โต๋เต๋แบบจนๆ (1)

เด็กชอบเที่ยว

เรื่องที่ผมจะเล่าต่อไปนี้เป็นประสบการณ์จากการเดินทางไปตามที่ต่างๆ ด้วยหลายเหตุผล ทั้งที่เกี่ยวข้องกับงานที่ทำ การศึกษา และการทำวิจัยเชิงวิชาการ ความอยากรู้อยากเห็น ความชอบส่วนตัว (ในการเดินทาง ท่องเที่ยว/โต๋เต๋) และการชักชวนของมิตรสหาย เป็นประสบการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาต่างๆ บางเรื่องเมื่อไม่นานมานี้ บางเรื่องก็นานมาแล้ว (หลายปีไปจนถึง 2-3 ทศวรรษ) ในต่างสถานที่ ทั้งในต่างแดน ซึ่งมีหลายประเทศ และในเมืองไทย ตามจังหวัดต่างๆ

ผมเกิดและโตในย่านบางรัก จนอายุ 11 ปี จึงย้ายไปอยู่แถวสี่พระยา ซึ่งก็ไม่ไกลจากบ้านเก่านัก ชีวิตวัยเด็กจึงวนเวียนอยู่ในบริเวณนั้น เป็นถิ่นของผู้คนสารพัดกลุ่ม ทั้งคนจีนพุทธและคริสต์ คนมุสลิม คนไทยพุทธ มีอาหารคาวหวาน ไม่ว่าจะเป็นอาหารจีน ไทย หรือมุสลิม มีให้เลือกกินทั้งนั้นถ้ามีเงินซื้อ และหากความทรงจำของผมไม่ผิดพลาด มีรถรางจากหัวถนนสีลม ตรงแยกตัดกับถนนเจริญกรุง แล่นตรงไปสวนลุมพินี จำได้ว่าแม่พาขึ้นรถราง ได้ยินเสียงระฆังที่คนขับรถตีระหว่างทาง จำความตื่นเต้นที่ได้นั่งรถ และที่จำได้อย่างแม่นยำคือ โดนตัวเรือดที่อยู่ในเบาะรถกัดที่ขา ความเจ็บความคันบนแผลที่ถูกกัดเป็นความทรงจำที่ไม่มีวันลืมเลือน!

จะพูดว่าผมจำการผจญภัยในวัยเด็กได้เพราะตัวเรือดใจร้ายและเจ็บคันก็อาจจะไม่ผิดนัก แต่ผมก็จำการเดินทางอื่นๆ ได้ เพราะผมชอบออกจากบ้านไปโต๋เต๋ เที่ยวเตร่ พอเริ่มขึ้นรถประจำทางไปโรงเรียนด้วยตัวเองได้ตั้งแต่เรียนชั้นประถมฯ ไม่นานนักผมก็คุ้นเคยกับรถเมล์ คุ้นเคยมากขึ้นก็มั่นใจมากขึ้น เริ่มอยากไปที่อื่นที่ไม่ใช่โรงเรียน จึงสังเกตว่ารถเมล์สายอะไรมีต้นทาง-ปลายทางอยู่ที่ไหน มีสายอะไรที่แล่นผ่านหน้าบ้านหรือละแวกใกล้ๆ ที่คุ้นเคยบ้าง แล้วผมก็ลองดู ขึ้นรถเมล์สายที่แล่นผ่านหน้าบ้าน (นี่คือราวทศวรรษ 2510 ยุคที่รถเมล์ไม่หนาแน่นด้วยผู้โดยสาร และรถราก็ไม่คลาคล่ำเต็มท้องถนนเช่นทุกวันนี้) นั่งไปถึงปลายทางก็ลง แล้วขึ้นรถเมล์คันที่แล่นย้อนกลับเส้นทางเดิม คือทางที่ผ่านหน้าบ้านผม กลับถึงบ้านปลอดภัย ไม่หลงทาง ไม่โดนใครหลอก/ลักพาตัวไป ผมก็เริ่มสนุก ความกลัวความกังวลที่มีก่อนหน้านั้นค่อยๆ หายไป ถูกความอยากรู้อยากเห็นอยากเที่ยวเข้ามาทดแทน อีกอย่างคือไม่ต้องทนอุดอู้อยู่ในบ้านเช่าเล็กๆ แคบๆ ที่เป็นห้องแถวสักพักหนึ่ง ปกติก็มากกว่า 1 ชั่วโมง กว่าจะกลับถึงบ้าน เพราะแม้ว่าถนนหนทางจะไม่มีรถยนต์มากนัก แต่รถเมล์ก็ไม่ได้แล่นเร็วมากเช่นกัน

สำหรับผมในตอนนั้น การนั่งรถเมล์เที่ยวกลายเป็นการผจญภัยที่น่าตื่นเต้นมาก เริ่มรู้จักถนนสายต่างๆ ที่ไม่เคยไป รู้ว่าตรงไหนเรียกว่าอะไร ได้เห็นตึกรามบ้านเรือน เป็นการท่องเที่ยวที่สนุกมาก และที่สำคัญคือราคาถูกสำหรับลูกคนจนในเมืองอย่างผม เพราะค่ารถเมล์เที่ยวละ 50 สตางค์ ไปกลับก็ 1 บาท ไม่ได้กระทบกระเทือนเงินที่แม่ให้เป็นค่ากินค่ารถมากนัก

