แหมะเหง่อระอาว: ครั้งหนึ่ง ความหวัง

เมียนมาร์
เรื่อง / ภาพ: ลิตา ลี้

 

ตอนที่ 1

ย่างกุ้ง, เมียนมาร์

“เที่ยวพม่าครั้งแรก”

ฉันหัวเราะก่อนจะกดเข้าร่วมกลุ่มไลน์ดังกล่าว หลังจากเราทั้งสี่คนมาถึงสนามบินย่างกุ้ง (ที่คุณพี่แอร์หรืออาจเป็นคุณน้องแอร์อ่านออกเสียงว่า ‘ยางกอน’)

ใช่

นี่เป็นการเดินทางไปเมียนมาร์ครั้งแรกของฉัน ทั้งยังเป็นการไปในฐานะสื่อมวลชนไม่ใช่นักท่องเที่ยว ไม่ใช่ทัวริสต์ใดๆ ทั้งนั้น – ความตื่นเต้นและความกดดันกัดกินหัวใจตั้งแต่หนึ่งสัปดาห์ก่อนการเดินทาง เพราะต้องปั่นงานและเคลียร์ทุกสิ่งอย่างให้หมดก่อนจะเดินทางมาที่นี่เป็นเวลา 7 วัน 6 คืน

หลัง WAY Magazine ได้รับจดหมายเชิญให้เป็นหนึ่งในสื่อมวลชน ร่วมสำรวจพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน

แน่นอน นอกจากฉันจะพกความตื่นเต้นมาด้วย ฉันยังถือความไม่รู้ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับประเทศนี้มาด้วยเช่นกัน (ความรู้ทั่วไประดับมัธยมขอไม่นับแล้วกันนะ)

ถึงอย่างนั้นก็เถอะ ฉันทำการบ้านค้นข้อมูลผ่านลุงกูเกิลอีกนิดก่อนเดินทางก็พบว่า หลังจากปี 2012 ที่เมียนมาร์เริ่มปฏิรูปประเทศ นานาชาติก็ต่างพากันจับจ้องไปยังทรัพยากรเหล่านั้น รวมถึงหาโอกาสในการลงทุนและแสวงหาลู่ทางทำธุรกิจใหม่ๆ หลายประเทศเริ่มเปลี่ยนลดท่าทีแข็งกร้าวลงมาเพื่อจะได้ทำการลงทุนกับเมียนมาร์ โดยเฉพาะกิจการที่ต้องใช้แหล่งทรัพยากรธรรมชาติอย่างการขุดเจาะน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติและเหมืองแร่ ตามมาด้วยรัฐบาลเมียนมาร์ก็เริ่มกำหนดมาตรการส่งเสริมการลงทุนอย่างจริงจังและต่อเนื่องเพิ่มขึ้น

เมื่อรัฐบาลเมียนมาร์มีความพยายามจะพัฒนาและปฏิรูปประเทศตนเองให้ศิวิไลซ์มากขึ้น โดยใช้แหล่งทรัพยากรธรรมชาติในประเทศตัวเองเป็นสินค้าล่อตาล่อใจเหล่านักลงทุนนานาประเทศจากหลากกลุ่มธุรกิจให้ยอมควักเงินในกระเป๋า กลับกลายเป็นจุดเริ่มต้นของปัญหาที่ชาวบ้านหลายชุมชนกำลังเผชิญกันอยู่ ซึ่งฉันกำลังจะได้เห็นกับตา ฟังกับหูตัวเองต่อจากนี้

ระหว่างนั่งรถทัวร์ระดับ VIP ที่ฉันตาวาวและสุดจะเปรมปรีด์กับบริการของพนักงานบนรถทัวร์ อารยา ฉันขอเรียกเธอว่าพี่เลี้ยงเพราะเธอทำหน้าที่ดูแลลูกทีมอย่างใส่ใจ (โดยการหอบหิ้วเครื่องชงกาแฟดริปส่วนตัวและเสิร์ฟอย่างตรงเวลาทุกวันเวลาบ่ายสองโมง) ไหนจะความสามารถในการอ่านใบหน้างงๆ ของฉันออกตลอดเวลาทุกครั้งที่ฉันเดินชนกับความไม่รู้ใดๆ (กราบแทบอก) อธิบายโครงสร้างระบบการปกครองขั้นพื้นฐานให้ฟังว่า

