The Road to Mahachai: แรงงานพม่าและการเดินทางของปลาแซลมอน

-1-

เมื่อพูดถึงแรงงานต่างชาติ แล้วตีวงให้แคบจำกัดลงมาเหลือแค่ ‘แรงงานพม่า’ คุณนึกถึงอะไร

แม่บ้าน คนสวน คนงานก่อสร้าง ลูกเรือประมง พนักงานเสิร์ฟในร้านอาหารที่พูดไทยไม่ชัด ข่าวอาชญากร ความรุนแรง ข่าวขบวนการยาเสพติด ค้ามนุษย์ หรือว่าตัวตนคนที่ถูกเรียกว่า แรงงานพม่า

แต่สำหรับแรงงานพม่า และในการนำเสนอภาพแรงงานพม่าในสื่อภาษาพม่า พวกเขาถูกเปรียบเป็นอย่างปลาแซลมอน!

-2-

จากการพบผู้ติดเชื้อ COVID-19 จำนวนหลายรายในกลุ่มแรงงานต่างชาติเขตพื้นที่มหาชัย สมุทรสาคร ทำให้ประเด็นเรื่องแรงงานต่างชาติในไทยได้รับความสนใจมากขึ้นอีกครั้ง

ที่ผ่านมาไทยมีมาตรการต่างๆ ที่ช่วยควบคุมการระบาดของโรคในกลุ่มแรงงานต่างชาติ เช่น การระงับการเคลื่อนย้ายแรงงานตามชายแดน การชะลอการอนุมัตินำเข้าแรงงานต่างชาติ และการผ่อนปรนแรงงานต่างชาติในรายที่ใบอนุญาตใกล้จะหมดอายุ ให้สามารถอยู่ในประเทศไทยได้ มาตรการเหล่านี้ถือเป็นแนวทางการบริหารจัดการระยะสั้นในท่ามกลางการเคลื่อนย้ายแรงงานต่างชาติในไทยที่เปลี่ยนแปลงไปตามบริบทโลก อย่างที่ทราบกันดีว่า ในปัจจุบันแรงงานต่างชาติเข้ามามีบทบาทสำคัญในวงจรเศรษฐกิจไทยมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคเกษตรกรรม ประมงและก่อสร้าง ซึ่งล้วนต้องใช้แรงงานหนัก ชนิดที่ว่าใครหลายคนเมินหน้าหนี

ประเทศไทยถือเป็นประเทศที่มีการหลั่งไหลเข้ามาของแรงงานต่างชาติอยู่ในระดับที่สูง โดยติดอันดับที่ 17 ของโลก และเป็นอันดับหนึ่งในกลุ่มประเทศอาเซียน ที่เห็นได้ชัดคือ การเข้ามาของแรงงานพม่าที่มีเครือข่ายชุมชนขนาดใหญ่ในไทย ทำให้การเข้าถึงข้อมูล การกระจายแหล่งงานต่างๆ ทำได้อย่างทั่วถึง ง่ายดายและรวดเร็ว ด้วยสภาพการณ์ดังกล่าว ส่งผลทำให้ในบางพื้นที่ได้กลายสภาพเป็น ‘เมียนมาทาวน์’ อย่างที่มหาชัย สมุทรสาคร

-3-

มหาชัย เดือนฤดูฝน แม่น้ำท่าจีนเบื้องหน้าไหลเอื่อยๆ เรือประมงหลายลำจอดอยู่นิ่งๆ ริมฝั่ง ผู้คนสองฝั่งแม่น้ำท่าจีนยังใช้เรือเป็นพาหนะสัญจรไปมาหาสู่กัน ตั้งแต่เรือพายลำเล็กเหมือนในอดีต ไปจนถึงเรือโดยสารข้ามฟากลำใหญ่ในปัจจุบัน

บรรยากาศและภาพยามเย็นที่เห็นได้ทั่วไป คือ ภาพแรงงานจากเพื่อนบ้าน หนุ่มๆ นุ่งโสร่ง สาวๆ สวมผ้าซิ่นยาวกรอมเท้า บ้างเสียบแซมดอกไม้สดในเรือนผม วงหน้าแต่งแต้มตะนะคาสีเหลืองนวล สมุนไพรประทินผิวสูตรลับเฉพาะพันปีของพวกเขา กำลังเดินเลือกซื้อหากับข้าวมื้อเย็น ในขณะที่แรงงานหนุ่มสาวในชุดยูนิฟอร์มโรงงานก็เพิ่งจะเลิกกะและเดินทางกลับที่พัก จอแจ สวนทางกันไปมา อันที่จริงก็ดูไม่ต่างอะไรจากภาพความคึกคักของชุมชนเมืองในต่างจังหวัดบางที่ของไทย ต่างแต่เพียงสิ่งที่ได้ยินเพิ่มเข้ามาในโสตประสาท มันไม่ได้มีแต่ภาษาไทยเท่านั้น

