นพ.โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์: โรคระบาดกับโลกของเรื่องเล่าในมุมมองมานุษยวิทยาการแพทย์

 

ต้องมีวาระไม่ปกติ-โกลาหล! WAY จึงจะได้สนทนากับ นพ.โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์

น้ำท่วมใหญ่ปี 2554 นั่นก็ครั้งหนึ่ง ในตอนนั้นคุณหมอโกมาตรเป็นผู้ประสบภัย แต่สภาวะโกลาหลของสังคมผลักคุณหมอเข้าไปมีส่วนร่วมกับการจัดระบบให้ศูนย์พักพิงผู้ประสบภัย 9 ปีต่อมา WAY ได้สนทนากับคุณหมอนักมานุษยวิทยาผู้นี้อีกครั้ง ในวันที่ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่กำลังระบาดไปทั่วโลก และประเทศไทยตกอยู่ในพื้นที่เสี่ยงอันดับ 1 ถ้าไม่นับประเทศจีน ต้นทางการระบาด

“โต๊ะผมยังไม่ได้จัดการอะไรให้เข้าที่เข้าทางเลย ผมเพิ่งเริ่มงานวันที่ 1 มกราคมที่ผ่านมา” นพ.โกมาตร เพิ่งรับตำแหน่งผู้อำนวยการศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) ในวันเริ่มต้นปี 2563

ในวาระไม่ปกติ-โกลาหล เช่นนี้ อดีตนักเขียนคอลัมน์ ‘คิดสลับขั้ว’ ในนิตยสาร WAY ใช้มุมมองทางมานุษยวิทยาสำรวจสถานการณ์การระบาดของไวรัสโคโรนา

และสิ่งหนึ่งที่แพร่มากับ ‘ไวรัส’ ก็คือ ‘ไวรัล’ และ ‘เรื่องเล่า’

การระบาดของไวรัสที่ถูกบอกเล่าผ่านเรื่องเล่าสำเร็จรูป เผยให้เราเห็นการควบคุมโรคทางระบาดวิทยา มาตรการการควบคุมโรค แต่มันก็เหมือนกับเรื่องเล่าทั้งหลายในโลกนี้ เมื่อเรื่องเล่าทำหน้าที่เปิดเผยบางสิ่งมันก็ปิดบังอะไรบางอย่างไปด้วย สิ่งที่ถูกซ่อนไว้ใต้เรื่องเล่าสำเร็จรูปก็อาจจะเป็นเรื่องความเหลื่อมล้ำ ชนชั้น โครงสร้างทางเศรษฐกิจ อำนาจทางการเมืองโลก

ต้องมีวาระไม่ปกติ-โกลาหล! WAY จึงจะได้สนทนากับ นพ.โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์

เวลาที่เกิดโรคระบาด สิ่งหนึ่งที่นักมานุษยวิทยาสนใจศึกษา ก็คือพล็อตการเล่าเรื่อง ดูเหมือนว่าโรคระบาดจะมีพล็อตการเล่าเรื่องแบบสำเร็จรูป ซึ่งทำให้เราละเลยข้อเท็จจริงอื่นๆ อยากจะชวนคุณหมอลองมองพล็อตเรื่อง ไวรัสโคโรนาที่กำลังระบาดตอนนี้ แม้ยังไม่มีตอนจบ แต่เรื่องเล่าเกี่ยวกับโคโรนาเท่าที่ไหลเวียนอยู่ในตอนนี้ มันทำให้เราละเลยหรือปิดบังไม่ให้เรามองเห็นปัญหาที่ควรจะมองอย่างไรบ้าง

ความจริงอีกหลายอย่างที่ไม่ได้ถูกบอกเล่าผ่านเรื่องเล่าสำเร็จรูปที่เรียกว่า ‘outbreak narrative’ ที่เราจะเห็นได้ชัดเจนโดยเฉพาะในกรณีของโรคซาร์ส ซึ่งนักมานุษยวิทยาชื่อ พริสซิลลา วาลด์ (Priscilla Wald) ได้ตั้งข้อสังเกตว่าโรคระบาดหรือโรคอุบัติใหม่ที่เกิดขึ้นจะถูกบอกเล่าแบบสูตรสำเร็จ คือ เริ่มจากการมีโรคปริศนาที่เกิดขึ้นในพื้นที่หนึ่ง โดยมีผู้ป่วยที่มีอาการไม่เหมือนกับโรคที่เรารู้จัก ต่อมาการสืบสวนทางระบาดวิทยาทำให้รู้ว่าโรคเกิดจากพาหะอะไร แพร่ระบาดอย่างไร เมื่อมีการติดตามผู้ป่วยที่เรียกว่า index case ก็พบว่ามีแพร่ไปยังรายต่อๆ ไป แล้วก็เริ่มวางระบบการเฝ้าระวังและมีการกักกันโรคขึ้นมา ในที่สุดก็สามารถควบคุมโรคได้

วิธีการบอกเล่าแบบนี้ก็มีข้อดี เพราะทำให้เห็นว่าการควบคุมโรคทางระบาดวิทยามันเป็นอย่างไร แต่ว่ามันก็เหมือนกับเรื่องเล่าทั้งหลายในโลกนี้ เมื่อเรื่องเล่าทำหน้าที่เปิดเผยอะไรบางอย่าง มันก็ปิดบังอะไรบางอย่างไปด้วย เขาก็ตั้งคำถามว่าเรื่องเล่าที่สำเร็จรูปเช่นนี้ เมื่อถูกใช้ซ้ำๆ จนเป็นสูตรสำเร็จ มันได้ไปปิดบังอะไรบ้าง ซึ่งมันอาจไปปิดบังเรื่องความเหลื่อมล้ำ โรคบางอย่างเกิดขึ้นกับคนบางกลุ่ม บางประเทศ ทำไมคนกลุ่มนั้นจึงมีความเสี่ยงสูงกว่าคนกลุ่มอื่นๆ ซึ่งอาจเป็นเพราะเขาอยู่ในโครงสร้างที่มีการเอารัดเอาเปรียบกัน ต้องเผชิญกับความแร้นแค้น หรือไร้อำนาจต่อรอง ทั้งยังอาจมีเรื่องความไม่เท่าเทียมในโอกาสเข้าถึงการรักษาโรค แต่เรื่องเหล่านี้ยังไม่ได้ปรากฏอยู่ในวิธีการเล่าแบบนี้ ทีนี้ พอเราเล่าเรื่องแบบหนึ่ง สังคมก็จะมีความรับรู้ต่อเรื่องราวนั้นๆ ในอีกแบบหนึ่ง

หมายความว่า วิธีการเล่าเรื่อง อย่างเช่นการวางพล็อตเรื่องก็มีผลต่อความรับรู้ของสังคม?

