Hit the Road

นั่งคิดอยู่พักใหญ่ว่าจะใช้ ‘ชื่อเรื่อง’ สำหรับตอนนี้ว่าอะไร แล้วนึกถึง ‘Hit the Road Jack’ เพลงอันโด่งดังของนักดนตรี/นักร้องผิวดำ นาม เรย์ ชาร์ลส์ (Ray Charles) ผมจึงได้ชื่อเรื่อง

แต่พอลองค้นหาคำแปลภาษาไทย ปรากฏว่าใน Google มีคำแปลประหลาดๆ หลายคำ เช่น แปลตรงตามอักษรว่า ‘ตีถนน’ หรือ ‘ทุบถนน’ (หายแปลกใจว่าทำไมคนไทยจึงอ่อนหัดอย่างแรงกับการเรียนและความรู้ในภาษาอังกฤษ!) บางเว็บไซต์แปลว่า ‘หนีหัวซุกหัวซุน’ (นึกไม่ออกว่ามีอะไรดลบันดาลใจให้แปลเช่นนี้?!) เท่าที่ความรู้งูๆ ปลาๆ ที่ผมมี คำนี้น่าจะมีความหมายในภาษาไทยว่า ‘เริ่มต้นการเดินทาง’ ซึ่งเป็นเรื่องที่อยากเขียนเล่าในครั้งนี้ แต่ความหมายในภาษาไทยนี้ฟังดูจืดชืด ไร้สีสัน ไร้จินตนาการโดยสิ้นเชิง ผมจึงตัดสินใจใช้คำอังกฤษแทน

คนขับรถบัส

หลายปีที่อยู่ในนิวซีแลนด์ ‘ดินแดนแห่งเมฆขาวเป็นแนวยาว’ ผมท่องเที่ยวตระเวนไปตามที่ต่างๆ ทุกครั้งเมื่อมีโอกาส บางครั้งไปกับมิตรสหาย แต่บ่อยครั้งที่ไปคนเดียว และมักไม่ค่อยมีการวางแผน คิดเพียงคร่าวๆ ว่าจุดหมายอยู่ที่ไหน จะไปเที่ยวกี่วัน และไปอย่างไร ผมเดินทางคนเดียว ไม่มีปัญหามากนัก ยกเว้นเรื่องเวลา ที่บางครั้งอาจนานกว่าที่วางแผนหรือตั้งใจไว้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าผมเดินทางด้วยการ ‘โบกรถ’

ผมขับรถไม่เป็น – อันที่จริง ผมเรียนและหัดขับอยู่พักหนึ่ง แต่ความที่ไม่ชอบขับรถจึงเลิกหัดไปกลางคัน อุตส่าห์ลงทุนซื้อรถยนต์โตโยต้ามือสอง แต่หัดขับได้ไม่นานก็ขายให้คนไทยที่รู้จัก – เวลาเดินทางไปไหนมาไหนจึงต้องใช้บริการของรถบัสหรือรถโดยสารสาธารณะระหว่างเมือง แต่ก็มีหลายครั้งที่ผมใช้วิธี ‘hitchhike’ หรือโบกรถ ด้วยความหวังว่าจะมีคนขับรถใจดีรับขึ้นรถไปด้วย

ข้อดีประการหนึ่งของนิวซีแลนด์ ในความคิดของผม คือบริการรถโดยสารสาธารณะที่วิ่งระหว่างเมืองต่างๆ ค่อนข้างดี เมืองที่มีขนาดเล็กมากก็ยังมีรถโดยสารแล่นไปถึง แต่จำนวนเที่ยวที่ให้บริการอาจมีน้อย เช่น มีเพียง 1-2 เที่ยวต่อวัน ทำให้การเดินทางด้วยรถโดยสารสาธารณะเป็นเรื่องที่เสียเวลามาก ถึงกระนั้น การเดินทางท่องเที่ยวด้วยรถโดยสารสาธารณะก็เป็นเรื่องที่สนุก บางครั้งน่าตื่นเต้นด้วย ได้เห็นหรือเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ได้เจอผู้คนที่น่าสนใจ รับรู้เรื่องแปลกๆ หรือแม้แต่ได้ลองอะไรใหม่ๆ

photo: Guaka/hitchwiki.org

จากประสบการณ์ของผม รถโดยสารสาธารณะระหว่างเมืองไม่เคยมีผู้โดยสารมากมาย ตรงกันข้าม บ่อยครั้งที่มีผู้โดยสารเพียงไม่กี่คน หรือมีเพียงคนเดียว คือผม ซึ่งก็เกิดขึ้นหลายครั้ง เมื่อผมเดินทางไปเมืองเล็กๆ ที่ไม่ใช่สถานที่ท่องเที่ยว (แต่ด้วยความสงสัย อยากรู้อยากเห็น จึงลองไปดู) ต้องใช้เวลาเดินทางนานทีเดียว แม้ว่าระยะทางอาจมิได้ห่างไกลจากเมืองอื่นมากนัก

