เลี้ยงส่งสาวบ้านนอกเข้ากรุง

ผมเล่าถึงความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องของผมเกี่ยวกับคนนิวซีแลนด์เรื่องการไปโบสถ์และศาสนาคริสต์ ซึ่งในความเป็นจริงนั้นตรงกันข้ามกับสิ่งที่ผมเข้าใจตอนเป็นเด็ก และเล่าเรื่องการดื่มเบียร์ การไปผับ และความหมายของผับต่อชีวิตทางสังคมของคนคีวี และประสบการณ์ของผมในผับบางแห่งในตอนที่แล้ว (เข้าโบสถ์ศักดิ์สิทธิ์ หรือจะไปผับเก่าแก่) คราวนี้จะเล่าเรื่องผับกับชีวิตของคนคีวีในเมือง 2-3 แห่ง และผู้คนต่างๆ ในผับ

อย่างที่เล่าไปแล้วว่า ผู้คนที่ผมเจอในผับส่วนใหญ่เป็นมิตร โอภาปราศรัย พอเห็นคนแปลกหน้าก็มักทักทายชวนคุย ถ้าผมถามอะไรก็มักตอบด้วยดี ถามอะไรประหลาดๆ ก็มิได้ถือสาหาความ อาจคิดว่าเป็นเรื่องตลกด้วยซ้ำ หนึ่งในประสบการณ์ในผับที่ผมไม่เคยลืมคือเหตุการณ์ที่จะเล่าต่อไปนี้ เพราะนอกจากผมจะได้รับการต้อนรับด้วยไมตรีจิตแล้ว ยังได้เห็นว่าคนท้องถิ่นในเมืองเล็กๆ มีสัมพันธภาพกันอย่างไร สนิทสนมเป็นกันเองขนาดไหน และมีความรักใคร่ฉันมิตรสหายกันเช่นไร

ปิดผับเลี้ยงใหญ่

ที่เขียนพาดหัวข้างบนนี้ท่านผู้อ่านบางคนอาจคิดว่าเว่อร์มาก – รวยขนาดไหนจึงได้ปิดผับเลี้ยงใหญ่กัน! อันที่จริง เจ้ามือที่มีกันหลายคนก็มิได้ร่ำรวย แต่ผมคิดว่านี่ดูเหมือนความเป็นจริงในคืนนั้น ในผับแห่งนั้น คืนที่ผมเป็นแขกที่ไม่ได้รับเชิญ แต่บังเอิญว่าดันไปอยู่ในผับด้วย เป็นคนแปลกหน้าคนเดียวท่ามกลางแขกเหรื่อที่รู้จักกัน กำลังเลี้ยงส่งเพื่อน และเป็นลูกค้ากลุ่มเดียวในผับ (ถ้าไม่นับผมอีกคน)

เหตุเกิดขึ้นในปี 2532 เมื่อผมได้รับทุนของรัฐบาลนิวซีแลนด์ให้ศึกษาต่อในระดับปริญญาเอก แต่คิดไม่ตกว่าจะศึกษา/ทำวิจัยเรื่องอะไร หลังจากที่ปรึกษากับอาจารย์และเพื่อนคีวีบางคน ผมก็เริ่มการค้นหาชุมชนคนคีวีที่จะทำวิจัยจนไปเจอเมืองโฮคิทิคา (Hokitika)[1] ผมเคยไปที่นั่นหนสองหนแล้ว เพราะเพื่อนคนไทยชวนไปเที่ยว จึงไม่ใช่เมืองที่ผมไม่รู้จักเลย แต่การไปในครั้งนี้แตกต่างจากครั้งก่อนๆ เพราะครั้งนี้ผมไม่ใช่นักท่องเที่ยวและจุดประสงค์ก็ยังไม่ชัดเจนนัก

photo: Saou-Wen Su

ด้วยความที่ฝนแทบจะไม่หยุดตกและท้องฟ้าที่มืดครึ้ม ท่านผู้อ่านคงจะไม่แปลกใจนักหากผมจะบอกว่าผับดูเป็นสถานที่ที่อุ่นและแห้งที่สุด ดูคึกคักเพราะมีผู้คน ช่วยให้หายเหงาหายเซ็งไปได้บ้าง พอกินมื้อเย็นแบบง่ายๆ เสร็จ ผมจึงเดินไปที่ผับที่อยู่ใกล้ที่พัก ข้างในผับมีชายหญิงกลุ่มหนึ่งนั่งดื่มอยู่ที่โต๊ะตัวใหญ่ที่ตั้งอยู่เกือบจะตรงกลางผับ นอกจากโต๊ะตัวนี้ไม่มีลูกค้าคนอื่นเลย ทำให้รู้สึกว่าผับนั้นกว้างขวางมากแต่ไม่เงียบเหงา เพราะเสียงพูดคุยสลับเสียงหัวเราะของหญิงชายกลุ่มนั้นที่ฟังครึกครื้นสนุกสนานกันมาก 

