เข้าโบสถ์ศักดิ์สิทธิ์ หรือจะไปผับเก่าแก่

ตอนที่แล้วผมเล่าถึงประสบการณ์ในวัยเด็กที่ทำให้ผมชอบเดินทาง เริ่มจากการที่เตี่ยพาขึ้นรถไฟไปอยุธยาและลพบุรี การนั่งรถเมล์เที่ยวคนเดียวในเมืองหลวง พอเข้ามหาวิทยาลัยผมเดินทางบ่อยขึ้นเพราะเกี่ยวข้องกับการศึกษา จบแล้วทำงานก็เป็นการเดินทางที่เกี่ยวข้องกับงาน ไปจบที่การไปเรียนต่อที่ประเทศนิวซีแลนด์ ซึ่งเป็นการเดินทางออกนอกประเทศครั้งแรกของผม 

ผมใช้ชีวิตอยู่ที่นั่นนานหลายปี ทั้งเรียนหนังสือและทำงาน จนบางครั้งผมรู้สึกว่าเป็น ‘บ้านหลังที่สอง’ ที่ที่ผมพบเจอผู้คนหลายภาษาหลากภูมิหลัง จากวัฒนธรรมต่างๆ และได้เรียนรู้สิ่งต่างๆ มากมาย แต่บ่อยครั้งที่การเรียนรู้เหล่านี้เกิดขึ้นจากคำถามแห่งความเขลา ความไม่รู้อีโหน่อีเหน่เกี่ยวกับสังคมตะวันตก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สังคมนิวซีแลนด์

และกลายเป็นความทรงจำที่มีเรื่องเล่าชวนขบขัน

เขาคงไปโบสถ์กัน?!

หลังจากอยู่ในเมืองดันนิดินได้พักใหญ่ ผมเริ่มรู้สึกว่าเช้าวันอาทิตย์นั้นเงียบมาก เงียบจนแทบจะไม่เห็นคนเดินถนนกันเลย ผมเดาว่าผู้คนทั้งหลายคงไปโบสถ์กันเพราะเป็นชาวคริสต์ ความเข้าใจของผมอาจไม่ต่างจากคนไทยอีกมากมายที่คิดว่าฝรั่งนับถือศาสนาคริสต์ เช้าวันอาทิตย์เขาพากันไปโบสถ์เพื่อสวดมนต์และทำพิธีทางศาสนา ความเข้าใจของผมในเรื่องนี้ส่วนหนึ่งอาจมาจากอิทธิพลของภาพยนตร์อเมริกันที่ดูตั้งแต่วัยเด็ก ซึ่งมักมีฉากคนไปโบสถ์ในวันอาทิตย์

ถ้าความทรงจำของผมไม่คลาดเคลื่อน หนึ่งในภาพยนตร์ที่มักพาดพิงถึงการไปโบสถ์คือเรื่อง Leave It To Beaver ที่มีชื่อภาษาไทยว่า หนูน้อยบีเวอร์ เป็นซีรีส์ทีวีซิทคอมที่โด่งดังมากในสหรัฐอเมริการะหว่างปี 1957-1963 (และเป็นที่นิยมในบ้านเราในระยะเวลาใกล้เคียงกัน) เนื้อเรื่องเกี่ยวกับชีวิตครอบครัวชนชั้นกลางอเมริกันที่ชีวิตคู่และการแต่งงานมีความสุข พ่อมีอาชีพการงานที่ดี ประสบความสำเร็จ แม่ผู้ดูแลครอบครัวด้วยความรัก อ่อนโยน ใจดี มีลูกชายวัยรุ่นสองคน บีเวอร์เป็นลูกชายคนเล็ก เป็นภาพของชีวิตที่สงบสุขและราบรื่น ปัญหาทั้งหลายทั้งปวงแก้ไขได้ด้วยการมีพ่อแม่ที่ดีและลูกเต้าที่เชื่อฟังพ่อแม่ และจะขาดเสียไม่ได้คือทุกคนไปโบสถ์ทุกวันอาทิตย์[1]

เพราะไม่รู้ตัวว่าถูกซีรีส์อเมริกันครอบงำ ผมจึงมีจินตนาการว่าคนนิวซีแลนด์ หรือคีวี คงเหมือนคนอเมริกัน คือไปโบสถ์ในเช้าวันอาทิตย์ จนกระทั่งครั้งหนึ่งในวงสนทนากึ่งวงเบียร์กับเพื่อนคีวีในเย็นวันศุกร์ เมื่อผมพาดพิงถึงเรื่องการไปโบสถ์ในวันอาทิตย์ ทำเอามิตรสหายร่วมวงสนทนางวยงงไปครู่หนึ่ง แล้วตามมาด้วยเสียงหัวเราะอันครื้นเครงที่ปนความประหลาดใจกับจินตนาการของหนุ่มไทยหน้าตี๋ผู้ไม่รู้ประสีประสา