หนึ่งในสาเหตุหลักที่รถโดยสารสาธารณะระหว่างเมืองใช้เวลาเดินทางนาน เพราะคนขับรถมีหลายหน้าที่ ทำให้ต้องหยุดรถแวะตามสถานที่ต่างๆ บนเส้นทางบ่อยครั้ง เช่น รับส่งเด็กนักเรียนระหว่างบ้านและโรงเรียน ตอนเช้าไปโรงเรียนและกลับบ้านตอนบ่ายหลังโรงเรียนเลิก ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้เป็นทั้งรถบัสรับส่งผู้โดยสารทั่วไปและนักเรียน และเท่าที่สังเกต คนขับรถส่วนใหญ่รู้จักเด็กนักเรียน รู้ว่าบ้านอยู่ที่ไหน เรียนโรงเรียนอะไร – และอาจทำให้เดาได้ว่า รู้ด้วยว่าเป็นลูกเต้าเหล่าใคร (?)

และจากประสบการณ์ของคนแปลกหน้าอย่างผม โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเป็นผู้โดยสารคนเดียวบนรถ จะเป็นที่สนใจของเด็กนักเรียนท้องถิ่นเหล่านี้ เริ่มต้นจากการทักทายผมด้วยรอยยิ้ม หรือถามไถ่ว่าจะไปไหนด้วยอยากรู้อยากเห็น หรือซุบซิบกันเองแล้วตามด้วยเสียงหัวเราะ มักเป็นสาววัยรุ่นที่กล้าหยอกล้อ เล่นหัว ชวนพูดคุยมากกว่าวัยรุ่นผู้ชาย ที่ส่วนใหญ่จะเงียบกว่า หยอกล้อ/เล่นหัวกับคนแปลกหน้าน้อยกว่า

นอกจากรับส่งนักเรียน คนขับรถบัสยังทำหน้าที่เป็นบุรุษไปรษณีย์ รับจดหมาย/พัสดุต่างๆ จากร้านค้าในเมือง – เมืองเล็กๆ จำนวนมากไม่มีที่ทำการไปรษณีย์หรือบุรุษไปรษณีย์ จึงเป็นหน้าที่ของร้านค้าที่ขายสินค้าสารพัดชนิด เช่น เครื่องเขียน สมุด/หนังสือ หนังสือพิมพ์ และอื่นๆ อีกมากมาย เป็นศูนย์รวมจดหมายและพัสดุไปรษณีย์ทุกประเภท โดยมีคนขับรถบัสเป็นบุรุษไปรษณีย์ – ไปส่งให้ผู้รับที่อาศัยอยู่นอกเมือง โดยจะใส่จดหมายหรือพัสดุชิ้นเล็กๆ ไว้ในตู้รับจดหมายที่อยู่ปากทางเข้าบ้าน (บ้านเรือนในชนบทส่วนใหญ่จะอยู่ลึกจากถนนเข้าไปในฟาร์ม มีถนนดินแคบๆ ที่เชื่อมระหว่างถนนและตัวบ้าน ที่ริมถนนปากทางเข้าบ้านจึงมักมีตู้จดหมายเล็กๆ ติดป้ายเลขที่บ้านไว้ให้เห็น) ถ้าเป็นพัสดุชิ้นใหญ่ก็วางไว้บนพื้นด้านล่างของตู้

การส่งหนังสือพิมพ์รายวันตามบ้านเรือนนอกเมืองก็เป็นอีกหน้าที่หนึ่งของคนขับรถบัส พอถึงที่หมาย คนขับส่วนใหญ่จะเปิดประตูรถแล้วโยนหนังสือพิมพ์ออกทางประตู ให้หนังสือพิมพ์ไปตกลงบนพื้นใต้ตู้รับจดหมายประจำบ้านของคนที่บอกรับหนังสือพิมพ์ แต่บางครั้งก็หยุดรถแล้วลงไปเสียบหนังสือพิมพ์ไว้ในตู้ กรณีนี้มักเกิดขึ้นเพราะมีจดหมายหรือพัสดุที่คนขับต้องเอาไปใส่ไว้ในตู้ จึงเอาหนังสือพิมพ์ไปเสียบไว้ด้วย

อีกหนึ่งหน้าที่ของคนขับรถบัสคือการรับส่งสินค้า เท่าที่พบเห็น เป็นสินค้าที่นำไปส่งให้ร้านค้ากึ่งที่ทำการไปรษณีย์อย่างที่กล่าวถึงข้างต้น ทว่า ผมก็เคยเห็นคนขับรถบางคนแวะส่งสินค้าให้ร้านค้าประเภทอื่นในเมือง แต่เกิดขึ้นไม่บ่อยนัก

