นิติ ภวัครพันธุ์: เก็บเชื้อชาติเข้าพิพิธภัณฑ์  

พลวัตทางสังคมการเมืองของประเทศฝรั่งเศสนั้นมีมาอย่างต่อเนื่องและยาวนาน ปลายเดือนมิถุนายน 2561 รัฐสภาของที่นั่นจุดประเด็นสำคัญสะเทือนไปทั่วโลกอีกครั้ง เมื่อมีมติให้ถอนคำว่า ‘เชื้อชาติ’ (race) ออกจากกฎหมายรัฐธรรมนูญ และเปลี่ยนมาใช้คำว่า ‘เพศภาวะ’ (gender) แทนที่คำเดิม

บนถ้อยสันนิษฐานของหลายฝ่ายว่า การเปลี่ยนแปลงคำศัพท์คำนี้คงเป็นจุดเริ่มต้นครั้งใหญ่ต่อการขจัดวิธีคิดเรื่องแบ่งแยกเชื้อชาติ พฤติกรรมดูถูกเหยียดหยาม รวมไปถึงการเลือกปฏิบัติที่ไม่เท่าเทียมในทุกกรณีของสังคมฝรั่งเศส การถอดคำว่า ‘เชื้อชาติ’ ออกจากรัฐธรรมนูญครั้งนี้ คือการพร้อมสดับเสียงเพื่อนมนุษย์ ผู้ที่ครั้งหนึ่งเคยถูกประทับตราแล้วว่า ‘เป็นคนอื่น’

โดยรัฐสภาฝรั่งเศสเชื่อว่า การแบ่งแยกคนผิวขาว คนผิวดำ คนเอเชีย คนอาหรับ ไม่มีอยู่ในประเทศของพวกเขา เพราะแนวความคิดเรื่องเชื้อชาติในทวีปยุโรปนั้น ล้วนได้รับรับอิทธิพลมาจากแนวคิดของนาซีเยอรมันแทบทั้งสิ้น

เมื่อคำว่าเชื้อชาติกำลังถูกลบเลือนไป ย่อมทิ้งคำถามคาใจมากมายเป็นแน่ ข้ามจากประเทศที่รุ่มรวยทางศิลปะและเป็นต้นกำเนิดขนมปังบาแก็ต มายังอีกฟากฝั่งหนึ่งของโลก ประเทศที่ผู้นำชอบบ่นว่าตนทำงานหนัก และผู้คนนิยมถามกันเองว่า “คนไทยหรือเปล่า” แนวคิดทำนองนี้ยังเต็มไปด้วยความดุดัน เข้มข้น คนจำนวนไม่น้อยรู้สึกหวาดหวั่น ระคนกริ่งเกรง ข้อถกเถียงแบบนี้ถูกวางลงบนโต๊ะเมื่อใด วงแตกเมื่อนั้น

ศาสตราจารย์นิติ ภวัครพันธุ์ อาจารย์ประจำภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้เขียนหนังสือ พัฒนาการทางวัฒนธรรม – สังคมในมุมมองวิวัฒนาการนิยม (2554) หรือ ชวนถก ชาติและชาติพันธุ์ (2558) และ เรื่องเล่าจากเมืองไต (2558) ร่วมพูดคุยกับ WAY ถึงกระบวนการทางความคิดเรื่อง ‘เชื้อชาติ’ พร้อมอธิบายว่าทำไมคำคำนี้ ถึงสั่นสะเทือนผู้คนในสังคมได้อย่างลึกซึ้ง

“โลกมันซับซ้อนมาก ด้วยเหตุนี้เราจึงต้องต่อสู้กันทางภาษา เพื่อให้ภาษามีอิสระในการจำแนกความหลากหลาย ในความซับซ้อนไม่มีใครผิดใครถูก ไม่ได้มีมาตรฐานเดียว”

ในน้ำเสียงขึงขังจริงจัง เขาอธิบายอย่างอ่อนโยนว่าธรรมชาติของตนเป็นคนเสียงโมโนโทนเช่นนี้เอง คล้ายๆ กำลังจะบอกว่า นี่คือการแลกเปลี่ยนทางความคิด และ ‘เรา’ ไม่ได้มีอะไรโกรธเคืองกัน

 

ในประวัติศาสตร์ของมนุษย์ การมีอยู่ของเชื้อชาติบอกอะไรเราได้บ้าง

คำว่า ‘เชื้อชาติ’ (race) ในภาษาฝรั่งเศสช่วงราวศตวรรษที่ 16 ให้ความหมายถึงสายเลือด คือโยงว่าต้นตระกูลมาจากไหน เป็นใคร ใครคือบรรพบุรุษ โดยที่นัยอาจหมายถึงชาวบ้านด้วย แต่ส่วนใหญ่เข้าใจกันดีว่าเป็นการพูดถึง ‘กลุ่มผู้ปกครอง’ หมายถึงว่า พวกเขาพยายามยืนยันถึงสายเลือดอันบริสุทธิ์ของเขา

พอมาถึงศตวรรษที่ 18-19 เมื่อความเป็นวิทยาศาสตร์เข้ามา เราเริ่มเรียนรู้วิวัฒนาการของมนุษย์ คำว่า ‘เชื้อชาติ’  จึงถูกใช้ในทิศทางของวิทยาศาสตร์กายภาพ เพื่อจำแนกคนออกเป็นหลักๆ สามสาย คือ มองโกลอยด์ (ผิวเหลือง) คอเคซอยด์ (ผิวขาว) และ นิกรอยด์ (ผิวดำ) ตามสีตา สีผม โครงกระดูก ฯลฯ คำคำนี้เลยมีนัยเป็นเรื่องทางกายภาพทำนอง คนผิวขาวเหนือกว่าคนอื่น ฉลาดกว่า ดีกว่าคนกลุ่มอื่น ถูกช่วงใช้ในสมัยล่าอาณานิคมของคนผิวขาว

ก่อนหน้านั้นในศตวรรษที่ 16-17 คนผิวดำก็ถูกจับและขายเป็นทาส คนผิวขาวจึงมีภาพพจน์ฝังหัวมาตลอดว่า คนผิวดำนั้นโง่แต่แข็งแรง ต้องเอามาเป็นทาส สิทธิคนผิวดำจึงไม่ได้ต่างอะไรกับสัตว์หรือสิ่งของ ในขณะที่คนผิวเหลืองไว้ใจไม่ได้ อะไรประมาณนี้ เป็น stereotype (ภาพเหมารวม) ความหมายของคำว่า race จึงพิงอยู่กับความเชื่อของคนผิวขาวมากกว่า