วันอาทิตย์เป็นวันที่เงียบมากเพราะชาวเมืองทั้งหลาย – เพื่อนคีวีอธิบาย – ถ้าไม่เมาค้างและยังหลับอยู่ ก็เพราะขี้เกียจ อยากนอนพักผ่อน คนที่ทำงานเช้าวันอาทิตย์ เช่น ตัดหญ้า ทำสวน ซ่อมแซมบ้าน หรืองานบ้านต่างๆ ต้องเป็นคนที่ขยันมาก หรือไม่มีทางเลือกอย่างอื่น เพราะไม่ช้าก็เร็ว งานที่คั่งค้างอยู่ก็ต้องทำให้เสร็จ – ว่างั้นเถอะ

ชีวิตประจำวันของคนนิวซีแลนด์ส่วนใหญ่ไม่ค่อยน่าตื่นเต้น ออกจะเงียบสงบด้วยซ้ำ ดันนิดินก็เป็นเมืองที่สงบเงียบมาก แถวแฟลตที่ผมอยู่ ซึ่งใกล้กับมหาวิทยาลัย บางครั้งเงียบจนน่าแปลกใจ ถนนเล็กๆ ที่ผ่านหน้าแฟลตบางวันไม่มีรถยนต์แล่นผ่านเลย คนที่เดินผ่านไปมามีน้อย 

วันที่ดูคึกคักผิดปกติคือวันศุกร์ ตั้งแต่ช่วงบ่ายแก่ๆ เมื่อนักศึกษาที่เดินผ่านส่งเสียงเฮฮา หยอกเย้ากัน หรือหัวเราะอย่างสนุกสนาน เพราะเป็นวันที่ทุกคนไปผับหรือแฟลตของมิตรสหายเพื่อดื่มเบียร์ พบปะสังสรรค์ หาความรื่นเริง ผับเกือบทุกแห่งจะมี ‘Happy Hours’ ช่วงเวลาแห่งความสุขด้วยเบียร์ลดราคาจนถึงค่ำๆ เมื่อทุกคนเริ่มมีอาการ ‘ดื่มเบียร์จนติดลม’ หยุดดื่มไม่ได้จนกระทั่งผับปิดในเวลา 5 ทุ่ม ถนนหน้าแฟลตของผมก็จะอื้ออึงเอิกเกริกอีกครั้งด้วยเสียงคนเมา แทรกด้วยเสียงคนอาเจียน หรือร้องเพลงด้วยโทนเสียงที่ยากจะทนทานต่อโสตประสาท (แต่ชาวเมืองดูมีความอดทนอดกลั้นอย่างน่าอัศจรรย์!) เย็นวันเสาร์อาจมีนักศึกษาปาร์ตี้กันในแฟลตที่อาศัย แต่ก็ไม่มากเหมือนคืนวันศุกร์ คนที่ไปผับก็มีไม่มากเช่นกัน ส่วนวันอาทิตย์เป็นวันที่ชาวเมืองส่วนใหญ่พักผ่อน ไม่ค่อยมีใครไปผับ แต่ผับก็ไม่เคยปิด

ไม่ยินดียินร้ายกับศาสนา

ฟังเพื่อนคีวีอธิบาย ผมเริ่มเข้าใจเรื่องราวต่างๆ มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความสำคัญเชิงสังคมของผับกับคนนิวซีแลนด์ ที่ว่าผับไม่ได้เป็นเพียงสถานที่สำหรับการสรวลเสเฮฮาและการดื่มสุราเมรัย หากมีความหมายหลายอย่าง หรือเรื่องคนนิวซีแลนด์ส่วนใหญ่มิได้นับถือศาสนาคริสต์ – จากประสบการณ์ส่วนตัวของผมกับชาวคีวีที่รู้จัก ผมอยากจะพูดว่าพวกเขาไม่มีศาสนาด้วยซ้ำ ไม่ว่าจะเป็นหนุ่มสาวหรือคนในวัยอื่น และทำให้ผมนึกถึงเพื่อนคนหนึ่งกับการแสดงความศรัทธาของเธอต่อศาสนา

แฟลตที่ผมอยู่มีห้องพักสำหรับ 5 คน เพราะอยู่ใกล้มหาวิทยาลัยและค่าเช่าถูกจึงมีคนอยากเข้าไปอยู่เสมอ แต่ส่วนใหญ่เป็นนักศึกษาต่างชาติ จนกระทั่งแองเจล่า สาวคีวีนักศึกษาสาขาวิชาธรณีวิทยา ย้ายเข้ามาเป็นเพื่อนร่วมแฟลต เธอเกิดและโตในดันนิดิน เป็นคนน่ารัก ฉลาดและมีไหวพริบ (ผมจะเล่าเรื่องเกี่ยวกับเพื่อนร่วมแฟลตคนอื่นๆ เมื่อมีโอกาสในภายภาคหน้า)