ที่อาจจะสำคัญกว่าสิ่งอื่นใดคือ คนขับรถต้องหยุดพักเพื่อให้ผู้โดยสาร (และตัวเอง) เข้าห้องน้ำ ปกติเป็นห้องน้ำของร้านอาหารเล็กๆ โดยไม่ต้องเสียค่าบริการ เป็นช่วงเวลาพักที่ผู้โดยสารสามารถซื้อน้ำชา อาหารหรือของว่าง เพื่อนั่งรับประทานในร้าน คนขับรถก็ได้ดื่มน้ำชาที่เจ้าของร้านจัดไว้ให้โดยไม่คิดราคา หรือผู้โดยสารบางคนอาจหลบออกไปสูบบุหรี่นอกร้านก็ได้

บางครั้งที่ผมเป็นผู้โดยสารเพียงคนเดียวในรถ และมีพัสดุ หีบห่อ หรือหนังสือพิมพ์ค่อนข้างมาก ผมก็อาสาช่วยคนขับรถขนของลงจากรถ นอกจากคำขอบคุณและรอยยิ้มจากคนขับ เขายังชวนผมดื่มน้ำชาที่ร้านอาหารที่แวะพักเข้าห้องน้ำ แล้วบอกเจ้าของร้านว่าผม ‘ให้มือ’ (give a hand) ช่วยยกข้าวของทั้งหลาย หญิงเจ้าของร้านก็มักให้ผมดื่มฟรี พร้อมขนมหรือบิสกิตที่มีขายในร้าน

ความเป็นมิตรของคนคีวีและคนขับรถโดยสารเป็นสิ่งสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้ผมชอบท่องเที่ยวไปตามที่ต่างๆ ในประเทศนั้น

หนึ่งในธรรมเนียมปฏิบัติที่ผมเห็นเสมอคือ คนขับรถโดยสารโบกมือให้คนขับรถโดยสารและรถบรรทุกคันอื่นที่แล่นสวนทางมา หรือให้สัญญาณเตือนว่าข้างหน้ามีอุบัติเหตุ หรือมีสิ่งผิดปกติบางอย่างเกิดขึ้น จนอาจกล่าวได้ว่าคนขับรถสาธารณะมีการสนทนาและวิธีสื่อสารกันบนถนน ที่แสดงถึงมิตรภาพและภราดรภาพของผู้ใช้แรงงาน

หากเป็นเส้นทางเดินรถนานหลายชั่วโมง มักเป็นการเดินทางระหว่างเมืองใหญ่ จะมีสถานที่หรือจุดพักรถบัสที่ผมสันนิษฐานว่าน่าจะเป็นครึ่งทางของเส้นทางที่เดินทาง เป็นจุดที่คนขับรถจากจุดหมายปลายทางทั้งสองแห่งมาพบกัน แล้วต่างคนต่างลงจากรถบัสที่ตนเองขับมา ไปขึ้นรถบัสอีกคันแล้วขับกลับจุดหมายที่ตนขับรถมา

เช่น สมมุติว่าผมเดินทางจากเมืองดันนิดินไปเมืองไครสต์เชิร์ช พอรถบัสที่ผมนั่งอยู่นั้นแล่นไปได้ประมาณครึ่งทาง จะมีสถานีหรือจุดจอดรถ คนขับรถจะหยุดรถที่นี่ เพื่อรอรถบัสที่มาจากเมืองไครสต์เชิร์ช ไม่นานนักรถบัสคันนั้นก็จะมาถึง (ผมคิดว่าคงมีการคำนวณเวลาการเดินทางไว้อย่างรอบคอบเหมาะเจาะแล้ว เพราะรถบัสทั้งสองคันมักเดินทางถึงจุดนี้ในเวลาไล่เลี่ยกัน) คนขับรถทั้งสองจะลงจากรถของตนไปขึ้นรถอีกคัน คนขับรถที่ขับมาจากดันนิดินจะไปขึ้นรถบัสคันที่ปลายทางคือดันนิดิน แล้วขับออกไป ส่วนคนขับรถที่มาจากไครสต์เชิร์ชก็ไปขึ้นรถบัสที่มุ่งหน้าเข้าสู่ไครสต์เชิร์ช แล้วขับออกไปเช่นกัน นั่นก็คือคนขับรถต่างขับรถกลับจุดหมายที่ตนเองเพิ่งเดินทางจากมา หรือจะพูดว่าต่างคนต่างขับรถบัสกลับบ้านตัวเองก็คงได้ ด้วยเหตุนี้ คนขับรถบัสจึงไม่ต้องไปพักแรม/ค้างคืนในเมืองอื่น สามารถกลับบ้านตนเองได้ในวันเดียวกัน – ออกจากบ้านตอนเช้า แล้วกลับถึงบ้านตอนกลางคืน