ความเข้มข้นของมันถูกใช้มากที่สุดในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 ก็อย่างที่เรารู้กัน ในตอนอาณาจักรไรซ์ที่ 3 เมื่อนาซีเยอรมันเรืองอำนาจ ด้วยการชูสายเลือดอารยันหรืออินโดยูโรเปียน พวกตาสีฟ้า ผมสีทอง มีรูปร่างใหญ่และฉลาด ไปกดพวกคน ‘ยิว’ ซึ่งความเห็นผมที่มันตลกคือ คนยิวเดินทางไปอยู่ในหลายที่มาก ซ้ำยังแต่งงานปะปน นึกไม่ออกว่าจะมีเชื้อสายยิวที่บริสุทธิ์ในความหมายของนาซีได้อย่างไร

ผมเข้าไปดูในกรณีฝรั่งเศสที่มีการออกกฎหมายเรื่องการยกเลิกคำว่า ‘เชื้อชาติ’ กรณีนี้เราต้องย้อนกลับไปในสมัยสงครามโลกเมื่อปี 1946 ที่มีการบรรจุคำนี้ลงไป เพราะต้องการให้ตระหนักว่า ไม่มีเชื้อชาติไหนโดดเด่นกว่ากัน พอหลังๆ ต้องเข้าใจว่ามีกระบวนการเรียกร้องความเท่าเทียมในด้านต่างๆ เกิดขึ้น จนมาถึงสิทธิทางเพศสภาพ จึงทำให้มีการคิดว่าไม่อาจใช้คำว่าเชื้อชาติได้อีกต่อไป

ถ้าไปดูกันจริงๆ มีการใช้คำว่า gender มาแทน แค่บอกว่าภาวะเราเป็นใคร นัยของมันไม่มีการแสดงว่าเป็นผู้หญิงหรือผู้ชาย ไม่ได้ถูกกำหนดโดยนักวิทยาศาสตร์กายภาพเหมือนในศตวรรษที่ 19

ตามความเห็นผม คำว่าเชื้อชาติจึงสมควรถูกลบทิ้งไปได้ แค่คำว่าสัญชาติก็น่าจะพอเพียงแล้ว

เหลือแค่ชาติพันธุ์กับสัญชาติก็พอ?

ใช่ครับ คำว่าสัญชาติตอนนี้เรายังใช้อยู่ ผมยังไม่รู้ว่าอะไรจะมาแทน เวลาเราพูดถึงสัญชาติ มันมีนัยอยู่สองสามอย่าง

หนึ่ง – อำนาจทางการเมืองที่ไหนในฐานะเป็นรัฐมารองรับคุณ อย่างบอกว่าสัญชาติไทย คือรัฐไทยยอมรับว่าคุณเป็นสมาชิกของรัฐ คุณไม่ใช่คนไร้รัฐ ไร้ชาติ

สอง – พร้อมๆ กับการยอมรับ หมายถึงคุณได้รับการปกป้องจากรัฐ ใครจะจี้ปล้นคุณ ทำร้ายคุณไม่ได้ เพราะคุณได้รับการปกป้องเท่าๆ กับคนที่มีสัญชาติเดียวกัน ผู้หญิง ผู้ชาย หรือเพศสภาพใด ผิวดำ ผิวขาว หากคุณเป็นสัญชาตินี้ ต้องได้รับการยอมรับเท่ากัน

แค่นั้นไม่พอ สาม – ในทางกฎหมาย คุณต้องมีสิทธิ ซึ่งเราไม่ทันได้คิดกัน ว่าเรามีสิทธิเข้าถึงระบบสาธารณสุข การศึกษาเรียนฟรีกี่ปี มีสิทธิเข้ามหาวิทยาลัยไหม เราต้องยอมรับและใช้คำว่าสัญชาติในแง่ที่กล่าวไป

หากต้องการอยู่ร่วมกับคนอื่น คุณต้องทำลายระบบคิดทางภาษา แล้วเข้าใจมิติเรื่องสัญชาติว่า ใครๆ ก็เป็นสัญชาติไทยได้ทั้งนั้น ถ้าคุณเข้ามาทำประโยชน์ ผมถามนะว่า คนพม่าเข้ามาทำงานเสียภาษีหรือเปล่า ซื้อของก็เท่ากับคนอื่น บางทีแพงกว่าด้วย พวกเขาเอาเปรียบคุณตรงไหน มีใครอยากทำงานที่แรงงานพม่าทำไหม อย่างนี้แล้วคุณให้สัญชาติให้การปกป้องพวกเขาไม่ได้หรือ

ฝรั่งเศสถอดคำว่าเชื้อชาติออกจากรัฐธรรมนูญ มีผลในการบังคับใช้กฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องหรือไม่

ผมคิดว่าคงมี เกี่ยวพันไปถึงสิทธิการจ้างงานต่างๆ เพราะคำนี้ (เชื้อชาติ) มันใช้ไม่ได้แล้ว ทางบริษัทห้างร้านคงต้องไปอ้างเหตุอื่นๆ ในการบ่ายเบี่ยงรับคนเข้าทำงาน มีเหตุผลอื่นใดว่าจะไม่รับใคร เรากำลังต่อสู้กับอะไรหลายๆ อย่าง ผมคิดว่าอคติในการจ้างงานก็เป็นปัญหาใหญ่ ยังดำรงอยู่อย่างแพร่หลาย

แสดงว่าโลกสมัยใหม่ เรื่องเชื้อชาติไม่มีความจำเป็น?

ผมยืนยันแบบนั้น และต้องจัดการกับคำว่า ‘สัญชาติ’ ด้วย ว่าใครที่สามารถมีสัญชาติได้ บางคนเกิดโตเมืองไทย ที่เราเรียกว่าชาวเขาทั้งหลาย เรียนจบมหาวิทยาลัยแล้วยังไม่ได้สัญชาติ สิ่งเหล่านี้ผมถามหน่อย มันเพื่ออะไร คิดบนพื้นฐานแบบไหน ตอนนี้เถียงเรื่องนี้กันมากในต่างประเทศ แต่ต่อไปต้องพูดต้องถกกันในบ้านเรา เราต้องปกป้องและให้สิทธิคนเหล่านี้

สำคัญคือ เวลาเราบอกว่าใครมีสัญชาติ เรากำลังบอกว่าเขามีตัวตน เวลาไม่มีสัญชาติ คือทำอะไรก็ไม่ได้ ขึ้นโรงขึ้นศาลเสียเปรียบ ฉันก็เป็นมนุษย์ ทำไมถึงไม่มีอะไรมารองรับปกป้อง เราต้องเข้าใจเรื่องสัญชาติกันใหม่ กระบวนการให้สัญชาติแก่ผู้คนเป็นอย่างไร เรื่องรายละเอียดหรือคำนวณจากวิธีการจ่ายภาษีก็ไปว่ากัน ระบุมาให้เป็นเรื่องเป็นราว