วันหนึ่งผมกับเธอนั่งคุยกันอยู่ในห้องนั่งเล่นของแฟลต โซฟาที่ผมนั่งหันหน้าไปทางหน้าต่างบานใหญ่ของห้อง ทำให้เห็นคนที่เดินผ่านแฟลต ส่วนแองเจล่านั่งหันหน้ามาทางผมจึงไม่เห็นคนที่เดินไปมา ในระหว่างที่กำลังสนทนากันอยู่ผมเห็นชายหนุ่มสองคนเดินผ่านหน้าต่าง แล้วปรากฏเงาคนสองคนยืนอยู่ที่หน้าประตูบ้านที่เป็นกระจกฝ้าทั้งบาน ตามมาด้วยเสียงเคาะประตู แองเจล่า ซึ่งไม่เห็นว่ามีคนเดินผ่านหน้าต่าง ก็ลุกขึ้นแล้วเดินไปเปิดประตู ชายทั้งสองใส่เสื้อเชิ้ตแขนสั้นสีขาว ผูกเนคไท มีป้ายบนหน้าอกที่หากใครเคยเห็นก็จะเดาได้ว่าทั้งสองเป็นคริสต์ศาสนิกชนนิกายมอร์แมนที่กำลังออกเผยแพร่ศาสนา

หนึ่งในสองคนนั้นก็เอ่ยขึ้นว่า “สวัสดี เราเป็น …” พอแองเจล่าเห็นว่าเป็นใครก็พูดด้วยน้ำเสียงเย็นชา โดยไม่รอให้อีกฝ่ายพูดจบประโยค ว่า “ไม่ ขอบคุณ” แล้วปิดประตูใส่หน้าสองหนุ่ม ผมไม่พูดอะไร ได้แต่นั่งหัวเราะ

หากพูดถึงเรื่องมารยาท ผมเดาว่าคนนิวซีแลนด์คงไม่คิดว่าแองเจล่าหยาบคาย แค่ดูเย็นชาเท่านั้น เพราะผู้คนส่วนใหญ่ไม่ได้แยแสใส่ใจกับศาสนาหรือคนเผยแพร่ศาสนา ส่วนสองหนุ่มมอร์แมนคงเคยชินกับการถูกปฏิเสธแบบนั้น และคงมีน้ำอดน้ำทนพอควรที่ถูกประตูปิดใส่หน้าบ่อยครั้ง

อันที่จริง ผมรู้จักชาวเมืองที่นับถือศาสนาคริสต์หลายคน เช่น คนจีนกวางตุ้งที่อพยพมาอยู่ในเมืองนี้เมื่อหลายทศวรรษมาแล้ว คนกลุ่มนี้ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงวัย ทั้งเพศชายและหญิง ที่ผมรู้จักและสัมภาษณ์ตอนที่ทำวิทยานิพนธ์ ป.โท มีโบสถ์เฉพาะของตนเองที่ไปกันเป็นประจำคือ ‘Dunedin Chinese Presbyterian Church’ ที่มีประวัติความเป็นมาอันยาวนาน อาคารโบสถ์ในปัจจุบันสร้างขึ้นในทศวรรษ 1990 มิใช่ตัวโบสถ์ดั้งเดิมที่อยู่บนถนนอีกสายหนึ่ง 

สามีภรรยาผิวขาวที่ผมรู้จักค่อนข้างดี ทั้งคู่จบ ป.ตรีจากมหาวิทยาลัยโอทาโก้ มีเพื่อนร่วมศรัทธาเป็นสาวซามัว (Samoa) ที่เติบโตในนิวซีแลนด์[2] ทว่า สามีภรรยาคู่นี้อาจเป็นกรณียกเว้น เพราะชาวคีวีผิวขาวโดยทั่วไปไม่เลื่อมใสในศาสนาคริสต์ คนนิวซีแลนด์เชื้อสายจีนที่เป็นหนุ่มสาวหรือวัยกลางคนก็เช่นกัน ไม่ได้มีศรัทธาในศาสนาเหมือนรุ่นพ่อแม่หรือปู่ย่าตายายอีกแล้ว

โบสถ์หลังแรก หรือจะสู้ผับเก่าแก่!