เป็นการจัดการและวางแผนการเดินทางและการขับรถที่ใส่ใจต่อคนขับอย่างยิ่ง

ระหว่างที่เขียนเล่าเรื่องนี้ มีสิ่งหนึ่งที่ทำให้ผมประหลาดใจมาก กล่าวคือ ผมเดินทางในนิวซีแลนด์บ่อยครั้ง แต่มีประสบการณ์ของการถูกตำรวจเรียกหยุดรถและตรวจเพียงครั้งเดียว ถ้าความจำของผมไม่ผิดพลาด เหตุเกิดขึ้นบนถนนทางหลวงนอกพิคตัน เมืองเล็กๆ ที่เป็นท่าเรือเฟอร์รี่ข้ามเกาะใต้และเหนือ วันนั้นผมเดินทางกับเพื่อนคนไทยอีก 3 คน โดยเพื่อนหญิงเป็นคนขับ – เป็นรถเช่าที่เช่าในเมืองออคแลนด์ แล้วเดินทางลงใต้มาเรื่อยๆ มาข้ามเรือเฟอร์รี่เพื่อเที่ยวชมเกาะใต้ เพื่อนทั้งสามขอให้ผมเป็นไกด์พาเที่ยว เพราะมาเที่ยวนิวซีแลนด์เป็นครั้งแรก

พอเรือเทียบท่า เพื่อนหญิงคนขับก็ขับรถออกจากเรือมุ่งหน้าลงใต้ ออกจากพิคตันได้ไม่นานก็มีรถตำรวจขับตามมา แล้วเปิดเสียงไซเรนเรียกให้รถยนต์ของพวกเราหยุด ตำรวจผู้ชายลงจากรถเดินมาขอดูใบขับขี่ของคนขับ แล้วบอกเธอว่าเธอไม่ได้หยุดรถที่ป้ายสัญญาณจราจรที่มีคำว่า ‘หยุด’ (‘Stop’ sign) ตรงสี่แยก และเตือนให้เธอขับรถอย่างระมัดระวัง และให้สังเกตป้ายสัญญาณจราจรเพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุ แล้วปล่อยให้พวกเราเดินทางต่อ ไม่ได้สั่งปรับ ยึดใบขับขี่ หรือเรียกไปโรงพัก

(ครั้งแรกที่ผมเจอกับตำรวจคีวีซึ่งๆ หน้า – คือได้พูดคุย/ทักทายกัน – เกิดขึ้นในเมืองดันนิดิน ตอนนั้นผมกำลังเขียนวิทยานิพนธ์ปริญญาโทอยู่ จึงค่อนข้างเครียด ยิ่งถ้าเขียนไม่ได้ คิดไม่ออก ก็ยิ่งเครียด คืนหนึ่งในฤดูหนาว ดึกมากแล้ว แต่ผมนอนไม่หลับ คงเพราะความเครียด จึงออกจากแฟลต เดินเล่น ปล่อยความคิดไปตามถนนในเมืองที่ไร้ผู้คน มีแต่แสงไฟ ความเงียบ และอากาศหนาว แล้วผมก็เห็นตำรวจผู้ชายร่างใหญ่ 2 นาย กำลังเดินตรวจความปลอดภัย ตอนที่เราทั้งสองฝ่ายเดินสวนกัน ตำรวจยิ้มให้ผมและเอ่ยทักทายว่า “Good evening” แล้วก็เดินผ่านไป ปฏิบัติหน้าที่ตรวจตราเมืองต่อไป – ทั้งๆ ที่ดึกมากแล้ว แต่ตำรวจทั้งสองก็ไม่ได้ซักถามอะไร หรือขอดูเอกสารใดๆ ทั้งสิ้น)

คดเคี้ยว ไร้ผู้คน

ถนนระหว่างเมืองส่วนใหญ่จะมีปริมาณรถยนต์แล่นไปมาค่อนข้างน้อย และถนนหลายเส้นอาจไม่มีรถแล่นผ่านเลยนานครึ่งค่อนวัน ส่วนใหญ่เป็นถนนแคบๆ ที่มีเพียง 2 เลน ตัดคดเคี้ยวไปมาตามความลาดชันขึ้นๆ ลงๆ ของสภาพภูมิประเทศที่เป็นเนินเขาและเทือกเขา จึงไม่น่าแปลกใจที่ตำรวจผู้นั้นจะเตือนเพื่อนหญิงคนขับรถให้ขับรถด้วยความระมัดระวัง เนื่องจากสภาพของถนนดังกล่าว หากคนขับไม่รู้จักหรือคุ้นเคยก็อาจประสบอุบัติเหตุได้ง่าย ถ้าขับด้วยความเร็วสูงเพราะเห็นว่าถนนโล่ง ไม่มีรถยนต์ อาจขับหลุดโค้งตกเขาได้ หรือปะทะกับต้นไม้ริมถนนที่ขึ้นอยู่มากมายและมักเป็นต้นใหญ่ๆ หรืออาจชนรั้วลวดหนามที่เจ้าของฟาร์มขึงไว้เพื่อป้องกันฝูงแกะ อุบัติเหตุเหล่านี้ล้วนอันตรายทั้งสิ้น

