Health Justice: ความยุติธรรมอยู่ตรงไหนในระบบการศึกษาติดเชื้อ

โรคระบาดโควิด-19 อยู่กับสังคมไทยมานานกว่า 2 ปี วิกฤติครั้งนี้ไม่เพียงทำให้ต้องสูญเสียชีวิตผู้คนไปเป็นจำนวนกว่า 24,000 ราย แต่ผู้ที่ยังเหลือรอดชีวิตอยู่ก็ยังต้องเผชิญกับวิบากกรรมซ้ำซ้อน ทั้งจากปัญหาความเสี่ยงทางสุขภาพ เศรษฐกิจปากท้อง การประกอบอาชีพ 

ทุกองคาพยพในสังคมไทยล้วนได้รับผลกระทบอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง ทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน โดยเฉพาะในภาคการศึกษาที่มีผู้เกี่ยวข้องเป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นครู โรงเรียน ผู้ปกครอง ชุมชน ไปจนถึงเด็กและเยาวชน

สิ่งหนึ่งที่ไม่อาจปฏิเสธได้ก็คือ ผลกระทบของวิกฤติที่ลากยาวมาจนถึงวันนี้เป็นผลพวงจากการบริหารจัดการของรัฐที่ผิดพลาดล้มเหลวไม่มากก็น้อย 

เวทีเสวนา Health Justice จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 2 ในหัวข้อ ‘เปิดห้องเรียน​ที่เป็นธรรม: ปิดความเหลื่อมล้ำ​ทางการศึกษ​า ในสถานการณ์​โควิด’ เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2565 จัดโดย มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) โดยมีจุดตั้งต้นมาจากโครงการวิจัย ‘ความยุติธรรมทางสุขภาพ’ เพื่อจะศึกษาทบทวนว่า ที่ผ่านมาการตัดสินใจเชิงนโยบายและการออกมาตรการต่างๆ ของรัฐ มีความยุติธรรมเพียงพอแล้วหรือไม่ และประชาชนทั่วไปจะสามารถมีส่วนร่วมกำหนดชะตากรรมของตัวเองได้อย่างไร

ความยุติธรรมทางสุขภาพและการศึกษา ถึงเวลาที่ต้องทบทวน

อาภาลักษณ์ ปาติยเสวี

นักวิชาการโครงการความยุติธรรมทางสุขภาพ

โครงการวิจัย ‘ความยุติธรรมทางสุขภาพ’ เริ่มต้นขึ้นจากแนวคิดที่ว่า กลุ่มประเทศอาเซียนมีการพัฒนาระบบสุขภาพมาอย่างต่อเนื่องในหลายทศวรรษที่ผ่านมา แต่ยังไม่เพียงพอที่จะตอบโจทย์ปัญหาความเหลื่อมล้ำและความเท่าเทียม ดังนั้นกลุ่มนักวิชาการจึงเห็นว่าควรมีการวิจัยเพื่อทบทวนเรื่องความยุติธรรมที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ 

จะเห็นได้ว่า การเกิดขึ้นของโควิด-19 ครั้งนี้มีความแตกต่างจากโรคระบาดในอดีตที่ผ่านมา เนื่องจากเป็นโรคอุบัติใหม่ มีความไม่แน่นอนสูง อีกทั้งสถานการณ์ยังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างต่อทั้งเศรษฐกิจและสังคม โดยหลายประเทศไม่สามารถรับมือได้ทันควัน ทั้งในแง่บุคลากรและทรัพยากรทางการแพทย์ 

ด้วยเหตุนี้ บทบาทของรัฐจึงมีความสำคัญอย่างมากในการกำหนดนโยบายในสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งนำไปสู่หลายคำถามว่า รัฐได้รับฟังความเห็นของประชาชนบ้างหรือไม่ การตัดสินใจเชิงนโยบายของรัฐอยู่บนฐานข้อมูลการวิจัยมากน้อยเพียงใด และรัฐนำไปพิจารณาปรับปรุงหรือไม่ ที่สำคัญรัฐได้ประกันสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนหรือไม่ โดยเฉพาะความยุติธรรมทางสุขภาพ นี่คือคำถามใหญ่ที่ต้องมีการทบทวน

งานวิจัยในโครงการนี้ตั้งอยู่บนฐานคิดสำคัญ 3 ข้อ คือ หนึ่ง-มนุษย์ทุกคนต้องมีสิทธิ์ในการได้รับหลักประกันทางสุขภาพ ซึ่งเป็นไปตามหลักสิทธิมนุษยชนสากล และปรากฏอยู่ในธรรมนูญสุขภาพขององค์การอนามัยโลก สอง-ระบบสุขภาพต้องให้ความสำคัญกับความเหลื่อมล้ำและความยุติธรรมมากขึ้น และสาม-ต้องป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายมากไปกว่านี้  

สำหรับกรอบการวิเคราะห์ความยุติธรรมทางสุขภาพ ประกอบด้วย 3 แนวคิด

1. ความยุติธรรมในกระบวนการ โดยให้ความสำคัญกับกระบวนการกำหนดนโยบายของรัฐที่ต้องมีความทั่วถึง โปร่งใส และไม่เลือกปฏิบัติ 