ผมเข้าไปสั่งเบียร์หนึ่งจั๊กกับชายที่ยืนอยู่ที่บาร์ พอได้เบียร์ผมก็ยืนดื่มที่บาร์ มีผมคนเดียว ชายผู้เสิร์ฟเบียร์เห็นคนแปลกหน้าอย่างผมก็ทักทายตามด้วยคำถาม ผมก็สนทนาด้วย ครู่หนึ่งมีเสียงสั่งอาหารจากโต๊ะตัวนั้น ชายคนเสิร์ฟก็เดินเข้าไปข้างใน ครู่หนึ่งก็ออกมาพร้อมกับจานแบนใบใหญ่ที่มีชิปส์ (มันฝรั่งทอดชนิดแท่งที่คนอเมริกันเรียกว่าเฟรนช์ฟรายส์) และไส้กรอกแท่งใหญ่เต็มจาน แล้วแกก็วางไว้บนเคาน์เตอร์บาร์ตรงหน้าผม ผมงงๆ บอกแกว่าไม่ได้สั่ง แกตอบว่าโต๊ะโน้นสั่งให้ ไม่ต้องจ่ายเงิน แล้วบุ้ยหน้าไปทางโต๊ะตัวใหญ่ และพูดต่ออีกว่าเขากำลังเลี้ยงส่งเพื่อน ผมจึงหันหน้าไปยิ้มให้เจ้าภาพ ยกเหยือกเบียร์ในมือขึ้นแล้วกล่าวขอบคุณเสียงดัง ชายร่างใหญ่ในกลุ่มนั้นก็ยิ้มรับและโบกมือทักทาย ชี้ไปที่หญิงสาวคนหนึ่งที่นั่งอยู่ด้วย พร้อมกับพูดว่า

“เธอกำลังจะไปเมืองใหญ่” (She’s going to the big city.) สาวผู้ที่ถูกพาดพิงถึงก็ยิ้มแบบเขินอาย แล้วการหยอกล้อและเสียงหัวเราะก็ดำเนินต่อไป

ด้วยความสงสัยอยากรู้ ผมจึงถือเหยือกเบียร์ จานใส่ชิปส์และไส้กรอก เดินไปขอนั่งร่วมวงที่โต๊ะ คนในวงรีบขยับเพื่อให้ผมนั่งด้วย แล้วบทสนทนาก็เริ่มขึ้น

คนกลุ่มนี้เป็นเพื่อนที่สนิทสนมกันมาก ทั้งหมดเป็นคนเมืองนี้ บางคนก็ทำงานในที่เดียวกัน คืนนี้มาเลี้ยงส่งเพื่อนหญิงที่ได้งานใหม่ที่เมืองไครสต์เชิร์ช ซึ่งอยู่ทางฝั่งตะวันออก ห่างออกไปราว 200 กว่ากิโลเมตร สำหรับคนในเมืองเล็กๆ ไครสต์เชิร์ชดูเป็น ‘เมืองใหญ่’ ที่น่าตื่นเต้น เป็นที่ที่มีงานจำนวนมากให้เลือกทำ มีโอกาสใหม่ๆ ในชีวิต มีความวิจิตรและแสงสีของเมืองใหญ่ที่คนในเมืองเล็กๆ ได้แต่จินตนาการถึง ด้วยเหตุนี้ การที่เพื่อนสาวได้งานใหม่ที่โน่นจึงเป็นเรื่องที่น่ายินดีอย่างยิ่ง ทุกคน แม้แต่ชายที่บาร์ (ซึ่งผมไม่รู้ว่าเป็นเจ้าของผับหรือลูกจ้าง) จึงดีใจกันมาก จนต้องจัดงานฉลองครั้งสำคัญเพื่อเลี้ยงส่งหญิงสาวผู้มีความสามารถและประสบความสำเร็จในการได้งานใหม่

(ไครสต์เชิร์ชในปีนั้นมีประชากรราว 300,000 กว่าคน เมื่อเทียบกับประชากรของโฮคิทิคาที่มีเพียง 3,000 กว่าคน ไม่น่าแปลกใจที่คนในเมืองจะคิด/รู้สึกว่าไครสต์เชิร์ชเป็นเมืองใหญ่ที่น่าตื่นเต้น)