ความน่ากังวลอีกอย่างคือ ด้วยความเป็นถนนในชนบทที่ล้อมรอบด้วยฟาร์มเลี้ยงสัตว์ ถ้าไม่ใช่เขตชุมชนก็แทบจะไม่มีบ้านเรือนเลย จึงไร้ผู้คน นอกจากนี้ ยังมีรถยนต์แล่นผ่านไปมาจำนวนน้อย หากเกิดอุบัติเหตุขึ้นคงต้องรอนานมากกว่าความช่วยเหลือจะมาถึง

photo: Nick Bramhall

วังเวง หนาวยะเยือก

นอกจากในเมืองใหญ่ สถานีรถโดยสารสาธารณะระหว่างเมืองส่วนใหญ่จะเป็นอาคารเล็กๆ ที่อาจปิดในเวลากลางคืน หรือมีคน – เจ้าหน้าที่สถานี ผู้โดยสาร คนขับรถ – เฉพาะเวลาที่มีรถบัสเข้าและออก หลังจากนั้นก็อาจปิดเงียบ พอเดินทางด้วยรถบัสได้ระยะหนึ่งผมก็เริ่มคุ้นเคยกับบรรยากาศเช่นนี้ ไม่รู้สึกว่าเป็นปัญหา จนกระทั่งผมต้องเดินทางไปเมืองโฮคิทิคา

ผมเคยเล่าถึงประสบการณ์ในเมืองเล็กๆ แห่งนี้ ซึ่งตั้งอยู่ด้านตะวันตกของเกาะใต้ (ดู ‘โต๋เต๋แบบจนๆ: เลี้ยงส่งสาวบ้านนอกเข้ากรุง’) แต่ดันนิดิน เมืองที่ผมพักอาศัย อยู่ทางฝั่งตะวันออก เส้นทางสู่โฮคิทิคาจึงเป็นการเดินทางข้ามเกาะใต้ บนถนนที่คดเคี้ยวไปตามเทือกเขาที่กั้นระหว่างฝั่งตะวันตกกับตะวันออก แต่ไม่มีรถบัสวิ่งโดยตรงระหว่างดันนิดินและโฮคิทิคา ผมต้องขึ้นรถบัสไปต่ออีกสายหนึ่ง 2-3 ครั้ง และดังที่เล่าไปข้างต้นว่า การรอรถบัสอีกคันเป็นเรื่องที่เสียเวลามาก ด้วยเหตุนี้ ผมจึงใช้เวลาหลายชั่วโมงกว่าจะเดินทางไปถึงสถานีรถบัสที่มีรถบัสอีกสายที่วิ่งเข้าเมืองโฮคิทิคา ถึงสถานีนี้น่าจะเป็นเวลาเช้ามืด ราวตี 4 กว่า

สถานีแห่งนี้เป็นอาคารไม้เล็กๆ ที่ประตูถูกล็อค เพราะยังไม่ใช่เวลาทำการ แต่มีที่นั่งพักหน้าสถานี ด้วยความรู้สึกง่วง อ่อนเพลียจากการเดินทาง ผมจึงล้มตัวลงนอนบนที่นั่งพักนั้น ทว่า เป็นการตัดสินใจที่ไม่ฉลาดนัก เพราะตอนนั้นเป็นฤดูหนาว ที่นั่งพักเปิดโล่ง ไม่มีฝากั้น มีแต่หลังคา ทั้งๆ ที่ผมคิดว่าได้เตรียมตัวสู้ความหนาวอย่างดีแล้ว ด้วยการใส่เสื้อ 2 ชั้น ทับด้วยเสื้อกันหนาวอีก 2 ชั้น สวมถุงมือและหมวก แต่ความหนาวเย็นและความชื้นก็เล่นงานผมจนแทบไม่ได้หลับ แม้ว่าร่างกายจะอุ่นพอ แต่มือและเท้ารู้สึกเย็นมาก เป็นความรู้สึกที่ทรมานอย่างยิ่ง

จะพูดว่า ‘หนาวเข้ากระดูก’ ก็อาจจะเกินเลยไป เพราะอุณหภูมิไม่ถึงกับต่ำกว่า 0 องศาเซลเซียส แต่การนอนบนที่นั่งไม้เปิดโล่งกลางแจ้ง ลมและอากาศหนาวเย็นพัดผ่านนานหลายชั่วโมง เป็นการกระทำของคนที่ไม่ค่อยมีสติ ห้ามทำเด็ดขาด!

ที่จริง เป็นความเขลาของผมเองที่ไม่เอา ‘ถุงนอน’ ติดตัวไปด้วย ทั้งๆ ที่มี 2 ใบ ด้วยความชะล่าใจ ไม่ไตร่ตรองให้ดี คิดเพียงว่าจะไปพักในโรงแรม ไม่ต้องใช้ถุงนอน จึงไม่ได้เอาติดตัวไปด้วย ผลที่ตามมาคือ ความหนาวยะเยือกที่ฝังแน่นอยู่ในความทรงจำ!

