ฤาถึงยุคล่มสลายของระบบสุขภาพในเมียนมาอีกคำรบ: เมื่อกองทัพยึดอำนาจไวรัสและวัคซีน

In a veiled warning: ไวรัส, วัคซีน, ระบบสุขภาพภายใต้รัฐประหารเมียนมา

พวกเขาหายใจไม่ออก มีไข้สูง แต่เราไม่มีออกซิเจนเสริมที่จะช่วยพยุงให้พวกเขามีชีวิตอยู่ได้ เราไม่มีอุปกรณ์ทางการแพทย์ ไฟฟ้า หมอ และรถพยาบาลเพียงพอ เรามีแต่ยาพาราเซตามอล…

คำบอกเล่าของเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่ปฏิบัติงานอยู่ในโรงพยาบาลในรัฐชิน ใกล้ชายแดนเมียนมา-อินเดีย สะท้อนให้เห็นว่าพวกเขาต้องเผชิญความเสี่ยงจากภัยคุกคามระบบสุขภาพที่ดูเหมือนว่าใกล้จะล่มสลาย นับตั้งแต่การรัฐประหารเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2021 

ทำไมถึงบอกว่าระบบสาธารณสุขเมียนมาจวนเจียนล่มสลาย (อีกครั้งหนึ่ง)

หลังรัฐประหาร รายงานสถานการณ์ COVID-19 ของเมียนมาก็พิกลพิการตามไปด้วย อย่างเช่น การระบุว่าพบผู้ติดเชื้อเพียงแค่ 4 ราย เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ย 420 รายต่อวัน ในสัปดาห์สุดท้ายก่อนรัฐประหาร ในขณะที่เฟซบุ๊คของศูนย์บริหาร COVID-19 ของเมียนมา หรือกระทรวงสาธารณสุขและการกีฬา ที่เป็นศูนย์กลางในการเผยแพร่รายงาน COVID-19 ก็หยุดชะงักไปด้วย กอปรกับการก่อรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2021 กองทัพได้จำกัดการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตและค่อยๆ ยกระดับเพิ่มการปราบปรามการประท้วงอย่างรุนแรง จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตไปแล้วหลายร้อยคน

มิหนำซ้ำ บริการในโรงพยาบาลของรัฐก็พังทลายลง หลังจากแพทย์และพยาบาลจำนวนมากเข้าร่วมการประท้วงในขบวนการอารยะขัดขืน (Civil Disobedience Movement: CDM) และเป็นแนวหน้าของการต่อต้านการปกครองของทหาร นายแพทย์สเตฟาน พอล จอสต์ (Stephan Paul Jost) ตัวแทนองค์การอนามัยโลก (WHO) กล่าวยืนยันว่า เจ้าหน้าที่สาธารณสุขจำนวนเป็นร้อยๆ คนถูกจับกุม และนั่นยังไม่นับรวมถึงแพทย์และพยาบาลอีกหลายร้อยคนที่ถูกตั้งข้อหายุยงปลุกปั่นให้เกิดความไม่สงบ

อย่าว่าแต่ในสถานการณ์ไม่ปกติเลย แม้แต่ในสถานการณ์ปกติ ก็ยังพบว่าเมียนมาประสบกับปัญหาการขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ซึ่งเป็นปัญหาเรื้อรังมานาน

นีฟ กอร์ดอน (Neve Gordon) และ เพนนี กรีน (Penny Green) จาก International State Crime Initiative ชี้ให้เห็นว่า รัฐบาลบางประเทศใช้ประโยชน์จากวิกฤติ COVID-19 เพื่อนำเสนอนโยบายต่างๆ ของพวกเขา เช่น การเฝ้าระวังที่เข้มงวดขึ้น การใช้มาตรการการรักษาความปลอดภัยฉุกเฉินที่บ่อนทำลายหลักการประชาธิปไตย และละเมิดสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองของพลเมือง รวมถึงผู้ย้ายถิ่นด้วย

