ฟังเสียงคนเมียนมาถึงเมืองทวาย ทำไมต้องข้ามพรมแดนมาขายแรงแผ่นดินไทย

โดยแท้จริงแล้ว ภารกิจหลักในการเดินทางครั้งนี้คือเพื่อศึกษาโครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย ประเทศเมียนมา แต่ระหว่างการใช้ชีวิตอยู่ที่นี่ คนขับรถตู้ในคณะเดินทางของเราเปิดเพลงคาราบาวแบบเมดเลย์ ร้านอาหารที่อยู่ข้างทางเปิดเพลงมาลีฮวนน่า รสชาติอาหารไทยในร้านนั้นก็อร่อยจนลืมกลืน ร้านเสื้อผ้ากลางเมืองทวายมีชื่อว่า Thai Fashion เพื่อนพ้องที่เราพบปะจำนวนไม่น้อยเกิดบนแผ่นดินไทย สินค้าหลายชนิดติดแบรนด์ด้วยข้อความภาษาไทย ดาราคนโปรดของวัยรุ่นที่นี่คือ เจมส์ จิรายุ / มาริโอ้ เมาเร่อ / ณเดช คูกิมิยะ

การสนทนาแต่ละวันในเมืองนี้เต็มไปด้วยคนพูดภาษาไทยได้ ยิ่งเมื่อรู้ว่าเรามาจากประเทศไทย หลายคนเข้ามาทักโดยไม่ต้องรอแล้วบอกว่า “ผม/ฉันเคยทำงานที่ประเทศไทย” บางคนพูดคล่องปร๋อ บางคนก็ชำนาญน้อยลงหน่อย แต่โดยรวมแล้วเราพบว่ากำแพงภาษาระหว่างเขาต่อเรานั้นบางเฉียบ กลับเป็นเราเสียอีกที่ไม่กระดิกภาษาของเจ้าถิ่นเอาเสียเลย

“มิงกะลาบา/สวัสดี” “เจซูตาย(ภาษาทวาย)/ขอบคุณ” ไม่มากมายไปกว่านี้สำหรับชาวไทยเช่นเรา

ปกติแล้วเราได้พูดคุยกับเพื่อนพ้องเมียนมาอยู่บ้าง แต่ทั้งหมดก็เกิดขึ้นบนแผ่นดินไทย การเดินทางมาถึงเมืองทวายในครั้งนี้ ทำให้เรามีโอกาสได้ยินเสียงพูดของคนเมียนมาบนแผ่นดินของเขาเอง เราสนทนากับเขา ว่าด้วยความหลังทั้งหวานขมขณะทำมาหากินในอีกแผ่นดินหนึ่ง รวมทั้งแรงผลักที่ทำให้คนนับล้านเลือกทิ้งถิ่นเกิดเพื่อข้ามพรมแดนนั้นไป ที่สำคัญกว่าอดีตในเรื่องเล่าก็คือ อนาคตของเขาจะเอาอย่างไรต่อไป

เกริ่นมาถึงท่อนนี้ จะว่าการพูดคุยเหล่านี้ไม่เกี่ยวกับเมกะโปรเจกต์ก็ไม่ใช่ เพราะเรื่องเขตเศรษฐกิจพิเศษ ท่าเรือน้ำลึก เขื่อน ทรัพยากรธรรมชาติ การตัดถนน ระบบโลจิสติกส์ ระบบสาธารณูปโภค รวมทั้งใดๆ ก็ตามที่กำลังจะเกิดขึ้น ณ ที่แห่งนี้ มันก็เกี่ยวดองหนองยุ่งกับทุกชีวิตนั่นแหละ เรื่องแรงงานก็เช่นกัน

*อัตราแลกเปลี่ยน ณ วันที่ 1 พฤษภาคม 2562 คือ 1 บาท = 47.6 จ๊าต โดยประมาณ

ทวาย

โก จอ

“สวัสดีครับ” ดาดฟ้าของโรงแรมที่เราพัก โก จอ มักทักทายเราด้วยข้อความสั้นๆ แบบนี้เสมอ หลายวันเข้าเมื่อรู้สึกคุ้นเคยกันบ้าง เราจึงชวนเขานั่งคุยในบ่ายหนึ่งของวันนั้น