ฝรั่งเศสเปลี่ยนมาใช้คำว่า ‘gender’ แทน ฝ่ายคัดค้านโต้ว่า นั่นก็แค่การย้ายปัญหาที่เกิดขึ้นเพราะคำหนึ่ง ไปสู่อีกคำหนึ่ง

อันนี้คำถามดี ผมคิดว่าการเปลี่ยนไปใช้ gender มันคือการต่อสู้แบบหนึ่ง ให้ผมเดา ในอีก 20-30 ปี ถัดจากนี้ อาจมีคำอื่นๆ มาแทนอีกก็ได้ ขณะนี้ในเชิงนัยของ ‘origin’ (รากเหง้า) ถ้าเราจัดการกับคำว่าเชื้อชาติให้ไม่มีความหมายแล้ว คุณจะมาจากไหนก็ไม่สำคัญอีกต่อไป คำว่า gender มันมาแทนที่คำว่า sex เพื่อบ่งบอกว่าคุณเป็น ‘ใคร’ ไม่ใช่แค่ทางกายภาพ มันรวมถึงเพศสภาวะ

ผมไม่รู้หรอกนะว่าเพศที่ 3 เขาคิดอย่างไรกันบ้าง แต่น่าสนใจนะ ในอนาคตข้างหน้า คำว่า gender จะมีความหมายที่ซับซ้อนขึ้น อาจหมายรวมถึงด้านอารมณ์ ความรู้สึก การมองโลกของคุณ ว่าเป็นอย่างไร ถึงตอนนั้น นักมานุษยวิทยาอย่างผม คงมีงานทำเยอะเลย คือเราชัดเจนว่าผู้หญิงกับผู้ชาย อารมณ์มันไม่เหมือนกัน ถ้าอย่างนั้นคนเพศที่ 3 หรือ 4 หรือ 5 มันก็น่าจะต่าง แล้วมันต่างอย่างไร

ผมตอบไม่ได้ โลกไม่ได้เป็นของคุณคนเดียวนะครับ โลกมันซับซ้อนมาก ด้วยเหตุนี้เราจึงต้องต่อสู้กันทางภาษา เพื่อให้ภาษามีอิสระในการจำแนกความหลากหลาย ในความซับซ้อนไม่มีใครผิดใครถูก ไม่ได้มีมาตรฐานเดียว

คำศัพท์ต่างๆ ต้องพร้อมปรับเปลี่ยนไปตามบริบทสังคม

ถูกต้องครับ ในแง่นี้ ศัพท์ทุกคำเกิดจากการประกอบสร้างขึ้นทั้งนั้น นักสังคมศาสตร์พยายามต่อสู้กับแนวคิดทางวิทยาศาสตร์แบบเก่ามาตลอด ยกตัวอย่าง จริงหรือที่มนุษย์มีแค่สองเพศ หญิงกับชาย มันจะมีเพศอื่นอีกได้ไหม เรายังรู้จัก DNA ของเราน้อยเกินไปด้วยซ้ำ คำถกเถียงพวกนี้ ทำให้นักวิทยาศาสตร์ต้องกลับไปคิด ไปสอนกันใหม่

คำว่า ‘เชื้อชาติ’ หลายๆ อย่างเป็นการเมือง เมื่อสำเหนียกแบบนี้แล้ว คนจึงสามารถเรียกร้องถึงสิทธิว่าฉันต่างจากเธอ แต่ฉันไม่ได้ผิดปกติ ภาพพจน์ต่างๆ ที่เคยมีมาในอดีต การเหมารวมต่างๆ ผมคิดว่าควรต้องเปลี่ยน อย่าให้ศาสตร์ใดศาสตร์หนึ่งคุมเราในการมองโลกมากจนเกินไป เหมือนอย่างที่สมัยนี้มีการศึกษาออกมาแล้วว่า ทุกคนมีแนวโน้มเป็นโรคซึมเศร้าทั้งนั้น ไม่ได้ประหลาดอะไร

ปัญหาคือในบ้านเรามันมีไม้บรรทัดแค่อันเดียว โดยเฉพาะการปกครองในบ้านเรา ไม่ชอบรัฐบาลก็โดนจับไปกินกาแฟ ผมคิดว่าเป็นเรื่องไร้สาระมาก ทั้งหมดนี้เกี่ยวข้องกับการที่ว่าสังคมเปิดโอกาสให้เราตั้งคำถามหรือไม่ ให้คิดต่างหรือเปล่า ให้มีอิสระในการบอกว่าฉันไม่เหมือนเธอหรือเปล่า ฉันเป็นฉันได้ไหม

คนไทยไม่ค่อยเข้าใจมิติพวกนี้ และนับวันยิ่งตึงขึ้นเรื่อยๆ

เชื้อชาติเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการต่อสู้กับสิ่งที่มันใหญ่โตกว่า คนจนหรือคนสัญชาติใดต้องเท่าเทียมกัน แล้วไม่ได้กินความหมายแค่เรื่องเชื้อชาติ มันรวมถึงกระบวนการต่อสู้เพื่อลดอคติที่เราถูกสร้างขึ้นพร้อมๆ คำว่าประเทศชาติ หรือแนวคิดด้านศาสนาต่างๆ

อาจารย์ยืนยันว่าเชื้อชาติไม่มีความจำเป็น หมายถึงความคิดเรื่องพวกนี้ต้องสูญหายไปให้หมด

ต้องไม่มีอยู่ แล้วทำไมต้องสนใจเรื่องนั้น

สนใจปฏิกิริยาระหว่างคนที่เอา กับไม่เอา

ในบ้านเรา ผมคิดว่าเรื่องนี้ยังไม่เป็นประเด็นเท่าไหร่ แต่คุณลองเสนอไปก็ได้ว่า “เชื้อชาติไทย ทิ้งไปเถอะ” แล้วท่านดูว่าอะไรจะเกิดขึ้น ต่อไปคำว่า race จะไม่มีอยู่ในฝรั่งเศส ที่อื่นเป็นอย่างไรยังไม่ทราบ ในอเมริกายังใช้คำนี้อยู่ แต่มีความหมายคล้ายคำว่า origin เท่าที่ผมทราบในนิวซีแลนด์ไม่มีคำนี้ มีแค่คำว่า nationality คือเลิกใช้ไปนานแล้ว และเข้าใจว่าในออสเตรเลียก็ไม่ได้ใช้ หลายประเทศก็ไม่