เมียนมาร์แบ่งเขตการปกครองในระดับภูมิภาคออกเป็น 7 เขต 7 รัฐ และ 1 ดินแดนสหภาพ

  • 7 เขต (region) สำหรับพื้นที่ซึ่งประชากรส่วนใหญ่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์เมียนมาร์
  • 7 รัฐ (states) สำหรับพื้นที่ซึ่งประชากรส่วนใหญ่เป็นชนกลุ่มน้อย
  • 1 ดินแดนสหภาพคือ ดินแดนสหภาพเนปยีดอ (Naypyidaw Union Territory) และรัฐมอญ หนึ่งในกลุ่มชาติพันธุ์ของเมียนมาร์

รัฐมอญนี่แหละ เป็นจุดหมายปลายทางของเรา ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของเมียนมาร์ มีทิศเหนือติดกับเขตหงสาวดีและรัฐกะเหรี่ยง ทิศตะวันออกติดกับรัฐกะเหรี่ยง ทิศใต้ติดกับจังหวัดกาญจนบุรี ประเทศไทย และเขตตะนาวศรี ส่วนทิศตะวันตกติดกับอ่าวเบงกอล ประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวมอญและชาวเมียนมาร์เชื้อสายอินเดีย เนื่องจากพื้นที่ตรงนี้เป็นพื้นที่แรกที่ถูกอังกฤษเข้ามาล่าอาณานิคมในเมียนมาร์ได้สำเร็จ จึงตามมาด้วยชาวอินเดีย หนึ่งในชาติที่ถูกยึดอาณานิคมซึ่งเดินทางเข้ามาในฐานะแรงงาน

ชอบฟังเรื่องประวัติศาสตร์ไหมคะ

เธอถามขึ้นหลังฉันนั่งฟังไปเกินครึ่งเรื่องแล้ว ฉันยิ้มก่อนจะบอกให้เธอเล่าต่อได้เลย (แต่ในใจคิดว่า แหม ถ้าอารยาเล่ามาขนาดนี้แล้ว) อารยาอธิบายต่อว่า ก่อนที่มอญจะตกอยู่ใต้อำนาจเมียนมาร์ ยุคหนึ่งเคยเป็นอาณาจักรที่รุ่งเรืองและมีอิทธิพลอยู่ในเขตลุ่มน้ำอิรวดีและเจ้าพระยามาอย่างยาวนาน ถึงทุกวันนี้ชนชาติมอญจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของเมียนมาร์ไปแล้ว แต่ประวัติศาสตร์ที่มีมาอย่างยาวนาน ภาษา ประเพณี และวัฒนธรรมของชาวมอญก็ยังไม่หายไปไหน หลักฐานนี้ฉันได้เห็นกับตาตัวเองและจากปากเพื่อนใหม่ชาวมอญที่เขาพูดย้ำอยู่เสมอว่า หากไม่สอนเรื่องราวประวัติศาสตร์ให้กับเด็กรุ่นใหม่แล้ว ความเป็นมาของเขาก็คงจะถูกกลืนหายไป

“คนมอญส่วนใหญ่นับถือราชวงศ์จักรีค่ะ ส่วนใหญ่พูดภาษาไทยได้ นิสัยคล้ายคนไทย ยิ้มง่าย อัธยาศัยดี” เธอกล่าวทิ้งทายกับคอร์สบทเรียนมอญศึกษา 101 ฉบับหลักสูตรรวบรัดมัดตึง

เมียนมาร์
ภาพอาหารมื้อแรกในศูนย์อาหารของรถทัวร์ที่ฉันสุดแสนประทับใจในเครื่องเคียงทั้งหลาย

11 ชั่วโมงจากสนามบินย่างกุ้งสู่โรงแรมแห่งหนึ่งในเมืองเมาะลำไย เมืองหลวงของรัฐมอญ ในที่สุดฉันและทีมก็เดินทางมาถึง ระหว่างที่ยืนรอเช็คอินกันอยู่นั้น พี่นักข่าวคนหนึ่งถามขึ้นว่า