การนั่งรถเมล์เที่ยวในกรุงเทพฯ กลายเป็นสิ่งที่ผมทำเป็นประจำเมื่อมีเวลาว่าง จะเรียกว่าเป็นงานอดิเรกก็อาจจะได้ เพราะทำตั้งแต่ยังเรียนชั้นประถมฯ ตอนปลายไปจนถึงชั้นมัธยมฯ ผมมักไปไหนมาไหนคนเดียว ไม่มีใครไปด้วย รู้สึกมีอิสระและมั่นใจในตัวเอง เพราะรู้ว่าทำได้ และแม้ว่าจะเคยหลงทางบ้าง แต่ก็หาทางกลับบ้านจนได้

นอกจากนั่งรถเมล์เที่ยวแล้ว การนั่งรถไฟก็เป็นการเดินทางอีกแบบหนึ่งที่ผมชอบมากในวัยเด็ก แม้ว่าตอนนั้นอายุยังไม่ถึง 10 ขวบ แต่ผมไม่เคยลืมการนั่งรถไฟไปกับเตี่ย เตี่ยอพยพมาจากเมืองจีน ทำงานสารพัดประเภทเพื่อหาเงินเลี้ยงครอบครัว พอเตี่ยได้งานเป็นเซลล์แมนขายยาบริษัทก็ต้องเดินทางบ่อย ซึ่งปกติจะใช้รถไฟเป็นพาหนะในการเดินทาง และเตี่ยมักพาลูกร่วมเดินทางไปด้วย แม่เล่าว่าเตี่ยพาพี่ชายคนโตของผมไปเสมอ แต่บางครั้งก็พาผมไป และผมจำครั้งที่เตี่ยพาผมไปขายยาให้ร้านขายยาที่อยุธยาและลพบุรีได้ เตี่ยพาผมไปขึ้นรถไฟที่สถานีหัวลำโพง มักเลือกเก้าอี้บนรถไฟที่ติดหน้าต่าง ซึ่งผมชอบมาก เพราะได้เห็นวิวสองข้างทางระหว่างการเดินทาง ออกไปไม่ไกลนักก็เริ่มเห็นทุ่งนา บางครั้งมีควายยืนอยู่ด้วย รู้สึกถึงลมที่พัดเข้ามาทางหน้าต่างรถ ได้ยินเสียงล้อรถไฟบดกระทบกับรางเหล็ก พอรถไฟหยุดตามสถานีต่างๆ ก็มีพ่อค้าแม่ค้านำอาหารมาขาย ยังจำเสียงคนร้องขาย “ไข่ (ลากเสียงยาวๆ) ต้ม” ได้ ภาพนายสถานีรถไฟโบกธงสีเขียวสีแดง จำเจ้าของร้านขายยาบางคนที่เป็นญาติกับเตี่ยได้เพราะมักใจดีกับผม คิดว่าผมเป็นลูกเป็นหลาน เอาขนมให้กิน เอาของเล่นให้เล่น จำภาพตลาดหัวรอในอยุธยาตอนที่เตี่ยพาไปเดินซื้อของได้ ภาพลิงศาลพระกาฬที่ลพบุรี และสิ่งอื่นๆ เหล่านี้ยังอยู่ในความทรงจำของผม แม้วันเวลาจะผ่านไปนานหลายทศวรรษแล้วก็ตาม

ความเขลาของคนแปลกหน้า

การหวนกลับไปคิดทบทวนประสบการณ์ในอดีตชวนให้ผมหัวเราะ เพราะส่วนใหญ่เป็นเรื่องตลก (แม้ว่าเหตุการณ์บางครั้งในขณะนั้นอาจไม่รู้สึกน่าขบขำ แต่เมื่อกลายเป็นความทรงจำ ก็ไม่ใช่ความทรงจำที่ขมขื่นหรือทำให้รู้สึกเจ็บปวด กลับหัวเราะกับมันได้) ที่บ่อยครั้งเกิดขึ้นจากความไม่รู้หรือความขลาดของผมเอง แต่ก็มีหลายครั้งที่เป็นเพราะความอยากรู้อยากลอง หรือความซุ่มซ่าม ดีว่าผลลัพธ์ที่ตามมาไม่ได้นำไปสู่การบาดเจ็บ เลือดตกยางออก ของตัวผมเองหรือผู้คนที่อยู่รอบข้าง

ผมเดินทางบ่อยขึ้นเมื่อเริ่มเรียนที่มหาวิทยาลัยศิลปากร เพราะวิชาที่เรียนกำหนดให้ต้องออกไปค้นคว้านอกสถานที่ ปิดเทอมภาคฤดูร้อนของทุกปีก็มีภาคปฏิบัติที่ต้องออกไปฝึกงาน เกือบทั้งหมดเป็นการค้นคว้า/ปฏิบัติงานในต่างจังหวัด ที่ผมและเพื่อนจำนวนไม่น้อยชอบ รู้สึกสนุก เพราะไปกันเป็นกลุ่มใหญ่ รู้จักมักคุ้นกันหมดทั้งรุ่นพี่รุ่นน้องที่ไปด้วยกัน ได้ออกจากบ้านไปในสถานที่ที่ไม่เคยไปหรือเคยไปแล้ว และได้ทำความรู้จักกับคนท้องถิ่นบางคนจนรู้สึกเหมือนเป็นลุงป้าน้าอา มักมีเรื่องเฮฮาให้หัวเราะอยู่เสมอ บ่อยครั้งก็ได้กินอาหารอร่อยๆ แม้ว่าอากาศมักจะร้อน ที่พักที่นอนไม่หรูหรา แต่ก็เป็นประสบการณ์ที่ครึกครื้นทีเดียว