แสดงว่า ‘เชื้อชาติไทย’ ยังถูกใช้ประโยชน์ในด้านของการปกครอง การสร้างยุทธศาสตร์

ผมว่าเราไปติดกับคำว่าเชื้อชาติมาก เพราะคิดว่าคนไทยมาจากอัลไต ไม่รู้ว่าใครยังเชื่ออยู่นะครับ อีกอย่างคือมายาคติว่าเราจะโดนชาตินั้นชาตินี้รุกราน ทุกชาติทุกประเทศต่อสู้กับศัตรูมาตลอด ทำไมไม่มองกลับกัน มึงไล่ที่เขาตลอดเลย ทำไมไม่คิดแบบนี้ มึงเป็นตัวร้าย เขาไม่ต้องการมึงเลย คือถ้าคุณคิดได้ทุกอย่างจะเปลี่ยนหมด

คุณจะเคารพตัวเองได้ไหมในฐานะที่คุณเป็นคนไปรุกรานเขา ผมไม่รู้ แต่คุณต้องทำ เพราะนี่เป็นมุมมองของคุณเกี่ยวกับชีวิต เกี่ยวกับตัวเอง และเกี่ยวกับบรรพบุรุษ มุมมองของคุณต้องเปลี่ยน ต้องกลับมาคิดใหม่ว่า เราควรมีชีวิตยังไง จะอยู่กับคนอื่นยังไง กูต้องขอโทษไหมถ้ากูเคยรุกรานมึง กูขอโทษมึงเสร็จ มึงให้อภัยกูไหม ถ้ามึงไม่ให้อภัยกู กูจะทำยังไง ถ้ามึงให้อภัยกู โอเคแล้วเราจะอยู่กันยังไง

แล้วบางคนบอก อาจารย์คะ ทำไม่ได้หรอก ทำไมล่ะ เวลาสอนสังคมวิทยาและมานุษวิทยาเนี่ย ผมบอกเสมอให้ตั้งคำถาม ถ้าคุณเรียนศาสตร์ของเราแล้วไม่ตั้งคำถาม ไม่กลับโจทย์หรือพลิกวิธีคิดอะไรเลย ผมก็ไม่รู้ว่าจะสอนไปทำไม คุณก็ติดกับดักอยู่กับคำอธิบายเดิมๆ เวลาเถียงกันมันสนุกนะ กูถีบมึง มึงก็ถีบกูกลับสิ หมายถึงยันกันทางวิชาการ คนไม่เข้าใจก็บอกว่าอาจารย์นิติเป็นพวกต่อต้านโลก

เมซุท เออซิล นักบอลเยอรมันเชื้อสายตุรกีที่ประกาศเลิกเล่นทีมชาติ เล่าถึงความอึดอัดเกี่ยวกับปัญหาด้านชื้อชาติของตนเอง โดยช่วงหนึ่งระบุว่า แม่ของเขาสอนเสมอ “อย่าลืมว่าเรามาจากไหน” อาจารย์คิดว่าประโยคนี้มีความสำคัญอย่างไร

ผมเองมีเชื้อจีนแต้จิ๋ว เพิ่งไปเยี่ยมญาติมา ถามว่ามีอะไรผิดไหม แล้วยังไง หากเราเป็นมอญ ทำไมจะภูมิใจกับความเป็นมอญไม่ได้ วัฒนธรรมที่เรียกว่าความเป็นไทย มันก็คือผลผลิตของมอญ ของจีน ของอะไรต่อมิอะไรที่มารวมกัน ผ่านกาลเวลาหลายร้อยปี ถ้าเราเชื่ออย่างที่ คุณสุจิตต์ วงษ์เทศ หรือ อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ เคยพูดว่า ความเป็นไทยคือการปะปน

แต่มันก็ไม่ผิดในการภูมิใจความเป็น origin ของเรา ไม่ได้หมายความว่า ‘เราจะไปปฏิวัติเอาประเทศมอญกลับคืนมา!’ หรือ ‘ผมจะกลับไปปฏิวัติเอาแต้จิ๋วมาจากจีน!’ มันก็ไม่ใช่ การเข้าใจที่มาของตนเองนั้นไม่แปลก ส่วนจะภูมิใจหรือไม่ เป็นอีกเรื่อง

นี่เป็นปัญหาที่ถกเถียงกัน ขนาดชาติตะวันตกอย่างฝรั่งเศสเองยังแก้ไม่ได้ บอกว่าเป็น รัฐ republic หรือสาธารณรัฐ เป็น secular state (รัฐหรือประเทศที่เป็นกลางทางด้านศาสนา ไม่สนับสนุนหรือต่อต้านความเชื่อหรือการปฏิบัติทางศาสนาใด) อะไรต่างๆ เหล่านี้ ปรากฏว่าไม่ให้ผู้หญิงมุสลิมคลุมฮิญาบ เพราะไม่ต้องการให้มีอัตลักษณ์ทางศาสนา

ลองกลับไปคิดดูให้ดีๆ คุณแน่ใจหรือว่า ไม่รับเครื่องแต่งกายชนิดนี้ คือการพยายามเป็นกลางทางศาสนา หรือคุณรู้สึกไม่สบายใจกับศาสนาอิสลามกันแน่ ถ้าผมเป็นคาทอลิกใส่สร้อยห้อยกางเขนมา คุณจะไปคว้าแล้วกระชากออก บอกว่าใส่ไม่ได้อย่างนี้หรือ? เวลาใครห้อยพระ ไม่เห็นมีใครบอกให้โยนทิ้ง ผมคิดว่าการถกเถียงบางเรื่องกลับสร้างปัญหาในตัวมันเอง แล้วทำไมเราไม่คิดว่าของพวกนี้เป็นแฟชั่นบ้างล่ะ ผู้หญิงอิสลามอาจชื่นชอบความสวยงามของผ้าฮิญาบก็ได้

ภาพพจน์ของฮิญาบมักถูกผูกโยงกับเหตุไม่สงบหรือเปล่า

นี่ไง! (ตอบสวนทันที) คนสวมฮิญาบทุกคนมีระเบิดหรือ มันไร้สาระ ขอโทษนะ ระเบิดพลีชีพเริ่มแรกมาจากไหน มาจากพวกทมิฬในศรีลังกาครับ สมมุติถ้าคนปลอมตัวโดยโกนหัวโล้น นุ่งห่มเหลือง แล้วคุณรู้ได้ไงว่าสิ่งใดบ้างอยู่ก้นบาตร เราอย่าให้ทัศนคติรวมหมู่มาครอบงำเรา ต้องตั้งคำถาม ไม่เกี่ยวกับเรื่องบาปกรรมด้วย เวลาผมสอนหนังสือ ต้องทิ้งคำถามที่มันกระแทกนักศึกษาแบบนี้แหละ

คนที่พยายามกลับไปตามหารากเหง้าตนเอง กับแนวคิดการเป็นพลเมืองโลก (cosmopolitanism) มันดำเนินไปด้วยกันได้ไหม