ตอนที่ผมออกจากผับ หนุ่มสาวกลุ่มนั้นยังเฉลิมฉลองกันอยู่ สาวผู้เป็นต้นเหตุของงานเลี้ยงก็ยังนั่งยิ้มน้อยยิ้มใหญ่ด้วยความยินดี และคงรู้สึกตื่นเต้นมากด้วย เพราะนี่คงเป็นครั้งแรกที่เธอจะไปเมืองใหญ่อย่างไครสต์เชิร์ช (และผมเดาว่าคงมีชาวเมืองโฮคิทิคาไม่มากนักที่ได้ไป) หลังจากคืนนั้นผมไม่เจอคนในกลุ่มนั้นอีกเลย

โรงพยาบาลจิตเวชใหญ่ที่สุด

ทีแรกผมคิดว่าจะเขียนเล่าเรื่องผับเท่านั้น แต่พอคิดทบทวนอีกครั้งก็รู้สึกว่าควรเล่าเรื่องของโฮคิทิคาบ้าง และคนบางคนที่ผมเจอ

ช่วงที่ผมไป ที่นั่นเป็นเมืองเล็กๆ ที่เงียบสงบ แต่ก็มีนักท่องเที่ยวแวะเวียนไปเสมอเพื่อซื้อ ‘กรีนสโตน’ หินหยกชนิดหนึ่งที่มีสีเขียวเข้ม จะเรียกว่าเป็นสินค้ายอดนิยมก็คงได้ และมีสินค้าที่ระลึกชนิดอื่นอีกหลายอย่าง เล่ากันว่าเมืองนี้ก่อตั้งขึ้นเพราะการค้นพบทองคำในบริเวณนี้ในช่วงครึ่งหลังของคริสต์ศตวรรษที่ 19 ผู้คนจากทั่วสารทิศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากออสเตรเลีย ทะลักกันเข้ามา ประมาณกันว่าช่วงที่ขึ้นสูงที่สุดมีประชากรถึง 50,000 คน เพื่อขุดทองด้วยความหวังที่จะร่ำรวย ทว่า หลังจากนั้นไม่นานปริมาณก็ร่อยหรอลง พร้อมๆ กับจำนวนประชากรก็ลดลงอย่างรวดเร็ว ธุรกิจอื่นๆ เข้ามาแทนที่ เช่น การทำไม้ ฟาร์มโคนม และอุตสาหกรรมแดรีฟาร์ม ซึ่งยังคงดำเนินการอยู่และเป็นรายได้สำคัญของเมืองนี้

ป้ายชื่อดั้งเดิมของ Seaview Asylum

แต่เรื่องที่ทำให้ผมแปลกใจ (และเป็นหนึ่งในเหตุผลสำคัญที่ผมสนใจเมืองนี้ และอยากทำวิจัย) คือที่นี่เป็นสถานที่ตั้งของโรงพยาบาลจิตเวชที่มีชื่อว่า ‘Seaview Asylum’ ถ้าแปลเป็นภาษาไทยอาจเรียกว่า ‘โรงพยาบาล (จิตเวช) วิวทะเล’ – ชื่อไพเราะเพราะพริ้ง น่าอยู่น่าพักทีเดียว! – เริ่มเปิดทำการรักษาคนไข้ในปี 1872 เนื่องจากในช่วงทศวรรษ 1860 มีผู้ป่วยทางจิตเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในบริเวณเมืองนี้ (ผมไม่พบคำอธิบายถึงเหตุผลของการเจ็บป่วยและจำนวนคนไข้ที่ขึ้นสูง – ไม่ทราบว่าเกี่ยวข้องกับการค้นพบทองคำและผู้คนจำนวนมากที่อพยพเข้ามาแสวงโชคหรือไม่ แต่จะไม่ประหลาดใจเลยหากทั้งหมดนี้เกี่ยวข้องกัน) คนไข้ส่วนใหญ่คือผู้มีความบกพร่องทางสติปัญญา ผู้ที่มีอาการของจิตเวชผู้สูงอายุ (psychogeriatric conditions) และผู้สูงวัยที่เปราะบาง ปีที่ผมไปอยู่เมืองนี้ โรงพยาบาลเริ่มทยอยปิดตัวลงเพราะมีคนไข้น้อยลง ว่ากันว่าใน ค.ศ. 2009 ซึ่งเป็นปีที่มีการปิดอย่างเป็นทางการ มีคนไข้เหลือเพียง 22 คน

ที่น่าสนใจอีกประการหนึ่งคือ โรงพยาบาลแห่งนี้เคยเป็นนายจ้างรายใหญ่ที่สุดของเมือง เพราะว่าจ้างคนทำงานในด้านต่างๆ เป็นจำนวนมาก และเป็นสถานที่ที่ฝึกฝนพยาบาลด้านจิตเวชจำนวนมากที่สุดของประเทศอีกด้วย

Seaview Asylum, ประมาณปี 1904 ⎮ photo: Muir & Moodie studio, Dunedin

ชายผู้ไม่สบตาคน

ผู้ชายที่จะเล่านี้ ไม่เกี่ยวข้องกับผับหรือโรงพยาบาลวิวทะเล แต่ผมคิดถึงเขาทุกครั้งที่หวนคิดถึงประสบการณ์ที่โฮคิทิคา

