาหนะส่วนใหญ่ที่จอดรับผมตอนโบกรถจะเป็นรถยนต์นั่ง มีตั้งแต่สภาพกลางเก่ากลางใหม่ ค่อนข้างเก่า จนถึงเก่ามากอย่างคันของหนุ่มช่างซ่อมรถยนต์ที่เล่าถึงข้างต้น (ประเภทรถยนต์รุ่นล่าสุด สภาพใหม่เอี่ยม แบบที่แล่นไปมาเต็มท้องถนนกรุงเทพฯ ผมแทบไม่เคยเจอ) แต่มีบางครั้งที่โบกได้รถตู้บรรทุกสิ่งของ/สินค้า

ครั้งนั้นผมเที่ยวเตร่อยู่ในบริเวณที่เรียกว่า ‘เซ็นทรัล โอทาโก’ บริเวณนี้มีสถานที่น่าแวะน่าชมวิวหลายแห่ง ทั้งยังเป็นทางผ่านสู่แหล่งท่องเที่ยวที่เป็นที่นิยมกันมาก เช่น ควีนส์ทาวน์ ซึ่งเป็นที่ชื่นชอบในหมู่นักเล่นสกีหิมะ หรือ ‘บันจีจัมป์’ กระโดดจากที่สูงโดยมีเชือกมัดที่ข้อเท้า และมีเส้นทางอีกหลายแห่งสำหรับผู้ที่ชอบเดินตามป่าเขา ประเภท ‘ไฮกิ้ง’ หรือ ‘เทรคกิ้ง’ เพื่อชมความสวยงามของธรรมชาติ

เซ็นทรัล โอทาโก ยังมีความสำคัญในด้านประวัติศาสตร์ด้วย ในศตวรรษที่ 19 มีการค้นพบทองคำในบริเวณนี้ ทำให้นักเสี่ยงโชค ผู้มาพร้อมกับความฝันถึงความร่ำรวย จำนวนมากเดินทางเข้ามาเพื่อขุดหาทองคำ กลุ่มใหญ่กลุ่มหนึ่งของนักล่าฝันเหล่านี้คือชายจีนจากมณฑลกวางตุ้ง คนยากจนที่ต้องกู้หนี้ยืมสินเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการเดินทางสู่นิวซีแลนด์ ด้วยความหวังที่จะได้กลับบ้านเกิดอย่างคนมั่งคั่ง ได้ชูหน้าชูตา เป็นเกียรติเป็นศรีแก่วงศ์ตระกูล

ทว่า ความเป็นจริงกลับตรงกันข้าม คนจีนที่มาขุดทองจำนวนมากเสียชีวิตอย่างสิ้นไร้ไม้ตอก มีน้อยคนที่ได้กลับบ้านเกิด แต่ก็มิได้ร่ำรวยอย่างที่ฝันไว้ ส่วนคนที่เหลืออยู่ก็หันไปทำอาชีพอื่น เช่น รับจ้างในฟาร์มเลี้ยงแกะของคนผิวขาว เช่าที่ดินปลูกผักขาย หรือแบกผักเดินเร่ขาย ซึ่งกลายเป็นอาชีพหลักของคนจีนในรุ่นหลัง

(อันที่จริง ผมเคยไปแถบนั้นหลายครั้ง เพราะไม่ไกลมากนักจากดันนิดิน มีทิวทัศน์ธรรมชาติที่งดงาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในฤดูใบไม้ร่วงที่มีบรรยากาศของใบไม้หลากสีสัน ภูมิอากาศยังไม่หนาวมาก ค่าใช้จ่ายในเมืองเล็กๆ ก็ไม่แพงนัก เหมาะกับการโต๋เต๋แบบจนๆ อย่างยิ่ง)

หลังจากเตร็ดเตร่อยู่แถวนั้นได้หลายวันก็ถึงเวลากลับดันนิดิน ขณะเดินโบกรถอยู่ก็มีรถตู้สีขาวคันใหญ่แล่นผ่านผมไปข้างหน้าแล้วหยุดรถ ผมรีบก้าวเท้าไปที่รถ คนขับรถเป็นชายวัยกลางคนร่างค่อนข้างอ้วนใหญ่ ถามผมว่าจะไปที่ไหน พอรู้ที่หมายแกก็บอกว่าไปไม่ถึง แต่จะไปส่งผมให้ใกล้เมืองดันนิดินให้มากที่สุด ผมกล่าวขอบคุณ นึกดีใจอยู่ในใจ เปิดประตูรถขึ้นไปนั่งข้างแก วางเป้หลังไว้หลังที่นั่งที่เป็นพื้นที่สำหรับบรรทุกของ ซึ่งเต็มไปด้วยผ้าสีขาวขนาดต่างๆ