ก่อนที่จะพูดถึงความสัมพันธ์ระหว่างผับกับคนนิวซีแลนด์ มีเรื่องเล่าที่เกี่ยวข้องกับศาสนาคริสต์และความพยายาม (อันล้มเหลว?) ในการชักจูงคนท้องถิ่น ทั้งคนผิวขาวและเมารี ให้เข้ารีตเป็นชาวคริสต์ ปฏิบัติตนตามศาสนา รวมถึงการเข้าโบสถ์สวดมนต์

ทางตอนเหนือของเกาะเหนือในบริเวณที่เรียกว่า ‘Bay of Islands’ เป็นสถานที่ที่ชนพื้นเมืองเมารีเข้ามาอาศัยอยู่เป็นเวลานานแล้ว ด้วยเหตุผลด้านภูมิอากาศที่น่าอยู่ เป็นแหล่งอาหาร มีปลาชุกชุม และผืนดินที่อุดมสมบูรณ์ จนกระทั่งราวต้นศตวรรษที่ 19 คนผิวขาวที่ทำมาหากินด้วยการล่าวาฬ แมวน้ำ และวัตถุดิบอื่นๆ เริ่มอพยพเข้ามาอยู่ในบริเวณนี้ แลกเปลี่ยนสินค้าจำพวกอาวุธ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และสินค้าอื่นๆ กับชาวเมารี ซึ่งนำอาหารและไม้ในป่ามาให้คนผิวขาว ถิ่นฐานของคนผิวขาวแห่งนี้เติบโตกลายเป็น รัสเซลล์ (Russell) เมืองท่าการค้าเล็กๆ แห่งแรกในนิวซีแลนด์

ในยุคแรกของการตั้งเมือง ผู้คนส่วนใหญ่เป็นชายผิวขาว เต็มไปด้วยคนขี้เมาและหญิงโสเภณี เป็นสถานที่ที่คนผิวขาวไม่เคารพในกฎหมายของตน และระเบียบข้อบังคับในสังคมเมารีก็ไม่มีใครแยแส จึงมีฉายาว่า ‘รูนรกแห่งแปซิฟิก’ จนกระทั่งใน ค.ศ. 1834 ทางการอังกฤษได้ขอซื้อที่ดินผืนหนึ่งจากหัวหน้าเผ่าเมารีเพื่อสร้างโบสถ์ในศาสนาคริสต์นิกายแองกลิคัน ภายใต้ข้อตกลงที่ว่าทั้งชาวเมารีและคนผิวขาวมีสิทธิที่จะได้ฝังศพในบริเวณโบสถ์ หนึ่งปีต่อมาก็มีการสร้างโบสถ์ขึ้น มีชื่อว่า Christ Church เป็นโบสถ์แห่งแรกในนิวซีแลนด์ที่ยังคงสภาพสมบูรณ์และใช้การได้จนถึงทุกวันนี้

นอกจากนี้ ในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน มีมิชชันนารีชาวฝรั่งเศสเข้ามาตั้งสำนักงานในเมืองนี้เพื่อใช้เป็นศูนย์กลางของการเผยแผ่ศาสนาในเกาะเหนือ มีการสร้างอาคารขึ้น รู้จักกันในชื่อว่า Pompallier House เพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัยและโรงพิมพ์หนังสือต่างๆ อาคารนี้ได้รับการดูแลรักษาเป็นอย่างดี ปัจจุบันเป็นพิพิธภัณฑ์ภายใต้การบริหารจัดการของ Heritage New Zealand[3]

ห่างจากโบสถ์ไครสต์เชิร์ชไปราว 400 เมตร มีผับชื่อ Duke of Marlborough Hotel เรียกกันสั้นๆ ว่า ดุ๊ก บางคนเชื่อว่าผับนี้มีขึ้นตั้งแต่ปี 1827 จึงเก่าแก่กว่าโบสถ์ไครสต์เชิร์ช และเป็นผับที่เก่าแก่ที่สุดในนิวซีแลนด์อีกด้วย แต่เกิดเพลิงไหม้ตัวอาคารเดิมขึ้นหลายครั้ง ไม่เหลือร่องรอยให้อ้างได้ว่าเป็นผับ/อาคารที่เก่าแก่ที่สุด (ในขณะที่พระเจ้าทรงคุ้มครองโบสถ์ไครสต์เชิร์ชไว้ มิให้ถูกไฟไหม้ จึงตั้งเด่นเป็นสง่านานร้อยกว่าปีแล้ว! – ชาวคริสต์อาจเชื่อเช่นนั้นก็ได้?) ดุ๊กในปัจจุบันเป็นอาคารไม้สองชั้นหลังใหญ่โต เป็นทั้งผับและโรงแรม ตั้งอยู่ริมทะเล เป็นสถานที่ที่สวยงามและมีวิวธรรมชาติให้ชม[4]