“ที่นี่ ชาวต่างชาติยังห้ามค้างคืนที่บ้านชาวท้องถิ่นอยู่ไหมคะ”

ฉันร้อง “หืม” ในใจ แปลกใจกับระเบียบที่ไม่เคยได้ยินมาก่อน มนตรี เจ้าหน้าที่ชาวไทยที่มาด้วยกันหันมาอธิบายว่า

“ครับ ที่นี่ยังคงห้ามอยู่ หากต้องการมาเที่ยวที่เมียนมาร์ การเข้าพักในสถานที่ที่ถูกจดทะเบียนให้เป็นสถานที่พักแรมถูกต้องตามกฎหมายจะดีกว่า เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหากับตัวเองและคนที่เราไปพักด้วยในภายหลัง”

ฉันยืนฟังอย่างเงียบๆ เพราะยังคงไม่เข้าใจอยู่ดีว่าระเบียบแบบนี้หมายความว่าอย่างไร แต่เดาอยู่ในใจว่าอาจเป็นเรื่องของความเข้มงวดที่ยังติดค้างมาตั้งแต่ที่เมียนมาร์ยังไม่เปิดประเทศ

“ถ้าข้ามถนนตรงหน้าโรงแรมไปอีกบล็อกหนึ่งจะเป็นแม่น้ำสาละวินครับ วิวสวย พรุ่งนี้ตอนเช้าลองไปเดินดูกันได้”

คือประโยคสุดท้ายก่อนที่วันนี้เราจะแยกย้ายกันไปพักผ่อนตามอัธยาศัย ฉันหันหน้าไปชักชวนรูมเมทถึงกิจกรรมยามเช้าวันพรุ่งนี้ ก่อนจะเริ่มต้นทำงานจริงจัง แต่ก็เป็นความจริงของมนุษย์นอนดึกตื่นเช้าไม่เป็นอย่างฉัน

เพราะตลอดการเดินทาง ฉันยังไม่ได้สัมผัสอากาศยามเช้าหรือมองดูวิวสวยๆ จากแม่น้ำสาละวินเลย

เมืองไจมะรอ, รัฐมอญ, เมียนมาร์

“สวัสดีค้าบ”

ชายชาวมอญยกมือไหว้พร้อมกับกล่าวทักทายฉันเป็นภาษาไทยชัดเจน (ทั้งๆ ที่ฉันน่าจะเป็นรุ่นลูกเขาด้วยซ้ำ) ทันทีที่เดินเข้ามาในบ้านหลังหนึ่งซึ่งเป็นสถานที่นัดหมายของการพูดคุยกันในวันนี้

ระหว่างที่นั่งรอคนอื่นๆ และก่อนที่วงสนทนาจะเริ่มต้นขึ้น ฉันก็ได้รู้ว่าสาเหตุที่เขาพูดภาษาไทยชัดขนาดนี้ก็เพราะเคยทำงานที่ประเทศไทยตั้งแต่ยังหนุ่มยังแน่น (ราวเกือบ 20 ปีที่แล้ว)

“ทุกวันนี้ ที่นี่ทำมาหากินกับปลาแทบไม่ได้แล้ว ปลาที่ได้ก็ได้ไม่เท่าเดิม จากที่เมื่อก่อนได้ 100 กิโลกรัมต่อวัน ปัจจุบันรายได้หลักคือรอเงินจากลูกหลานส่งมาให้ ตอนนี้ลูกผมสี่คนทำงานอยู่ที่ไทย”

คำถามมากมายแล่นเข้ามาในหัวแต่ฉันก็ไม่ได้ถามอะไรต่อเพราะวงสนทนาได้เริ่มขึ้น เหล่าชายหญิงสมาชิกกลุ่มประมงน้ำจืดขนาดเล็กของหมู่บ้านเกาะปะนอ (Kaw Pa Naw) เกือบ 10 ชีวิตนั่งล้อมกันเป็นวงกลม ก่อนที่ล่ามชาวเมียนมาร์จะเริ่มหน้าที่เป็นตัวกลางสำหรับวงสนทนาครั้งนี้