วันที่ผมเจอเขาก็เหมือนทุกวัน คือฝนตกแต่เช้า ผมขี้เกียจลุกจากที่นอนจึงนอนเล่นจนเริ่มรู้สึกหิว ลุกมาแต่งตัวแล้วคว้าอาหาร เดินฝ่าฝนไปที่ครัวที่เป็นอาคารไม้แยกต่างหาก[2] พอไปถึงครัวก็เห็นชายวัยกลางคนร่างเล็กผอมคนหนึ่งนั่งอยู่ที่โต๊ะกินข้าว ผมกล่าวคำทักทาย แต่เขาเงียบๆ นั่งก้มหน้า จนผมปิ้งขนมปังและชงชาเสร็จยกไปนั่งกินที่โต๊ะ บทสนทนาก็เริ่มขึ้น (ในความเป็นจริง น่าจะเป็นผมถามเขาตอบ มากกว่า)

เขาอาศัยอยู่ในกระท่อมในป่าที่เป็นอุทยานธรรมชาติของที่นี่ ช่วงนั้นเป็นหน้าหนาว นอกจากอากาศจะหนาวแล้วฝนก็ตกทุกวัน จึงไม่ใช่ฤดูท่องเที่ยว อุทยานฯ ก็ปิด (กระท่อมที่เตรียมไว้สำหรับนักท่องเที่ยว/เดินป่าพักค้างแรมในฤดูร้อนว่างลง เขาจึงเข้าไปพักอาศัยได้ – เขาไม่ได้บอกผม แต่ผมเดาจากคำบอกเล่าของเขา) เขาหากินด้วยการวางกับดับกระต่ายป่าที่มีอยู่นับล้าน แล้วถลกหนังมันขายเลี้ยงชีพ[3] (เขาคงจะกินเนื้อกระต่ายประทังชีวิตด้วย แต่ผมไม่ได้ถาม) อย่างไรก็ตาม การขายหนังกระต่ายคงเป็นรายได้เสริมหรือพิเศษมากกว่า เพราะเขาได้รับเงินสวัสดิการสำหรับคนป่วยจากรัฐบาล เป็นค่าเลี้ยงดูที่เขาได้รับเป็นประจำทุกเดือน

ผมเกรงว่าจะก้าวก่ายชีวิตของเขามากเกินควร จึงไม่ได้ถามว่าเขาป่วยด้วยโรคใดหรือเป็นอะไร จึงได้รับเงินสวัสดิการสำหรับคนป่วย แต่ระหว่างที่สนทนากัน ซึ่งก็นานทีเดียว เขาแทบจะไม่สบตาผมเลย ถ้าไม่ก้มหน้าก็มองไปทางอื่น ไม่ใช่ใบหน้าผม และเขาพูดเสียงค่อยมาก เบาจนเหมือนกำลังพึมพำกับตัวเอง – ผมอยากจะเดาว่า ถ้าเขาไม่ใช่คนขี้อายมาก ก็คงมีความยุ่งยาก/ซับซ้อนในการสื่อสารกับผู้อื่น และคงไม่ได้สนใจไยดีในตัวเองนัก เพราะเสื้อผ้าที่สวมใส่อยู่นอกจากจะเก่ามาก ยังดูเหมือนไม่ได้โดนน้ำโดนผงซักฟอกมานานนับเดือน แต่เขาก็ไม่ได้หยาบคายกับผม ทั้งๆ ที่ผมยิงคำถามไปที่เขาหลายคำถามก็ตาม

ผมไม่ได้กลับไปที่เมืองโฮคิทิคาอีกเลย ก่อนที่จะเขียนเล่าเรื่องนี้จึงเข้าไปค้นในอินเทอร์เน็ตเพื่ออัพเดตข้อมูล เท่าที่ปรากฏในเว็บไซต์บางแห่ง เมืองที่ผมรู้จักนี้ได้เปลี่ยนแปลงไปมากทีเดียว กลายเป็นภาพของเมืองที่เน้นการท่องเที่ยวธรรมชาติ แม่น้ำและป่าเขาอันงดงาม นี่คือจุดดึงดูดนักท่องเที่ยว (ซึ่งก็ไม่น่าแปลกใจ เพราะนิวซีแลนด์เน้นธรรมชาติอันสวยงามเพื่อการท่องเที่ยว ไม่แตกต่างจากภาพของเบย์ออฟไอส์แลนด์ที่ผมเขียนถึงในตอนที่แล้ว) ไม่ใช่ภาพเมืองเล็กๆ ที่จำหน่ายสินค้าที่ระลึก และเงียบสงบแบบบ้านนอกอีกแล้ว[4]