คากิสูตรคุณปู่เมารี

การคิดทบทวนประสบการณ์ชีวิตในนิวซีแลนด์ทำให้ผมประหลาดใจในหลายเรื่อง หนึ่งในนี้คือดูเหมือนว่าผมมีประสบการณ์โดยตรงกับคนเมารี ชนพื้นเมืองของนิวซีแลนด์น้อยครั้ง ผมมีโอกาสพูดคุย/สนทนาด้วย รู้จักหน้าค่าตากับคนเมารีนับครั้งได้ แม้ว่าผมจะมีความรู้เกี่ยวกับคนกลุ่มนี้ไม่น้อย ทั้งจากการเรียนในห้องเรียนและการอ่านงานเขียนต่างๆ ด้วยความอยากรู้ แต่กลับไม่ค่อยมีปฏิสัมพันธ์โดยตรงกับพวกเขา ไม่ว่าจะเป็นในช่วงเวลาที่เรียนปริญญาโทหรือทำงานที่เวลลิงตัน เมืองหลวงที่มีคนเมารีอาศัยอยู่ค่อนข้างมาก ทว่า เพื่อนร่วมงานส่วนใหญ่ของผมก็ไม่ใช่คนเมารี

เหตุการณ์ที่ได้พบปะ/สนทนากับคนเมารีเกิดขึ้นในขณะที่ผมกำลังท่องเที่ยวอยู่ในเกาะใต้ น่าจะเป็นช่วงที่มหาวิทยาลัยปิดเทอม แต่ยังไม่ใช่ฤดูร้อนที่เป็นเวลาทำงานเก็บเงิน – ผมไม่ได้รับทุนการศึกษา จึงต้องเรียนไปด้วยทำงานไปด้วย พอเข้าฤดูร้อน ซึ่งเป็นช่วงปิดเทอมนานกว่า 3 เดือน นักศึกษาคีวีส่วนใหญ่จะทำงานเพื่อเก็บเงิน รวมทั้งตัวผมเองด้วย (ว่างๆ จะเล่าประสบการณ์การทำงานของผม) – การเดินทางครั้งนี้เหมือนทุกครั้งที่ผมใช้รถบัสบ้าง โบกรถบ้าง และมักพักค้างแรมในที่พักที่เรียกว่า ‘Motor camp’

(ในนิวซีแลนด์มีที่พักหลายประเภท ไม่ว่าจะเป็นโรงแรมหรูหรา 5 ดาว [แน่นอนว่าผมไม่มีปัญญาได้ใช้บริการ] โรงแรมทั่วไป [น่าจะจัดได้ว่าเป็นประเภท 2-3 ดาว ผมเคยพัก 1-2 ครั้ง] โรงแรมที่ชั้นล่างเป็นผับ [มักพบตามเมืองเล็กๆ ไม่หรูหรา แต่ก็ไม่แพง มีอาหารขาย แต่ไม่มีครัวให้ทำอาหารกินเอง] Hostels [ใช้ห้องน้ำและครัวร่วมกัน ราคาถูก เป็นที่นิยมในหมู่ ‘backpackers’ แต่ผมไม่ค่อยชอบ เพราะพลุกพล่าน หนวกหู และมีคนพักเป็นจำนวนมาก] และ ‘Motor camp’ ที่พบได้ทั่วไปแม้แต่ในเมืองใหญ่ๆ เท่าที่สังเกต มอเตอร์แคมป์มีห้องพักหลายแบบ ทั้งห้องพักที่มีห้องน้ำในตัว หรือห้องพักที่มีเตียงนอนเท่านั้น ผู้พักต้องใช้ห้องน้ำและครัวร่วมกับผู้อื่น และที่จอดรถยนต์แบบ ‘Campervan’ ที่สามารถปรับเป็นที่นอน/ที่พักผ่อนได้ ผู้พักประเภทนี้จะขับรถแคมป์เพอร์แวนของตนมาเอง จึงไม่ต้องเช่าห้องพัก แต่ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมที่รวมค่าไฟฟ้า [มีสายไฟพ่วงต่อเข้ากับตัวรถ เพื่อให้ผู้พักสามารถใช้ไฟในเวลากลางคืนได้] และค่าใช้ครัวและห้องน้ำรวม – พอเข้าฤดูร้อน จะมีผู้พักแบบแคมป์เพอร์แวนค่อนข้างมาก คนคีวีนิยมใช้รถแบบนี้มากทีเดียว)

Mount Maunganui motor camp จาก Goodall, Gladys Mary, 1908-2015: Scenic photographs of New Zealand