ใช่ครับ มันไม่ได้มีผลแค่ต่อความรับรู้หรือการสื่อสารเท่านั้น มันยังมีผลต่อการคิดและการกระทำของมนุษย์ด้วย มีหนังสือเล่มหนึ่งชื่อว่า Metaphors We Live By พูดถึงการอุปมาอุปไมยว่ามันมีผลทำให้เรามองโลกและมีชีวิตแบบใดแบบหนึ่ง ทัศนคติของเราก็อาจถูกสร้างขึ้นจากเรื่องเล่าและอุปมาอุปไมยแบบนี้ ในงานศึกษาทางมานุษยวิทยาของ เอมิลี มาร์ติน (Emily Martin) ก็ได้แสดงให้เห็นว่า การเปรียบเทียบร่างกาย โดยเฉพาะระบบสืบพันธ์ุของสตรีกับการผลิตแบบอุตสาหกรรมทำให้เลือดประจำเดือนของผู้หญิงถูกมองว่าเป็นของเสีย แทนที่จะมองเป็นการงอกงามของผนังมดลูกใหม่

ในกรณีเชื้อโรคดื้อยา ในทางการแพทย์มักทำความเข้าใจ ‘เชื้อโรค’ ผ่านอุปมาอุปไมยในเรื่องสงคราม หรือที่ภาษาอังกฤษก็จะใช้คำว่า ‘war metaphor’ เป็นการใช้อุปลักษณ์ของการสงครามที่มีเชื้อโรคเป็นผู้บุกรุกเข้ามาในร่างกาย ทำให้เกิดสงครามเกิดการต่อสู้กัน เมื่อไปสร้างอุปลักษณ์แบบนี้เข้า ทัศนะของเราที่มีต่อเชื้อโรคก็เป็นไปในแง่ลบมาก ทั้งที่จริงๆ แล้วเชื้อโรคหรือจุลชีพไม่ได้ทำให้เกิดโรคไปเสียทุกอย่าง มีจุลชีพไม่ถึง 5 เปอร์เซ็นต์บนโลกนี้ที่ทำให้เกิดโรค ที่เหลือเป็นจุลชีพดีที่หากมนุษย์ไม่มีมัน มนุษย์ก็อาจจะอยู่ไม่ได้ด้วยซ้ำไป แต่เมื่อมีการเล่าเรื่องเชื้อโรคในลักษณะนี้ จุลชีพทั้งหมดก็กลายเป็นถูกมองว่าเป็น ‘เชื้อโรค’ จำเป็นต้องถูกจัดการด้วยมาตรการต่างๆ จนบางครั้งมากจนเกินเหตุไปก็ได้

ในแง่นี้ก็เป็นการตั้งคำถามว่า เวลาเรื่องราวต่างๆ ถูกบอกเล่า มันทำให้เราเห็นอะไรบางอย่าง แต่มันก็ทำให้เราละเลยความเข้าใจในแง่มุมอื่นหรือไม่ หรือเรื่องบางเรื่องจะถูกบอกเล่าในบางลักษณะ ในขณะที่เรื่องบางเรื่องอาจไม่ถูกพูดถึงเลย อย่างเช่นกรณีโคโรนาไวรัส มีการตั้งข้อสังเกตว่า

ทำไมเมื่อโรคเหล่านี้เกิดขึ้นในประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะในเอเชีย อย่างเช่น กรณีไข้หวัดนกที่ฮ่องกง หรือโรคซาร์ส ซึ่งเกิดในมณฑลกวางตุ้ง และโคโรนาไวรัสที่เกิดที่เมืองอู่ฮั่น ในประเทศจีน เรื่องราวที่บอกเล่าจึงเน้นที่ประเทศต้นกำเนิด มากกว่าเมื่อครั้งไข้หวัดสายพันธุ์ H1N1 ที่เกิดขึ้นในอเมริกา และมีคนป่วยทั่วโลกถึงล้านกว่าคนและมีคนตายเกือบ 3 แสนคน แพร่ระบาดไปกว่า 200 ประเทศ ทำไมสื่อต่างๆ จึงไม่ให้ความสนใจหรือลงข่าวเกี่ยวกับต้นกำเนิดของโรค หรือวิพากษ์วิจารณ์ความล้มเหลวในวิธีการจัดการปัญหาเหมือนที่เกิดขึ้นในเอเชีย

การเลือกที่จะเล่าเรื่องบางอย่างในบางลักษณะจึงกำหนดความรับรู้และปฏิกิริยาของสังคมไปด้วย

ถ้านักมานุษยวิทยาพยายามจะมองหาพล็อตเรื่องที่จะเล่าเกี่ยวกับโรคระบาด เราจะมีทางเลือกในการเล่าเรื่องอย่างไรบ้าง

ถ้าเรามองหาเรื่องเล่าจากประวัติศาสตร์ของโรคระบาด เรื่องเล่าความทรงจำทางสังคมที่บอกเล่าผ่านปฏิกิริยาของสังคมต่อโรคระบาดรุนแรงมีอยู่ทั้งสองด้าน คือ เรื่องเล่าเกี่ยวกับโรคระบาดและความเกลียดชังกับเรื่องเล่าของเมตตาธรรม อย่างเช่น การระบาดของกาฬโรคในยุโรป แม้จะมีคนล้มตายหลายล้านคน แต่กลับมีบันทึกเรื่องราวจำนวนมากที่เขียนเกี่ยวกับความรัก ความเมตตา และการช่วยเหลือกันด้วยมนุษยธรรม ในขณะที่เรื่องเล่าของการกล่าวโทษหรือเกลียดชังกันนั้น ดูเหมือนจะมีมากขึ้นในช่วงหลังของประวัติศาสตร์ คือ ราวต้นศตวรรษที่ 19 นี้ ซี่งในแง่นี้ เรื่องเล่าก็อาจสะท้อนถึงยุคสมัยด้วย ในปัจจุบันที่กระแสเสรีนิยมกำลังถูกวิพากษ์วิจารณ์ ลัทธิชาตินิยมและความเกลียดชัง ‘ความเป็นอื่น’ โดยเฉพาะในทางเชื้อชาติกำลังเฟื่องฟู เรื่องเล่าที่พบเห็นได้มากก็คงจะเป็นเรื่องการกล่าวโทษที่มีส่วนผสมของการเหยียดเชื้อชาติกับการมองผ่านภาพตัวแทนของความเป็นตะวันออก หรือ orientalism ที่มักเน้นพฤติกรรมแปลกประหลาดของคนตะวันออกที่ดูไม่ค่อยมีเหตุผล เช่น กินค้างคาว อะไรแบบนี้ การเล่าเรื่องแบบนี้ก็จะผลิตซ้ำภาพที่ทำให้โลกเกลียดคนจีน คนจีนเกลียดคนหูเป่ย คนหูเป่ยเกลียดคนอู่ฮั่น ส่วนคนอู่ฮั่นก็อาจเกลียดคนกินค้างคาว อะไรแบบนี้