ได้! ผมคิดว่าทุกคนมี ‘origin’ อย่างคำว่า ‘บ้าน’ หรือ ‘home’ คือบ้านท่านอยู่ไหน ความหมายของ origin ก็เหมือนกัน origin ของท่านมาจากไหน บรรพบุรุษมาจากไหน เราคิดในแง่นั้น ขณะเดียวกัน ถ้าเรามองว่าบ้านติดตัวไปกับเราตลอด บ้านก็จะไปกับเราทุกที่ เราก็ไม่ลืม origin ของตนเอง พอผมจะย้ายไปอยู่อเมริกา ผมก็บอกว่าที่นั่นบ้านผม มีพ่อแม่พี่น้อง เพื่อน ผมนิยามคำว่าบ้านของผมแบบนี้

พอถามว่า คุณยก origin ไปด้วยได้หรือเปล่า ผมตอบว่ายกไปด้วย คนจะบอกว่า เฮ้ย! ไม่ใช่ บ้านเธออยู่อยุธยา ผมก็บอก ผมยกอยุธยามาด้วยทำไมจะไม่ได้ ในความทรงจำผม ผมเคยกินอะไรที่อยุธยา ผมอยู่บ้านที่อเมริกาหรือที่ไหนก็แล้วแต่ ผมก็ทำกินแบบนั้น ผมเคยไหว้พระไหว้เจ้าที่อยุธยา ผมก็ทำแบบนั้น คุณก็ยกไปสิ ไม่มีปัญหา

ยิ่งเวลาผ่านไป มนุษย์เดินทางตลอดเวลา ทำให้เราตั้งคำถามว่า กูเป็นคนที่ไหน กูมาจากไหน เราถามตัวเองไม่มากก็น้อย เมื่อเราเริ่มตั้งคำถามแบบนี้ เราก็ต้องการคำตอบ อยู่อเมริกาดีกว่า ก็ต้อง construct บ้านอยุธยาขึ้นที่อเมริกา อันนี้ไม่เห็นผิดเลย เรา social construct ตลอดเวลาอยู่แล้ว ก็เหมือนเตี่ยผมที่มาอยู่เมืองไทยเมื่อร้อยกว่าปีก่อน ถ้าท่านมีชีวิตอยู่ ท่านก็จะบอกว่าที่นี่คือบ้าน เพราะลูกเต้าอยู่ที่นี่

ท่านต้องเข้าใจด้วยว่า คำว่าพลเมืองโลกมันมีนัยทางการเมือง หมายถึงการยอมรับคนอพยพมาจากที่อื่นด้วยความเท่าเทียมกัน แต่ท้ายสุดแล้ว คนทุกคนมีรายละเอียดชีวิตของแต่ละคน เราต้องตระหนักถึงความซับซ้อนของมนุษย์ที่ต่างกัน ถ้าเราเข้าใจ เราก็ไม่ต้องมาเถียงกันว่าอันไหนถูกอันไหนผิด

ความคิดกำหนดภาษา หรือภาษากำหนดความคิด

ข้อนี้เถียงกันไม่เลิกเลย ถ้าคิดแบบผม ผมคิดว่ามันเป็นไก่กับไข่ ตอบไม่ได้ ผมคิดว่าคำในภาษาเยอะมากที่กำหนดเรา อย่างคำว่า สีแดง ไม่ว่าคุณจะเห็นด้วยหรือไม่ คำพวกนี้กำหนดวิธีที่พวกเรามองโลก แต่การเปลี่ยนคำมันไม่พอ คุณต้องเปลี่ยนความหมายที่มากับคำพวกนั้น เรากลับไปใช้คำเดิมก็ได้ อย่าง เชื้อชาติ แต่คุณต้องไปเปลี่ยนความหมาย เชื้อชาติหมายถึง origin ไม่ได้หมายถึงว่าคุณมากกว่า ดีกว่าใคร บอกแค่คุณมาจากไหน ทุกคนมีที่มาหมด

อย่างนี้คุณก็ใช้คำว่าเชื้อชาติได้ เอาให้ละเอียดก็คือ ความหมายของภาษา หรือคำศัพท์นี่สำคัญ เราต้องไปทำงานกับมัน คุณจะใช้เชื้อชาติก็ได้ คุณจะไปเรียกใครเชื้อชาติอยุธยาก็เรื่องของคุณ ก็ไม่รู้ คุณก็ต้องลองไปเปลี่ยน

เชื้อชาตินับเป็นสิ่งสวยงามอย่างหนึ่ง คือความหลากหลาย แต่เพราะทัศนคติต่างๆ ที่เราเอาไปจับจึงส่งผลให้เกิดความเหยียดขึ้น เราคิดแบบนี้ได้ไหม

ได้ครับ มันคือแนวคิดของการห้ามแตะต้องคำศัพท์ อย่าลืมว่าภาษาสามารถคุมความคิดเราได้ เราบอก “ไอ้นี่เป็นตุ๊ด” คำคำนี้มีความหมายในแง่ลบ ไม่เหมือนคนอื่น ภาษาพวกนี้มาปฏิบัติการณ์ในสมองของเรา เกิดการสร้างภาพพจน์

ผมว่านี่คือการต่อสู้ทางการเมืองผ่านภาษา หากพูดด้วยภาษาสังคมศาสตร์คือ ทำไมคุณต้องดื้อด้านใช้คำว่า ‘เชื้อชาติ’ อยู่ คุณใช้คำอื่นไม่ได้หรือ อย่างคำว่า ‘ไอ้มืด’ หรือ ‘นิโกร’ ทั้งโลกไม่ใช้กันแล้ว คุณจะไปดื้อด้านใช้ทำไม เราอยู่กับสังคมโลก ไม่ได้อยู่แค่ในบ้านตนเอง หากยึดตามหลักนี้ มีภาษาไทยเยอะมากที่ต้องเลิกใช้

หากเราเข้าใจตรงนี้ จะเข้าใจว่าทำไมถึงมีการปฏิเสธคำว่า race เกิดขึ้น มันไม่เกี่ยวกับว่าคำนี้แสดงถึงความสวยงามหรือไม่ กรอบคิดของการไม่เอาศัพท์นี้ศัพท์นั้น ตั้งอยู่บนฐานคิดของการปฏิบัติการทางสมองผ่านภาษา เราถึงหันมาใช้คำว่า ‘ชาติพันธุ์’ หรือ ‘ethnic’ เพราะมันคือ political construct (กระบวนการสร้างทางการเมือง) มันเป็นศัพท์ทางการเมือง เราพยายามทำให้คำศัพท์เป็น neutral หรือดูเป็นกลางๆ ที่สุด

เวลาเราเห็นฝรั่งหรือคนผิวสี เราจะรู้สึกถึงความเป็นอื่นโดยอัตโนมัติ

ใช่ครับ

ผิดปกติไหม?