2. ความยุติธรรมในการกระจายทรัพยากร โดยต้องคำนึงถึงประโยชน์สุขโดยรวมของสังคม ปกป้องเสรีภาพของปัจเจกชน เปิดโอกาสให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม และสุดท้ายต้องให้ผลลัพธ์ที่ยุติธรรมและเท่าเทียม 

3. ความยุติธรรมในการชดเชย โดยพิจารณาจากฝ่ายที่ได้ประโยชน์และฝ่ายเสียประโยชน์ ระหว่างฝ่ายรัฐ เอกชน และประชาชน ซึ่งในหลายประเทศกำหนดให้รัฐต้องมีการรับผิด เพื่อให้รัฐเกิดความระมัดระวังมากขึ้น

ทั้งนี้ นอกเหนือจากความยุติธรรมทางสุขภาพแล้ว หนึ่งในประเด็นสำคัญที่จำเป็นต้องมีการทบทวนก็คือ ความยุติธรรมทางการศึกษา เนื่องจากเด็ก เยาวชน และครอบครัว นับเป็นคนกลุ่มใหญ่ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ด้วยเช่นกัน 

ค่าเล่าเรียนและสวัสดิการที่ไม่ทั่วถึง คือตัวการผลักไสเด็กออกนอกระบบ

ธนายุทธ ณ อยุธยา

Elevenfinger ศิลปินฮิปฮอป

สิ่งที่รัฐยังจัดการสถานการณ์ได้ไม่ดีพอคือ การไม่เข้ามาดูแล ทั้งยังเมินเฉย โดยเฉพาะระบบการศึกษาที่เด็กๆ ต้องเผชิญกับปัญหาที่แตกต่างกันออกไป 

ปัญหาที่พบเจอในชุมชน เด็กหลายๆ คน มีต้นทุนที่จะเข้าถึงระบบการศึกษาที่ไม่เท่ากัน นอกจากจะต้องมีค่าเสื้อผ้า ค่าใช้จ่ายต่างๆ แล้ว ยังต้องมาเสียค่าอุปกรณ์ ค่าอินเทอร์เน็ต บางคนอาจต้องซื้อโทรศัพท์หรือคอมพิวเตอร์ใหม่ ซึ่งไม่สัมพันธ์กับเรื่องเงินและปากท้องของครอบครัว เนื่องจากหลายๆ ครัวเรือนในชุมชนล้วนทำงานหาเช้ากินค่ำ

ปัญหาที่เด็กทุกคนต้องเจอคือการเรียนอยู่ที่บ้าน ทำให้ได้ความรู้ไม่เต็มที่ เด็กอีกหลายๆ คนเพิ่งจ่ายค่าเทอมเข้ามหาวิทยาลัยไป บางคนต้องลาออกเลย เพราะไม่ได้เข้าเรียน ขณะที่ค่าเทอมและค่าสวัสดิการต่างๆ ต้องจ่ายเท่าเดิม ไม่ได้มีการลดหย่อนหรือเยียวยาใดๆ เเละเเต่ละครอบครัวก็ไม่ได้มีต้นทุนพอที่จะสนับสนุนให้เด็กอยู่ในระบบการศึกษาต่อไปได้ เพราะเวลางานที่ลดลงจากสถานการณ์โควิด บางครอบครัวอาจไม่มีงานทำเลยด้วยซ้ำ กรณีคนทำงานผับบาร์ก็ต้องตกงานไปโดยปริยาย ปัญหาจึงมาตกอยู่ที่เด็ก เนื่องจากระบบการศึกษาก็ไม่ได้ช่วยเหลือ ถึงเเม้จะต้องเรียนจากที่บ้าน เเต่เด็กๆ ก็ควรได้รับโอกาสทางการศึกษาที่มากกว่านี้ 

สิ่งที่อยากจะเน้นคือ การลดหย่อนค่าเทอมเเละเอื้อให้พวกเขาเข้าถึงระบบการศึกษามากขึ้น เพื่อป้องกันไม่ให้มีใครหลุดออกจากระบบ และต้องเปลี่ยนรูปแบบการเรียนให้เหมาะสมกับเขา ไม่ใช่ว่าใครจะหลุดก็ผลักออกไปเลย โดยไม่สนว่าระบบที่เป็นอยู่เป็นอย่างไร

มีเด็กเป็นจำนวนมากที่หลุดออกจากระบบการศึกษา โดยเฉพาะช่วงอายุ 15-18 ปี เนื่องจากโรงเรียนปิด ต้องเรียนออนไลน์ที่บ้าน ส่งผลให้เกิดความยากต่อการเข้าถึงการศึกษา เด็กบางคนมีโทรศัพท์ เด็กบางคนไม่มี ถึงมีโทรศัพท์ก็ต้องไปหาเงินมาเติมค่าอินเทอร์เน็ต ทำให้พวกเขามีภาระที่ต้องเเบกเพิ่มขึ้น อีกทั้งไม่มีคนเข้ามาพูดคุยหรือดึงพวกเขากลับเข้าไปในระบบ เด็กบางคนอยากเรียนต่อ เเต่ด้วยสถานการณ์ครอบครัวที่ไม่พร้อม บวกกับการไม่ได้รับการช่วยเหลือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จึงทำให้ต้องออกไปหางานทำหรือไปทำอย่างอื่น สุดท้ายก็หลุดจากระบบไป