“ผมเคยทำงานเลี้ยงกุ้งในฟาร์มที่เมาะลำไย มีหน้าที่ให้อาหารกุ้ง” ทำงานที่นั่น เขาได้ค่าจ้างไม่มากมายอะไร อยู่ได้ 3-4 เดือน เขาจึงลาออก แล้วเดินทางเข้าไปทำงานในประเทศไทยตามคำชวนของเพื่อน

“มีคนรู้จักที่อยู่บ้านเดียวกันชวนไปทำงานส่งน้ำแข็งในกรุงเทพฯ พักอยู่กับเพื่อน ได้หยุดงานวันอาทิตย์ ได้ค่าแรงวันละ 200 บาท

“ตอนได้รับเงินค่าแรงครั้งแรกนึกย้อนถึงวันที่ไปทำฟาร์มกุ้งแล้วเสียดายเวลา รายได้ต่างกันเยอะมาก

“แต่ผมทำงานส่งน้ำแข็งได้เดือนเดียวก็ต้องลาออก เพราะตำรวจเข้าตรวจบ่อย ก็เลยต้องหนี”

คุยถึงวรรคนี้เราถามว่า โก จอ เข้าไปทำงานแบบผิดกฎหมายใช่มั้ย เขาตอบสั้นๆ ว่า “ใช่”

เมื่อรู้สึกว่าไม่ปลอดภัย โก จอ ตัดสินใจไปทำงานที่ใหม่ในร้านอาหารซึ่งเขาจำได้แค่ว่ามันอยู่ใกล้เดอะมอลล์แต่ไม่รู้ว่าสาขาอะไร เขตไหน นึกอีกครู่คราวก็ได้พิกัดอีกเพียงนิดว่าอยู่ติดมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง ซึ่งเขาไม่รู้จักชื่ออีกอยู่ดี

“อาหารที่ขายเป็นพวกส้มตำ ไก่ทอด ตอนแรกเป็นคนล้างจาน แต่พอเริ่มสนิทกับพ่อครัวเขาก็เลยให้ผมไปเป็นผู้ช่วย โดยได้ค่าจ้างวันละ 200 บาทเหมือนเดิม

“พ่อครัวให้ผมทอดไก่แทบทุกวัน ผมทอดจนชอบกินไก่ทอด ชอบที่สุดเลย”

มีสิ่งที่ชอบก็มีตรงข้าม ตลอดระยะเวลาของการทำงานที่นั่น เขาเครียดและระแวง เพราะคนที่เข้ามาในร้านบางทีก็ไม่ใช่ลูกค้า

“เมื่อก่อนมาเดือนละครั้ง หลังๆ มาถี่ขึ้น อาทิตย์ละครั้ง ไม่ซ้ำหน้า พอเขามาผมต้องไปหลบหลังร้านกับเพื่อนชาวเวียดนามรวม 4 คน ซึ่งไม่มีใบอนุญาตเหมือนกัน”

แขกที่เขาหมายถึงคือเจ้าหน้าที่ตำรวจ เมื่อเป็นเช่นนี้บ่อยขึ้น กอปรกับเถ้าแก่ต้องปิดร้านชั่วคราวเพราะต้องเข้ารับการผ่าตัด โก จอ จึงตัดสินใจกลับเมียนมา

คราวนี้เขาพยายามดำเนินการทางเอกสารให้ถูกต้อง แต่ระหว่างนั้นเขาบังเอิญพบกับผู้จัดการโรงแรมคนหนึ่งซึ่งเขาได้รู้จักเมื่อครั้งทำงานที่ฟาร์มกุ้ง ผู้จัดการโรงแรมชวนเขาไปเป็นพนักงานโรงแรมในเมียวดี ก่อนที่จะย้ายมาทำที่ทวายในปัจจุบัน ทิ้งความทรงจำ 1 ปีเศษในกรุงเทพฯ ไว้เพียงเท่านั้น และไม่กลับไปอีกเลย

“ที่นี่รายได้ไม่สูงเท่ากรุงเทพฯ แต่ก็พออยู่ได้ ไม่เครียดด้วย”