พอเรียนจบ ผมได้งานทำเป็นนักวิจัยที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย งานที่ทำไม่ได้แตกต่างมากนักจากที่เคยทำสมัยเป็นนักศึกษา ป.ตรี แค่ต้องอยู่ต่างจังหวัดนานขึ้น บางครั้งอาจนานถึง 2-3 สัปดาห์ คนที่ร่วมเดินทางและร่วมทำงานมีเพียงไม่กี่คน ผมต้องมีความรับผิดชอบมากขึ้น ได้กินหรือลองชิมอาหารอร่อยบ่อยขึ้น (เพราะมีเงินให้จับจ่ายมากขึ้น) นอกนั้นก็ดูจะไม่แตกต่างกัน ความเฮฮาและเรื่องที่ชวนให้ครื้นเครงยังมีเกือบตลอดเวลา สิ่งที่เกิดขึ้นบ่อยขึ้นจนอาจเรียกได้ว่าเป็นประจำคือ การกลายเป็นตัวตลกในสายตาของคนท้องถิ่น ผู้รู้สึกขบขันกับคำพูดหรือพฤติกรรมประหลาดๆ ของผม สำหรับพวกเขา ผมคงเป็นคนแปลกหน้าที่ไม่รู้เรื่องอะไรเลย คำพูดคำจาและการกระทำดูไม่ประสีประสา และอาจดูรุ่มร่ามเร่อร่าพิกลด้วยซ้ำ

อันที่จริง ผมเป็นคนที่โชคดีมากที่แค่โดนคนอื่นหัวเราะเยาะ กลายเป็นเพียงเรื่องที่ชวนขบขัน มิได้มีเหตุบานปลายกลายเป็นความเข้าใจผิดหรือความบาดหมางกันขึ้น อีกทั้งผมชอบนึกเข้าข้างตัวเองด้วยการระลึกถึงคำพูดของอาจารย์ชาวอังกฤษที่สอนผมที่นิวซีแลนด์ ที่บอกว่าคนที่เรียนวิชามานุษยวิทยามักถามคำถามโง่ๆ เพราะความอยากรู้หรือสงสัย และมักทำอะไรประหลาดๆ ในสายตาคนท้องถิ่น เพราะอยากเรียนรู้จึงทำตาม อยากเลียนแบบการกระทำของพวกเขา แต่ก็ไม่ค่อยประสบความสำเร็จนัก ทำให้กลายเป็นตัวตลกในสายตาของคนเหล่านั้น นี่เป็นเรื่องที่จะเกิดขึ้น ข้อดีคือการหัวเราะและเรื่องตลกนำไปสู่ความเป็นกันเอง ไม่ถือสากัน ที่อาจทำให้เกิดความคุ้นเคยกันและนำไปสู่มิตรภาพในภายหลัง ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการเป็นนักมานุษยวิทยา ทั้งในด้านการทำงาน ทำวิจัย และด้านส่วนตัว

ผมจึงมักนึกเข้าข้างตัวเองว่า คนท้องถิ่นที่ผมรู้จักรู้สึกเป็นกันเองกับผม รักใคร่ชอบพอผม แม้ว่าผมอาจจะไม่น่ารักนักก็ตาม

นอกประเทศครั้งแรก

ทำงานอยู่พักใหญ่ ผมเริ่มเบื่องานที่ทำ คิดอยากทำอย่างอื่น ความรู้สึกอยากเรียนหนังสือก็เข้ามาในสมอง บวกกับความอยากเที่ยวเมืองนอกเพราะมิตรสหายชักชวน ดังนั้น พอทำงานได้ราว 3 ปีเศษ ผมก็ตัดสินใจไปเรียน ป.โท ที่มหาวิทยาลัยโอทาโก ซึ่งเพื่อนสมัยเรียนศิลปากรของผมศึกษาอยู่ เป็นครั้งแรกที่ผมเดินทางออกนอกประเทศ ครั้งแรกที่ขึ้นเครื่องบิน และนิวซีแลนด์ก็เป็น ‘เมืองนอก’ แห่งแรกที่ได้ไป แต่ความสามารถด้านภาษาอังกฤษของผมนั้นอยู่ในระดับ “เยส, โน, โอเค” เท่านั้น

ท่านผู้อ่านคงพอจินตนาการได้ว่า สภาพของผมในต่างแดนในตอนนั้นจะเป็นอย่างไร?!