เสียงอื้ออึงพูดจาภาษาพม่ามีให้ได้ยินอยู่รอบๆ ตัว ในเขตเมืองประมง ดงโรงงาน ลานเกษตรแห่งนี้ แม้กระทั่งป้ายประกาศของทางการ ร้านรวง ไปจนถึงร้านทอง ก็มีภาษาราชการของเพื่อนบ้านกำกับอยู่ทั่วไปในเขตชุมชนเมือง

หน้าร้านทองมีป้ายเขียนเป็นภาษาพม่าว่า ကြိုဆိုပါ၏။ (โจ่ โส่ บ่า อิ๊) แปลว่า ยินดีต้อนรับ ถัดไปอีกหน่อยในเขตตลาดสดมีป้ายเขียนว่า ဤ​​နေရာတွင် အမှိုက် လုံးဝ မပစ်ရ။ (อี่ เหน่หย่า ตวี่ง อะไหม้ โลงวะ มะ ปิ๊จ ยะ) หรือ ห้ามทิ้งขยะบริเวณนี้

ปัจจุบัน คาดกันว่ามีแรงงานต่างชาติ 3 สัญชาติ ได้แก่ พม่า ลาว และกัมพูชา อาศัยอยู่ในสมุทรสาครราว 300,000 คน แยกเป็นแรงงานหลบหนีเข้าเมือง แรงงานที่ได้รับการพิสูจน์สัญชาติ และแรงงานที่นำเข้าตามบันทึกข้อตกลงว่าด้วยการจ้างงานระหว่างรัฐ (MOU)

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าแรงงานต่างชาติในประเทศไทยจะมีจำนวนแท้จริงเท่าไหร่ คงต้องยอมรับข้อหนึ่งว่าในจำนวนนี้ร้อยละ 95 ถือสัญชาติพม่า คนเหล่านี้ประสบปัญหาปากท้องและเหตุการณ์บ้านเมืองที่ยังไม่ค่อยปกติ ซึ่งก็มีทั้งที่ถูกกฎหมายและเป็นแรงงานหลบหนีเข้าเมืองตามแนวพรมแดนทางธรรมชาติและกระจายไปทุกๆ ที่ที่มีรายได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โรงงานอุตสาหกรรมและธุรกิจประมง

-4-

“พม่าบุก!” เสียงอื้ออึงทำนองนี้แพร่สะพัดไปทั่ว หลังจากที่เริ่มมีแรงงานอพยพสัญชาติพม่าเข้ามาตั้งรกรากและทำมาหากินในพื้นที่มหาชัยเป็นจำนวนนับแสนๆ คน ซึ่งคิดเป็นจำนวนกว่าครึ่งหนึ่งหรือมากกว่าของประชากรที่เป็นคนไทยในพื้นที่

แน่นอน เราปฏิเสธไม่ได้ว่า ข้อมูลข้างต้นไม่เป็นความจริง แต่ถ้าจะบอกว่าเข้ามาแย่งงานคนไทยทำนั้นอาจจะไม่ใช่ทั้งหมดหรือไม่ ที่พูดอย่างนี้เพราะจากข้อมูลของสำนักบริหารแรงงานต่างด้าว กรมการจัดหางาน กล่าวว่าแรงงานต่างชาติเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของแรงงานที่คนไทยส่วนใหญ่ไม่ทำหรืองานประเภท 3D คือ

  • สกปรก (dirty)
  • ยากลำบาก (difficult)
  • เสี่ยงอันตราย (dangerous)