อีกเรื่องที่น่ากังวลคือ การออกสิทธิ์ออกเสียงของนักเรียนมีน้อยมาก แม้จะเป็นคนจ่ายค่าเทอม เเต่ก็เป็นเรื่องยากที่จะมีสิทธิ์ในการออกแบบหรือเสนอความคิดในการปรับเปลี่ยนระบบการศึกษา สิทธิ์ตรงนี้ยังห่างไกลอยู่มาก จึงอยากให้มีการกระจายอำนาจเเละสิทธิ์ที่เท่าเทียมมากกว่านี้

ปัญหาใหญ่จริงๆ คือ การไม่โอบอุ้มเด็กให้อยู่ในระบบการศึกษา ทำให้เด็กบางคนต้องออกไปหางานทำตั้งเเต่อยู่ชั้นมัธยมเพื่อช่วยครอบครัว เด็กรู้สึกห่างไกลจากระบบการศึกษามากขึ้น และไม่สามารถกลับเข้าไปได้ ซึ่งการเรียนที่บ้านทำให้ไม่สามารถพูดคุยหรือปรึกษาครูได้ 

เรื่องนี้จะโทษโควิดอย่างเดียวไม่ได้ ต้องมองเข้าไปให้ถึงโครงสร้างในระบบการศึกษาที่เป็นปัญหามายาวนานและไม่ได้รับการเเก้ไข เช่น เรื่องสวัสดิการที่ไม่เอื้อให้เด็กได้อยู่ในระบบการศึกษาต่อ เรื่องการเข้าถึงวิชาเลือก และการเข้าถึงสิทธิต่างๆ อย่างที่ทุกคนต่างรู้กันว่าไม่ได้มีแค่ค่าเทอมที่ต้องจ่าย ยังมีค่าเดินทาง ค่าเรียนพิเศษ แต่ผลที่ได้รับกลับไม่ตอบโจทย์ กรณีจบออกมาก็ไม่ได้รับเงินเดือนที่เหมาะสมกับสิ่งที่เสียไป เมื่อหลายครอบครัวมองไม่เห็นความเเน่นอนว่าชีวิตจะได้รับความมั่นคงจากระบบการศึกษาหรือไม่ จึงทำให้เด็กหลายคนเลือกที่จะออกจากระบบ ปัญหาตรงนี้จึงควรได้รับการแก้ไข โอบอุ้มพวกเขาไว้ในแบบที่พวกเขาเป็นอยู่

ที่ผ่านมาแม้จะมี NGO หรือองค์กรเอกชนเข้ามาช่วยเหลือในชุมชน เเต่ก็ยังขาดความต่อเนื่อง หากปรับเพิ่มเรื่องความต่อเนื่องเข้าไป อาจจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นได้ ด้วยเหตุนี้ จึงอยากจะเน้นให้แก้ไขในเรื่องสวัสดิการมากขึ้น ยิ่งไม่มีการโอบอุ้ม ก็ยิ่งง่ายต่อการหลุดออกจากระบบการศึกษา ไม่ว่าครูหรือเด็กก็ควรได้รับสวัสดิการที่ดี

รัฐพร้อมแค่ไหนที่จะลงทุนในทรัพยากรมนุษย์

ศิริพร พรมวงศ์

ผู้จัดการโครงการคลองเตยดีจัง

โควิด-19 นับเป็นภาวะภัยพิบัติอย่างหนึ่ง ฉะนั้นการรับมือจึงต้องต่างไปจากสถานการณ์ปกติ ขณะที่ในช่วงแรกรัฐกลับยังมองว่าเป็นโรคระบาดปกติ เมื่อปล่อยให้สถานการณ์ล่วงเลยไปจึงไม่สามารถจัดการได้ทัน 

ในระยะแรกของการระบาด เครือข่าย ‘คลองเตยดีจัง’ ได้พยายามจัดการปัญหาด้วยตนเอง จนเรียกได้ว่าผิดกฎระเบียบของรัฐทั้งหมด เช่น การจัดตั้งศูนย์พักคอยเป็นที่แรกของประเทศไทย เพื่อให้คนในชุมชนได้มีสถานที่กักตัว แต่ขณะนั้นรัฐกลับมองว่าเป็นการทำผิดกฎหมาย ประธานชุมชนถูกข่มขู่ ถูกตำหนิ แต่สุดท้ายแล้วรัฐเองก็ออกมาประกาศให้ทำทั่วประเทศ ซึ่งถ้ารัฐเข้ามาจัดการตั้งแต่แรกอัตราการเสียชีวิตก็จะน้อยลงกว่านี้มาก 