ในขณะเดียวกัน มันก็มีเรื่องเล่าที่ให้กำลังใจ สร้างพลังความสามัคคี หรือความเห็นอกเห็นใจ ทั้งต่อผู้ที่ต้องเผชิญชะตากรรมและผู้ที่ต้องทำหน้าที่ตรวจรักษาหรือเฝ้าระวังการระบาด เรื่องราวการร้องเพลงให้กำลังใจกัน การส่งของจากประเทศต่างๆ ไปช่วย หรือการโพสต์ข้อความ ‘อู่ฮั่นเจียอิ๋ว’ หรืออู่ฮั่นสู้ๆ ก็เป็นการเล่าเรื่องที่ช่วงชิงพื้นที่บนสื่อ แต่เรื่องเล่าทั้งที่มาจากความโกรธ ความเกลียดหรือความกลัว หรือเรื่องเล่าแห่งความรักสามัคคีนี้ก็ยังจำเป็นต้องมีเรื่องเล่าที่เปิดเผยถึงโครงสร้างอำนาจหรือความเหลื่อมล้ำที่ผลิตซ้ำและค้ำยันโครงสร้างแห่งความรุนแรงอันเป็นจุดกำเนิดของปัญหาต่างๆ แต่เรื่องเล่าแบบนี้ก็มักจะเป็นเรื่องเล่าที่จำเป็นต้องมีความเข้าใจในมิติของความสัมพันธ์เชิงอำนาจ โดยเฉพาะความสัมพันธ์ในระดับสุขภาพโลก (global health)

ถ้ามองในเชิงโครงสร้างระดับโลก ก็ทำให้นึกถึงพล็อตอีกแบบที่เล่าว่า สาเหตุหนึ่งที่ทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศเสี่ยงติดเชื้อไวรัส เพราะว่านโยบายรับนักท่องเที่ยวเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ

อันนี้ก็ถือว่าเป็นการมองในเชิงโครงสร้าง คือ ตำแหน่งแห่งที่ของประเทศไทยในโครงสร้างทางเศรษฐกิจโลก ซึ่งเราอาจสืบสาวไปหาประวัติศาสตร์ในยุคสงครามเย็นที่ประเทศไทยถูกวางให้เป็นที่พักผ่อนหย่อนใจ (Rest and Recreation หรือ R&R) ของทหารอเมริกาจนกลายเป็นรากฐานของอุตสาหกรรมบันเทิงและการท่องเที่ยวในปัจจุบัน อันนี้ก็จะเห็นได้ชัดว่า โรคอุบัติใหม่ก็อาจเป็นผลลัพธ์ที่คาดไม่ถึง (unintended consequences) ของการวาง โพสิชั่นของไทยในยุคสงครามเย็นก็ได้ ไม่ต่างจากที่นักมานุษยวิทยาจำนวนหนึ่งเสนอว่า โรคอีโบลา หรือโรคเวสต์ไนล์ในแอฟริกา ก็เป็นผลผลิตของยุคอาณานิคมที่เข้าไปกดขี่ขูดรีดประเทศในทวีปแอฟริกาจนอยู่ในสภาพแร้นแค้นและล้าหลัง ขาดการพัฒนาในเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน จนไม่สามารถรับมือกับโรคอะไรได้

การมองเชิงโครงสร้างก็อาจมองได้ในหลายระดับ ในระดับโลก เราอาจเห็นถึงความไม่เท่าเทียมกันในหลายลักษณะ ประเทศที่ร่ำรวยอาจมีทรัพยากรมากพอที่จะสร้างระบบสาธารณสุขและการแพทย์ที่มีประสิทธิภาพ อาจเป็นประเทศที่ผลิตยาและวัคซีน มีโอกาสในการเก็บสต็อคยาหรือวัคซีนที่จำเป็นไว้ใช้ป้องกันประเทศตนเอง แทนที่จะนำไปใช้ในประเทศยากจนที่จำเป็นมากกว่า

นักวิชาการบางกลุ่มตั้งข้อสังเกตว่า การที่ประเทศโลกที่ 1 เข้ามาดำเนินการควบคุมโรคเมื่อมีโรคระบาดบางอย่าง เช่น วัณโรค หรือไข้หวัดนก อาจเป็นเพราะประเทศโลกที่ 1 ต้องการสร้างแนวป้องกันที่ดันโรคให้ระบาดอยู่แต่เฉพาะในประเทศโลกที่ 3 อย่าให้มันแพร่ไปถึงประเทศโลกที่ 1 หรือพูดง่ายๆ คือ เอาประเทศโลกที่ 3 เป็น firewall กักเชื้อโรคหรือไวรัสอันตรายไว้

ในระดับประเทศ เราก็อาจต้องทำความเข้าใจว่า ใครคือกลุ่มเสี่ยง เพราะคนที่มีความเสี่ยงก็ไม่ได้เกิดขึ้นโดยบังเอิญ แต่ความเสี่ยงกระจายไปตามเงื่อนไขทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม เวลามองว่าใครกันแน่ที่มีโอกาสเสี่ยงมากกว่ากัน คนขับรถแท็กซี่ขับรถพาคนจีนจากสนามบินไปส่งที่หมาย อาชีพเขามีโอกาสเจอโรคมากกว่าผู้บริหารที่นั่งทำงานแถวสีลมใช่หรือไม่

อันนี้เราจะเห็นว่า ที่เขาติดเชื้อไม่ใช่เรื่องบังเอิญหรือเรื่องเวรกรรม แต่เป็นเพราะลักษณะทางชนชั้นและการแบ่งงานกันทำในสังคม ทำให้โอกาสที่จะไปเจอกับความเสี่ยงมีระดับที่ต่างกัน ถ้าเราสังเกตก็จะพบว่า โรคต่างๆ ที่แม้จะพบวัคซีนป้องกัน หรือมียารักษาแล้ว แต่โรคเหล่านั้นก็มักจะยังพบเห็นได้ในกลุ่มคนชายขอบ คนไร้อำนาจ หรือด้อยโอกาสต่างๆ เช่น แรงงานข้ามชาติ กลุ่มชาติพันธุ์ คนจน ผู้หญิง เด็กในสลัม หรือคนไร้บ้าน คนเหล่านี้แม้จะต้องเผชิญกับปัญหาและความเสี่ยงต่างๆ มากกว่ากลุ่มอื่น แต่เราก็มักไม่ค่อยมีเรื่องเล่าเกี่ยวกับพวกเขามากนัก ยารักษาโคโรนาไวรัสก็เช่นเดียวกัน แม้จะมีการค้นพบสูตรการรักษา แต่โอกาสเข้าถึงการรักษาของคนกลุ่มต่างๆ ก็อาจแตกต่างกัน

สิ่งหนึ่งที่ตามมากับ ‘ไวรัส’ คือ ‘ไวรัล’ ในทางระบาดวิทยา เรารับมือกับสิ่งไหนได้ดีกว่ากัน