แกมีหน้าที่ขับรถรับส่งผ้าที่ต้องซักรีดและอบฆ่าเชื้อโรค ที่ผมเห็นนั้นเป็นผ้าเช็ดมือสีขาวที่เป็นม้วนใส่กล่องแขวนไว้ในห้องน้ำตามผับหรือสถานที่อื่นๆ ให้ลูกค้าใช้เช็ดมือ มีผ้าสีขาวพับใส่ในถุงพลาสติก น่าจะเป็นผ้าปูโต๊ะอาหารหรือผ้าปูที่นอน และมีผ้าอีกหลายกอง ทั้งที่ทำความสะอาดแล้วพับใส่ในถุงพลาสติกและยังไม่ได้ซัก แกขับรถรับส่งผ้าในแถบดันนิดินและเซ็นทรัล โอทาโก ส่วนโรงซักอบรีดผ้าอยู่ทางใต้ของเมืองดันนิดิน ขับไปคุยกันไปพักใหญ่ๆ ก็ถึงลอเรนซ์ (Lawrence) เมืองเล็กๆ ที่ห่างจากดันนิดินไปทางทิศตะวันตกราว 90 กิโลเมตรเศษ เป็นเมืองทางผ่านเข้าสู่เซ็นทรัล โอทาโก และควีนส์ทาวน์ ผมเคยผ่านเมืองนี้หลายครั้ง แต่ไม่เคยแวะ ครั้งนั้นเป็นครั้งแรกและครั้งเดียวที่แวะ เพราะแกต้องจอดส่งและรับผ้า 2-3 ที่ พอเสร็จธุระก็พูดกับผมว่า ได้เวลาดื่มน้ำชา

(ลอเรนซ์เป็นเมืองที่เล็กมาก ทั้งขนาดและจำนวนประชากร – ตามสถิติ/ข้อมูลสำมะโนประชากรปี 2001 ระบุว่ามีจำนวนประชากรเพียง 474 คน ครั้งนั้นที่ผมแวะที่นี่ไม่ทราบว่ามีผู้คนจำนวนเท่าไร เดาว่าน่าจะน้อย?)

รถแวะที่ร้านขายน้ำชาและขนมแห่งหนึ่ง แล้วแกก็ชวนผมเข้าไปนั่งดื่มด้วยกัน แกทักทายหญิงวัยกลางคนในร้านด้วยความคุ้นเคย เธอน่าจะเป็นเจ้าของร้าน แล้วบอกเธอว่าผมจะไปดันนิดิน เธอยิ้มให้ เชิญผมนั่ง ครู่หนึ่งก็ยกน้ำชาและขนมอบมาให้ แล้วเธอก็คุยกับคนขับรถ ฟังดูน่าจะเป็นเรื่องของคนในเมืองบางคนที่ทั้งสองรู้จัก ดื่มไปคุยไปจนน้ำชาและขนมหมด คนขับรถจ่ายเงิน พอผมควักกระเป๋าเงินออกมา แกก็บอกว่าแกเลี้ยงเอง ไม่เป็นไร

ออกจากลอเรนซ์ไม่นานผมก็ต้องลงจากรถ เพราะแกขับไปอีกทาง ผมกล่าวขอบคุณแก แกก็อวยพร ขอให้ผมโชคดี ผมโบกรถต่อ วันนั้นโชคดีตามคำอวยพรของแก มีคนจอดรถรับผมไปถึงสถานีรถไฟในเมืองดันนิดิน ต้องเดินไกลทีเดียวกว่าจะถึงแฟลตที่ผมอยู่ แต่ยังดีที่กลับถึงดันนิดินก่อนมืดค่ำ

และโชคดีที่นอกจากมีคนขับรถใจดีรับผมขึ้นรถ 2-3 คัน ได้นั่งรถฟรีแล้ว ยังได้ดื่มชากินขนมฟรีอีกด้วย

ปีนเข้าผิดห้อง!

ผมไม่แน่ใจว่าเรื่องนี้เกิดขึ้นที่ไหน เป็นเมืองเล็กๆ แห่งหนึ่งที่ผมผ่านไปโดยไม่ตั้งใจ ระหว่างเดินหาที่พัก คนในเมืองก็บอกผมให้ไปถามที่ผับแห่งหนึ่ง โชคดีที่เจ้าของผับบอกว่ามีห้องว่าง แต่กว่าจะถึงที่หมายก็เย็นมากแล้ว ผมรู้สึกเหนื่อยและหิว

ผับแห่งนั้นสร้างด้วยไม้ มีหลายชั้น ชั้นล่างเป็นผับ ส่วนชั้นบนอีกราว 2-3 ชั้น เป็นห้องพักให้เช่า ด้านข้างของอาคารมีบันไดเหล็กและราวทางเดินที่ทำผ่านหน้าต่างห้องพัก เพื่อใช้เป็นทางหนีไฟออกจากอาคารเมื่อเกิดเพลิงไหม้ขึ้น