อีกตัวอย่างเช่น เครือข่ายของเราเริ่มใช้ชุดตรวจ ATK ตั้งแต่เดือนเมษายน 2564 ขณะที่รัฐยังคงถกเถียงกันอยู่ว่าเหมาะสมหรือไม่ กว่าจะอนุมัติให้ตรวจ ATK ได้ สถานการณ์ก็ล่วงเลยไปไกลแล้ว 

สำหรับปัญหาด้านการศึกษา เด็กและเยาวชนคลองเตยต้องเจอปัญหาซ้ำซ้อนทั้งโรคระบาดและระบบการศึกษาที่ไม่ตอบโจทย์ชีวิต หลายครอบครัวถูกซ้ำเติมด้วยปัญหาความยากจนเฉียบพลัน ทำให้เด็กมีความเสี่ยงหลุดออกนอกระบบมากขึ้น เพราะระบบการศึกษาไม่ได้โอบอุ้มคนที่อ่อนแอ เด็กหลังห้องต้องถูกทิ้งไว้ข้างหลัง อีกทั้งการศึกษายังไม่ตอบสนองเรื่องการสร้างอาชีพ ทำให้เด็กเกิดคำถามว่าการศึกษาตอบสนองคุณภาพชีวิตอย่างไร และไม่เกิดแรงจูงใจว่าจะเรียนต่อไปเพื่ออะไร

ถ้าเทียบกับโรงเรียนเอกชนทั่วไปแล้ว ต้นทุนการศึกษาของเด็ก 1 คน ต้องใช้เงินกว่า 200,000 บาทต่อปี หมายความว่า เด็กที่จะมีการศึกษาที่ดี ต้องมาจากครอบครัวดี โรงเรียนดี สังคมดี จึงจะหล่อหลอมให้เด็กมี IQ ดี EQ ดี และมีคุณภาพชีวิตที่ดี 

คำถามที่มีต่อรัฐก็คือ การลงทุนด้านการศึกษาและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ต้องไม่ใช่แค่การสงเคราะห์ค่าเล่าเรียน ค่าชุดนักเรียน หรือค่าอุปกรณ์ แต่ต้องอาศัยการลงทุนที่มากกว่านั้น อยู่ที่ว่ารัฐยินดีที่จะลงทุนในทรัพยากรมนุษย์มากแค่ไหน เพื่อจะเปลี่ยนเด็กไทยจากที่เป็นแรงงานไร้ฝีมือ ให้เป็นแรงงานที่มีคุณภาพมากขึ้น 

ข้อเสนอที่อยากฝากไปถึงภาครัฐคือ สิ่งแรกควรสำรวจปัญหาของแต่ละพื้นที่ว่ามีความต้องการอะไรบ้าง ซึ่งเด็กในชุมชนคลองเตยต้องเจอกับปัญหาซ้ำซ้อน ไม่สามารถเข้าถึงการเรียนออนไลน์ได้ บางคนต้องเรียนไปด้วย ทำงานไปด้วย ทำให้เด็กเหนื่อยเกินไป และไม่รู้ว่าจะเรียนไปเพื่ออะไร ฉะนั้นจึงมีข้อเสนอว่า ขณะที่เรียนเด็กต้องได้รับเงินสำหรับประคองชีวิตตนเองไปด้วย โรงเรียนต้องให้ทักษะชีวิต ทักษะอาชีพ และวุฒิการศึกษา ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นที่จะช่วยเหลือไม่ให้เด็กหลุดออกนอกระบบ

สพฐ. พร้อมปรับการเรียนให้ยืดหยุ่น สร้างขวัญกำลังใจให้ครู-นักเรียน

ณัฐชยา เม็นไธสง

ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยและพัฒนานวัตกรรมการจัดการเรียนการสอน สำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)

โรงเรียนในสังกัด สพฐ. มีทั้งหมด 27,133 แห่ง แบ่งเป็นส่วนของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) 25,039 แห่ง สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (สพม.) 1,994 แห่ง และสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ (สศศ.) 100 แห่ง ดังนั้น ในส่วนตรงนี้เราตระหนักดี และทางกระทรวงศึกษาธิการก็มีนโยบายเร่งการพัฒนา ต้องเข้าใจว่าตัวครูและโรงเรียนก็มีความพร้อมเเตกต่างกัน โดยเฉพาะปัญหาด้านเทคโนโลยี ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญ ด้วยเหตุนี้ สพฐ. จึงรับมอบหมายจากกระทรวงศึกษาธิการ ร่วมกับนักวิชาการเเละหน่วยงานต่างๆ ในการที่จะพัฒนา รวมถึงสร้างความเท่าเทียมในการเรียนรู้ให้กับเด็ก พร้อมพัฒนาครูควบคู่กันไปในระยะเวลาเร่งด่วน 

ทั้งนี้ สพฐ. ได้กำหนดรูปแบบหลักในการจัดการเรียนการสอนไว้ 3 ลักษณะ 5 แนวทาง ดังนี้