กรณีของเมียนมา เมื่อกองทัพตัดสินใจทำรัฐประหาร กองทัพก็ฉวยใช้ COVID-19 เพื่อสร้างความชอบธรรมตามรัฐธรรมนูญให้กับอำนาจของตนเช่นกัน เห็นได้จาก วิน มยิ่น อดีตประธานาธิบดี ที่ถูกจับกุมในช่วงรุ่งสางของวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2021 ด้วยข้อกล่าวหาว่าละเมิดกฎ COVID-19 ในระหว่างการหาเสียงเลือกตั้งเมื่อปี 2020 บรรดาสื่อของรัฐในช่วงหลังการรัฐประหาร รวมถึงในประกาศฉบับที่ 1 ของ นายพลมินอ่องหล่าย ยังคงกล่าวถึงการระบาดของ COVID-19 ตามปกติ และให้คำมั่นสัญญาว่า การป้องกันการแพร่ระบาดของ COVID-19 ในปัจจุบันจะดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพด้วยแรงผลักดันของกองทัพ

ใช่ นั่นคือคำมั่นสัญญา ซึ่งเป็นถ้อยแถลงหรือคำเตือนที่เปิดเผยไม่ได้ (a veiled warning) 

เรามีเพียงยาพาราเซตามอลที่เพียงพอ… เสียงสะท้อนจากเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่กล่าวขึ้นแล้วในตอนต้นของข้อเขียนนี้ และย้ำตรงบรรทัดนี้ อีกคำรบหนึ่ง

และนี่ก็มิใช่ครั้งแรกที่เป็นคำเตือนที่เปิดเผยไม่ได้ 

ในปี 2000 หลายปีต่อมาหลังจากที่นายพลตันฉเหว่ ทำรัฐประหารนายพลซอหม่อง เมื่อปี 1992 และขึ้นดำรงตำแหน่งประธานสภาสันติภาพและการพัฒนาแห่งรัฐ (State Peace and Development Council: SPDC) ตอนนั้น องค์การอนามัยโลกได้จัดอันดับระบบสุขภาพของเมียนมาให้เป็นระบบที่เลวร้ายที่สุด อีกทั้งข้อมูลของธนาคารโลกระบุว่า ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของเมียนมาอยู่ที่ประมาณ 1.87 เปอร์เซ็นต์ของ GDP ในปี 2010 ซึ่งเป็นปีรุ่งอรุณแห่งการปฏิรูปประชาธิปไตยในเมียนมา

ทศวรรษถัดมา มีนาคม 2020 เมียนมารายงานว่า มีเตียงผู้ป่วยหนักคิดเป็นสัดส่วน 0.71 เตียง และเครื่องช่วยหายใจ 0.46 เครื่องต่อประชากร 100,000 คน ซึ่งไม่เพียงพอที่จะรับมือกับการระบาดในระดับปานกลางตามข้อมูลของธนาคารโลก และ WHO ในขณะที่หน่วยดูแลสุขภาพขนาดเล็กของเมียนมามีแพทย์เพียง 6.7 คนต่อประชาชน 10,000 คน ในปี 2018 ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกซึ่งอยู่ที่ 15.6 คน ในปี 2017 อย่างมีนัยสำคัญ

ชารอน เบลล์ (Sharon Bell) นักวิจัยที่ศึกษาระบบสุขภาพในเมียนมากล่าวว่า เธอไม่คิดว่าทหารจะมีความสามารถในการควบคุมการระบาดหรือดำเนินโครงการฉีดวัคซีนที่เพียงพอ เพราะจากประสบการณ์ในทศวรรษก่อนหน้านี้ฟ้องว่า รัฐบาลจะไม่ดูแลคนไข้ของเรา!

แพทย์เก่งๆ หลายคน ได้จัดตั้งคลินิกใต้ดินเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วย มีรายงานข่าวว่า เมื่ออาสาสมัครสภากาชาดของเมียนมาจัดตั้งคลินิก 3 แห่ง ในเมืองย่างกุ้ง พวกเขามีคนไข้แอดมิทอย่างล้นหลามในเวลาอันรวดเร็ว 

วัคซีนในเมียนมามาจากไหน ป้องกันไวรัสให้ใคร

ในช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2021 เป็นเวลาที่วัคซีน COVID-19 เพิ่งเริ่มเข้าถึงประชาชนทั่วไป และในเวลาเดียวกันนี้เอง กองกำลังทหารและตำรวจในเมียนมาก็เข้าควบคุมประเทศ รวมทั้งโรงพยาบาลของรัฐ และก่อการรัฐประหารขึ้น ทั้งหมดเกิดขึ้นเพียงไม่กี่วันหลังจากรัฐบาลของอองซานซูจีเปิดตัวแคมเปญฉีดวัคซีนโควิชีลด์ (Covishield) ชุดแรกจำนวน 1.5 ล้านโดส วัคซีนโควิชีลด์เป็นสูตรที่พัฒนาขึ้นโดยบริษัท แอสตราเซเนกา (AstraZeneca) ร่วมกับมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด และผลิตโดยสถาบันเซรุ่มแห่งอินเดีย (Serum Institute of India) 