Duke of Marlborough Hotel

ผมไปเที่ยวเมืองรัสเซลล์เป็นครั้งแรกในปี 2003 หลังจากเสร็จจากการประชุมทางวิชาการที่เมืองออคแลนด์ รัสเซลล์ในปัจจุบันเป็นเมืองท่องเที่ยวที่เต็มไปด้วยที่พักแบบ Bed & Breakfast ภาพพจน์ของเมืองคนบาปเช่นในอดีตไม่มีหลงเหลืออยู่ กลายเป็นภาพของเมืองชายทะเลที่สวยงาม บวกกับภาพธรรมชาติของป่าเขาลำน้ำที่เป็นจุดดึงดูดนักท่องเที่ยว ที่ว่ากันว่าในแต่ละปีมีคนเข้าไปเที่ยวในบริเวณเบย์ออฟไอส์แลนด์เป็นจำนวนมาก (ซึ่งก็ไม่น่าแปลกใจนัก เพราะนิวซีแลนด์มีธรรมชาติอันงดงามเป็นจุดขายที่สร้างรายได้มหาศาล ทั้งจากนักท่องเที่ยวต่างชาติและภายในประเทศ) 

วันที่ผมไปถึงอากาศดีมาก ท้องฟ้าสีคราม ผมแวะไปที่โบสถ์ไครสต์เชิร์ชก่อน ตัวโบสถ์ที่เป็นอาคารดั้งเดิมหลังเล็กๆ สร้างด้วยไม้ทาสีขาว ล้อมรอบด้วยหลุมฝังศพและต้นไม้ จึงดูร่มรื่น สงบเงียบ สวยแบบเรียบง่ายทั้งตัวอาคารโบสถ์และสภาพแวดล้อม แล้วผมก็เดินไปดูผับแต่ไม่ได้เข้าไปนั่งดื่มเบียร์ข้างใน ซึ่งคึกคักด้วยลูกค้าจำนวนไม่น้อย ผมเดินชมบริเวณรอบๆ และวิวทะเล ลมทะเลค่อนข้างเย็นแต่แดดนั้นอุ่น ทำให้รู้สึกสบาย ไม่แปลกใจที่คนเลือกไปผับมากกว่าไปโบสถ์

ยังนึกเสียดายจนถึงทุกวันนี้ที่ผมไม่ได้เข้าไปนั่งชิลๆ จิบเบียร์ชมวิวทะเล … ไว้คราวหน้าครับ

ผับในชีวิตของคนคีวี

เท่าที่ฟังจากเพื่อนคีวีบวกกับประสบการณ์ของผมเอง ผับ (pub)[5] มิได้เป็นแค่ที่สำหรับดื่มเบียร์หรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ชนิดอื่นเท่านั้น หากมีความหมายหลายประการที่เกี่ยวข้องกับชีวิตทางสังคมของคนนิวซีแลนด์ เช่น เป็นที่นัดพบที่มีนัยเชิงสังคมและเศรษฐกิจ เพราะเป็นที่ที่มิตรสหายนัดเจอกันเพื่อสังสรรค์เฮฮา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเย็นวันศุกร์ ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของการทำงานในสัปดาห์ หรือเป็นที่ที่ครอบครัวมาเจอกัน เช่น วันเสาร์ ซึ่งเป็นวันหยุด เพื่อนฝูงที่มีครอบครัวหรือญาติพี่น้องกันอาจพาลูกหลานไปผับเพื่อกินมื้อกลางวันร่วมกัน เด็กๆ ก็เล่นด้วยกัน ส่วนผู้ใหญ่ก็ดื่มเบียร์คุยกัน หรือช่วงที่ผมทำงานที่เวลลิงตัน เมืองหลวงของประเทศ ผมพบว่าคนทำงานในเมืองนั้นอาจไปพบปะกันหลังเลิกงานในผับที่ตนไปเป็นประจำก่อนกลับบ้าน บางคนก็ไปเจรจาทำธุรกิจหรือคุยธุระอื่นๆ 

ผับเป็นสถานที่สำหรับแสดงความยินดี การเลี้ยงฉลองในความสำเร็จ ทั้งของตัวเอง คนในครอบครัวและมิตรสหาย การเลี้ยงส่งและการอวยพรสำหรับอนาคตอันสดใส (ผมไปเจองานเลี้ยงฉลองประเภทนี้ในผับของเมืองเล็กๆ แห่งหนึ่ง ที่ที่คนส่วนใหญ่รู้จักกัน ผมไปอยู่ตรงนั้นโดยบังเอิญ แต่ก็ได้รับเชิญให้เข้าร่วมการเลี้ยงฉลองด้วย ทั้งๆ ที่ผมเป็นคนแปลกหน้าไม่มีใครรู้จักเลย – จะเล่าเรื่องนี้ในตอนต่อไป)