  • ลักษณะที่ 1: On-site จะพิจารณาจากโรงเรียนที่ไม่มีการเเพร่ระบาด แต่อาจมีการเปลี่ยนแปลงไปตามสถานการณ์ โดยจะมีการปรับเวลาในการเรียน ซึ่งจะต้องตื่นตัวตลอดเวลา
  • ลักษณะที่ 2: ได้แก่ On-air คือการเรียนทางไกลผ่านโทรทัศน์, On-demand คือการสำรวจความต้องการของเด็กว่าอยากเรียนรู้ในรูปแบบใด, Online คือการที่ครูและเด็กเรียนผ่านระบบอินเทอร์เน็ต และ On-hand คือครูอาจต้องเดินทางไปหาเด็กเพื่อแจกจ่ายงาน
  • ลักษณะที่ 3: ผสมผสานหลายรูปแบบ บางโรงเรียนอาจใช้ On-site สลับกับ Online ซึ่งแต่ละโรงเรียนอาจจัดให้มีรูปแบบการสอนแตกต่างกันไป

จากสถานการณ์โควิดที่ทำให้ต้องมีการปรับเปลี่ยนไปมา จึงอาจทำให้เกิดความเครียดทั้งในครู เด็ก และผู้ปกครอง ทาง สพฐ. จึงมีการจัดอบรมในเรื่องพื้นฐานเทคโนโลยี เพื่อให้การเรียนการสอนมีความยืดหยุ่นมากขึ้น 

อีกหนึ่งข้อกังวลคือ การขาดช่วงของการศึกษาทำให้การจัดการต่างๆ ค่อนข้างยาก และทำให้ประสบปัญหาในการจัดงบประมาณ ดังนั้น การบูรณาการของหน่วยงานจึงมีความสำคัญมาก เพื่อที่จะแก้ปัญหาต่างๆ ได้ รวมทั้งปัญหาสุขภาพจิตของครูและเด็ก ในส่วนนี้ควรมีนักจิตวิทยาเข้ามาดูแล เพราะก่อนจะไปถึงการแก้ปัญหาเชิงนโยบายต้องใช้เวลานานพอสมควร การให้ขวัญกำลังใจจึงเป็นสิ่งที่สำคัญ 

นอกจากนี้ต้องมีการพัฒนาหลักสูตร บูรณาการวิธีการสอน โดยเฉพาะในชั้น ม.3 และ ม.6 ดังนั้น ครูอาจจะต้องรวมเป็นทีมในการสอนเพื่อเข้าถึงนักเรียนให้ได้มากที่สุด ทาง สพฐ. เองก็อยากจะปรับหลักสูตรส่งเสริมสายอาชีพมากขึ้น และอยากให้ทางรัฐดูแลในเรื่องงบประมาณด้วยเช่นกัน

ต้องเปิดโอกาสให้คนในพื้นที่ออกแบบการศึกษาร่วมกัน

นายแพทย์ไพฑูรย์ อ่อนเกตุ

รองผู้อำนวยการฝ่ายปฐมภูมิ โรงพยาบาลกำแพงเพชร

ในช่วงของการระบาด ต้องยอมรับว่าเรื่องนี้เป็นสถานการณ์ใหม่ ทุกพื้นที่ต้องเว้นระยะห่าง ป้องกันการติดเชื้อในโรงเรียน แต่ก็ยังเกิดคลัสเตอร์การระบาดในกลุ่มเด็ก โดยเฉพาะในช่วงปี 2564 สถานการณ์รุนแรงขึ้น ทุกโรงเรียนต้องปิด แล้วเปลี่ยนเป็นการเรียนออนไลน์ ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะครูก็ต้องเปลี่ยนแปลงตัวเอง ส่วนผู้ปกครองก็ต้องจัดหาอุปกรณ์การเรียน กลายเป็นภาระค่าใช้จ่าย 

การที่เด็กจะมีสมาธิอยู่กับการเรียนออนไลน์เป็นเรื่องที่ยากมาก ขณะที่ผู้ปกครองก็ต้องออกไปทำงาน โดยเฉพาะเด็กเล็กที่น่าเป็นห่วงมากที่สุด เพราะเป็นวัยที่ควรได้รับการพัฒนาทักษะในการใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่น ซึ่งน่าจะหาแนวทางให้เด็กสามารถไปเรียนร่วมกับเพื่อนได้ 

การเรียนออนไลน์ในช่วงโควิดเป็นอุปสรรคอย่างมาก มาตรการที่ส่วนกลางสั่งลงมา บางครั้งเอามาใช้ไม่ได้ในชีวิตจริง ทำให้เราต้องกลับมาคิดว่าทำอย่างไรจึงจะให้เด็กไปโรงเรียนได้อย่างปลอดภัย บางครั้งต้องฟังผู้ปกครองด้วยว่ามีความต้องการอย่างไร มีข้อเสนออย่างไร 