นิวซีแลนด์เป็นประเทศเล็กๆ ที่ประกอบด้วยเกาะใหญ่ 2 เกาะ คือเกาะเหนือและเกาะใต้ ซึ่งมีพื้นที่มากกว่าเกาะเหนือ แต่ประชากรส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในเกาะเหนือ เป็นประเทศที่มักถูกล้อว่ามีจำนวนแกะมากกว่าประชากรมนุษย์ แม้จะมีรายงานว่าจำนวนแกะที่เลี้ยงในปัจจุบันลดน้อยลงเพราะความต้องการบริโภคเนื้อแกะในตลาดต่างประเทศลดลงก็ตาม ถึงกระนั้นก็ยังมีจำนวนแกะมากกว่าประชากรมนุษย์หลายเท่าตัว ข้อเท็จจริงอีกประการหนึ่งคือ นิวซีแลนด์เป็นประเทศเล็ก ที่โดยประมาณพื้นที่ทั้งประเทศรวมกันมีขนาดราวครึ่งหนึ่งของประเทศไทยก็ตาม และตัวเลขสถิติในปี 2562 ระบุว่า จำนวนประชากรทั้งประเทศมีน้อยกว่า 5 ล้านคน นับเป็นประเทศที่ความหนาแน่นของประชากรต่อพื้นที่เบาบางมาก

อาหารมื้อแรกและทิป

มหาวิทยาลัยโอทาโกตั้งอยู่ในเมืองดันนิดิน บนพื้นที่เกาะใต้ เป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกของประเทศ ก่อตั้งขึ้นใน ค.ศ. 1869 แต่เปิดทำการเรียนการสอนอย่างจริงจังในปี 1871 แต่การเดินทางไปเมืองดันนิดินนั้น ต้องขึ้นเครื่องบินไปลงที่เมืองออคแลนด์ในเกาะเหนือ หรือไปลงที่เมืองไครสต์เชิร์ชในเกาะใต้ ก่อนที่จะต่อเครื่องบินอีกลำไปดันนิดิน ผมเลือกลงที่ออคแลนด์

สายการบินแอร์นิวซีแลนด์ที่ผมนั่งไปในครั้งนั้นให้บริการดีทีเดียว แต่ที่ทำให้ผมประหลาดใจมากคือ เมื่อเครื่องบินลงจอดที่สนามบินออคแลนด์ เมืองที่มีประชากรมากที่สุดของประเทศ พนักงานก็บอกให้ผู้โดยสารทุกคนนั่งประจำที่ อย่าเพิ่งลุก เพราะจะมีการฉีดยาฆ่าเชื้อโรคบนเครื่องบิน (เป็นนัยว่าผู้โดยสารอาจนำเชื้อโรคอันไม่พึงปรารถนาเข้าสู่ประเทศได้ จึงจำต้องตัดไฟแต่ต้นลม) แต่ก็ย้ำว่าน้ำยาที่จะฉีดพ่นนี้ไม่เป็นอันตรายต่อมนุษย์ ครู่ใหญ่ๆ มีเจ้าหน้าที่ร่างใหญ่ 2 คน ขึ้นมาบนเครื่องพร้อมกระป๋องในมือทั้งสองข้าง แล้วชูกระป๋องขึ้นเหนือศีรษะของผู้โดยสารที่นั่งอยู่ทั้งสองฝั่ง เดินฉีดสเปรย์ละอองจากกระป๋องตั้งแต่หัวเครื่องบินยันท้ายเครื่อง พอละอองจางเขาจึงให้ผู้โดยสารออกจากเครื่องบิน

ผมสงสัยในใจว่า ละอองน้ำยาแค่นี้จะฆ่าเชื้อโรคได้จริงหรือ แต่ไม่ได้ถามอะไร เพราะกลัวว่าจะพูดกับเขาไม่รู้เรื่อง (ครั้งล่าสุดที่ผมไปออคแลนด์เพื่อร่วมการประชุมทางวิชาการในปี 2546 ไม่มีเจ้าหน้าที่ขึ้นมาฉีดพ่นน้ำยาในเครื่องบิน – ไม่แน่ใจว่าเขาค้นพบว่าไม่มีประโยชน์ จึงเลิกไปหรือเปล่า?)

ทว่า วันแรกในต่างแดนไม่สู้ราบรื่นนัก โชคไม่ดีที่วันนั้นหมอกลงจัดมาก เที่ยวบินที่บินลงสู่เกาะใต้เกือบทั้งหมดถูกยกเลิก รวมทั้งเที่ยวที่ผมจะบินต่อด้วย ต้องรอดูว่าสภาพอากาศในวันรุ่งขึ้นจะดีขึ้นหรือไม่ ผมและผู้โดยสารคนอื่นๆ จึงต้องเข้าพักในโรงแรมใกล้กับสนามบิน ดีที่สายการบินแอร์นิวซีแลนด์ไม่ใจร้ายเหมือนสายการบินอเมริกันที่มัก ‘เท’ ผู้โดยสาร จึงเตรียมที่พักเป็นโรงแรมเล็กๆ ที่พ่อและลูกชายช่วยกันดูแลและให้บริการ แต่มีอาหารให้กินเฉพาะมื้อเช้าและกลางวันเท่านั้น ไม่มีมื้อเย็น เมื่อผมไปถึงโรงแรม ฟ้าเริ่มมืดแล้ว พอรู้ว่าผมยังไม่ได้กินอาหาร ผู้เป็นพ่อก็บอกลูกชายให้ขับรถพาผมไปร้านอาหารที่อยู่ไม่ไกลนัก พอถึงที่หมาย ลูกชายบอกผมว่ากินเสร็จเมื่อไรให้โทรไปบอก เขาจะขับรถมารับผมกลับที่พัก แล้วขับรถออกไป