photo: Stewart Nimmo / Development West Coast

ผับมีชนชั้น

จากประสบการณ์ของผม ผับในนิวซีแลนด์มีบางสิ่งบางอย่างที่น่าสนใจมาก เพราะในด้านหนึ่งอาจกล่าวได้ว่าผับโดยทั่วไปมีลักษณะเฉพาะบางอย่างร่วมกัน เช่น เบียร์ที่คนทั่วไปชอบดื่ม อาหารที่ขาย/เสิร์ฟ ความคุ้นเคยระหว่างคนเสิร์ฟ/เจ้าของผับกับลูกค้าประจำ หรือในหมู่ลูกค้าประจำกันเอง แต่ในอีกด้านหนึ่งผับแต่ละแห่ง ในแต่ละเมือง ก็มี – หรือพยายามสร้าง – เอกลักษณ์ของตัวเอง ซึ่งอาจเกี่ยวข้องกับประวัติ/ความเป็นมาของแต่ละแห่ง หรือสภาพแวดล้อม (เช่น อยู่ในย่านอะไร คนส่วนใหญ่คือใคร หรือประกอบอาชีพอะไร ฯลฯ) หรือความเก่าแก่ และเหตุผลอื่นๆ

อย่างไรก็ตาม เหตุผลสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้ผับมีลักษณะของตัวเองคือลูกค้า เช่น ถ้าลูกค้าส่วนใหญ่เป็นนักศึกษา ผับจะมีลักษณะที่เกี่ยวข้องกับมหาวิทยาลัย บรรยากาศในผับก็จะมีกลิ่นอายของคนหนุ่มสาว เรื่องราวที่เกี่ยวกับคนกลุ่มนี้ (ตัวอย่างคือผับกัปตันคุกที่กล่าวถึงในตอนที่แล้ว) นอกจากนี้ ผับแต่ละแห่งในเมืองใหญ่ก็อาจมีลักษณะเฉพาะของตัวเองมากกว่าผับในเมืองเล็ก เพราะลูกค้าในเมืองใหญ่มีความแตกต่างหลากหลายมากกว่าลูกค้าในเมืองเล็กนั่นเอง

เท่าที่สังเกต ผับจำนวนมากมีลักษณะที่ค่อนข้าง ‘local’ คือเป็นผับที่ผู้อยู่อาศัยในบริเวณนั้นไปกันเป็นประจำ อาจเรียกได้ว่าเป็นผับในชุมชน หรือใน ‘neighbourhood’ (ที่อาจแปลเป็นไทยได้ว่า ‘ละแวกเพื่อนบ้าน’ แต่ฟังดูแปลกๆ) ก็ได้ หรือเป็นผับในย่านที่มีธุรกิจการค้าเฉพาะบางประเภท หรือเป็นผับที่ลูกค้าเป็นคนในอาชีพเดียวกัน หรือจากที่ทำงานเดียวกัน หรืออาชีพที่เกี่ยวข้องกัน ไปพบปะสังสรรค์กัน ลูกค้าส่วนใหญ่ของผับประเภทนี้จึงเป็นลูกค้าประจำที่รู้จักมักคุ้นกัน หรืออาจเป็นเพื่อนกันในลักษณะใดลักษณะหนึ่งด้วยซ้ำ

Bar of the Red Lion Hotel, Hokitika, 1981

ผมเคยทำงานในกรุงเวลลิงตันอยู่ปีกว่า และเคยไปผับหลายแห่งกับเพื่อนร่วมงานอีกสองคน ส่วนใหญ่พวกเราจะไปผับในย่านใจกลางเมือง เพราะสะดวกและมีให้เลือกหลายแห่ง แต่ผับเหล่านี้จะมีลักษณะบางอย่างที่คล้ายกัน เช่น ลูกค้าส่วนใหญ่เป็นคนทำงานบริษัทหรือนักธุรกิจ (การใส่สูทผูกเนคไทจึงเป็นภาพปกติ) คนที่ทำงานในหน่วยงานราชการอย่างพวกเราสามคนก็มีไม่น้อย เบียร์ก็มักขายเป็นแก้วที่เรียกว่าไพนต์ (pint) ไม่ค่อยเห็นใครซื้อเป็นจั๊ก นอกจากมีเบียร์ให้เลือกหลายชนิดแล้ว ยังมีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ประเภทอื่นสำหรับลูกค้าที่ไม่ชอบเบียร์ จึงมีลูกค้าผู้หญิง (ซึ่งก็คือคนที่ทำงานในย่านนั้น) มากมายทีเดียว มีบรรยากาศที่ดูหรูหราและแสงสีของเมืองหลวง