เนน เน่

15 ปีที่แล้ว เนน เน่ออกจากทวายไปรับจ้างทำปลาหมึกที่มหาชัย จังหวัดสมุทรสาคร แล้วย้ายไปโรงงานปลากระป๋องที่พัทยา ระยะเวลาในการทำงานสองที่รวมกัน 5 ปี จากนั้นเธอตัดสินใจกลับบ้าน แต่งงาน มีลูก และไม่ได้กลับไปประเทศไทยอีกเลย

ปัจจุบัน เนน เน่เปิดร้ายขายก๋วยเตี๋ยวที่บ้านของตัวเอง ที่บ้านมีลูกสาวสองคน สามีทำสวนในพื้นที่ใกล้บ้าน และมีญาติตั้งบ้านเรือนอยู่ใกล้ๆ

“อยากกลับไปอีก” “จะกลับไปอีก” เนน เน่ย้ำหลายครั้ง

อยู่ที่นี่ได้อยู่กับครอบครัวพร้อมหน้า มีร้านเป็นของตัวเอง ทำไมอยากกลับไปอีก? – เราถาม

“อยู่ที่นี่ มีขายของได้บ้างไม่ได้บ้าง มีงานไม่ตลอด รายได้ไม่มั่นคง อยู่ที่นี่ต้องมีเงินก้อนเพื่อจะอยู่ได้ยาวๆ แต่อยู่ที่ไทยมีเงินรายวัน

“ตอนอยู่ไทยทำงาน 7 ชั่วโมงต่อวัน จันทร์-เสาร์ ค่าแรงวันละ 350 บาท ได้หยุดวันอาทิตย์ เจ้านายดี ให้หยุดพักได้ ในโรงงานมีหน่วยพยาบาลด้วย” เนน เน่ตอบ

คิดว่าจะได้กลับไทยอีกมั้ย? – เราถาม

“ไม่รู้เหมือนกัน รอโรงงานเรียกตัว ตอนนี้น้องสาวทำงานที่โรงงานปลากระป๋องอยู่แล้ว ถ้าไปก็ไปอยู่กับน้องสาว (หยุดคิด) ลูกสาวคนโตอยู่ ม.1 แล้ว ไปได้” เนน เน่ตอบยิ้มๆ

ไปอยู่ไกลๆ จะคิดถึงครอบครัวมั้ย? – เราถามต่อ

“ถ้าได้เงินก็ไม่คิดถึงผัวแล้ว (หัวเราะ)”

นิ นิ ไน

“ถ้าที่นี่มีงานก็อยากทำที่บ้าน ได้อยู่บ้านเกิดมันดีอยู่แล้ว แต่ที่นี่ไม่มีงาน ไม่มีรายได้ ทำนาบ้างแต่ก็ทำตามฤดูกาล ถ้าไม่ทำนาก็อยู่บ้านเฉยๆ แต่อยู่ที่ไทยก็มีค่าใช้จ่ายหลายอย่าง ค่าวีซ่าค่าอะไร และมีเรื่องต้องกลัวหลายอย่าง ถ้าหัวหน้าไม่ชอบก็อาจโดนพักงานหรือหักเงิน บางครั้งโดนตรวจ ทั้งที่มีใบทำงานถูกต้องแต่บางทีก็ถูกฉีกหรือหาข้อหาให้ แต่อยู่ที่บ้านไม่มีงาน แม้จะกลัวแต่ก็ต้องแลก”

ไม่ดีเลยเนอะ – เราแสดงความเห็น

“คนที่ดีก็มี คนไม่ดีก็มี” เขาตอบภาษาไทยปนทวาย

นิ นิ ไน อยู่ประเทศไทยได้ 4 ปี รับจ้างที่โรงงานปลากระป๋องแถวมหาชัย ชั่วโมงทำงานคือ หนึ่งทุ่ม ถึง ตีสี่ ทำครบ 9 ชั่วโมงจะได้ค่าแรง 330 บาท ไม่รวมโอทีชั่วโมงละ 62 บาท แต่ นิ นิ ไนบอกว่าส่วนใหญ่เขามักได้ค่าแรงรวมโอทีราว 600 บาทอยู่บ่อยๆ

“ทำงานหนัก แต่ดีเพราะในโรงงานมีแอร์”