ก่อนเหตุการณ์ยึดอำนาจ เกิดความตึงเครียดอย่างหนักระหว่างรัฐบาลอองซานซูจีกับกองทัพเมียนมา เรื่องการขอให้เลื่อนการเปิดประชุมสภาสมัยใหม่ออกไปก่อน เนื่องจากข้อกังขามากมายเกี่ยวกับเรื่องผลเลือกตั้งในท่ามกลางการระบาดอย่างหนักของ COVID-19 ระลอกที่ 2 รัฐบาลของอองซานซูจีปฏิเสธข้อเสนอของกองทัพ โดยอองซานซูจีได้เร่งจัดหาวัคซีนป้องกัน COVID-19 ด้วยการสั่งซื้อจากอินเดีย 30 ล้านโดส และรัฐบาลอินเดียจัดส่งวัคซีนโควิชีลด์มอบเป็นของขวัญอภินันทนาการให้รัฐบาลเมียนมา 1.5 ล้านโดส เพื่อฉีดให้แก่กลุ่มเสี่ยง ได้แก่ แพทย์ พยาบาล และกลุ่มนักการเมือง 

เหตุที่อองซานซูจี วางโปรแกรมฉีดวัคซีนป้องกันโควิดให้กลุ่ม ส.ส. ที่มาจากการเลือกตั้ง และแต่งตั้ง เพื่อแสดงความพร้อมด้านการป้องกัน COVID-19 ก่อนเปิดประชุมสภา วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2021 เช่นเดียวกับเมื่อปีที่แล้วที่เมียนมาเข้าสู่การระบาดระลอกแรก เธอก็ลงทุนเปิดใช้งานบัญชีเฟซบุ๊คและกระโดดลงมาคุยเรื่อง COVID-19 กับประชาชนแบบอัพเดทเป็นรายวัน

29 มกราคม 2021 สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 289 คน จากทุกพรรค เข้ารับการฉีดวัคซีน COVID-19 เข็มแรก

30 มกราคม 2021 มีการฉีดวัคซีนให้แก่สมาชิกสภาชนชาติ และสมาชิกรัฐสภาในโควตา 25 เปอร์เซ็นต์ของกองทัพเมียนมา

หลังการรัฐประหาร อินเดียทยอยส่งมอบวัคซีนล็อตที่รัฐบาลอองซานซูจีสั่งซื้อ รายงานของกระทรวงสาธารณสุขและการกีฬา เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2021 ระบุว่า อินเดียส่งวัคซีนให้เมียนมาแล้ว 2 ล้านโดส จากยอดซื้อรวมทั้งสิ้น 30 ล้านโดส คงเหลือวัคซีนที่อินเดียต้องทยอยส่งมอบให้อีกจำนวน 28 ล้านโดส และเมื่อรวมกับล็อตแรกที่เป็นการให้ฟรี 1.5 ล้านโดส เมียนมาได้รับวัคซีนจากอินเดียแล้ว รวมทั้งสิ้น 3.5 ล้านโดส และมีข้อมูลว่า ตั้งแต่วันที่ 27 มกราคม ถึง 21 เมษายน เมียนมาได้ฉีดวัคซีนให้แก่ประชาชนทั่วประเทศไปแล้ว 1.88 ล้านคน ในจำนวนนี้เป็นผู้ที่ได้รับการฉีดเข็มแรก 1.54 ล้านคน และมีผู้ที่ได้ฉีดเข็มที่ 2 แล้ว 340,000 คน คงเหลือวัคซีนในสต็อคของกระทรวงสาธารณสุขและการกีฬาอีก 1.62 ล้านโดส ซึ่งจะทยอยฉีดเข็มที่ 2 ให้แก่ผู้ที่ได้รับการฉีดเข็มแรกไปแล้ว ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2021 เป็นต้นไป 

ต้นเดือนพฤษภาคม จีนทยอยส่งมอบวัคซีน Sinopharm มาสมทบให้เมียนมาอีกจำนวน 500,000 โดส ซึ่งเป็นความช่วยเหลือแบบให้เปล่า เช่นเดียวกับที่ให้แก่ประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่าง คือ ลาว และกัมพูชา