หมู่บ้านเกาะปะนอ (Kaw Pa Naw) เป็นหนึ่งในเจ็ดหมู่บ้านที่ได้รับผลกระทบปัญหาสิ่งแวดล้อมและถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน จนวิถีของชาวบ้านเปลี่ยนไปจากหน้ามือเป็นหลังมืออย่างไม่ทันรู้ตัว

เมียนมาร์
สาวๆ ชาวประมงนั่งจัดการกับเน็ตตกปลาขณะกำลังสนทนากัน

หัวหน้ากลุ่มประมงน้ำจืดเล่าให้ฟังว่า ทั้งเจ็ดหมู่บ้านที่ได้รับผลกระทบอยู่ขณะนี้ ล้วนอาศัยอยู่ตามลำน้ำอัตถะรันซึ่งเป็นแม่น้ำสาขาของแม่น้ำสาละวิน เดิมนั้นวิถีชีวิตชาวบ้านเป็นในลักษณะพึ่งพาธรรมชาติ คือประกอบอาชีพเกษตรกรรม เช่น ทำนา ทำสวนยางพาราและผลไม้ และทำประมงน้ำจืด

ปี 2013 หลังจากบริษัท Mawlamyine Cement Limited หรือ MCL ได้รับสัมปทานสร้างโรงงานผลิตปูนซีเมนต์และโรงไฟฟ้าถ่านหินจากรัฐบาลเมียนมาร์ เป็นระยะเวลาถึง 50 ปีและครอบคลุมพื้นที่ 5,000 ไร่ นั้น มีแหล่งวัตุดิบสำคัญคือภูเขาพยาตอง (Pyartaung) และเส้นทางขนส่งหลักคือ แม่น้ำอัตถะรัน ชีวิตพวกเขาก็เปลี่ยนไป

“พวกเราเคยคิดว่าชีวิตชาวบ้านจะดีกว่านี้แต่ผลกลับออกมาตรงข้าม ซ้ำยังเลวร้ายลงกว่าเดิม” สมาชิกกลุ่มประมงน้ำจืดขนาดเล็กคนหนึ่งเล่าให้ฉันฟังถึงสิ่งที่เขาเผชิญกันอยู่ในขณะนี้

เมื่อแม่น้ำที่ชุมชนไว้ใช้บริโภคอุปโภคและทำมาหากินกลายเป็นเส้นทางขนส่งทั้งถ่านหิน ปูนซีเมนต์และวัสดุก่อสร้างต่างๆ เป็นระยะทางกว่า 60 กิโลเมตร ผลกระทบที่ตามมาของการเป็นเส้นทางเดินเรือขนาดใหญ่ที่มีน้ำหนักมากถึง 200,000 ตันและวิ่งต่อวันโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 5-6 ลำ (ชาวบ้านเคยนับได้มากสุดถึง 11 ลำ) คือ เรือได้ไปสร้างคลื่นขนาดใหญ่ในแม่น้ำจนเกิดการพังทลายของตลิ่งซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของระบบป่าชายเลนริมแม่น้ำรวมถึงนำมาสู่ปริมาณปลาที่ลดลง

“จากที่เคยลงอวนลอยได้ 15 ครั้งต่อวัน ตอนนี้ลงได้แค่ 3-5 ครั้งต่อวัน และจากที่เคยขายปลาได้วันละ 100,000-150,000 จ๊าต (2,375-3,563 บาท) ทุกวันนี้ได้ไม่ถึง 35,000 จ๊าต (831 บาท) ต่อวัน”

ชาวประมงคนเดิมอธิบายเป็นตัวเลขเพื่อให้ง่ายต่อการเข้าใจว่าปริมาณที่ว่าลดลง มันลดไปแค่ไหน