จริงๆ คำว่า ‘ไวรัล’ ก็มาจาก ‘ไวรัส’ นั่นแหละนะ คือมันติดกันง่าย ข่าวสารที่เป็นไวรัลก็แพร่ระบาดไปเหมือนประหนึ่งติดเชื้อไวรัสอะไรแบบนี้ ในทางมานุษยวิทยา เราก็สนใจในสิ่งที่เรียกว่า community response หรือการตอบสนองของชุมชนที่มีต่อโรคหรือภัยพิบัติ การตอบสนองในปัจจุบันก็ย่อมแตกต่างไปจากยุคก่อน อย่างเช่น เรื่องความกลัว การรังเกียจเดียดฉันท์ หรือการกล่าวโทษนี่ เราก็รู้อยู่แล้วว่ามันเคยมีมาก่อน รวมทั้งเรื่องการเลือกปฏิบัติ (discrimination) หรือการตีตรา (stigmatization) ก็เช่นเดียวกัน มันเป็นผลพวงที่เกิดขึ้น แต่ในยุคดิจิตอลนี่ ข้อมูลข่าวสารมันไปเร็วกว่าเดิมมากตามรูปแบบของการสื่อสารและปฏิสัมพันธ์ที่ผู้คนมี ไวรัลที่แพร่ไป ถ้ามันมีเนื้อหาที่ช่วยในการรับมือกับวิกฤติได้ก็ถือว่าดี ในบางประเทศ อย่างไต้หวัน ก็เห็นว่ามีการใช้ประโยชน์จากไวรัลเพื่อเผยแพร่ความเข้าใจและสร้างทัศนคติเชิงบวกในการควบคุมโรค แต่ถ้ามันเป็นเนื้อหาเชิงลบ มันก็ส่งผลกระทบเร็วและกว้างได้เหมือนกัน

แต่โดยพื้นฐานแล้ว ไวรัลในสถานการณ์โรคระบาดมักจะเป็นไปในทางกระพือความตื่นกลัว หรือสร้างความเกลียดหรือกล่าวโทษกัน อันนี้ส่วนหนึ่งเป็นธรรมชาติของโรคที่มันยังเป็นปริศนา คือไม่รู้ว่ามันระบาดอย่างไร ติดง่ายแค่ไหน รุนแรงหรือเปล่า ความไม่รู้ทำให้เกิดความกลัว พอกลัวก็มองหา ‘แพะ’ มารับบาปนี้ไป ลึกๆ แล้วมนุษย์ต้องการคำอธิบาย การกล่าวโทษก็เป็นวิธีการอธิบายแบบหนึ่งที่ตอบสนองความกลัวหรือความกังวลใจลึกๆ

ในงานศึกษาของ พอล ฟาร์มเมอร์ เรื่องเอดส์กับการกล่าวโทษ เขาก็ได้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ในขณะที่ผู้คนและสถาบันการแพทย์ในอเมริกาเหนือกล่าวโทษว่า โรคเอดส์มาจากเฮติ ชาวบ้านในหมู่บ้านก็มีการกล่าวโทษกันเองว่ามีการทำคุณไสยใส่กัน เพราะความอิจฉาหรือเพราะเป็นศัตรูกันในชุมชน การกล่าวโทษจึงมีทุกๆ ระดับ และบางครั้งถูกผลิตซ้ำโดยไม่รู้ตัวโดยสถาบันทางการแพทย์ เช่น ในกรณีที่ศูนย์ควบคุมโรคในสหรัฐอเมริกาออกมาระบุว่า ชาวเฮติเป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะแพร่กระจายโรคเอดส์ ทำให้ผู้คนไม่กล้าใช้รถแท็กซี่เพราะชาวเฮติจำนวนมากมีอาชีพเป็นคนขับแท็กซี่ ทั้งที่โรคเอดส์มันก็ไม่ได้ติดกันง่ายๆ อย่างนั้น

ในประวัติศาสตร์ของโรคระบาด มันเคยมีไวรัลตอนที่เกิดอหิวาต์หรือกาฬโรคไหมครับ

เรื่องข่าวที่แพร่สะพัดไปเมื่อเกิดโรคระบาดมันคงจะมีอยู่แล้ว ข่าวลืออะไรพวกนี้ใช่ไหม แต่ว่ามันก็คงเป็นไปแบบปากต่อปาก แต่มันก็จะไปเร็วขึ้นตามเทคโนโลยีการสื่อสาร อย่างเมื่อตอนเกิดโรคกาฬโรคระบาดในลอนดอน หนังสือพิมพ์ที่พิมพ์เผยแพร่ก็จะมีการลงข่าวโคมลอยพร้อมๆ ไปกับการขายยาที่อ้างว่ารักษาโรคนั้นได้ ยิ่งเมื่อมีโทรเลขเกิดขึ้น ข่าวสารก็ยิ่งเดินทางไปเร็วกว่าหนังสือพิมพ์ที่เดินทางไปทางรถไฟ ในยุคโทรเลขนี้ก็มีแล้วนะ มีคนเรียกยุคโทรเลขว่า Victorian Internet คือเป็นอินเทอร์เน็ตยุควิคตอเรีย มีบันทึกว่ามีข่าวปลอม มีการแฮ็คโทรเลข (หัวเราะ) เพื่อที่จะดักฟังข้อความ มีการส่งข้อความโดยอ้างตนเป็นคนอี่น หรือจะเรียกว่า fake account ก็ได้ มีการนัดหมายแบบหาคู่ทางโทรเลข มันก็มีเหมือนกันนะ มันไม่ได้เป็นอะไรที่เพิ่งมีในยุคอินเทอร์เน็ต เพียงแต่ว่าขอบเขต ขนาด ความสามารถในการแพร่ระบาดมันก็อาจจะกว้างไกลขึ้นเยอะในปัจจุบัน ข่าวสารเดินทางเร็วขึ้น ในขณะเดียวกัน โรคก็เดินทางเร็วขึ้นด้วย

ถ้าเราลองเปรียบเทียบกับกาฬโรคที่ระบาดใหญ่ในยุโรปในราวกลางคริสตวรรษที่ 14 ช่วงเริ่มต้นของการระบาดโรคเกิดขึ้นจากฝั่งเอเชียแถบไซบีเรียหรือตะวันออกไกลก่อน คือเกิดจากกลุ่มสัตว์กัดแทะที่นำโรคมาสู่คน ก็คล้ายๆ กับไวรัสโคโรนาที่เริ่มจากค้างคาว แต่กาฬโรคนี่กว่าที่มันจะเดินทางไปพบกับหนูที่เป็นพาหะนำโรคกลุ่มใหญ่แล้วระบาดไปติดเชื้อในหมู่คนพื้นเมือง แล้วแพร่ระบาดไปทางบก จนกว่าหนูที่ติดเชื้อจะได้ขึ้นเรือสินค้าเดินทางข้ามมหาสมุทรจนกระทั่งถึงเมืองท่าที่ยุโรป เบ็ดเสร็จแล้วกระบวนการนี้ใช้เวลาสิบกว่าปี ปัจจุบัน โรคอุบัติใหม่ต่างๆ มันก็มีแบบแผนเดียวกัน แต่ปัจจุบันอาจจะใช้เวลาแค่ 3 เดือนก็สามารถระบาดทั่วโลก ด้วยเทคโนโลยี การเดินทาง การสื่อสาร ทั้งการระบาดของโรคและไวรัลของข้อมูลข่าวสาร มันก็เกิดขึ้นเร็วมากขึ้นกว่าเดิม ยิ่งยุคดิจิตอลที่ใครๆ ก็ทำหน้าที่เป็นสื่อได้ ก็ยิ่งควบคุมยากขึ้นไปใหญ่ ปฏิกิริยาที่สังคมมีต่อโรคระบาดจึงซับซ้อนและเปลี่ยนแปลงเร็วขึ้นกว่าในอดีตมาก

