ไกลบ้าน: มอง COVID-19 ในญี่ปุ่นและนิวซีแลนด์ผ่านสายตาคนไทย

สำรวจมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ 2019 ที่ญี่ปุ่นและนิวซีแลนด์ผ่านคนไทยที่ใช้ชีวิตที่นั่น พบว่าคนญี่ปุ่นไม่ค่อยตื่นตระหนก เพราะวินัยการใช้ชีวิตและดูแลสุขภาพดีเยี่ยม อีกทั้งคนญี่ปุ่นมีมุมมองลบต่อคนเป็นหวัดว่าไม่ดูแลสุขภาพ ส่วนนิวซีแลนด์ปิดเมืองเข้ม ประชาชนพอใจ ยอมรับให้รัฐบาลลงโทษผู้ฝ่าผืนกฎ อีกทั้งการสื่อสารในสภาวะวิกฤติของผู้นำกับประชาชนทำได้ดี ที่น่าสนใจมีนโยบายรณรงค์ให้ประชาชนสร้างกลุ่มดูแลกันเอง อย่าให้กลุ่มตัวเองมีความเสี่ยงติดเชื้อ

ผู้เขียนพูดคุยทางไกลกับคนไทยสองคนที่ไปเรียนต่อที่ประเทศญี่ปุ่นและนิวซีแลนด์ ถึงประสบการณ์การใช้ชีวิตภายใต้สถานการณ์การระบาดของเชื้อโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ 2019 (COVID-19)

ประเด็นหลักที่พูดคุยคือการแลกเปลี่ยนและวิเคราะห์มาตรการควบคุมการระบาดของเชื้อไวรัสของประเทศเหล่านั้นว่าเหมือนหรือแตกต่างกับไทยอย่างไร เพราะหลายประเทศทั่วโลกยังไม่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสได้สำเร็จ

แม้บางประเทศประกาศใช้กฎเหล็กหลายกฎ เช่น ประกาศปิดด่านพรมแดน ปิดทางเข้า-ออกประเทศ คัดกรองผู้คนเข้าประเทศของตน บางประเทศปิดเมืองสั่งให้ประชาชนของตนอยู่ในบ้านห้ามออกไปไหน ยกเลิกกิจกรรมรื่นเริง สนุกสนาน ปิดโรงเรียน สถานบันเทิง หรือสถานที่ที่คาดว่าจะมีคนไปรวมตัวกัน ฯลฯ

แต่ตัวเลขผู้ติดเชื้อจากทั่วโลกใกล้ถึง 2,000,000 คน และจำนวนผู้เสียชีวิตก็สูงขึ้นเรื่อยๆ เกือบ 120,000 คนแล้ว

รวมถึงประเทศไทยแม้รัฐบาลประกาศบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และต่อมาไม่นานก็ประกาศบังคับใช้มาตรการเคอร์ฟิว ห้ามคนออกจากบ้านตั้งแต่เวลา 4 ทุ่มจนถึงตี 4 เพื่อบริหารจัดการและแก้ไขปัญหาสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ทั่วทั้งประเทศโดยตรง ตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่และผู้เสียชีวิตก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน

ล่าสุดศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโคโรนาไวรัส 2019 หรือ ศบค. รายงานล่าสุด (วันที่ 18 เมษายน 2563) ว่า พบผู้ติดเชื้อเพิ่ม 33 ราย สะสมรวม 2,733 ราย รักษาหายแล้ว 1,787 ราย กำลังรักษา 899 ราย เสียชีวิต 47 ราย

ผู้เขียนอยากให้หมายเหตุไว้ว่า ปัจจุบันองค์ความรู้เกี่ยวกับการแก้ไขปัญหา รวมถึงการควบคุมการระบาดของเชื้อไวรัสดังกล่าวยังมีอยู่จำกัด ยังไม่มีใคร ฝ่ายไหนบอกว่าวิธีการไหนใช้ได้ผลและดีที่สุด ดังนั้นถือเป็นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ มุมมองการวิเคราะห์ส่วนตัวของคนไทยที่ใช้ชีวิตที่นั่น