กระทรวงสาธารณสุขของเมียนมาประกาศแจ้งให้ประชาชนเข้ารับการฉีดวัคซีน เช่นเดียวกับที่สื่อของกองทัพเมียนมาพยายามตีพิมพ์เผยแพร่รูปของพระสงฆ์ที่มีชื่อเสียง เจ้าหน้าที่ทหาร และเจ้าหน้าที่รัฐ เข้ารับการฉีดวัคซีน COVID-19 

แม้ว่าโรงพยาบาลทหารจะเปิดให้บริการแก่ประชาชน แต่หลายคนก็กลัวพวกเขา หรือปฏิเสธที่จะปฏิบัติตามมาตรการ ซึ่งรวมถึงการฉีดวัคซีนป้องกันไวรัส 

แพทย์ในย่างกุ้งที่ไม่สะดวกที่จะเปิดเผยตัวตนด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัย กล่าวว่า ประชาชนไม่ยอมรับวัคซีนที่รัฐบาลทหารเมียนมาจัดหาให้ เนื่องจากขวดที่เก็บไว้นานเกินไปอาจทำให้วัคซีนสูญเสียประสิทธิภาพ ในขณะที่กระทรวงสาธารณสุขเมียนมาออกมาแก้ข่าวว่า กระบวนการจัดเก็บและบำรุงรักษาวัคซีนมากกว่า 1 ล้านโดส เป็นไปตามมาตรฐาน และยังมีโปรแกรมที่จะฉีดวัดซีนให้ประชาชนต่อไป 

นายพลมินอ่องหล่าย ประธานสภาบริหารแห่งรัฐ (State Administration Council: SAC) กล่าวในช่วงปีใหม่เมียนมา เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2021 ว่า มีการใช้มาตรการอย่างต่อเนื่องในการป้องกันและรักษาโรค COVID-19 สำหรับประชาชนในชาติ และโปรแกรมการฉีดวัคซีนให้ผู้คนกว่า 15 ล้านคน จะใช้วัคซีนจากอินเดีย จีน และรัสเซีย

มีรายงานว่า ผู้ป่วยที่มีผลตรวจ COVID-19 เป็นบวกจะถูกส่งตัวไปที่โรงพยาบาลทหารเพื่อรับการรักษา แต่หลายคนยังคงไม่มั่นใจและไม่กล้าที่จะไป แต่ครั้นจะไปรักษาที่โรงพยาบาลเอกชนอย่างดีในเมืองย่างกุ้ง ซึ่งสามารถดูแลผู้ป่วยที่เป็นโรคปอดบวมได้เช่นกัน แต่ก็รองรับผู้ป่วยได้เพียงจำนวนจำกัด และอาจต้องแบกรับค่าใช้จ่ายไม่ไหว เพราะค่ารักษาพยาบาลสูงลิ่วถึงขนาดว่าสามารถซื้อรถขับได้เลย

ขิ่น ขิ่น จี (Khin Khin Gyi) โฆษกศูนย์บริหาร COVID-19 กระทรวงสาธารณสุขของเมียนมา ออกมาเตือนเมื่อเดือนที่แล้วว่า มีความเป็นไปได้ที่จะเกิดการระบาดหนักระลอกที่ 3 และยอมรับว่าในช่วงปลายเดือนพฤษภาคม 2021 ตัวเลขการติดเชื้อเริ่มดีดพุ่งสูงขึ้นอีกครั้ง โดยตรวจพบว่าในวันที่ 27 พฤษภาคม 2021 เพียงวันเดียวเท่านั้นอัตราการติดเชื้อคิดเป็นร้อยละ 5.37 ซึ่งก่อนหน้านี้รายงานตัวเลขของกระทรวงสาธารณสุขหยุดนิ่งทรงตัวมาตลอดเดือนเมษายนที่ผ่านมา สอดคล้องกับจำนวนผู้เข้ารับการตรวจหาเชื้อก็มีจำนวนลดลงเป็นอย่างมาก 

อย่างไรก็ตาม เป็นความจริงที่ว่ากองทัพเมียนมามีคณะแพทย์ และสถานพยาบาลของตนเองทั่วประเทศ คำถามคือ แล้วจะสามารถรับมือกับการระบาดได้มากน้อยเพียงใด อย่างที่ ชารอน เบลล์ ตอบไปแล้วในข้อเขียนนี้ว่า ประสบการณ์ในทศวรรษก่อนหน้านี้ชี้ว่ายังไม่สามารถทำได้ 