มานุษยวิทยาจะช่วยให้เราสามารถรับมือกับเรื่องราวเหล่านี้ได้ดีขึ้นไหมครับ

อันนี้ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ด้วย คือ ถ้าต้องจัดการกับสถานการณ์เฉพาะหน้าก็คงต้องอาศัยทักษะการสื่อสารในสถานการณ์เสี่ยง มีการจัดการการให้ข่าวที่ดีจากผู้ให้ข่าวจุดเดียว เพื่อให้ข่าวสารเป็นเอกภาพ ติดตามสถานการณ์ได้ฉับไวและตอบสนองได้อย่างน่าเชื่อถือ ไม่ใช่เช้าอย่าง เย็นไปอีกอย่าง หรือคนหนึ่งพูดอย่าง อีกคนพูดอีกอย่าง อันนี้เป็นเรื่องการสื่อสาร แต่ในการทำงานควบคุมโรค การเข้าใจปฏิกิริยาของชุมชนที่มีต่อโรคช่วยให้การทำงานเพื่อการควบคุมโรคมีความละเอียดอ่อนและขัดแย้งกับชุมชนน้อยลง อย่างเช่นกรณีโรคอีโบลา ที่การแพร่ระบาดเกิดได้มากเมื่อมีการสัมผัสกับผู้ป่วยหรือศพ แต่ในชุมชนในประเทศกินีที่มีการระบาดอย่างหนักนั้น เวลาที่ผู้ป่วยป่วยหนักหรือใกล้จะเสียชีวิต ครอบครัวจะดูแลผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด เช็ดตัว เปลี่ยนเสื้อผ้าให้ ยิ่งเมื่อมีคนเสียชีวิต ญาติมิตรก็จะมีพิธีกรรมที่ต้องทำให้กับผู้ป่วย พี่ๆ น้องๆ ต้องมาปรึกษาเพื่อจัดการกับหนี้สิน ไม่ให้คนตายตายไปพร้อมกับหนี้ ต้องแสดงความรักและสั่งเสียกันอย่างใกล้ชิด มีการกอด การสัมผัสเพื่อแสดงความอาลัย เพราะมันเป็นวิถีปฏิบัติที่ให้เกียรติแก่คนตายในสังคมแอฟริกา แต่พอเกิดโรคอีโบลาระบาดขึ้น การกระทำเช่นนั้นก็จะทำให้เชื้อแพร่ระบาดไป ตรงนี้เองที่เราจะต้องเข้าใจและหาทางออกที่สอดคล้องกับวิถีท้องถิ่น

แพทย์และนักระบาดวิทยาก็ไม่อยากให้ญาติพี่น้องมาสัมผัสผู้ป่วย เวลาเกิดคนป่วยหรือเสียชีวิต เขาก็จะกันคนออก ไม่ให้เข้ามาสัมผัสหรือใกล้ชิดกัน ยิ่งถ้าเสียชีวิตก็เรียกว่าใส่ถุงพลาสติกรูดซิปกันเลยทีเดียว ญาติพี่น้องก็รู้สึกว่า มันไม่ได้ คุณจะทำแบบนี้ไม่ได้ เราต้องเคารพเขา ต้องช่วยให้เขาได้จากไปด้วยดี การห้ามไม่ให้มีการประกอบพิธีกรรมหรือการเอาศพใส่ถุงพลาสติกรูดซิปปิดอย่างแน่นหนา เป็นสิ่งที่ชุมชนรู้สึกว่าเป็นการปฏิบัติที่ไม่ให้เกียรติผู้ตาย ยิ่งในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา ชุมชนเองก็ไม่ไว้วางใจเจ้าหน้าที่รัฐ ซ้ำร้ายบางคนบอกว่า โรคนี้เมื่อก่อนไม่เห็นมี มันมีขึ้นก็เมื่อเจ้าหน้าที่รัฐเดินทางเข้ามา บางคนก็คิดว่าโรคอีโบลาเป็นเรื่องที่กุขึ้น เพราะพวกองค์การระหว่างประเทศที่เข้ามาทำงานมักมีรถเก๋ง SUV คันใหญ่ มีเครื่องไม้เครื่องมือราคาแพง ในขณะที่โรงพยาบาลในท้องถิ่นของเขา แทบไม่มีอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่จำเป็นอะไรเลย ความขัดแย้งขยายตัวมากขึ้นถึงกับมีขัดขวางการเดินทางเข้าหมู่บ้าน โดยการล้มไม้ขวางถนน มีการทำร้ายเจ้าหน้าที่ รวมทั้งเผาสถานพยาบาลที่องค์การนานาชาติสร้างขึ้น  อันนี้ก็ถือว่าเป็นปฏิกิริยาของชุมชนที่มีต่อโรค ที่ทำให้การทำงานควบคุมโรคทำได้ยาก

การเข้าใจวิธีคิด ความรู้สึกและความต้องการของชุมชนจึงมีความสำคัญ นักมานุษยวิทยาอังกฤษคนหนึ่งชื่อ เมลิซซา ลีช (Melissa Leach) ได้เข้าไปศึกษาความเชื่อและวิถีการปฏิบัติของชุมชนในเรื่องนี้อย่างลึก และเห็นปัญหาชัดเจนว่าเกิดจากทั้งสองฝ่ายต่างก็ไม่เข้าใจกัน ไม่ไว้วางใจกัน และไม่มีการสื่อสารกัน บุคลากรทางการแพทย์ไม่มีความรู้ในเรื่องวัฒนธรรมท้องถิ่นจึงจัดให้มีพื้นที่สำหรับการเรียนรู้และมีการปรึกษาหารือกับชุมชนเพื่อปรับเปลี่ยนวิธีการในการจัดการศพที่เป็นทางออกที่ประนีประนอมกันได้ โดยทำให้มีการสัมผัสผู้ป่วยคลุกคลีกับผู้ป่วยก็น้อยลง หรือใช้พิธีกรรมและกระบวนการอื่นเข้ามาช่วยทดแทนสิ่งที่ชาวบ้านเคยเชื่อเคยทำกันมา จนในที่สุดเรื่องนี้ก็สามารถหาทางออกที่ละมุนละม่อม โดยไม่ต้องไปหักหาญน้ำใจกันได้