ญี่ปุ่นไม่ค่อยตื่นตระหนก เพราะทุกคนรับผิดชอบตัวเอง

ขึ้นชื่อว่าประเทศญี่ปุ่น หลายคนคิดถึงระเบียบวินัยของคนในประเทศนี้ ไม่ว่าจะเป็นการต่อแถวซื้ออาหาร การข้ามถนน รวมถึงวินัยในการรับผิดชอบงานที่ตัวเองทำ รับผิดชอบสิ่งที่ทำในสังคมตัวเอง

การรับผิดชอบดูแลสุขภาพตัวเองในช่วงสถานการณ์การระบาดของไวรัสเป็นระเบียบวินัยที่คนญี่ปุ่นรอบตัว พัชรวัฒน์ เจริญอมรกิตติ์ ปฏิบัติกัน เขาเรียนวิศวกรรมเครื่องกล ระดับปริญญาเอก ที่มหาวิทยาลัยโอซาก้า และอาศัยอยู่ที่จังหวัดโอซาก้า ประเทศญี่ปุ่น

สำหรับเขา สังคมญี่ปุ่นมีความต่างจากสังคมอื่นที่เคยสัมผัสคือ คนญี่ปุ่นสัมผัสตัวกันน้อย อาหารก็แยกเป็นกินชุดใครชุดมัน กล่องใครกล่องมัน ก่อนกินก็มีการล้างมือ อีกทั้งระหว่างกินก็มีผ้าเช็ดมือวางไว้ตลอด

“แม้จะไปกินข้าวในจานอาหารจานเดียวกัน เขาก็มีการใช้ปลายอีกด้านของตะเกียบในการคีบของมาใส่จาน เหมือนช้อนกลางที่ไทย ผมคิดว่าเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่คนญี่ปุ่นไม่รู้สึกกลัวกับไวรัสนี้” พัชรวัฒน์กล่าว

หลังจากเกิดการระบาดในเมืองที่อาศัยอยู่ พัชรวัฒน์ออกมาเดินตามท้องถนนน้อยลง แต่ชีวิตคนในเมืองก็ยังดำเนินไปตามปกติ ไม่ได้มีการบังคับให้ทุกคนในเมืองต้องใส่หน้ากากอนามัย เว้นแต่คนที่ป่วย มีไข้ จาม ก็ให้ใส่ดูแลตัวเอง ส่วนคนที่ไม่มีอาการเหล่านี้ก็ไม่จำเป็นต้องใส่ ซึ่งแตกต่างจากที่ไทย ที่มีการจับ ปรับ คนที่ไม่ใส่หน้ากากอนามัย

พัชรวัฒน์ เจริญอมรกิตติ์ คนไทยที่ไปเรียนวิศวกรรมเครื่องกล ระดับปริญญาเอก ที่ ม.โอซาก้า และอาศัยอยู่ที่โอซาก้า ประเทศญี่ปุ่น

ช่วงวันรับปริญญาของมหาวิทยาลัย พิธีการยังคงดำเนินเป็นปกติ เสร็จพิธีก็ไปกินเลี้ยงกัน เพราะในเมืองไม่มีการประกาศห้ามคนออกจากบ้าน หรือห้ามสังสรรค์

“ตอนพิธีรับปริญญามหาวิทยาลัยก็บังคับนักศึกษาที่เข้ารับใส่หน้ากากกัน ซึ่งมหาวิทยาลัยแจกให้ แต่ตัวประธานในพิธีก็ไม่ได้ใส่ เอาเข้าจริงคนใส่กันแค่ในพิธี พอออกจากพิธีมาก็ถอดกัน แล้วก็ไปสังสรรค์กินเลี้ยง ถ่ายรูปกันปกติ” พัชรวัฒน์กล่าว