ร้านอาหารไม่ใหญ่โตนัก ลูกค้ามีไม่มาก มีสลัดผักที่ให้ลูกค้าตักเองและกินเท่าไรก็ได้ คล้ายกับสลัดบาร์บุฟเฟต์ในบ้านเรา ผมดูเมนูแล้วก็เลือกแลมป์ช็อป อาหารขึ้นชื่อของนิวซีแลนด์ (ที่จะกลายเป็นอาหารที่ผมกินบ่อยมากในภายหลัง เพราะราคาถูก กินจนเบื่อจึงเลิกกินไปพักใหญ่) ก็อร่อยดี เนื้อแกะนุ่มและฉ่ำทีเดียว แถมสลัดก็ตักได้ไม่อั้น จึงรู้สึกคุ้มกับเงินที่จ่ายสำหรับมื้อแรกในนิวซีแลนด์ ตอนจ่ายเงินผมถามพนักงานเสิร์ฟสาวหน้าตาน่ารักว่าต้องให้ทิปเท่าไร (ความที่ฟังคนที่ไปเที่ยวอเมริกา ได้ยินว่าที่โน้นลูกค้าต้องจ่ายทิปให้พนักงานของร้าน) เธอทำหน้างงๆ แล้วบอกว่าไม่ต้องจ่าย (ประเทศนี้ศิวิไลซ์มาก ค่าแรงสูงพอให้คนงานมีชีวิตที่ดีได้ ลูกค้าจึงไม่ต้องจ่ายค่าทิปหรืออะไรทั้งนั้น – เธอไม่ได้พูด ผมว่าของผมเอง) ผมเลยยิ่งดีใจที่ไม่ต้องเสียเงินเพิ่ม

เพราะรู้สึกอิ่มมากจึงคิดว่าน่าจะเดินกลับที่พักเพื่อย่อยอาหาร หลังจากถามทางกลับที่พักจากพนักงานร้านก็คิดว่าคงไม่หลงทาง ระยะทางระหว่างที่พักและร้านอาหารก็ไม่ไกล น่าจะราว 1 กิโลเมตรเศษ แม้ว่าจะเป็นถนนนอกเมืองที่ไม่มีบ้านเรือนตั้งอยู่สองข้างทาง ไฟข้างถนนก็แทบจะไม่มี แต่หนทางไม่มืดมากนัก เพราะมีแสงจันทร์แสงดาวให้พอมองเห็นถนน อากาศเย็นลง เย็นกว่าตอนขามาร้านอาหาร แต่ยังไม่หนาว เดินได้สบายๆ พอถึงที่พักลูกชายเจ้าของโรงแรมทักผมว่าทำไมไม่โทรเรียกเขาไปรับ ผมตอบว่าอยากเดิน อากาศดี แต่ที่จริงผมไม่แน่ใจว่าถ้าโทรแล้วจะคุยกับเขารู้เรื่อง จึงไม่ได้โทร

คืนแรกผ่านไปด้วยดี และวันรุ่งขึ้นอากาศดีขึ้น เครื่องบินขึ้นบินได้ และผมถึงที่หมาย เมืองดันนิดิน โดยสวัสดิภาพ

ฝนตกสัปดาห์ละ 8 วัน!

ผมพักกับเพื่อนๆ ในบ้านชั้นเดียวที่มีห้องนอนเล็กๆ 5 ห้อง พอดีมีห้องว่าง 1 ห้อง ที่เพื่อนเตรียมไว้ให้ผมพัก ส่วนห้องน้ำ ห้องรับแขก ห้องกินข้าว และครัว ใช้ร่วมกัน มีเครื่องซักผ้าแบบเก่าที่ต้องเอาผ้าขึ้นมาจากถังขึ้นมาบีบแห้งอยู่ด้านหลัง และราวตากผ้าที่ผมและเพื่อนๆ ไม่เคยใช้ตากผ้าเพราะฝนตกบ่อย ที่นี่เป็นแฟลต (คำเรียกที่พักในนิวซีแลนด์) ราคาถูกที่มหาวิทยาลัยเป็นเจ้าของ ข้อดีคือใกล้กับมหาวิทยาลัย ตึกที่ผมและเพื่อนเรียน และไม่ไกลจากย่านร้านค้าในเมือง

ช่วงนั้นเป็นกลางเดือนมิถุนายน เริ่มเข้าฤดูหนาว (นิวซีแลนด์อยู่ด้านซีกโลกใต้ มีภูมิอากาศตรงกันข้ามกับซีกโลกเหนือที่ในเวลาเดียวกันนั้นกำลังอุ่นขึ้น) เมืองดันนิดินนอกจากจะตั้งอยู่ในเกาะใต้แล้ว ยังค่อนไปทางใต้ของเกาะอีกด้วย อากาศในช่วงนั้นจึงค่อนข้างหนาวและเปียกชื้น อุณหภูมิในตอนกลางวันโดยเฉลี่ยราว 12-18 องศาเซลเซียส และจะลดลงอีกในตอนกลางคืน แต่ที่แย่กว่าอากาศหนาวคือ ฝนที่ตกเกือบตลอดเวลา ทั้งกลางวันและกลางคืน ปกติเป็นฝนที่เรียกว่า ‘shower’ ท้องฟ้ามืดครึ้ม แทบไม่มีแดดหรือเห็นดวงอาทิตย์เลย บวกกับความชื้นในอากาศจึงทำให้ผมรู้สึกหนาวเย็นอยู่เสมอ ความหนาวและความเปียกชื้นทำให้ผมรู้สึกอึดอัด ไม่แจ่มใส เป็นความรู้สึกที่แย่มากในช่วงหลายสัปดาห์แรกที่อยู่ที่นั่น