กอปรกับความต้องการของนายจ้างที่ว่าลงทุนน้อย กำไรสูงสุด นั่นจึงทำให้แรงงานต่างชาติกลายเป็นขุมทรัพย์ของผู้ประกอบการ รวมทั้งนายหน้าจัดหาและลำเลียงแรงงานไปสู่มือผู้ประกอบการ จึงเกิดเป็นธุรกิจค้าพม่าขึ้นมา ผู้คนจำนวนหนึ่งยอมสละละทิ้งความหวังทุกสิ่ง หอบเพียงชีวิตรอดเพื่อมาเผชิญหน้ากับความหวังใหม่เท่านั้น

แรงงานหลายคนที่ต้องการดิ้นรน หลีกหนีความยากจนอัตคัด ถ้าไม่เลือกไปเสี่ยงโชคหาเศษหยกที่เหมืองหยกในรัฐกะฉิ่น ทางเหนือของพม่า ก็มักจะมีประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางหรือเป็นทางผ่าน ที่เป็นอย่างนั้นเพราะบางคนเลือกมาอยู่ที่ไทย ด้วยเหตุผลที่ว่าทั้งสองประเทศเป็นเพื่อนบ้านกัน มีพรมแดนชิดติดกัน เดินทางไปมาสะดวก อีกทั้งยังสามารถหางานได้ง่าย มิหนำซ้ำบรรยากาศและสิ่งแวดล้อมของที่นี่ก็ไม่ได้ดูผิดหูผิดตา แปลกไปมากมายนักกับถิ่นที่จากมา

ในเมียนมาทาวน์แห่งมหาชัยมีอาคารพาณิชย์สภาพทรุดโทรมสูง 4-5 ชั้น ตั้งเรียงรายเป็นแนวยาว ไม่ต่ำกว่า 30 คูหา ชั้นล่างเปิดเป็นร้านโชห่วยขนาดเล็ก ขายสินค้าที่หาซื้อไม่ได้ตามร้านสะดวกซื้อทั่วไป อย่าง ท่อนไม้ตะนะคา ผงตะนะคาสำเร็จรูป โสร่งและผ้าซิ่นลายพม่า เครื่องแกง ยาสมุนไพรพื้นบ้านและนานาสินค้าจากประเทศพม่า

-5-

“ฉันมาอยู่ที่มหาชัยได้ 15 ปีแล้ว ไม่อยากที่จะต้องแบมือขอเงินพ่อแม่ ก็เลยตัดสินใจออกจากบ้านที่ทวายมาทำมาหากินที่นี่ ตอนที่มาถึงใหม่ๆ เข้าไปทำงานเป็นพนักงานล้างทำความสะอาดชิ้นส่วนปลาในโรงงานแปรรูปอาหารทะเลแห่งหนึ่ง วันนึงๆ ขนาดต้องอาบน้ำล้างตัวเป็นสิบหนก็แล้ว แต่กลิ่นคาวปลาก็ยังเหม็นคลุ้งติดตัว ติดตามเสื้อผ้าเต็มไปหมด กลับมาถึงที่พักก็ยังติดมา กลิ่นยังไม่หาย

“ฉันก็เลยมองหางานใหม่ โชคดีได้ย้ายไปทำในโรงงานเย็บผ้า จนถึงทุกวันนี้ เที่ยวนี้ ถ้าพาสปอร์ตหมด ฉันคิดว่าจะกลับบ้านอย่างถาวร เพราะพอจะมีทุนบ้างแล้ว”

โมโมเอ กล่าวถึงชีวิตที่มาหชัยของตนเอง ชื่อของเธอถ้าแปลเป็นไทย ก็คือ น้ำฝน ในวัย 37 ปี เธอออกจากทวายมาทำงานที่มหาชัยตั้งแต่อายุ 22 ปี

-6-

“ผมถูกชาวบ้านในหมู่บ้านพูดแซวทีเล่นทีจริงว่า ไทยเปี่ยนจี”

(ထိုင်းပြန်ကြီး อ่านว่า ไทยเปี่ยนจี เป็นคำสแลง แปลว่า คนที่เพิ่งกลับจากทำงานที่ไทย ซึ่งจริงๆ ควรร่ำรวย แต่กลับไม่ได้เป็นอย่างนั้น)