พัชรวัฒน์ตั้งข้อสังเกตถึงเหตุผลที่คนที่นี่ไม่ตื่นตระหนกกันว่า ในมุมมองคนญี่ปุ่นแล้วมองเชื้อไวรัสเป็นเหมือนไวรัสหวัดธรรมดา ใครเป็นก็แค่ดูแลตัวเองอย่าไปแพร่เชื้อให้กับคนอื่น

ในสังคมญี่ปุ่นมักไม่ยอมรับคนที่ป่วยเป็นหวัด เขาจะมองคนเหล่านี้ว่าไม่ดูแลสุขภาพตัวเอง ไม่ออกกำลังกาย กินอาหารที่ไม่มีประโยชน์ ดังนั้นคนที่เป็นหวัดต้องรับผิดชอบต่อส่วนรวมคือ ห้ามแพร่เชื้อหวัด ดังนั้นคุณต้องสวมหน้ากาก แล้วถ้าไปหาหมอแล้วตรวจพบว่าติดโควิดยิ่งจะถูกตราหน้าว่าไม่ดูแลตัวเอง

แม้แต่กรณีที่ทางการญี่ปุ่นรณรงค์ให้คนทำงานที่บ้าน เท่าที่พัชรวัฒน์สังเกตคนรอบตัวก็เหมือนไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร เพราะคนที่นี่ติดนิสัยออกจากบ้านไปทำงานในสถานที่ทำงานจริงๆ การทำงานที่บ้านสำหรับพวกเขาอาจทำให้ไม่เกิดความคิดสร้างสรรค์ หรืออาจทำงานไม่สำเร็จ

ผมคิดว่าอีกเหตุผลหนึ่งคือมันเกี่ยวกับวัฒนธรรมการทำงานที่นี่ด้วย เพราะคนที่นี่ส่วนใหญ่ทำงานเป็นพนักงานออฟฟิศและเอาจริงเอาจังกับการทำงานมาก หากเลือกได้เขาก็ไม่ได้สนใจทำงานที่บ้านมากนัก บางวันก็อาจทำที่บ้าน บางวันทำที่บริษัท

ผู้ป่วยสะสมกว่า 8,000 คน รัฐบาลกลางประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน คนที่นี่ก็ไม่ยอมทำตาม

ปัจจุบัน ณ วันที่ 17 เมษายน 2563 ญี่ปุ่นทั้งประเทศมีผู้ติดเชื้อสะสมกว่า 8,100 ราย ตัวเลขผู้เสียชีวิตคือ 136 ราย ฟื้นตัวหายจากโรคแล้ว 918 ราย ส่วนในพื้นที่โอซาก้า มีอยู่ 1,020 คน ถือว่ามากเป็นอันดับ 2 รองจากโตเกียว

ปัจจุบันรัฐบาลกลางญี่ปุ่นประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินควบคุมการระบาดของเชื้อไวรัส ที่นี่ใช้คำภาษาอังกฤษว่า state of emergency กฎหลักๆ คือห้ามคนออกจากบ้าน แต่คนในเมืองที่พัชรวัฒน์อาศัยอยู่ ไม่ค่อยให้ความร่วมมือกับรัฐบาลกลาง โดยเฉพาะคนทำงานในบริษัทและในภาคธุรกิจ ทั้งเล็กใหญ่ก็ยังเปิดอยู่ แต่ก็เปิดน้อย คิดเป็นประมาณร้อยละ 30-40 ของทั้งหมด โดยเฉพาะร้านอาหารยังคงเปิดอยู่

“การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินของรัฐบาลกลาง ไม่สามารถบังคับให้บริษัทหรือห้างร้านปิดกิจการได้ ผมทราบว่ามันสั่งไม่ได้ เพราะหากรัฐบาลกลางสั่งห้าม แล้วทำให้บริษัทหรือห้างร้านเกิดความเสียหายทางธุรกิจ เจ้าของกิจการจะรวมตัวกันฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากรัฐบาลได้” พัชรวัฒน์กล่าว