ปัจจุบันเขากลับมาบ้านชั่วคราว และหวังอยากไปทำงานที่ไทย

ตู ซา

ถัดจากหลักกิโลเมตรที่ 0 ของโครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย เราเดินทางเลียบชายหาดราว 15 นาที ตรงนั้นมีร้านอาหาร 3 เพิงเรียงกัน หนึ่งในนั้นเป็นร้านตามสั่งของ ‘ตู ซา’ หญิงวัย 27 ปี

หลังจากง่วนอยู่กับครัวอยู่พักใหญ่ เมื่อลูกค้าอิ่มท้องเธอผละออกมาแล้วหยอกเอินกับลูกชายวัยขวบเศษ เมื่อเห็นว่าว่างแล้วเราจึงถือโอกาสนั่งสนทนากันโดยมีฉากหลังเป็นเปลของเด็กชาย ส่วนฉากหน้าเป็นท้องทะเลทอดไกลลิบสุดขอบฟ้า

“เมื่อก่อนขายของอยู่ที่หมู่บ้านมยินจี ไม่ห่างจากนี้ ถ้าไปก็จะเห็นต้นมะพร้าวอยู่หน้าบ้าน”

ตู ซามีความฝันตั้งแต่เด็กว่าจะไปทำงานที่ประเทศไทย เมื่อโตเป็นผู้ใหญ่พอที่จะดูแลตัวเองได้ เธอหอบเอาความถนัดด้านการขายไปเป็นแม่ค้าร้านผลไม้ในตลาดโพธาราม

“ขายแอปเปิล ส้ม ผลไม้ทั่วไป ได้ค่าแรงวันละ 300 บาท แต่ปัญหาคือต้องขายของอยู่คนเดียว เลยกลัว พอโทรคุยกับแม่แล้วบอกเรื่องนี้ไป แม่ก็เลยให้ไปหางานทำกับเพื่อนหรือพี่น้อง”

คำแนะนําของแม่มีผลต่อการตัดสินใจ เธอโทรหาเพื่อนก่อนได้รับคำชักชวนให้ไปทำโรงงานตะกร้าพลาสติกในตัวเมืองราชบุรี

“ตะกร้าแบบนี้เลย”

ว่าแล้วเธอก็หยิบตะกร้าหน้าร้านมาให้ดู มันเป็นรูปทรงอย่างง่ายที่พบเห็นได้ตามร้านแนวๆ ทุกอย่าง 20 บาท ไม่แน่ว่าตะกร้าบางชิ้นที่เราเคยใช้อาจมาจากมือของเธอ

“ได้ค่าแรงวันละ 320 บาท ไม่มีโอที หยุดวันเสาร์-อาทิตย์ พักด้วยกันกับเพื่อน 5-6 คน ห้องใหญ่” เธอเน้นเสียง เมื่อพูดถึงห้องพักนั้นที่โรงงานมีให้ฟรี

“ค่าเช่าห้องไม่ต้องเสีย แต่ค่าน้ำค่าไฟประมาณ 250 บาท ก็หารกันจ่าย

“ใกล้ๆ โรงงานมีสถานีอนามัย เวลาเจ็บป่วยเราก็ไปอนามัย ต้องจ่ายค่ายาเอง เคยป่วยก็จ่ายราว 30-40 บาท ที่จริงในโรงงานก็มียานะ แต่หนูไม่หายสักทีเลยไปหาหมอที่อนามัยข้างนอก”

งานที่ทำไม่ถึงกับสบาย แต่ก็ไม่หนักหนาอะไร “ทำไหว” เธอย้ำและยิ้ม กระนั้นก็สงสัยถ้าดีแล้วทำไมถึงกลับมา ทั้งที่ช่วงวัยอย่างเธอน่าจะทำงานได้อีกนาน

“เมื่อ 3-4 ปีที่แล้วโรงงานน้ำท่วม ทำให้ไม่มีที่อยู่ เลยโทรคุยกับที่บ้าน แม่บอกว่าถ้าไม่มีที่อยู่ก็กลับมา”