เหมือนมีชีวิตอยู่ในที่ที่ฝนไม่เคยหยุดตก ฟ้าไม่เคยสว่าง อากาศไม่เคยอุ่น![1] กว่าจะเริ่มคุ้นเคยกับภูมิอากาศ รู้สึกชินกับความหนาว ก็เกือบเข้าฤดูใบไม้ผลิในเดือนกันยายนแล้ว

ฤดูใบไม้ผลิเป็นช่วงเวลาที่งดงาม มีชีวิตชีวา และทำให้ผมรู้สึกว่าเมืองและสภาพแวดล้อมน่าอยู่ เริ่มหายคิดถึงบ้าน ปรับตัวกับชีวิตใหม่ได้ นอกจากอากาศจะอุ่นขึ้น ฝนตกน้อยลงจนแทบจะไม่มีฝนเลย ท้องฟ้าแจ่มใส มีแดดมากขึ้น แสงสว่างมากขึ้นเพราะช่วงเวลากลางวันเริ่มยาวขึ้น กลางคืนสั้นลง ทำให้รู้สึกแจ่มใสแล้ว ผมเริ่มรู้จักคนในเมืองมากขึ้น มีทั้งที่เป็นเพื่อนของเพื่อน นักศึกษาคีวี (Kiwi – คำที่คนนิวซีแลนด์ใช้เรียกตัวเอง) เจ้าหน้าที่ในมหาวิทยาลัย รวมถึงคนที่ผมพบที่ห้องเรียนภาษาอังกฤษที่องค์กรการกุศลแห่งหนึ่งเป็นผู้ก่อตั้ง ครูสอนภาษาเป็นอดีตนักศึกษาของภาควิชาที่ผมเรียนอยู่ ผมเจอเขาผ่านอาจารย์คนหนึ่งในภาคฯ แล้วเขาก็ชวนผมไปที่ห้องเรียนเพื่อทำความรู้จักกับคนอื่น ห้องเรียนเป็นบ้านไม้ 2 ชั้น รับสอนภาษาอังกฤษให้ผู้อพยพ ผู้ลี้ภัย และคนต่างชาติที่อยากเรียนภาษา โดยคิดค่าเล่าเรียนที่ถูกมาก เป็นห้องเรียนที่สนุกมาก การพูดผิดพูดถูกเป็นเรื่องปกติ จึงมักมีเรื่องเฮฮาอยู่เสมอ และทุกคนคุ้นเคยกันจึงไม่มีใครถือสาหาความต่อกัน

คนที่มาเรียนที่ห้องเรียนภาษานี้น่าสนใจมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ลี้ภัยชาวเขมรเชื้อสายจีนที่อพยพมาอยู่นิวซีแลนด์หลังจากที่พรรคคอมมิวนิสต์ชนะสงครามในอินโดจีนในปี 1975 และคนฮ่องกงที่มีอาชีพเป็นพ่อครัวและเปิดร้านอาหารจีนในเมือง (เป็นร้านที่นักศึกษาชอบกันมาก เพราะราคาถูกและให้อาหารปริมาณมาก) ไว้มีโอกาสเมื่อไรผมจะเล่าเรื่องของพวกเขา ผู้มีจิตใจเอื้อเฟื้อต่อผมบ่อยครั้ง ทั้งๆ ที่ตนเองต้องทำงานหนัก คนที่เป็นผู้ลี้ภัยนั้นแทบจะต้องเริ่มต้นใหม่เกือบทุกอย่าง ถึงกระนั้นพวกเขาก็เป็นคนที่น่ารักมาก มีความเมตตา เห็นอกเห็นใจผู้อื่น

หิมะครั้งแรก

แม้ว่าผมจะรู้สึกหนาวเย็นมาก แต่ฤดูหนาวแรกในเมืองดันนิดินไม่เลวร้ายจนเกินไป เพราะเป็นครั้งแรกที่ผมได้เห็นและจับต้องหิมะ ก่อนวันที่หิมะจะตก อากาศแห้ง ไม่มีฝนตก อากาศหนาว แต่ค่อนข้างแจ่มใส เช้าวันถัดมาผมตื่นเพราะเสียงเพื่อนๆ ในที่พักร้องบอกว่าหิมะตก พอผมเปิดผ้าม่านบนหน้าต่างออกดูก็เห็นทุกอย่างขาวโพลนด้วยหิมะ ที่ปกคลุมทางเดินหน้าบ้าน บนรั้วไม้ที่กั้นระหว่างบ้าน บนสนามหญ้าของบ้านข้างๆ ผมรีบใส่เสื้อ 2-3 ตัว ทับด้วยเสื้อแจ็คเก็ตจากประเทศจีนที่พี่สาวซื้อให้ แล้วรีบออกมาหน้าบ้านพร้อมเพื่อนผมอีก 2 คน ผมตื่นเต้นมาก ถนนหนทาง ตลิ่งลำธารเล็กๆ ที่อยู่ข้างถนน หลังคาบ้านเรือน สนามหญ้า ทุกแห่งปกคลุมด้วยหิมะ ความตื่นเต้นทำให้ลืมความหนาว เพื่อนผมเริ่มเล่นกับหิมะ เอามาปั้นเป็นก้อนกลมๆ ขว้างใส่กัน โปะรวมกันเป็นก้อนเพื่อปั้นเป็นตุ๊กตาหิมะ แต่ได้แค่ตัวเล็กๆ เพราะมีหิมะบนพื้นไม่มาก