ท้องถิ่นจัดการปัญหาเอง

พัชรวัฒน์ ตั้งข้อสังเกตว่า คณะผู้บริหารโอซาก้าคิดวิธีควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสและวิธีการช่วยเหลือประชาชนกันเอง ไม่ได้ทำเหมือนที่รัฐบาลกลางประกาศ อาจเพราะด้วยระบบการบริหารราชการแผ่นดินของญี่ปุ่นมีการกระจายอำนาจให้รัฐบาลท้องถิ่น (ระดับจังหวัด) มีอำนาจในการบริหารจัดการแก้ไขปัญหาและพัฒนาเมืองตัวเอง ทำให้คณะผู้บริหารท้องถิ่นของญี่ปุ่นสามารถออกแบบรูปแบบการแก้ไขปัญหาการระบาดของเชื้อไวรัสได้ด้วยตัวเอง

“อย่างที่นี่ให้อำนาจกับผู้ว่าฯ ออกประกาศต่างๆ เพื่อจัดการพื้นที่ตัวเองได้ เช่นร้องขอให้ประชาชนอยู่แต่กับบ้าน ให้อำนาจกับผู้ว่าฯ เรียกร้องให้บริษัท ห้างร้านต่างๆ ขายยา และอาหารให้ผู้บริหารเมือง แล้วผู้ว่าฯ จะนำไปจัดสรร คล้ายกับการควบคุมสินค้าเหล่านี้ หรือให้ภาครัฐสามารถเข้าไปใช้พื้นที่ส่วนบุคคลของเอกชนในการตั้งศูนย์พยาบาลได้หากจำเป็น (ภายใต้สถานการณ์ปกติทำเช่นนั้นไม่ได้)” พัชรวัฒน์ตั้งข้อสังเกต

มาตรการของรัฐบาลญี่ปุ่น

  • ประกาศเคอร์ฟิว ห้ามประชาชนออกจากเคหสถานช่วงเวลา 22.00-4.00 น. ผู้ฝ่าฝืนจะถูกลงโทษ ติดคุกสูงสุด 2 ปี หรือปรับสูงสุด 40,000 บาท (ประมาณ 130,000 เยน) โดยภาวะฉุกเฉินทั่วประเทศญี่ปุ่นจะมีผลถึงวันที่ 6 พฤษภาคม นี้
  • จากมาตรการห้ามประชาชนออกจากบ้าน รัฐบาลญี่ปุ่นจึงแจกเงินเยียวยาให้ประชาชนทุกคน รายละ 100,000 เยน

นิวซีแลนด์เอาจริงเอาจังกับการเดินทางข้ามเมือง

ตั้งแต่วันที่ 25 มีนาคม 2563 ที่รัฐบาลนิวซีแลนด์ประกาศภาวะฉุกเฉินควบคุมการระบาดของเชื้อไวรัส ระดับ 4 (alert level 4) ซึ่งเป็นระดับสูงสุดโดยสั่งปิดโรงเรียน ปิดธุรกิจทุกประเภทที่ไม่จำเป็นต่อชีวิตประจำวัน ยกเว้นธุรกิจที่มีความจำเป็นต่อการดำเนินชีวิต (essential business) เท่านั้นที่เปิดให้บริการได้ เช่น ธนาคาร ร้านขายของชำ (grocery store) บ้านพักคนชรา บริการด้านสุขภาพ

ส่วนโรงเรียน มหาวิทยาลัย โรงภาพยนตร์ พิพิธภัณฑ์ อู่ซ่อมรถ อู่ซ่อมจักรยาน ร้านตัดผม ห้างสรรพสินค้า (shopping mall) ร้านอาหาร ร้านกาแฟ ต้องหยุดปฏิบัติงานและหยุดให้บริการทั้งหมด

นอกจากนี้รัฐบาลยังมีมาตรการห้ามประชาชนออกจากที่พักอาศัย งดเดินทางข้ามเมือง 1 เดือน เว้นแต่มีเหตุจำเป็น ปัจจุบันประเทศนิวซีแลนด์บังคับมาตรการนี้เข้าอาทิตย์ที่ 3 แล้ว