เท่าที่ได้รับฟังมา พบว่าผู้ปกครองจำนวนไม่น้อยอยากให้เรียนออนไซต์ (On-site) เพราะผู้ปกครองต้องไปทำงาน ลูกก็ขาดสมาธิในการเรียน ขณะที่ครูเองก็ยากลำบากในการสอน ฉะนั้นถ้าเราเริ่มต้นด้วยการเปิดโอกาสให้คนในพื้นที่ได้พูดคุยกัน ออกแบบการศึกษาร่วมกัน น่าจะสอดคล้องกับพื้นที่และเกิดความยั่งยืนมากกว่า

สำหรับข้อเสนอที่อยากฝากไว้คือ ในการจัดการปัญหาการศึกษาต้องมีความยืดหยุ่นพอสมควร เปิดรับฟังความเห็นของพื้นที่ให้มากขึ้น เพื่อออกแบบกติการ่วมกัน 

อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญที่การเรียนออนไลน์ให้ไม่ได้ก็คือ ปฏิสัมพันธ์ ดังนั้นทางโรงเรียนและผู้ปกครองอาจมีการหารือและออกแบบมาตรการร่วมกัน ถ้ารัฐเปิดโอกาสให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น ก็จะช่วยให้เกิดมาตรการทางเลือกหลายแบบและมีความยั่งยืนขึ้น 

ประคับประคอง ฟื้นฟู ก่อนเริ่มต้นใหม่

พริษฐ์ วัชรสินธุ 

CEO StartDee (บริษัทพัฒนาเทคโนโลยีด้านการศึกษา)

ระบบการศึกษามีปัญหามานานตั้งแต่ก่อนโควิด แต่เมื่อเกิดโควิดมาซ้ำเติมปัญหาเดิมจึงรุนแรงขึ้น หรือสร้างปัญหาใหม่ๆ ให้กับระบบการศึกษาไทย ถ้ามองในภาพรวม ปัญหาการศึกษาไทยช่วงก่อนโควิดประกอบไปด้วย 3 ปัญหาหลักๆ คือ

ปัญหาที่ 1 คุณภาพการเรียนการสอน 

จากการประเมินทักษะเด็กไทยเมื่อเทียบกับเด็กประเทศอื่นๆ จะเห็นว่าเด็กไทยยังตามหลังอยู่พอสมควร โดยอยู่ในอันดับที่ 50-60 จากทั้งหมด 79 ประเทศ ตามผลประเมิน PISA ที่มีการวัดทักษะการอ่าน ทักษะคณิตศาสตร์ และทักษะวิทยาศาสตร์ ทั้งที่เด็กไทยใช้เวลาในห้องเรียนมากเป็นอันดับต้นๆ ของโลก แต่ไม่สามารถแปรความขยันออกมาเป็นทักษะที่สามารถแข่งขันกับต่างชาติได้ หากพิจารณาในด้านงบประมาณ กระทรวงศึกษาธิการก็ได้รับงบประมาณเป็นอันดับต้นๆ อยู่เสมอ แต่ก็ไม่สามารถแปรงบเหล่านั้นไปสู่การสร้างทักษะที่ดีขึ้นของเด็กได้

ที่จริงแล้วการเรียนออนไลน์สามารถช่วยเสริมการเรียนในห้องเรียนได้ แต่การเรียนในห้องเรียนก็ยังเป็นสิ่งที่จำเป็นที่สุด แต่เมื่อเกิดโควิดทำให้ต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบเป็นออนไลน์ทั้งหมด ประสิทธิภาพในการเรียนการสอนก็ลดลง บางวิชาที่ต้องเน้นการปฏิบัติก็ไม่สามารถทำได้ หรือบางวิชาที่เน้นทฤษฎีเป็นหลักซึ่งสามารถสอนได้ แต่การไม่ได้มีปฏิสัมพันธ์กันระหว่างนักเรียน หรือระหว่างนักเรียนกับครู ก็ทำให้การซึมซับเนื้อหายากขึ้น ยังไม่นับถึงความพร้อมของโรงเรียนในการสอนออนไลน์ อีกทั้งระบบโครงสร้างพื้นฐาน รวมถึงทักษะของครูที่ต้องปรับตัวจากการสอนในห้องมาหลายสิบปีมาเป็นการสอนออนไลน์ ซึ่งเป็นสิ่งที่ยากกว่ามาก 

เรายังพบว่า แม้ครูจะสามารถสอนได้ดีแค่ไหน แต่การสอนออนไลน์ก็ไม่สามารถมีประสิทธิภาพได้เท่ากับการเรียนในห้องเรียน จึงนำมาสู่สภาวะการเรียนรู้ถดถอย หรือ learning loss ซึ่งคาดว่าเด็กที่เรียนในรูปแบบออนไลน์ แม้จะได้เรียนครบถ้วนก็อาจมีพัฒนาการล่าช้ากว่าการเรียนในห้องเรียน 0.5-1 ปีการศึกษา