ไม่ผิด ผมก็มองคุณเป็นอื่น คุณก็มองผมเป็นอาเฮีย

เวลาผมขึ้นรถแท็กซี่ คนขับจะเรียกผมสองอย่างคือ ป๋า หรือ เฮีย ไม่ค่อยเรียกผมว่าพี่ อย่างนี้ก็คือคุณมองผมเป็นอื่นแล้ว แต่ในความเป็นอื่นไม่ได้หมายความว่าเเท็กซี่ไม่ชอบผมนี่ ผมยังไม่เคยเห็นคนขับแท็กซี่คนไหนบอก “มึงไสหัวไปจากรถกู กูไม่รับมึง” นั่นเพราะว่าเราเคยชินกับความเป็นอื่นชนิดนี้ แต่ยังไม่เคยชินกับความเป็นอื่นอย่างคนผิวดำ ทั้งๆ ที่เราอยู่กับความเป็นอื่นตลอดเวลา

ความเป็นอื่นมันรุกรานคุณตลอด ลองไปสุขุมวิทสิ เดินเข้าไปนานาสิ คุณเป็นอื่นนะ เพราะพวกนั้นพูดภาษาอาหรับทั้งนั้นเลย คุณพูดภาษาบ้าอะไรก็ไม่รู้ คุณไปเดินมหาชัยแล้วคุณไม่พูดภาษาพม่า คุณเป็นอื่นนะ คุณจะไปบอกเขา “เห้ยนี่มหาชัยของกู (เสียงสูง)” ได้หรือ ก็เห็นอยู่ว่าคนพม่า คนมอญอยู่เยอะ มึงเสือกเข้าไปทำไม แล้วทำไมเราไม่คิดแบบนี้บ้าง

อย่างผมโตบางรัก เรียนวัดสุทธิฯ เคยชินกับชาวมุสลิม ก็แบ่งอาหารกันทานได้ มันไม่กินหมู ผมกินเอง มันเอาลูกชิ้นปลาไป บางอย่างอยู่ในจานเดียวกัน ถ้าตามศาสนานี่เปื้อนไปหมดแล้วนะ นี่คือความเป็นอื่น ความเป็นเพื่อนที่ผมเคยชิน

เคยทำงานวิจัยที่ระนอง คนไทยที่จังหวัดนี้พูดภาษาพม่าได้เยอะมากเลย เพราะเขาอยู่กับความเป็นอื่นแบบพม่าจนชิน จนพูดพม่าได้ ผมคิดว่าเราจะไปมองความเป็นอื่นในมิติของเราอย่างเดียวไม่ได้ ในความเป็นอื่นมันมีเรื่องที่ต้องทำความเข้าใจ คือเราอาจเข้าใจคนจีน คนกะเหรี่ยงอาจน้อยหน่อย คนอีสานอาจเข้าใจเยอะ เพราะกินส้มตำบ่อย มันใกล้ชิด

ฉะนั้น เวลาคำพูดคำว่า ‘เป็นอื่น’ หรือ ‘the other’ มันไม่ได้เป็น singular ไม่ได้มีหนึ่งเดียว เรามีวิธีจัดระเบียบจัดวางความเป็นอื่น ในขณะเดียวกันเราก็โดนคนอื่นจัดวางเหมือนกัน

คำว่า ‘ชาติพันธุ์’ มีประโยชน์ในการยอมรับความแตกต่างซับซ้อนเหล่านี้ใช่ไหม

ใช่ อย่างที่ผมว่า ความเป็นอื่นกับความแตกต่างมันคล้ายๆ กัน เราต่างมีความเป็นอื่นของกันและกัน คนอื่นแตกต่างเราก็แตกต่าง จริงไหมครับ ฉะนั้นใน ethicity ที่แปลเป็นไทยว่าชาติพันธุ์ มันมีความหมายที่เป็นกลางมากกว่า

เวลาพูด ชาติพันธุ์ไทย ชาติพันธุ์ม้ง มันมีความเท่าเทียมกันหมด หากมีคนมาติงว่า ไม่ใช่คำนี้ได้ไหม ผมต้องบอกว่าได้ แล้วคุณมีข้อเสนออะไรที่ดีกว่านี้ไหม หากตอนนี้ยัง ก็ใช้ไปก่อน ทั้งนี้อย่าไปบอกว่าคำไหนดีที่สุด ถ้าทางการเมืองต่อสู้กันแล้วมีผลแบบอื่น

คำนี้มีปัญหาในการใช้งานบ้างหรือเปล่า

มันก็มีถูกเอาไปใช้อย่างอื่นนะ เช่น อย่างเวลาภาษาอังกฤษคำว่า ethnic food (อาหารพื้นเมือง) ทางอเมริกาพวก chinese food ก็ถือว่าเป็น ethnic food หมด คือถ้าเป็นอาหารชาติอื่น เขาจะเรียก ethnic แต่คนในประเทศเรียกอาหารตนเองว่า american food ไม่ก็ english food ซึ่งมันตลกนะ เหมือนเวลาใช้คำมันก็ไม่เท่ากัน

อันนี้เป็นรูปแบบการใช้ทั่วไป เราไปว่าเขาไม่ได้ ภาษามันก็ดิ้นไปแล้วแต่คนใช้ แต่ว่าในทางวิชาการ ถ้าถามถึงปัญหาของคำว่า ‘ชาติพันธุ์’ คืออะไร มันมีไม่พอนิยามไงครับ

สมมุติคุณบอกว่าตนเป็น ethnic ไทย แต่โตที่นิวยอร์ค พ่อเป็นนักธุรกิจ แม่เป็นนักแสดงชาวญี่ปุ่น เรียนหนังสือที่ฝรั่งเศส คุณพูดไทยตามพ่อ คุณพูดญี่ปุ่นตามแม่ พูดกับยายเป็นภาษาฝรั่งเศส พอไปโรงเรียนคุณพูดภาษาอังกฤษ คุณมีเพื่อนรักกันมากที่เป็นคนเม็กซิกัน มันอพยพมานาน มันพูดสเปน สรุปคือคุณพูดห้าภาษา ทีนี้คุณบอกผมหน่อยคุณเป็นใคร นี่คือปัญหาของ ethnicity ครับ คือมนุษย์มันซับซ้อน

โลกเปลี่ยนเร็วมาก คุณไม่รู้หรอกว่าคู่ครองของคุณจะเป็นใคร แล้วลูกคุณจะอยู่ที่ไหน เพื่อนของลูกอีกล่ะ โลกมันซับซ้อน แล้วเรากำลังเจอแบบนี้ นี่คือปรากฏการณ์ที่ขึ้นอยู่กับเราว่าจะมีวิธีจัดการอย่างไร เราต้องต่อสู้กับตัวตนที่ถูกปลูกฝังมาตั้งแต่เดิม นึกออกไหมครับ อคติกับคนดำ อคติกับเกย์อะไรทั้งหลาย ผมเองก็ต้องสู้นะ ไม่ได้เป็นผู้ที่อยู่เหนือกว่าคนอื่น เราต้องคอยเตือนตัวเองตลอดเวลา