ผมไม่แน่ใจว่าเรื่องนี้เกิดขึ้นที่เมืองอะไร แต่จำได้ว่าผมออกไปเที่ยวแล้วกลับเข้าที่พักตอนเย็น ฟ้ายังสว่างอยู่ และอากาศเย็นสบาย เพราะเป็นหน้าร้อน ผมทำอาหารแบบง่ายๆ อยู่ในครัวรวมที่สถานที่พักจัดไว้ให้ กินเสร็จกำลังล้างจาน ชายเมารีร่างสันทัดค่อนข้างท้วม อายุราว 50 ปีเศษ ก็เดินเข้ามา พอเห็นผม แกยิ้มให้และกล่าวคำทักทาย แกหิ้วหม้อใบใหญ่มาด้วย (เป็นของแกเอง ไม่ใช่เครื่องครัวในครัวรวม) รองน้ำใส่หม้อแล้วก็นำไปตั้งบนเตา ติดไฟต้มน้ำ ผมเห็นถุงพลาสติกใบใหญ่ที่แกนำมาด้วย ในถุงบรรจุขาหมูอยู่หลายขา ทั้งส่วนน่องและคากิ แกเอาขาหมูวางลงในหม้อที่น้ำยังไม่เดือด แล้วเริ่มปอกเปลือกมันฝรั่ง หั่นเป็นชิ้นๆ โยนลงในหม้อ ตามด้วยแครอทที่หั่นเช่นกัน วางทับด้วยข้าวโพดทั้งฝัก ไม่ได้หั่น ปิดฝารอน้ำเดือด แล้วบทสนทนาก็เริ่มขึ้น

แกขับรถตู้คันใหญ่มากับครอบครัว มีลูกชาย ลูกสะใภ้ และหลานชาย อายุน่าจะราว 5-6 ขวบ (ผมไม่เห็นย่า – ภรรยาของแก) ขับรถจากเกาะเหนือลงมาเที่ยวเกาะใต้ แล้วเสี่ยงโชคด้วยการหา ‘ทองคำ’ (“ทองคำ! มาช้าไปร้อยกว่าปีมั้ง คุณปู่” ผมนึกในใจ แต่ไม่ได้พูดอะไร แค่ยิ้มและพยักหน้ารับคำ) โดยตระเวนไปตามสถานที่ที่เคยพบทองคำในศตวรรษที่ 19 เพื่อค้นหาว่ายังมีทองคำหลงเหลืออยู่หรือไม่?

ตามบันทึกประวัติศาสตร์ มีการค้นพบแร่ทองคำในสหรัฐอเมริกาและออสเตรเลียก่อนนิวซีแลนด์ ซึ่งพบทองคำในบริเวณที่เรียกว่า ‘Central Otago’ และชายฝั่งทะเลด้านตะวันตก (West Coast) ในครึ่งหลังของคริสต์ศตวรรษที่ 19 และเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้คนจีน ที่ส่วนใหญ่เป็นผู้ชายจากมณฑลกวางตุ้ง อพยพเข้าสู่นิวซีแลนด์เพื่อค้นหาทองคำ – ด้วยความหวังว่าตนจะได้กลับบ้านอย่างคนร่ำรวย แต่ในความเป็นจริงคือ คนส่วนใหญ่ตายอย่างคนจน เป็นหนี้เป็นสิน – ผมเดาว่าคุณปู่เมารีคงอ่านหนังสือเกี่ยวกับการค้นพบทองคำ และรู้รายละเอียดเรื่องสถานที่ที่พบทองคำในแถบเซ็นทรัลโอทาโก้

ทว่า ผมสนใจที่ครอบครัวคุณปู่กินขาหมูต้มเป็นอาหารเย็นมากกว่า ผมไม่แน่ใจว่าแกต้มขาหมูนานแค่ไหน เพราะมัวแต่นั่งฟังแกคุย (ด้วยความอยากรู้และไม่มีอะไรทำ การฟังคุณปู่คุยจึงดีกว่ากลับไปอยู่ในห้องพักแคบๆ ที่มีแต่เตียงนอน) แต่ก็คงนานทีเดียว ระหว่างที่คุยแกเปิดฝาหม้อ 2-3 ครั้ง เพื่อดูว่าขาหมูสุกหรือยัง แล้วลูกชายของแก พร้อมกับหลานชายรูปร่างจ้ำม่ำก็เดินเข้ามาในครัว แกพูดกับลูกชายและหลานด้วยภาษาเมารี ผมจึงไม่รู้ว่าพูดอะไรกัน พอขาหมูสุกแกก็ตักขาหมูออกจากหม้อวางลงบนเขียงพลาสติก ส่วนอาหารอื่นๆ ตักใส่จานใบใหญ่ที่มีหลายใบ แล้วแกก็สับขาหมูด้วยปังตอ (cleaver) เป็นชิ้นใหญ่ๆ แบ่งใส่จานใบใหญ่ ส่วนที่เป็นกระดูกหนาก็ทุบให้แตกด้วยสันมีด แล้วยื่นให้หลานชาย ที่รับกระดูกทุบแตกแล้วใส่ปากแทะเนื้อติดกระดูกและดูดไขกระดูกกินอย่างเอร็ดอร่อยและเชี่ยวชาญ – ดูจากวิธีที่กิน พอจะเดาได้ว่าเด็กน้อยเคยกินมาแล้วหลายครั้ง

เสร็จสรรพแกชวนผมกินอาหาร แต่ผมกล่าวขอบคุณและบอกว่าเพิ่งกินอิ่ม แกกลับคะยั้นคะยอผมให้กินอีก แล้วหยิบข้าวโพดฝักใหญ่ใส่จานยื่นให้ ผมยอมแพ้ รับข้าวโพดจากแกมานั่งแทะ ดูครอบครัวนี้กินอาหารอยู่พักหนึ่งผมก็ขอตัว เดินกลับห้องพัก