ผมอยากเรียกผับแบบนี้เล่นๆ ว่า ‘ผับชนชั้นกลาง’ ทว่า มีผับอีกแบบหนึ่งที่ควรเรียกว่า ‘ผับชนชั้นกรรมาชีพ’

ตอนที่ทำงานในเมืองหลวง ผมอาศัยอยู่แถบชานเมืองทางเหนือ ห่างจากเมืองราว 8-9 กิโลเมตร เช้าเย็นต้องใช้บริการรถเมล์ที่แล่นเข้าไปจอดใกล้กับสถานีรถไฟ ซึ่งเป็นศูนย์กลางการขนส่งของเมือง แล้วเดินผ่านบริเวณท่าเรือไปที่ทำงาน ใกล้กับท่าเรือมีผับแห่งหนึ่ง เป็นอาคารไม้ที่ดูธรรมดาๆ ไม่มีอะไรโดดเด่น แต่เพราะอะไรไม่รู้ ผมรู้สึกสนใจในผับนี้มาก ทั้งๆ ที่ไม่เคยเข้าไปข้างในเลย

ด้วยความอยากรู้อยากลอง เย็นวันหนึ่งหลังเลิกงานผมจึงชวนเพื่อนร่วมงานทั้งสองไปผับแห่งนี้ด้วยกัน ทั้งสองคนไม่เคยไปจึงอยากลองดู เมื่อถึงที่หมายพอเปิดประตูผับเข้าไป สิ่งแรกที่ผมเจอคือควันบุหรี่หนาสีเทาปะทะใบหน้า ทำเอาผมแสบตาไปพักหนึ่ง (สมัยนั้นการสูบบุหรี่ในผับยังไม่ถูกแบน) ลูกค้าในผับแน่นจนเกือบยืนเบียดกัน ผมจึงถามเพื่อนว่าจะอยู่หรือจะถอย ทั้งคู่พูดทำนองว่าไหนๆ ก็มาถึงแล้วก็ลองดูเสียหน่อย พวกเราสามคนจึงเขยิบๆ ฝ่าฝูงชนไปที่บาร์ สั่งเบียร์หนึ่งจั๊กและแก้วสามใบ ผมหันไปดูรอบๆ ก็เห็นคนอื่นดื่มเบียร์เป็นจั๊ก ไม่ใช่ไพนต์อย่างผับในเมือง ลูกค้าส่วนใหญ่น่าจะเป็นคนงาน ถ้าไมใช่แรงงานท่าเรือก็คงทำงานในโรงงาน 2-3 แห่งที่อยู่ใกล้ๆ เพราะเสื้อผ้าที่ใส่อยู่เป็นชุดคนงานที่เสื้อและกางเกงติดกัน และถ้าผมจำไม่ผิด ลูกค้าที่เป็นผู้หญิงแทบจะไม่มีเลย?!

คนในผับคงคุ้นหน้ากันหมด (ผมจะไม่แปลกใจด้วยซ้ำถ้าทุกคนรู้จักกัน เพราะเป็นลูกค้าประจำและทำงานอยู่แถวนั้น) พอเห็นชายแปลกหน้าสามคน (ที่มีหน้าตี๋หนึ่งคน) ก็เริ่มทักทายซักถามด้วยความสงสัย แต่ด้วยน้ำเสียงที่เป็นมิตร หลังจากนั้นไม่นานบทสนทนาก็เริ่มมีมากขึ้นสลับกับเสียงหัวเราะ บรรยากาศในผับจึงสนุกสนาน แม้ว่าจะอบอวลด้วยควันบุหรี่และเสียงพูดคุยที่ดังอื้ออึง เพื่อนผมทั้งสองคนเพลิดเพลินกับการคุยจนเกือบลืมเวลากลับบ้าน

สำหรับผม มันเป็นประสบการณ์ที่ต่างจากการไปผับอื่นๆ แต่ผมและเพื่อนทั้งสองก็ไม่ได้กลับไปที่นั่นอีกเลย เพราะสู้ควันบุหรี่และการแออัดของผู้คนไม่ไหว

photo: Fairfax Auckland Archive

ต้มเบียร์เอง

มีคนคีวีมากมายที่ไม่ได้ไปผับเป็นประจำ อาจเพราะไม่ใช่นักดื่ม หรือด้วยเหตุผลอื่น และบางคนก็ทำเบียร์ไว้ดื่มเอง