เรามีอคติเยอะครับ ที่ถูกสร้างขึ้นมาจากสิ่งที่เรียกว่าวัฒนธรรม แล้วผมไม่ชอบเลยไอ้คำว่า ‘วัฒนธรรมไทยอันดีงาม’ เบื่อมากๆ เราถูกทำให้มีอคติเยอะมาก

ถ้าไม่ใช่คำว่า ‘วัฒนธรรมไทยอันดีงาม’ เราควรใช้คำว่าอะไร

เวลาคนถามผมว่าวัฒนธรรมคืออะไร ผมบอกดูที่อาหารสิ เดี๋ยวนี้เรากินซูชิ กินก๋วยเตี๋ยว แล้วมันไทยหรือเปล่า ถ้าไม่อย่างนั้นไม่ต้องเรียกวัฒนธรรมไทย เพราะเราก็กินไง นั่นหมายความว่าวัฒนธรรมไทยไม่มีความเป็นไทย หรือความเป็นไทยต้องถูกนิยามกันใหม่ มันคือความเป็นอื่นทั้งหมด

ทำไมคุณไม่พูดว่า นี่เป็น ‘วัฒนธรรมอันดีงามที่อยู่ในสังคมไทย’ มันดูเป็นกลางมากกว่าไหม ถ้าบอกว่ามันยาวไป มึงก็ไปคิดศัพท์ใหม่สิ จัดให้มันสั้นกว่านี้ วัฒนธรรมไทยอันดีงามมันไม่เหมาะ เพราะสุดท้ายเราจะมองวัฒนธรรมไทยดีกว่าคนอื่น ผมไม่ว่าเลยนะ ไม่ว่าจะเป่าแคน ฟ้อนเล็บ รูดเสา เอาแล้วแต่ที่ท่านชอบ มันอยู่ในสังคมไทย ผมโอเค แต่วัฒนธรรมไทยอันดีงาม สำหรับผมฟังแล้วมันขัดใจว่ะ

เราถูกกำหนดด้วยศัพท์แสงต่างๆ ภาษาพวกนี้กำหนดมุมมองและวิธีคิดของเรา มันสร้างกรอบเฉพาะขึ้นมาเพื่อออกแบบอคติ เป็นมาตรฐานไปใช้กับคนอื่น เหมือนไม้บรรทัด

ประโยค “คนไทยหรือเปล่า” สะท้อนเรื่องเชื้อชาติอย่างไร

มีอีกประโยคคือ “ไม่ชอบก็ไปอยู่ที่อื่นสิ” ผมคิดว่านี่เป็นผลจากความขัดแย้งทางการเมือง สิ่งที่น่าสนใจคือ ทักษิณเป็นแค่ผลผลิตหนึ่งของความขัดแย้งที่อยู่ในสังคมไทยมาตั้งนมนาน คล้ายอะไรบางอย่างที่มาแหย่เรา พูดง่ายๆ คือ ผมไม่ชอบหน้าคุณมาตั้งนานแล้ว แต่ทักษิณเหมือนแหย่ให้เราระเบิดออกมา

 

ในหนังสือ ชวนถก ชาติและชาติพันธุ์ เขียนไว้ว่า “ในอดีตความคิดเรื่องเชื้อชาติไม่มีอยู่ในสังคมเอเชีย” แล้วตอนไหนที่ประเทศไทยเราเริ่มมีแนวความคิดพวกนี้

ตามความเข้าใจของผม อย่างน้อย Early Bangkok หรือ รัตนโกสินทร์ ผู้มีอำนาจหรือว่าชนชั้นนำ ไทยจะจัดการกับคนกลุ่มอื่นบนฐานของคนพวกนี้ทำงานอะไร เช่น ไพร่ เกณฑ์กันมา เอ็งจะมาต้องเอาข้าวมาด้วย คนจีนมาเป็นแรงงานราคาถูก ก็ว่ากันไป ร.1 อาจมองคนจีนแบบหนึ่ง ร.3 มองอีกแบบหนึ่ง พอมา ร.5 มองอีกแบบหนึ่ง แต่ละยุคก็เปลี่ยนไป

เราไม่มีคอนเซ็ปต์เรื่องเชื้อชาติอย่างแน่นอน แต่เรารู้ว่า นี่คือคนจีน นี่คือคนมักกะสัน บนฐานที่ว่า หนึ่ง – เขาศาสนาอะไร เช่น เราเรียกแขกมักกะสัน สอง – ไอ้พวกนี้มันมีความสามารถอะไร เดินเรือ รบ โจรสลัด อะไรก็ว่าไป ผมคิดว่าพวกผู้มีอำนาจเห็นเรื่องพวกนี้ แล้วก็จับให้เขาไปอยู่ตามที่ต่างๆ

เรื่องเชื้อชาติถูกประกอบสร้างขึ้นมาตอน ร.6 แน่นอน อาจจะ ร.5 ด้วยซ้ำ แต่ด้วยความที่ในหลวง ร.6 เรียนที่อังกฤษ ก็ต้องไปอยู่กับ elite ฝรั่ง ท่านก็ได้ความคิดเรื่องพวกนี้มาโดยพวกล่าอาณานิคมอังกฤษในสมัยนั้นเกี่ยวกับเรื่อง race ผ่านกระบวนการศึกษา ผ่านชนชั้นนำ แล้วก็มาใช้จริงจังตั้งแต่มีการปกครองโดยคณะราษฎร เมื่อเราเริ่มเป็นประเทศสยามชัดเจน คำคำนี้ก็เลยถูกใช้อย่างเข้มข้นมากขึ้น และมันก็เกี่ยวข้องทางการเมืองด้วยว่า ‘ใครคือไทย ใครไม่ใช่ไทย’

เหมือนวลี “เกิดเป็นคนไทยต้องรักกัน” ?