เป็นอีกครั้งที่เธอเชื่อแม่ ตู ซา กลับมาและทำร้านอาหารที่เรานั่งคุยกันวันนี้ วันไหนขายดีจะได้ราว 5-6 หมื่นจ๊าต หากช่วงเทศกาลอาจสูงถึง 1-2 แสนจ๊าต ช่วงสงกรานต์ที่ผ่านมาขายได้วันละ 3 แสนจ๊าต แต่ส่วนมากจะอยู่วันละ 1-2 หมื่นจ๊าต เป็นรายรับต่อวันที่ยังไม่หักลบต้นทุน และมีความไม่แน่นอนสูงเช่นกัน เราถามว่าอยากกลับไปทำงานที่ไทยอีกมั้ย คำตอบของเธอมีรอยยิ้มที่มุมปาก

“ยังอยากไป แต่ก็ไปไม่ได้ เพราะมีลูกตัวเล็กนี้อยู่” เธอพูด ขณะที่เจ้าตัวเล็กกำลังงอแงอยากกินนม

“ตอน ITD (Italian-Thai Development) มาที่นี่นะ คนงานได้ค่าแรงวันละ 5-6 พันจ๊าต ตอนนี้เขาหยุดแล้ว เมื่อไหร่จะมาอีกก็ไม่รู้ ถ้า ITD มาก็จะขายของดี เพราะคนเยอะ หนูก็รออยู่

“อยากให้มีโรงงาน ถ้าไม่มีก็ต้องไปทำงานที่ไทย ไม่ได้อยู่ด้วยกันกับพ่อแม่พี่น้อง อยู่นี่ได้เห็นหน้าพ่อแม่ทุกวัน ถ้ามีลูกก็ได้เจอหน้าลูก”

เธอพูดขณะโอบกอดลูกชายไว้แนบอก

ทวาย

อา ชาย

“ทำงานก่อสร้างที่กรุงเทพฯ 5 ปี อยู่เรืออวนลากอวนดำที่ระนอง 3 ปี อยู่เรือหาหมึกที่ชุมพร 2 ปี ลำบาก โดยเฉพาะตอนทำงานบนเรือ ต้องใช้แรงมาก กลางวันนอน กลางคืนทำงาน

“เห็นคนที่บ้านรุ่นก่อนๆ ไปทำงานที่ไทยแล้วเก็บเงินได้ ตั้งตัวได้เลยอยากไปบ้าง อยากมีเงินก้อนมาตั้งตัว อยู่ที่นี่ไม่มีเงินเก็บ ตั้งตัวไม่ได้”

อา ชาย อายุ 29 ปี เพิ่งกลับมาทำประมงที่ตลาดตาบอเส็ก (Ta-bo-sek) ได้ไม่ถึงปี ทุกเย็นอา ชายจะนำเรือออกจากฝั่งแล้วกลับมาอีกทีตอนเช้า

“ดำน้ำลงไปหาปลา ใส่เสื้อสามชั้น กางเกงหนึ่งตัว เอามีดหรือไม่ก็ฉมวกติดตัวลงไปในน้ำไว้จับปลา มีถังออกซิเจนลงไปด้วย แต่น้ำเข้าหน้ากากตลอด ไม่ก็มีไอน้ำตลอดเวลา”

อันตรายมั้ย?

“อันตราย ได้ยินหลายคนตายเพราะจับปลา เสี่ยง แต่รายได้ดีกว่าตอนทำงานที่ไทย”

ไปอยู่ไทยตั้งหลายปี รู้สึกว่าที่ไหนเป็นบ้านมากกว่ากัน?

“ความเป็นอยู่ที่ไทยดีกว่า แต่อยู่ที่บ้านดีที่สุดแล้ว บัตรประชาชนใบเดียวเดินทางไปไหนก็ได้ อยู่ที่โน่นต้องมีเอกสารเยอะ ถึงจะอยู่แบบถูกกฎหมายแต่ก็กลัว แม่อยู่คนเดียวแล้วด้วย พี่น้องมีครอบครัวกันหมดแล้ว ต้องมาอยู่ดูแลแม่”

แล้วที่บอกว่าอยู่ไทยเก็บเงินเป็นก้อนได้ เก็บได้มั้ย?