มินโซ อายุ 29 ปี เดิมเขาเป็นหนึ่งในผู้ที่พยายามเข้ามาทำงานในประเทศไทยแบบผิดกฎหมาย บ้านเขาอยู่ที่เมืองชเวโบ ภูมิภาคสะกาย ในพม่าตอนบน เขาต้องติดอยู่ในเมียวดีเป็นเวลานาน 3 เดือน เนื่องจากโดนนายหน้าโกงและต้องเป็นหนี้ถึง 15 แสนจั๊ต สุดท้ายต้องกลับบ้านพร้อมกับหนี้ก้อนโตและโดนชาวบ้านแซวล้อว่า ไทยเปี่ยนจี แทนที่จะหอบเงินจากการทำงานกลับบ้านแต่ได้หนี้กลับไปแทน

มีนาคม 2017 เขาพยายามทำเรื่อง และเข้าร่วมโครงการจัดหางานระหว่างประเทศแบบมี MOU เพื่อมาทำงานในไทย แบบถูกต้องตามกฎหมาย โดยเขาได้เข้ามาทำงานในโรงงานอาหารทะเลแช่แข็งแห่งหนึ่งในมหาชัย เขาบอกว่าที่มหาชัยนี้ ทำให้เขาสามารถล้างหนี้จำนวน 15 แสนจั๊ตได้ในปีต่อมา

ตามกฎหมายไทย นายจ้างที่จ้างคนงานต่างชาติโดยไม่มีใบอนุญาตทำงานหรือให้คนต่างชาติทำงานนอกเหนือจากที่มีสิทธิจะทำได้ มีโทษปรับ 10,000-100,000 บาทต่อคนต่างชาติที่จ้างหนึ่งคน หากกระทำผิดซ้ำต้องมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับตั้งแต่ 50,000-200,000 บาท ต่อคนต่างชาติที่จ้างหนึ่งคน หรือทั้งจำทั้งปรับ และห้ามจ้างคนต่างชาติทำงานเป็นเวลา 3 ปี

-7-

บางทีคนฝั่งพม่าก็เรียกแรงงานพม่าที่เข้ามาทำงานในไทยว่า “ข้ามมาขุดทองฝั่งโน้น”

“แม้จะอาศัยอยู่ในมหาชัย ซึ่งมีแรงงานจากพม่าส่วนใหญ่อาศัยอยู่ ซึ่งดูจะปลอดภัยและอบอุ่น แต่ก็ไม่มีที่ไหนเหมือนบ้านตัวเอง”

มินโซบอกว่าเขากำลังสะสมทุนรอน เพื่อกลับไปตั้งถิ่นฐานในพม่าภายในปี 2022 เมื่อใบอนุญาตทำงานหมดอายุลง เช่นเดียวกับโมโมเอ แรงงานในโรงงานเย็บผ้าและเช่นเดียวกับแรงงานพม่าอีกหลายคน ที่ตอนนี้ยังไม่ถึงเวลากลับไปปักหลักทำมาหากินที่บ้านเกิด บางคนก็ยังไม่รู้ว่าจะต้องใช้เวลาอีกสักกี่ปี

วงจรแรงงานต่างชาติแบบมาเก็บเงิน ส่งเงินกลับบ้านแล้วเมื่อถึงเวลาก็กลับประเทศบ้านเกิดนั้น สื่อพม่าเปรียบชีวิตแรงงานพม่าที่เข้ามาทำงานในไทยว่า เหมือนอย่างปลาแซลมอน ซึ่งเป็นปลาที่มีวิถีชีวิตอันแสนแปลก เพราะมีถิ่นกำเนิดในน้ำจืด แต่จะใช้ชีวิตและเจริญเติบโตในน้ำเค็ม มีพฤติกรรมการดำรงชีวิตและการสืบพันธุ์ต่างจากปลาทั่วไป ในฤดูวางไข่ปลาแซลมอนจะว่ายทวนกระแสน้ำไปเพื่อผสมพันธุ์ในน้ำจืด ไม่ว่าสายน้ำจะเป็นอุปสรรคแค่ไหน ปลาแซลมอนก็ไม่ย่อท้อ ว่ายทวนกระแสน้ำเพื่อกลับไปวางไข่ให้สำเร็จจนได้ เมื่อปลาแซลมอนถึงเวลากลับไปวางไข่ในถิ่นกำเนิด จะเป็นการเดินทางครั้งสำคัญ และเป็นครั้งเดียวของชีวิตปลาแซลมอน เพราะหลังจากวางไข่ แซลมอนก็จะตายลง และนำไข่ที่ผสมพันธุ์แล้วไปปล่อยในธรรมชาติต่อไป เพื่อจะได้กลับมาสู่ถิ่นกำเนิดแห่งนี้