หนึ่งในอาจารย์ที่สอนในภาควิชาที่ผมเรียนอยู่ตอนนั้นคือ ‘อาจารย์ดอน’ ชายอเมริกันร่างสูงใหญ่ที่มีหนวดเคราเฟิ้มแต่นิสัยใจคอดีเยี่ยม พูดภาษาอีสานและไทยกลางได้อย่างชัดถ้อยชัดคำ เพราะร่ำเรียนมาและเคยทำงานขุดค้นทางโบราณคดีแถวภาคอีสานอยู่นาน 2-3 ปี เป็นคนใจดีที่นักเรียนไทยทุกคนรู้จักรักใคร่ ผมไม่ได้เรียนหนังสือกับแก แต่ก็พูดคุยกันเป็นประจำ แกเกิดและโตในเมืองชิคาโก พ่อแม่ยากจน แต่คงเป็นคนเรียนหนังสือเก่งจึงได้ทุนเรียนมหาวิทยาลัยตั้งแต่ ป.ตรี จนจบ ป.เอก แต่แกไม่ชอบชีวิตในสหรัฐอเมริกา พอภาควิชาประกาศรับอาจารย์ใหม่แกจึงสมัคร ได้เข้าทำงานและอยู่ในนิวซีแลนด์ตั้งแต่นั้นมา

อาจารย์ดอนเป็นคนสูบบุหรี่จัดและชอบดื่มเบียร์ ทำเบียร์ดื่มเอง เพราะไม่ชอบรสชาติเบียร์ทั่วไปที่ขายกัน พอแกรู้ว่าผมก็ดื่มเบียร์จึงชวนไปกินอาหารเย็นที่บ้าน ภรรยาของแกเป็นหญิงลูกครึ่งจีน-ฮาวายที่หน้าตาสะสวย ทั้งคู่มีลูกชายคนหนึ่ง ก่อนกินอาหารแกก็เสิร์ฟเบียร์ที่ทำเองให้ผม เบียร์บรรจุอยู่ในขวดน้ำอัดลมพลาสติกขนาด 2 ลิตร ไม่ได้แช่เย็น และน่าจะมีอยู่หลายสิบขวด เป็นเบียร์เอล (ale) ที่สีค่อนข้างขุ่น เพราะแกไม่ได้กรองเบียร์ (บอกผมว่าเสียเวลา) แต่รสชาติดี ดื่มอร่อย แล้วแกก็ให้ผมดูอุปกรณ์ทำเบียร์ของแก ทั้งหม้อหมักและข้าวของอื่นๆ

มีบางคนบอกผมว่าการทำเบียร์ดื่มเองอาจไม่คุ้มค่าเงิน เพราะต้องซื้ออุปกรณ์ที่จำเป็นหลายอย่าง ราคาก็แพง กว่าจะคุ้มกับเงินที่ลงทุนก็ต้องทำเบียร์ไปนานทีเดียว แต่สำหรับอาจารย์ดอน ผมแน่ใจว่าแกคงทำเบียร์มานาน และได้เบียร์มากมายเกินมูลค่าเงินที่ลงทุนในตอนแรกไปแล้ว

ข้อดีอีกประการหนึ่งคือในนิวซีแลนด์ ใครจะทำเบียร์ดื่มเองก็ได้ ไม่ผิดกฎหมาย แต่ถ้าจะขายก็ต้องขอใบอนุญาตและเสียภาษี นอกจากนี้ อุตสาหกรรมเบียร์ไม่มีการผูกขาด จึงมีบริษัทที่ผลิตและจำหน่ายเบียร์หลายแห่ง ทำให้ผู้ดื่ม/ผู้บริโภคมีทางเลือกค่อนข้างมาก และที่ดียิ่งขึ้นคือในปัจจุบันมีผับที่ขาย/เสิร์ฟเบียร์คราฟท์ที่มีหลากหลายชนิดและรสชาติ (ซึ่งในสมัยที่ผมอยู่ที่นั่นยังไม่มี)

เป็นความศิวิไลซ์ที่ผมหวังว่าวันหนึ่งจะเกิดขึ้นในสังคมไทย

จากเรื่องผับและเบียร์ก็ควรเป็นเรื่องอาหาร ซึ่งผมจะเล่าในตอนหน้า

เชิงอรรถ

[1] หลังจากที่จบการศึกษา ป.โท จากมหาวิทยาลัยโอทาโก้ ผมทำงานเป็นนักวิจัยในหน่วยงานของรัฐบาลในเวลลิงตัน เมืองหลวงของประเทศ (หนึ่งในเหตุผลที่ได้งานเพราะตอนนั้นผมมีสถานะเป็น Permanent Resident ของนิวซีแลนด์ – เรื่องยาวเล็กน้อย ผมจะเขียนเล่าเมื่อมีโอกาส) เป็นงานที่น่าสนใจ รายได้ดีทีเดียว แต่ทำงานอยู่ปีกว่าผมก็รู้สึกเบื่อ อยากกลับไปเรียนหนังสือ จึงติดต่ออาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ ป.โท แกสนับสนุนให้กลับไปเรียนและบอกให้สมัครทุนของรัฐบาล ผมก็ปฏิบัติตามและได้รับทุนเล่าเรียน ป.เอก จึงเก็บสมบัติที่มีไม่กี่ชิ้นขึ้นเครื่องบินกลับดันนิดิน เมืองที่ผมคุ้นเคย มีเพื่อนและคนรู้จักมากทีเดียว