“เก็บเงินมาได้ส่วนหนึ่ง แต่ต้องเอาเงินไปซ่อมบ้านเพราะบ้านถูกไฟไหม้ และเอาเงินไปดูแลแม่”

ซม หล่วย

“ไปทำงานที่ลาดหญ้า กาญจนบุรีปี 1989 ทำงานก่อสร้าง ตอนยังไม่เป็นงานได้ค่าแรงวันละ 50 บาท กลับบ้าน (ทวาย) ปี 1994 ได้เงิน 150 บาท เพราะทำปูนเป็นแล้ว (ยิ้ม) ทำเป็นทุกอย่าง กลับมาเป็นหัวหน้าช่างได้ อ่านแบบได้

“ที่ไปเพราะตอนนั้นที่บ้านไม่ดี มันมี (คิดคำ) fight น่ะๆ”

fight ที่ซม หล่วย วัย 53 ปี พูดถึง คือการต่อสู้ระหว่างทหารกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงกับทหารพม่า

ตอนไปไทยครั้งแรกปี 1989 เดินทางไปยังไง?

“เดินไป”

ไกลมากเลยนะ ลุงเดินไปยังไง ใช้เวลากี่วัน? – เรายิงคำถามแบบรัวๆ

“(ยิ้ม) 2 วัน ไปทางบ้านนะอิดอง กาญจนบุรี คนพม่าเดินไปทั้งนั้น บางคนก็ใช้เกวียน มันไม่มีรถเหมือนตอนนี้”

ตอนทำงานที่ไทย ซม หล่วยบอกว่าเขาโชคดีได้เจอกับเถ้าแก่ใจดีที่ลาดหญ้า จากค่าแรง 50 บาทต่อวันเพราะทำงานอะไรไม่เป็น เพิ่มเป็น 150 บาทก็เพราะเถ้าแก่สอนงาน

“ใจดีมาก เล่าไม่ถูกว่าใจดียังไง เหมือนเป็นพ่อ สอนงานทุกอย่าง กลับมาบ้านเลยทำเป็นทุกอย่าง นี่ (ชี้ที่กำแพงบ้าน) ก็ทำเองนะ โรงแรมข้างๆ นี่ก็เป็นคนทำ

“เถ้าแก่ใจดี ให้ข้าวฟรี ให้ที่พัก ไม่ต้องจ่ายอะไร เก็บตังค์ได้ ซื้อเสื้อได้”

ตอนกลับบ้านปี 1994 เพราะมีทักษะก่อสร้างหลายอย่าง จึงทำงานก่อสร้างต่อที่ทวายสลับกับไปทำงานที่ระนองบ่อยๆ ทุกวันนี้เขาเลิกทำงานก่อสร้างพร้อมกับเลิกเดินทางไปกลับทวาย-ระนอง แล้วร่วม 10 ปี ปัจจุบันซม หล่วยเปิดร้านขายของชำที่เขาลงมือต่อเติมตัวร้านเอง

อยากกลับไปไทยอีกมั้ย?

“ไม่ แก่แล้ว (ยิ้ม)”

ผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการลงพื้นที่ทำข่าว สนับสนุนโดย Earth Journalism Network ภายใต้ Internews และชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย

Author

โกวิท โพธิสาร
เพลย์เมคเกอร์สารพัดประโยชน์ผู้อยู่เบื้องหลังเว็บไซต์ waymagazine.org มายาวนาน ก่อนตัดสินใจวางมือจากทีวีสาธารณะ มาร่วมปีนป่ายภูเขาลูกใหม่ในฐานะ ‘บรรณาธิการ’ อย่างเต็มตัว ทักษะฝีมือ จุดยืน และทัศนคติทางวิชาชีพของเขา ไม่เป็นที่สงสัยทั้งในหมู่คนทำงานข่าวและแม่ค้าร้านลาบ

Author

ณิชากร ศรีเพชรดี
ถูกวางตำแหน่งให้เป็นตัวจี๊ดในกองบรรณาธิการตั้งแต่วันแรก ด้วยคุณสมบัติกระตือรือร้น กระหายใคร่รู้ พร้อมพาตัวเองไปสู่ขอบเขตพรมแดนความรู้ใหม่ๆ นิยมเรียกแทนตัวเองว่า ‘เจ้าหญิง’ แต่ไม่ค่อยมีใครเรียกด้วย เนื่องจากส่วนใหญ่มองว่าเธอไม่ใช่เจ้าหญิงแต่เป็นนักเขียนและนักสื่อสารที่มีอนาคต
(กองบรรณาธิการ WAY ถึงปี 2561)

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า