ถ้าเราหันมาพิจารณาเรื่อง ‘ไวรัล’ ที่เกิดจากการแชร์ข่าวว่านี่เป็นปฏิกิริยาของชุมชนแบบหนึ่ง เราก็อาจศึกษาได้เช่นกันว่า ในการแชร์ข่าวนั้นเกิดเพราะผู้แชร์ต้องการอะไร เนื้อหาแบบไหนที่จับใจผู้คน จริงๆ เราจะเห็นได้ชัดว่าการแชร์เนื้อหาข่าวที่สับสนส่วนหนึ่งเกิดจากการให้ข่าวของหน่วยงานต่างๆ ที่ผ่านมาค่อนข้างสับสน และไม่ใช่ว่าคนอยากจะแชร์แต่ข่าวร้ายอย่างเดียว ข่าวดีที่ช่วยให้ความหวังก็มีการแชร์กันอย่างเอิกเกริกเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะเมื่อมีการประกาศว่าแพทย์ไทยพบยารักษาโรคหวัดจากไวรัสโคโรนา ก็จะเห็นได้ว่าภายในชั่วเวลาไม่ถึงชั่วโมง หน้าฟีดของเฟซบุ๊คก็เต็มไปด้วยข่าวนี้ทันที

ดูเหมือนว่าการรักษาก็มีการค้นพบได้ไวขึ้น อันนี้ถือว่าทำให้สถานการณ์เปลี่ยนแปลงเร็วขึ้นไปด้วย?

การรักษานี่ก็ถือว่ามันก็เป็นอะไรที่น่ามหัศจรรย์เหมือนกันนะ ในแง่หนึ่ง ความน่ากลัวของโรคจะลดลงทันทีเมื่อมีข่าวว่าแพทย์ค้นพบการรักษาโรคประหลาดนี้แล้ว อย่างในตอนที่โรคเอดส์ระบาด มันมีทั้งความโกรธ ความเกลียด และความกลัวเกิดขึ้นโดยทั่วไป มีข่าวว่าคนป่วยเอาเข็มฉีดยาไล่แทงคน หรือผู้ติดเชื้อเจตนาไปร่วมเพศเพื่อให้คู่นอนติดเชื้อ แต่พอมีข่าวว่ามียารักษา ความน่ากลัวของโรคก็เปลี่ยนไป กลายเป็นปัญหาว่า จะหายาได้ที่ไหน

ซึ่งในตอนที่นักวิจัยค้นคว้าหายารักษาเอดส์ ตอนนั้นก็ถือว่ามหัศจรรย์แล้วนะ เพราะมันมีความร่วมมือและความพยายามที่จะเร่งหายามารักษา ภายในเวลาไม่กี่ปีก็มียาที่พอจะใช้รักษาได้ ตอนนั้นวงการแพทย์ก็ถือว่าเป็นการค้นคว้าผลิตยาที่ไวขึ้นกว่าการพัฒนายาที่มีมาก่อนหน้านี้มหาศาล แต่ว่ายิ่งมาระยะหลังมันยิ่งไวขึ้นๆ อันนี้อาจเป็นเพราะว่าโรคเหล่านี้มันคุกคามไปถึงประเทศโลกที่หนึ่ง พอมันคุกคามไปถึงประเทศโลกที่หนึ่ง โลกที่หนึ่งเดือดร้อน เขาก็ต้องเร่งรัดพัฒนาตัวยามาเพื่อป้องกันตัวเองด้วย

แต่ว่ามันมีโรคที่ไม่เป็นอย่างนี้ ยกตัวอย่างเช่น มาลาเรีย ซึ่งระบาดอยู่แต่เฉพาะในประเทศโลกที่สามที่ทำให้คนป่วยมากกว่าสามร้อยล้านคน และตายมากกว่า 1 ล้านคนทุกปี แต่คนตายส่วนใหญ่อยู่ในแอฟริกา ก็ไม่มีบริษัทยาที่ไหนจะสนใจพัฒนายามารักษา เพราะประเทศเหล่านี้ไม่มีกำลังซื้อ หรืออย่างวัณโรคก็เช่นเดียวกัน เราก็ไม่มียาใหม่ๆ ที่ได้รับการพัฒนามารักษาวัณโรคมานานแล้ว มีแต่ยาเก่าที่เคยใช้กันมา

ก็ดื้อยากันบ้าง แต่ว่าถ้าโรคเหล่านี้มันไม่ไปสร้างปัญหาขึ้นกับประเทศที่เขาพัฒนายา บริษัทยาก็ไม่สนใจทำการวิจัยเพื่อพัฒนายา การพัฒนายาส่วนหนึ่งมันเป็นเรื่องผลประโยชน์

ถ้าเรามองย้อนไปในประวัติศาสตร์ อย่างการค้นพบเพนิซิลลิน แม้จะมีการค้นพบมาก่อนแล้ว แต่การผลิตเพนิซิลลินเพื่อใช้อย่างกว้างขวางไม่เกิดขึ้น ผู้ป่วยรายแรกที่ได้รับยาเพนิซิลลินเขาโดนหนามกุหลาบเกี่ยวเข้าที่ใบหน้า แล้วก็เกิดการติดเชื้อลุกลามไปอย่างรุนแรง ก็มีคนเขาบอกว่ามียาเพนนิซิลลินที่ อเล็กซานเดอร์ เฟลมมิง ค้นพบว่ามันระงับการเจริญของเชื้อโรคได้ ก็เอามาลองใช้ดู พอมาใช้ก็ได้ผล แต่ว่าใช้ได้เดี๋ยวเดียวยาก็หมด คนไข้ก็ตายอยู่ดี

เพนิซิลลินมาถูกผลิตได้เป็นจำนวนมาก เพราะเกิดสงคราม ทหารที่ไปออกรบในช่วงสงครามโลกจำนวนมากต้องล้มป่วย ถ้าไม่ใช่เพราะมีบาดแผล ซึ่งก็ไม่ถึงกับพิการหรือบาดเจ็บรุนแรง แต่เป็นบาดแผลติดเชื้อ นอนป่วยออกรบไม่ได้ ทหารอีกส่วนหนึ่งก็ติดเชื้อหนองใน หรือโกโนเรีย เพราะไปมีความสัมพันธ์ทางเพศแบบสำส่อนตามประสากองทัพที่เดินทางถึงเมืองต่างๆ พอกองทัพต้องเผชิญกับปัญหาแบบนี้เข้า ยาปฏิชีวนะก็มีความจำเป็น