คนที่ตื่นเต้นกับหิมะไม่ได้มีแต่นักศึกษาต่างชาติอย่างพวกผมเท่านั้น คนในเมืองส่วนใหญ่ก็ยินดีชอบใจที่ได้เห็นและสนุกกับการเล่นหิมะ เพราะดันนิดินแม้ว่าจะหนาวเย็น แต่เปียกชื้น อากาศฉ่ำด้วยฝน หิมะไม่ค่อยตก และแม้ว่าเช้านั้นหิมะจะตกไม่มาก ปกคลุมเป็นชั้นบางๆ ไม่น่าจะเกิน 10 เซนติเมตรก็ตาม แต่วันนั้นก็ถือได้ว่าเป็นโอกาสพิเศษของทุกคนในเมืองที่จะได้เพลิดเพลินกับหิมะ

หลังจากนั้นก็แทบจะไม่มีหิมะตกในเมืองอีก แต่ผมก็ได้เจอหิมะอีกหลายครั้งตอนที่เพื่อนๆ ชวนไปเที่ยวควีนส์ทาวน์ เมืองท่องเที่ยวที่คนนิยมไปเล่นสกีหิมะกัน และที่อื่นๆ ในเกาะใต้

พ่อค้าผู้สัตย์ซื่อ

หนึ่งในความเขลาของผมคือ การไม่เคยอยู่ในประเทศหนาว ไม่มีความรู้เรื่องสภาวะอากาศ และไม่ได้ค้นหาข้อมูลในเรื่องนี้มากนัก การเตรียมตัวจึงไม่ค่อยพร้อม เสื้อผ้าที่เอาไปด้วยส่วนใหญ่เหมาะสำหรับเมืองร้อนมากกว่า ที่หนักหนาสาหัสกว่าเสื้อผ้าคือรองเท้าและถุงเท้า ผมไปที่นั่นพร้อมกับรองเท้าหนังที่ดูไม่มีประโยชน์อะไรนัก ใส่อยู่หนสองหนก็เลิกใส่ เพราะไม่ชอบใส่รองเท้าหนัง และไม่เหมาะกับสภาพภูมิอากาศเลย ส่วนรองเท้าที่ใส่ประจำเป็นรองเท้าผ้าใบที่ใส่ด้วยความเคยชินมาตั้งแต่สมัยเป็นนักศึกษา ป.ตรี พอไปเจอฝนชาวเวอร์ทั้งวันทั้งคืนก็เจอปัญหาใหญ่ ใส่เดินสักพักจะเปียกโชกทั้งรองเท้าและถุงเท้า ถ้าเปียกแต่อากาศร้อนแบบบ้านเราคงไม่เป็นไร แต่เท้า (และมือ) เปียกในเมืองหนาวอย่างดันนิดินนั้นทรมานอย่างยิ่ง

ถ้าให้เปรียบเทียบ ผมว่าเหมือนเอาเท้าแช่ในกะละมังใส่น้ำผสมน้ำแข็ง! ใครอยากรู้ ลองดูครับ…

ไม่นานนักผมก็ต้องยอมแพ้ หาซื้อรองเท้าคู่ใหม่ใส่แทนรองเท้าผ้าใบแบบไทยๆ ที่ใส่อยู่ ความที่ไม่ชอบรองเท้าหนังจึงไม่คิดจะซื้อรองเท้าหนัง เมื่อผมออกไปเดินดูรองเท้าตามร้านค้าในเมืองก็ไปเจอรองเท้าสำหรับใส่วิ่ง ด้วยเหตุที่มีคำแนะนำให้ผมออกกำลังกายด้วยการวิ่งจ๊อกกิ้ง เพื่อให้สุขภาพดี ร่างกายแข็งแรง อีกทั้งมีคำเล่าขานอีกว่าจะช่วยให้ร่างกายรู้สึกหนาวน้อยลง (ซึ่งไม่น่าจะใช่ แต่อาจเพราะว่าพออยู่นานขึ้นผมก็เริ่มเคยชินกับความหนาวมากกว่า) แม้ว่ารองเท้าวิ่งจะกันน้ำสู้รองเท้าหนังไม่ได้ แต่ใส่สบายกว่า ผมไม่มีพาหนะ ส่วนใหญ่เวลาไปไหนมาไหนก็ต้องเดิน รองเท้าวิ่งจึงเหมาะมากสำหรับผม

แต่ผมไม่ค่อยมีสตางค์ ต้องทำงานไปด้วยเรียนไปด้วย นอกจากอาหาร สินค้าประเภทอื่น แม้แต่หนังสือ ผมก็รอซื้อตอนลดราคา (นักศึกษาคีวีจำนวนมากที่ผมรู้จัก ก็ต้องทำงานหาเงินในขณะที่กำลังเรียน และซื้อสินค้าลดราคา) ร้านค้าส่วนใหญ่ในเมืองจะลดราคา 2 ครั้งต่อปี คือช่วงกลางปีและคริสต์มาส หรือบางครั้งก็ลดราคาสินค้ารุ่นเก่าเพื่อล้างสต๊อก ก่อนที่จะนำรุ่นใหม่มาขาย นอกจากจะลดราคาแล้ว การบริการและความไว้วางใจเป็นเรื่องที่ทำให้ผมประทับใจ อยากอุดหนุนสินค้าของร้านค้าบางแห่ง