พสิษฐ์ วงษ์งามดี นักศึกษาปริญญาเอกสาขารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยแคนเทอร์เบอรี อาศัยอยู่ที่เมืองไครสต์เชิร์ช ประเทศนิวซีแลนด์

มาตรการห้ามประชาชนออกจากบ้าน แต่ประชาชนสามารถออกไปซื้อของที่ซูเปอร์มาร์เก็ตได้ตามปกติ แต่มีการจำกัดคนที่เดินในห้าง โดยห้ามเข้าไปหลายคน อีกทั้งการเข้าไปซื้อของต้องต่อแถวเว้นระยะกัน 2 เมตร พลเมืองที่นั่นปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด

คนต่อแถวรอซื้อของที่ซูเปอร์มาร์เก็ตในเมืองในช่วง lockdown ภาพจากกลุ่ม ‘คนไทยในนิวซีแลนด์ (Thai – New Zealand Community)

สำหรับ พสิษฐ์ วงษ์งามดี นักศึกษาปริญญาเอกสาขารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยแคนเทอร์เบอรี (University of Canterbury) อาศัยอยู่ที่เมืองไครสต์เชิร์ช เขาเล่าว่า มาตรการห้ามเดินทางข้ามจังหวัดที่นี่ถือว่าบังคับใช้อย่างจริงจังมาก ยกตัวอย่างกรณีที่ นายเดวิด คลาร์ก (David Clark) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขออกเดินทางจากบ้าน 20 กิโลเมตรไปเที่ยวที่ริมชายหาดกับครอบครัว ซึ่งเป็นการฝ่าฝืนข้อกำหนดเรื่องการห้ามประชาชนออกจากบ้าน

เดวิด คลาร์ก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ภาพจาก www.stuff.co.nz

นายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์ยังไม่ปลด เดวิด คลาร์ก ออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขตอนนี้ เพราะไม่ต้องการเปลี่ยนผ่านผู้นำกระทรวงในสภาวะฉุกเฉิน แต่เลือกที่จะปลดคลาร์กออกจากตำแหน่ง รมต.ช่วยกระทรวงการคลัง

“แม้ เดวิด คลาร์ก จะเป็นนักการเมืองจากพรรคแรงงาน (labour party) ซึ่งเป็นพรรคเดียวกันกับนายกรัฐมนตรี แต่ก็ไม่ช่วยให้เขารอดพ้นจากการลงโทษครั้งนี้” พสิษฐ์กล่าว

“นักข่าวหลายคนคาดการณ์ว่าหลังจากสถานการณ์คลี่คลายลง เดวิด คลาร์ก จะโดนปลดจากตำแหน่ง รมต.สาธารณสุขเพิ่มอีกตำแหน่งหนึ่งด้วย”

สำหรับพสิษฐ์ การฝ่าฝืนกฎของคลาร์กครั้งนี้เป็นที่สนใจของประชาชน ดังนั้นกระบวนการในการตัดสินใจลงโทษทั้งหมดจึงเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ใช้เวลาไม่ถึง 4 วัน ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความจริงจังของรัฐบาลในการบังคับใช้กฎในสภาวะฉุกเฉินนี้

ประชาชนพึงพอใจมาตรการรัฐบาล

ถึงแม้การบังคับใช้กฎหมายของรัฐบาลนิวซีแลนด์อาจจะดูเข้มข้น แต่ก็ได้รับการตอบรับจากประชาชนเป็นอย่างดี สังเกตได้จากผลสำรวจของ The Spinoff สื่อออนไลน์ซึ่งสำรวจกลุ่มประชาชนตัวอย่าง 600 คน ในสื่อออนไลน์อย่างเฟซบุ๊คและอินสตาแกรม

ผลสำรวจระบุว่า ประชาชนมีความเห็นเป็นบวกกับการตอบสนองของรัฐบาลต่อการแก้ไขปัญหาการระบาดของเชื้อไวรัสถึงร้อยละ 80 และมีอีกร้อยละ 12 ที่เฉยๆ และมีคนที่มีความคิดเป็นลบต่อการทำงานของรัฐบาลเพียงแค่ร้อยละ 9 เท่านั้น