แต่หนึ่งในปัญหาใหญ่ของการเรียน ป.เอก คือหัวข้อวิทยานิพนธ์ ซึ่งผมยังไม่มีไอเดียเลย อาจารย์ที่ปรึกษาจึงแนะนำให้ศึกษาคนคีวี โดยให้เหตุผลว่าปกติเป็นนักมานุษยวิทยาผิวขาวที่ไปศึกษาสังคมคนอื่น แทบไม่มีคนที่ไม่ใช่คนผิวขาวอย่างผมศึกษาคนผิวขาวเลย คงน่าสนใจมากว่าการศึกษาของผมจะออกมาอย่างไร – ฟังดูท้าทายดี ผมหลงเชื่ออาจารย์ – ปัญหาต่อไปคือจะไปหาสังคมคีวีที่ว่านี้ที่ไหน?

มีเพื่อนคนคีวีแนะนำว่า ทางฝั่งตะวันตกของเกาะใต้มีเมืองเล็กๆ หลายเมืองที่อยู่ห่างไกลจากที่อื่น ผมจึงเริ่มต้นการค้นหาด้วยการขึ้นรถเมล์ไปตามเมืองต่างๆ ด้านฝั่งตะวันตก ตะลอนๆ อยู่ 2-3 วัน ผมก็ไปถึงเมืองโฮคิทิคา ที่ต้อนรับการมาของผมด้วยฝนที่ตกตลอดทาง และตกติดต่อกันอีกหลายวัน อากาศเต็มไปด้วยละอองน้ำ แม้แต่ในห้องพักในโรงแรมเล็กๆ ที่ผมพัก ถ้ามีธุระต้องออกไปข้างนอก เดินได้ไม่นานนักทั้งรองเท้าและถุงเท้าก็เริ่มเปียก พอเข้าห้องพักผมต้องรีบถอดถุงเท้าไปแขวนไว้ใกล้ๆ ฮีตเตอร์เพื่อตากให้แห้ง ถ้าจำไม่ผิดผมไม่ค่อยได้ปิดฮีตเตอร์บ่อยนัก เพราะต้อง ‘ปิ้ง’ ถุงเท้าให้แห้ง!

[2] โรงแรมนี้เป็นที่พักราคาถูก คนพักต้องใช้ครัวและห้องน้ำร่วมกับคนอื่น ห้องพักที่มีห้องน้ำในตัวนั้นมีหลายห้อง แต่ทุนเล่าเรียนที่ผมได้รับไม่อนุญาตให้มีชีวิตฟุ่มเฟือย อีกทั้งผมก็เคยชินกับห้องพักที่ต้องแชร์ครัว ห้องน้ำ – แรกๆ ก็รู้สึกแปลกๆ พอพักบ่อยครั้งขึ้นก็เริ่มคุ้นเคย ไม่รู้สึกลำบากลำบน นอกจากนี้ ในครัวก็มีอุปกรณ์ทำอาหารที่จำเป็นทุกอย่างเตรียมไว้สำหรับผู้เข้าพัก แม้แต่กาน้ำชาก็มี ผมจึงไม่ต้องแบกสัมภาระเหล่านี้ไปด้วย

[3] กระต่ายไม่ใช่สัตว์พื้นเมืองของนิวซีแลนด์ แต่เป็นสัตว์เลี้ยงที่คนอังกฤษนำเข้ามาสำหรับการล่าสัตว์ เกมของผู้มีอันจะกินที่นิยมกันมากในศตวรรษที่ 19 แล้วกระต่ายก็กลายเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศ เพราะมันขยายพันธุ์ได้อย่างรวดเร็ว ล่าเท่าไรก็ไม่หมด ไม่สูญพันธุ์ รัฐบาลจึงอนุญาตให้คนทั่วไปล่ากระต่ายได้

[4] ดูตัวอย่าง เช่น 100% Pure New Zealand, “Hokitika”, https://www.newzealand.com/int/hokitika/

นิติ ภวัครพันธุ์
ศาสตราจารย์ด้านมานุษยวิทยา สถานที่ทำงานสุดท้ายคือคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปัจจุบันเขียนหนังสือด้านสังคม-วัฒนธรรม และผู้คนต่างกลุ่มชาติพันธุ์ ผลงานรวมเล่ม ได้แก่ ชวนถก ชาติและชาติพันธุ์, เรื่องเล่าเมืองไต พลวัตของเมืองชายแดนไทย-พม่า เป็นต้น และเป็นคอลัมนิสต์ให้สื่อออนไลน์

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า