นี่เป็นครั้งแรกที่ผมได้พบและพูดคุยกับคนเมารี คุณปู่เป็นคนน่ารักมาก โอภาปราศรัย อัธยาศัยดี มีไมตรี เอื้อเฟื้อ

เสียดายที่ผมไม่ได้ลองชิมขาหมูของคุณปู่ จึงไม่รู้ว่าขาหมูต้มสูตรเมารีอร่อยแค่ไหน? จะนุ่มนวลกลมกล่อมเพียงใด? และลืมถามเด็กน้อย ผู้นั่งแทะกระดูกอย่างจริงจัง ว่าฝีมือของคุณปู่เข้าขั้นเชฟระดับเวิลด์คลาสหรือไม่?

พระเอกหนัง

บ่ายวันนั้นอากาศดีมาก ฟ้าสีครามชวนมอง แดดอบอุ่น แต่สายลมที่พัดผ่านเย็นแบบสบายๆ เป็นครั้งแรกที่ผมได้เที่ยว/เดินทางในเกาะเหนือ และกำลังนั่งอยู่บนรถบัสที่มีผู้โดยสารเพียงไม่กี่คน เหมือนปกติทุกวันที่คนขับรถบัสปฏิบัติเป็นกิจวัตร คือแวะจอดรับเด็กนักเรียนหน้าโรงเรียนเพื่อไปส่งที่บ้าน

บริเวณนั้นเป็นชุมชนเล็กๆ ของคนเมารีที่แวดล้อมด้วยฟาร์มเลี้ยงแกะ บนรถบัสเหลือผู้โดยสารคือผมและนักเรียนสาววัยรุ่น 2-3 คนที่กำลังจะกลับบ้าน ตั้งแต่ขึ้นมาบนรถพวกเธอก็หยอกล้อ พูดจาเล่นหัวกันอย่างสนุกสนาน ครื้นเครงด้วยเสียงหัวเราะ รถบัสแล่นไม่เร็วนักบนถนน 2 เลนที่แทบจะไม่มีรถยนต์วิ่งสวนทางมาเลย แล้วผมก็เห็นหนุ่มเมารีคนหนึ่งกำลังควบม้าสีน้ำตาลตัวใหญ่วิ่งไปบนไหล่ทางริมถนนด้านขวามือ (ผมนั่งริมหน้าต่างรถด้านขวา ข้างเดียวกันกับคนขับรถ – ในนิวซีแลนด์รถยนต์แล่นฝั่งซ้ายมือ เหมือนในบ้านเรา)

ชายหนุ่มผู้นั้นมีผมหยักศกยาวถึงต้นคอ หน้าตาคมเข้ม ผิวสีทองแดง ไม่สวมรองเท้า และขี่ม้าโดยไม่มีอาน พอรถบัสเข้าไปในระยะใกล้ๆ ชายหนุ่ม คนขับชะลอความเร็วของรถและบีบแตรทักทาย หนุ่มรูปหล่อพอเป็นพระเอกหนังได้หันมายิ้มแล้วโบกมือให้ จากนั้นก็ควบม้าวิ่งไปเรื่อยๆ บนริมถนน พอพวกสาวๆ ในรถเห็นชายหนุ่มก็ส่งเสียงกรี๊ดกร๊าด โบกไม้โบกมือกันจ้าละหวั่น แข่งกันร้องเรียกหนุ่มหล่อ

ภาพที่ผมเห็นบ่ายวันนั้นเอาไปทำเป็นฉากหนึ่งในภาพยนตร์รักกระจุ๋มกระจิ๋ม มีหนุ่มผมหยักศกเป็นพระเอกได้อย่างแน่นอน และอาจขายดี ทำเงินล้านอีกด้วย

การผจญ (ไร้) ภัย ตะลอนๆ ไปตามที่ต่างๆ ของผมยังมีอีกมาก แต่คงต้องเอาไว้คราวหน้า จะเล่าถึงการ ‘โบกรถ’ และประสบการณ์กับคนขับรถใจดี ผู้มีเรื่องแปลกๆ ให้เห็นและจดจำ

และแน่นอน กลายเป็น ‘เรื่องเล่า’ ในที่นี้

นิติ ภวัครพันธุ์
ศาสตราจารย์ด้านมานุษยวิทยา สถานที่ทำงานสุดท้ายคือคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปัจจุบันเขียนหนังสือด้านสังคม-วัฒนธรรม และผู้คนต่างกลุ่มชาติพันธุ์ ผลงานรวมเล่ม ได้แก่ ชวนถก ชาติและชาติพันธุ์, เรื่องเล่าเมืองไต พลวัตของเมืองชายแดนไทย-พม่า เป็นต้น และเป็นคอลัมนิสต์ให้สื่อออนไลน์

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า