เพนิซิลลินถูกผลิตออกมาจำนวนมากได้ก็เพราะว่ากองทัพสหรัฐ ได้เข้ามาจัดการและลงทุนผลิตยานี้ขึ้นเพื่อใช้ในกองทัพ ก็เลยเกิดการพัฒนาการผลิตขนานใหญ่ขึ้น หรือว่าโรคเขตร้อนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นมาลาเรีย อหิวาต์ โรคเรื้อน อะไรพวกนี้ แม้ว่าโรคเหล่านี้จะเกิดขึ้นในแถบประเทศเขตร้อน แต่มันเดือดร้อนจนประเทศตะวันตกต้องมาศึกษาวิจัยก็เพราะว่าการขยายอิทธิพลและอำนาจของประเทศโลกที่หนึ่ง ที่มาช่วงชิงครอบครองพื้นที่เพื่อกอบโกยทรัพยากรและรักษาฐานอำนาจหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ประเทศมหาอำนาจเหล่านี้ส่งทหารเข้ามาทำสงครามบ้าง มีบริษัทที่รัฐบาลสนับสนุนมาลงทุนทำสัมปทานป่าไม้บ้าง เหมืองแร่บ้าง พอคนเหล่านี้มาอยู่แถวเอเชียอาคเนย์ เกิดติดมาลาเรียและโรคเขตร้อนอะไรต่างๆ เยอะ อย่างโรคพยาธิปากขอนี่ก็ถูกมองว่าเป็นสาเหตุของความขี้เกียจของลูกจ้างคนพื้นเมือง ต้องรณรงค์ปราบเสีย เพราะมันทำให้แรงงานเหล่านี้ไม่มีประสิทธิภาพในการผลิต เกิดเป็นแผนงานที่เรียกว่า Tropical Diseases Control ขึ้นเพื่อทำการวิจัยเรื่องยุง หมัด หนู แมลงนำโรคต่างๆ เพื่อที่จะควบคุมและป้องกันโรคเขตร้อน การควบคุมโรคมันจึงสัมพันธ์ไปกับเศรษฐกิจการเมืองในระดับโลกไปด้วย

ดูเหมือนโรคติดต่อทั้งหลาย มันจะเกี่ยวกับสัตว์ต่างๆ อยู่เสมอนะครับ อย่างยุง หมัด หนู หรืออย่างโคโรนาไวรัสนี่ก็มาจากค้างคาว

ใช่ครับ อย่างเรื่องเอดส์นี่ก็เป็นไวรัสที่มาจากลิง ไข้หวัด H1N1 ก็มาจากหมู ไข้หวัดนกก็มาจากสัตว์ปีก ส่วนโรคซาร์สก็มาจากตัวชะมดหรืออีเห็นนี่แหละ โรคเหล่านี้ส่วนหนึ่งจะเป็นโรคที่แพร่ระบาดจากสัตว์มาสู่คน ภาษาทางโรคติดเชื้อเขาก็เรียกว่า zoonosis คือโรคที่เกิดจากสัตว์เข้ามาสู่คน ซึ่งกลายเป็นเรื่องที่ได้รับความสำคัญมากในปัจจุบัน ความจริงเรื่องนี้ก็ถือว่าไม่ยุติธรรมสำหรับสัตว์ คือ มันเป็นมุมมองที่เรียกว่า ใช้มนุษย์เป็นศูนย์กลางมากไปก็ได้นะ คือมันเป็น anthropocentric มองเห็นแต่ปัญหาที่เกิดกับคน จะว่ากันไปแล้ว คนก็สร้างปัญหาให้กับสัตว์ต่างๆ มากเหมือนกัน อย่างแมลงนี่ เคยสังเกตว่าแต่ก่อน เวลาขับรถไปต่างจังหวัด พอกลับถึงบ้าน กระจกหน้ารถจะเต็มไปด้วยซากแมลง ต้องล้างออก แต่เดี๋ยวนี้ ขับรถไปกลับถึงบ้านแทบไม่มีซากแมลงติดกระจกรถเลย แมลงต่างๆ มันคงใกล้จะสูญพันธุ์ไปหมดแล้ว เพราะเราใช้ยาฆ่าแมลงและสารเคมีต่างๆ มาก อันนี้เราไม่ค่อยได้ยินนะ ว่ามีโรคอะไร หรือหายนะภัยอะไรที่เกิดกับสัตว์ต่างๆ ที่มาจากมนุษย์

ในแง่หนึ่ง มนุษย์เราได้เข้าไปรุกล้ำธรรมชาติมากขึ้น โรคต่างๆ ที่เกิดขึ้นนี้เป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงแบบแผนที่มนุษย์ไปสัมผัสกับธรรมชาติ เช่น เราบุกรุกเข้าไปหักล้างถางพงในเขตที่มีสัตว์หรือพาหะนำเชื้อ อันนี้เป็นมาตั้งแต่การระบาดของมาลาเรียที่เกิดจากมนุษย์เข้าไปใช้พื้นที่ป่ามากขึ้น เราก็มีโอกาสไปสัมผัสกับโรคเหล่านั้นมากขึ้นด้วย

จริงๆ แล้ว ยุคแรกของโรคติดเชื้อก็เกิดขึ้นเมื่อมนุษย์รวมตัวกันเป็นชุมชน พอรวมตัวกันเป็นชุมชนก็มีการทำการเกษตร มีการนำสัตว์มาเลี้ยง พอเริ่มเลี้ยงสัตว์ การสัมผัสระหว่างคนกับสัตว์ก็มีมากขึ้น กลายเป็นเงื่อนไขของการเกิดโรคจากสัตว์สู่คน แนวโน้มในปัจจุบัน คนกับสัตว์สัมพันธ์กันผ่านการที่มนุษย์ขยายพื้นที่และบุกรุกเข้าไปในเขตที่สัตว์อยู่อาศัยมากขึ้น แม้แต่ในเขตเมืองซึ่งเรามักคิดว่า เป็นเขตที่เป็นคนอาศัยอยู่เสียส่วนใหญ่ จริงๆ มันมีสัตว์ที่อยู่ในเขตเมืองอีกหลายชนิดเหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นนกพิราบ แมลงสาบ หนู ตัวเงินตัวทอง หรือกระรอก โดยเฉพาะหนูซึ่งอาจเป็นพาหะนำโรคต่างๆ ที่คาดไม่ถึงว่าจะเกิดในเขตเมือง เช่น โรคฉี่หนู ได้เช่นกัน

เรื่องของสัตว์ต่างๆ นี้ แต่เดิมนักมานุษยวิทยาอาจไม่ได้สนใจศึกษาอะไรมากนัก แต่ในปัจจุบัน ก็มีนักมานุษยวิทยามาสนใจศึกษาเรื่องของสัตว์ หรือเรื่องของสิ่งที่ไม่ใช่มนุษย์ หรือที่เรียกว่า non-human มากขึ้น

หมายความว่าอย่างไรครับ มานุษยวิทยามาศึกษาเรื่องสัตว์ มานุษยวิทยาไม่ใช่วิชาที่ศึกษามนุษย์หรอกหรือครับ