นอกจากนี้ ผลโพลยังบอกอีกว่าประชาชนกว่าร้อยละ 91 พร้อมปฏิบัติตามคำสั่งรัฐบาลและเห็นด้วยกับการให้อำนาจจับคนที่ไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง

การสื่อสารในสถานการณ์วิกฤติที่น่าสนใจ

มาตรการรับมือเชื้อไวรัสของรัฐบาลนิวซีแลนด์ที่พสิษฐ์เห็นว่าน่าสนใจคือ การแถลงการณ์ข่าวเกี่ยวกับตัวเลขผู้ติดเชื้อ ผู้ป่วยสะสม ผู้ป่วยที่รักษาหาย และผู้เสียชีวิตทุกวัน และไม่ใช่การแถลงข่าวจากรัฐบาลฝ่ายเดียว แต่มีนักข่าวที่เป็นตัวแทนประชาชนร่วมซักถาม

เขากล่าวอีกว่า แม้การสื่อสารของรัฐบาลไทยและรัฐบาลนิวซีแลนด์จะดูคล้ายกัน แต่ในรายละเอียดมีความแตกต่างกันอยู่ หนึ่งในสิ่งที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดคือการอัพเดทสถานการณ์โควิดรายวันของรัฐบาลนิวซีเเลนด์ บ่อยครั้งมากที่คนแถลงข่าวและตอบคำถามคือตัวของนายกรัฐมนตรีเอง

“หลังการแถลงจะเปิดให้นักข่าวซึ่งอยู่ในห้องส่งถามคำถามได้โดยตรงและมีการออนไลน์แบบสด”

พสิษฐ์กล่าวอีกว่า ช่วงท้ายของการแถลงการณ์ สื่อมวลชนสามารถถามคำถามที่เกี่ยวกับทิศทางของนโยบายหรือภาพรวมการบริหารประเทศกับนายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์ได้ จึงเป็นการบังคับให้ผู้บริหารประเทศของนิวซีแลนด์เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับนโยบายหรือมาตรการในการควบคุมเชื้อไวรัสต่อไป

“ต่างจากไทย ที่ดำเนินการโดยศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด (ศบค.) เป็นหลัก ตอนท้ายของการแถลง ศบค. ก็จะมีการเปิดให้สื่อมวลชนถามคำถามได้ หรือในระยะหลังจะใช้วิธีคัดเลือกคำถามจากสื่อมาตอบ” พสิษฐ์กล่าว

รัฐบาลนิวซีแลนด์รณรงค์ให้ประชาชนสร้างกลุ่มดูแลกันเอง (build your bubble) ภาพจาก thespinoff.co.nz

รณรงค์ประชาชนสร้างกลุ่มดูแลกันเอง

นอกจากการสื่อสารระหว่างรัฐบาลกับประชาชนโดยการแถลงข่าวแล้ว พสิษฐ์บอกว่า รัฐบาลนิวซีแลนด์มีการซื้อโฆษณาในสื่อออนไลน์อย่างยูทูบ ชื่อภาษาอังกฤษว่า Unite Against COVID-19 แปลเป็นภาษาไทยประมาณว่า ‘รวมใจต้านภัยโควิด’

โฆษณาจะมีเนื้อหาเกี่ยวกับมาตรการควบคุมเชื้อไวรัส เช่น โควิดหมายถึงอะไร, จะช่วยเหลือผู้สูงอายุอย่างไรบ้าง, ล้างมืออย่างไร ฯลฯ

การรณรงค์ให้ประชาชนสร้างกลุ่มดูแลกันเอง (build your bubble) คือการที่ประชาชนแต่ละคนสร้างพื้นที่หรือกลุ่มคนใกล้ชิดที่ปลอดภัยจากโรคโควิด-19 ขึ้นมา