เมียนมาร์

เมื่อถามถึงก่อนหน้าที่โรงงานจะดำเนินการก่อสร้างจนแล้วเสร็จและเปิดปฏิบัติการ ชาวบ้านเคยมีการพูดคุยหรือตกลงอะไรกับโรงงานบ้างหรือไม่ หัวหน้ากลุ่มประมงตอบว่า พวกเขาไม่เคยรู้มาก่อนว่าโรงงานดังกล่าวจะสร้างโรงงานไฟฟ้าถ่านหินในโรงงานด้วย พวกเขารับรู้แค่เรื่องจะมีโรงงานผลิตปูนซีเมนต์เข้ามาก่อสร้าง

ส่วนประเด็นที่ชาวบ้านเคยคุยร่วมกับตัวแทนที่ปรึกษาบริษัทก่อนการก่อสร้างและได้ตกลงกันชัดเจนมีเพียงเรื่องการเดินเรือเท่านั้นคือ

  1. เรือจะเข้ามา 3 ลำ / วัน
  2. วิ่งความเร็วไม่เกิน 3 ไมล์ / ชั่วโมง
  3. ส่งสัญญาณแจ้งเตือนทุกครั้งก่อนเรือจะเข้ามา
  4. บริษัทจะเป็นผู้รับผิดชอบในทุกกรณี

แต่ความเป็นจริงพวกเขาเล่าว่าทุกอย่างไม่เป็นแบบนั้น ซ้ำร้ายเรือที่ใช้เส้นทางแม่น้ำดังกล่าวก็ไม่ใช่เรือของบริษัทเพียงบริษัทเดียว ส่งผลให้สิ่งที่ชาวบ้านพยายามที่จะเรียกร้องหรือดำเนินการใดๆ แทบจะไม่เป็นผล ทั้งชุมนุมประท้วงหน้าโรงงานสามครั้ง (ครั้งที่ 1 คือ เมษายน 2016 ครั้งที่ 2 คือ 18 กุมภาพันธ์ และครั้งที่ 3 คือ 24 กรกฎาคม 2017) ยื่นเรื่องกับรัฐสภาเมียนมาร์ รัฐสภารัฐมอญ หรือกับตัวบริษัทดังกล่าวเอง – พวกเขายังไม่ได้รับการสนใจอยู่ดี

“No action” ล่ามตอบกลับมาสั้นๆ

ล่าสุด พวกเขารวมตัวสวดมนต์ขอพรที่วัดแห่งหนึ่งในไจมะรอเพื่อให้โรงไฟฟ้าถ่านหินหยุดดำเนินการ

เมื่อการทำประมงไม่สามารถเลี้ยงปากท้องพวกเขาได้อีกต่อไป คนหนุ่มสาวในหมู่บ้านส่วนใหญ่ตัดสินใจอพยพออกไปหางานทำในพื้นที่อื่นแทน บ้างก็เดินทางไปเป็นแรงงานในย่างกุ้งหรือในประเทศไทย

“เยอะมากไหม” ฉันถาม

“60-70 เปอร์เซ็นต์ของคนที่นี่เคยไปมาแล้วและตอนนี้อยู่ที่ประเทศไทย”ผู้หญิงคนหนึ่งตอบฉันเป็นภาษาไทย “ที่นี่ผู้หญิงมีโอกาสในการทำมาหากินน้อยกว่า มีทางเลือกน้อยกว่าผู้ชาย ไม่ค่อยมีการศึกษา บางคนถ้ามีกำลังก็อาจไปซื้อของในเมืองเข้ามาขายในหมู่บ้าน แต่บางคนก็เดินทางไปทำงานที่ประเทศไทย”

เธอบอกฉันเพิ่มว่า เธอทำงานไปๆ กลับๆ ประเทศไทยมา 12 ปีแล้ว และอีกสามวันเธอจะกลับไปทำงานที่ประเทศไทยที่จังหวัดหนึ่งในภาคใต้พร้อมกับยื่นเอกสารที่ถูกต้องตามกฎหมายให้ฉันดู แต่แน่นอนว่าบางคนที่นี่ก็ไม่ได้เข้าไปอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ชายคนหนึ่งเล่าให้ฟังว่าเคยติดคุกที่ประเทศไทยเพราะเข้าไปทำงานผิดกฎหมาย ปัจจุบันเขาไม่สามารถเดินทางไปประเทศไทยได้แล้ว