จริงๆ แล้ว มานุษยวิทยาก็ศึกษามนุษย์นั่นแหละครับ คือ มานุษยวิทยาศึกษาสิ่งที่เรียกว่า ‘วัฒนธรรม’ ซึ่งก็คือสิ่งที่มนุษย์เป็นอยู่หรือมีอยู่ เพราะเราถือว่ามนุษย์เท่านั้นที่มีวัฒนธรรม เพราะมนุษย์สามารถสื่อสาร สามารถเข้าใจในสัญลักษณ์และความหมายต่างๆ ได้ มนุษย์สร้างภาษามาใช้ถ่ายทอดความรู้ได้ วัฒนธรรมจึงเป็นเหมือนกรรมสิทธิ์ของมนุษย์ มนุษย์เท่านั้นที่มีวัฒนธรรม แต่ระยะหลังมานี้ก็มีการตั้งคำถามว่าจริงไหม จริงหรือที่ว่าสัตว์ไม่มีความรู้สึกอย่างที่มนุษย์รู้สึก ไม่มีภาษาหรือการเรียนรู้เพื่อปรับตัว และเป็นไปได้หรือที่เราจะศึกษามนุษย์ได้โดยการตัดสรรพสัตว์หรือสิ่งอื่นที่ไม่ใช่มนุษย์ออกไปเสีย คิดแบบนี้เป็นการคิดที่ใช้มนุษย์เป็นศูนย์กลางเกินไปไหม

นอกจากเส้นแบ่งระหว่างมนุษย์กับสัตว์แล้ว ยังมีเส้นแบ่งระหว่างธรรมชาติกับสังคม หรือวัฒนธรรมด้วย นักมานุษยวิทยา รวมทั้งนักสังคมศาสตร์อื่นๆ สนใจปรากฏการณ์ทางสังคม ส่วนปรากฏการณ์ทางธรรมชาตินั้นกลายเป็นเรื่องของนักวิทยาศาสตร์ไป เรานักมานุษยวิทยาอย่าไปสนใจ เพราะว่าธรรมชาติเป็นเรื่องของนักวิทยาศาสตร์ เราสนใจแต่วัฒนธรรม ก็มีการตั้งคำถามอีกว่าสองสิ่งนี้มันแยกกันตั้งแต่เมื่อไหร่ มันแยกกันได้จริงหรือ แล้วถ้าการแยกกันนี่เป็นการสร้างเส้นแบ่งที่จอมปลอมล่ะ คือมันไม่ควรจะถูกแยกตั้งแต่ต้นหรือเปล่า พอแยกกันแล้วมันทำให้ความรู้ของมนุษย์บิดเบี้ยวไปหรือเปล่า เพราะเราดันไปแบ่งโลกออกเป็นฝั่งสังคมกับฝั่งธรรมชาติ เหมือนระบบการศึกษาของเราที่แบ่งการเรียนออกเป็นสายวิทย์กับสายศิลป์นั่นแหละ พอเป็นอย่างนี้ ในระยะหลังมานี้นักมานุษยวิทยาจำนวนหนึ่งก็ไม่สนใจเส้นแบ่งนี้แล้ว

เป็นไปได้ว่า หายนะต่างๆ ที่เกิดขึ้นในโลกทุกวันนี้ก็อาจมาจากวิธีคิดที่แบ่งแยกแบบนี้ ปัญหาในโลกสมัยใหม่ที่เราต้องเผชิญมันกลายเป็นวิกฤติที่แก้ไม่ได้ ก็เพราะความรู้ของเราถูกแบ่งแบบจอมปลอมนี่หรือเปล่า ทำให้นักวิทยาศาสตร์ก็ไม่เคยรู้เรื่องสังคม ส่วนนักสังคมศาสตร์ก็ไม่เคยสนใจวิทยาศาสตร์อะไรเลย ถ้ามองย้อนมาเรื่องมานุษยวิทยากับโรคต่างๆ นักมานุษยวิทยาในสมัยก่อนหน้านี้ก็มักจะแบ่งปัญหาโรคภัยไข้เจ็บเป็นเรื่องโรค ซึ่งเป็นเรื่องของแพทย์ ส่วนนักมานุษยวิทยาก็จะศึกษาเรื่องความเจ็บป่วยหรือปัจจัยสังคมที่ทำให้เกิดการป่วยไข้ พูดง่ายๆ นักมานุษยวิทยาศึกษามิติทางสังคมของโรค หรือศึกษาปรากฏการณ์ทางสังคมของความเจ็บป่วย เราจะไม่ได้ศึกษาเรื่องการเกิดโรค เชื้อโรค ไวรัสหรือว่าสรีระ พยาธิวิทยาอะไรแบบนี้ แต่ปัจจุบันก็เริ่มมีนักมานุษยวิทยาบางกลุ่มบอกว่าไม่ๆ เราจะไม่ผลิตซ้ำเส้นแบ่งของวิทยาศาสตร์กับสังคมศาสตร์นี้อีกต่อไปแล้ว เราจะมาศึกษาโรค เราจะมาศึกษาพยาธิสภาพว่า ถ้ามองจากมุมมองของมานุษยวิทยา เราจะเขียนถึงโรคหรือพยาธิสภาพแบบไหน เราไม่กลัวที่จะเขียนถึงมัน เพราะแต่เดิมเราจะถือว่าเราเขียนไม่ได้ เรื่องโรคต้องเป็นเรื่องของแพทย์หรือนักวิทยาศาสตร์เป็นคนเขียนสิ

แต่ตอนนี้ กลายเป็นว่านักมานุษยวิทยาก็หันมาสนใจศึกษาสัตว์ ศึกษาสิ่งของ พืช หรือสัตว์ต่างๆ เช่น ศึกษาเห็ด ศึกษาไส้เดือน ปลาแซลมอน อะไรแบบนี้ ผมว่าบางทีเราอาจจะเข้าใจตัวเราเองผ่านการเข้าใจสัตว์เหล่านี้ก็ได้นะ

ยิ่งถ้าพูดถึงโรคระบาดและโรคจากสัตว์ต่างๆ ผมคิดว่ามันมีความท้าทายของนักมานุษยวิทยาที่จะเข้าไปศึกษาโลกของสัตว์และความสัมพันธ์ของสัตว์กับมนุษย์ด้วยมุมมองใหม่ๆ ด้วยวิธีวิทยาของการศึกษามันเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม อันนี้ก็เป็นคำถามปลายเปิดที่ท้าทายนักมานุษยวิทยา

Author

วีรพงษ์ สุนทรฉัตราวัฒน์
1 ใน 3 คณะบรรณาธิการหนุ่มของ WAY

Author

ปฏิภัทร จันทร์ทอง
เคยทำงานภาพข่าวที่ Bangkok Post ปัจจุบันเป็นสมาชิก Realframe และ TNP ยังคงทำงานถ่ายภาพและรับจ้างทั่วไป

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า