“ถ้าเป็นครอบครัวสมาชิกมี 3 คน มีพ่อ แม่ ลูก และเรามั่นใจว่าทั้ง 3 คนในครอบครัวของเราไม่ติดโรคแน่นอน เพราะอยู่ด้วยกันตลอดเวลา นั่นคือ your bubble และเมื่อสร้าง bubble ได้แล้วก็ต้องพยายามไม่ทำลาย bubble นั้นโดยการไม่ไปปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นที่อยู่นอก bubble” พสิษฐ์กล่าว

นอกจากนี้ยังมีมาตรการช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการปิดเมือง เช่นประชาชนที่ตกงาน ไม่ได้ทำงาน ไม่มีรายได้ รัฐบาลจะเปิดให้บริษัทและห้างร้านที่ได้ปิดกิจการแต่ไม่อยากเลิกจ้างพนักงาน ลงทะเบียนโครงการเงินอุดหนุนค่าจ้างในวิกฤติโควิด (COVID-19 Wage Subsidy) เพื่อนำเงินจากรัฐบาลมาจ่ายค่าจ้างพนักงานไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของค่าจ้างตามปกติ

“รัฐบาลจะมีการประกาศชื่อบริษัทที่เข้าร่วมโครงการให้ประชาชนได้ตรวจสอบผ่านอินเทอร์เน็ต เพื่อให้พนักงานตรวจสอบดูว่าบริษัทได้ไปรับเงินรัฐบาลมาจ่ายค่าจ้างจริงหรือไม่ หรือเก็บเงินไว้เอง” พสิษฐ์กล่าว

มาตรการของรัฐบาลนิวซีแลนด์

  • กำหนดให้ครัวเรือนทั่วประเทศต้องเก็บตัวอยู่ในบ้าน (self-isolation)
  • เมื่อมาตรการล็อคดาวน์หรือการกักตัวทั่วประเทศมีผลบังคับใช้ ธุรกิจที่ไม่จำเป็นทั้งหลายจะต้องหยุดทำการชั่วคราว เช่น โรงภาพยนตร์ โรงยิม ร้านอาหาร บาร์ คาเฟ่ สระว่ายน้ำ ห้องสมุด พิพิธภัณฑ์ หรือสถานที่สาธารณะที่ผู้คนสามารถรวมตัวกันได้ เช่น สนามเด็กเล่นก็ต้องปิดด้วยเช่นกัน
  • สถานพยาบาล ซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านขายยา ระบบธนาคาร ยังเปิดทำการได้ตามปกติ
  • ระบบขนส่งสาธารณะจะให้บริการเฉพาะผู้ที่ต้องไปปฏิบัติหน้าที่ที่จำเป็นเช่นกัน และอนุญาตให้ประชาชนทั่วไปใช้ในกรณีที่ไปหาหมอและไปซูเปอร์มาร์เก็ต
  • เรือเฟอร์รีและระบบขนส่งทางรางจะให้บริการสำหรับขนส่งสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็น
  • สำหรับประชาชนที่ไม่สามารถทำงานได้ในช่วงวิกฤตินี้ รัฐจ่ายเงินสมทบค่าจ้างให้กับบริษัทต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบ รวมมูลค่า 9.3 พันล้านดอลลาร์นิวซีแลนด์ (ประมาณ 1.73 แสนล้านบาท) เพื่อรับประกันว่าแรงงานทั้งหมดในประเทศจะยังมีรายได้ในช่วงที่ปิดประเทศนี้

ยศพนธ์ เกิดวิบูลย์
จบการศึกษาด้านรัฐศาสตร์ สนใจประเด็นสิทธิมนุยชน และชอบฝังตัวเพื่อฟังเสียงชาวบ้านโดยเฉพาะพื้นที่ภาคอีสาน นอกจากทำมาหากินผ่านการเขียนข่าวและบทความแล้ว ยังเป็นจิตอาสาคอยลีดกีตาร์เพลงร็อคขับกล่อมผู้คนบนโลกออนไลน์โดยไม่หวังสิ่งใดตอบแทน

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า