ผับหลายแห่งมีวงดนตรีแสดงเฉพาะบางคืน เช่น ผับแห่งหนึ่งอยู่ใกล้กับสวนสาธารณะในเมืองดันนิดินมีการแสดงดนตรีและร้องเพลง ชายคนหนึ่งที่ผมรู้จักเพราะทำงานในครัวของโรงพยาบาลของเมืองด้วยกัน แกเล่นกีตาร์และเป็นสมาชิกของวงดนตรีคันทรีมิวสิค ซึ่งแสดงทุกคืนวันพุธในผับแห่งนั้น จึงชวนผมไปดู ผมจึงชวนเพื่อนนักศึกษาไปด้วย เป็นคืนที่สนุกมาก มีหลายคู่เต้นรำไปด้วย (จะเล่าเรื่องนี้เมื่อมีโอกาส)

อย่างไรก็ตาม ผมควรเตือนท่านผู้อ่านว่าผับไม่ใช่สถานที่แห่งเดียวที่คนนิวซีแลนด์ไปพบปะกันเพื่อการสังสรรค์หรือสันทนาการ อีกทั้งผมไม่ต้องการจะบอกว่าคีวีทุกคนไปผับ เพราะมีหลายคนที่ผมรู้จักไม่ได้ไปผับบ่อยนัก และไม่นิยมดื่มเบียร์ ผมเพียงอยากจะชี้ให้เห็นถึงความหมายของผับต่อชีวิตทางสังคมของคนคีวี โดยเฉพาะในหมู่มิตรสหาย ครอบครัวและญาติพี่น้อง มากกว่า

มหาวิทยาลัยกับผับ

แม้ดันนิดินจะเป็นเมืองไม่ใหญ่นัก ในสมัยนั้นมีประชากรราวแสนกว่าคนโดยมีนักศึกษาจำนวนมาก (ปัจจุบันก็มีประมาณนี้ จนอาจพูดได้ว่าแทบไม่มีการเปลี่ยนแปลงด้านประชากรเลย) แต่ก็มีผับกระจายอยู่เกือบทั่วเมือง มหาวิทยาลัยโอทาโก้ที่ผมศึกษาอยู่ในตอนนั้นมีผับในระยะเดินถึงได้อย่างสบายๆ 2-3 แห่ง ผับที่ตั้งอยู่ใกล้ใจกลางมหาวิทยาลัยมากที่สุดน่าจะเป็น Captain Cook Hotel ที่เล่าว่ากันว่าก่อตั้งขึ้นในปี 1860 นับเป็นผับเก่าแก่แห่งหนึ่งของเมือง ตั้งอยู่ห่างจากตึกที่ผมเรียนราว 200-300 เมตรเท่านั้น เรียกว่าตอนที่เดินไปผับ คุยกับเพื่อนฝูงยังไม่ทันจบเรื่องก็ถึงที่แล้ว จึงมีนักศึกษาจำนวนมาก ทั้งชายและหญิง ชอบไปที่นี่ ชั้นบนบางครั้งมีวงดนตรีมาเล่นให้ฟัง ด้วยเหตุนี้ ทุกเย็นวันศุกร์ผับกัปตันคุกจึงเนืองแน่นไปด้วยลูกค้านักศึกษา บ่อยครั้งจะเห็นนักศึกษาถือแก้วเบียร์มายืนดื่มและคุยกันข้างนอกผับ ผมเคยไปดื่มเบียร์ที่ผับนี้กับเพื่อนนักศึกษาคีวีแต่ไม่บ่อย เพราะไม่ชอบความแออัดยัดเยียดและความหนวกหูของที่นั่น

Captain Cook Hotel

(มีรายงานข่าวว่าผับนี้ปิดกิจการลงในปี 2013 แล้วเปิดใหม่อีกครั้งในปี 2018 ภายใต้การดำเนินกิจการของผู้เช่ารายใหม่ หนึ่งปีต่อมาชั้นล่างถูกปรับเปลี่ยน กลายเป็นร้านพิซซ่าแฟรนไชส์ เหลือเพียงชั้นบนที่เป็นกึ่งบาร์กึ่งที่ฟังดนตรีสด แต่หลังจากที่ขบวนการต่อต้านการเหยียดผิว ‘Black Lives Matter’ กลายเป็นเรื่องใหญ่ระดับโลก ก็เริ่มเกิดแรงกดดันต่อชื่อผับกัปตันคุก ที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นสัญลักษณ์ของการล่าอาณานิคมอังกฤษ จนในที่สุด ผู้ประกอบกิจการที่เช่าชั้นบน ซึ่งเป็นกึ่งบาร์กึ่งที่ฟังดนตรีสด ต้องเปลี่ยนชื่อผับเป็น Dive เพราะทนแรงกดดันจากสังคมไม่ไหว แต่เจ้าตัวยืนยันว่าตนไม่คิดว่าชื่อเดิมเกี่ยวข้องกับการล่าอาณานิคม แต่เป็นชื่อที่มีความหมายที่สะท้อนถึงการสืบทอดเชิงวัฒนธรรมของสถานที่แห่งนี้ต่างหาก)