ปัญหาที่ 2 ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา 

ไม่ใช่ว่าเด็กทุกคนจะได้รับการเรียนการสอนที่มีคุณภาพตามมาตรฐานที่ตั้งไว้ จะเห็นว่าคุณภาพการเรียนการสอนของแต่ละโรงเรียนมีความเหลื่อมล้ำที่สูงมาก ในเชิงของผลลัพธ์ เราพบว่าผลสอบ O-NET หรือสัดส่วนของเด็กที่มีโอกาสสอบเข้ามหาวิทยาลัยสัมพันธ์กับฐานะทางการเงินของครอบครัว ถ้าเป็นโรงเรียนขนาดใหญ่ โรงเรียนใน กทม. หรือโรงเรียนในตัวเมือง มักมีผลการเรียนการสอนที่ดีกว่าโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกล 

นอกจากนี้ยังพบความเหลื่อมล้ำในด้านความพร้อมของสถานศึกษา เรามีโรงเรียนของรัฐอยู่ 28,000 โรง ถ้าผมจำตัวเลขไม่ผิด มีราวๆ 15,000 โรงที่เป็นโรงเรียนขนาดเล็ก ซึ่งหลายโรงเรียนมีครูไม่พอสำหรับทุกรายวิชา นั่นหมายถึงครูคนหนึ่งอาจต้องสอนหลายวิชา รวมไปถึงวิชาที่ตัวเองไม่ถนัด บางโรงเรียนยังมีครูไม่พอสำหรับทุกระดับชั้น จำเป็นต้องแชร์ครูคนเดียวกัน ไม่ว่าครูคนนั้นจะเก่งขนาดไหนก็เป็นเรื่องยากที่จะจัดการเรียนการสอนให้เหมาะสมกับช่วงวัยของเด็กแต่ละระดับชั้น

สถานการณ์โควิดทำให้ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาเพิ่มมากขึ้น ซึ่งสามารถอธิบายได้ 2 กรณี 

1) ปัญหาเด็กหลุดจากระบบการศึกษา ข้อมูลจากกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ระบุว่า มีนักเรียนที่หลุดออกจากการศึกษากว่า 65,000 คน ส่วนหนึ่งเกิดจากสภาวะยากจนเฉียบพลัน ทำให้หลายครอบครัวตัดสินใจเอาลูกออกจากระบบการศึกษา หรือให้ลูกออกมาช่วยทำงานหารายได้เสริม สิ่งนี้สะท้อนว่า การศึกษาไทยไม่ได้ฟรีจริง 

2) ปัญหาการเข้าไม่ถึงการเรียนออนไลน์ นอกจากเด็กจะเข้าไม่ถึงโทรศัพท์มือถือและอินเทอร์เน็ตแล้ว ยังมีอุปสรรคเรื่องความพร้อมในการเรียนออนไลน์อีกด้วย โดยเฉพาะในเด็กเล็กที่จำเป็นต้องมีผู้ปกครองคอยช่วยเหลือ ขณะที่ผู้ปกครองเองก็จำเป็นต้องออกไปทำงาน ยิ่งครอบครัวที่มีฐานะการเงินไม่ดี ยิ่งต้องเจอสภาพที่เข้าถึงการศึกษาได้ยากขึ้น

ปัญหาที่ 3 การถูกทอดทิ้งทางการศึกษา 

เป็นปัญหาเกี่ยวกับ student belonging หมายถึง การที่นักเรียนไม่รู้สึกว่าตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของระบบการศึกษา ถ้าวัดจากผลสอบ PISA หรือแบบสอบถามที่วัดเรื่อง student belonging จะเห็นว่าประเทศไทยมีอันดับแย่ลงเรื่อยๆ และตอนนี้ก็ใกล้จะอยู่ท้ายตาราง ภายหลังเมื่อโควิดเข้ามาก็ทำให้แผลนี้กว้างขึ้นและรุนแรงขึ้นกว่าเดิม 

จะเห็นว่าในช่วงโควิด นักเรียนและเยาวชนมีปัญหาเรื่องสุขภาพจิตหนักขึ้น ทั้งความกังวลจากสถานการณ์โรคระบาด ปัญหาเศรษฐกิจ ส่งผลให้ความกังวลในด้านการเรียนเพิ่มขึ้นตาม อีกส่วนหนึ่งมาจากการจัดระบบการเรียนการสอนที่ทำให้เด็กนักเรียนรู้สึกว่า ครูหรือระบบการศึกษาไม่มีความเห็นใจหรือพยายามทำความเข้าใจกับนักเรียน ขณะเดียวกัน การเรียนออนไลน์ก็ไม่ได้ช่วยให้เนื้อหาการเรียนลดลง ตรงกันข้าม จำนวนงานและการบ้านกลับเพิ่มขึ้นเพื่อทดแทนการเรียนไม่ทัน จนนักเรียนเกิดความเครียด การต้องนั่งเรียนหน้ากล้องตั้งแต่เช้าถึงเย็นก็สร้างความเหนื่อยล้าให้กับนักเรียนเช่นกัน สิ่งเหล่านี้ทำให้เด็กเริ่มรู้สึกห่างไกลจากการศึกษามากขึ้น และเกิดคำถามว่า ทำไมระบบการศึกษาถึงไม่เข้าใจปัญหาที่เด็กกำลังเผชิญอยู่ ทำให้เด็กรู้สึกว่าตนเองไม่ได้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจหรือออกแบบการศึกษา 

สำหรับแนวทางแก้ปัญหา เราไม่อาจมองแค่สิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงที่มีสถานการณ์โควิด แต่ต้องวางแผนล่วงหน้าระยะยาว ซึ่งแบ่งออกได้ 3 ระยะ

ระยะที่ 1 ประคับประคอง (retain) ในระหว่างที่โรงเรียนยังไม่สามารถเปิดได้ เป้าหมายสำคัญคือต้องประคับประคองสถานการณ์ให้ได้เพื่อให้เด็กหลุดออกจากระบบน้อยที่สุด หรือทำให้เด็กที่ยังอยู่ในระบบมีพัฒนาการและเข้าถึงการเรียนการสอนที่มีคุณภาพให้มากที่สุด โดยมีหลักการจัดการ 2 แนวทาง

  1. ให้เด็กทุกคนเข้าถึงวัคซีน และให้อำนาจแก่โรงเรียนในการออกแบบนโยบายที่เหมาะสมกับสภาพและบริบทของโรงเรียน ขณะเดียวกันหน่วยงานส่วนกลางต้องศึกษาแนวทางการแก้ปัญหาที่มีประสิทธิภาพทั้งในและต่างประเทศ เพื่อเป็นองค์ความรู้ให้ผู้บริหารสถานศึกษาเอาไปปรับใช้ได้
  2. ลดความเครียดจากการเรียน สำหรับเด็กที่อยู่ในระบบ ควรลดสิ่งที่ไม่จำเป็นออก เช่น ลดเนื้อหาหรือกิจกรรมที่ไม่สอดคล้องกับการเรียนรู้ ลดเวลาเรียนออนไลน์ ส่วนเด็กที่หลุดออกจากระบบ เป้าหมายสำคัญคือการดึงเด็กกลับเข้ามาในระบบ โดยรัฐอาจจ้างนักศึกษาครุศาสตร์จบใหม่มาช่วยดูแลประคับประคองเด็กกลุ่มนี้ 

ระยะที่ 2 ฟื้นฟู (recover) หากโรงเรียนสามารถกลับมาเปิดเรียนได้แล้ว ต้องฟื้นฟูสิ่งที่สูญเสียไป ทั้งเรื่องการเรียนรู้ที่ถดถอย ปัญหาทางการเงิน รวมถึงสภาพจิตใจของนักเรียนที่อาจมีความเครียดสะสม โดยแนวทางการแก้ปัญหาคือ

  1. ฟื้นฟูการเรียนรู้: ครูต้องได้รับเครื่องมือช่วยประเมินนักเรียนที่สูญเสียทักษะ อาจมีการจ้างผู้เชี่ยวชาญเพื่อมาช่วยในส่วนนี้ 
  2. ฟื้นฟูจิตใจ: ส่งเสริมให้มีเครื่องมือช่วยประเมินสภาพจิตใจและความเครียดของนักเรียน มีเครือข่ายนักจิตวิทยาเป็นที่ปรึกษาให้ครู
  3. ฟื้นฟูสภาพการเงิน: หาวิธีแก้ปัญหาเพื่อรองรับค่าใช้จ่ายทางการศึกษาให้กับครอบครัวของเด็ก

ระยะที่ 3 สร้างใหม่ (remake) ถอดบทเรียนที่เกิดขึ้นในช่วงโควิด รวมถึงปัญหาเรื้อรังในระบบการศึกษาไทย เพื่อสร้างระบบการศึกษาใหม่ที่ดีขึ้นกว่าเดิม 

  1. ให้สิทธิและสวัสดิการทางการศึกษา เช่น งบอาหารกลางวัน รถโรงเรียน สวัสดิการด้านอินเทอร์เน็ต 
  2. ปฏิรูปหลักสูตร การสอน และการประเมิน โดยเพิ่มความยืดหยุ่นในการเรียนมากขึ้น ลดเวลาและเนื้อหาในวิชาหลัก เพิ่มเวลาให้กับการพัฒนาทักษะและการค้นหาตัวเอง
  3. พัฒนาบทบาทครูและเทคโนโลยีให้สอดคล้องกัน นำเทคโนโลยีมาแบ่งเบาภาระของครูให้มากขึ้น เช่น ช่วยจัดตารางการสอน ช่วยออกแบบคำถาม ช่วยตรวจข้อสอบ เพื่อให้ครูมีเวลาเต็มที่ในการทำกิจกรรมกับนักเรียน 
  4. การกระจายอำนาจทางนโยบายการศึกษา
  • อำนาจเงิน: โรงเรียนควรได้ตัดสินใจเองว่าจะใช้งบประมาณไปกับเรื่องอะไร
  • อำนาจคน: โรงเรียนควรได้คัดเลือกครูและบุคลากรที่มีความเหมาะสม 
  • อำนาจในเชิงวิชาการ: โรงเรียนควรได้ออกแบบวิธีการสอน เพื่อนำไปปรับใช้กับหลักสูตรที่ถูกออกแบบโดยส่วนกลาง
สนับสนุนโดย

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า