-8-

ธนาคารโลกคาดการณ์ว่าการส่งเงินจากแรงงานต่างชาติชาวพม่าสูงถึงกว่า 2 พันล้านดอลลาร์ต่อปี ตั้งแต่ปี 2015 นักวิเคราะห์ด้านแรงงานของพม่า เสนอว่ารัฐบาลพม่าควรคำนึงถึงปัญหาการขาดแคลนแรงงานของประเทศและพยายามรับแรงงานอพยพย้ายถิ่นกลับเข้ามาพัฒนาประเทศ

ขณะที่เครือข่ายสิทธิแรงงานข้ามชาติ (MWRN) เชื่อว่าการโยกย้ายกลับภูมิลำเนาของแรงงานต่างชาติไม่ใช่เรื่องง่ายในสถานการณ์ปัจจุบัน เพราะพม่ายังไม่สามารถสร้างงานให้เพียงพอสำหรับแรงงาน

เมื่อปี 2016 ตอนที่ อองซานซูจี มาเยือนประเทศไทยและเดินทางไปพบปะพี่น้องแรงงานพม่าที่มหาชัย เหตุการณ์ครั้งนั้น ทำให้บรรดาอุตสาหกรรมประมง-แปรรูปของไทยต่างหวั่นวิตกกันถ้วนหน้า โดยเกรงว่าจะเกิดกรณีดึงแรงงานคืนถิ่นหรือไม่

เช่นเดียวกับเมื่อเดือนกรกฎาคม 2020 มีรายงานข่าวออกมาว่าการระบาดของ COVID-19 ทำให้ธุรกิจ-อุตสาหกรรมขาดแคลนแรงงานต่างชาตินับล้านคน ซึ่งก็จะเห็นว่าความต้องการแรงงานยังเป็นตัวเลขที่สูง

ข้อมูลจากกระทรวงแรงงานระบุว่ามีแรงงานในธุรกิจรับเหมารวม 1.8 ล้านคน หลังการแพร่ระบาดของโควิด แรงงานต่างชาติบางส่วนกลับประเทศ รวมแล้วมีแรงงานหายไปจากระบบอยู่ที่ราวๆ 100,000-200,000 คน ในขณะที่นายจ้าง/สถานประกอบการยื่นบัญชีรายชื่อความต้องการแรงงานต่างชาติเป็นจำนวนกว่า 1,200,000 คน ในจำนวนนี้มีความต้องการแรงงานพม่าเป็นจำนวนมากถึง 1,000,000 กว่าคน กัมพูชาราว 200,000 คน และลาวอีกประมาณ 50,000 คน

อย่างสถานประกอบการในมหาชัยที่ใช้แรงงานพม่าเป็นหลัก ก็ยังมีความต้องการแรงงานพม่าในช่วงการระบาดของโควิด ในขณะที่แรงงานพม่าเองก็มีความต้องการที่จะเข้ามาทำงานอีกเป็นจำนวนมาก เนื่องจากเจอผลกระทบจากโควิดในพม่า ซึ่งก็หนักหนาสาหัสอยู่มาก

เมื่อสอบถามถึงสถานการณ์แรงงานในช่วงโควิดระบาดระลอกใหม่ เจ้าหน้าที่โรงงานแปรรูปอาหารทะเลแห่งหนึ่งในมหาชัย บอกว่า

“ถ้าไม่มีโควิด ทางโรงงานก็จะนำเข้าแรงงานพม่าอีก 500 คน” ที่ผ่านมา กระทรวงแรงงาน เน้นแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงานโดยการยืดระยะเวลาทำงานให้แรงงานต่างชาติที่ทำงานอยู่ในประเทศไทย

ลองคิดดูเล่นๆ ว่า หากเกิดกรณีปลาแซลมอนว่ายน้ำกลับบ้านครั้งใหญ่ก็จะสร้างความเสียหายให้กับอุตสาหกรรมประมงและการก่อสร้างของไทยอย่างไม่ต้องสงสัย เพราะกลุ่มอุตสาหกรรมดังกล่าวต้องพึ่งพาอาศัยแรงงานจากผู้อพยพชาวพม่าเป็นหลัก อย่างที่มีรายงานข่าวออกมาเป็นระยะๆ

Author

วทัญญู ฟักทอง
มีชื่อพม่าว่า Htay Win เป็น Burmese language lecturer

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า