อันที่จริง เป็นเรื่องปกติที่ผับจะแน่นในคืนวันศุกร์ ยิ่งผับไหนเป็นที่นิยมมาก คนก็ยิ่งแน่น เสียงก็ยิ่งดัง อบอวลด้วยควันบุหรี่ (สมัยนั้นยังไม่ห้ามสูบบุหรี่ในผับ) ผมจึงไม่ค่อยชอบไปผับ แม้ว่าคืนอื่นๆ ที่ไม่ใช่คืนวันศุกร์อาจมีลูกค้าน้อยก็ตาม ผมชอบนั่งดื่มตามแฟลตเพื่อนมากกว่า

เครื่องดื่มที่ชาวคีวีนิยมดื่มคือเบียร์ เมืองที่มีขนาดไม่เล็กเกินไปและมีประชากรมากพอควรมักมีโรงทำเบียร์ตั้งในเมืองนั้น สมัยนั้นในดันนิดินมีโรงเบียร์ราว 2-3 แห่ง เป็นโรงเบียร์เอล ซึ่งนิยมกันมาก และโรงเบียร์ลาเกอร์ (ได้ยินว่าตอนนี้มีโรงเบียร์มากขึ้น ทำเบียร์คราฟท์ก็มีหลายแห่งเพราะความนิยมในเบียร์ชนิดนี้มีมากขึ้น สมัยที่ผมอยู่นั้นเบียร์คราฟท์ยังไม่มี) ในผับจึงมักขายเบียร์สด (Draught beer) กดออกจากถังเหล็กเพราะมีเบียร์สดส่งตรงจากโรงเบียร์ทุกวัน คนส่วนใหญ่จะซื้อเบียร์เป็นจั๊ก (jug) ที่มีปริมาณราวหนึ่งลิตรเศษ และผลัดกันซื้อคนละจั๊กจนครบรอบตามจำนวนเพื่อนร่วมวง ดูเผินๆ เหมือนซื้อเบียร์เลี้ยงเพื่อน แต่ความจริงคือทุกคนซื้อ/จ่ายเงิน ยกเว้นว่ามีใครใจดีซื้อเบียร์เลี้ยง ก็จะบอกทุกคนว่ารอบนั้นเขาจ่ายให้ บางคนก็ซื้อเบียร์เป็นแก้ว แต่พวกนักศึกษาขี้เมาที่ผมรู้จัก ทั้งคีวีและคนต่างชาติที่มีหลายชาติ นิยมปริมาณมากๆ จึงชอบซื้อกันเป็นจั๊กเพราะราคาถูกกว่า

นอกจากผับแล้ว ในเมืองยังมีร้านขายเบียร์/เหล้าหลายแห่ง บางแห่งใช้ชั้นล่างเป็นร้านขาย ส่วนผับอยู่ชั้นบน ร้านขายเบียร์/เหล้าที่เพื่อนๆ และผมไปเป็นประจำเป็นร้านที่มีเบียร์ให้เลือกหลายชนิด ปกติบรรจุในขวดสีน้ำตาลใส่ในลังไม้ (น่าจะเป็นไม้สน เพราะปลูกกันมาก) ลังละ 12 ขวด เวลาซื้อถ้าเอาลังที่มีขวดเปล่าครบ 12 ใบไปด้วยจะได้ราคาถูกกว่า เพื่อนนักศึกษาคีวีจึงพยายามเก็บขวดให้ครบลัง แล้วยกลังเก่าไปซื้อเบียร์ลังใหม่ เท่าที่สังเกต เบียร์เอลขายดีมาก ตอนนั้นผมก็ดื่มแต่เบียร์ชนิดนี้

ในมหาวิทยาลัยโอทาโก้ก็มีผับ เรียกกันสั้นๆ ว่า staff club เป็นอาคารสองชั้น กำแพงด้านนอกก่อด้วยหินก้อนใหญ่ ตั้งอยู่บนสนามหญ้าริมลำธารเล็กๆ ที่เรียกว่า Water of Leith ชั้นล่างมีโต๊ะสนุกเกอร์ตัวใหญ่ ผมและเพื่อนคนไทยเคยเข้าไปแทงเล่นสนุกๆ 3-4 ครั้ง ชั้นบนเป็นผับและห้องอาหาร อาจารย์ชาวอังกฤษเคยพาผมไปเลี้ยงเบียร์ บรรยากาศดี คนก็ไม่มาก ส่วนใหญ่เป็นอาจารย์หรือคนทำงานในมหาวิทยาลัย ไม่ค่อยมีนักศึกษาไปนั่งดื่ม