เมื่อปีที่แล้ว เมียนมามีผู้เสียชีวิตจากโรคระบาดมากกว่า 3,000 คน และ UN เคยออกมาเตือนว่าเมียนมามีความเสี่ยงเป็นพิเศษ เนื่องจากระบบสาธารณสุขที่ยังไม่เข้มแข็ง

21 พฤษภาคม 2021 ทีมแพทย์ในเมืองย่างกุ้งเตือนว่า ประเทศจะไม่สามารถรับมือกับการระบาดครั้งใหญ่ของ COVID-19 ได้ ขนาดในการระบาดระลอกที่ 2 ก็ยังฟ้องว่ารัฐบาลยังคงขาดแคลนทรัพยากรทุกอย่างมาแล้ว

“เป็นเรื่องน่ากังวลอย่างยิ่งที่การทดสอบ การรักษา และการฉีดวัคซีน COVID-19 ในเมียนมามีอย่างจำกัด ประชาชนมีความเสี่ยงมากขึ้นที่จะเจอกับการแพร่กระจายของเชื้อสายพันธุ์ใหม่ที่อันตรายกว่า” หลุยส์ สเฟร์-ยูนิส (Luis Sfeir-Younis) ผู้จัดการฝ่ายปฏิบัติการด้าน COVID-19 ของเมียนมา จาก The International Federation of Red Cross and Red Crescent Societied กล่าว

หากระบบสุขภาพของเมียนมาที่มีแนวโน้มว่าจะย้อนหลังไปเป็นเหมือนเมื่อทศวรรษ 2000 แน่นอนว่า มันกำลังสร้างความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นในท่ามกลางคลื่นของการติดเชื้อทั้งสายพันธุ์เก่า-ใหม่ ที่แพร่กระจายไปทั่วภูมิภาค — อินเดีย ไทย และเพื่อนบ้านอื่นๆ 

แล้วขอบเขตที่แท้จริงของ COVID-19 ในปัจจุบันเป็นอย่างไร 

ตามข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า จนถึงปัจจุบันประเทศเมียนมามีผู้ติดเชื้อ COVID-19 ที่ยืนยันแล้วมากกว่า 143,000 ราย และเสียชีวิตแล้วกว่า 3,000 ราย แต่เป็นไม่ได้ที่จะทราบข้อมูลการติดเชื้อที่แท้จริงหลังเดือนกุมภาพันธ์ 2021 เนื่องจากการทดสอบลดลงเหลือเพียงเศษเสี้ยวของสิ่งที่พวกเขาเคยทำได้ก่อนหน้านี้ 

บางทีเหตุผลที่น่าสนใจที่สุดที่คนส่วนใหญ่ไม่สบายใจในการเข้ารับการฉีดวัคซีนก็คือ ความจริงที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ว่า ภัยคุกคามของไวรัสถูกบดบังด้วยการคุกคามของกองกำลังทหาร ที่กล่าวอย่างนี้เพราะมีรายงานข่าวเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2021 ว่าทหารยิงสังหารผู้หญิงที่เพิ่งได้รับการฉีดวัคซีนมาหมาดๆ ในขณะที่เธอนั่งอยู่ในรถที่จอดอยู่หน้าโรงพยาบาลมัณฑะเลย์ 

เมื่อเทียบกับความโหดร้ายดังกล่าวที่กลับกลายมาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันภายใต้การปกครองปัจจุบัน ไวรัสและวัคซีนดูเหมือนจะเป็นเรื่องเล็กน้อยสำหรับหลายๆ คน สิ่งที่สำคัญกว่าคือ การเอาชีวิตให้รอดในชีวิตประจำวันภายใต้รัฐประหาร และการถอนเงินออกจากธนาคารและตู้เอทีเอ็ม

Author

วทัญญู ฟักทอง
มีชื่อพม่าว่า Htay Win เป็น Burmese language lecturer

ณัฎฐณิชา นาสมรูป
นักศึกษากราฟิกดีไซน์ ผู้สนใจในเรื่องเพลง การเมือง และประเด็นทางสังคม เป็นคนพูดไม่เก่งแต่มีเรื่องราวมา Deep conversation กับเพื่อนเสมอ เมื่อก่อนชอบอ่านหนังสือมาก แต่ตอนนี้ชอบนอนมากกว่า

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า