สำหรับบางคนที่อายุมากทั้งยังสุขภาพไม่แข็งแรง ที่ทำได้คือหวังพึ่งพิงลูกหลานให้ส่งเงินมาให้ บ้างก็กู้เงินจากธนาคารต่างชาติ

“กู้เพื่ออะไร” ฉันถาม คาดหวังว่าคำตอบคือเป็นการลงทุนกับอุปกรณ์ทำการประมง แต่สิ่งที่ได้ยินคือ พวกเขากู้มาเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน

หดหู่ คือคำแรกที่กระแทกเข้ามากลางใจฉัน เมื่อหัวหน้าประมงหยิบเอกสารมากมายซึ่งเป็นเอกสารกู้เงินจากธนาคารต่างชาติประเทศหนึ่งมาให้ดู พร้อมอธิบายเกี่ยวกับขั้นตอนการกู้เงินและดอกเบี้ยราคามหาโหดที่พวกเขาจำเป็นต้องยอมรับมัน

แล้วคิดจะยื่นเรื่องฟ้องร้องหรือดำเนินการอะไรอีกไหม ฉันหันไปถามกลางวง เธอคนนั้นที่กำลังจะเดินทางกลับไปประเทศไทยในอีกสามวันข้างหน้าตอบกลับฉันมาเป็นภาษาไทยก่อนจะหัวเราะเบาๆ ว่า

“ยอมแพ้แล้ว เราเป็นคนจนมีแต่ต้องยอมแพ้”

สายตาของเธอเต็มไปด้วยความสิ้นหวังจนฉันตัดสินใจปิดสมุดโน้ต

เมียนมาร์

หลังจากเราทานอาหารกันเรียบร้อย กำหนดการตอนบ่ายต่อจากนี้คือการเยี่ยมชมหมู่บ้านที่อยู่ติดกับแม่น้ำอัตถะรันและล่องเรือหางยาวชมบรรยากาศยามเย็น

หากถามว่าบรรยากาศบ้านเรือนที่ฉันเห็นเป็นอย่างไร มันก็ไม่ต่างอะไรกับชุมชนชนบทในต่างจังหวัดไทยบ้านเรา ทั้งร้านของชำ วัวควายที่อยู่ในคอก และเด็กเล็กๆ วิ่งกันทั่วถนนเพราะอยู่ในช่วงปิดเทอม

ภาพที่เห็นมันจึงให้ความรู้สึกเหมือนฉันไม่ได้ถือพาสปอร์ตเดินทางข้ามประเทศ แค่มาเยี่ยมญาติผู้ใหญ่ในต่างจังหวัดเสียมากกว่า

เมียนมาร์

“เมื่อก่อนที่นี่มีลิงด้วยนะ”

ชายชาวมอญพูดภาษาไทยกับฉัน ก่อนจะเล่าให้ฟังถึงครั้งอดีตความอุดมสมบูรณ์ของสองข้างทางที่ฉันเห็นระหว่างนั่งอยู่บนเรือหางยาว จินตนาการแทบไม่ออกว่าก่อนหน้านั้นความอุดมสมบูรณ์ที่เขาเล่าให้ฟังมันจะขนาดไหน เมื่อตรงหน้าฉันตอนนี้คือท้องฟ้าสีชมพู นกเป็ดน้ำบินพาดผ่านอยู่ไกลๆ จนเห็นเป็นจุดสีดำเล็กๆ ลมเย็นๆ ปะทะหน้า พุ่มไม้ข้างทางเอนเอียงไปตามลม คือบรรยากาศที่ฉันพยายามยัดลงกล่องความทรงจำของตัวเองให้แน่นจนฟูล้นออกมา

ไม่แปลกใจเลย ทำไมพวกเขาถึงพยายามต่อสู้เพื่อปกป้องสิ่งที่ฉันเห็นอยู่ขนาดนี้

เมียนมาร์


หมายเหตุ: ‘แหมะเหง่อระอาว’ เป็นภาษามอญ แปลว่า ‘สวัสดี’

 

Author

WAY

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า