(เรื่องผับยังไม่จบครับ – จะเล่าต่อในคราวหน้า)


[1] แกนหลักหรือธีม (theme) ของซีรีส์ออกแนวการอบรมสั่งสอนเชิงจริยธรรม ที่เน้นว่าพฤติกรรมที่เหมาะสม/ถูกต้องจะนำไปสู่ผลลัพธ์ที่เป็นรางวัล แต่พฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมก็จะก่อเกิดผลพวงที่ไม่พึงประสงค์ เน้นความสำคัญของการเชื่อฟัง อยู่ในกรอบของสังคมที่มีครอบครัวเป็นหน่วยพื้นฐานที่สำคัญยิ่ง และเน้นความสำคัญของการศึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเรียนในระดับมหาวิทยาลัย ที่พ่อแม่ของบีเวอร์สนับสนุนให้ลูกๆ เข้าศึกษา – ดูรายละเอียดใน Wikipedia, The Free Encyclopedia, “Leave It to Beaver” ในความคิดของผม นี่เป็นละครทีวีที่สะท้อนภาพของสังคมอเมริกันหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นภาพจินตนาการแห่งความสงบสุข ความเรียบร้อยในสังคม เป็นช่วงที่ชนชั้นกลางอเมริกันยังสามารถอยู่กับคุณค่าทางสังคมและจริยธรรมที่วางอยู่บนพื้นฐานของครอบครัวที่ทุกคนประพฤติปฏิบัติตามครรลอง จารีต และไร้ความขัดแย้ง แต่หลังจากนั้นไม่นานสังคมอเมริกันก็ถูกท้าทายจากการต่อต้านและการต่อสู้เรียกร้องเพื่อสิทธิทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสิทธิของคนผิวดำ ชนพื้นเมือง ชนกลุ่มน้อยอื่นๆ สตรี เพศที่สาม การต่อต้านสงครามเวียดนาม ฯลฯ ที่เริ่มขึ้นในทศวรรษ 1960

[2] สามคนนี้เคยพาผมไปสถานที่แห่งหนึ่งที่ถูกใช้เพื่อกิจกรรมพิเศษ วันนั้นมีอีวานเจลิสต์ (Evangelist) ที่เป็นคนไทย – เป็นครั้งแรกและครั้งเดียวที่ผมเจอคนไทยอีวานเจลิสต์ – มาทำการรักษาคนที่เจ็บป่วยแต่รักษาไม่หายด้วยวิธีการแพทย์สมัยใหม่ ที่ผมเห็นส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยอัมพาต ต้องนั่งรถเข็น หรือมีอาการทางจิต ชายไทยที่เป็นอีวานเจลิสต์รักษาคนป่วยด้วยการใช้ปาฏิหาริย์ (miracle) ประกอบการร้องเพลงสรรเสริญพระเจ้าของผู้ที่เข้าร่วมพิธี คนที่เข้าทำการรักษามีหลายคน หายจากอาการป่วยหรือไม่ผมไม่ทราบ แต่เพื่อนทั้งสามร้องบอกผมด้วยน้ำเสียงตื่นเต้นเกือบตลอดพิธีว่า “มันได้ผล” (It’s working!)

[3] รายละเอียดต่างๆ โปรดดู Wikipedia, The Free Encyclopedia, “Russell, New Zealand“, Wikipedia, The Free Encyclopedia, “Christ Church, Russell

[4] Mary De Ruyter, “Duke of Marlborough Hotel, Russell: A night in one of New Zealand’s oldest hotels“, Stuff, Travel, Northland, Nov. 7, 2020

[5] ‘pub’ ย่อมาจากคำว่า ‘public house’ หมายถึงสถานที่ที่มีใบอนุญาตให้ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และลูกค้าสามารถดื่มในสถานที่นั้นได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย แต่บางแห่งก็ใช้คำว่า “tavern” หรือ “inn” ซึ่งมีความหมายคล้ายกัน

นิติ ภวัครพันธุ์
ศาสตราจารย์ด้านมานุษยวิทยา สถานที่ทำงานสุดท้ายคือคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปัจจุบันเขียนหนังสือด้านสังคม-วัฒนธรรม และผู้คนต่างกลุ่มชาติพันธุ์ ผลงานรวมเล่ม ได้แก่ ชวนถก ชาติและชาติพันธุ์, เรื่องเล่าเมืองไต พลวัตของเมืองชายแดนไทย-พม่า เป็นต้น และเป็นคอลัมนิสต์ให้สื่อออนไลน์

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า