กินมื้อเย็นในผับชั้นล่างเสร็จ ผมก็กลับขึ้นห้องพัก อาบน้ำแล้วนั่งอ่านหนังสือ รู้สึกอบอ้าวในห้องพัก ผมจึงเปิดหน้าต่างที่มีทางเดินหนีไฟอยู่ด้านนอก พักใหญ่ผมก็นอน ไม่รู้ว่าหลับไปนานแค่ไหน มาสะดุ้งตื่นเพราะได้ยินเสียงคนเดินอยู่นอกหน้าต่าง ตามมาด้วยแรงสะเทือนบนพื้นห้อง เพราะน้ำหนักของคนที่กระโดดเข้ามาในห้อง ผมตกใจ กระโดดออกจากที่นอนแล้วรีบเปิดสวิตช์ไฟที่ข้างฝา ภาพที่เห็นเป็นชายหนุ่ม 2 คน ท่าทางเมาได้ที่ ผมตะคอกถามว่ามาทำอะไรในห้องผม ทั้งสองหน้าตาแตกตื่น ดูสร่างเมาขึ้นมาทันที รีบบอกผมว่าประตูชั้นล่างทางเข้าอาคารล็อคแล้ว จึงปีนบันไดขึ้นมา กำลังหาห้องพักของตัวเอง แต่เข้าใจผิดคิดว่าห้องผมเป็นห้องของตน แล้วทั้งสองก็ขอโทษขอโพยผมมากมาย ผมจึงเปิดประตูห้องพักให้ทั้งสองออกไปหาห้องของตน

พอหายตกใจ ผมรู้สึกตลก เพราะหน้าตาท่าทางของสองหนุ่มดูตกใจมากกว่าผมเสียอีก – เมาขนาดนั้นก็ไม่น่าแปลกใจที่สับสนเรื่องห้องพัก! – แล้วผมก็ปิดไฟนอนต่อ คิดว่าควรปิดหน้าต่างหรือไม่ ตัดสินใจไม่ปิด แต่ในใจคิดหวังว่าคงจะไม่มีใครปีนเข้ามาในห้องอีก

เช้าวันรุ่งขึ้น ผมลงไปกินอาหารเช้าที่ชั้นล่าง ชายเจ้าของผับเดินมาขอโทษผมที่หนุ่ม 2 คน ปีนเข้าห้องผม บอกว่าเป็นเรื่องที่ไม่ควรเกิดขึ้น เพราะผิดกฎระเบียบของที่พักและยังอาจมีอันตรายกับแขกที่มาพักอย่างผมได้ แกจึงไล่สองคนนั้นออกไป ไม่ให้พักที่นี่อีกแล้ว ผมบอกแกว่าผมไม่เป็นไร ไม่ต้องไล่ทั้งสองออกไปหรอก แต่แกยืนยันว่ากฎต้องเป็นกฎ และขอโทษผมอีกครั้ง

หนุ่มทั้งสองคนเป็นคนงาน อาจทำงานในโรงงานหรืออู่ซ่อมรถสักแห่งในเมือง มาเช่าห้องพักอยู่ด้วยกันที่นี่มาหลายเดือนแล้ว เมื่อคืนนี้คงดื่มกันหนักไปหน่อย ลืมไปว่าประตูเข้าที่พักจะปิดและล็อคตอนเที่ยงคืน พอเข้าที่พักไม่ได้ จึงปีนบันไดหนีไฟแล้วไปเข้าห้องที่ผมพักอยู่ด้วยความเข้าใจผิดเพราะเมา

นั่งเขียนอยู่ในขณะนี้ ภาพของสองหนุ่มที่ดูเมามาย แล้วตื่นตระหนกตกใจเพราะเสียงตะคอกดังของผมก็ปรากฏขึ้นในสมอง ทำให้ผมรู้สึกขำ แต่ก็เสียใจด้วยที่ทั้งคู่โดนไล่ออกจากที่พัก

และทำให้ผมยิ่งเชื่อว่า คนคีวีส่วนใหญ่ไม่มีพิษมีภัย

นิติ ภวัครพันธุ์
ศาสตราจารย์ด้านมานุษยวิทยา สถานที่ทำงานสุดท้ายคือคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปัจจุบันเขียนหนังสือด้านสังคม-วัฒนธรรม และผู้คนต่างกลุ่มชาติพันธุ์ ผลงานรวมเล่ม ได้แก่ ชวนถก ชาติและชาติพันธุ์, เรื่องเล่าเมืองไต พลวัตของเมืองชายแดนไทย-พม่า เป็นต้น และเป็นคอลัมนิสต์ให้สื่อออนไลน์

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า