ผมคิดว่าเราต่างกัน เรามีความแตกต่างเยอะในสังคมไทย ตลอดเวลาเราพยายามบอกว่าอยู่ร่วมกันได้ โดยไม่ยอมหันหน้ามาคุยว่าเราจะอยู่บนความแตกต่างนี้ได้ยังไง ทั้งหมดเป็นเพราะเราไม่ยอมให้คนเถียง กลัวเรื่องอำนาจกันเยอะ ทุกอย่างในประเทศนี้ผมไม่อยากบอกว่าเป็นอำนาจนิยม

แต่ทุกปัญหาในประเทศนี้เป็นปัญหาทางการเมือง เราไม่เคยถกเถียงด้วยประเด็นทางการเมืองอย่างชัดเจน การเมืองไม่ใช่แค่เลือกตั้ง การเมืองอยู่กระทั่งในครอบครัว คุณถกเถียงกับอำนาจได้หรือเปล่า คุณเถียงพ่อแม่ได้บ้างหรือเปล่า

ในกรณีรัฐที่เข้มแข็งมากในการสร้างความเป็นชาติ สามารถมีความเปลี่ยนแปลงได้บ้างไหม

มันก็เปลี่ยนนะ แต่ช้ามาก ด้วยความที่เรามีอคติเยอะ อคติอันหนึ่งทางศาสนาคือ พุทธศาสนาดีมากเลย เราไม่เคยฆ่าใคร แต่คุณย้อนไปสิ ปี 53 ยิงตรงวัดกี่ศพ บอกผมหน่อย นี่ไงยิงเข้าไปในวัด โคตรพุทธเลย ใครเขาบอก อาจารย์นิตินักวิชาการเสื้อแดง กูไม่สนใจกูเสื้อแดงเสื้อเขียวอะไร

หนึ่ง – มึงไม่มีสิทธิ์ยิงคน สอง – มึงบอกมึงเป็นพุทธ มึงยิงเข้าไปในวัด มึงอธิบายกูหน่อย มึงเป็นพุทธ มึง-ยิง-เข้า-ไป-ใน-วัด! ขอโทษ พุทธส้นตีนอะไรของมึง

ผมรับไม่ได้ และผมคิดว่าอันนี้เป็นอคติก้อนใหญ่มาก ที่คิดว่าเราเป็นพุทธ แล้วเราดี

แต่ขอโทษ เรานี่โคตรเป็นสังคมแห่งความรุนแรง อย่าง 6 ตุลา คนถีบลงถังแดงอะไรกันบ้าบอคอแตก ศาสนาพุทธเข้าไปเกี่ยวข้องหมด ถ้าเราไม่ตั้งคำถามกับศาสนาพุทธแล้วยังคงมองแต่ว่าพุทธดีอย่างนู้นอย่างนี้ คุณกำลังคิดว่าตนเป็นเทวดาเหนือกว่าคนอื่น คุณกำลังทำให้เรื่องนี้ถูกตามทำนองคลองธรรม (legitimate) เพื่ออำนาจของคุณ ขอโทษ ผมรับไม่ได้จริงๆ

ถ้าเราด่ามุสลิมว่าเทศน์เพื่อไปฆ่าคนอื่น มันก็ไม่ต่างกันเลย บอกผมหน่อยว่ามันต่างกันยังไง ผมคิดแทบตายก็คิดไม่ออก

ถามแทนสื่อมวลชน ประโยคคนไทยเชื้อสายจีน คนไทยเชื้อสายมอญ ยังสามารถเขียนได้ไหม

ผมคิดว่าเชื้อสายยังใช้ได้อยู่ ถ้าผมเข้าใจไม่ผิด มันหมายถึงพื้นเพของคุณครับ อย่าง Chinese background หรือ Italian background  คือในภาษาอังกฤษ คำนี้ neutral มากเลย ภูมิหลังคุณคืออะไรทำนองนั้น ผมไม่มีปัญหากับคำว่าเชื้อสาย ถ้าใช้คำแบบนี้ผมคิดว่าธรรมดา ถ้าเราจะต่อสู้กันผมคิดว่า ต่อไปนี้ไม่มีคำว่าเชื้อชาติ แค่สัญชาติก็โอเคแล้ว ประการสุดท้าย ในคำว่าสัญชาติต้องจัดการเรื่องรายละเอียดให้ชัดเจน

ที่พูดมาทั้งหมดคุณสนใจเรื่องเชื้อชาติ สัญชาติ แต่ผมคิดว่าควรไปให้ไกลกว่านั้น ในการเปลี่ยนวิธีคิดของคนในสังคม การเป็นเสียงส่วนมาก (majority) ไม่ได้บอกว่าคุณเหนือกว่าเขา ถ้ามุสลิมเท่ากับหนึ่ง พุทธก็ต้องเท่ากับหนึ่ง ต้องไม่มีใครเคลมเสียงข้างมาก หรือศาสนาเราดีที่สุด วัฒนธรรมไทยเราดีที่สุด มึงเป็นมึงก็เท่ากับหนึ่ง เขาเป็นมอญ เขาก็เท่ากับหนึ่ง ทุกอย่างเท่ากับหนึ่ง

Author

สันติสุข กาญจนประกร
อดีตบรรณาธิการเครางาม ปลุกปั้นและปล้ำ WAY มาในยุคนิตยสาร นักสัมภาษณ์ที่ไม่ยอมให้ข้อสงสัยหลงเหลือในประโยคพูดคุย เรียบเรียงถ้อยคำความหล่อบนบรรทัดด้วยทักษะแบบนักประพันธ์ หลังออกไปบ่มเพาะความคิด สันติสุขกลับมาพร้อมรสมือและกลิ่นกายที่คุ้นชิน และแน่นอน ทักษะด้านการเขียนที่ผ่านการเคี่ยวกรำมาย่อมแม่นยำกว่าเดิม

Author

วีรพงษ์ สุนทรฉัตราวัฒน์
1 ใน 3 คณะบรรณาธิการหนุ่มของ WAY

Author

กนกอร แซ่เบ๊
เราเคยแซวกันว่า "กนกอรเป็นคนจีนที่พูดไทยได้" หรือ "เป็นฮองเฮาประจำสำนัก WAY" ซึ่งไม่ผิดนัก เธออาจมองว่าภาษาจีนเป็นเรื่องสามัญในครอบครัว แต่สำหรับกองบรรณาธิการ หน้าที่ประการหนึ่งของอดีตนักศึกษามานุษยวิทยาคือการเปิดหน้าต่างบานใหม่ให้ WAY มองสิ่งต่างๆ ได้ไกลและกว้างกว่าที่เคยเป็น

Author

พชรกฤษณ์ โตอิ้ม
WAY Team Junior นิสิตจากรั้วจามจุรีผู้ชื่นชอบการเขียน แม่นยำเรื่องภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหว ยอดเยี่ยมเมื่อโอบกอดกีตาร์ แต่อย่าให้เปล่งเสียงร้องออกมาจะดีที่สุด

Author

พิศิษฐ์ บัวศิริ
เรียนจิตรกรรม แต่ดันชอบถ่ายรูปด้วย ทำงานมาสารพัด กราฟิก วาดรูป ถ่ายรูป อะไรก็ได้ที่ใช้ศิลปะเป็นส่วนประกอบ ติดเกมตั้งแต่เด็กยันแก่ รักการฟังเพลงเมทัล แต่พักหลังดันเป็นโอตะ BNK48

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า