เจ้าของร้านคีวีส่วนใหญ่รู้ว่านักศึกษาไม่ค่อยมีเงิน จึงมักอะลุ้มอล่วยกับลูกค้ากลุ่มนี้ อะไรที่ยอมได้ก็ยอมให้ วันหนึ่งผมเข้าไปเดินดูรองเท้าในเมือง ไปเจอร้านขายรองเท้าวิ่งแห่งหนึ่งกำลังลดราคาสินค้าจึงเข้าไปดู มีรองเท้าลดราคาหลายคู่ที่น่าสนใจ แล้วเจ้าของร้านเข้ามาซักถามพูดคุยด้วย ผมขอลองใส่รองเท้าคู่หนึ่ง แกก็หยิบให้ ใส่แล้วรู้สึกเหมาะมาก สีก็สวย ราคาไม่แพงเลย แต่ผมมีเงินไม่พอ จึงยื่นรองเท้าคืนและบอกสาเหตุที่ยังไม่ซื้อ แกถามว่าอยากได้มั้ย ผมพยักหน้า แกพูดกับผมว่าจะเก็บไว้ให้ มีเงินเมื่อไรก็มาซื้อ ผมดีใจจนเนื้อเต้น ไม่เชื่อหูตัวเองว่าฟังถูกต้อง รีบบอกแกว่าค่าแรงทำงานของผมจะได้สัปดาห์หน้า แกก็ว่างั้นมาเอารองเท้าสัปดาห์หน้า ถามชื่อผมแล้วเขียนไว้บนฝากล่องรองเท้า ย้ำอีกว่าตอนที่ผมไปเอารองเท้าให้บอกชื่อผม หลังจากนั้นผมก็กลายเป็นลูกค้าประจำของร้านแก

คนนิวซีแลนด์ที่ผมเจอ อัธยาศัยดีมาก ยิ้มแย้ม เอื้อเฟื้อ มีน้ำใจ และซื่อสัตย์ ไม่ว่าจะทำอาชีพอะไรก็มักมีอุปนิสัยเช่นนี้ จึงทำให้ระยะเวลากว่า 6 ปีที่ใช้ชีวิตอยู่ที่นั่นของผม เป็นความทรงจำที่งดงามทีเดียว

(การผจญภัยของผมยังมีอีกมากมาย อย่าเพิ่งเบื่อครับ)


[1] ในแง่หนึ่ง ฤดูหนาวในนิวซีแลนด์อาจหนาวเย็นและเปียกชื้น แต่ก็ไม่แปรปรวนมากนัก ช่วงเวลาที่ภูมิอากาศอาจเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว กระทันหัน คือฤดูร้อน หากท่านผู้อ่านสงสัยว่าฤดูร้อนในนิวซีแลนด์มีสภาวะอากาศเช่นไร ผมแนะนำให้เปิด Youtube ดูวิดีโอชุดที่เรียกว่า ‘How to Dad’ ในตอนที่ชื่อว่า ‘Happy Summer New Zealand’ ที่ผู้ถ่ายวิดีโอนาม Jordan Watson ประกาศว่า วันที่ 1 ธันวาคม คือ ‘Officially Summer’ ของประเทศ จะเห็นภาพชายทะเล ซึ่งน่าจะอยู่ในเขตเมืองออคแลนด์ อันเป็นถิ่นพำนักอาศัยของจอร์แดน ว่ามีสภาพอย่างไร

ที่ตลกคือมีคนดูวิดีโอท่านหนึ่งเขียนแสดงความเห็นว่า “4 ฤดูในวันเดียว เป็นมาตรฐานของที่นี่” (“4 seasons in one day is the norm here.”) และผมอยากเสริมว่า ฤดูร้อนในเมืองดันนิดิน นอกจากจะมี ‘4 ฤดูในวันเดียว’ แล้ว บางครั้งยังมีลูกเห็บตกลงมาห่าใหญ่ ก่อนที่ฟ้าจะสว่าง/ปลอดโปร่งอีกครั้ง สลับด้วยพายุลมแรง ฝนตก และความหนาวเย็นอย่างฉับพลัน! จึงเป็นเรื่องปกติที่คนดันนิดินจะมีเสื้อกันหนาวติดตัวอยู่เสมอ แม้ในฤดูร้อนก็ตาม แต่ก็เริ่มมีรายงานว่า ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาอากาศร้อนมากในฤดูร้อน จนทำให้เกิดความแห้งแล้ง และมีผู้สันนิษฐานว่า นี่คือผลกระทบจากสภาวะโลกร้อน (Climate Change) ที่เกิดขึ้นกับนิวซีแลนด์

นิติ ภวัครพันธุ์
ศาสตราจารย์ด้านมานุษยวิทยา สถานที่ทำงานสุดท้ายคือคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปัจจุบันเขียนหนังสือด้านสังคม-วัฒนธรรม และผู้คนต่างกลุ่มชาติพันธุ์ ผลงานรวมเล่ม ได้แก่ ชวนถก ชาติและชาติพันธุ์, เรื่องเล่าเมืองไต พลวัตของเมืองชายแดนไทย-พม่า เป็นต้น และเป็นคอลัมนิสต์ให้สื่อออนไลน์

Illustrator

ณขวัญ ศรีอรุโณทัย
อาร์ตไดเร็คเตอร์ผู้หนึ่ง ชอบอ่าน เขียน และเวียนกันเปิดเพลงฟัง

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า